เรื่องของ"ยา"กับ"ญาติ"...ที่เราไม่ควรมองข้าม!!!


          หลังจากที่ห่างหายไปนาน วันนี้หนึ่งมีเรื่องที่พบได้บ่อย เหมือนจะธรรมดา แต่ค่อนข้างน่าตกใจ และอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ค่ะ
          เรื่องของเรื่องคือ เมื่อไม่นานนี้มีผู้ป่วยชายอายุเพียง 36ปี ป่วยเป็นมะเร็งที่ไตระยะสุดท้าย มีอาการปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับ หรือทำอะไรได้ ญาติจึงพามารับการรักษาที่ศูนย์มะเร็งเพื่อทุเลาความปวดค่ะ ระหว่างอยู่โรงพยาบาล ระดับความปวดอยู่ในระดับสูงตลอดเลยค่ะ(pain score อยู่ในช่วง 8-10คะแนน) เมื่อสามารถควบคุมความปวดได้แล้ว(pain score อยู่ในช่วง 5-7คะแนน) ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรได้ ทานข้าวได้ นอนพักได้ แพทย์วางแผนจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยมียาแก้ปวด(MST tab และ fentanyl แปะหน้าอก) กลับบ้านไปด้วยจำนวนมากพอจนถึงวันนัดครั้งต่อไปเพื่อควบคุมความปวดต่อที่บ้าน ลดความทุกข์ทรมานจากความปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ปรากฏว่าผู้ป่วยกลับบ้านไป 2 วัน ได้รับแจ้งจากญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว (บังเอิญว่าผู้ป่วยรายนี้อยู่ไม่ไกลจากศูนย์มะเร็งฯ) จนท.ที่บ้านอยู่ใกล้เคียงก็แวะไปเยี่ยมที่บ้าน และสอบถามถึงยาแก้ปวดที่เหลือ เนื่องจากเป็นยาในกลุ่มยาเสพติดและมีผลข้างเคียงที่น่ากลัวหากได้รับปริมาณสูงๆอาจกดศูนย์หายใจและเสียชีวิตได้ 
          ปรากฏว่าพ่อของผู้ป่วยบอกว่า "ตาก็ปวดเอวปวดขา เห็นว่าแผ่นแปะที่ลูกชายแปะหน้าอกแล้วหายปวดน่าจะใช้ได้เลยเอามาแปะที่เข่าสองข้างและที่บั้นเอว" (คุณตาเข้าใจว่าคล้ายๆแผ่นกอเอี๊ยะประมาณนั้น) คุณตาเปิดให้เจ้าหน้าที่ดู พบว่านับได้ประมาณ 8 แผ่น ที่แปะอยู่บนตัวคุณตาท่านนี้ เมื่อสอบถามว่าแปะมาตั้งแต่เมื่อไหร่ คุณตาบอกว่าเมื่อคืน จึงแนะนำให้แกะออก แล้วเรียกเก็บยามอร์ฟีนทั้งชนิดเม็ดและชนิดแปะหน้าอกคืนทั้งหมด

ยังไม่จบเลย เดี๋ยวกลับมาเขียนต่อค่ะ

ต่อเลยนะคะ

          ยาแก้ปวดที่ให้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายส่วนใหญ่แพทย์จะให้เพื่อควบคุมความปวด ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักได้รับยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนกลับบ้านไปด้วยจำนวนหนึ่ง
มารู้จักยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับกลับบ้านไปกันก่อนนะคะ
1. MST
         เป็นมอร์ฟีนซัลเฟต ชนิดกิน ออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง ดังนั้นแพทย์จะสั่งให้กินยาตัวนี้วันละ 2 ครั้ง เวลากินMSTห้ามเคี้ยวหรือบด เพราะการผลิตยาต้องการให้การออกฤทธิ์ของยาช้า ค่อยๆแตกตัว หากเคี้ยวหรือบดจะทำให้ฤทธิ์ของยาสลายทันที เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่พบบ่อยค่ะ ส่วยใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งจะมีปัญหาเกี่ยวกับการกินอยู่แล้ว บางรายต้องใส่สายให้อาหารทางสายยาง ปัญหาอยู่ตรงที่จะให้ยา MST โดยไม่บดได้อย่างไร? (ส่วนใหญ่กรณีอยู่ที่โรงพยาบาล แพทย์จะสั่งยาฉีดไว้ด้วย และเมื่อเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยพร้อมที่จะกินยาเม็ดได้บ้างแล้วค่ะ)
อีกปัญหาที่พบคือระหว่าง 12 ชั่วโมงผู้ป่วยบางรายอาจยังมีอาการปวดมาก(เมื่ออยู่ที่บ้าน) ทำให้ญาติให้ยาผู้ป่วยเองเพราะทนเห็นผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากความปวดไม่ไหว โดยที่ไม่รู้เลยว่าอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดและอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ ตรงนี้เราแนะนำได้ว่าหากระหว่าง 12 ชั่วโมงผู้ป่วยยังมีอาการปวด สามารถให้ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่มอร์ฟีนได้
2. Fentanyl 25 mcg/h (ที่ศูนย์มะเร็งช่วงนั้นเราเหลือแต่มิลลิกรัมต่ำสุดค่ะ)
          ยาตัวนี้เป็นชนิดแผ่นแปะหน้าอก ตัวยาจะดูดซึมทางผิวหนัง ออกฤทธิ์ช้าคือเห็นผลสูงสุดหลังแปะแผ่นยาไปแล้ว 12-24ชั่วโมง แต่ข้อดีของยาแผ่นแปะคือช่วงเวลาการออกฤทธิ์ยาวนานถึง 72 วโมงทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกวัน (แต่มาเปลี่ยนแผ่นแปะทุก 3 วัน)
         สิ่งที่เราคาดไม่ถึงคือ เมื่อกลับไปอยูที่บ้าน หากผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วงเวลาไม่นาน ยาแก้ปวดที่ได้ไปจะยังคงเหลือจำนวนมาก และดูเหมือนว่าจะเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ชอบแบ่งยากันใช้ ประมาณว่า ยาตัวนี้กินแล้วหาย ถ้ามีใครมีอาการแบบนี้ก็จะแบ่งๆยากันกิน (อันนี้น้องๆเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่ามักจะเป็นแบบนี้ทุกบ้าน)
          กลับมาตรงที่ทีมสุขภาพของศูนย์มะเร็งทำยังไงกันต่อ เมื่อเราสังเกตอาการคุณตาว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และขอยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนกลับ (โดยให้เหตุผลว่าการมอบยาแก้ปวดให้ศูนย์มะเร็งฯเท่ากับช่วยทำบุญให้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย เพราะเราจะนำยาที่เหลือของผู้ป่วยไปให้ในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีบัตรทองและไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่ายา)  
          เราจะนำเรื่องนี้เข้าทบทวนการดูแลผู้ป่วยในวันพรุ่งนี้ เพื่อช่วยกันหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดในรายต่อไป
          เบื้องต้นได้กลับไปทบทวนตรงจุดการทำ discharge plan ใน ward ก่อนจำหน่ายผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยรายนี้มีการเตรียมผู้ป่วยและญาติก่อนจำหน่าย มีการแนะนำยา ผลข้างเคียงของยา แนะสถานบริการที่ใกล้เคียงที่ผู้ป่วยสามารถขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆได้ ไว้กับญาติแล้วด้วย
          มีเจ้าหน้าที่เสนอวิธีว่าจะทำยังไงให้ญาติกลัว และไม่นำยากลุ่มมอร์ฟีนของผู้ป่วยไปใช้ ว่า "ต้องขู่ค่ะ...ขู่ว่าผิดกฏหมาย ถ้าไม่คืนยา หรือนำยาของผู้ป่วยมาใช้จะถูกตำรวจจับ" อิอิ กรณีนี้หนึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลรึเปล่านะคะ ยังไม่ได้ทดลองใช้วิธีนี้เลยค่ะ
ปัญหาอยู่ตรงจุดไหน...? เราจะป้องกันแก้ไขกันอย่างไรดีคะ...
          ที่หนึ่งนำเรื่องนี้มาแบ่งปัน เพราะหนึ่งมองว่าปัญหาเรื่องการแบ่งยากันใช้ คงไม่ได้เกิดกับคุณตารายนี้รายเดียวแน่ๆ และหากพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ทีมสุขภาพที่เคยมีประสบการณ์ หรือผู้ที่เข้ามาอ่าน ผู้ป่วย ญาติ และผู้สนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็น แนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ค่ะ ผู้ป่วยและญาติจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ปลอดภัย ทั้งขณะอยู่ในโรงพยาบาล และเมื่อจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ^^

ขอขอบคุณ

- ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น

- ทุกๆกำลังใจค่ะ ^^

- ภาพประกอบจาก internet

- กรณีศึกษา ทั้งผู้ป่วยและญาติ

คำสำคัญ (Tags): #ยาแก้ปวด
หมายเลขบันทึก: 427562เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • มาเล่าค้างซะงั้นน้องหนึ่ง
  • รออ่านต่อครับ

เรื่องการใช้ยานี่ ต้องระวังมากเลยนะคะ อยากอ่านต่อจังเลยค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

แหะๆ เมื่อตอนเย็นหนึ่งต้องรีบไปรับสาม เลยเขียนไม่ต่อเนื่อง พอมาเขียนตอนดึกๆ เลยไม่รู้จะปะติดปะต่อยังไงดีค่ะ แต่ปัญหานี้หนึ่งคิดว่าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ ^^

สวัสดีค่ะน้องมะปรางเปรี้ยว

ใช่เลยค่ะ ต้องระวังให้มาก ยิ่งกลุ่มมอร์ฟีนยิ่งต้องระวัง

บางครั้งการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยและญาติอาจยังจูนไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าผู้ป่วยและญาติเข้าใจแล้ว แต่บางครั้งผู้ป่วยและญาติอาจเข้าใจไปคนละอย่างกับเจ้าหน้าที่ก็ได้

การสื่อสารนอกจากคำแนะนำ แผ่นพับ เอกสารที่ให้กลับบ้านไป อาจต้องคิดนวัตกรรมอะไรซักอย่างขึ้นมาเพื่อการนี้ อิอิ พี่คิดเอาเองว่าถ้าเราทำการ์ดตารางเวลาการกินยา แปะยา ให้จำนวนช่องเท่ากับจำนวนยาที่ให้ไป แล้วแนะนำญาติลงชื่อเมื่อให้ยาผู้ป่วย อาจช่วยได้รึเปล่า แหะๆ 

หรือการเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอาจต้องเพิ่มเรื่องยาที่เหลือ หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป อาจต้องพัฒนาระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน งานHome care ที่ตามไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ฯลฯ แหะๆ มีวิธีอะไรดีๆแนะนำด้วยนะคะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ ^^

  • ตามมาอ่านต่อให้จบ
  • สรุปว่าต้องไปรับสามเป็นข้ออ้าง
  • ฮ่าๆๆ
  • ขอบคุณครับ

555 อ้างได้ดีเลยจริงป่าวคะอาจารย์ขจิต

ขอบคุณค่า^^

เขียนได้ดีมากๆๆหนึ่งเพราะคนบ้านๆๆๆ(ว่าเค้าอีกเรานี่)จะชอบเอายาไปแบ่งกันกินพูดกันปากต่อปากว่ายากินเหมือนกันโดยไม่รู้ผลของฤทธิ์ยาขอเสนอว่า1.อย่าให้ยาคนไข้ทีเดียวเป็นเดือนๆๆเพราะเห็นจากหลานเป็นมะเร็งเม็ดเลือดได้ทีละ 3 เดือนแล้วมาพบหมอ(เผื่อคนไข้ตายเหมือนของหนึ่งยาเค้าก็ทิ้งหรือไม่ก็เอาไปแบ่งกัน 2.อธิบายการกินอันนี้ถ้ายาแรงเว้นระยะกี่ช.มด้วยยิ่งดีและข้อห้ามสำหรับของกินต่างๆด้วยผลกระทบข้างเคียงของยาเมื่อกินไปคือดูมาจากหลานนะเวลาไปให้ยาในช่วงวันนั้นก็จะเป็นคนละคนกันไปอันนี่ก็ไม่รู้อาการยาหรืออาการเด็กนะ  สรุปว่าพยาบาลหนึ่งต้องทำงานหนักมากๆๆๆเลยเป็นกำลังใจให้นะจ๊ะคุณพยาบาลคนสวย......

สวัสดีจ้าแม๊ก

เรื่องยาที่ให้กลับบ้านไปกับผู้ป่วยบางครั้งอาจต้องมาทบทวนกันใหม่จริงๆ

ขอบคุณมากสำหรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และกำลังใจจ้า ^^

 

  • ตามมาขอบคุณ
  • ขำคุณแม๊ก
  • อธิบายละเอียดมาก
  • รออ่านอีกครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตด้วยค่ะ อิอิ หนึ่งรอไปใช้เน็ทโรงบาล(เน็ทฟรี และเร็วกว่าเน็ทที่ต่อกะมือถือของหนึ่งแน่ๆ อิอิ)จะดาวโหลดหนังสืออาจารย์มาเก็บไว้ด้วย เสียดายที่หน้าปกไม่เห็นมีรูปอาจารย์ขจิตเลยอ่ะค่า

ขอขอบพระคุณเจ้าของกระทู้นี้เป็นอย่างมาก ที่ได้ให้ความรู้ของหนูเพิ่มมากขึ้นเยอะ ตอนนี้คุณพ่อหนูป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วอาการปวดมาก ทรมาน พรุ่งนี้หนูกำลังจะเดินทางไปติดต่อขอให้คุณพ่อหนูได้รับการรักษาที่ศูนย์มะเร็งค่ะ หนูไม่อยากเห็นพ่อทรมานไปมากกว่านี้ สุดท้ายนี้ขอให้บุญกุศลนี้ส่งผลให้พี่หนึ่งมีสุขภาพที่แข็งแรงนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท