พิจารณาอริยสัจ ๔ ในญาณ ๓


พิจารณาอริยสัจ ๔ ในญาณ ๓

     ริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราเคยทราบความหมายในตำราเขาว่ากัน แต่เราไม่เคยเห็นหน้าตาของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ภาษาทางวิชาธรรมกายมักพูดว่า ดูธาตุธรรมละเอียดของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร อยู่ที่ไหน ไม่เคยมีใครแสดงความรู้เรื่องนี้แก่เราได้เลย เราเคยได้ยินอาจารย์วิปัสสนาทั่วไปอธิบายว่า

ทุกข์ คือ ความเจ็บปวดครวญคราง และอะไรทั้งหลายที่เราไม่พอใจ เราเรียกว่า ทุกข์
สมุทัย คือ เหตุที่มาแห่งทุกข์ ได้แก่ การประกอบอย่างไรจึงให้ทุกข์เกิดขึ้นได้
นิโรธ คือ ความสงบใจ
มรรค คือ ทางเดินแห่งใจ

     เขาอธิบายได้แค่นี้ และตามที่ว่ามานี้ คืออาการของทุกข์ อาการของสมุทัย อาการของนิโรธ และอาการของมรรคเท่านั้นจะให้ชี้แจงความรู้ละเอียดกว่านี้ ทำไม่ได้เสียแล้ว

     แต่วิชาธรรมกายให้ความรู้แก่เราได้ละเอียด เพราะญาณทัสสนะของธรรมกายกว้างไกล

     ญาณ ๓ คือ ญาณหยั่งรู้ ๓ ประการ คือ

สัจจญาณ ได้แก่ ข้อเท็จจริงและเที่ยงแท้

กิจจญาณ ได้แก่ งานหรือภารกิจที่ต้องทำ คืองานค้นคว้าทางญาณทัสสนะของธรรมกาย

กตญาณ คือ การสอบสวนทดลองจนได้ข้อเท็จจริงและเที่ยงแท้

     การทบทวนความรู้ทางญาณทัสสนะของธรรมกาย ๓ อย่างนี้เรียกว่า ญาณ ๓

     ความรู้ของเรากับความรู้ขององค์พระศาสดานั้นต่างกัน ความรู้ขององค์พระศาสดานั้น ทรงทบทวนความรู้ในสูตรญาณ ๓ เสมอ ๆ และเวลาสอนก็ทรงยืนยันความรู้ว่าถูกต้องถึง ๓ ครั้ง อย่างเช่น การให้ศีลก็ต้องครบสูตร ๓ คือ ครั้งแรก ครั้งที่ ๒(ทุติ) และครั้งที่ ๓ (ตติ) ได้สอบสวนความรู้และสอบทานด้วยญาณทัสสนะธรรมกายของพระองค์แล้ว ส่วนญาณทัสสนะธรรมกายของเราอ่อนกว่าพระองค์มากมาย ของเรายังผิด ๆ ถูก ๆ ถูกน้อยแต่ผิดมาก น่าให้อภัยพวกเรา เพราะบารมีธรรมเราน้อย อินทรีย์ ไม่แก่กล้า ท่านที่มีบารมีแก่ย่อมมีญาณทัสสนะถูกต้องกว่า

ลักษณะของทุกข์ 

     เป็นดวงซ้อนกัน ๔ ดวง คือ ดวงเกิดเป็นดวงใสซ้อนด้วยดวงแก่ลักษณะดำ และดวงเจ็บลักษณะดำซ้อนอยู่ในดวงแก่และดวงตายซ้อนอยู่ในดวงเจ็บ

     ดวงตายลักษณะดำ ดวงแก่ลักษณะน้ำตาลแล้วจะค่อย ๆ เข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดำ ที่ว่าสีน้ำตาลหมายความว่าไม่แก่จริง ความเข้มของสีจะทวีขึ้นจนในที่สุดดำ ก็แปลว่ากายมนุษย์แก่จริง ๆ

อำนาจของทุกข์ 

     ดวงเกิดมาจรดที่ศูนย์กลางดวงธรรมของกายมนุษย์ คือที่ “จุดใสเท่าปลายเข็ม” เมื่อกายมนุษย์มีอายุได้ ๑๔ ปี เมื่อดวงเกิดมีขึ้น แปลว่าการเกิดของสัตว์โลกมีขึ้นแล้ว ดวงเกิดนี้เป็นสมรภูมิให้ดวงแก่เข้ามาทำงาน งานที่เขาทำคือ ให้มีความแก่ยิ่งขึ้นไป และดวงแก่นี้เป็นสมรภูมิให้ดวงเจ็บเข้ามาทำงาน งานที่เขาทำคือให้มีการเจ็บไข้ได้ป่วยยิ่งขึ้น และดวงเจ็บนี้เป็นสมรภูมิให้ดวงตายเข้ามาทำงาน งานที่เขาทำคือให้ตายยิ่งขึ้น

     จะเห็นว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำงานในดวงธรรมของเราเป็นทีมงาน เราจะเอาชนะความแก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้เกิดเท่าไรตายเท่านั้น ไม่เหลือไว้แม้แต่คนเดียว

ลักษณะของสมุทัย 

     หมดเขตของทุกข์ไปแล้ว ณ ที่ดวงธรรมของกายมนุษย์นั้นก็เป็นสมุทัย มีลักษณะเป็นดวง ๓ ดวงซ้อนกันอยู่ ดวงนอกสีดำไม่เท่าไรดวงถัดเข้ามาสีดำกว่า ดวงกลางสุดดำมาก แปลว่า เหตุที่จะให้เกิดทุกข์มีเป็นระดับ คือ ดวงนอกเป็นเหตุธรรมดา เพราะสีดำไม่เท่าไร ดวงดำถัดมาสีดำกว่า เป็นเหตุทุกข์ระดับกลาง แต่ดวงกลางสุดมีสีดำมากทำหน้าที่ให้เหตุแห่งทุกข์ระดับอุกฤษฏ์

อำนาจของสมุทัย 

     สมุทัยเป็นผู้ทำเหตุ โดยส่งเหตุไปที่ทุกข์ ทุกข์จะกระทำการทันที พึงสังเกตว่าทุกข์มี ๔ ดวง และสมุทัยก็มี ๓ ดวง ทุกข์กับสมุทัยทำงานเป็นทีม รับส่งกันเหมือนเล่นฟุตบอล

     ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ ไม่มีใครอยากทำกรรมร้าย แต่พอสมุทัยเขาส่งเหตุมาบังคับ เราจะทำกรรมร้ายอันนั้น ทั้งที่เราไม่อยากทำ และเมื่อการกระทำเสร็จลงแล้ว ทุกข์เขาก็ทำงาน เราคือผู้รับผลแห่งการกระทำเสร็จลงแล้ว ทุกข์เขาก็ทำงาน เราคือผู้รับผลแห่งการกระทำก็คือเดือดร้อนกันไป ครวญครางกันไป

ลักษณะของนิโรธ 

     เมื่อหมดเขตของสมุทัยไปแล้ว ก็เป็นดวงนิโรธ เป็นดวงใสเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา อยู่ที่ดวงธรรมของกายมนุษย์

     นิโรธแปลว่า หยุด นิ่ง แน่น หมายความว่าทำใจหยุด ทำใจนิ่ง ทำใจแน่น ใจหยุด เหมือนรถยนต์เบรก ใจนิ่งเหมือนน้ำในโอ่งไม่มีกระแสลมสัมผัส ผิวน้ำเรียบไม่เป็นคลื่น ใจแน่นเหมือนเสาหินปักลงไปแล้วไม่โยก ไม่คลอน ไม่เขยื้อน

     ที่พูดว่าทำนิโรธ ก็คือการทำใจหยุด นิ่ง แน่น อยู่กับดวงธรรมของเราขณะที่เราทำใจ หยุด นิ่ง แน่นอยู่กับดวงนิโรธของเรานั้น หากสภาพใจมีอาการส่าย ไหว ริบ รัว แปลว่าเราสู้ทุกข์กับสมุทัยไม่ได้ จึงต้องฝึก หยุด นิ่ง แน่นกันใหม่ ต้องให้ใจหยุดจริง นิ่งจริง แน่นจริง ทุกข์และสมุทัยจึงจะกลัว

อำนาจของนิโรธ 

     ดวงนิโรธนี้ เมื่อเราฝึกใจเข้าถึงได้คือทำใจหยุด นิ่ง แน่น ที่ดวงนิโรธได้สามารถกำจัดสมุทัยได้ และเมื่อไม่มีสมุทัย ทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น นิโรธมีอำนาจกำจัดได้ทุกอย่าง

ลักษณะของมรรค 

     มรรคแปลว่า ทางเดิน คือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ซึ่งอยู่กลางดวงธรรมของกายมนุษย์

     อีกความหมายหนึ่ง มรรค คือ ดวงธรรมประจำกาย คือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงธรรมเหล่านี้ มีลักษณะเป็นแก้วขาวใส กลมรอบตัวเหมือนลูกฟุตบอล

     ดวงธรรมเหล่านี้เป็นทางเดินของใจ ลักษณะของใจที่เดิน คือ ทำใจหยุด ใจนิ่ง กลางดวงธรรม ตรงจุดใส่เท่าปลายเข็ม ซึ่งอยู่กลางดวงธรรมทุกดวง หยุดในหยุดไม่ถอยหลัง ใจหยุดคือใจเดินไม่หยุดคือใจไม่เดิน

อำนาจของมรรค 

     ดวงมรรคนี้ กำจัดสมุทัยได้พอ ๆ กับดวงนิโรธทีเดียว ทำหน้าที่เป็นคู่ค่ายให้แก่ดวงนิโรธ เพราะดวงนิโรธอยู่ในดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานของกาย และในขณะเดียวกัน ดวงนิโรธคอยกำจัดไม่ให้สมุทัยเข้าถึงมรรคได้ เว้นแต่เกินกำลังของเขา
{mospagebreak title=หน้า 2&heading=หน้า 2}
ใครเป็นผู้ทำ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

บาป หรืออกุศล เป็นผู้ทำทุกข์ สมุทัย

บุญ หรือกุศล เป็นผู้ทำนิโรธ มรรค

     คำสอนของพระบรมศาสดาที่ว่า ไม่ทำบาปทั้งปวง หากทำเข้า เขาก็ทำทุกข์และสมุทัยให้ คือบาปเป็นผู้ทำให้แก่สัตว์โลกทุกสถาน เพราะบาปเขาก็มีพระพุทธเจ้า

     คำสอนของพระบรมศาสดาที่ว่า ทำการกุศลให้บริบูรณ์ หากเราทำกุศลพระบรมศาสดาก็ทำนิโรธและมรรคให้แก่สัตว์โลก เพราะสัมมาทิฎฐิก็มีพระพุทธเจ้า

     คำสอนที่ว่า ทำใจให้ใสนับว่าสำคัญมาก หากทำใจให้ใสได้ก็เข้าถึงนิโรธเข้าถึงมรรค ทำให้นิโรธและมรรคมีพลังขึ้น เป็นผลให้ทุกข์และสมุทัยไม่มีโอกาสได้ปกครอง

     โปรดสังเกตว่า ดวงธรรมของเราดวงเดียวนี้ มีผู้ปกครอง ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายมิจฉาทิฎฐิผู้เป็นเจ้าของทุกข์และสมุทัย และฝ่ายสัมมาทิฎฐิผู้เป็นเจ้าของนิโรธและมรรค คราใดที่สภาพใจของเราสงบระงับนิโรธและมรรคทำหน้าที่อำนวยความสุขให้ หากคราใดใจของเราไม่สงบ มีอาการส่าย ไหว ริบ รัว ทุกข์ และสมุทัยเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งความทุกข์ร้อนมาให้ เหตุนี้เองที่เราอาจทำกรรมร้ายบ้าง และทำกรรมดีบ้างสลับกันไป

     การที่พระบรมศาสดาทรงสอนให้สัตว์โลกทำใจให้ใส ให้ประกอบการกุศล และให้เว้นกรรมบาปก็เพื่อให้เรารอดพ้นจากการปกครองของทุกข์และสมุทัยนั่นเอง

     กลับมาดูชาวโลกของเราบ้าง มีใครบ้างไหมที่ทำใจหยุด ใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายเพราะการกระทำเช่นนี้ เป็นการทำนิโรธเพื่อเข้ามรรค ใครทำอย่างนี้ได้ก็ปลอดภัย เพราะเขาได้ทำใจให้ใสตามคำสอนของพระบรมศาสดาแล้ว เป็นผลให้นิโรธและมรรคส่งผลเป็นความสุข คำตอบก็คือ มีเรียนวิธีทำใจใสกันมาก แต่ไม่วางใจที่ศูนย์กลางกาย ปรากฏว่าใจสงบระงับเกิดความสุขใจสบายใจ แต่เขาจะไม่เห็นของจริง ๔ ประการ คือไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่ว่าจะฝึกใจกี่ปีกี่ชาติ เขาก็ไม่มีโอกาสได้เห็นอริยสัจ ๔ แน่นอน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ ไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกายจึงไม่ถูกแนวของสัมมาทิฎฐิ กลับเป็นแนวของทุกข์และสมุทัยที่มีอยู่แล้ว ในดวงธรรมของเขาผู้นั้น ทั้งนี้ เนื่องจากดวงนิโรธและดวงมรรคของเขามีพลังสู้ทุกข์และสมุทัยไม่ได้นั่นเอง

(จากหนังสือ แนวเดินวิชชาหลักสูตรคู่มือสมภาร ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ)

******

สมถะ

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท