ฌาณคืออะไร ? ฌานเกิดจากอะไร ?


ฌาณคืออะไร ? ฌานเกิดจากอะไร ?

โดยอาจารย์การุณย์  บุญมานุช

     านเป็นแผ่นขาว ใส เกิดจากขยายดวงธรรมให้โตออกแล้วกายธรรมนั่งบนนั้น ลักษณะของฌานนั้น กลมคล้ายเขียงที่เราให้หั่นผักศูนย์กลาง ๒ วาหนา ๑ คืบ หากเป็นฌานของกายธรรมก็มีขนาดโตยิ่งขึ้นไป ฌานทำหน้าที่เป็นพาหนะให้แก่กายทำให้กายไปไหนมาไหนได้เร็ว

     อารมณ์ฌานกับแผ่นฌานไม่เหมือนกัน แผ่นฌานคือการขยายดวงธรรมให้โต คือวิชาที่เราจะทำต่อไปนี้ ส่วนอารมณ์ฌานนั้น เกิดจากสภาพใจที่สงบระงับ เช่น

     ปฐมฌาน มีองค์ ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคตา

     เรามักได้ยินคำ วิตกวิจารณ์ แปลว่า เป็นทุกข์กังวลใจ อย่าปนกับวิตกและวิจาร

     คำวิตก แปลว่า ตรึก นึก ตรอง

คำวิจาร แปลว่า ใคร่ครวญโดยปัญญา

     วิตก หมายความว่า ใจประคองดวงนิมิตได้ ไม่เผลอไปเรื่องอื่นเลย อารมณ์เรายึดมั่นแต่นิมิตเท่านั้น

     มาถึงขั้นวิจาร หมายความว่า ประคองใจให้ถูกส่วนว่าจะวางใจอย่างไรเช่นไรเป็นขั้นใช้ปัญญา

     คำทางพระทั้ง ๒ คำนี้ ทำความยุ่งยากใจพอสมควร นักปฏิบัติเขาไม่ห่วงเรื่องถ้อยคำ แต่นักวิชาการเขาเคร่งครัด

     อารมณ์ฌานในเรื่องวิตกก็คือ ไม่เผลอและไม่ง่วงนอน พอถึงขั้นวิจารไม่มีความลังเลสงสัย พอถึงขั้นปิติ เกิดขนลุกบ้าง เกิดความโปร่งใจบ้าง เกิดความพอใจ พอถึงขั้นสุข ก็คือสบายใจแล้วอย่างนี้ดีแล้ว พอถึงขั้นใจดิ่งคือใจเป็นหนึ่ง ก็คือขั้นเอกัคตารมณ์

     อารมณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกทำภาวนาไม่ว่าสายใด ๆ แต่แผ่นฌานไม่เกิดแก่กาย ไม่รู้จักว่าฌานมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และอยู่ที่ไหนแต่การเจริญภาวนาแนว สัม มา อะ ระ หัง เราทำได้ทั้งอารมณ์ฌาณและเกิดแผ่นฌาน

     ต้องขอขอบคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสักร้อยครั้ง เพราะใคร ๆ ก็อยากทำฌานกันทั้งนั้น เพราะสบายใจ เกิดความสุขทางใจ ไปค้นคว้าในปิฎก พบแต่เรื่องอารมณ์ฌาน ส่วนวิธีทำแนวปฏิบัติ รูปพรรณสัณฐานไม่มี และศึกษาค้นคว้าที่ใดไม่ได้ด้วย เคราะห์กรรมจึงมีแก่ผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย เพราะเราไม่รู้วิธีทำ ชีวิตของเราจบลงด้วยความไม่รู้ แต่ด้วยมีอุปนิสัยมาแต่ปุเรภพชาติ ค้นคว้าธรรมไปตามคติของตน พบวิชาบ้าง ก็เป็นวิชาของมารเขาหรือวิชาของพระปนของมาร บัดนี้เป็นโอกาสดีแล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำมาชี้ขาดในทุกเรื่องแล้ว ขอเชิญท่านเรียนได้ตามใจชอบ

     ทุติยฌาน มีอารมณ์ฌาน ๓ คือ ๑. ปิติ ๒. สุข ๓. เอกัคตา

     ตติยฌาน มีอารมณ์ฌาน ๒ คือ ๑.สุข ๒. เอกัคตา

     จตุตถฌาน มีอารมณ์ฌาน ๒ คือ ๑. เอกัคตา ๒. อุเบกขา

     อากาสานัญจายตนะ พิจารณาอากาศว่าเป็นความว่างเปล่าปราศจากอารมณ์โดยกำหนดให้อากาศเป็นวงกลม

วิญญาณัญจายตนะ เพ่งอากาศที่เป็นวงกลมให้ว่างจากนั้นจะเห็นความใสยิ่งกว่าอากาศ มีลักษณะเป็นวงกลมเช่นเดียวกัน เราจะเกิดความรู้สึกว่า ความใสอันเป็นวงกลมนั้นมีวิญญาณ คือมีชีวิตจิตใจอยู่ก็ไม่ใช่จะว่าไม่มีชีวิตจิตใจก็ไม่เชิง ยังคาบลูกคาบดอก

     อาจิญจัญญายตนะ เมื่อดวงกลมใสจะมีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่เชิงได้หายไปแล้ว เกิดความรู้สึกทางใจขึ้นมาใหม่ คือรู้สึกว่าไม่มีอะไรอีกแล้ว ว่างจนกระทั่งไม่มีอะไร

     เนวสัญญานาสัญญายตนะ เมื่อความรูสึกว่างจนไม่มีอะไร ได้หายไปแล้วจะเกิดอารมณ์คือความรู้สึกอย่างใหม่เกิดขึ้นคือ จะรู้สึกตัวก็ไม่ใช่ จะว่าไม่รู้สึกตัวก็ไม่ใช่ เป็นลักษณะคาบลูกคาบดอก คือจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง นี่คืออารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญา แปลว่า จึงได้หมายรู้

ฌานเต็มส่วนกับฌานไม่เต็มส่วน

     ฌานไม่เต็มส่วน คือเกิดแต่อารมณ์ฌาน แต่ไม่เกิดแผ่นฌานที่ก้นกาย ส่วนฌานเต็มส่วนนั้น เกิดทั้งอารมณ์ฌานและเกิดแผ่นฌาน การเจริญภาวนาแบบกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกาย จึงทำได้แค่อารมณ์ปฐมฌานจะให้สูงกว่านี้ ยากเสียแล้ว เพราะกิเลสทางใจหรือที่เราเรียกว่าศัตรูทางใจ พูดอย่างเราก็ว่ามารรบกวนตลอดเวลา

     ฌาณทัสสนะ บางอย่างอาจแม่นยำได้ มารเขาไม่ขวางเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เราจะเห็นเขานั่งภาวนากันได้นาน ๆ พอภาวนาพิจารณาลมหายใจเข้าออกถึงขั้นละเอียดจะพบความว่าง สบายใจ ตัวเบา สบายใจ ทำได้แค่นี้เมื่อไรก็อย่างนี้ แต่ความรู้ไม่ไปไหน วนเวียนอยู่ในเรื่องว่าง สบายใจ แค่นี้

     เพียงแต่จะเข้าถึงกายฝัน ยังเข้าไม่ได้ เปิดตำราอยากเรียนอะไร ก็ไปกำหนดกันในว่างนั้น ว่างนั้นก็ส่งวิชาให้เห็นเรื่อยไป ชีวิตเราจบลงด้วยความรู้เพียงแค่นี้ เราทุ่มเทชีวิตกันทั้งชีวิต แต่รู้เห็นได้แค่นี้ น่าเสียใจ

     แต่การทำวิชาแนววิชากายธรรม พระบรมศาสดาทรงทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น แต่เราจะเห็นจริงจังอย่างพระองค์ไม่ได้ และจะให้เราเห็นแจ้งอย่างหลวงพ่อวัดปากน้ำย่อมไม่ได้ เพราะบารมีของเราไม่เท่าพระองค์ การอบรมบ่มอินทรีย์ของเราไม่เท่าพระองค์นั่นเอง

ที่เรียกว่าสมาบัติคืออะไร

     สมาบัติ คือ การเดินวิชาแบบอนุโลมปฏิโลม ตำราเขาบอกว่าให้เดินถึง ๗ เที่ยว คือเดินหน้าไป ๑ ย้อนกลับมา ๑ ให้นับเป็น ๒ เที่ยว เพิ่มความยากขึ้นอีกก็คือเข้าฌานไปด้วย ไม่เดินวิชา ๑๘ กายธรรมดา เหตุผลก็เพื่อให้กายใส ดวงธรรมใส และฌานก็ใสด้วย เพราะถ้าไม่ใส ธรรมกายจะไม่ตกสูญหากธรรมกายไม่ตกสูญ ท่านให้เดินวิชาเพิ่มจำนวนเที่ยวขึ้นอีก จนกว่าธรรมกายจะตกสูญ

********

 



ความเห็น (2)

" ต้องขอขอบคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสักร้อยครั้ง เพราะใคร ๆ ก็อยากทำฌานกันทั้งนั้น เพราะสบายใจ เกิดความสุขทางใจ ไปค้นคว้าในปิฎก พบแต่เรื่องอารมณ์ฌาน ส่วนวิธีทำแนวปฏิบัติ รูปพรรณสัณฐานไม่มี และศึกษาค้นคว้าที่ใดไม่ได้ด้วย"

แล้วคำกล่าวที่ว่า "เมื่อเรียนรู้ธรรมะใดแล้ว นำมาสอบทานกับพระไตรปิฏกถ้าลงลอยกันได้ถือว่าคำสอนนั้นถูก ถ้าไม่ลงลอยกันถือว่าคำสอนนั้นผิด"

ตามข้อความข้างต้นที่ผมยกมาจากบทความของท่านหมายความว่า คำกล่าวนี้ผมยกมาผิดใช้ไหมครับ

แล้วคำกล่าวที่ว่า "เมื่อเรียนรู้ธรรมะใดแล้ว นำมาสอบทานกับพระไตรปิฏกถ้าลงลอยกันได้ถือว่าคำสอนนั้นถูก ถ้าไม่ลงลอยกันถือว่าคำสอนนั้นผิด"

ตามข้อความข้างต้นที่ผมยกมาจากบทความของท่านหมายความว่า คำกล่าวนี้ผมยกมาผิดใช้ไหมครับ

 

ไม่ผิดดอกครับ เเม้เรื่องที่ได้นำเสนอนี้ก็ตรวจสอบแล้วอารมณ์ฌาณที่เกิดขึ้นตรงตามหลักพระไตรปิฎก  ส่วนเรื่องของแผ่นฌาณนั้นการที่เห็นได้เกิดจากการเข้าถึงญาณทัสสนะที่ละเอียด  สมจริงดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า  ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นลุ่มลึกไปเป็นลำดับ การตรึกนึกตรองไม่อาจจะหยั่งถึง ต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมนั้นแลจึงจะแจ้งผล(ปฏิเวธ)แห่งธรรมนั้น

 

อนึ่ง หลวงพ่อวัดปากน้ำรอบรู้ในพระไตรปิฎกและสอบทานโดยละเอียดแล้วจึงนำมาประพฤติปฏิบัตินั่นแล

 

พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อวัดปากน้ำ http://khunsamatha.com/blog/dhammakaya-C5.html

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท