ความจริงสูงสุดในคำสอนของพุทธศาสนา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/
ความจริงสูงสุดในคำสอนของพุทธศาสนา

ความหลุดพ้น (นิโรธ)  เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา  ความหลุดพ้นแปลว่า หลุดจากความทุกข์  ดับกิเลสเครื่องเผารนอย่างสนิท  จึงมีชื่อเรียกที่เข้าใจกันทั่วไปว่า  นิพพาน  (ภาษาสันสกฤตคือ นิรวาณ)  

การศึกษาเรื่องความหลุดพ้นหรือ นิพพาน  จะต้องแยกพิจารณาเป็น  ๒  ประเด็น  คือ


(๑)  ศึกษาภาวะและลักษณะของความหลุดพ้นซึ่งเป็นความจริงสูงสุด (นัยคือความจริงพ้นโลก) ของพุทธศาสนา  เป็นการศึกษาภาวะที่เรียกว่า นิพพาน  หรือ นิโรธ  ว่าเป็นอย่างไร  มีลักษณะเช่นไร


(๒)  ศึกษารูปแบบและลักษณะของการบรรลุสู่ความหลุดพ้น (ไม่ใช่ตัวความหลุดพ้นแบบข้อแรก)  ว่า  เป็นเช่นไร  


ทั้ง ๒ ประเด็น  แยกศึกษา  ดังนี้


(๑)  นิโรธเป็นภาวะอย่างไร  
(๒)  มรรคที่จะนำไปสู่นิโรธนั้นมีรูปแบบอย่างไร


หรือ


(๑)  ภาวะที่เรียกว่านิพพานนั้นเป็นอย่างไร
(๒)  จะบรรลุสู่ภาวะนี้จะต้องทำอย่างไร



ที่ผ่านมา  ความเข้าใจเรื่องนิพพานเรื่อยไปถึงความจริงสูงสุดอื่น เช่น สุญญตา  หรือ  ธรรมกาย  ในทางพุทธมีความหลากหลาย  การตีความเรื่องนี้ของนักปราชญ์แบ่งออกได้เป็น ๓ แนว  คือ


๑.  สายที่ถือว่า  ขันธ์  ธาตุ  อายตนะ  จิต  และนิพพาน  มีอยู่จริง  ทั้งหลายนี้มีอยู่แยกจากกัน  สายนี้คือสายของเถรวาท  เรียกว่าเป็นพวกสัจนิยม  กลุ่มนี้จะยืนยันทั้งตัวรู้ (อัตวิสัย – subjective)  คือ จิต ว่าจริงแต่เปลี่ยนแปร  ยืนยันสิ่งที่ถูกรู้ (ภววิสัย – objective)  คือ รูป ว่าจริงแต่ไม่เที่ยง  และยืนยันสิ่งที่ถูกรู้อีกอย่างคือนิพพานว่าจริงเสมอโดยไม่แปรเปลี่ยน


เถรวาท : ยืนยันความมีอยู่จริงของทั้งตัวรับรู้และสิ่งที่ถูกรู้


ตัวรับรู้      คือ  จิต  (รวมเจตสิก)  อยู่ในสภาพสังขตะ
สิ่งที่ถูกรู้    คือ  รูป  อยู่ในสภาพสังขตะ
สิ่งที่ถูกรู้    คือ  นิพพาน  อยู่ในสภาพอสังขตะ (เป็นความจริงเที่ยงแท้)



๒.  สายที่ถือว่า  ไม่มีอะไรมีอยู่จริงๆ ทั้งนั้น  ที่ยืนยันไม่ได้เพราะทุกสิ่งไม่มีแก่นสาร  บอกไม่ได้ว่านิพพานมีอยู่จริง  สายนี้คือสายที่สอนเรื่อง สุญญตา


มาธยมิกะ : ไม่ยืนยันความมีอยู่จริงของทั้งตัวรับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้


จะถือว่าทั้งคู่นี้มีอยู่ก็ได้  แต่อยู่ในสภาพสัมพัทธ์ หรือสังขตะ เท่านั้น



๓.  สายที่ถือว่า  ความจริงอื่นนอกจากจิตไม่มี  เราไม่อาจยืนยันอะไรโดยไม่ผ่านจิต  ดังนั้น  จิตเป็นความจริงเดียวที่มีอยู่  เรียกสายนี้ว่าพวกจิตนิยม (ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับจิตนิยมของฝั่งตะวันตก)  สายนี้ยังแบ่งออกเป็นสองสายย่อย  กล่าวคือ  


(ก)  สายที่เห็นว่า  จิตเกิดดับต่อเนื่อง  ความหลุดพ้นหรือนิพพานมีความหมายเท่ากับตถตา – ความเป็นเช่นนั้นเอง


(ข)  สายที่เห็นว่า  จิตอมตะ  ความหลุดพ้นคือการกลับไปสู่จิตเดิมแท้ดวงเดียวกัน


สายจิตนิยม :  ยืนยันเฉพาะความมีอยู่จริงของตัวรับรู้คือ  จิต


(๓.๑) จิตมีอยู่จริงแต่อยู่ในสภาพสังขตะจึงไม่ยืนยันว่า จิตมีอยู่เที่ยงแท้
          นิพพาน  เป็นเพียงนามใช้อธิบายจิตที่บริสุทธิ์ (นิพพานไม่ได้มีอยู่จริง)  
สำนักที่สอนแบบนี้คือ โยคาจาระในอินเดีย


(๓.๒)   จิตมีอยู่จริงและอยู่ในสภาพอสังขตะ  ยืนยันว่าจิตมีอยู่เที่ยงแท้
นิพพาน  เป็นนามใช้อธิบายจิตบริสุทธิ์  จึงไม่มีอยู่จริง  แต่จิตบริสุทธิ์มีอยู่  
สำนักที่สอนแบบนี้คือสำนักพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในจีนส่วนใหญ่

 นิพพานมีคำไวพจน์เรียกแทนมากมาย  หลายชื่อนั้นแสดงให้เห็นถึงลักษณะของนิพพานที่ยอมรับกันอยู่ในฝ่ายเถรวาท  อาทิ  วิสุทธิ,  สันติ,  นิจจัง,  อมตะ,  อสังขตะ – ไม่ถูกปรุงแต่ง,  อกตัง – ไม่ถูกกระทำ(ไม่มีใครสร้าง),  ปาระ – ฝั่งหรือที่หมายอันปลอดภัย,  ธุวะ – ยั่งยืน  และ  บรมสัจจ์ – สัจจะสูงสุด  เหล่านี้เป็นต้น


เมื่อกล่าวถึงภาวะของนิพพาน  มีคำแสดงภาวะนี้ที่สำคัญที่สุดคำหนึ่ง  นั่นคือ  คำว่า  “อสังขตะ”  แปลว่า  ไม่ถูกปรุงแต่ง  คือ  ไม่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น  


--->>  ผู้ช่างสังเกตจึงเกิดความสงสัยขึ้นว่า  นิพพานน่าจะเกิดจากเหตุ  เพราะนิพพานเป็นผลของมรรคหรือการปฏิบัติตามมรรค  


--->>  ข้อสงสัยนี้มีคำอธิบายไว้ว่า  ถ้าเปรียบการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพานเหมือนการเดินทางไปเมืองเชียงใหม่  จะเห็นว่า  เมืองเชียงใหม่ที่เป็นจุดหมายของการเดินทางนั้น  ไม่ได้เป็นผลของทางหรือการเดินทาง  ไม่ว่าจะมีถนนหรือการเดินทางไปหรือไม่  เมืองเชียงใหม่ก็ยังคงมีอยู่  ถนนและการเดินทางเป็นเหตุของการไปถึงเมืองเชียงใหม่  แต่ไม่ได้เป็นเหตุของการมีอยู่ของเมืองเชียงใหม่  เช่นเดียวกับที่มรรคและการปฏิบัติตามมรรคย่อมเป็นเหตุให้เกิดการบรรลุนิพพาน  แต่ไม่ได้เป็นเหตุของนิพพาน  ในทำนองเดียวกัน  มีข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องทางกับนิพพานไว้คล้ายกัน  โดยพระพุทธองค์ตรัสกับพราหมณ์ที่ชื่อ  คณกโมคคัลลานะ  ว่า


พราหมณ์ ฉันนั้นก็เหมือนกัน  นิพพานก็มีอยู่ ทาง
ไปนิพพานก็มีอยู่  เรา (ตถาคต) ผู้ชักชวนก็มีอยู่  ก็เมื่อ
เป็นเช่นนี้  สาวกทั้งหลายของเราที่เราสั่งสอนอยู่
อย่างนี้  พร่ำสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกสำเร็จนิพพานอัน
ถึงที่สุดโดยส่วนเดียว  บางพวกไม่สำเร็จ  ในเรื่องนี้เรา
จะทำอย่างไรได้  ตถาคตก็เป็นแต่ผู้บอกทาง

(คณกโมคคัลลานสูตร, ม.อุ. ๑๔/๗๗/๘๓)

ในการอธิบายนิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  มนุษย์ไม่มีสัญญาที่จะใช้กำหนดในเรื่องนี้  ดังนั้น  ปราชญ์ท่านจึงสรุปวิธีอธิบายนิพพานออกเป็น ๔ แบบ  ได้แก่


๑. แบบปฏิเสธ  :  คือให้ความหมายที่แสดงถึงการละหรือกำจัดเพิกถอนภาวะที่ไม่ดี  ไม่งาม  ไม่เกื้อกูล  ไม่เป็นประโยชน์  เช่น  นิพพานคือความสิ้นราคะ  นิพพานคือความดับแห่งภพ  นิพพานคือจุดจบของทุกข์  ดังนี้เป็นต้น


๒.  แบบไวพจน์  :  คือการเรียกตามคุณภาพ  โดยนำเอาคำพูดที่เข้าใจกันดีอยู่และสื่อถึงความบริสุทธิ์ดีงามมาเป็นคำเรียกนิพพาน  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อแสดงคุณลักษณะบางแง่มุมให้เห็น  เช่น  นิพพานัง  ปรมัง  สุขัง  หรือ  อิสสริยะ – ความเป็นใหญ่ในตัวหรืออิสรภาพ  เป็นลักษณะแห่งนิพพาน


๓.  แบบอุปมา  :  คือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพของนิพพาน  มักใช้บรรยายภาวะและลักษณะของผู้บรรลุนิพพานมากกว่าจะใช้บรรยายภาวะของนิพพานโดยตรง  เช่น  พระอรหันต์เหมือนโคนำฝูงว่ายตัดกระแสน้ำถึงฝั่ง  พระอรหันต์เหมือนไฟที่ดับสิ้นเชื้อแล้ว  เหล่านี้เป็นต้น


๔.  แบบบรรยายภาวะโดยตรง  :  คือคำอธิบายนิพพานตามสภาพที่เป็นจริงและตรงไปตรงมา  เช่น  นิพพานคือความดับทุกข์  นิพพานคือภาวะสิ้นกิเลส


คำอธิบายนิพพานเหล่านี้  บางส่วนเอื้อให้เกิดความเข้าใจว่า  นิพพานเป็นภาวะนิรันด์ที่มีอยู่จริง ๆ และมีอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีผู้รับรู้หรือไม่  ข้อความบางตอนในพระไตรปิฎกเองก็ไม่ช่วยให้เข้าใจนิพพานแตกต่างไปจากนี้นัก  ยกตัวอย่างเช่น  ใน  ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร  มีพุทธอุทานเกี่ยวกับนิพพานไว้ว่า


…ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะ(อรรถกถาว่าหมายถึง
นิพพาน) มีอยู่  (แต่) ในอายตนะนั้นไม่มีปฐวีธาตุ  ไม่มี
อาโปธาตุ  ไม่มีเตโชธาตุ  ไม่มีวาโยธาตุ  ไม่มีอากาสา
นัญจายตนะ  ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ  ไม่มีอากิญ
จัญญายตนะ  ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ  ไม่มี
โลกนี้  ไม่มีโลกหน้า  ไม่มีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
ทั้งสองนั้น

ภิกษุทั้งหลาย  เราไม่เรียกอายตนะนั้นว่ามีการมา
มีการไป  มีการตั้งอยู่  มีการจุติ  มีการอุบัติ  อายตนะนั้น
ไม่มีที่ตั้งอาศัย  ไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่มีอารมณ์ยึดเหนี่ยว
นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์
(ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร, ขุ. อุ. ๒๕/๗๑/๓๒๑–๓๒๒)



เช่นเดียวกันใน  ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร  ก็มีพุทธอุทานเกี่ยวกับนิพพานไว้ว่า


…ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมชาติที่ไม่เกิด  ไม่ปรากฏ  ไม่
ถูกเหตุสร้าง  ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง  มีอยู่  ภิกษุทั้ง
หลาย  ถ้าธรรมชาติที่ไม่เกิด  ไม่ปรากฏ  ไม่ถูกเหตุสร้าง
ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง  จักไม่มี  ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏ
ภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว  ที่ปรากฏแล้ว
ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว  ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด  ไม่
ปรากฏ  ไม่ถูกเหตุสร้าง  ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง  มีอยู่
ฉะนั้นจึงปราฎกภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิด
แล้ว  ที่ปรากฏแล้ว  ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว  ที่ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งแล้ว
(ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร,  ขุ. อุ.  ๒๕/๗๓/๓๒๓)



อีกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานรับรองการปรินิพพานของบุรุษนามพาหิยะ  ทารุจีริยะ  ในพระสูตรชื่อ  พาหิยสูตร  ว่า


…ในนิพพานไม่มีดิน  น้ำ  ไฟ  และลม  ไม่มีดวงดาว
ส่องแสง ไม่มีดวงอาทิตย์ส่องแสง ไม่มีดวงจันทร์ส่องแสง
และไม่มีความมืด  เมื่อใด  พราหมณ์ชื่อว่ามุนี
เพราะมีโมนธรรม(อริยสัจ ๔) รู้แจ้งด้วยตนเอง  เมื่อนั้น
เขาย่อมหลุดพ้นจากรูปภพ  อรูปภพ  และจากสุขและทุกข์
(พาหิยสูตร,  ขุ.  อุ.  ๒๕/๑๐/๑๘๓–๑๘๘)



--->>  ความจริงข้อความเหล่านี้อาจไม่ได้สนับสนุนการมีอยู่ของนิพพานในแบบที่ปุถุชนคิด  แต่เพราะเข้าใจยากจึงก่อให้เกิดการตีความหลากหลาย  และหนึ่งในการตีความที่เกิดขึ้นจากการอ่านพระไตรปิฎกก็คือ ทัศนะที่ถือว่า  นิพพาน  มีอยู่จริงต่างหากจากจิต  และ  มีอยู่ล่วงหน้าจิต  (จากเหตุผลที่ว่าจะมีจิตใครรับรู้หรือไม่  นิพพานก็ยังมีอยู่)

--->>  ลักษณะของความจริงที่เรียกว่านิพพานนั้นไม่อาจบรรยายได้ด้วยภาษาคน  อยู่ในระดับอุตรภาพ  เป็นความจริงอีกขั้นที่ประสาทสัมผัสของปุถุชนรับรู้ไม่ได้  


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทางภาษาที่เราจำเป็นต้องยอมรับ  ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการฟังธรรมที่กรุงสาวัตถี  มีข้อความสรุปเป็นพระคาถาตอนหนึ่งว่า


…ในหมู่มนุษย์  เหล่าชนผู้ไปถึง  ฝั่งโน้น(อรรถ
กถาว่าคือนิพพาน) มีจำนวนน้อย  ส่วนหมู่สัตว์นอก
นี้เลาะไปตาม  ฝั่งนี้(อรรถกถาว่าคือ วัฏฏะ บ้างก็ว่า
คือ สักกายทิฏฐิ)  ทั้งนั้น  ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตาม
ธรรม ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ  ชนเหล่า
นั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ  อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก
ไปถึง  ฝั่งโน้น ได้
(ปารังคมสูตร(ว่าด้วยธรรมที่ให้ถึงฝั่ง),  สํ. ม.  ๑๙/๓๔/๓๓  ดูเพิ่มเติมได้ใน สคารวสูตร, องฺ. ทสก. ๒๔/๑๑๗/๒๖๙–๒๗๐ และ  ธัมมัสสวนวัตถุ, ขุ. ธ. ๒๕/๘๕–๘๖/๕๕.)



เมื่อครั้งที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีดำริจะปลงอายุสังขารนิพพาน  ได้เกิดมหัศจรรย์คือแผ่นดินไหวสะเทือนไปทั่ว  มีเสียงกลองทิพย์บันลือลั่นและเสียงคร่ำครวญอยู่ทั่วไป  เหล่าภิกษุณีจำนวน ๕๐๐ รูป  ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้วได้พร้อมใจกันขอปลงอายุสังขารนิพพานด้วย  โดยเหล่าภิกษุณีได้กล่าวขึ้นว่า


…ข้าแต่พระแม่เจ้า  ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการ
นิพพานที่เกษมอย่างยิ่งไซร้  ถึงหม่อมฉันทั้งหลาย
ก็จักนิพพานทั้งหมด  ในกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรง
อนุญาตก่อน  แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ออกจาก
เรือน  และจากภพพร้อมกับพระแม่เจ้า  หม่อนฉันทั้ง
หลายก็จักไปสู่  เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน
พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน
(มหาปชาบตีโคตมีเถริยาปทาน,  ขุ.  อป.  ๓๓/๑๐๙–๑๑๐/๔๐๐–๔๐๑)



พระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ทรงขัดข้อง  โดยพระนางได้กล่าวอำลาอาลัยนิวาสสถานกับเหล่าเทพ  มีข้อความตอนหนึ่งว่า


“…ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย  ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขาร
ซึ่งไม่เป็นที่รัก  ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก
ที่นั่นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็น อสังขตสถาน” (สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง – นัยคือ พระนิพพาน)
(มหาปชาปตีโคตมีเถรียาปทาน,  ขุ.  อป.  ๓๓/๑๑๓/๔๐๑)


--->>>  การอธิบายนิพพานกับฝั่งหนึ่งก็ดี  เมืองอันยอดเยี่ยมก็ดี  หรือแม้แต่อสังขตสถานก็ดี  เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มหลังๆ ซึ่งข้อความส่วนใหญ่เป็นคาถาหรือบทร้อยกรอง  อีกทั้งบางส่วนก็เป็นงานของพระสาวก  ยังมีข้อความที่น่าสนใจอีก  ข้อความเหล่านั้นได้แก่


“…ผู้เห็น  ทางอมตะ(หมายถึงนิพพาน)  แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว  ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นทางอมตะที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี”  
(กิสาโคตมีวัตถุ,  ขุ. ธ. ๒๕/๑๑๔/๖๖)



“…มุนี(หมายถึงพระอเสขะ-ผู้ไม่ต้องศึกษาแล้วคือพระอรหันต์) ผู้ไม่เบียดเบียน  สำรวมกายอยู่เป็นนิตย์  ย่อมไปสู่ที่ที่ไม่จุติที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก”
(ภิกขูหิปุฏฐปัญหวัตถุ, ขุ. ธ ๒๕/๒๒๕/๑๐๓)



--->>  ภิกขูหิปุฏฐปัญหวัตถุ  ข้างต้นนี้  ประกอบกับคัมภีร์อรรถกถา  ธัมมปทัฏฐกถา  ที่ว่า  พระมุนีทั้งหลาย ย่อมไปสู่สถานที่คือพระนิพพานที่พระอเสขมุนี(ผู้ไม่ต้องศึกษาแล้ว - พระอรหันต์)  ทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศกคือไม่เดือดร้อน”  


--->>  เพื่อสนับสนุนว่า  นิพพานคือสถานที่อันยั่งยืน  เป็นเขตแดนอะไรบางอย่าง  เป็นทั้งสภาวะของความว่างและที่สถิตอยู่ของนิพพานธาตุ  โดยถือตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด  อาจกล่าวได้ว่า  นิพพานตามธรรมชาติที่เป็นจริงมี ๒ ความหมาย  


ความหมายแรก  บ่งถึงสภาวะที่ว่างหรือดับสนิทจากกิเลสตัณหา

วามหมายที่สอง  บ่งถึงนิพพานธาตุ  เพราะถ้าไม่มีนิพพานธาตุที่ทรงไว้ซึ่งสภาพนิพพานแล้ว  สภาพที่เรียกว่านิพพานก็มีไม่ได้…



--->>>   นิพพาน    ที่ปรากฏในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาท


เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธเถรวาทว่า  นิพพานคือความหลุดพ้นจากกองทุกข์  เป็นความรู้แจ้งกฎไตรลักษณ์  เป็นสภาพที่บุคคลสามารถละ  สละ  หรือทำลายอาสวะทั้งหลายแล้วอย่างสิ้นเชิง  เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า  “โลกุตตรภาวะ”  อยู่เหนือโลก  ไม่อาจพูดหรือบรรยายได้  อยู่เหนือสามัญสำนึก  อยู่เหนือโลกธาตุ ๓  เป็นโลกุตตรธาตุที่เป็นอิสระจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทุกอย่าง  และอยู่เหนือขอบเขตหรือวิสัยที่จะตกไปสู่เบื้องต่ำ (อปริยาปันนะ)


จุดประสงค์ของเถรวาทก็คือ การไปถึงภูมิที่อยู่เหนือธาตุ ๓  ซึ่งเรียกว่า  อปริยาปันนะ  หรือโลกุตตรธาตุ  คัมภีร์ ปฏิสัมภิทามรรค*  บอกว่า  โลกุตตรธาตุนั้น  มีสัตว์ผู้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔  หรืออสังขตะคือนิพพานอาศัยอยู่  คัมภีร์ วิภังค์**  อธิบายว่า  เหล่าสัตว์ในอปริยาปันนธาตุ  มีขันธ์  อายตนะ  และธาตุเหมือนกับสัตว์ผู้อาศัยอยู่ในรูปธาตุและอรูปธาตุ  แต่มีข้อแตกต่างกันที่  เหล่าสัตว์ในอปริยาปันนธาตุนั้น  รอบรู้สัจจะ ๒  คือ  นิโรธ และ มัคค์  มีอำนาจพิเศษ  คือ  อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์  และเหตุ ๖  เห็นได้ชัดว่า  เถรวาทพยายามแสวงหาความหลุดพ้นจากโลกิยธาตุ ๓  โดยการบรรลุโลกุตตระหรืออปริยาปันนธาตุ  ซึ่งหมายถึงอสังขตะหรือนิพพานธาตุ


* คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค  อยู่ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  เล่มที่ ๓๑
** คัมภีร์วิภังค์  อยู่ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระอภิธรรมปิฎก  เล่มที่ ๓๕



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท