ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวสัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวสัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง

สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ  ได้แก่ความรู้ในอริยสัจจ์  ๔  หรือเห็นไตรลักษณ์  หรือปฏิจจสมุปบาท  ดังพุทธดำรัจว่า  

“ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาทิฏฐิ  เป็นไฉน  ความรู้ใน
ทุกข์,  ความรู้เหตุเกิดของทุกข์,  ความรู้ในการดับทุกข์,
ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  อันนี้เรียกว่า  
สัมมาทิฏฐิ”

(ที. ม.  ๑๐/๔๐๒/๒๖๖.  ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ,  ๒๕๐๐.)



สัมมาทิฏฐิมี  ๒  ระดับ  คือ  ระดับที่เป็นโลกิยะ  กับระดับโลกุตตระ  ดังพุทธพจน์ว่า



ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ?  เรากล่าวสัมมาทิฏฐิ  มี  ๒  
อย่าง   คือสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ  ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ  อำนวยวิบากแก่
ขันธ์อย่างหนึ่ง  และสัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ  ไม่มีอาสวะ  เป็นโลกุตตระ  
และเป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง...  สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะจัดอยู่ในฝ่ายบุญ
อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน  คือความเห็นว่า  ทานที่ให้แล้วมีผล  การ
บำเพ็ญทานมีผล  การบูชามีผล  กรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมีผลมีวิบาก  โลกนี้มี
ปรโลกมี...  นี้แลสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะจัดเป็นฝ่ายบุญ  อำนวยวิบาก
แก่ขันธ์...สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ  ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตตระ  เป็นองค์
มรรคเป็นไฉน ?  คือ  องค์มรรค  ข้อ  สัมมาทิฏฐิ  ที่เป็นตัวปัญญา  เป็น
ปัญญินทรีย์  ปัญญาพละ...นี้แล  สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ  ไม่มีอาสาวะ  เป็น
โลกุตตระ  เป็นองค์มรรค”

(ม.อุ.  ๑๔/๑๓๖/๑๒๒.  ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ, ๒๕๐๐.)



จากพุทธดำรัส  แสดงให้เห็นว่า  สัมมาทิฏฐิ  มี  ๒  ระดับ  คือโลกิยะสัมมาทิฏฐิ  และโลกุตตระสัมมาทิฏฐิ  ปัจจัยที่ทำให้เกิด โลกิยะสัมมาทิฏฐิ  คือ ปรโตโฆสะหรือกัลยาณมิตร  หมายถึงผู้มีคุณสมบัติที่ดีงาม  และแนะนำไปในทางที่ถูกต้อง  โดยการอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม  เป็นต้น  และปัจจัยที่ทำให้เกิด โลกุตตระสัมมาทิฏฐิ  คือ โยนิโสมนิการ  คือการทำในใจโดยอุบายแยบคาย  หรือการรู้จักคิด  พิจารณาตามสภาวะและเหตุผล  ได้แก่  พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ  แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นสภาวะ  และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
(พระเทพเวที(ประยุทธ์  ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม,  ๒๕๓๕,หน้า๒๔๕.)



แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  ๒  ประการนี้  ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งผิดพลาดคือได้ ปรโตโฆสะที่ไม่ดี  ก็จะได้รับผลในทางตรงกันข้าม  คือ  มิจฉาทิฏฐิ




โดยสรุป  สัมมาทิฏฐิ  ก็คือความเห็นตรงตามสภาวะ  คือเห็นตามที่สิ่งทั้งหลาย  เป็นจริง  การที่สัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยโยนิโสมนิสิการ  เพราะโยนิโสมนิการจะช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน แต่ช่วยให้มองแบบแยกแยะสืบค้นทั้งในแง่การวิเคราะห์  ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า  และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย  ทำให้ไม่ถูกลวงถูกยั่วยุ  ทางปรากฏการณ์ทางรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ  เป็นอิสระ  และทำสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา

พิจารณา  


มหาจัตตารีสกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๔


       ทรงแสดงธรรมสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเห็นชอบ,เห็นถูกต้องว่ามี ๒ อย่างด้วยกัน คือ อย่างโลกิยะ และอย่างโลกุตระ,  ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิที่หมายถึงความคิดความเห็นอันดีงาม,อันถูกต้อง จึงต่างล้วนย่อมดีงาม, ทั้งสองนั้นไม่ใช่ว่า ฝ่ายหนึ่งดีงามและอีกฝ่ายไม่ดีงาม แต่ประการใด  เพียงแต่ขึ้นอยู่กับฐานะและจุดประสงค์แห่งตนเป็นสำคัญ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องแนวทางของฝ่ายนั้นๆเป็นสำคัญนั่นเอง  เพราะตามความจริงแล้วต่างล้วนดีงาม ยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือมีปัญญาเห็นชอบทั้ง ๒ อย่าง ไม่ว่าจะฝ่ายโลกิยะหรือโลกุตระก็ตามที  เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นย่อมมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดาไปตามเหตุ,  ฝ่ายหนึ่งแม้ยังไม่ถึงขั้นโลกุตระอันเหนือโลกด้วยหลุดพ้นจากกองกิเลสที่ย่อมแน่นอนว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง  แต่ฝ่ายโลกิยะก็ย่อมยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการดำรงและดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขยิ่งตามขันธ์หรือชีวิตตามฐานะนั้นๆของตน กล่าวคือ จึงย่อมดำเนินขันธ์หรือชีวิตอยู่ในศีลและธรรมฝ่ายดีงามจึงย่อมยังให้เกิดวิบากของกรรมดีขึ้น จึงเป็นไปทั้งเพื่อประโยชน์ตน และโลกหรือโลกิยะโดยส่วนรวม(สังคม)ขึ้น



       จึงเป็นไปดังที่ผู้เขียนกล่าวอยู่เสมอๆว่า พระองค์ท่านทรงโปรดเวไนยสัตว์
ทุกระดับชั้นด้วยพระมหากรุณาคุณยิ่ง การโปรดหรือแสดงธรรมจึงขึ้นอยู่กับจริต สติ สมาธิ ปัญญา ฐานะแห่งตน เช่นภิกษุหรือฆราวาส ฯ. ของผู้ปฏิบัติ จึงมีการสอนออกไปในรูปแบบต่างๆอย่างมากมาย  จึงมีการสอนที่แสดงทั้งฝ่ายโลกิยะและโลกุตระเป็นธรรมดา  ดังนั้นการกล่าวสอนดังบันทึกในพระไตรปิฎกหรือพระคัมภีร์มากหลาย ผู้ศึกษาจึงจำต้องแยกแยะจำแนกแตกธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิเสียให้ถูกต้องด้วยว่า  คำสอนหรือธรรมเดียวกันนี้ล้วนแสดงธรรมที่เป็นไปได้ทั้งสองฝ่ายกล่าวคือทั้งในฝ่ายโลกิยะหรือโลกุตระ  เพราะแม้ว่าล้วนยังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายก็ตามที แต่ถ้าตีความผิดเสียแล้ว กลับก่อให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติขึ้นได้ ดังเช่นในกรณีของสาติภิกษุใน มหาตัณหาสังขยสูตร ที่พระองค์ท่านตรัสสั่งสอนภิกษุในเรื่องตัณหาต่างๆในแนวทางโลกุตระหรือปรมัตถ์ยิ่ง เพื่อความหลุดพ้นเป็นสำคัญ แต่สาติภิกษุกลับไปตีความในเรื่องของวิญญาณอย่างโลกิยะในทางโลก จึงถูกพระองค์ท่านทรงกล่าวโทษไว้อย่างรุนแรงว่าเป็น ทิฏฐิอันลามก กล่าวว่าเป็นความคิดความเห็นผิดอันชั่วร้าย เหตุที่กล่าวโทษรุนแรงถึงขั้นนั้น ก็เนื่องด้วยเมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้แล้วย่อมทำให้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามทางแห่งองค์มรรคเพื่อโลกุตระที่ตนควรดำเนินได้เลย เพราะความเป็นภิกษุที่ย่อมควรปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น จึงไม่ควรมีทิฏฐิอย่างโลกิยะที่ย่อมยังเนื่องในโลกอยู่



       ธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า บางธรรมจึงสามารถจำแนกแตกธรรมออกเป็นไปได้ทั้ง ๒ ลักษณะดังข้างต้น ขึ้นอยู่กับภูมิหรือจุดประสงค์ของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญอีกด้วย กล่าวคือ ในธรรมเดียวกันนั้นสามารถแสดงหรือตีความหมายได้ทั้ง ๒ ฝ่าย ดังเช่น ปฏิจจสมุปบาท ที่สามารถแสดงได้ทั้ง



       ธรรมฝ่ายโลกิยะ เป็นการแสดงธรรมโดยทั่วไปที่เป็นส่วนแห่งบุญ จึงยังผลบุญกุศลต่อขันธ์หรือชีวิตโดยตรง จึงย่อมยังประโยชน์ทั้งต่อตนเองผู้ยังเนื่องอยู่ในโลก ทั้งต่อผู้อื่น และต่อโลกอีกด้วย  แต่ย่อมยังเวียนว่ายตายเกิดหรือยังเนื่องอยู่ในโลกหรือโลกิยะอยู่นั่นเอง



       ธรรมฝ่ายโลกุตระ เป็นการแสดงอริยมรรค
เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์หรือการเวียนว่ายตายเกิดในโลกหรือกองทุกข์หรือสังสารวัฏในปัจจุบัน โดยสิ้นเชิง อันเป็นสุขสงบบริสุทธิ์ยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 229328เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาจัตตารีสกสูตร

 

[๒๕๒]............................

[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฏฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นสาสวะ (เป็นโลกิยะ) เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์(ตนหรือชีวิต) อย่าง ๑ สัมมาทิฏฐิ ของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ (ยังประกอบด้วยอาสวะ, ยังเป็นโลกิยะ) เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์(ตนหรือชีวิต) เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า

ทานที่ให้แล้ว มีผล

ยัญที่บูชาแล้ว มีผล

สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล

ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่

โลกนี้มี โลกหน้ามี

มารดามี บิดามี

สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก มีอยู่

นี้สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์(คือตนหรือชีวิตในปัจจุบัน)ฯ

[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ (ใน)องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฏฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฏฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้น ฯ....................

มหาจัตตารีสกสูตร แบบบริบูรณ์ แสดงมรรคองค์ ๑๐ ของพระอริยะ

ข้อมูลจาก http://www.nkgen.com/372.htm

ชอบค่ะ คำว่า"มิจฉาทิฏฐิ "

พยายามอ่านบันทึกให้ทุกเรื่อง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท