"ธรรมกาย" ในแนวคิดพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)


"ธรรมกาย" ในแนวคิดพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

     จากหนังสือวิปัสสนาบันเทิงสาร บทความเรื่อง “ทิพยอำนาจ” ซึ่งเป็นธรรมเทศนาของพระอริยคุณาธารผู้เชี่ยวชาญปริยัติและปฏิบัติ แห่งวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่นได้บรรยายไว้ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓

     ท่านได้กล่าวถึง ธรรมกาย ไว้ในหัวข้อ อินทรีย์แก้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความเห็นในเรื่อง ธรรมกาย หรือ พระธรรมกาย นี้เป็นความเห็นของฝ่ายเถรวาทมานานแล้ว ซึ่งท่านก็ยอมรับว่าเป็น “ความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย” คือรู้ว่ามีอยู่ แต่รายละเอียดยังไม่แจ่มชัด จัดเป็นหลักฐานที่กล่าวโดยพระสงฆ์เถรวาท ถึงเรื่อง ธรรมกาย ในแง่ของปริยัติ

     รายละเอียดทั้งหมดในหัวข้ออินทรีย์แก้วมีดังนี้

     “ก่อนจบบทนี้ จะพูดถึงอินทรีย์แก้ว ซึ่งได้พูดแย้มไว้หลายแห่งมาแล้ว พอเป็นแนวศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาพระพุทธศาสนา หวังว่าจะเป็นเรื่องที่สนใจอยากทราบเป็นแน่

     ปกรณ์ฝ่ายมหายานหรืออุตตรนิกาย เขาแบ่งภาคพระพุทธเจ้าเป็นหลายชั้น เช่น

          (๑) พระอาทิพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ มีพระรัศมีรุ่งเรืองที่สุดหาเขตจำกัดมิได้ ไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดร.

          (๒) พระฌานิพุทธเจ้า ได้แก่พระนิรมานกายที่ทรงเนรมิตบิดเบือนขึ้นด้วยอำนาจฌาน สมาบัติ มีพระรัศมีรุ่งเรือง มิใช่พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้โปรดสัตว์ในโลก.

          (๓) พระมานุสีพุทธเจ้า ได้แก่พระพุทธเจ้าซึ่งมาตรัสรู้โปรดสัตว์ในโลก มีพระกายในความเป็นมนุษย์อย่างสามัญมนุษย์ทั้งหลาย แต่เป็นพระกายดีวิเศษกว่าของมนุษย์สามัญ มีพระฉัพพรรณรังษีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกข้างละวา

     ปกรณ์ของฝ่ายทักษิณนิกาย หรือเถรวาท (คือฝ่ายเรา) ท่านโบราณจารย์แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ภาคเช่นเดียวกันกับปกรณ์ของฝ่ายมหายาน แต่เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง เมื่อเทียบดูแล้วก็จะเป็นว่าคล้ายคลึงกัน คือ

     ๑. พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งเอากำเนิดจากพระพุทธบิดา พระพุทธมารดาที่เป็นมนุษย์ ธรรมดา ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เหมือนกายของสามัญมนุษย์เป็นแต่บริสุทธิ์สะอาดสวยงาม พระฉวีวรรณเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลากว่ากายของมนุษย์สามัญ เป็นวิบากขันธ์สำเร็จมาแต่พระบุญญาบารมี

     ๒. พระนามกาย ได้แก่กายชั้นใน ปราชญ์บางท่านเรียกว่ากายทิพย์ และว่าเป็นกายที่มีรูปร่าง สัณฐานเหมือนกายชั้นนอก เป็นแต่ว่องไวกว่าและสามารถกว่ากายชั้นนอกหลายร้อยเท่า สามารถออกจากร่างหยาบไปในที่ไหน ๆ ได้ตามต้องการ เมื่อกายหยาบสลาย กายชั้นนี้ยังไม่สลายจึงออกร่างไปหาที่เกิดใหม่ต่อไป นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์ แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอำนาจกุศล อกุศลที่ตนทำไว้แต่ก่อน ส่วนพระนามกายของพระพุทธเจ้าท่านว่าดีวิเศษยิ่งกว่าของสามัญมนุษย์ด้วย อำนาจพระบุญญาบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัลป์

     ๓. พระธรรมกาย ได้แก่พระกายธรรมอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวาและมนุษย์ หมายถึง พระจิตที่พ้นจากกิเลสอาสวะแล้วเป็นพระจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยไขแสงในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกขโศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่สูญสลายเป็นอยู่ชั่วนิรันดร

     แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า พระธรรมกายนี้มีรูปพรรณสัณฐานเช่นไรหรือไม่ เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวง

     ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพานแล้ว ยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ไม่สลายตามกาย คือความเป็นพระอรหันต์ไม่สูญ ความเป็นพระอรหันต์นี้ท่านก็จัดเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า อัญญาตาอินทรีย์ พระผู้มี พระภาคเจ้าคงหมายเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า วิสุทธิเทพ เป็นสภาพที่คล้ายคลึงวิสุทธาพรหมในสุทธาวาสชั้นสูง เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น

     เมื่อมีอินทรีย์อยู่ก็ย่อมจะบำเพ็ญประโยชน์ได้ แต่ผู้จะรับประโยชน์จากท่านได้ก็จะต้องมีอินทรีย์ผ่องแผ้วเพียงพอที่จะรับ รู้เห็นเท่าท่านได้ เพราะอินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุมที่สุด แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็นมนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบ ๆ จะเห็นได้อย่างไร

     อินทรีย์ของพระอรหันต์ นั่นแหละเรียกว่า อินทรีย์แก้ว หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือ ใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้วย่อมสามารถพบเห็นพระแก้ว คือพระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้

วิปัสสนาบันเทิงสาร เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐

     พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ได้แสดงธรรมเรื่อง เราควรศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไรดี ดังนี้

     มีคำเปรียบพระพุทธศาสนาเหมือนมหาสมุทร ซึ่งค่อยลึกลงไปโดยลำดับ ใจกลางของมหาสมุทรนั้นลึกล้ำ ยากที่จะหยั่งถึง พระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ส่วนที่ลึกซึ้งที่สุดคือพระปรมัตถธรรม

     เพียงแต่ความรู้อันได้จากการศึกษาทางพระปริยัติธรรมหาพอเพียงที่จะเป็น เครื่องมือให้หยั่งรู้พระปรมัตถธรรมได้ไม่ เพราะความรู้ชั้นนั้นเป็นเพียงสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา พระปรมัตถธรรม เป็นวิสัย แห่งการภาวนามยปัญญาจะพึงหยั่งรู้ได้

     การศึกษาพระปริยัติธรรมต้องดำเนินตามลำดับขั้น คือ

๑. ธตา ท่องจำ

๒. วจสา ปริจิตา ทำให้คล่องปาก

๓. มนสานุเปกขิตา ทำให้ขึ้นใจ คือ เพ่งด้วยใจและกายคิดอ่านทำตาม

๔. ทิฎฐิยา สุปฏิวิทฺธา ให้เห็นเหตุผล หรือความหมายทะลุปรุโปร่ง

     การคิดอ่านธรรมะตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา ก็อยู่ในลำดับขั้นการศึกษาพระปริยัติธรรม ขั้น ๓-๔ เท่านั้น ยังไม่จัดว่าก้าวขึ้นสู่ขั้นปฏิบัติ ที่เรียกว่า “ภาวนา” อันเป็นทางให้เกิดสติปัญญาแหลมคม เมื่อเรายังศึกษาอยู่แค่ขั้นปริยัติ ๔ ขั้น ดังกล่าวนั้น เราก็ยังไม่มีปัญญาเพียงพอที่จะหยั่งรู้พระปรมัตถธรรมถูกต้อง เพียงแต่พูดได้ตามหลักพระปริยัติธรรมเท่านั้น ครั้นพูดออกนอกหลักพระปริยัติธรรมเมื่อไรความผิดพลาดก็มักเกิดขึ้นเมื่อ นั้นแทนที่จะเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว

     สมเด็จพระผู้มีภาคเจ้าตรัสรู้ไว้ว่า ผู้แสดงให้ผิดเพี้ยนไปจากที่ทรงแสดงไว้บาปหนัก เขาเป็นผู้ทำลายพระศาสนาของพระองค์ จักต้องเสวยทุกข์ไปนาน ฉะนั้นเราจึงควรสังวรในเรื่องนี้ให้มาก

     เมื่อเรายังรู้ไม่ทั่วถึงพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นพระศาสนาของพระบรมศาสดาแล้ว อย่าอวดรู้แสดงออกนอกหลักพระปริยัติธรรมดีกว่า

     การอวดรู้ อวดฉลาด แสดงความหมายของพระพุทธศาสนาให้ผิดไปจากหลักพระปริยัติธรรม ไม่ดีเลยถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แสดงแล้วผู้น้อยก็จะแสดงตาม เลยผิดตามกันไปเป็นแถว หากมีใครทัดทานการแสดงธรรมผิด ๆ ของผู้ใหญ่เช่นนั้นขึ้น ก็อาจถูกรุมตบตีด้วยวาทะอันหยาบช้า หาว่ารู้ดีกว่าผู้ใหญ่ เด็กวานซืนนี้แท้ ๆ

     แต่หาสำนึกไม่ว่าสติปัญญาของคนนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับร่างกายใหญ่หรือเล็กเด็ก ๆ ที่เจริญภาวนาอาจมีสติปัญญายิ่งกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งมีวัยตั้ง ๑๐๐ ปีก็ได้ สมัยพุทธกาลปรากฏว่ามีเด็กอายุ ๗ ขวบ บรรลุพระอรหัตตผลก็มี

     ทางที่ดีควรศึกษาพระพุทธศาสนาให้ตลอดทั้งทางปริยัติทั้งทางปฏิบัติ คือการเจริญภาวนาด้วย ความรู้ดีซึ่งถูกต้องตรงตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเกิดขึ้น ความเห็นผิด ๆ ซึ่งคัดค้านหลักพระพุทธศาสนาก็จะไม่มี

     ข้าพเจ้าเคยสลดใจที่ได้เห็นพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางพระปริยัติธรรม กล่าวธรรมะผิด ๆ โดยไม่รู้ตัว แถมยังอวดฉลาด ดูหมิ่นผู้เจริญภาวนาด้วย ถ้าภิกษุเช่นนี้ยังมีอยู่ในพระพุทธศาสนามาก ๆ แล้ว น่ากลัวว่า พระพุทธศาสนาจะถูกเปลี่ยนรูปโฉมไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น

     ๑. หลักพระนิพพาน ซึ่งมีความหมาย “ดับทุกข์ดับร้อน” ก็ถูกแปรความหมายไปว่า “ดับมอดหมดทุกสิ่งเหมือนไฟดับ” ซึ่งไปเข้ากับทฤษฎีสังสารสุทธิของพราหมณ์บางพวก ทฤษฎีนี้ถือว่า สัตว์เกิดมาเสวยสังสารทุกข์ไปตามกฎหมุนเวียนของโลก ๓ ประการ คือ พระพรหมผู้สร้างโลก ซึ่งกำหนดอวสานของโลกไว้แล้วกำหนดขีดขั้นชีวิตของสัตว์ไว้ตายตัว และกำหนดเวลาสร้างโลก ซึ่งเรียกว่า “ประลัยกัลป์” ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดแล้วทุกตัวสัตว์ก็พ้นสังขารทุกข์ไปเอง ทฤษฎีนี้ไม่นิยมความพากเพียรแก้ทุกข์ไม่ยอมรับรู้กฎแห่งกรรม เขาเปรียบการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ เหมือนการคลี่ด้ายกลุ่มเมื่อคลี่ไปจนหมดกลุ่มแล้ว ก็หมดการหมุนดับแค่นั้น

     ทฤษฎีนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธเพราะขัดแย้งหลักกรรมและความพาก เพียรเพื่อพ้นทุกข์ที่พระองค์ตรัสรู้และสั่งสอน ถ้าเราพุทธศาสนารับเอาทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายความหมายของพระนิพพานแล้ว เราก็กลายเป็นคนนอกครูไป จะชื่อว่าพุทธศาสนิกอย่างไรได้ เพราะเราดีดตัวของเราออกไปจากพระพุทธศาสนาเอง

     ๒. หลักอนัตตา ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับอัตตาตัวคน แต่แปรความหมายไปตามทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ในหลักพุทธศาสตร์โดยที่เขาทำการพิสูจน์ธาตุของโลกที่รวมตัวกัน เข้าเป็นกลุ่มก้อน ด้วยการแยกออกเป็นอย่าง ๆ ไปตามลักษณะธาตุนั้น ๆ ครั้นแล้วก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นแก่นสารพอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวตน เช่น ร่างกายของสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ เขาพิสูจน์แต่ในด้านรูปธรรมที่สัมผัสถูกต้องได้ หาได้พิสูจน์อรูปธรรมไม่นักศึกษาพุทธศาสนาไม่ทันพิจารณาให้ตระหนัก ก็นำทฤษฎีนั้นมาใช้หมายครอบจักรวาลไปถึงพระนิพพานด้วย

     ความจริงนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหลักอนัตตาไว้จำกัดวงแค่สังขารโลก สังขารธรรมเท่านั้น มิได้ครอบไปถึงพระนิพพาน

     แม้จะมีพระพุทธภาษิตว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาก็ตาม พระพุทธภาษิตนั้นก็จำกัดความแค่สังขารโลก สังขารธรรมเท่านั้น ส่วนพระนิพพานอยู่นอกไตรลักษณ์ เพราะคำสรรเสริญคุณพระนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ล้วนแต่ตรงข้ามกับพระไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าพระนิพพานตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระไตรลักษณ์แล้ว พระนิพพานก็ไม่ควรจะเรียกว่า “วิสังขาร” ควรจะเรียกว่า “สังขาร” เหมือนสังขารโลก สังขารธรรมทั้งหลาย การที่เรียกว่า “วิสังขาร” ก็เพราะพ้นจากความเป็นสังขารแล้ว หรือปราศจากสังขารซึ่งเป็นเปลือกเป็นกระพี้แล้ว เหลือแต่แก่นสารจึงเป็นพระนิพพาน หมดกิริยาเกิดตายหมดกิริยาเสวยทุกข์ เป็นสุขล้วน ๆ ตลอดกาลนิรันดร

     อนัตตาบังอัตตา ตราบใดที่ยังไม่รู้จักอนัตตาแจ่มแจ้ง ตราบนั้นยังไม่รู้จักอัตตาตัวจริง จึงมีอุปาทานยึดถือเอาขันธ์ ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอัตตาร่ำไป โดยความสำคัญผิด ครั้นเจริญภาวนาดูธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่ญาณอย่างถี่ถ้วน เห็นธรรมที่อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์และนอกอำนาจไตรลักษณ์แล้ว ก็รู้จักอนัตตาตัวจริง แต่นั้นก็รู้จักอัตตาตัวจริงด้วย อุปาทานที่ยึดถือขันธ์เป็นอัตตาก็หลุดไป

     ภูมิรู้ชั้นนี้เป็นชั้นสูง ซึ่งมีกำลังเพียงพอที่จะทำลายภาพชาติได้ถ้าต้องการ เว้นแต่ผู้เจริญภาวนานั้นได้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้แล้วทั้งได้ รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนในอนาคต เมื่อญาณขั้นสูงถึงขั้นรู้จักอนัตตาได้แล้ว ความปรารถนาพ้นจะลงมาขัดขวางได้มิให้ญาณก้าวไปสู่ขั้นตัดสินใจสละโลกให้ บังเกิดความห่วงใยในพระโพธิญาณในความเป็นพระบรมครูของโลกในอนาคต ญาณก็หยุดชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปคงยังอยู่เพียงแค่นั้น บุคคลผู้เช่นนั้น ท่านว่า ดำรงอยู่ในอรหัตตภูมิ แต่มิใช่พระอรหันต์ มีความรู้เท่าเทียมพระอรหันต์ กำลังจิตก็เข้มแข็ง อาจหาญ และอดทนดียิ่ง คล้าย ๆ พระอรหันต์เหมือนกัน บุคคลประเภทนี้มีได้แต่บรมโพธิสัตว์เท่านั้น เพราะมีบารมีแก่กล้า ควรแก่การบรรลุพระอรหัตตผลได้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์ประเภทนี้ แม้ยังเป็นปุถุชนก็สามารถ ทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ให้คงความบริสุทธิ์สะอาดได้ พระบรมโพธิสัตว์จึงได้เอาธุระทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเสมอมา ตามคราวที่พระพุทธศาสนามัวหมอง

     ๓. หลักสังสารวัฎ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ พระบรม-ศาสดาทรงตรัสรู้หลักสังสารวัฎ ด้วยพระปุพเพนิวาสานุสติญาณ

     ๔. หลักกรรม – กฎแห่งกรรม พระบรมศาสดาตรัสรู้หลักกรรมด้วยจุตูปปาตญาณว่า สัตว์ดีเลว ด้วยอำนาจกรรมของตนเอง มิใช่ด้วยสิ่งอื่นดลบันดาล

     ๕. หลักอริยบุคคล พระบรมครูทรงบัญญัติบุคคลผู้บรรลุธรรมด้วย วิวัฎคามีกุศลว่า พระ อริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามิ พระอนาคามี และพระอรหันต์ ในบรรดาพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ พระอรหันต์เป็นชั้นสูงสุด พ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว ท่านเรียกว่า ปรินิพพาน คือ หมดทุกข์ โดยครบถ้วน หมดภาระหนักที่ต้องบริหารแล้ว

     ไม่เคยมีพระดำรัสไว้ที่ไหนว่า พระอรหันต์นิพพานดับสูญไปเลย แต่ปัจจุบันได้มีผู้เข้าใจและอธิบายการปรินิพพานของพระอรหันต์ไปในทำนองดับ สูญไป เช่นเดียวกับความเห็นของพระยมกะเถระ เมื่อยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล ร้อนถึงพระสารีบุตรเถระต้องเอาธุระไล่เลียงจนพระยมกะเถระสละความเห็นผิด เช่นนั้นได้

     ถ้าพระอรหันต์ตายสูญ พระนิพพานก็ไร้ค่า ถ้าพระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญล่ะ เป็นอย่างไรต่อไป พระอรหันต์เป็นวิสุทธิเทพ* แล้ว เมื่อสังขารทั้งหลายซึ่งเกิดแต่เหตุปัจจัยสลายไปตามเหตุปัจจัยแล้ว วิสุทธิเทพซึ่งมิใช่สังขารก็ออกจากสังขารไป ไปอยู่ในสภาพอย่างไรนั้นสุดวิสัยที่จะบัญญัติ ท่านจึงเปรียบเหมือน เปลวไฟดับ ไฟไปอยู่ที่ไหนก็บอกไม่ได้ เพราะเกินวิสัยปัญญาของสามัญชนฉันใด พระอรหันต์นิพพานแล้วก็ฉันนั้น แต่ผู้มีปรีชาญาณชั้นสูงสุดย่อมรู้สภาพอันบริสุทธิ์นั้นว่า อยู่อย่างไร ณ ที่ไหน

     วิสุทธิเทพแม้ปรินิพพานแล้วก็ย่อมสามารถบำเพ็ญประโยชน์แก่เวไนยและพระ โพธิสัตว์ได้ ผู้มีภูมิทางจิตใจพอ ย่อมได้รับการสงเคราะห์จากวิสุทธิเทพ คนสามัญทั้งหลายแม้กระทั่งเทวดาสามัญ พรหมสามัญ ก็ไม่อาจรู้เห็นวิสุทธิเทพ มีพระพุทธดำรัสไว้ในพรสุตตันตปิฎก ถึงเรื่องนี้เป็นหลักฐาน

     อนึ่ง ในปารายนวรรค ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระบรมศาสดา ตอบปัญหาของมาณพหนึ่งในจำนวน ๑๖ มาณพ ก็ว่า “วิโมกฺโข ตสฺส นาปโร ความพ้นของเรา (พระอรหันต์) ไม่เป็นอย่างอื่น” หมายความว่า ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น คงเป็นความพ้นตลอดไป ทั้งนี้เพราะมาณพคนนั้นสงสัยตามทฤษฎีของพราหมณ์พวกหนึ่งว่า อาตมัน (อัตตา) บรรลุถึงความบริสุทธิ์ เป็นมหาตมัน (มหัตตา) แล้วเข้ารวมกับ ปรมาตมัน (ปรมัตตา) ภายหลัง เมื่อพระพรหมสร้างโลกใหม่แล้ว ก็แบ่งปรมาตมันนั้นลงมาสิงอยู่ในธาตุของโลก ท่องเที่ยวไปในโลก ทำดีทำชั่ว ได้เสวยสังสารทุกข์ ครั้นเกิดญาณตรัสรู้แล้วก็เป็นมหาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันอีก เช่นนี้ไม่รู้ว่ากี่รอบต่อกี่รอบ ดูไม่แปลกจากสัตว์โลกสามัญ ไม่พ้นสังสารทุกข์จริง มาณพนั้นจึงทูลถามพระบรมศาสดาเช่นนั้น

     เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบยืนยันว่า ความพ้นของพระอรหันต์ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น มาณพนั้นก็พอใจ และปฏิบัติตาม ได้บรรลุถึงความพ้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ ควรหรือที่เราจะเข้าใจไปว่าพระอรหันต์ปรินิพพานแล้วสูญหมด (ตายสูญ) ไม่มีอะไรเหลืออยู่โปรดสัตว์โลกได้อีก

*วิสุทธิเทพ หมายถึง เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย (ขุ.จู.๓๐/๖๕๔/๓๑๒;ขุททก.อ ๑๓๕.)

******

สมถะ

-----------------------------------------------



ความเห็น (1)

โมทนาสาธุครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า

พระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญ

แต่สภาพหลังที่ท่านละจากกองสังขารไปแล้วนั้น

จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราไม่ควรเข้าไปคิดเพราะเหนือภาษาสมมติโลก

ควรที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงดีกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท