อัตถิตา นัตถิตา อัตตา นิรัตตา อนัตตา สุญญตา


อัตถิตา นัตถิตา อัตตา นิรัตตา อนัตตา สุญญตา

   ช่วยมานิยามความหมายของคำเหล่านี้กันหน่อย....

     

1. อัตถิตา  =

2. นัตถิตา =

3. อัตตา  =

4. นิรัตตา  =

5. อนัตตา  =

6. สุญญตา  =


ท่านนิยามความแตกต่างของคำศัพท์เหล่านี้ได้หรือไม่  
ท่านอาจจะไปเปิดประมวลศัพท์ทางพระพุทธศาสนาดูได้
แต่ท่านเข้าใจความหมายอย่างแท้จริงได้หรือไม่  
ขอให้ท่านลองให้ความหมายตามที่ตนเองจะพอประมวลได้
จากการศึกษาธรรมะลงดูก่อน

 

....................................................................................................................................

 

1. อัตถิตา  =
2. นัตถิตา =  

              บทว่า อตฺถิตํ ได้แก่ เที่ยง.
              บทว่า นตฺถิตญฺจ ได้แก่ ขาดสูญ.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=42
-------------------------------------------------


3. อัตตา  =  ตัวตน ตัวเรา
4. นิรัตตา  = ไม่มีตัวตน


อตฺถีติ อตฺตาติ สสฺสตทิฏฺฐิ
นตฺถิ   นิรตฺตาติ   อุจฺเฉททิฏฺฐิ
http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=29&item=107&Roman=0
--------------------------------------------


5. อนัตตา  =

บทว่า อนตฺตา ความว่า ชื่อว่า อนตฺตา เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปตามอำนาจ.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=576
--------------------------------------------



6. สุญญตา  =

ดูกรอานนท์ เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน
ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่าโลกสูญ
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=9514&Z=9682

 

....................................................................................................................................

 

เอาล่ะทีนี้เราลองมาพิจารณานิยามของคำศัพท์เหล่านี้กันดู  โดยอิงตามลิงค์ที่ให้มา  ดังนี้...

1. อัตถิตา  =  เที่ยง

ขยายความคำว่า เที่ยง  หรืออีกความหมายหนึ่งท่านว่า  อัตถิตา ความมีอยู่  อันได้แก่ ตัวตน  โดยบทว่า ตัวตนที่เที่ยงแท้มีอยู่แต่เนื่องด้วยขันธ์นั่นแหละ  เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อัตถิตา เห็นว่าตัวตนเที่ยงแท้ยืนโรงมีอยู่โดยยึดเอาขันธ์ ๕ นี่แหละเป็นตัวตน  ซึ่งเป็นส่วนสุดข้างสัสสตทิฏฐิ


2. นัตถิตา =  ขาดสูญ

ขยายความ ขาดสูญ  หรือ ความไม่มี  ไม่มีตัวตน  ขันธ์ ๕ ขาดสูญ  หลังตายแล้วขาดสูญ ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ตัวตนหลังขันธ์ ๕ แตกตายแล้วขาดสูญ  ซึ่งเป็นส่วนสุดข้างอุจเฉททิฏฐิ


3. อัตตา  =   ตัวตน  ตัวเรา

ขยายความ อัตตา คือ ตัวตนที่เที่ยงแท้ยืนโรงท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ  โดยยึดถือขันธ์ ๕ ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นตัวตนเที่ยงแท้นั่นเอง  ซึ่งเป็นส่วนสุดข้างสัสสตทิฏฐิ


4. นิรัตตา  =  ไม่มีตัวตน

ขยายความ  นิรัตตา คือ ไม่มีตัวตน  ไม่มีอะไรเลยไม่เหลืออะไรเลยไม่เป็นไปตามกฏแห่งกรรม  ซึ่งเป็นส่วนสุดข้างอุจเฉททิฏฐิ


5. อนัตตา  =  ไม่เป็นไปตามอำนาจ

ขยายความ  นอกจากไม่เป็นไปตามอำนาจ  อนัตตา ยังปฏิเสธ ทั้ง อัตตา (ตัวตนเที่ยงแท้โดยยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน)  และปฏิเสธ นิรัตตา (ไม่มีตัวไม่มีตน ขันธ์ ๕ ขาดสูญ)  อนัตตา เป็นมัชเฌนธรรม  คือไม่เข้าไปในส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่ง  


6. สุญญตา  = สูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน

ขยายความ  สุญญตา  สูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน  คำว่าสูญนี้  ไม่ใช่ ขาดสูญ  แต่ท่านใช้คำว่า  ว่าง  โดยเปรียบกับ  เรือนว่าง  หม้อว่าง  คือในเรื่อนนั้นหรือในหม้อนั้น  ว่าง  ไม่มีอะไรในเรือนหรือในหม้อนั้น  จึงว่า  หม้อว่าง  เรือนว่าง  ไม่ใช่หม้อสูญ(หม้อไม่มี)  เรือนสูญ(เรือนไม่มี)


......................................................................................................................................................

มีข้อน่าสังเกตว่า  

อนัตตา  =  ไม่มีตัวไม่มีตน  ได้หรือไม่  ขอเสนอแนะว่า  ถ้าอธิบายเช่นนี้ก็เอียงเอนเข้ากับฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ  

แล้วที่บางท่าน  อ้างว่า...อนัตตา  = "ไม่มีอัตตา ใน สิ่งใดๆ นั้น ที่ไม่ใช่อัตตา"  เขียนให้เข้าใจง่ายๆ จะได้ความว่า  "ไม่มีตัวตน ใน สิ่งใดๆ นั้น ที่ไม่ใช่ตัวตน"  ประโยคเช่นนี้ก็เอียงเอนไปฝ่ายอุจเฉททิฏฐิอยู่ดี เพราะถ้าขึ้นต้นว่าไม่มีตัวตนเสียแล้วก็ผิดจากหลักการพิจารณา  ทีนี้อะไรที่ไม่มีตัวตนก็ไม่ได้อ้างไว้ให้ชัดเจนด้วย  

ถ้าจะเขียนให้ถูก  ก็ควรกล่าวให้ชัดเจนว่า  อนัตตา  = ไม่ใช่ตัวตน  ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน เพราะขันธ์ ๕ เป็นไปเพื่ออาพาธ  และขันธ์ ๕ ไม่เป็นไปตามอำนาจ

ทีนี้อาจมีปัญหาตามมาว่า  ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน  แปลว่า มีสิ่งที่เป็น ตันตน ใช่หรือไม่  คือมีตัวตนอยู่ต่างหาก เป็นอัตตา หรืออาตมัน ตัวแท้ตัวจริงเป็นแก่น เป็นแกนของชีวิตซ้อนอยู่ภายในขันธ์ 5 หรืออยู่นอกเหนือจาก ขันธ์ 5 แต่เป็นตัวครอบครองควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง  บางท่านก็ประกาศว่า ตนได้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นแล้ว อันเป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นอัตตาหรืออาตมันสูงสุด  อย่างที่บัญญัติเรียกว่า ปรมาตมันบ้าง พรหมันบ้าง พระผู้เป็นเจ้าบ้าง

ท่านต้องเข้าใจว่า  คำว่าปรมาตมัน  พรหมัน เหล่านี้มาจากคำภีร์อุปนิษัทเป็นคำศัพท์ที่แต่งขึ้นหลังพุทธกาลเพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง  เพื่อมาแข่งขันกับพุทธศาสนา  แต่แรกในสมัยพุทธกาลนั้นลัทธิอื่นทั่วไปยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตา  เมื่อศาสนาพราหมณ์  พัฒนามาเป็นฮินดู  หลักคำสอนก็พัฒนามาเพื่อแข่งขันกับพระพุทธศาสนา  ตัวตนที่กล่าวนี้จึงเป็นความเชื่อของศาสนาฮินดู  เป็นเพียงในชั้นความคิด  ยังพัวพันด้วยความยึดถือ  จึงไม่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้  ปรมาตมัน  พรหมัน ตัวตนที่กล่าวเป็นอัตตทิฏฐิ  ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นอนัตตาในชั้นของความคิด ก่อให้เกิดความยึดถือในทิฏฐินั้น  ก็จัดอยู่ในฝ่าย อัตตทิฏฐิ

สรุป  คำศัพท์ ทั้ง ๖ คำที่ให้ช่วยกันพิจารณานี้  เพียงหวังให้ท่านแยกประเด็นให้ชัดเจนว่า  เป็นส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่ง  หรือเป็นมัชเฌนธรรม  คือไม่สุดโต่งไปทางความคิดข้างใดข้างหนึ่ง  การพิจารณามัชเฌนธรรม   เพื่อไม่ให้เข้าไปติดในส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่งนั้นสำคัญที่สุด  ย้ำว่าต้องพิจารณาให้แยบคายก่อนเสมอ  อย่าไปใช้คำว่า  มี  หรือ ไม่มีตัวตนขึ้นก่อน (ควรใช้คำว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แล้วก็ยกข้อพิจารณาความมีหรือไม่มีตามเหตุปัจจัย) ให้พิจารณาไปตามกระบวนธรรมก็จะเห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย  สังขตธรรมทั้งปวงย่อมเป็นเช่นนั้น  

ก็เมื่อบุคคลแม้จะพิจารณาเห็น คือพิจารณาเห็นความไม่ขาดสูญแห่งธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เพราะความไม่ขาดสูญแห่งปัจจัยทั้งหลาย อุจเฉททิฏฐิที่ว่าไม่มี จะพึงเกิดขึ้น ย่อมไม่มี. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นความดับแห่งปัจจัย คือพิจารณาเห็นความดับแห่งธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เพราะปัจจัยดับ สัสสตทิฏฐิที่ว่ามีอยู่ จะพึงเกิดขึ้น ก็จะไม่มี.

หมายเลขบันทึก: 385958เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในสุตตนิบาต มีพุทธพจน์หลายแห่งตรัสถึงพระอรหันต์ คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐแล้ว หรือ

ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้วว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีทั้งอัตตา และ นิรัตตา หรือทั้ง อตฺตํ และนิรตฺตํ * แปล เป็นไทย

ง่ายๆว่า ไม่มีทั้งอัตตาและไร้อัตตา หรือ ไม่มีทั้งตัวตนและไร้ตัวตน


คัมภีร์มหานิทเทสอธิบาย “อตฺตา” หรือ “อตฺตํ” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตน

หรือ สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่า (มีตัวตน) เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป และ (นิรตฺตา” หรือ

“นิรตฺตํ” ว่าได้แก่ อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่า (ตัวตน) ขาดสูญ

ในสุตตนิบาตที่อ้างข้างต้น คำว่า “อัตตา” หรือ “อัตตัง” จึงแปลได้ 2 อย่าง คือ

แปลว่า ตัวตน หรือ การยึดถือตัวตนก็ได้ แปลว่า สิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้

หมายความว่า ตัวตน ก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริง

อีกประการหนึ่ง ในสุตตนิบาตที่อ้างถึงนั่นแหละ ท่านกล่าวถึง อัตตา คู่กับ นิรัตตา

หรือ อัตตัง คู่กับ นิรัตตัง และบอกว่า พระอรหันต์ หรือ ผู้ปฏิบัติชอบ ไม่มีทั้งอัตตา หรือ อัตตัง

และไม่มีทั้งนิรัตตา หรือ นิรัตตัง

นิรัตตา หรือ นิรัตตัง ก็แปลได้ 2 อย่าง เช่นเดียวกับอัตตา หรือ อัตตัง คือ

แปลว่า (การยึดถือว่า) ไม่มีอัตตา หรือ การถือว่า (อัตตา) ขาดสูญ ก็ได้

 

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=10608&Z=10674

   ตุวฏกสูตรที่ ๑๔
            พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า
            [๔๒๑] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระทิตย์ ผู้-
                         สงัด และมีความสงบเป็นที่ตั้ง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ภิกษุ
                         เห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่นธรรมอะไรๆ ในโลก ย่อมดับ
            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
                         ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง อันเป็นรากเง่าแห่งส่วน
                         ของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้าซึ่งเป็นไปอยู่ว่า เป็นเรา
                         ด้วยปัญญา ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงบังเกิดขึ้น ณ ภายใน
                         ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น
                         ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายใน หรือภายนอก
                         ไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่
                         กล่าวความดับนั้นเลย ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ
                         กว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา ด้วยความถือตัวนั้น
                         ถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการ ก็ไม่พึงกำหนดตนตั้งอยู่
                         โดยนัยเป็นต้นว่า เราบวชแล้วจากสกุลสูง ภิกษุพึงสงบ
                         ระงับภายในเทียว ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น
                         ความเห็นว่าตัวตน ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สงบแล้ว ณ ภายใน
                         อนึ่ง ความเห็นว่าไม่มีตัวตน คือ เห็นว่าขาดสูญ จักมีแต่
                         ที่ไหน คลื่นไม่เกิดที่ท่ามกลางแห่งสมุทร สมุทรนั้นตั้งอยู่
                         ไม่หวั่นไหว ฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวใน
                         อิฐผลมีลาภเป็นต้น ฉันนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสเครื่อง
                         ฟูขึ้นมีราคะเป็นต้น ในอารมณ์ไหนๆ ฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท