ข้อควรพิจารณาเรื่อง "อนัตตา"


 ข้อควรพิจารณาเรื่อง "อนัตตา"

     คุณคิดว่า อนัตตา ควรจะมีความหมายอย่างไร ?

     อนัตตา แบบไม่มีตัว ไม่มีตน

     อนัตตา แบบไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

     ลองคิดดูดีๆ ครับคุณเข้าใจ อนัตตา อย่างไร? ที่มาของความเข้าใจอนัตตาแบบไม่มีตัว ไม่มีตน เพิ่งเกิดขึ้น ๗๐ – ๘๐ ปีมานี่เอง โดยกลุ่มภิกษุหัวใหม่(ในยุคนั้น) ไปรับเอาหลักวิทยาศาสตร์บางส่วนมาวัด ตัด ตวง ความรู้ในพุทธศาสนา คนแต่โบราณก่อนนี้เขามีความเชื่อว่า อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนกันทั้งนั้น ก็ลองคิดดูนะครับใครบิดเบือน ใครสร้างกระแส และใครหลงกระแส อนัตตาแบบวิทยาศาสตร์ยุคเก่า(ตกยุคแล้วด้วย)กันแน่

     เราคงจะเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่แต่โบราณเขาอธิฐานตอนทำบุญต่างๆ ว่า “ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ถึงฝั่งพระนิพพานะปัจจะโยโหตุ” ก็หมายความว่าคนโบราณมีความเชื่อเรื่องนิพพานว่าเป็นสถานที่ เป็นอีกฝั่งหนึ่ง และต้องการไปให้ถึงเมืองแก้วหรืออีกฝั่งหนึ่งนั้น

     ส่วนพวกนักคิดภิกษุยุควิทยาศาสตร์(ที่ตกยุคแล้ว)มาสร้างกระแส อนัตตา แบบไม่มีตัวไม่มีตน เมื่อประมาณไม่เกิน ๘๐ ปีมานี่เอง พวกท่านทั้งหลายที่รับเอาอนัตตาชนิดนี้เข้าไปก็ตกอยู่ภายใต้กระแสลวงของกลุ่มภิกษุและนักคิดแนวปฏิวัติความเชื่อเก่านี่เอง ท่านจะไปเข้าใจคนแต่โบราณได้อย่างไร ความเข้าใจมันไม่เชื่อมต่อกันเสียแล้ว คนโบราณยุคเมื่อ ๘๐ ปีก่อนก็ตายเกือบหมดแล้ว ถ้าต่อไปหมดยุคคนที่เชื่อว่า อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เสียแล้ว และหันมาเชื่ออนัตตาแบบไม่มีตัว ไม่มีตนเข้า ซึ่งสอดรับกับวิทยาศาสตร์ยุคเก่า ซึ่งไม่ได้เข้าในหลักพุทธศาสตร์ โดยที่เขาทำการพิสูจน์ธาตุของโลกที่รวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน ด้วยการแยกออกเป็นอย่างๆ ไปตามลักษณะธาตุนั้นๆ ครั้นแล้วก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นแก่นสารพอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวตน เช่นร่างกายของสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ เขาพิสูจน์แต่ในด้านรูปธรรมที่สัมผัสถูกต้องได้ หาได้พิสูจน์อรูปธรรมไม่ นักศึกษาพุทธศาสตร์ไม่ทันพิจารณาให้ตระหนัก ก็นำทฤษฎีนั้นมาใช้หมายครอบจักรวาลไปถึงพระนิพพานด้วย ซึ่งสอดรับกับวิทยาศาสตร์ยุคเก่าที่เชื่อว่าหลังตายแล้วหายสูญไม่มีอะไรต่อไป เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้ นรก – สวรรค์ และ ภพภูมิต่างๆ การเวียนว่ายตายเกิดก็ไม่ต้องพูดถึง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็เป็นเรื่องเกินจริง เรื่องที่จิตได้ไปสัมผัสสิ่งใดเข้าในสมาธิก็เป็นแต่อาการของจิตเกิดจากเส้นประสาทมันสร้างมาจากปฏิกิริยาไฟฟ้าในสมองสร้างเป็นภาพอะไรนั่น ความรู้โดยพิสดารของพระพุทธศาสนาก็ห้วนเข้า เหลือแต่พิจารณากันเป็นปุคคลาธิษฐาน ธรรมมาธิษฐานแค่นั้นเอง

     ไม่ว่าคุณจะเข้าใจ “อัตตา” และ “อนัตตา” ว่าเป็นอย่างไร หรือไม่ว่าคุณจะเข้าใจ อนัตตา (ไม่มีตัวไม่มีตน) หรือ อนัตตา (ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา) แค่ไหน อย่างไร แต่เมื่อคุณหลงยึดมั่นถือมั่นอย่างแน่นแฟ้น นี่ต่างหากอันตราย ! อย่าบอกนะครับว่า คุณก็ทราบว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เรายังมีกิเลสกันอยู่ ถ้าไม่มีสติกำกับตลอดเวลา เราไม่รู้หรอกว่าเราเผลอไปยึดมั่นถือมั่นมันหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นตามที่เราพูดอ้างจริง ป่านนี้เราหลุดพ้นหมดกิเลส เพราะหน่ายทุกข์ คลายกำหนัดไปนานแล้ว

     รูปกายภายนอกเป็นเพียงเหตุ เป็นเพียงปัจจัยให้เราหลงผิด แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของเราเข้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ยึดอย่างนี้เป็นทุกข์ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะความจริงแล้วรูปกาย(กายมนุษย์ที่นั่งอ่านอยู่นี่) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา) ถ้าเห็นตามความเป็นจริงได้ เราก็ละได้ ปล่อยวางได้ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาที่หลงผิด ปัญญาก็เกิด เมื่อปัญญาเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ มรรคมีองค์แปดก็ตามมา เดินตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อละขันธ์ ๕ ทำลายกิเลสอวิชชาให้หมดเป็นชั้นๆ ไป ก็หมดกิเลสหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์

     มาตีโจทย์กันให้แตก อัตตาเกิดขึ้นเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความคิดใดความคิดหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม เมื่อยึดมั่นถือมั่น อัตตามันก็เกิดทันที เป็นมิจฉาทิฏฐิทันที ดังนั้นจะเห็นว่า อัตตาที่แท้จริงเกิดจากความคิดซึ่งเป็นเหตุมาจากความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง ความคิดที่ประกอบด้วยความยึดมั่นถือมั่นนี่เองเป็นตัวอัตตาแท้ที่เราหลงยึดถือไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม ส่วนรูปกายภายนอก(กายมนุษย์ที่นั่งอ่านอยู่นี่)เป็นเพียงเหตุ เป็นเพียงปัจจัย ให้เราหลงผิดไปยึด(กายมนุษย์ที่นั่งอ่านอยู่นี่)เป็นตัวเป็นตน(อัตตา)ของเราเข้า โดยแท้จริงแล้วมันเป็นอนัตตาอยู่ในตัวอยู่แล้ว จะมีอีกสักกี่กาย(กายโลกีย์)ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด อย่าไปดูที่รูปกาย(ภายนอก)ให้ใช้ใจ(ภายใน)พิจารณาจะเห็นอนัตตาอย่างชัดเจน

     รูปกายภายนอก(กายมนุษย์ที่นั่งอ่านอยู่นี่) คือกายมนุษย์ของเราเป็นอนัตตา แต่ถ้าเราหลงว่าเป็นตัวตนของเราเข้าแล้วก็เกิดเป็นอัตตาขึ้นทันที จะเห็นได้ว่า รูปกายหรือกายมนุษย์ไม่ได้เป็นอัตตาแต่เป็นอนัตตาต่างหาก แต่เพราะความยึดมั่นถือมั่นหลงผิดนี่เอง จึงกลายเป็นว่ากายมนุษย์เป็นอัตตาขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีใจความสำคัญคือ

     ๑. รูป(ร่างกาย) เวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ ) สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความคิดหรือเจตนา) และวิญญาณ(ความรู้อารมณ์ทางตา หู เป็นต้น) ไม่ใช่ตน ถ้าเป็นตนก็จะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะไม่ใช่ตนจึงบังคับบัญชาไม่ได้

     ๒. แล้วตรัสถามให้ตอบเป็นข้อ ๆ ไปว่า ขันธ์ ๕ (มีรูป เป็นต้นนั้น) เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ตอบว่า ไม่เที่ยง , สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือสุข ? ตอบว่า เป็นทุกข์ , สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ? ตอบว่า ไม่ควร

     ๓. ตรัสสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า รูป เป็นต้น นั้นทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

     ๔. ตรัสแสดงผลว่า อริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เป็นต้นนั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าสิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ภิกษุปัญจวัคคีย์มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลก ๖ องค์(ทั้งพระพุทธเจ้า)

     พิจารณาให้ดีครับ อนัตตา แบบไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อนำมาใช้พิจารณาขันธ์ ๕ แล้ว สามารถทำความเห็นถูกต้องในเบญจขันธ์ได้ เป็นชั้นๆ ไป จนกระทั้งจิตคลายกำหนัด ปล่อยอุปาทาน หลุดพ้นได้ แต่ถ้าเชื่อว่า อนัตตา คือไม่มีตัวไม่มีตน แล้วจะเอามาพิจารณาเบญจขันธ์ได้อย่างไร ในเมื่อตัวตนมันไม่มีเสียแล้ว

     โดยตัวมันเอง กายมนุษย์(กายที่นั่งอ่านอยู่นี่) มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว คุณไปยึดมั่นถือมั่นให้มันเป็นอัตตาไปเอง แล้วจะมาว่ากายมนุษย์ต้องไม่มี(อนัตตาแบบไม่มีตัวไม่มีตน)จึงจะเป็นอนัตตา ที่ถูกต้องหรือ มันมีก็ช่างมันเพราะมันก็เป็นอนัตตาอยู่แล้ว อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันว่าเป็นตัวตนของเราเข้าเป็นใช้ได้

     วิชชาธรรมกายกล่าวถึงกายในกาย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร กายโลกีย์จะมีสักกี่กาย มันก็เป็น “อนัตตา”อยู่แล้ว อย่าไปยึดมั่นถือมั่นก็แล้วกัน ที่ว่ากายโลกีย์เป็นอนัตตาเพราะมีดวงทุกข์ ดวงสมุทัยกำกับอยู่ทุกกาย ตามหลักวิชชาธรรมกายว่าไว้ เมื่อมีดวงทุกข์ ดวงสมุทัยทุกกายจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปทุกกาย

     แล้วคุณคิดว่าต้องไม่มีกายละเอียดใดๆ อีกจึงจะเป็นอนัตตางั้นหรือ ? กายโลกีย์ไม่ว่าจะมีละเอียดไปสักกี่กายก็เป็นกายอนัตตาอยู่แล้ว เหมือนกายมนุษย์หยาบ(ที่นั่งอ่านอยู่นี่) ส่วนเมื่อคุณเข้าถึงโลกุตรธรรมแล้ว คุณจะพบความจริงอีกขั้นหนึ่ง คือขั้นแก้ทุกข์ สมุทัย ทำลายทุกข์ สมุทัย ถึงตอนนั้นคุณจะเข้าใจอัตตาและอนัตตาอย่างถ่องแท้ ถ้าตอนนี้เราเป็นแค่โลกียบุคคลก็พิจารณากันให้ได้แค่นี้ก่อน เพื่อทำความเข้าใจอนัตตาของพระพุทธเจ้าให้ถูกทางก่อน

     ๑. อัตถิกวาทะ ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง
     ๒. นัตถิกวาทะ ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง

     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ” ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฐิ ?”

     “แน่ะ ท่านกัจจานะ โลกนี้โดยมากอิง(ทฤษฎีของตน)ไว้กับภาวะ ๒ อย่าง คือ อัตถิตา(ความมี) และนัติถิตา(ความไม่มี) เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกนี้ก็ไม่มี โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย และถูกคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวส และอนุสัยว่า “อัตตาของเรา” ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ก็ย่อมดับ อริยสาวกย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีสัมมาทิฐิ”

     “ดูกรกัจจานะ ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงมีอยู่” นี้เป็นเป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงไม่มี” นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”

     โดยสรุปก็คือ

     อนัตตา + ความยึดมั่นถือมั่น     = อัตตา (มิจฉาทิฐิ เข้าหลัก ทิฐิ ๖๒ เป็น อุเฉททิฐิ)

     อัตตา   + ความยึดมั่นถือมั่น     = อัตตา (มิจฉาทิฐิ เข้าหลัก ทิฐิ ๖๒ เป็น สัสตทิฐิ) 

     อัตตา   + ความไม่ยึดมั่นถือมั่น = อนัตตา (เกิดปัญญาเห็น ความจริงด้านโลกียวิสัย คลายความเห็นผิดได้ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเข้าใจว่าอัตตา ที่แท้คือ อนัตตา ตามความจริงในที่สุด)
-----------

     อนัตตา + ความไม่ยึดมั่นถือมั่น = หลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ ไปพบความรู้ภาคโลกุตรธรรมเรื่อยไป

     เชื่อว่า อนัตตา คือไม่มีตัวไม่มีตน แล้วจะเอามาพิจารณาเบญจขันธ์ได้อย่างไร ในเมื่อตัวตนมันไม่มีเสียแล้ว
-------------
ถาม : กลับหัวกลับหาง

น้า [06/07/24 10:58] (203.146.253.106) 819

-------------

     เราก็พิจารณาตัวตนที่เรามีอยู่ว่า มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซีครับ โดยแยกพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ ออกเป็นกองๆ เราก็จะทราบว่า ขันธ์๕ ตกอยู่ในกระแสพระไตรลักษณ์ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นใดๆ เราไปปฏิเสธว่า ไม่ตัวไม่มีตนเลยไม่ได้ ที่เห็นเป็นตัวเป็นตนน่ะ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนต่างหาก อธิบายอย่างนี้คนทั่วไปเข้าใจง่ายกว่า

สมถะ [06/07/24 11:55]

--------------

     สุญญตา และ อนัตตา

     เรื่องสุญญตา เมื่อเรากล่าวว่าสรรพสิ่งว่างเปล่า ความหมายก็คือสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น โดยเนื้อแท้แล้วล้วนหาแก่นสารมิได้ ที่ว่าไม่มีแก่นสาร หมายความว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวกันของเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยแตกสลายลง สิ่งเหล่านี้ก็จะสูญสิ้นไป

     ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความหมายของสุญญตาดั้งเดิมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทก่อน 

     แรกทีเดียวนั้นคำนี้ พระพุทธองค์ทรงใช้ในฐานะที่เป็นคำแทนกันได้กับคำว่า อนัตตา สรรพสิ่งในโลกียะนี้เราสามารถมองได้สองแง่พร้อมๆ กัน คือมองว่าสิ่งเหล่านี้ไร้แก่นสารที่เรียกว่าอัตตา และมองว่าสิ่งเหล่านี้ว่างเปล่าจากแก่นสารคืออัตตา จะเห็นว่าการมองสองแง่นี้มีความใกล้เคียงกันมาก คนที่เห็นความเป็นอนัตตาในสรรพสิ่งย่อมเห็นความว่างในสิ่งเหล่านั้นด้วย

     การที่พระพุทธศาสนาเถรวาทมองว่าสรรพสิ่งว่างเปล่าจากอัตตา ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เราต้องแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า ขันธ์ ๕ ว่างเปล่า เราอย่าเข้าใจว่าประโยคนี้มีความหมายเท่ากับประโยคว่า ขันธ์ ๕ ไม่มีอยู่ ข้อความนี้มีความหมายเพียงว่า เมื่อเราเอาคนมาคนหนึ่ง แล้วทอนเขาลงมาเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน เราจะได้ขันธ์ ๕ และในระหว่างขันธ์ ๕ เหล่านี้ เราจะไม่พบสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ซึ่งศาสนาพราหมณ์เชื่อว่ามีอยู่

สมถะ [06/07/24 14:44]

******

สมถะ

------------------------------------------------

อ่านข้อมูลทั้งหมดที่เวบ http://www.khunsamatha.com/ 

หมายเลขบันทึก: 85800เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เนื้อหาดีนะครับเพราะผมก็กำลังศึกษาอยู่เหมือนกันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท