ราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนิพนธ์เรื่องธรรมกาย


ราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนิพนธ์เรื่องธรรมกาย

      นสมัย รัชกาลที่ ๔ เป็นยุคที่มีการเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงให้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้น เป็นการกระตุ้นให้คณะสงฆ์ในยุคนั้นเกิดความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยขึ้นมาก

      รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณ-ปรีชา เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษในห้องเรียนเดียวกับกรมพระยาวชิรญาณวโร รส” ในปี ๒๔๑๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวชิรยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ สมัยรัชกาลที่ ๕) เป็นผู้ถวายศีลให้ และในปี ๒๔๒๓ พระองค์ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอีกเป็นเวลา ๑ ปี

      จากข้อความข้างต้น จะพบว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้ศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาจากครูบาอาจารย์ ที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือที่มีชื่อว่า แก่นไตรภพ เพ็ชรในหิน วิธธัมโมทัย มฤตยูกถา หรือ มรณานุสสร ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย ดังนี้ (ดูฉบับสมบูรณ์ได้ที่ภาคผนวก หน้า ผ๒๑๕-ผ๒๓๓)

      ๑. ในเรื่อง แก่นไตรภพ เป็นคำ ปุจฉาวิสัชนา เรื่องกายและใจ พระองค์ชอบในการแต่งบท

            ประพันธ์เป็นอันมาก ได้ทรงประพันธ์โคลงสุภาษิต แซกแก่นไตรภพ บทที่ ๕๔-๕๕ โดยได้เอ่ยอ้างถึงคุณสมบัติของธรรมกาย โดยตั้งชื่อว่า บทธรรมกายอาทิพุทธ ดังนี้ (หน้า ๕๓)

๕๔ อ้าธรรมิสเรศวร์เรื้อง .......ไตรรัตน์
เป็นเอกเป็นตรีชัด ...............เดชล้น
รักษานิกรสัตว์ ...................เสพสุข สวัสดิ์แฮ
ที่พึ่งสูงสุดพ้น ...................ทั่วทั้งสงสาร


๕๕ เป็นประธานแก่สัตว์สิ้น .....ทั้งหลาย
ทุกชีพดุจภาคกาย ..............หนึ่งแท้
เป็นอยู่ไม่รู้ตาย ..................ตลอดนิต ยกาลนา
โดยเดชธรรมกายแล้ ...........โลกเลี้ยงนับถือ


หน้า (๕๖)

๖๔ เพิ่มพูนความเรียบร้อย .....สามัคคี
ทั้งพิภพราตรี ....................แหล่งหล้า
ไม่มากไม่น้อยมี .................ส่วนเท่า กันนา
เพราะฤทธิ์ธรรมกายอ้า .........เอกล้ำเลิศคุณ

      ๒. ในเรื่อง เพ็ชรในหิน กล่าวถึงเรื่องสภาวะจิต ที่จะไปนิพพานได้ (หน้า ๑๐๐-๑๐๑) ข้อ ๓๖

            “...ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อก่อน ถ้าไม่เชื่อแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะถึงนฤพานได้
แต่ เมื่อทำจิตให้เชื่อนฤพานมีจริง เมื่อประกอบสติวิริยสมาธิแลปัญญาต่อไป จนถึงวิมุติและวิมุติญาณทัสนะเป็นที่สุดได้รู้เห็นถึงพระนฤพานได้สมตามปรา รถนา...”
แสดงว่าพระองค์เชื่อว่า นฤพานมีจริง สามารถไปถึงได้

      ๓. วิวิธธัมโมทัย เป็นเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องของจิตต์ เรื่องของกาย ซึ่งในเรื่องวิวิธธัมโมทัย 

            พระองค์ได้กล่าวถึงธรรมกายไว้ชัดเจนมาก ดังนี้

            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวถึงคำว่า ธรรมกายไว้ในหลายนัยในไตรพิธกายหน้า ๒๑๔-๒๑๗ ความว่า คนเรามีกายสามชั้น คือ

                  ๑. สรีรกาย กายที่แลเห็น ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

                  ๒. ทิพยกาย คือ กายที่เป็นความรู้สึกภายใน ผันแปรไปตาม กุสลากุศลธรรม แต่ไม่แก่ ไม่ไข้ แลไม่ตาย

                  ๓. ธรรมกาย คือ กายที่เที่ยง ถาวร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ไข้ ไม่ตาย เพราะเป็นชาติอมตธรรม

            นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงในตรีพิธกายว่า สัตว์ทั้งหลายมีกายสามชั้น ในหน้า ๒๓๖-๒๓๗ ความว่า

๑. รูปกาย เป็นเปลือกชั้นนอก

๒. นามกาย เป็นเปลือกชั้นใน

๓. ธรรมกาย เป็นแก่น ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่ผันแปร

      รูปกายย่อมเกิดและตาย นามกายย่อมผันแปร ธรรมกาย ไม่เกิด ไม่ตาย และไม่ผันแปร เป็นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ

      หน้า ๒๓๖-๒๔๒ มีใจความว่า “ผู้ ใดรู้เห็นแต่รูปกาย ก็เป็นแต่รูปกายเท่านั้น ผู้ใดรู้เห็นถึงนามกาย ก็อาจเป็นนามกายก็ได้ แต่ต้องละทิ้งรูปกายเสียด้วย ผู้ใดรู้เห็นธรรมกายผู้นั้นก็อาจเป็นธรรมกายได้ แต่ต้องละทิ้งกายอื่น ๆ เสียให้หมดจึงจะเป็นธรรมกายแท้ เพราะธรรมกายเป็นธรรมชาติ ไม่รู้จักตาย”

      จากบทสรุปข้างต้น แสดงว่า พระองค์เชื่อว่าธรรมกาย เป็นแก่น เป็นกายที่เที่ยงแท้ เป็นอมตะ

      ๔. มฤตยูกถา หรือมรณานุสสร เป็นเรื่องที่กล่าวถึงว่า คนเราตายแล้วไม่สูญ อาจจะไปสุขคติ หรือทุคติก็ได้ หน้า ๒๘๒ ความว่า “...เมื่อ ทิพกายพรากออกจากสรีระกายแล้ว สรีระกายหรือกายเนื้อนั้น แม้จะมีอวัยวะครบถ้วน ก็ไม่สามารถรู้สึกและเห็นหรือได้ยินหรือไหวเคลื่อนตัวเองได้ จะมีอาการไม่ผิดอันใด กับก้อนดินหรือท่อนไม้ อาการตายก็คือทิพยายกับสรีระกายพรากจากกันนั่นเอง...”

            หน้า ๒๘๖ ความว่า “...ผู้ที่ไปสู่โลกทิพใหม่ จะรู้สึกตนเป็นสุขสำราญใจยิ่งนัก เพราะจะได้พบปะกับบุคคลที่คุ้นเคยรักใคร่กันมาแต่ก่อน...”

            หน้า ๒๘๙ ความว่า “...ฝ่าย ผู้ที่อบรมสันดานด้วยบาปกรรมอันลามกนั้นเล่า ก็เท่ากับเป็นสัตว์นรกเสียแต่ยังเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อสิ้นชีพละโลกนี้ไป ก็จะเข้าถึงนิรยโลกโดยตรงเช่นเดียวกัน...”

            แสดงว่า พระองค์ทรงเชื่อเรื่องว่า มนุษย์เราตายแล้วไม่สูญ ถ้ากายทิพหลุดออกจากสรีระกาย ชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายถึงมนุษย์เราไม่ใช่มีเพียงกายเดียว แต่มีการภายในคือ ทิพกาย ซึ่งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และผู้ตายสามารถไปสู่โลกทิพ หรือไปสู่นิรยโลกได้ขึ้นอยู่กับบุญบาปที่ทำมา สมัยเมื่อเป็นมนุษย์

            จากหลักฐานที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวชัดเจนในเรื่องธรรมกาย มีผู้ตั้งสมุฎฐานว่าพระองค์ อาจจะได้เรียนเรื่องธรรมกาย จากหนังสือพระปฐมสมโพธิที่เรียบเรียงโดยสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) และรวบรวมโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพราะในหนังสือพระปฐมสมโพธิมีการกล่าวถึงคำว่าธรรมกาย (ดูรายละเอียดในเรื่องธรรมกายในปฐมสมโพธิภาคผนวก หน้า ผ๑๒๐-ผ๑๓๙) หรือพระองค์อาจจะลงมือปฏิบัติกัมมัฎฐาน จนรู้เห็นจริงว่ามีธรรมกาย ในตัวตนจึงได้ประพันธ์เขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมกาย ออกมาค่อนข้างชัดเจน แจ่มแจ้ง

“ธรรมกาย”
ในแนวคิดพระเทพมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร

      พระเทพมุนี (ผิน ธรรมประทีป ป.๖) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แสดงปาฐกถาเรื่องกายสามที่พุทธสมาคม แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ท่านได้กล่าวถึงกายของเรามีสามกาย ดังนี้

      หน้า ๓๕ ความว่า “...มนุษยกาย เป็นของหยาบ เป็นของหนัก เป็นรังของโรค เป็นของอากูล เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นกายมืดเป็นของที่ไม่ยั่งยืน เป็นสรีระกายที่ต้องเปื่อยเน่าไป เมื่อถึงกาลดับสูญ...

      หน้า ๒๒ ความว่า “...ทิพยกาย หรือ เทวกาย หรือจะเรียกว่ากายทิพย์ก็ได้ เป็นกายที่สว่าง เป็นกายที่ละเอียด ประณีต คล่องแคล่ว ว่องไว เบาเป็นกายของเทวดา แต่ยังตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ทิพยกายยังมิใช่ทางพ้นทุกข์ ยังท่องเที่ยวเร่ร่อนอยู่ ไม่ใช่ชั้นตรัสรู้ จึงไม่สามารถหมดกิเลสได้ด้วยกายทิพย์..”

      นอกจากนี้พระเทพมุนียังกล่าว ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา (พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงปฏิบัติกัมมัฎฐานจนทิพยกายหลุดออกมาจากกายมนุษย์ ดังใจความที่เล่าไว้ในหน้า ๔๐-๔๑ ดังนี้

      “...พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทรงเล่าว่าแต่ก่อนนั้นพระองค์ทรงเห็นว่า ตายสูญมานาน ครั้นภายหลังทรงเฉลียวพระหฤทัยถึงรัชกาลที่ ๔ ว่า จะทรงเห็นอย่างไร จึงเสด็จไปทูลถามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการก็ทรงได้รับตอบว่า ทูลหม่อมไม่ได้ทรงเห็นว่าตายสูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทรงดำริว่า ว่าด้วยความรู้ ความคิด ความอบรมศึกษาปรีชาสามารถทุกอย่าง ทูลหม่อมสูงกว่าพระองค์มาก บางทีที่พระองค์ทรงเห็นอย่างนี้จะยังไม่ถูกกระมัง จึงทรงสอบสวนต่อไป จนที่สุดทรงเจริญกัมมัฎฐาน วันหนึ่งทิพยกายออกจากพระสรีระมาดูพระสรีระของพระองค์ หรือบางครั้งเสด็จลุกพระกายลงจากพระแท่นบรรทม แต่ทิพยกายออกไปยืนอยู่ข้างล่าง แลดูพระกายเดิมที่กำลังทรงคลานจากพระแท่นนั้น ก็ทรงเชื่อว่ามีอีกชั้นหนึ่ง เรื่องทิพยกายนี้ยังมีอีกมาก...”

      จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เชื่อว่า ทิพยกายมีจริง

      หน้า ๖๐-๖๓ ได้ให้ความเห็นเรื่องธรรมกาย ความว่า “...ธรรมกาย คือ กายธรรมเป็นกายชั้นละเอียด ทรงอยู่ ไม่แปรผัน เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งเรียกว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย เป็นส่วนโลกุตระธาตุหรือโลกุตรธรรม ไม่ใช่โลกียธาตุ หรือโลกียธรรม...”

******

สมถะ

-------------------------------------------

เพิ่มเติม : เชิญศึกษาหนังสือวิชาธรรมกายทุกหลักสูตร online ฟรี!! 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท