วิชาธรรมกายคืออะไร ? เทียบกับข้อมูลในพระไตรปิฎก


วิชาธรรมกายคืออะไร ?
เทียบกับข้อมูลในพระไตรปิฎก

     ลายท่านข้องใจ หลายท่านสงสัย หลายท่านอยากให้ข้าพเจ้าเขียนวิชาธรรมกายเทียบเคียงข้อมูลในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่ถ้าให้แสดงข้อมูลออกมาก็ต้องค้นคว้าอย่างละเอียด และจะให้เขียนสั้น ๆ ก็ไม่ได้ เอาเป็นว่าจะขอเสนอข้อมูลเท่าที่ค้นคว้ามาได้ ขอได้โปรดอ่านและพิจารณาดูเอาเองเถิด

     ก่อนอื่น... ข้าพเจ้าเห็นใจท่านที่มีความเห็นไม่ตรงกันเพราะท่านคิดว่าวิชาธรรมกายสอน ให้ติดนิมิต ดวงแก้วที่เห็นในท้องเป็นแค่นิมิต พระธรรมกายหรือกายพระพุทธรูปเกตุดอกบัวตูมที่เห็นเป็นแค่นิมิต พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใช้ดวงแก้วเป็นนิมิต

     อันที่จริงแล้ว ข้าพเจ้าก็อธิบายว่า นิมิตดวงแก้วก็คืออาโลกกสิณ หมายถึงกสิณแสงสว่าง แต่แสงสว่างยากที่จะกำหนดหมายลงไปได้ จึงให้ใช้เป็นดวงแก้วใสแทน ซึ่งตรงนี้ความจริง ถ้าเราจะเอาความกันแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเคยฝึกนิมิตแสงสว่าง ดังจะยกมาให้พิจารณากันดังนี้

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ หน้า ๒๗๖ (ขอกล่าวแต่โดยย่อ)

     พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ที่พักแรมทำด้วยอิฐในนาทิกคาม เสด็จไปเยี่ยมพระอนุรุทธ์ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ณ ป่าโคสิงคสาลวัน

     ตรัสถามถึงการบรรลุคุณพิเศษ ก็กราบทูลถึงคุณพิเศษที่ได้เริ่มต้นแต่รูปฌาณ ๔ จนถึงอรูปฌาณ ๔ และคุณพิเศษที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกข้อหนึ่ง คือ สัญญาเวทษิตนิโรธ (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา)

     ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณพิเศษ กราบทูลว่า รู้สึกว่ามีแสงสว่างและเห็นรูป แต่ไม่นาน แสงสว่างนั้นและการเห็นรูปก็หายไป ไม่ได้บรรลุนิมิตนั้นอีก ตรัสตอบว่า ควรบรรลุนิมิตนั้น แล้วตรัสเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อก่อนตรัสรู้ว่า เคยทรงประสบภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทรงสอบสวนถึงต้นเหตุ ซึ่งทรงแก้ทีละอย่าง ๆ เหตุเหล่านั้นคือ ความสงสัย, การไม่ทำในใจ, ความหดหู่ง่วงงุน, ความหวาดสะดุ้ง, ความตื่นเต้น, ความย่อหย่อน, ความเพียรตึงเกินไป, ความเพียรหย่อนเกินไป, ความอยาก, ความกำหนดหมายต่าง ๆ , การเพ่งรูปมากเกินไป (รวมเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ๑๑ อย่าง) ในที่สุด เมื่อทรงทราบว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตก็ทรงละได้หมดทุกอย่าง

     ตรัสเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรไป ก็ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่ทรงเห็นรูปบ้าง ทรงเห็นรูปแต่ไม่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างบ้าง ตลอดคืนบ้างตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งวันทั้งคืนบ้าง เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัยก็ทรงคิดว่าในสมัยใดไม่สนใจรูปนิมิต (เครื่องหมายคือรูป) สนใจแต่โอภาสนิมิต (เครื่องหมายคือแสงสว่าง) ในสมัยนั้นก็รู้สึกว่ามีแสงสว่าง แต่ไม่เห็นรูป;ในสมัยใดไม่สนใจโอภาสนิมิต สนใจแต่รูปนิมิต ในสมัยนั้นย่อมเห็นรูป แต่ไม่รู้สึกว่ามีแสงสว่าง

     ต่อจากนั้นทรงแสดงถึงการที่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างน้อย, เห็นรูปน้อย, ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างไม่มีประมาณ เห็นรูปไม่มีประมาณ, เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัยก็ทรงคิดว่า ในสมัยใดสมาธิน้อย ในสมัยนั้นจักษุก็น้อย ทำให้รู้สึกว่ามีแสงสว่างน้อย เห็นรูปน้อย ด้วยจักษุน้อย แต่ในสมัยใดสมาธิไม่มีประมาณในสมัยนั้นจักษุก็ไม่มีประมาณ ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างไม่มีประมาณ เห็นรูปไม่มีประมาณ ครั้นทรงทราบว่าได้ทรงละอุปกิเลสแห่งจิต (ทั้ง ๑๑) ได้แล้ว ก็ทรงคิดว่าได้เจริญสมาธิโดยส่วน ๓ แล้วในบัดนี้

     หมายเหตุ สูตรนี้แสดงหลักวิชาในการปฏิบัติจิตใจชั้นสูง น่าเลื่อมใสเป็นพิเศษในทางปฏิบัติที่แสดงว่า พระพุทธศาสนานั้นมิใช่เรื่องสำหรับพูดเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในทางปฏิบัติด้วย ที่ยกมาแสดงก็เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาว่านิมิตแสงสว่างนี้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเคยฝึกผ่านมา และทรงยืนยันด้วยว่า ควรบรรลุนิมิตนั้น คือทำให้ยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ความหมายว่าให้ยึดติดนิมิต ข้อนี้ควรพิจารณา

     ฉะนั้น ในเรื่องของวิชาธรรมกายที่ใช้อาโลกกสิณ คือ กสิณแสงสว่างเป็นนิมิตแล้วย่อรวมเป็นดวงแก้วซึ่งแทนแสงสว่าง ดวงแก้วเป็นเพียงสื่อให้เห็นดวงธรรมที่ประจำอยู่ศูนย์กลางกายของแต่ละคน ไม่ได้สอนให้ติดนิมิต ดวงแก้วเพียงเป็นทางผ่านให้เห็นดวงธรรมประจำกายของจริงเท่านั้น

     ท่านจะฝึกแบบอานาปานัสสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ได้ เพราะที่สุดของลมหายใจเข้าและจุดเริ่มต้นของลมหายใจออกก็คือศูนย์กลางกาย ไม่ต้องนึกเป็นดวงแก้วก็ได้ ตามดูลมหายใจอย่างเดียว แต่เมื่อใดที่ลมหายใจเข้า-ออกยาวเท่ากัน ตรงที่สุดของลมหายใจเข้านั่นเอง ท่านจะเห็นดวงธรรม (ดวงปฐมมรรค) ตรงนั้น เห็นแล้วเอาใจนิ่งตรงนั้น ไม่ส่งใจมารับลมหายใจออกอีก ท่านก็จะเห็นดวงธรรม (ดวงปฐมมรรค) ชัดเจน ดวงธรรมเป็นสื่อให้เห็นกายในกาย และเห็นกายธรรมในที่สุด (กาย ๑๘ กายหลัก) โดยไม่ต้องฝึกนึกดวงแก้วเป็นนิมิตก็ได้

     แต่การฝึกแบบนึกดวงแก้วใสเป็นนิมิตหรือเรียกอีกอย่างว่า อาโลกกสิณ คือ กสิณแสงสว่างนี้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง ประเด็นอยู่ที่ว่าบางท่านคิดว่าทุกอย่างที่เห็นในการฝึกวิชาธรรมกายเป็น เพียงนิมิต ไม่ใช่ของจริง ซึ่งต้องบอกว่า นิมิตที่เราใช้ คือ ดวงแก้วนั้นเป็นเพียงสื่อ เป็นเพียงที่รวมของใจไม่ให้ซัดส่าย เพื่อรวมใจได้ง่าย เมื่อกำหนดนิมิตได้แล้ว นิมิตจะเปลี่ยนเป็นดวงธรรม (ดวงปฐมมรรค) เมื่อเปลี่ยนเป็นดวงปฐมมรรค คือ ดวงใสสว่างโชติมีรัศมีปรากฏขึ้นมาทันที ซึ่งการเปลี่ยนจากนิมิตเป็นดวงปฐมมรรคนี้เกิดเร็วมาก จนใจเราจับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน นี่คือเห็นของจริงละนิมิตได้แล้ว เมื่อเห็นได้ดังนี้ ท่านว่าให้เข้ากลางของกลางตรงกลางดวงใสจะมีจุดเล็กใสโตเท่าปลายเข็ม เอาใจนิ่งไว้ตรงกลางดวงใสเห็นจุดเล็กใส เอาใจนิ่งกลางจุดเล็กใส เมื่อใจนิ่งถูกส่วนเข้า จุดเล็กใสจะว่างออก เห็นกายในกายในว่างใสนั้น คือ เห็นกายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน นั่งอยู่ในว่างใสนั้น เรานั่งอย่างไรกายฝันก็นั่งอย่างนั้น รูปร่างหน้าตาเหมือนเราแต่งกายเหมือนเรา แต่กายนี้ใสเป็นแก้ว จากนั้นเดินใจตามฐาน ๗ ฐานของกายฝันนั้น (ตรงนี้มีขั้นตอนและรายละเอียด โปรดศึกษาจากหนังสือทางมรรคผล ๑๘ กาย) พอส่งใจมาถึงฐานที่ ๗ ของกายฝัน จะเห็นดวงธรรมเป็นดวงใสในท้องกายฝัน ส่งใจนิ่งกลางดวงธรรม เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม นิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็ม แล้วเราก็ลำดับดวงธรรม ๖ ดวง ได้แก่ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ดวงปฐมมรรค) ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ รวม ๖ ดวง พอจุดใสเท่าปลายเข็มกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะว่างออก จะเห็นกายในกายอีกกาย คือ กายทิพย์หยาบ รูปร่างหน้าตาเหมือนเรา กายใส่ชฎาเครื่องทรงเหมือนอย่างตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ กายขาวใส จากนั้นเราก็เดินใจ ๗ ฐาน ของกายทิพย์หยาบ เห็นดวงธรรมในท้องกายทิพย์หยาบ ลำดับดวงธรรม ๖ ดวง แล้วเห็นกายทิพย์ละเอียด เดินวิชาตามแนวนี้เรื่อยไปจนครบ ๑๘ กาย กายทั้ง ๑๘ กายนี้ เป็นกายในกายหรือเรียกว่ากายละเอียด กายทุกกายมีใจครอง ใจ คือ เห็น จำ คิด รู้ เราสามารถพูดคุยสอบถามความรู้กับกายในกายของเราได้ทุกกาย เพราะตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน) จนถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด มีศีลมีธรรม เชื่อถือได้ มีเพียงกายมนุษย์หยาบกายเดียวที่เชื่อความรู้ไม่ได้ เมื่อพิจารณาดูแล้ว กายในกายเหล่านี้ไม่ใช่นิมิตแล้ว เพราะทุกกายมีชีวิตจิตใจ พูดคุยด้วยได้ ไม่ใช่เป็นแค่รูปนิมิต ควรพิจารณาให้ดี

     เรื่องกายละเอียดนี้ถามว่า กายละเอียดของเรามีที่มาจากไหน กายละเอียดของเราได้แก่ กายฝัน กายทิพย์ กายพรหม และกายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด

     โปรดดูหนังสือบาลีเล่ม "ปฐโม ภาโค" หน้า ๑๐ ยมกวคฺค วณฺณนา แห่ง ธมฺมปทฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค เรื่องพระมหาปาละจักษุพิการ 

     มีเรื่องย่อว่า พระมหาปาละ ตั้งสัจจะปฏิบัติกิจจงกรม ๓ เดือน โดยไม่นอน ต่อมานัยน์ตาเกิดอาพาธ หมอคนหนึ่งนำยาหยอดตามาถวายให้หยอด การหยอดนั้นต้องนอน น้ำยาจึงจะเข้าตา เวลาผ่านไป วันหนึ่งหมอยามาพบพระมหาปาละ เห็นว่านัยน์ตายังไม่หาย หมอจึงถามว่าพระเดชพระคุณหยอดตาด้วยยาที่ถวายไว้หรือเปล่า พระมหาปาละก็นิ่ง ไม่ตอบ หมอถามอีกว่า นั่งหยอดหรือนอนหยอด พระมหาปาละก็นิ่ง แต่เกรงใจเจ้าของยา เพราะเขาถวายมาแล้ว เลยพูดไปว่า จะปรึกษาดูก่อน หมอถามว่าพระเดชพระคุณจะปรึกษาใครเล่า เพราะในที่นั้นไม่มีใครเลย พระมหาปาละตอบว่า จะปรึกษากับ "กรัชกาย" คัดมาเฉพาะบางตอนดังนี้

๑. คจฺฉาวุโส, มนฺเตตวา ชานิสฺสามิ

    (ผู้อาวุโส ข้าปรึกษาดูก่อน แล้วจึงจะรู้)

๒. เถรสฺส จ ตตฺถ เนว ญาตี น สาโลหิตา

    (ในที่นั้นไม่มีญาติสายโลหิตของพระเถระเลย)

๓. เกน สทฺธึ มนฺเตยฺย ?

    (จะปรึกษากับใครเล่า?)

๔. กรชกาเยน ปน สทฺธึ มนฺเตนฺโต

    (ปรึกษากับ "กรัชกาย" อยู่)

     คำว่า "กรัชกาย" ได้แก่กายละเอียด เป็นกายในกาย เพราะกรัชกาย แปลว่า ธุลีในสรีระ

     ธุลี แปลว่า ละออง, ฝุ่น, ละเอียด

     สรีระ แปลว่า ร่างกาย

     - ไม่ทราบว่าพระมหาปาละปรึกษากายละเอียดกายไหน ทราบแต่ว่ากรัชกายบอกว่า จะเห็นแก่ศาสนาหรือเห็นแก่จักษุ เมื่อตั้งสัตย์ว่าจะไม่นอน ก็จงเห็นแก่ศาสนา ต่อมาพระมหาปาละจักษุพิการได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ที่มาของชื่อดวงธรรม

     ดวงธรรมมี ๖ ดวง มีชื่อเรียกดังนี้

๑. ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๒. ดวงศีล

๓. ดวงสมาธิ

๔. ดวงปัญญา

๕. ดวงวิมุตติ

๖. ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

     เทียบได้กับธรรมขันธ์ ๕ ในธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ คือ

๑. สีลขันธ์ หมวดศีล

๒. สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ

๓. ปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา

๔. วิมุตติขันธ์ หมวดวิมุตติ

๕. วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ

 

ที่มาของชื่อธรรมกาย

๑. ธรรมกายโคตรภูหยาบ (กายธรรม)

๒. ธรรมกายโคตรภูละเอียด (กายธรรมละเอียด)

๓. ธรรมกายพระโสดาหยาบ

๔. ธรรมกายพระโสดาละเอียด

๕. ธรรมกายพระสกิทาคามีหยาบ

๖. ธรรมกายพระสกิทาคามีละเอียด

๗. ธรรมกายพระอนาคามีหยาบ

๘. ธรรมกายพระอนาคามีละเอียด

๙. ธรรมกายพระอรหัตต์หยาบ

๑๐. ธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด

เทียบได้กับมรรค ๔ ผล ๔ ในธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ คือ 

     มรรค ๔ ผล ๔

๑. โสดาปัตติมรรค ๑. โสดาปัตติผล

๒. สกิทาคามิมรรค ๒. สกิทาคามิผล

๓. อนาคามิมรรค ๓. อนาคามิผล

๔. อรหัตตมรรค ๔. อรหัตตผล

     คำว่า "ธรรมกายโคตรภู" นั้น เป็นธรรมกายเบื้องต้น ได้แก่ การยกสภาพจิตใจเข้าสู่ความเป็น "อารยะ" เป็นโคตรภูบุคคล หลวงพ่ออธิบายว่าใครทำได้เท่ากับ "บวชใน" คือบวชกายละเอียดด้วย ถ้าเป็นสตรีเท่ากับบวชใน แต่ถ้าเป็นบุรุษเท่ากับบวชนอกและบวชใน เป็นการบวช ๒ ชั้น (เป็นภิกษุอยู่แล้ว) กรณีนี้เองที่สตรีสามารถสร้างบารมีได้เท่าบุรุษ เพราะสตรีไม่สามารถบวชเป็นบรรพชิตได้ มีศีลได้อย่างมาก แค่ศีล ๘ แต่ถ้าจะสร้างบารมีให้ทันชาย ก็ต้องทำธรรมกายให้เป็นเท่านั้น

     เรื่องชื่อของดวงธรรม ได้แสดงมาแล้ว ๕ ชื่อ ส่วนดวงธรรมดวงแรก เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า "ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" มาจากไหน คำนี้เป็นชื่ออยู่ในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ โปรดทบทวนดู

     ส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของกายโลกีย์ ได้แก่ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด มาจากคำ "กรัชกาย" ตามที่กล่าวมาแล้ว และท่านจะพบในพระไตรปิฎกอีก เช่น เล่ม ๑๑ อัคคัญญสูตร ความว่า ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้าง เป็นธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ทั้งนี้เพราะคำว่า ธัมมกาย (กายธรรม) พรหมกาย (กายพรหม) และผู้เป็นธรรม ผู้เป็นพรหม นี้เป็นชื่อของตถาคต

     ตามที่อ้างอิงมานี้ ก็เพื่อจะแสดงว่า เรื่องของธรรมกายมีที่ค้นคว้า ยิ่งค้นมากก็ยิ่งพบมาก แต่ที่อ้างมานั้นส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือ "ธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒" เป็นหนังสือของนักธรรมโท ท่านหาอ่านได้ง่าย

     คำว่า "ธรรมกาย" มีปรากฏในหนังสือต่าง ๆ มากมาย ที่ผมยกมาแสดงนั้นเพียงเล็กน้อย ท่านที่มีความประสงค์จะค้นคว้าที่มาของคำ "ธรรมกาย" ว่ามีในที่ใดบ้างนั้น โปรดค้นจากหนังสือ "ธรรมกาย" (พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ สีลม พระนคร พิมพ์เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๙๙) จะพบว่าพระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพสุต ป.ธ.๖) รวบรวมไว้มาก และกล่าวไว้ในหนังสือดังกล่าวนั้นแล้ว

******

สมถะ

-----------------------------------------------



ความเห็น (6)

ขอบคุณครับ อ่านแล้วได้ประโยชน์มากเลยครับ ขออนุโมทนาสาธุครับ

ขอบคุณค่ะ อนุโมทนาด้วย ทำให้มีความเข้าใจในวิชาธรรมกายมากขื้น แม้จะยังงงอยู่บ้างบางตอน แต่ก็กลับไปทบทวน ทำให้มีคำตอบให้กับหมู่ญาติ และเพื่อนๆ .....สาธุ....ค่ะ

คุณณัฏฐ์ธยาน์ สามารถเข้ามาอ่านและหาความรู้เกี่ยวกับวิชชาธรรมกายเพิ่มเติมได้ที่ เวบไซต์นี้นะครับ  http://khunsamatha.com/

มีห้องสนทนาให้พูโคย ซักถามกันได้ดด้วย ที่นี่ http://forums.212cafe.com/samatha/

ขอบคุณมากครับ....แต่ช่วยบอกความหมายของชื่อของท่านด้วยนะครับ(ไม่เกี่ยวกันหรอก..แค่สงสัยอ่ะ)

ท่านชี้แจงเทียบเคียงแบบมโนไปเอง .บิดเบือนคำสอน ระวังนรกบ้างนะครับ ที่คิดว่าจะได้บุญ จะกลายเป็นบาปมหันต์ เพราะทำให้คำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าบิดเบือนไป สู่คนรุ่นหลังอีกนับไม่ถ้วนที่เข้าใจผิดได้

กรุณาไปศึกษาให้ถ่องแท้ อันไหนไม่เข้าใจก็อย่ามโนไปเอง บาปกรรมมาก

วิธีปฏิบัติมีหลาย วิธี

วิธีต่างๆ ที่ทำให้คนเห็น ธรรมะที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในจิต มีมากมาย แม่น้ำหลายสาย สุดท้ายแล้วต้อง ลงทะเล เรือหลายลำ หลายแบบ เรือยอร์ช เรื่อหางยาว เรือ ไททานิก ก็ส่งคนข้ามฝั่งได้ ไม่มีวิธี ใด ถูกหรือ ผิด ที่ถูกหรือผิด เพราะ จิตใจ อันยังไม่สิ้นไปแห่งความปรุงแต่ง ก็คือ ยังมี กิเลส อันเล่า ทำให้ มองวิธีคนนั้น คนนี้ ผิด บิดเบือน

พระพุทธเจ้าท่านทรงให้ ยกจิต เราขึ้นไปสู่ยอดเขา ปล่อยวาง ยิ่งเอาจิตไปพัวพัน เรื่่อง ของกันและ กัน ถกเถียงกันและกัน จะทำให้จิตมีแต่ความฟุ้งซ่าน หาทางหลุดผลที่แท้จริง ไม่ได้ ท่านทรงสอน ให้กลับมาดูที่จิตใจตัวเอง อย่าสร้างความทุกข์ให้ตัวเองด้วยการ ชี้ ว่า แบบนั้นถูก แบบนี้ผิดเลย สุดท้ายแล้วเราก็ต้องวางทุกสิ่งอย่างเพื่อการหลุดพ้น จากการมีมี ตัวมีตน มีเขามีเรา ถ้าอะไรผิด เวรกรรมจะให้ผล วิธีปฏิบัตินั้นก็จะหมดศรัทธาไปในที่สุด

วางใจให้เป็นกลาง แล้ว ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของเรา ตามแนวพระพุทธเจ้า


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท