เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมมรรค


เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมมรรค

าฐกถา เรื่องวิชชาธรรมกาย
โดย พระภิกษุธีรภทฺโท
ฟื้นสุทธสินธุ์ (ขุนวรบาทบริหาร)
นิติศาสตร์มหาบัณฑิต
๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
คัดมาโดยย่อ ดังนี้

     สำหรับท่านที่ไม่เคยเห็น ธรรมกาย อาจนึกสงสัยว่า ทำไม ธรรมกาย จึงเหมือนพระปฏิมากร ข้อนี้ก็โดยพระพุทธปฏิมากรเปนการสร้างรูปเปรียบพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า นั่นเอง เพราะพระกายมนุษย์ของพระพุทธเจ้าตามมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ก็ดี พระอสีตะยานุพยัญชนะ ๘๐ ก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีพระเกตุ อันจะเปนเหตุให้เห็นผิดแผกแตกต่างจากพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ข้อนี้เลยกลายเปนเหตุให้มีเรื่องขึ้นถึง ๔ เรื่อง คือ

     ๑. พระนันทพุทธอนุชา มีรูปร่างงามคล้ายพระพุทธเจ้า ท่านครองจีวรเท่าพระศาสดา มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเปนพระพุทธองค์ เปนเหตุให้ต้องทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์ไม่ให้ครองจีวรเท่าพระสุคต เพื่อกำหนดให้เห็นผิดแผกแตกต่างกัน

     ๒. คืนวันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรู เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ในหมู่ภิกษุสงฆ์ เลยไม่รู้ว่าองค์ไหนเปนพระพุทธองค์ ต้องทรงถามหมอชีวกโกมารภัจจ์

     ๓. ปุกกุสาติพราหมณ์บวชอุทิศต่อพระศาสดา มาพบพระพุทธเจ้าเข้าที่โรงช่างหม้อก็ไม่รู้จักพระพุทธองค์หลงเข้าใจผิดว่า เปนบรรพชิตสามัญ

     ๔. พระกัจจายเถระมีรูปร่างงดงามทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเปนพระพุทธเจ้าไป ท่านจึงเนรมิตกายให้อ้วนเตี้ยเสียเลย

     หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ พระพุทธปฏิมากรมี ๒ แบบ แบบหนึ่งไม่มีเกตุ เปนการสร้างรูปเปรียบพระกายมนุษย์ของพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธปฏิมากรของจีน ญี่ปุ่น พะม่า และอินเดีย เป็นต้น 

     อีกแบบหนึ่งมีพระเกตุ จึงต้องเปนการสร้างรูปเปรียบพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า เช่น พระพุทธปฏิมากรของไทยเรานี้ แต่ที่ทำพระเกตุเปนรัศมีกนกเปลวนั้นผิดไป เพราะช่างไม่เข้าใจจึงประดิษฐ์ให้สวยงาม ตามที่ถูกต้องเปนเกตุดอกบัวตูม ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในคาถาสวดมนต์มงคลจักรวาลใหญ่ “เกตุมาลานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่ง พระเกตุมาลา” ซึ่งหมายความว่าเกตุดอกบัวตูมได้ แต่ไม่หมายถึงเกตุกนกเปลวรัศมี ข้อนี้ขอให้ดูหนังสือปฏิมากรสงเคราะห์ หน้า ๒๔ ที่ว่าพระพุทธรูปสมัยลพบุรีที่มีเกตุเปนดอกบัว ก็ขอให้ไปดูพระพุทธรูปหินหน้าศาลาหน้าเรือนจำในวังนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ดูเหมือนจะมีเกตุดอกบัวตูมอยู่หลายองค์

     ต่อไปนี้มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ดวงตาเห็นธรรมกาย ตามหลักฐานที่ได้กล่าวมาแสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงได้ดวงตาเห็นพระธรรมกายเมื่อ ตรัสรู้ เปนที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ด้วยการกระทำสมาธิ เพราะฉะนั้น วิธีที่จะได้ดวงตาเห็นธรรมกายจึงต้องอาศัยการกระทำสมาธิโดยมิต้องสงสัย 

     ในหนังสือพระปฐมสมโพธิและพุทธประวัติแทบทุกเล่ม มีข้อความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อพระศาสดายังอยู่ในพระครรภ์นั้น พระองค์ทรงนั่งสมาธิ ครั้นพระชนม์ ๗ พรรษา พระบิดาพาไปในพิธีแรกนาขวัญ พระองค์ทรงนั่งกระทำสมาธิใต้ต้นหว้า ได้บรรลุผลอันหนึ่งซึ่งกระทำให้เกิดมหัศจรรย์คือเงาต้นหว้าปรากฏเปนปริมณฑล ตรงอยู่ดุจเมื่อตะวันเที่ยง ไม่เบี่ยงคล้อยไปตามเวลาบ่าย ภายหลังที่เสด็จออกบรรพชา พระองค์ได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบสและอุททกดาบส สำเร็จรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ไม่ทรงเห็นเปนวิธีที่จะบรรลุพระโพธิญาณ จึงทรงคิดอ่านหาวิธีของพระองค์โดยทรงกระทำทุกขกิริยาทรมานพระองค์ ก็ไม่ทรงบรรลุมรรคผลอันใด พระองค์ทรงรำลึกได้ถึงวิธีสมาธิเมื่อครั้งแรกนาขวัญว่าอาจเปนทางบรรลุพระ โพธิญาณ จึงเลิกทรมานพระองค์หันมาทรงกระทำสมาธิตามวิธีนั้นสืบไป ก็ทรงได้ดวงตาเห็นพระธรรมกายและได้บรรลุพระโพธิญาณ แต่พระอาจารย์ผู้รจนาพากันเรียกผลสมาธิครั้งแรกนาขวัญว่า ปฐมฌาน ซึ่งตามรูปการไม่น่าจะเปนเช่นนั้น เพราะ

     ๑. ปฐมฌาน อยู่ในจำพวกฌานแปด ที่ทรงศึกษาจากสำนักฤาษี แล้วไม่ทรงเห็นเปนวิธีที่จะบรรลุโพธิญาณจึงไม่ได้ใช้วิธีนั้น หันมาทรงกระทำสมาธิตามวิธีครั้งแรกนาขวัญ วิธีสมาธิครั้งแรกนาขวัญนั้นไม่ใช่ฌานแปดของฤาษี เพราะฉะนั้นผลสมาธิที่ทรงได้จึงไม่น่าจะเปนปฐมฌาน

     ๒. ตามหลักฐานที่ได้กล่าวมา แสดงว่าพระองค์ทรงกระทำสมาธิตามวิธีครั้งแรกนาขวัญจนบรรลุพระธรรมกาย ก็การที่จะได้ ธรรมกายนั้น จะต้องผ่าน ปฐมมรรค เพราะฉะนั้นผลสมาธิครั้งแรกนาขวัญนั้น น่าจะเปน ปฐมมรรค เสียมากกว่า

     ๓. ขณะแรกนาขวัญนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๗ พรรษา เปนที่สันนิษฐานว่าคงจะยังไม่ได้ทรงศึกษาวิธีกระทำสมาธิอันใด การกระทำสมาธิที่พระองค์ทรงกระทำไปก็คงกระทำไปตามนิสสัยที่สืบเนื่องมาแต่ ครั้งทรงนั่งสมาธิในพระครรภ์ ก็ตามธรรมดาเด็กในครรภ์นั้นใจหยุดนิ่งไม่ได้คิดอะไร พระองค์คงจะทำใจหยุดไปถูกศูนย์กลางของร่างกายเข้าจึงได้ดวงปฐมมรรค ตามหลักที่กล่าวแล้วนั่นเอง

     ๔. การทำปฐมฌานมีวิธีการพิสดารยุ่งยากกว่าทำปฐมมรรคมาก ตามธรรมดาจะต้องได้รับการศึกษาจากครูบาอาจารย์เสียก่อนจึงจะกระทำได้ไม่ เหมือนการทำปฐมมรรคที่ตามหลักเพียงแต่ทำใจให้ไปหยุดถูกที่จุดศูนย์กลางของ ร่างกาย ซึ่งเด็กบางคนก็อาจกระทำได้โดยนิสสัยสืบเนื่องมาจากในครรภ์ มีตัวอย่าง เช่น เด็กชายวรนิติ กำภูพงษ์ ก็สามารถทำสมาธิถึงธรรมกายโดยมิได้ศึกษาจากผู้ใด 

     วิธีทำกัมมัฏฐานในตำรามีตั้ง ๔๐ วิธี นอกตำราก็ยังมีอีกมากมาย แต่วิธีที่ได้ผลดีก็คือ วิธีของท่านพระครูสมณธรรมสมาทาน ซี่งเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ ประตูน้ำภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรีนี้ เพราะมีผู้ได้ธรรมกายไปตามวิธีของหลวงพ่อตั้งหลายพัน

     ในฐานะที่เคยเปนผู้พิพากษา ข้าพเจ้าทราบดีว่าในการที่จะให้ท่านเชื่อนั้น จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอทั้งต้องมีเหตุผลประกอบให้สมเหตุสมผลด้วย ขออ้างพยานบุคคลผู้สำเร็จธรรมกายมาให้ท่านฟังบ้าง

     พยานคนแรก ขออ้าง เด็กชายวรนิติ กำภูพงษ์ บ้านอยู่ข้างวัดปากน้ำนี้ สำหรับเด็กคนนี้เปนที่อัศจรรย์มาก พออายุ ๒ ขวบ ๘ เดือนกว่า ก็สามารถกระทำสมาธิถึงธรรมกายโดยมิได้ศึกษาจากใคร เวลานี้อายุได้ ๓ ขวบ ๘ เดือนกว่าๆ สามารถจะนั่งกระทำสมาธิหรือนอนทำก็ได้

     พยานคนที่สอง คือเด็กหญิงสะวนี มหาภาส บุตรีท่านขุนสฤษดิ์โลหการ เด็กคนนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๑๑ ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนศึกษากุมารี จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าคุณอมรฤทธิ์ธำรง เปนเจ้าของและผู้จัดการ ท่านฝึกสอนให้ใช้เวลาเพียง ๕ นาที ก็สำเร็จธรรมกาย ต่อจากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนราชินีบน โดยเหตุที่ละเลยไม่ได้ปฏิบัติเสียจึงลืมหายไปพักหนึ่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๘ คุณชีดัชนี วณิกเกียรติ บุตรีคุณพระสุธรรมวินิจฉัย ได้มาพบเข้า จัดการคุมต่อให้ใหม่จึงได้ธรรมกายดังเดิม ขณะนี้เรียนอยู่ ชั้น ม.๕ โรงเรียนราชินีบน บางกระบือ จังหวัดพระนคร สำหรับเด็กคนนี้มีข้อแปลกก็คือเจ้าคุณอมรฤทธิ์ธำรงขณะนั้นท่านยังไม่ได้ ธรรมกาย แต่ลูกศิษย์ทำได้ในเวลาเพียง ๕ นาที นับว่าดีกว่าครู

     พยานคนที่สาม คือท่านมหาวิมล ขนฺติโก ท่านผู้นี้เรียนปริยัติสำเร็จนักธรรมเอก และเปรียญ ๕ ประโยค แล้วได้ทราบข่าวหลวงพ่อจึงขอมาอยู่วัดปากน้ำ ขึ้นธรรมกับหลวงพ่อแล้วใช้ความเพียรอยู่เดือนหนึ่ง ก็สำเร็จธรรมกาย ขณะนี้จำพรรษาอยู่ในวัดปากน้ำ

     พยานคนที่สี่ คือท่านพระภิกษุสุดใจ ศศิธร ท่านเคยบวชศึกษาในสำนักธรรมยุติ ๑๑ พรรษา แล้วสึกออกมาเปนกำนันเสีย ๑๔ ปี ภายหลังมีความเบื่อหน่ายจึงกลับบวชใหม่ได้ ๕ พรรษา ก็ยังหาของจริงไม่ได้ ได้ทราบข่าวหลวงพ่อจึงมาขอเรียน ท่านทำความพียรโดยยอมปล่อยชีวิต ๓ คืน ก็สำเร็จธรรมกาย จำพรรษาที่วัดปากน้ำมาได้ ๑๗ ปีแล้ว

     พยานคนที่ห้า คือท่านพระมหาธีระ คล้อสุวรรณ (เดิมชื่อเจียก) เมื่ออายุ ๑๔ ปี ได้ติดตามมากับโยมผู้หญิงซึ่งมารักษาโรคที่วัดปากน้ำ ถูกโยมให้นั่งธรรมราว ๒๐ กว่าวันก็สำเร็จธรรมกาย เลยบวชเณรแล้วบวชพระจำพรรษาที่วัดปากน้ำมาได้ ๑๐ ปีเศษแล้ว 

     เพียงแต่พระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา ในวัดปากน้ำที่สำเร็จธรรมกาย ก็มีจำนวนตั้งหลายสิบเสียแล้ว จะอ้างต่อไปเวลาก็ไม่พอ จึงขอยุติแต่เพียงเท่านี้

******

สมถะ

----------------------------------------------

 



ความเห็น (3)

ไม่ทราบว่า ปาฐกถา เรื่องวิชชาธรรมกาย โดย พระภิกษุธีรภทฺโท ฟื้นสุทธสินธุ์ (ขุนวรบาทบริหาร) นิติศาสตร์มหาบัณฑิต

๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คัดมาโดยย่อ นี้ นำมาจากที่ใด เพราะดิฉันมีคุณปู้ ชื่อ ฟื้น สุทธะสินธุ เป็นผู้พิพากษา และมีตำแหน่งเหมือนกับผู้เขียน ปาฐกถานี้ เลยสงสัยว่า อาจจะเป็นท่านเดียวกัน เลยอยากจะหามาอ่านประดับความรู้ เพราะคุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าคุณปู่ ท่านเก่งหลายด้านค่ะ ท่านใดทราบ รบกวนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นำมาจากหนังสือชื่อ...ตามรอยธรรมกาย

หลักฐานธรรมกายของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

โดย พระครูภาวนามงคล

เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญธรรมกาย

ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ๔๕๑๙๐

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท