ธาตุธรรม ๓ ฝ่าย (ตอน 3)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ธาตุธรรม ๓ ฝ่าย (ตอน 3) 

ประสบการณ์ในการปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย จากบันทึกของพระครูวินัยธร (ชั้ว โอภาโส)*

(จากตอนที่แล้ว) แล้วเอาธรรมกายพระโสดาปัตติผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงกายพระสกิทาคามิมรรค แล้วเอาธรรมกายพระสกิทาคามิมรรคเดินสมาบัติดูทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงกายพระสกิทาคามิผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สอง เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระโสดาบัน (รวมเป็นกิจ ๘)
แล้วเอากายพระ สกิทาคามิผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอนาคามิมรรค แล้วเอาธรรมกายพระอนาคามิมรรคเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอนาคามิผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สาม เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระสกิทาคามี (รวมเป็นกิจ ๑๒)
แล้วเอาธรรมกาย พระอนาคามิผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอรหัตมรรค แล้วเอาธรรมกายพระอรหัตมรรคเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สี่ เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระอนาคามี (รวมเป็นกิจ ๑๖) เรียกว่า โสฬสกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ไม่ต้องทำกิจอีกต่อไป

พอเข้าถึงธรรมกายพระอรหัต ก็รู้ชัดว่าพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย กายทั้ง ๑๘ กายนี้เป็นกายโลกีย์เสีย ๘ กาย ตั้งแต่กายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม และกายอรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้ง ๘ กายนี้ถึงจะเข้าฌานด้วยกายไหนก็เป็นฌานโลกีย์ทั้งสิ้น กายธรรมกายตั้งแต่โคตรภูเข้าไปจนถึงธรรมกายพระอร หัตแล้วธรรมกายในธรรมกายพระอรหัตเข้าไปอีก เป็นกายเถา กายชุด กายชั้น กายตอน กายภาค กายพืด กายพืดในกายพืด จนนับอสงไขยไม่ถ้วน นี้ล้วนแต่เป็นกายโลกุตตระทั้งนั้น จะเข้าฌานด้วยกายไหนก็เป็นฌานโลกุตตระทั้งนั้น ถ้าจะเข้านิพพานก็เข้าด้วยกายโลกุตตระ ทิ้งกายโลกีย์ไว้ในภพสาม


ถึง กายโลกีย์ก็ต้องทิ้งกันเป็นชั้น ๆ ไปเหมือนกัน เช่นจะไปเกิดในสวรรค์ นรก เปรต อสุรกาย ก็ต้องถอดเอากายมนุษย์ละเอียด (ซึ่งมีกายทิพย์ซ้อนอยู่) ไปเกิด (ถ้ากำลังแสวงหาที่เกิดก็เรียกว่า กายสัมภเวสี, ถ้าหาที่เกิดได้แล้ว เรียกว่า กายทิพย์) ทิ้งกายมนุษย์หยาบไว้ในโลกมนุษย์ ส่วนใจ จิต วิญญาณของมนุษย์ก็ดับอยู่กับกายมนุษย์นั้นแล


ถ้า ได้รูปฌาน จะไปเกิดในพรหมโลก ก็ต้องถอดเอากายรูปพรหมไปเกิด ทิ้งกายทิพย์ไว้ในเทวโลก ส่วนใจ จิต วิญญาณของกายทิพย์ก็ดับอยู่กับกายทิพย์นั้นแหละ
ถ้าได้อรูปฌาน จะต้องไปเกิดในอรูปภพ ก็ต้องถอดเอากายอรูปพรหมไปเกิด ทิ้งกายรูปพรหมไว้ในพรหมโลก ส่วนใจ จิต วิญญาณของรูปพรหมก็ดับอยู่กับกายรูปพรหมนั้นแหละ


ถ้าจะลงมา เกิดในมนุษย์อีก ก็ต้องเข้าซ้อนในกายรูปพรหม แล้วเข้าซ้อนในกายทิพย์ แล้วเข้าซ้อนในกายมนุษย์ (ละเอียด-หยาบ) ในครรภ์มารดาตามเดิม
ถ้าจะ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันเป็นกายสัตว์อยู่แต่ข้างนอก กายข้างในของมันก็มีกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรม เหมือนมนุษย์เราเหมือนกัน


ถ้าใครทำวิปัสสนา เข้าถึงธรรมกายแล้วไปถามบุรพกรรมของสัตว์เหล่านั้นดูได้ ว่าทำ บุรพกรรมอย่างไรจึงได้เกิดเป็นสัตว์ กายในของมันจะบอกให้ฟังอย่างละเอียดลออ ไม่ว่าสัตว์ชนิดใดบอกได้หมดทุกตัว เพราะกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมนั้นไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ มีแต่เกิดเท่านั้น มันก็จำชาติหนหลังได้ ส่วนกายมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน มันมีทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งเจ็บ ทั้งตาย มันก็จำชาติหนหลังไม่ได้


*เห็นหยาบละเอียดเข้าไปตามลำดับของกาย
*ไส้ คือ ใจกลางของกลางธาตุธรรมหรือญาณ

ท่าน ผู้อ่านโปรดทราบ บันทึกของท่านพระครูวินัยธร (ชั้ว โอภาโส) อันดับต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทั้งสามภาคต่างเอาพระ ไตรปิฎกของตัวเข้าบังคับสัตว์ ได้แก่ มนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมอย่างไร, วิธีทำวิชชาสำรอกธาตุธรรมดำให้หลุดจากการห่อหุ้มธาตุธรรมขาวอย่างไร, วิธีการตรวจดูภพและทวีปต่าง ๆ ในจักรวาล ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ วิชชามรรค ผล พิสดาร เล่มที่ ๒ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑, พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้ว สำหรับท่านที่ถึงธรรมกายและได้ฝึกเจริญภาวนามาถึงขั้นนี้ (พิจารณาอริยสัจ ๔) แล้ว จะไปขอหนังสือ วิชชามรรค ผล พิสดาร เล่มที่ ๑, เล่มที่ ๒ และหนังสือยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการสะสางธาตุธรรม (อาสวักขยญาณขั้นสูง) ได้ที่พระเดชพระคุณพระภาวนาโกศลเถร รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ซึ่งพระเดชพระคุณท่านจะได้พิจารณาให้เป็นรายบุคคลตามควรแก่ภูมิธรรมที่ ปฏิบัติได้ โดยไม่คิดมูลค่าแต่ประการใดทั้งสิ้น
ส่วนบันทึกสุดท้ายของท่านพระครูนั้นยังไม่มีพิมพ์ขึ้นไว้ในที่ใด จึงจะขอนำมาพิมพ์ต่อเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาต่อไป ดังต่อไปนี้

นิพพาน ภพสาม โลกันต์ มีอยู่ในกายมนุษย์ กายทั้งหมดทุกภพมีขันธ์ ๕ ทั้งนั้น แม้ชั้นอรูปพรหมก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน ต่างแต่ขันธ์ ๕ ของชั้นนี้ละเอียดยิ่งนัก ส่วนนรกก็ดี สัตว์โลกันต์ก็ดี ล้วนแต่มีขันธ์ ๕ ทั้งนั้น แม้พระนิพพานก็มีขันธ์ ๕ แต่ว่าขันธ์ ๕ ของพระนิพพานนั้นท่านเรียกต่างออกไปอย่างนี้

๑) ขันธโลกในกายพระนิพพานนั้น เรียกว่า ธรรมขันธ์ แทนขันธ์ ๕

๒) สัตว์โลกในกายพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า อริยสัจ แทนเรียกว่าสัตว์โลก

๓) อากาศโลกในกายพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า ธรรมธาตุ แทนอากาศธาตุ คือ ธาตุ ๖ นั้นเอง เป็นอากาศธาตุ แต่ละเอียดสุขุมเย็นสนิทยิ่งนัก


นิพพาน ในศูนย์กำเนิดกลางกายมนุษย์เข้าไปเรียกว่า นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน อยู่ในกายมนุษย์ ส่วนนิพพานที่อยู่ข้างบน เหนือภพสามขึ้นไป ๓ เท่าของภพสามนั้น เป็นที่เสด็จอยู่ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่นิพพานไปแล้วนั้น ท่านเรียกว่า อายตนนิพพาน หรือ อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานที่มีศูนย์ตรงกันกับศูนย์นิพพานเป็น หรือที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานที่อยู่ในกายมนุษย์ เมื่อธาตุธรรมเดินฌานสมาบัติตกสูญนิพพานเป็นแล้ว ก็เป็นอันเข้าสู่ศูนย์อายตนนิพพานด้วย อายตนนิพพานเบื้องบนนั้น ก็ดึงดูดธาตุธรรมขึ้นไปสู่อายตนนิพพาน ไม่ผิดอะไรกับกายทิพย์เมื่อจะตั้งปฏิสนธิในครรภ์มารดา ถ้าตกสูญแล้ว ศูนย์กำเนิดเดิมซึ่งตั้งอยู่ขั้วมดลูกของมารดา ก็ดึงดูดกายทิพย์เข้าไปตั้งอยู่กลางกำเนิดมดลูกฉะนั้น


ก็ เหมือนกับอนุปาทิเสสนิพพานที่อยู่เหนือขอบภพสามขึ้นไป ๓ เท่า นั้น ดึงดูด สอุปาทิเสสนิพพานที่อยู่ในกายมนุษย์ขึ้นไปติดอยู่ในอายตนนิพพาน เพราะมีอายตนะด้วยกัน สอุปาทิเสสนิพพานก็มีอายตนะ อนุปาทิเสสนิพพานก็มีอายตนะ เมื่อธาตุธรรมเดินสมาบัติตกสูญตรงกันเข้าก็ดึงดูดเข้าไปติดกัน เหมือนอายตนะในตากับอายตนะในรูป เมื่อตกสูญตรงกันเข้าก็ดึงดูดเข้าไปหากันฉะนั้น


แต่ส่วนนิพพาน ที่ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีนั้น ทำไมเหมือนกับปิด ๆ บัง ๆ อมอำอยู่ชอบกล ข้าพเจ้า (พระครูวินัยธร-ชั้ว) ได้คัดลอกมาจากคำแปล แต่ไม่ได้เขียนตัวบาลีไว้ด้วย เพราะข้าพเจ้าแปลไม่เป็น จึงเอาแต่คำแปลมาลงไว้เท่านั้น ท่านกล่าวไว้ ๓ ข้อ


ข้อ ๑. กล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้น มีอยู่, ที่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีแล, อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็มิใช่, โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็มิใช่, อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวเลยซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการเกิด, อายตนะนั้นหาที่ตั้งมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นั่นแลที่สุดแห่งทุกข์”

นี่จะเอาความอย่างไร ท่านไม่ได้เอาของในนิพพานมากล่าวเลย ในนิพพานมีกล่าวแต่อายตนะเท่านั้น ท่านกล่าวก็ไม่ผิด เพราะดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีในนิพพาน, อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่ในอรูปภพเท่านั้น, โลกนี้ โลกอื่น ก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่ในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก มารโลก, ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่สำหรับโลกมนุษย์เท่านั้น, ของที่กล่าวไว้นี้ไม่มีในนิพพานเลย แล้วใครจะรู้ว่านิพพานอยู่ไหน


ข้อ ๒. นั้นว่า “ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้”

นี้ก็เทียบ ๆ นิพพานไปแล้ว แต่ถ้าคนไม่รู้เรื่องในนิพพานแล้ว เอาความไม่ได้เลย


ข้อ ๓. นั้นว่า “ธรรมชาตินั้นสงบแล้ว ธรรมชาตินั้นประณีต ธรรมชาติไรเล่าเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นราคะ เป็นที่ดับ คือนิพพาน”

นี่ท่าน กล่าวแต่เพียงธรรมชาติในนิพพานเท่านั้น แต่ตำแหน่งที่อยู่ของนิพพานท่านไม่กล่าวว่าอยู่ที่ไหน จึงเอาความยาก ครั้งจะว่าให้มากไป ข้าพเจ้าก็กลัวว่าจะเป็นการตู่พระพุทธวัจนะ เพราะเป็นของในบาลี ข้าพเจ้าก็กลัวบาปอยู่เหมือนกัน

แต่ ส่วนในนิพพานอย่างที่พวกมีธรรมกายไปพบไปเห็นมานั้น ล้วนแต่สมบัติวิเศษเป็นแก้วทั้งนั้น กายพระพุทธเจ้าเองก็ใสเป็นแก้ว แล้วสิ่งอื่น ๆ ก็ล้วนแก้ววิเศษทั้งนั้น เช่น แก้วจุลจักรพรรดิ แก้วมหาจักรพรรดิ แก้วบรมจักรพรรดิ ที่มนุษย์ผู้มีบุญวาสนาได้มาใช้กันนั้น ก็ต้องส่งมาจากนิพพาน, หรือแก้วทิพยจุลจักรพรรดิ แก้วทิพยมหาจักรพรรดิ แก้วทิพยบรมจักรพรรดิ ที่พวกเทวดา พรหม ที่มีบุญวาสนายิ่งใหญ่ใช้กัน ก็ล้วนแต่ส่งมาจากนิพพานทั้งนั้น, ยังแก้วพุทธจุลจักรพรรดิ แก้วพุทธมหาจักรพรรดิ แก้วพุทธบรมจักรพรรดิ ที่ใช้กันอยู่ในนิพพานนั้น แต่ละอย่าง ๆ มีมากมายนับอสงไขยไม่ถ้วน ล้วนแต่เป็นแก้วกายสิทธิ์วิเศษทั้งนั้น ทำไมท่านจึงไม่กล่าวไว้ในบาลี


แต่ ว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น คงจะตรัสเทศนาไว้หมดทุกอย่าง แต่ในคัมภีร์เก่า ๆ มีกล่าวอยู่บ้าง เช่นที่ว่า “เป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าถึงเมืองแก้ว กล่าวแล้วคือนิพพาน” เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีกล่าวถึงนิพพาน หมดเข้าไป เสื่อมเข้าไปอย่างที่เห็น ๆ


เดี๋ยวนี้พระศาสนาก็ล่วงเลยมาสอง พันกว่าปีแล้ว น่ากลัวพระพุทธวัจนะจะคลาดเคลื่อน (และตกหล่น) ไปมาก จนไม่มีใครรู้เรื่องนิพพานเสียเลย


ลงเห็นว่านิพพานไม่มีแล้ว ภาคดำเขาก็คอยสอดญาณละเอียดเข้าในเห็น จำ คิด รู้ ของพวกอรรถกถาจารย์ ให้แต่งแก้พระพุทธวัจนะ ให้เลอะเลือนคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ


เพราะนิพพาน เป็นจุดสำคัญ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงปรารถนามุ่งหมายนัก ภาคดำเข้าก็หวงแหน ปิดบังอย่างสุดขีด เพราะว่าถ้าสัตว์ยังเวียนว่ายอยู่ในภพสามตราบใด ภาคดำเขาก็ต้มเล่นอย่างสนุก ถ้าถึงนิพพานเสียแล้วมันก็ไม่กลัวกัน ฉะนั้น เขาจึงขัดขวางจนสุดฤทธิ์

แล้วในนิพพานนั้นเป็นที่สุโขมโหฬาร จนไม่มีส่วนเปรียบ ยังพวกจักรพรรดิที่คอยดูแลปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่ในนิพพานนั้น ก็ล้วนแต่กายใสเป็นแก้วทั้งนั้น และไม่ใช่แต่จะดูแลในนิพพานเท่านั้น ถึงแม้ในภพสามเรานี้พวกจักรพรรดิและพระพุทธเจ้าก็ต้องคอยดูแลส่งเสียอยู่ ไม่ขาดเหมือนกัน ที่ส่งความบริบูรณ์มาหล่อเลี้ยงหมู่สัตว์ของพระพุทธเจ้าในนิพพานนั้น ยิ่งกว่าบิดามารดาที่มีต่อบุตร ธรรมดาบิดามารดานั้นถึงบุตรจะชั่วร้าย ไม่รู้จักบุญคุณอย่างไร ก็ยังรักอยู่เสมอ แต่พระพุทธเจ้าทรงคุณยิ่งกว่านั้น ความกรุณาต่อสัตว์ไม่เลือกหน้า ถึงสาวกในพระศาสนาจะชั่วช้าไม่รู้จักพระคุณ เหมือนอย่างพระเทวทัตก็ดี ก็ยังกรุณาอยู่เสมอ ฉะนั้น พระคุณพระพุทธเจ้าจึงมีมากสุดจะพรรณนา ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์เก่า ๆ ว่า เปรียบเหมือนบุรุษที่มีฤทธิ์เนรมิตศีรษะได้พันศีรษะ ๆ ละร้อยปาก มีปากละร้อยลิ้น แล้วจะพรรณนาคุณพระพุทธเจ้าอยู่จนตลอดกัลป์ ก็ยังไม่สิ้นสุดพระคุณของพระพุทธเจ้า


แต่ภาคดำตรงกันข้าม นั่นมีพระเดช ถึงบุรุษผู้มีพันศีรษะ ๆ ละร้อยปาก ปากละร้อยลิ้น จะพรรณนาพระเดชมารไปตลอดกัลป์ก็ไม่สิ้นสุดโทษของเขาได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าภาคดำนี้ล้วนแต่เป็นพญามัจจุราชทุกองค์ มีแต่จะให้ทุกข์โทษแก่สัตว์ฝ่ายเดียว ทุกข์ของสัตว์ที่มีร้อยแปดประการนั้น เป็นธรรมของภาคดำฝ่ายเดียว ฉะนั้น ถึงจะพรรณนาโทษของเขาสักกี่กัลป์ก็ไม่สิ้นสุด


การที่พระพุทธ เจ้าภาคขาวส่งความบริบูรณ์มาหล่อเลี้ยงหมู่สัตว์ หรือพระเณรในศาสนานั้น ให้สังเกตดูวัดใดวัดหนึ่ง ถ้าพระเณรปฏิบัติเคร่งครัดต่อธรรมวินัย วัดนั้นต้องบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ชื่อเสียงโด่งดัง อย่างเช่นวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น หลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี) ท่านเอาแต่ธรรมวินัยอย่างเดียว อย่างอื่นผิดธรรมวินัยท่านไม่เอา ส่วนตัวท่านเองสิกขาบท ๒๒๗ ไม่มีขาดตกบกพร่อง แล้วยังไม่ประมาท แสดงอาบัติทุกเช้ามืดเป็นนิตย์ แล้ว


แนะนำสั่งสอนภิกษุสามเณร ให้ประพฤติปฏิบัติชอบทุกวันไม่มีเว้นเลย จึงบริบูรณ์ ไม่ขาดแคลน พระเป็นร้อย ๆ สามเณรเป็นร้อย ๆ อุบาสกอุบาสิกาเป็นร้อยก็ไม่อดอยาก แต่บางครั้งก็มีบกพร่องบ้าง เป็นที่พระเณรต่างวัดไปอาศัยอยู่ นิสัยหยาบติดไปจากวัดเดิม ประพฤติบกพร่อง เป็นธรรมของฝ่ายดำ ฝ่ายดำเขาส่งชั่วมาขัดขวางได้บ้าง แต่ก็ขัดขวางไม่ได้มากนัก เพราะพระเณรที่เคร่งครัดก็มีมากเหมือนกัน จึงขัดขวางไม่ถนัด ถ้าพระเณรทำตามหลวงพ่อสอนทุกองค์แล้ว อย่าว่าแต่วัดปากน้ำวัดเดียวเลย ถึงวัดอื่นสักกี่สิบวัดก็เลี้ยงได้จริง ๆ

พระพุทธเจ้าภาคดำ น่ะฤทธิ์เดชไม่ใช่พอดีพอร้าย ล้วนแต่เป็นมัจจุราชที่ผลาญชีวิตสัตว์ทั้งนั้น แล้วปิดบังอำพรางเรื่องของตัวนัก ไม่อยากให้ใครรู้เรื่องของเขาทีเดียว ดูแต่มนุษย์ที่ทำชั่วไม่อยากให้ใครรู้เรื่องเหมือนกัน เพราะเรื่องมันชั่ว พระพุทธเจ้าภาคดำก็ต้องปิดเรื่องชั่วของตัวเหมือนกัน แล้วจะหาใครต้านทานฤทธิ์มันยากนัก ไม่มีกลัวไม่มีเกรงผู้ใดเลย


พระ พุทธเจ้าภาคขาวที่ดับขันธ์ปรินิพพานไปเหมือนอย่างพระสมณโคดมแล้วสักกี่โกฏิ กี่ล้านหรือสักกี่อสงไขย ก็สู้ไม่ได้เลยสักองค์เดียว เพราะพระพุทธเจ้าภาคขาวที่ดับขันธ์ถอดเอาธรรมกายเข้านิพพานไปนั้นเหมือน อย่างกุ้งหรือปูที่ลอกคราบ ก้ามและกระดองอ่อน ๆ อย่างนั้นจะไปทำอะไรใครได้ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าชั้นก่อน ๆ ที่เข้านิพพานทั้งกายมนุษย์เป็นๆ ไปนั้น แต่อย่างนั้นก็ยังเต็มรับเต็มสู้

เหมือนอย่างพระสมณโคดม สัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านก็คิดจะเข้านิพพานทั้งเป็น ๆ เหมือนกัน แต่สู้เขาไม่ได้ก็ต้องดับขันธ์นิพพาน เมื่อพระองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ เสด็จไปประทับที่ใต้ควงไม้อชปาลนิโครธ พระยามารนิมนต์จะให้นิพพานเสียทีเดียว พระองค์ได้ตรัสแก่มารว่า ถ้าบริษัททั้ง ๔ เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่บริสุทธิ์แพร่หลายดีแล้ว จะยังไม่นิพพาน มารได้ฟังดังนั้นก็หลีกไป ในพระบาลีกล่าวไว้แต่เพียงแค่นี้


เมื่อพระยามารหลีกไปแล้ว พระพุทธเจ้าภาคมารก็มาเอง ตอนนี้ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะพระบาลีไม่กล่าวไว้ เป็นแต่ผู้ที่มีธรรมกายไปพบปะเข้า ท่านต้องทำให้มีให้เป็น อย่างที่บอกหนทางไว้ข้างต้นนั้น เมื่อเห็นแล้วไปดูเอาเอง แล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจท่านเถอะ เมื่อพระพุทธเจ้าภาคมารมานั้น พระกายดำเป็นนิล ใสเป็นแก้ว โผล่ขึ้นตรงหน้า (พระสมณโคดม) แล้วถามว่า “เมื่อท่านยังไม่เข้านิพพาน แล้วท่านจะรบกับเราหรือจะโปรดสัตว์ ?” พระพุทธเจ้าเพิ่งจะได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ยังไม่ทันจะรู้เรื่องราวอะไรนัก ก็ต้องเข้านิโรธสมาบัติไปเจ็ดวัน ขึ้นไปทูลถามพระพุทธเจ้าที่ในนิพพานแก่ ๆ ขึ้นไป จนถึงพระพุทธเจ้าที่เข้านิพพานทั้งกายมนุษย์ ว่าจะรบดีหรือจะโปรดสัตว์ดี พระพุทธเจ้าในนิพพานแก่ ๆ นั้นก็บอกว่า


“โปรดสัตว์เถิด จะรบนั้นสู้เขาไม่ได้ เพราะบารมีท่านน้อยกว่าเขา” แล้วก็ให้นัยมาว่า ให้ตั้งกติกากับเขาข้อเดียว พระพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วก็บอกว่า “เราจะโปรดสัตว์” ภาคดำเขาก็ตั้งกติกาให้ ๔ ข้อ


ข้อ ๑. ท่านอย่าไปแตะต้องโครงการของเขา ที่เขาทำให้ทุกข์แก่สัตว์ไว้แล้วอย่าพูดไป

ข้อ ๒. ท่านต้องห้ามสาวกอย่าให้แผลงฤทธิ์เดช จนไปแตะต้องโครงการของเขา

ข้อ ๓. ท่านจะเทศนาโปรดสัตว์ ต้องเทศนาโทษว่า เป็น “กรรม” ของสัตว์ อย่าโทษว่าเขา (พระพุทธเจ้าภาคดำ) ทำ

ข้อ ๔. เมื่ออายุท่านครบ ๘๐ ปี ท่านต้องนิพพาน


ถ้า รับกติกาได้อย่างนี้ ก็จะไม่รุกรานกัน พระพุทธเจ้าภาคขาว (พระสมณโคดม) ก็ตั้งกติกาไว้ข้อเดียวว่า “ศาสนาของเราไม่มีกำหนด มรรคผลยังมีอยู่ตราบใด ศาสนาก็ตั้งอยู่ตราบนั้น” (นี้ตรงกับพระมหาสมณเจ้าฯ ค้นที่มาของศักราชไม่พบ จึงบอกแต่ล่วงเท่านั้น)


เมื่อปฏิญาณ ว่าจะไม่รุกรานกันแล้ว พระพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) ก็เที่ยวโปรดสัตว์ไป ครั้งพระศาสนาแพร่หลาย มีพระสาวกมากเข้า ภาคดำก็เล่นลูกไม้ สอดละเอียดเข้าในเห็น จำ คิด รู้ ของพวกพระสาวกให้ทำชั่วขึ้น อย่างเช่น พระสุทิน ให้เสพเมถุนธรรมขึ้น, พระธนิยะ ทำอทินนาทาน, พระที่แม่น้ำ วัคคุมุทา ทำมนุสสวิคคหะบ้าง อวดอุตริมนุสธรรมบ้าง เป็นให้ทำปาราชิก ๔ แล้วก็สอดละเอียดเข้าให้ทำสังฆาทิเสส ๑๓, อนิยต ๒, นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐, ปาจิตตีย์ ๙๒, ปาฏิเทสนียะ ๔, เสขิยวัตร ๗๕, อธิกรณสมถะ ๗, จนหมด ๒๒๗ สิกขาบท พระพุทธเจ้าก็ต้องตามบัญญัติสิกขาบทจนหมดสิ้น ศาสนาใดถ้าพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทมาก การได้มรรคผลก็น้อย ถ้าสิกขาบทบัญญัติน้อย มรรคผลก็ได้กันมาก ในศาสนาพระสมณโคดมนี้ ภาคดำเขาสอดละเอียดเข้ามาให้บัญญัติสิกขาบทจนพระสาวกพลิกตัวแทบจะไม่ไหว แล้วเขาก็ตั้งกฎของเขาขึ้น ผู้ที่ประพฤติดีไม่เป็นอาบัติ เป็นสาวกของพระสมณโคดม, ผู้ที่ประพฤติชั่วเป็นอาบัติ เป็นสาวกของเขาหมด เมื่อเขาเอาเข้าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องนิ่ง ครั้นจะพูดเรื่องเขาเข้า ก็จะเสียสัจที่ตั้งกติกาต่อกันไว้ว่าจะไม่พูดเรื่องของเขา ธรรมดาพระพุทธเจ้า (ฝ่ายขาว) เมื่อตรัสสิ่งใดไปแล้วก็จะไม่คืนคายสัจวาจา ครั้งจะต่อว่าเขา (ภาคดำ) เขาก็ว่าความไม่ซื่อสัตย์ คดโกง เป็นธรรมของเขา ซึ่งเขาก็จะต้องปฏิบัติตามธรรมดำของเขา ครั้นจะปะทะกันขึ้น ก็จะไม่มีเวลาโปรดสัตว์ เพราะจะต้องนิ่งอยู่แต่ในนิโรธสมาบัติ ไม่มีเวลาออก แล้วกำปั้น* ก็เล็กกว่าเขา เพราะบารมีของพระองค์ก็เพียงสี่อสงไขยแสนมหากัปเท่านั้น ของเขาตั้งร้อยอสงไขย พันอสงไขย หรือกว่าพันอสงไขยก็มี ถึงจะปะทะกันขึ้นก็สู้เขาไม่ได้ กำลังบารมีของเขามากกว่า

ก็เหมือน กับไทยเรากับประเทศนอก สมัยราชาธิปไตย เขตแดนก็มาก แต่กำปั้นเล็กกว่าเขา ก็ต้องปล่อยให้เป็นเขตแดนของผู้อื่น จะสร้างปืนขึ้นสักกระบอก เขาก็ถามเอาว่า “จะรบกับฉันหรือ ?” จะสร้างเรือขึ้นสักลำ เขาก็ถามว่า “จะสร้างไว้รบกับฉันหรือ ?” ไทยก็ต้องทนเอา เพราะกำปั้นเล็กกว่าเขา น่าเจ็บใจน้อยไปเมื่อไหร่


พระพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) กับภาคดำก็แบบนั้น ถ้าใครไปรู้เรื่องจริงของเขาเข้าแล้ว น่าสงสารนัก ภาคดำเขาจะกลั่นแกล้งอย่างไรก็ต้องทนเอาแต่พอโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นไปได้เท่า นั้น


แม้แต่พูดว่ามารชนะพระเขายังไม่ชอบ ต้องพูดว่าพระชนะมาร เขาจึงจะทำการลงโทษสัตว์ได้สะดวก พระพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) ก็ต้องทนเอา


ต่อ เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๘๐ ปี ก็เริ่มให้โอกาสแก่พระอานนท์ (เพราะคิดจะเข้านิพพานทั้งเป็นเหมือนกัน) ว่า ตถาคตนั้น ถ้าอาศัยเจริญอิทธิบาททั้ง ๔ แล้ว จะให้มีอายุยืนถึงกัปหรือกว่ากัปก็ได้ แต่เพียรให้นิมิตโอกาสแก่พระอานนท์อยู่ถึง ๑๖ ตำบล ๆ ละสามครั้ง จะให้พระอานนท์ทูลอาราธนาให้ดำรงชีวิตอยู่อีกต่อไป ภาคดำเขาก็คอยดลใจพระอานนท์ไม่ให้นึกขึ้นได้ พอครบ ๑๖ ครั้ง เท่าโสฬสกิจ ก็หมดโอกาสที่จะให้โอกาสต่อไป พระยามารก็เข้ามาเตือนให้นิพพานตามสัญญา นั่นถ้าพระอานนท์ทูลอาราธนาไว้ได้ ภาคมารก็หมดโอกาส ทีนี้พระองค์ก็จะได้เดินสมาบัติเชื่อมพระกายหมดทุกกายจนนับอสงไขยไม่ถ้วน ให้ติดกันเป็นกายเดียว ใสเป็นแก้ว เข้านิพพานทั้งเป็นได้แล้วจะไปกลัวอะไร แต่ต้องดับขันธ์นิพพานอย่างนั้น....ถ้าเข้านิพพานได้ทั้งเป็นก็เลิศเท่า นั้นฯ.

----------------------------------------------------

อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท