ประวัติ พระทิพย์ปริญญา


ประวัติ พระทิพย์ปริญญา

 

     พระทิพย์ปริญญา นามเดิม นายธูป นามสกุล กลัมพะสุต บิดาชื่อ สุด มารดาชื่อ ปาน ปู่ชื่อ กล่ำ ย่าชื่อ เปีย ตาชื่อ ทิทพย์ ยายชื่อ พันธ์

     เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ที่ตำบล ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี

     ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระนคร สอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค

     ลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ อายุได้ ๒๒ ปี เป็นเสมียนฝึกหัดศาลแพ่ง แล้วไปเป็นจ่าศาลประจำศาลโปรีสภาที่ ๓ และสอบกฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิต พ.ศ.๒๔๕๕

     รับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลนครไชยศรี พ.ศ.๒๔๕๖

     ย้ายไปเป็นหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ย้ายไปอยู่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๔๖๙ ย้ายไปอยู่ศาลจังหวัดนนทบุรี พ.ศ.๒๔๗๓ ย้ายไปอยู่ศาลโปรีสภาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วย้ายไปอยู่ศาลอุทธรณ์ในปีนั้น

     ประจำอยู่ศาลอุทธรณ์ ๑๐ ปี อายุได้ ๕๕ ปี ครบเกษียณอายุก็ปลดออกรับเบี้ยบำนาญ เมื่อเวลาปลดเกษียณนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เงินเดือน ๖๐๐ บาท เหรียญตราที่ได้รับพระราชทาน คือ บ.ม. บ.ช. จ.ม. จ.ช. ต.ม. ต.ช. และเหรียญจักรพรรดิมาลา

     เมื่อออกจากราชการแล้วไปเรียนพระอภิธรรมกับท่านอาจารย์สัทธรรมโชติกธรรมา จารยะ ที่วัดระฆัง ๑๐ ปี และเป็นกรรมการแปลและตรวจสอบคำแปลพระอภิธรรมปิฏกฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งพิมพ์ขึ้นในงานฉลอง ๒๕ ศตวรรษ และได้เรียบเรียงหนังสือจุลอภิธัมมัตถสังคหะ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท พร้อมทั้งคำอธิบายประกอบ ๑ เล่ม ให้แก่กองธรรมสนามหลวง

     พระทิพย์ปริญญา ได้สมรสกับ นางทิพย์ปริญญา (ผ่องศรี) เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ พระทิพย์ปริญญา มีบุตรธิดา คือ :

๑. น.ส.สุจิตรา กลัมพะสุต (ถึงแก่กรรม)

๒. นายศิริ กลัมพะสุต (ถึงแก่กรรม)

๓. นางทัศนีย์ บุรุษพัฒน์

๔. นานฤมล กาญจนารมย์

๕. นายสวัสดิ์ กลัมพะสุต

๖. นายบุรี กลัมพะสุต

๗. นางทองสุก เวชประสิทธิ์

     พระทิพย์ปริญญา ถึงแก่กรรมเนื่องจากหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ เวลาประมาณ ๙ ๑๐ น. รวมอายุได้ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๒๕ วัน

     คุณพระทิพย์ปริญญา หรือที่รู้จักกันในหมู่ศิษย์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ว่า มหาธูป) กลัมพะสุต นับว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกสมัย เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ อธิบดีสงฆ์องค์ที่ ๑๓ ท่านมหาธูปเป็นพระที่ทันสมัย รูปร่างปลอดโปร่งมีสง่าราศี เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์ดี สำเร็จเป็นเปรียญ ๖ ประโยค ซึ่งนับเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น เมื่อครั้งดำรงเพศบรรพชิต ได้ช่วยรับภารธุระในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรภายในวัด เป็นกำลังของเจ้าอาวาสเป็นอย่างดีเป็นผู้มีส่วนที่ได้สร้างคุณงามความดีให้ เป็นมรดกตกทอดไว้ในวัดมหาธาตุผู้หนึ่ง

     เมื่อสิกขาลาเพศบรรพชิตไปดำรงเพศคฤหัสถ์ ท่านมหาธูปก็ได้ใช้ความอุตสาหะวิริยะโดยมีความรู้อันได้จากสำนักมหาธาตุ เป็นมูลฐานสร้างตนให้เจริญในวิชาการในทางคดีโลก สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต ได้มอบตนเข้ารับใช้ชาติในกระทรวงยุติธรรม จนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในที่สุด และได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระทิพย์ปริญญา เป็นครั้งสุดท้าย

     เมื่อคุณพระทิพย์ปริญญา พ้นจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญแล้ว ยังมีความสนใจฝักใฝ่อยู่ในวัด มีการสัมพันธ์ไปมาติดต่อกับวัดมหาธาตุ และช่วยรับภารธุระนั้น ๆ ของวัดตามโอกาสอันมาถึง

     เมื่อทางการคณะสงฆ์ไทย ดำเนินการแปลพระไตรปิฎกออกสู่ภาษาไทย ภายใต้ความอุปถัมภ์ของคณะรัฐบาล เป็นครั้งแรก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ คุณพระทิพย์ปริญญาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกแผนกพระ อภิธรรมด้วยผู้หนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสุดท้ายของคุณพระทิพย์ปริญญา

     อนึ่ง สมัยเมื่อข้าพเจ้าได้ขอพระอาจารย์ระดับชั้นธรรมาจริยะจากประเทศพม่า คณะสงฆ์และคณะรัฐบาลพม่าได้ให้พระอาจารย์มาตามที่ขอ ๒ รูป คือ พระสัทธัมมโชติกะ ธรรมาจริยะ ๑ พระเตชินฺทธรรมาจริยะ ๑ เมื่อพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูปนี้ ได้เปิดการสอนพระอภิธรรมปิฏกขึ้น ณ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และที่วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา คุณพระทิพย์ปริญญาได้มอบตนเข้าช่วยอุปการะ ทั้งในฐานะนักศึกษาทั้งในฐานะผู้อุปถัมภ์ จนการศึกษาพระอภิธรรมปิฎกเจริญเป็นปึกแผ่นแน่นหนาถาวรมาถึงปัจจุบันนี้ นับว่าคุณพระทิพย์ปริญญาได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในวาระ สุดท้ายแห่งชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

     ปฏิปทาจริยาวัตรของคุณพระทิพย์ปริญญา ดังที่ยกขึ้นมากล่าวไว้โดยสังเขปนี้ เป็นสิ่งที่ควรแก่การที่จะพึงอนุโมทนาสาธุการโดยแท้และควรแก่การที่จะพึงยก ขึ้นมาประกาศไว้ให้ปรากฏรจนาเพื่อเป็นทิฎฐานุคติแก่ศิษย์วัดทั้งหลาย ทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

 

อนุสรณ์คุณพระทิพย์ปริญญา

 โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี

วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

เมษายน พ.ศ. ๑๕๒๐

     ในสมัยเมื่อ ๓๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว คุณพระทิพย์ปริญญา ได้ไปมาหาสู่หลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี) อยู่เป็นประจำและเป็นเวลานาน

     เหตุที่ได้ไปมาหาสู่นั้น ก็ด้วยต้องการแสวงหาธรรมะ ธรรมะฝ่ายปริยัติ คุณพระไม่ต้องไปแสวงหา เพราะตัวเองเป็นเปรียญ ๖ ประโยค และสำเร็จวิชากฎหมายอีกด้วย ที่ต้องการแสวงหาก็คือธรรมะฝ่ายปฏิบัติ จนในวันหนึ่งได้ไปพบหลวงพ่อที่วัดปากน้ำ ได้สนทนาปราศรัยได้ไต่สวนซักถาม ได้เหตุได้ผล จากวันนั้นก็ได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อเสมอ ในที่สุดได้ออกปากลั่นวาจาต่อหน้าหลวงพ่อว่า “ของจริงกระผมพบแล้ว แต่ตัวกระผมจะจริงหรือไม่จริงเท่านั้นเอง”

     ของจริงนั้นคุณพระหมายถึง ธรรมะฝ่ายปฏิบัติซึ่งคุณพระได้ปฏิบัติตามจนตลอดชีวิต

     การที่คุณพระได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อวัดปากน้ำ นับว่าได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วัดปากน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนับว่าได้สร้างอนุสาวรีย์สำหรับตัวเองไว้ที่วัดปากน้ำอีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านแสดงพระธรรมเทศนาโดยปฏิภาณ โวหาร ไม่มีการจดบันทึก และไม่มีการบันทึกเทปเหมือนในสมัยนี้ แสดงแล้วก็แล้วกันไป ใครจำได้ก็จำไว้ เมื่อคุณพระไปฟังแล้ว พยายามจดบันทึกไว้เป็นพระธรรมเทศนาหลายกัณฑ์ ให้หลวงพ่อช่วยตรวจแก้ จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มออกเผยแพร่เป็นหลักฐาน ยังมีปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ จับนับได้ว่า คุณพระทิพย์ปริญญา ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วัดปากน้ำและรักษาธรรมะปฏิบัติที่หลวงพ่อแสดง แล้วมิให้สูญหาย รวมทั้งเป็นอนุสรณ์ของตัวเองอีกด้วย

     โย ธมฺมจารี กาเยน วาจาย อุท เจตสา

     อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ

     ผู้ใดประพฤติธรรมะด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ บัณฑิต ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ทีเดียว ถึงผู้นั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์

     คุณพระทิพย์ปริญญา เป็นผู้ตกอยู่ในคติอันนี้ จึงได้รับการเคารพยกย่องนับถือของประชาชนคนทั้งหลาย เมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วก็ย่อมจะได้รับการต้อนรับชื่นชมยินดีปรีดาของ เหล่าทวยเทพในสรวงสวรรค์เป็นแน่ ขออนุโมทนาและขอให้เจริญด้วยทิพย์สมบัติใน สัมปรายภพ โดยสมควรแก่คติวิสัยนั้น จงทุกประการ

 

อนุสรณ์คุณพระทิพย์ปริญญา

โดย กิตติวุฑโฒ ภิกขุ

จิตตภาวันวิทยาลัย บางละมุง ชลบุรี

พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐

     ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ทรงยกย่องพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสกเป็นเอตทัคคะในทาง ธรรมกถึกหลายท่านด้วยกัน อุบาสกที่ได้รับการยกย่องทุกท่าน เป็นผู้แตกฉานในหลักพระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนปริยัติและปฏิบัติ ในด้านพระปริยัติคือแตกฉานในพระไตรปิฎกและสามารถอธิบายขยายความในธรรมได้ อย่างกว้างขวางถูกต้องตรงตามสภาวธรรม สามารถอธิบายหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ ผู้ที่สามารถเช่นนั้น จะต้องเป็นผู้แตกฉานในพระอภิธรรมปิฎก พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า ผู้ที่เป็นพระธรรมกถึกที่เก่งนั้น จะต้องมีความรู้แตกฉานในพระอภิธรรม

     พระทิพย์ปริญญา เป็นอุบาสกที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวง การพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักศึกษาธรรมตั้งแต่นักธรรมตรี โท เอก และนักศึกษาพระอภิธรรมสำหรับผู้ที่เคยเรียนนักธรรม จะต้องเรียนจุลอภิธรรม เรียบเรียงโดยพระทิพย์ปริญญา ตำราเล่มนี้ ผู้ศึกษานักธรรมมักจะบ่นกันว่ายากมาก เพราะเป็นธรรมชั้นสูง ลึกซึ้งมาก ต้องใช้ปัญญาในการศึกษานานพอสมควร จึงจะเกิดความเข้าใจ และทราบว่า ที่ทางคณะสงฆ์นำเอาจุลอภิธรรมมาเป็นหลักสูตรให้ผู้ศึกษาธรรม ได้ศึกษานั้น ก็ด้วยความเพียรพยายามของพระทิพย์ปริญญา ที่มีกุศลเจตนา ต้องการให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้หลักธรรมชั้นสูงขึ้นไปจะได้เป็นพระ ธรรมกถึกที่ดีสามารถสั่งสอนสาธุชนได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดจากสภาวธรรม หลายครั้งที่พระทิพย์ปริญญามาปรารภถึงการแสดงพระธรรมเทศนาของพระ ธรรมกถึกที่อธิบายหลักธรรม ในพระธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุ เช่น อธิบายเรื่องตัณหาสามประการคือ กามตัณหา วิภวตัณหา แต่อธิบายไม่กระจ่างชัด หรืออธิบายผิดไปจากหลักพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกา ซึ่งพระทิพย์ถือมาก ยิ่งเป็นธรรมขั้นโลกุตตร เช่น นิพพานด้วยแล้ว พระทิพย์ปริญญาจะไม่ยอมเป็นอันขาด จะต้องไปพบพระผู้แสดงธรรมทันที แล้วอธิบายยกหลักฐานที่มาให้พระผู้แสดงธรรมองค์นั้นได้เข้าใจอย่างถูกต้อง จนเป็นที่ขยาดของพระธรรมกถึกหลายรูปทีเดียว พระภิกษุไม่ว่าพระผู้น้อยหรือพระผู้ใหญ่ ที่ไม่มีความรู้ในพระอภิธรรมจึงกลัวพระทิพย์ปริญญา ที่กลัวนั้นมิใช่ว่าพระทิพย์ปริญญาเป็นคนดุหรือเที่ยวไปรุกรานพระ แต่กลัวพระทิพย์จะถามปัญหาธรรม แล้วตอบไม่ได้นั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้เคารพในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง เคารพในพระปัญญาญาณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ พยายามป้องกันมิให้สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น จะอธิบายธรรมข้อใดก็ตามจะต้องยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกามาประกอบ จนมีพระเถรบางรูปไม่พอใจ จนถึงขั้นกล่าวปฏิเสธว่าอภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์และคัดค้านในการยึดหลักเหล่า นี้ว่า พระทิพย์ปริญญายึดตำราซึ่งผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้แก่ชาวกา ลามชน และยกกาลามสูตรมาหักล้าง แต่พระทิพย์ปริญญาก็แก้ตกยกเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจในหลักธรรมจากกาลามสูตร และอธิบายว่าพระไตรปิฎกไม่ใช่ตำราดังที่บางท่านเข้าใจ แต่เป็นเสมือนภาชนะที่รองรับเอาคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ตลอดพระ ชนมายุเป็นเวลา ๔๕ ปี พระไตรปิฎกจึงไม่ใช่ตำรา

     ฉะนั้น การอธิบายธรรมข้อใด เรื่องใดก็ตาม จะใช้ความเห็นความเข้าใจของตนเองไปอธิบายนั้น ย่อมผิดพลาดเสมอ จำต้องอาศัยหลักฐานที่เรียกว่า “อาคตสถาน” นั่นเอง พระทิพย์ปริญญา เป็นบุคคลตัวอย่างที่พุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่เป็นปราชญ์ทางพระศาสนาควรถือเอาเป็นแบบอย่าง พระทิพย์ปริญญาพูดอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ธรรมเอง ต้องอาศัยพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์ จึงไม่ควรอวดรู้ไปกว่าพระพุทธเจ้า หรือตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ในสมัยที่พระทิพย์ปริญญายังแข็งแรง จะต้องเที่ยวไปตามสำนักต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนทนาธรรมกับพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา บางสำนักก็เชิญไปแสดงธรรมปาฐกถา พระทิพย์ปริญญาไม่เป็นผู้ตระหนี่ในความรู้ ในธรรมผู้ที่มีจิตเป็นกุศลเผยแพร่ธรรมอยู่เสมอ จึงเป็นที่น่าเสียดายที่พระศาสนาสูญเสียกำลังอันสำคัญไปท่านหนึ่ง สำนักเรียนธรรม สำนักปฏิบัติธรรม ก็ต้องเงียบเหงาไป เพราะขาดผู้ที่คอยสร้างบรรยากาศแห่งความบันเทิงในธรรม และคอยกระตุ้นนักศึกษาให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษา ค้นคว้าหาความเข้าใจมาแลกเปลี่ยนกันในสมัยที่ข้าพเจ้าไปปฏิบัติธรรมที่บาง ละมุง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้สร้างจิตตภาวันวิทยาลัย ต้องอาศัยบ้านพักตากอากาศของคุณหญิงเชิญพิศลยบุตร เป็นที่อาศัยปฏิบัติธรรม คุณพระทิพย์ปริญญาจะต้องตามไปนอนค้างด้วยเพื่อสนทนาธรรมกัน และมักจะดึกเสมอ เพราะได้รู้จักตั้งแต่ครั้งหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งข้าพเจ้าได้อุปสมบทที่นั่น พระทิพย์ปริญญาจะไปเยี่ยมหลวงพ่อเสมอ ในสมัยนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านสอนกรรมฐานที่เรียกว่า “ธรรมกาย” ได้มีพระเถระหลายรูปวิจารณ์ว่าหลงพ่อสอนผิดจากหลักคำสอนของพระพุทธองค์ พระทิพย์ปริญญาได้คัดค้านพระเถระเหล่านั้น และออกแก้แทน หลวงพ่อด้วยเหตุผลจนเสียงวิจารณ์หายไป นับว่าได้ช่วยเหลือหลวงพ่อมาก โดยย่ำยีพวกปรัมปวาทให้พ่ายแพ้ไป

******

สมถะ

------------------------------------------------------

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท