ที่มาของวิชชาธรรมกาย สืบค้นร่องรอยทางประวัติศาสตร์


ที่มาของวิชชาธรรมกาย
สืบค้นร่องรอยทางประวัติศาสตร์

     มื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ภายหลังหลวงพ่อวัดปากน้ำ ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว เริ่มเผยแพร่วิชชานี้สู่ประชาชน ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ติเตียนว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำนึกเอง บ้างก็ว่าท่านอวดอุตริมนุษยธรรม บ้างก็ว่าเป็นความเห็นที่งมงายบ้าง แม้กระนั้น ถึงจะถูกกล่าวโจมตีอย่างหนักหน่วงก็ตาม สิ่งซึ่งน่าประหลาดอยู่อย่างหนึ่งในการเทศนาของหลวงพ่อวัดปากน้ำตลอดมาก็คือ ท่านไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนที่ว่า ธรรมกายนั้นมีจริง ไม่ใช่ของใหม่ หากแต่เป็นของดั้งเดิมของบรรพบุรุษชาวพุทธ

     หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ค้นพบว่าการทำสมาธิตามแนววิชชานี้ ครั้งหนึ่งเคยมีปรากฏอยู่ในโลกนี้ แต่ได้สูญหายไปเมื่อพุทธศาสนาอายุได้ราว ๕๐๐ ปี หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครเข้าถึงธรรมกายอีกเลย คำกล่าวของท่านทำให้พระอาจารย์หลาย ๆ ท่านกล่าวเพ่งโทษหลวงพ่อวัดปากน้ำ ธรรมอะไรที่เป็นดวงได้? ทำไมศีลเป็นดวงได้? สมาธิเป็นดวงได้? ปัญญาเป็นดวงได้? ที่ไหนมีอย่างนั้นบ้าง ธรรมะก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วโจมตีหลวงพ่อวัดปากน้ำในประเด็นต่าง ๆ มากมาย

     การศึกษาธรรมะในเมืองไทยเรายังแคบอยู่ พวกเราพากันเชื่อว่าพระไตรปิฎกที่มีอยู่จำนวน ๔๕ เล่ม และก็ถือว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่เท่านี้ ไม่มีนอกจากนี้ โดยที่เราไม่เคยไปศึกษาดูประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกก่อนที่จะมีมาถึง ปัจจุบันนั้น ในแต่ละครั้งละหนมีปัญหามากมาย แม้คนภายนอกทั่วไปก็ไม่อาจทราบว่าการสังคายนาของไทยเราเองแต่ละครั้งมี ระเบียบที่รัดกุมหรือไม่ แล้วเราก็ไปยึดถือตำราจนสุดโต่ง

     พุทธศาสนาแต่ละนิกายนั้นจะมีความเชื่อเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เชื่อว่านิกายของตนนั้นถูกต้องที่สุด ธรรมในนิกายของตนนั้นประเสริฐที่สุด เคร่งครัด ดีที่สุด ไม่มีนิกายใดดีกว่าของตนอีกแล้ว ขอย้อนพูดถึงพระไตรปิฎกของเราสักนิดหนึ่งว่า ในพระไตรปิฎกของเรานั้นไม่มีตรงไหนตอนใดตอนหนึ่งเลยที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า คำสั่งสอนของพระองค์นั้นมีอยู่เพียงเท่านี้ นอกจากนี้ไปแล้วไม่มี พระองค์ไม่เคยบอกเลยว่า ที่เทศน์ครั้งนี้สำหรับคัมภีร์ของนิกายเถรวาทหมวดนั้นหมวดนี้ หรือของมหายานนิกายนั้นนิกายนี้ ชื่อสูตรนั้นสูตรนี้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ท่านให้หลักไว้มากมาย แต่หลักสำคัญคือ "มหาปเทส ๔"

     ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องวิชาธรรมกายนั้น จะขอกล่าวถึงการแบ่งนิกายก่อน การแบ่งนิกายนั้นเป็นการที่พระ ๒ กลุ่มแบ่งกันเองโดยถือเอาเงื่อนไขว่า "ข้าเคร่งกว่าเอ็ง" เช่น พระกลุ่มหนึ่งอาจจะบอกว่า โกนคิ้วดี โกนคิ้วถูก อีกกลุ่มว่า ไม่โกนคิ้วถึงจะถูก อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะบอกว่า ห่มผ้าหมุนซ้ายถูกต้อง ห่อผ้าหมุนขวาไม่ถูก หรือว่าทะเลาะกันเรื่องสีของจีวรว่า สีของจีวรอันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนั้นเคร่งกว่าอันนี้ อันนั้นถูกอันนี้ไม่ถูก การทะเลาะกันในเรื่องของสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้แหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งนิกาย แต่ถ้าคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก็จะไม่มีการแบ่งแยก เมื่อใดที่พระภิกษุกลุ่มหนึ่งบอกว่า ข้าเคร่งกว่าเอ็งแล้วก็แยกไม่ยอมลงโบสถ์ ไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน ปรากฏการณ์อย่างนั้นเรียกว่า การแบ่งนิกาย

     ได้พบว่าพุทธศาสนาเกือบทุกนิกายบันทึกตรงกันว่า หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑ ที่กรุงราชคฤห์ หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๐๐ ปี ซึ่งก็เป็นเพียงตัวเลขกะคร่าว ๆ มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ สำหรับเถรวาทเราก็มีการสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยมีพระเจ้าอโศกทรงเป็นผู้สนับสนุนในการทำสังคายนาที่กรุงเวสาลี เป็นที่น่าประหลาดใจว่าในพุทธศาสนานิกายอื่นนั้นไม่มีเรื่องการทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ เลย แต่มีการทำสังคายนาอีกครั้งหนึ่งในแคว้นแคชเมียร์ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียง เหนือของอินเดีย ผู้สนับสนุนการทำสังคายนาครั้งนั้นก็คือ พระเจ้ากนิษกะ

     เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีปรัชญามหายานเกิดขึ้น มีพุทธศาสนานิกายหนึ่งซึ่งเก่าแก่มาก ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว พุทธศาสนานิกายนี้เรียกตัวเองว่า สรฺวาสติวาท (สันสกฤต) หรือ สพฺพตฺถิกวาท (บาลี) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไวภาษิก ซึ่งเป็นนิกายย่อยของเถรวาท มีหลักฐานว่าเป็นผู้เขียนคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกชุดแรกไว้ ตามตำนานของ สรฺวาสติวาท กล่าวไว้ว่า ในการสังคายนาพระไตรปิฎกของพระเจ้ากนิษกะ ที่แคชเมียร์ (อยู่ในประเทศปากีสถาน) นั้น พระภิกษุสงฆ์จากนิกายต่าง ๆ หลายร้อยรูป ทั้งจากแคว้นอินเดียตอนเหนือและตอนใต้ ได้ร่วมกันสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งนี้ โดยบันทึกเป็นภาษาสันสกฤต น่าเสียหายว่า ต่อมาพระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นจากการสังคายนาครั้งนั้นสูญหายไปเกือบหมด มีเหลืออยู่บ้างในภาษาจีน ซึ่งพระภิกษุชาวจีนที่เข้าร่วมการสังคายนาครั้งนั้นได้นำมาแปลเป็นภาษาจีน อยู่มากมาย

     เมื่อประมาณ ๖๐ ปีก่อน ได้มีการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ภูเขากิลกิตในประเทศปากีสถาน เป็นภูเขาที่รกร้าง บนเขามีสถูปเก่าแก่ที่ชำรุดแตกออก ภายในสถูปมีคัมภีร์เก่าแก่อยู่หลายเล่ม มีอยู่เล่มหนึ่งเป็นเล่มแรกของคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกของ สรฺวาสติวาท คัมภีร์เล่มนี้ชื่อว่า ธรฺมสกนฺธะ ซึ่งบันทึกด้วยภาษาสันสกฤต พระอภิธรรมในคัมภีร์นี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ครบความ แต่ก็สรุปได้ว่า คำว่า "ธรรมะ" ในสมัยนั้นมีลักษณะที่เหมือนกับการค้นพบของหลวงพ่อวัดปากน้ำทุกประการ คือ ธรรมะเป็นของที่เกือบจะเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นกลุ่มก้อนที่จับต้องได้ ยิ่งกว่านั้นพวกไวภาษิก ก็มีความเชื่อว่า ธรฺมกาย นั้น คือพระพุทธองค์ตัวจริง พระพุทธเจ้าตัวจริงเป็นกายประกอบด้วยธาตุอันบริสุทธิ์ เป็นกลุ่มก้อนของธาตุอันบริสุทธิ์ รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญา สังขาร และวิญญาณของพระธรฺมกาย นั้น ประกอบขึ้นด้วยธาตุอันบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเจือปน นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่ออีกว่า พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ๒ กาย อันที่หนึ่งคือ รูปกาย หรือกายเนื้ออย่างหนึ่ง อีกอันหนึ่งคือ ธรฺมกาย

     ในพระไตรปิฎกของจีน ก็มีการกล่างถึง ธรฺมกาย มีบางส่วนตรงกันกับพระสูตรของทิเบตสูตรหนึ่งคือ ตถาคตครฺภะสูตร มีความหนึ่งว่า "...เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุ ทรงเห็นว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าจะถูกครอบงำด้วยกิเลสราคะ โทสะ โมหะ แต่ก็มีพุทธปัญญา พุทธจักขุ และพุทธกายนั้งขัดสมาธิบัลลังก์มั่นคงภายใน เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายแม้จะมีกิเลสครอบงำอยู่ ยังต้องเวียนว่ายในคติต่าง ๆ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็มีสาระแห่งความเป็นตถาคตอยู่ บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยคุณธรรม ไม่แตกต่างไปจากเราตถาคตเลย เมื่อทรงทราบดังนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าจึงประกาศธรรมะเพื่อกำจัดเสียซึ่งกิเลส และยังพุทธภาวะภายในนั้นให้ประจักษ์ต่อสัตว์ทั้งหลาย..."

     คำว่า ตถาคตครฺภะ เป็นคำซึ่งไม่มีในคัมภีร์บาลีของเรา คำว่า "ตถาคตะ" ก็มาจากคำว่า ตถาคต หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคำว่า "ครฺภ" เป็นคำสันสกฤตในบาลีตรงกับคำว่า "คภฺพ" ซึ่งมีความหมายได้ว่าเป็น ครรภ์ ครรภ์มารดาก็ได้ หรือแปลว่าตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ก็ได้ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องก็แปลว่า หน่อเนื้อพุทธางกูร หรือเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า Buddha Nature หรือ Buddha Essense หรือ Buddha Embryo ทั้ง ๓ ความหมายนั้นตรงกันกับของวิชชาธรรมกาย แล้วก็ยังมีคำอธิบายขยายความต่อไปอีกว่า ตถาคตครฺภะ อีกนัยหนึ่งก็คือ ธรฺมกาย นั่นเอง

     ยังมีคัมภีร์ของมหายานอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า คัมภีร์ศรีมาลาเทวี สีหนาทสูตร สูตรนี้เป็นพระสูตรที่เก่าแก่ เชื่อกันว่าเป็นของ มหาสังฆิกะ มหาสังฆิกะนั้น เป็นสงฆ์หมู่ใหญ่ในอินเดีย ก่อนการเกิดขึ้นของปรัชญามหายาน ขอเรียนให้ทราบอย่างหนึ่งว่า ประวัติพุทธศาสนาที่สอนกันในประเทศไทยที่บอกว่า มหาสังฆิกะนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ มหายานนั่นเอง หรือระบุว่ามหาสังฆิกะเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของมหายาน ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย มหาสังฆิกะ แปลว่า สงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งหมายถึง สงฆ์ทั่วไปในแคว้นอินเดียตอนเหนือ สงฆ์กลุ่มนี้ไม่มีความเลื่อมใสมหายานเลย มหายานไม่ใช่นิกายใหม่ เป็นเพียงปรัชญาหนึ่งที่ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางจนครอบคลุมพุทธ ศาสนานิกายต่าง ๆ ทั่วประเทศอินเดียตอนเหนือ ขณะที่ปรัชญามหายานทรงอิทธิพลมากขึ้นนี้ คัมภีร์ของมหาสังฆิกะก็ถูกเปลี่ยน ถูกนำเข้ามาอยู่ในร่มไม้ชายคาของมหายาน ในคัมภีร์ศรีมาลาเทวี สีหนาทสูตร เล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน ในตอนหนึ่งมีใจความว่า... "บุคคลใดไม่มีความสงสัยว่า ตถาคตเจ้าได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว และธรฺมกายนั้น ย่อมไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการตาย คงที่แน่นอน สงบตลอดกาล บริสุทธิ์บริบูรณ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ถึงพร้อมด้วยพุทธคุณทั้งปวง จะนับจะประมาณมิได้ ประหนึ่งเม็ดทรายในท้องพระแม่คงคาฉะนั้น สมบูรณ์ไปด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ แต่ไม่ปรากฏต่อสายตาของคนทั้งปวง ธรฺมกายของพระตถาคตเจ้า เมื่อยังไม่พ้นจากกิเลสย่อมถูกกล่าวถึงในนามของตถาคต

     ครฺภะ" อีกตอนหนึ่งในคัมภีร์เดียวกันนี้เองกล่าวว่า "ธรฺมกายนั้นย่อมเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด เป็นสุขล้วน ๆ เป็นตัวตน คือ เป็นอัตตาที่แท้จริง บริสุทธิ์ที่สุด ผู้ใดได้เห็นธรฺมกายของตถาคตในลักษณะนี้แล้วย่อมถือว่าเห็นถูก"

     นี่ก็เป็นคำสอนในคัมภีร์มหายานส่วนหนึ่ง ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับเรื่องธรฺมกาย ไว้อย่างมากมาย และเป็นคัมภีร์ส่วนหนึ่งซึ่งเก่าที่สุดในพุทธศาสนา ความเห็นเรื่องธรรมกายนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากของหลวงพ่อวัดปากน้ำเลย

"ธรรมกาย" ในศิลาจารึก


     ที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นเรื่องราวของ "ธรรมกาย" ในพุทธศาสนา พวกเราหลายคนคงจะสงสัยคล้าย ๆ กันว่า ทำไมคำว่า "ธรรมกาย" จึงเพิ่งมีปรากฏในประเทศไทย หลวงพ่อวัดปากน้ำค้นพบวิชชาธรรมกายได้อย่างไร บางท่านอาจจะคิดว่าธรรมกายเป็นเรื่องที่สอนเพี้ยนกันไปแล้ว ทำไมสำนักของหลวงพ่อวัดปากน้ำจึงสอนวิธีทำสมาธิโดยการกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้ว และอธิบายว่า ธรรมะมีลักษณะเป็นดวงกลมใสรอบตัวอีกด้วย ในการอธิบายคำว่า "ธรรมกาย" นั้น ทำไมถึงระบุเอาว่าธรรมกายเป็นอัตตา (ตัวตน) ที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราจะศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียว หรือเอาอรรถกถาบาลีมาเป็นเพียงหลักฐานนั้น ข้อความอาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก เพราะในการศึกษาธรรมภาคปริยัติของไทยที่มีมาแต่โบราณ ยังมีจุดบกพร่องอยู่บางประการ แล้วจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่สะสมกันจนเวลาผ่านมาเป็นร้อย ๆ ปี ทำให้เราทิ้งหลักฐานที่เกี่ยวกับธรรมกาย อันเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาไปเป็นอันมาก

     ที่ยังมีปรากฏอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ มีหลักฐานจาก "หลักศิลาจารึกพระธรรมกาย" ซึ่งเป็นศิลาจารึกเก่าแก่ จารึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๒ ขุดพบที่พระเจดีย์วัดเสือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กทม. ความว่า

     "...สพฺพญฺตญาณปวรสีสํ นิพฺพานรมฺมณํ ปวรวิลสิตเกส จตูถชานาปวรลลาต วชฺชิรส

     มาปตฺติปวรอุ..." คำแปล "...พระพุทธลักษณะ คือ พระธรรมกายมีพระเศียรอันประเสริฐ คือ พระสัพพัญญุตญาณ มีพระเกศางามประเสริฐ คือ พระนิพพานอันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐ คือ จตุถฌาน มีพระอุณาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมี คือ พระปัญญา ในมหาวชิรสมาบัติ..."

     "...อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพุพญฺ บุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุ่นํ อนุสฺสริตพฺพํฯ" คำแปล "...พระพุทธลักษณะ คือ พระธรรมกายนี้ อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญาณอันกล้า เมื่อปรารถนาซึ่งภาวะแห่งตน เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกเนือง ๆ ฯ"

 

"ธรรมกาย" สมถกรรมฐานแบบโบราณของไทย


     เราชาวพุทธยังโชคดี มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้มองเห็นการณ์ไกล เกรงว่าในอนาคตคนทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจวิธีการทำวิปัสสนากรรมฐานโบราณของ คนไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง จึงรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นเล่มขึ้นชื่อ หนังสือพระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ พระภิกษุรูปนั้นคือ พระมหาโชติ ปัญโญ (ใจ ยโสธรรัตน์) โดยมีพระเดชพระคุณพระพรหมมุนี (ติสโสอ้วน) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เป็นผู้ตรวจ หนังสือนี้ได้รวบรวมเอกสารการทำวิปัสสนากรรมฐานจากคัมภีร์เก่า ๆ ซึ่งได้มาจากแหล่งต่าง ๆ เป็นหลักฐานที่แสดงว่า การทำวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทยแต่โบราณ มีลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ต่างจากการทำวิปัสสนากรรมฐานของพม่า หรือของศรีลังกา

     ในหนังสือเล่มนี้มีคำอธิบายไว้หลายตอน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า เรื่องธรรมกายนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มีอยู่ในพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยนี้มานานพอสมควรแล้ว แม้กระทั่งคำภาวนา "สัมมา อะระหัง" ก็มีปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ในหน้า ๒๕๒ ซึ่งคัดมาจากคัมภีร์สมัยสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดีศรี สมณุตมาปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน) จะเห็นได้ว่าคำภาวนา "สัมมา อะระหัง" ที่ใช้ในการภาวนานี้ ไม่ใช่คำที่หลวงพ่อวัดปากน้ำคิดขึ้นเอง เชื่อได้ว่าได้นำคำภาวนานี้มาจากคัมภีร์โบราณ

     ในตำราเล่มนี้ยังได้กล่าวถึงการเจริญอานาปานัสติ มีความตอนหนึ่งว่า "...ภาวนา ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ตั้งต้นในจงอยปาก เห็นลมหายใจ และภาวนา ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ปรากฏฝอยเหมือนไฟ ๑ ควันหม้อ ๑ เหมือนนุ่น ๑ แล้วปรากฏเห็นดวงดาวดวงหนึ่ง แล้วปรากฏเห็นพระจันทร์ซีกหนึ่ง แล้วเห็นพระจันทร์ทั้งดวง และภาวนาไปแล้ว เห็นปรากฏเป็นพระอาทิตย์ซีกหนึ่ง แล้วปรากฏเห็นพระอาทิตย์ทั้งดวง..."

     การเจริญอานาปานัสติจากหนังสือพระสมถวิปัสสนากรรมฐานแบบโบราณของไทย อาจจะอธิบายการเห็นดวงแตกต่างไปสักนิดหนึ่ง แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่า การเห็นดวงมีจริง หรือแม้แต่การเห็นกายภายในในตำราเล่มนี้ก็มีเขียนไว้ในหน้า ๓๒๘ มีความว่า "...ได้สุขเหมือนนั่งใต้ต้นไม้ ต้องลมริ้ว ๆ สบายริ้ว ๆ มาเป็นที่พึ่งแก่ข้านี้เถิด ปรากฏเห็นรูปร่างตนเองทรงเครื่องมงกุฎสร้อยสังวาล ชื่มชมยินดี สบาย..." นี่เป็นลักษณะซึ่งเข้าได้กับของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ได้อธิบายการเข้าถึงกาย ทิพย์ไว้อย่างชัดเจน ความตอนหนึ่งหน้า ๓๕๒ บรรทัดที่ ๑๗ ได้กล่าวถึงผลเมื่อปฏิบัติลึกเข้าไปอีก มีความว่า "…จึงตั้งจิตต์พิจารณาดูธรรมกายในรูปกายด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดในรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้"

     อีกตอนหนึ่งในหน้า ๓๘๔ การตั้งฐานของลมทำจิตให้เป็นสมาธินั้น ตำรานี้ได้บอกไว้ถึง ๙ ฐานด้วยกัน ฐานที่ตั้งนั้นคล้ายกับของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาก จุดที่ใกล้เคียงก็มีฐานที่เหนือสะดือ มีฐานที่ในคอ ปลายจมูก ศีรษะ แม้ในเรื่องนิมิตก็มีอรรถาธิบายไว้ในหน้า ๓๙๕ ว่า 

     "...นิมิตต์นั้นจะเป็นวงกลมก็ตาม เป็นพระพุทธรูปก็ตาม เป็นอย่างเม็ดเพชรรัตน์หรือดวงแก้วก็ตาม ต้องสังเกต กำหนด รักษาไว้ ใช้ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำให้ชำนาญ จนสามารถบังคับนิมิตต์ไว้ในอำนาจได้ จิตต์ได้เครื่องหมาย ได้ที่พัก เลื่อนภูมิดีแล้ว อย่าติดนิมิตต์..." นี่ก็ตรงกับหลักของวิชาธรรมกาย

     ความอีกตอนหนึ่งหน้า ๓๗๐ มีอยู่ว่า "...พระโยคาวจร ผู้รู้ว่า ธรรมกายดำรงอยู่ในหทัยประเทศแห่งสรรพภูติ ทำให้หมุนดังว่าหุ่นยนต์ ท่านจึงตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาญาณ เพื่อให้ถึงธรรมกายเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมโดยสิ้นเชิง ถึงสถานอันสงบระงับ ประเสริฐ เที่ยงแท้ เพราะความอำนวยของธรรมกายนั้นเป็นอมตะ..."

     นี่ก็เป็นหลักฐานซึ่งพิสูจน์ได้ว่า ความเชื่อในเรื่องการทำสมาธิตามแนววิชชาธรรมกายนั้น ไม่ใช่เป็นของใหม่เลยสำหรับประเทศไทย แต่เป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เนื่องจากระบบการศึกษาของพระสงฆ์นั้น เราได้ละเลยคัมภีร์โบราณนี้ไป ของที่เป็นมาแต่โบราณจึงกลายเป็นของใหม่สำหรับสายตาของคนหลาย ๆ คน ตามหลักวิชชาธรรมกายแล้วถือว่า นรกสวรรค์นั้นมีจริง บุญบาปมีจริง พระนิพพานมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ครูบาอาจารย์มีคุณ บิดามารดามีคุณ ซึ่งเป็นความเชื่อถือที่ตกทอดกันมาในหมู่ชาวพุทธ

     แต่สิ่งที่ตกทอดกันมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะมาถือกันอย่างงมงาย เราควรจะมีเหตุผลในการศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์กันไปว่า สิ่งนั้นทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้ค้นพบหนทางการพ้นทุกข์ กำจัดกิเลสที่มีอยู่ในตัวเองให้ลดน้อยลงได้หรือไม่ และเข้ากับหลักธรรมในพระไตรปิฎกหรือไม่ ควรจะมองในภาพกว้างด้วย คือ ไม่ใช่ยึดติดเฉพาะนิกายหรือความเชื่อของตนเอง และรูปแบบการปฏิบัติของตัวเอง แล้วก็บอกว่าของตัวเองนั้นถูกหรือดีที่สุด จึงควรมองข้อดีของคนอื่นแล้วก็นำมาใส่ของตัวเอง ถ้าทำอย่างนี้แล้ว สังคมศาสนาทั่วโลกก็จะเป็นไปด้วยความสุข ไม่ใช่สังคมที่คอยมาจับผิดกันเอง อิจฉากันเอง ใส่ร้ายกันเอง มิฉะนั้น หลักวิชชาต่าง ๆ ก็จะเศร้าหมอง ศาสนาของเราก็จะเป็นศาสนาซึ่งเต็มไปด้วยความอึดอัด หาใช่เป็นศาสนาที่เจริญเพื่อการปล่อยวาง การพ้นจากความทุกข์ไม่

หนังสือที่ใช้ประกอบในการเรียบเรียง

     ๑. ความรู้เรื่องธรรมกาย

     ๒. ตามรอยธรรมกาย

----------

ความคิดเห็น

     สมาธิ วิชชาธรรมกาย ที่สมาธิเอกลักษณ์ประจำชาติไทยด้วยภูมิปัญญาของคนไทยค้นพบเองและเป็น ภูมิปัญญาของโลกด้วย เพราะสมาธิวิชชาธรรมกายบอกถึงกายในกายได้ละเอียดมากที่สุดของแต่ละสัตว์และ บอกถึงเวทนา จิต ธรรมได้ละเอียดมากกว่าด้วยในแต่ละกายของแต่ละคนคนเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์ ตรงนี้พิสูจน์ได้ด้วยตนเองเองว่า สมาธิวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำพระมงคลเทพมุนี ถ้าใครเข้าถึงจริงและถูกต้องด้วยการหยุดในหยุดที่กลางกายฐานเจ็ดเหนือสะดื อ2นิ้วมือแล้ว จนเห็นจริงแล้ว ย่อมบอกตรงกันหมดว่า สามารถเจริญอาปนาสติในกายทิพย์และกายต่างต่างได้ไม่ใช่แต่กายคนเท่านั้นจาก ที่พุทธทาสปยุตโตบอกได้แค่นั้นก็ได้ตามแบบพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฏกและสามารถเจริญสติปัฏฐานสี่ได้ครบถ้วนในกายละเอียดต่างต่างได้ ตั้งแต่กายคนจนถึงธรรมกาย.....ถ้าทำหยุดในหยุดให้เป็นก่อนได้จริง ครับ........//////ตรงนี้คือความจริงเป็นอกาลิโก ไม่ต้องเอาประวัติสังคมนิกายมาบอกเพราะประวัติมันไม่ละเอียดพอในเรื่องทางใน .... แต่ความจริงทุกคนต้องยอมรับว่า สมาธิวิชชาธรรมกายสามารถเจริญอาปนาสติและสติปัฏฐานสี่ได้ในกายละเอียดทุก กายรวมกายคนครบถ้วนด้วยไม่ต้องสงสัย.......ไม่มีใครมาแย้งได้ และตำราขอบเขตสมาธิของหลวงพ่อสดท่ายบอกไว้เท่าใดก็ไม่มีใครไปเถียงไปแก้ได้ มีแต่ยกย่องรักษาไว้ให้คู่กับพระไตรปิฏกเถรวาทของไทยและของนานาชาติได้ เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดในเรื่องสมาธิและปัญญาไตรสิกขา แบบไร้กาลเวลาและต้องรักษาด้วยการตรวจสอบผลสมาธิผ่านการกระทำจริงได้ด้วย เพื่อไม่ให้ลืมเลือนในความเห็นจริงภายหลังด้วยอย่างต่อเนื่อง ....ตรงนี้ต้องพยายามทำให้เป็นหน้าที่ชาวพุทธเลยครับ จะได้ไม่แย่เร็วเกินไป


     ท่าน พุทธทาส ได้การยกย่องจากยูเนสโก้ เพราะเรื่องการประยุกต์ในหลักธรรมของโลกได้อย่างลุ่มลึกแต่ไม่ได้หมายความ ว่า เรื่องพ้นโลกท่านพุทธทาสเข้าถึงได้หมด ตรงนี้คือข้อจำกัดของพุทธทาสแน่นอนดังนั้นการใช้คำสอนของพุทธทาสอย่าง ปลอดภัยต้องเป็นเรื่องธรรมของโลกเท่านั้นครับ......ชาวพุทธอย่าสับสนครับ และแน่นอนหลวงพ่อสดท่านน่าจะได้รับการยกย่องจากยูเนสโก้บ้างในเรื่องเป็น บรมครูแห่งสมาธิวิชชาธรรมกายเพื่อสันติสุขของโลกสมัยไหม่และเป็นสมาธิที่ ทรงพลังที่สุดของพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบันและทุกสำนักสมาธิทั่วโลกสามารถ เป็นฐานหนุนสมาธิวิชชาธรรมกายได้อย่างเป็นสากลด้วย แต่สหประชาชาติยูเนสโก้จะเข้าใจเรื่องพระพุทธแค่ไหนนั้นก็ยากจะไปสาธยาย ได้..................

แบงก์ออมสิน thai saving banca [06/05/15 10:28] (203.156.45.127) 365

******

สมถะ

-----------------------------------------

 



ความเห็น (4)

ขออนุโมทนากับ .."สมถะ"..

ผู้ที่เคารพและเชื่อมั่นใน.พระมงคลเทพมุนี

ผมได้รับคำสอนเรื่องพระธรรมกาย จากครูบาอาจารย์สายครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ที่ชาวพุทธทราบนามพระมหาเถรรูปนี้ดี

ครูบาเจ้าพระครูสุคันธศีล วัดสวนดอก เชียงใหม่สอนไว้ว่า "พระพุทธเจ้ามีพระองค์ ๒ แบบ คือ ร่างกายมนุษย์ ที่ได้มาแต่ครรภ์พระมารดา ดำรงอยู่ตลอดมาถึงวันที่สิ้นกิเลสอาสวะอนุสัยแล้ว ในวันตรัสรู้ ณ โพธิมณฑล เดือนเพ็ญวิสาขมาส เป็นร่างกายพระตถาคตเจ้าที่เป็นมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ของพระพุทธองค์ ยังมีรูปร่างตั้งอยู่ในสามัญญลักษณะ คือ อนิจฺจตา -ทุกฺขตา และอนตฺตา นี้ คือ ร่างกายแบบที่หนึ่ง ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ส่วนพระพุทธองค์แบบที่สองเกิดจากโพธิครรภ์ คือ เป็นพระธรรมมีรูปกายดวงผ่องใส มีรัสมีรวมแสงซ้อนอยู่ ภายในร่างกายของมนุษย์ รูปกายนี้เป็นส่วนบริสุทธิ์ผ่องใสหมดจดยิ่ง เป็นรูปกายของพระนิพพานธาตุ พระพุทธองค์รูปกายนี้ พ้นจากสภาพสามัญญลักษณะ คือ เป็น นิจจตา-บรมสุขและเป็นอัตตา ครั้นพระพุทธเจ้าในร่างกายมนุษย์เกิดแต่ครรภ์พระมารดา เสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนร่างกายมนุษย์รับการถวายพระเพลิง เหลือแต่ที่เป็นเถ่าถานและพระบรมสารีริกธาตุ(กระดูก) แต่กายที่สองเกิดจากโพธิครรภ์นั้น เป็นนิพพานธาตุ สถิตในเมืองนิพพานเรียกว่า พระธรรมกาย กายนี้ คือ ดวงแสงผ่องใส ธรรมะ คือ นิพพานธาตุ รวมกันเป็นธรรมกาย ได้แก่ ดวงแสงผ่องใสแห่งธรรมของนิพพานธาตุ" ผมคิดเห็นว่า ใกล้เคียงกับที่คุณอธิบายไว้ตรงนี้ คุณคิดเห็นประการใด

คุณสมถะหรือปราชญ์ขยะ

ตามข้อมูลที่ผมมีอยู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านก็เห็นดวงแสงผ่องใสแห่งธรรมภายในตน ดังนั้นความรู้ที่คุณแสดงก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ครูอาจารย์ของผมท่านกล่าวเอาไว้นะครับ...อนุโมทนา

เรียนคุณกวี ธมฺมกวิอุบาสก

ผมอยากทราบว่าที่คุณกวีอ้างอิงคำสอนของครูบาอาจารย์สายครูบาศรีวิชัยข้างบนนั้น มีหนังสือหรือเทป หรืออะไรที่ผมจะสามารถใช้อ้างอิงได้ไหมครับ ผมกำลังทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ครับ ขอบคุณครับ

พจน์ปรีชา



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท