การเจริญภาวนาจำเป็นจะต้องผ่านนิมิตหรือไม่


การเจริญภาวนาจำเป็นจะต้องผ่านนิมิตหรือไม่

ก่อนที่จะได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องนิมิต ขอทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า “นิมิต” ที่ว่านี้คืออย่างไร หมายถึงอะไร

คำว่า “นิมิต” มีความหมายตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทำ”
และในความหมายของคำว่า “นิรมิต” นั้น ยังหมายถึง “บันดานให้มีขึ้น” อีกด้วย นี้เป็นความหมายที่ ๑

สำหรับความหมายที่ ๒ ของคำว่า “นิมิต” ก็หมายถึง “เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล” เป็นต้น



โดยความหมายหลายอย่างต่างๆ กันนี้เอง ที่มีผู้ใช้คำว่า “นิมิต” ในหลายสถาน เช่นว่า

ความฝัน ที่เวลาบุคคลนอนหลับแล้วฝันไป ก็เรียกว่า สุบินนิมิต

การแสดงนัยให้ทราบ อย่างเช่น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงนัยให้พระอานนท์ทราบถึงวาระที่พระพุทธองค์จะทรงปลงสังขารแล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า พระพุทธองค์ได้ทรง “แสดงนิมิต”

--->> หรือการกำหนดเครื่องหมายใด ๆ ขึ้นในใจ คือนึกให้เห็นเครื่องหมายนั้นด้วยใจ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต บริกรรม แปลว่า กำหนดในใจ, ถ้านึกเห็นนิมิตด้วยใจได้ชัดเจนเพียงชั่วขณะ ก็เรียกว่าเกิด “อุคหนิมิต” และถ้าเห็นเครื่องหมายได้ชัดเจน นาน ติดตา จะนึกขยายให้โตใหญ่ หรือย่อให้เล็กลงด้วยใจก็ทำได้ อย่างนี้เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต”

คำว่า “นิมิต” ที่ใช้เรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติภาวนานั้น มุ่งหมายถึง “นิมิต” หรือ “เครื่องหมายที่กำหนดขึ้นที่ใจ” ซึ่งเรียกว่า บริกรรมนิมิต หรืออุคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต “เครื่องหมายที่กำหนดขึ้นในใจ หรือที่ปรากฏขึ้นในใจ” อันได้แก่ บริกรรมนิมิต ซึ่งเป็นอุบายวิธีที่จะรวมใจอันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือ ความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้ ให้มารวมอยู่ในอารมณ์เดียว แนบแน่นเป็นสมาธิดี เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้า ก็จะเห็น อุคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต ตามลำดับของใจที่หยุดนิ่ง เป็นสมาธิที่แนบแน่นดี

ในการให้กำหนดเครื่องหมายขึ้นที่ใจ หรือที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต เพื่อให้ใจมารวมหยุดอยู่ในอารมณ์เดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยประคองใจให้หยุดให้นิ่งได้โดยง่าย จึงมักให้กำหนด “บริกรรมภาวนา” คือให้นุกว่าในใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น “สัมมาอะระหัง ๆ ๆ” หรือ “พุทโธ ๆ ๆ” ก็แล้วแต่ เพื่อให้ใจช่วยประคองนิมิตนั้นไว้ แปลว่าการที่จะตะล่อมใจให้เข้ามารวมอยู่ที่บริกรรมนิมิตนั้น อาจจะไม่พอที่จะขังใจ ที่มีสภาพเบา กวัดแกว่งง่าย ฟุ้งซ่านได้ง่าย ให้หยุดให้นิ่งได้ ก็จึงหางานให้ใจเขาทำอีกด้วยโสดหนึ่ง คือให้นึกว่าในใจที่เรียกว่า บริกรรมภาวนา เพื่อให้ใจประคองนิมิตนั้นยิ่งขึ้นจะได้ไม่ซัดส่ายออกไปข้างนอกนิมิตนั้น

เมื่อใจถูกประคองให้มารวมอยู่เสียกับบริกรรมนิมิต และบริกรรมภาวนาคู่กันหนักเข้า ก็จะค่อยๆ เชื่อง แล้วก็ค่อยๆ รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ที่เรียกว่า “อารมณ์เดียว” หรือ เอกัคคตารมณ์ กล่าวคือ “ใจ” อันประกอบด้วย ความเห็นนิมิต, ความจำนิมิต, ความคิดและความรู้ในนิมิต มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็จะเห็นนิมิตนั่นชัดขึ้น เรียกว่า อุคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิต ตามระดับของใจที่รวมหยุดเป็นสมาธิที่แนบแน่นดี

ในขณะที่ผู้ปฏิบัติภาวนาเพิ่งกำหนดบริกรรมนิมิตนั้น ใจเพิ่งจะเริ่มเป็นสมาธิ คืออยู่ในอารมณ์เดียว สมาธิในระดับนี้เรียกว่า อุปจาระสมาธิ, แต่พอเห็นนิมิตชัดเจนได้เพียงชั่วขณะ ที่เรียกว่า อุคหนิมิตนั้น ใจที่เป็นสมาธิระดับนี้เรียกว่า สมาธิในระดับขณิกสมาธิ แต่เมื่อเห็นปฏิภาคนิมิต คือเห็นนิมิตได้ชัดเจน นาน ติดตา และสามารถจะนึกขยายให้ใหญ่หรือย่อให้เล็กลงได้ เรียกว่าจิตเป็นสมาธิระดับ อัปนาสมาธิ อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาณ

กล่าวคือเมื่อจิตประกอบด้วยอารมณ์วิตก วิจาร คือยังมีความตรึกตรองประคองนิมิตอยู่, และมีอารมณ์ปีติยินดีที่ได้พบเห็นสิ่งที่เย็นตาเย็นใจ ก่อให้เกิดความสุขอย่างละเอียดๆ เช่นนั้น และจิตอยู่ในอารมณ์เดียวได้แนบแน่นดีเช่นนี้ ก็จัดว่าจิตเป็นสมาธิในขั้น ปฐมฌาณ

สมาธิตั้งแต่ระดับปฐมฌาณขึ้นไปนี้เอง ที่เป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ธรรมแล้ว เพาะมีองค์ฌาณ เครื่องประหาณนิวรณ์ครบถ้วน จึงจัดเป็นจิตที่ควรแก่งานวิปัสสนา เพื่อเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะธรรมชาติที่เป็นจริง เพราะสามารถเห็นอรรถเห็นธรรมได้ชัดแจ้งพอสมควร

เพราะฉะนั้น “นิมิต” จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นอุบายวิธี ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิตก วิจาร เครื่องประหานนิวรณ์ และเพื่อทำใจให้หยุดให้นิ่ง เป็นสมาธิที่แนบแน่นดีกว่าอย่างอื่น และเมื่อจิตเจริญภาวนาจนเป็นสมาธิระดับฌาณต่างๆ นั้น ก็จะต้องมีนิมิตหรือผ่านนิมิตทั้งสิ้น แม้แต่จะเป็นอรูปฌาณ ที่ว่าไม่กำหนดรูปเป็นอารมณ์ อย่างเช่น กำหนดยึดหน่วงเอาอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เมื่อจิตละเอียดหนักเข้า ก็เห็นนิมิต คืออากาศนั้นแหละ หรือในกรณีที่กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ หรือกำหนดยึดหน่วงเอาความว่างเปล่าไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ก็เห็นวิญญาณ หรือความว่างเปล่านั้นแหละ ที่เห็นนั่นแหละคือนิมิตล่ะ, แม้เมื่อจิตเป็นอุเบกขา ที่เรียกว่า อุเบกขินทรีย์ ก็ยังต้องมีนิมิต ดังพระพุทธดำรัสมีมาในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค อุปปฏิกสูตร ข้อ ๙๑ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้า ๒๖๙ ความว่า


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ประมาท มีความ

เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อุเบกขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า

อุเบกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และอุเบกขินทรีย์นั้น มีนิมิต มีเหตุ

มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า อุเบกขินทรีย์นั้น ไม่

ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้

ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้…”


ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่างเช่น พิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องอาศัยนิมิต นึกเห็นนิมิตจึงจะพิจารณาสภาวะธรรมได้ จึงจะเห็นสภาวะที่แท้จริงตามธรรมชาติที่เป็นจริงได้ อย่างเช่น

การเจริญอสุภกัมมัฏฐานอันนับเนื่องอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มิใช่ว่า จะต้องไปพิจารณาดูแต่ที่ซากศพ หรือจะต้องนำศพไปพิจารณาด้วย หรือจะต้องสาวไส้สาวพุงของใครมาดูจึงจะเรียกว่า อสุภกัมมัฏฐานหาใช่เช่นนั้นไม่

--->>> ในทางปฏิบัตินั้น เมื่อได้เคยเห็นซากศพหรืออวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายในหลายๆ ลักษณะ ก็จำภาพนั้นหรืออารมณ์นั้น แล้วน้อมเอาอารมณ์นั้นหรือภาพนั้นมาพิจารณาด้วยใจ การพิจารณาก็จะต้องนึกเห็นทั้งลักษณะและสภาพที่เป็นจริง ว่าเป็นแต่สิ่งปฏิกูล โสโครก น่าเกลียด และเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเหล่านี้เป็นต้น จึงจะเรียกว่ารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของธรรมชาติตามที่เป็นจริง ถ้านึกไม่เห็นแล้วทำไมจึงจะอ้างได้ว่า เห็นแจ้งตามสภาวะจริงของธรรมชาติที่เป็นจริงได้เล่า

การเห็นของจริงด้วยตาเนื้อนั้นเป็นแต่เพียงเริ่มต้นของเรื่องที่จะนำมาพิจารณาเท่านั้น แต่การเจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นเป็นกิจทางใจ แม้จะเห็นธรรม ณ เบื้องหน้าซากศพ ก็เป็นการเห็นด้วย “ใจ” หาใช่เห็นธรรมด้วยตาเนื้อไม่ และการเห็นสิ่งที่น้อมนำมาพิจารณาสภาวะธรรมด้วยใจนั้น ก็คือนิมิตนั่นเอง

-->> เรียกว่า หนีนิมิตไม่พ้น ในทางปฏิบัติแล้วจะต้องผ่านนิมิตเสมอไป ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้เห็น ถ้าไม่ได้เห็น ก็จะอ้างว่าเห็นแจ้งในสภาวะจริงของธรรมชาติที่เป็นจริงไม่ได้ ก็มีแต่ท่องจำเอาจากตำราเท่านั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ปฏิเสธนิมิตในการเจริญภาวนาธรรม และยังแถมประทานพระบรมพุทโธวาท มีมาในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวรรค ข้อ ๕๓๓ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์
ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์, ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต(คิอนิมิตแห่งจิตอันมีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่
การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้
สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์”


จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ท่านได้พิจารณาดูว่า การเจริญภาวนาโดยไม่ใช้ ไม่อาศัย หรือไม่ผ่านนิมิตนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ เพียงใด และถ้าหากยังไม่แน่แกใจ ก็ขอยกเอาพระพุทธภาษิต มีมาใน ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ หน้า ๔๗๑ ข้อ ๓๓๙ แปลความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ที่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ ยินดี
ในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ ตามประกอบในความพอใจในความ
คลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ เป็นผู้พอใจในหมู่ ยินดีในหมู่ ตามประกอบ
ความพอใจในหมู่ อยู่แล้วหนอ, เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดี
ในความสงัดเงียบนั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อไม่เป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอา
นิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิต ได้นั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อไม่ได้ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตแล้ว จักยัง
สัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อไม่ทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมา
สมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อไม่ทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์แล้ว จักละ
สังโยชน์ทั้งหลายนั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อไม่ละสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้เลย

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ
ไม่ยินดีในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ ไม่ตามประกอบในความ
พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ ๆ ไม่เป็นผู้พอใจในหมู่ ไม่ยินดี
ในหมู่ ไม่ตามประกอบความพอใจในหมู่ อยู่แล้วหนอ, เธอนั้น
จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดีในความสงัดเงียบนั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

เมื่อเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอา
นิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิต ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้

เมื่อถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตได้แล้ว จักยัง
สัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้

เมื่อทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมา
สมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้

เมื่อทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์แล้ว จักละ
สังโยชน์ทั้งหลายได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้

เมื่อละสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ แล”


*************************************************************************

จะเห็นได้ว่า การเจริญภาวนาจะต้องผ่านนิมิต อาศัยนิมิตแน่นอน และก็ใคร่จะให้สังเกตไว้ว่า

ประการที่ ๑ ที่ว่าการเห็น นั้นมีอยู่สองอย่าง คือ การเห็นรูปด้วยตาเนื้อ และด้วยตาใน สำหรับท่านที่เจริญวิชชาหรือมีทิพยจักขุนี้อย่างหนึ่ง กับการเห็นนิมิต คือเครื่องหมายที่กำหนดให้เห็นขึ้นที่ใจเพื่อเจริญสมาธิ นั่นอีกอย่างหนึ่ง

และสำหรับสิ่งที่เห็นด้วยใจนั้นจึงมีทั้ง นิมิต ที่นึกหรือคิดให้เห็นในใจ เพื่อเจริญสมาธิ หรือน้อมเข้ามาพิจารณาสภาวะธรรมเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น บริกรรมนิมิต อุคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิต ก็ตาม นี้อย่างหนึ่ง, กับทั้งเห็น รูป หรือ ธาตุธรรมละเอียด ที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ ด้วยความสามารถของทิพยจักขุเสมือนหนึ่งตาเนื้อเห็นรูปฉะนั้น นี้อีกอย่างหนึ่ง อย่าปนกัน


*************************************************************************


ประการที่ ๒ การเห็นนิมิต มิได้หมายความว่า ติดนิมิต หากแต่เป็นเพียงอาศัยการกำหนด บริกรรมนิมิต ขึ้นเพื่อเจริญสมาธิ จึงพัฒนาการเห็นนิมิตนั้นขึ้นไปเป็น อุคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิต ตามระดับสมาธิที่สูงขึ้น และเป็นความความจำที่จะต้องน้อมนำเอานิมิต คือสิ่งที่จะนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวะจริงของธรรมชาติตามที่เป็นจริง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ในสติปัฏฐานสูตรจึงอธิบาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน, เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน, และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าคือการเจริญสติสัมปชัญญะ พิจารณาเห็นกายในกาย, เห็นเวทนาในเวทนา, เห็นจิตในจิต, และเห็นธรรมในธรรม

สำหรับท่านผู้เจริญภาวนาได้ถูกวิธี สามารถเจริญวิชชา และมีอภิญญา เป็นต้นว่า เกิดอายตนะทิพย์ ให้สามารถรู้เห็นสิ่งที่ละเอียด ประณีต หรืออยู่ห่างไกล ลี้ลับได้ กว่าอายตนะของกายเนื้ออย่างเช่น ตา หู ของกายเนื้อ จึงสามารถเห็นสัตว์ในภูมิต่างๆ ที่ละเอียด อย่างเช่น นรก สวรรค์ และแม้แต่เห็นอายตนนิพพานนั้น ก็เป็นเรื่องความสามารถพิเศษของท่าน และก็เป็นการเห็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเหมือนกับตาเนื้อเห็นรูปทั้งหลายนั่นเอง

ก็เหมือนกับเราผ่านไปทางไหนก็ได้พบได้เห็นบ้านเมือง ผู้คน หรือสัตว์ทั้งหลายตามปกติธรรมดา แม้จะเจตนาที่จะพิจารณาดูความเป็นไปในอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น ก็เพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้าความรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น เป็นการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า นรก สวรรค์ นิพพานนั้น มีจริงหรือเปล่า ถ้ามี มีอย่างไร มีความเป็นไปในนรก สวรรค์ ตลอดทั้งอายตนะนิพพานอย่างไร ด้วยผลบุญและผลบาปอะไร จึงต้องไปเสวยวิบากอยู่ในนรกหรือสวรรค์

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรู้จักความเป็นไปในนิพพานนั้น เป็นยอดของความรู้ เป็นยอดของปัญญาทีเดียว และประการสำคัญที่สุด ผู้ที่สามารถเจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายอันเป็นธรรมขันธ์ที่พ้นโลกแล้ว สามารถให้เข้าถึงอายตนนิพพานได้นั้น ทำให้เกิดปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นโดยชัดแจ้งตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานบรมพุทโธวาท มีปรากฏในปาฎลิคามิวัคคอุทาน นิพพานสูตร ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้น(คืออายตนนิพพานนั้น)มีอยู่…” และว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว(คือพระนิพพาน)นั้น มีอยู่…”


จึงทำให้สามารถเห็นอรรถ เห็นธรรม ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วนี้โดยชัดแจ้ง



**************************************************************************



ประการที่ ๓ การเจริญภาวนาแต่เพียงขั้นต่ำ หรือการปฏิเสธสมถกัมมัฏฐาน แล้วมุ่งเน้นแต่การพิจารณาสภาวะธรรมเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เสี่ยงต่อการเกิดวิปัสสนูปกิเลสอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติภาวนามีสติปรากฏยิ่งจนเกินไป กล่าวคือมีสติพิจารณาสภาวะธรรมแก่กล้าเกินไป แต่ปัญญาอันเห็นแจ้งที่แท้จริงยังเกิดขึ้นไม่ทัน จิตจะปล่อยวางอารมณ์วิปัสสนาที่เคยยกขึ้นพิจารณาอยู่เสมอนั้นไม่ได้ แม้แต่จะได้รับคำแนะนำให้ปล่อยหรือให้ปฏิเสธนิมิต ก็ปฏิเสธไม่ออก เป็นเหตุให้เกิดนิมิตลวงขึ้นในใจโดยที่เจ้าตัวมิได้ตั้งใจจะรู้จะเห็น เรียกว่าเกิด วิปัสสนูปกิเลสข้ออุปัฏฐานัง อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตได้

--->>> จึงใคร่จะกล่าวถึงคุณค่าของการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายว่า เป็นกัมมัฏฐานที่มีทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน เป็นการเจริญภาวนาที่มีมหาสติปัฏฐาน โดยครบถ้วนอยู่ในตัวเสร็จ คือมีการพิจารณาเห็นกายในกาย, เวทนาในเวทนา, จิตในจิต, และเห็นธรรมในธรรมอยู่ในตัวเสร็จ มีอุบายวิธีที่ทำให้สมาธิเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมจากการได้ทั้งรู้และทั้งเห็น เมื่อยกสภาวะธรรมใดขึ้นพิจารณาให้เกิดปัญญาแล้ว ก็มีวิธีให้พิสดารกาย พิสดารธาตุธรรมไปสู่สุดละเอียด ให้ใจของทุกกายรวมหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายที่สุดละเอียดอยู่เสมอ จิตก็ละวางนิมิตที่ยกขึ้นพิจารณานั้นไปเองโดยอัตโนมัติ วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นสำหรับผู้เจริญภาวนาตามแนวนี้แต่ประการใด และยิ่งสำหรับผู้เจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว ยิ่งเห็นอรรถเห็นธรรม ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า สังขตธาตุ สังขตธรรม กับที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งที่เรียกว่า อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ได้โดยชัดแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย...



***************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียบ : หนังสือธรรมปฏิบัติของวัดปากน้ำ

**************************************************


---->>> อย่างไรก็ตาม นิมิตที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดของสมาธินั้น ไม่ใช่นิมิตในความหมายที่กล่าวข้างต้น แต่เป็นนิมิตที่หมายถึงภาพที่เห็นในใจ ซึ่งมีความหมายกว้างมาก กล่าวคือ เป็นภาวะจิตหนึ่งที่ไม่ตื่นตัวเต็มที่ คนที่อยู่ในภาวะจิตเช่นนี้จึงอาจจะเห็นภาพในใจซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของจิตได้ หรือไม่ก็เป็นภาพที่เกิดจากสัญญา (สัญญาในที่นี้หมายถึงภาพของสิ่งเก่าๆ ที่จิตเคยกำหนดหมายจำไว้) คือ อาจเป็นภาพที่เกิดจากสัญญาเก่าหรือภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ซึ่งโดยทั่วไปจะได้ประสบมากที่สุด ก็คือในภาวะหลับที่ไม่สนิท จะมีนิมิตปรากฏขึ้นมาที่เรียกเต็มๆ ว่า สุบินนิมิต แปลว่า ภาพในฝัน สุบินนิมิตนี้จะเกิดในลักษณะที่เรียกว่าตื่นอยู่ก็ไม่ใช่ หลับอยู่ก็ไม่เชิง หรือจะเรียกว่า ครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ได้ กล่าวคือเป็นภาวะจิตที่ไม่ถึงกับหลับ แต่เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อยู่ในภาวะตื่นเต็มที่

คนที่ฝึกสมาธิก็สามารถจะเกิดนิมิตดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน คือเกิดภาพในใจขึ้น ถ้าหากเป็นภาพนิมิตที่เป็นปกติธรรมดา ก็คือภาพที่เกิดจากสิ่งที่ตนกำหนด เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธินั้น (คือเป็นบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวข้างต้น) หรือเกิดจากการที่ตนเอาจิตไปจดจ่อกับมันกลายเป็นสัญญากำหนดหมายจำเกิดเป็นนิมิต เป็นภาพในใจ แต่ทีนี้มันไม่ใช่เท่านั้น คือมันมีการปรุงแต่งต่อ หรือว่าจิตไม่ได้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น เกิดภาพอื่นเข้ามา เช่น ภาพที่ตนไปพบไปเห็นไว้เป็นความจำเก่าๆ ผุดขึ้นมาในจิตใจ ลักษณะเช่นนี้แสดงว่า ขณะนี้จิตเริ่มจะเขว คือ จิตไม่จดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่กำหนดหรืออารมณ์กรรมฐาน แต่กลับมีภาพของสิ่งอื่นเกิดขึ้นมาเป็นนิมิต เรียกว่า --> นิมิตนอกตัวกรรมฐาน <-- จึงอาจเห็นภาพต่างๆ ภาพเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการฝึกสมาธิ

ภาพนิมิตเหล่านี้อาจเป็นภาพสวยๆ งามๆ เป็นแสงสีอะไรต่างๆ ที่ถูกใจ พอใจ ชื่นชม อาจจะเป็นสีที่สดใสสวยงาม ชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจ ติดใจ หรือเป็นภาพของสถานที่ บุคคล สิ่งที่น่ารักน่าชมก็ได้ จิตใจก็จะไปติดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เมื่อจิตใจไปติดเพลินก็คือการที่ออกจากการฝึกสมาธิแล้ว จิตเวลานั้นก็จะไม่เป็นสมาธิ จะไปหลงเพลิดเพลินอยู่กับภาพนิมิตนั้นในลักษณะนี้จึงเรียกว่า ปัญหา เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการฝึกสมาธิ

ในทางตรงข้าม ถ้าภาพที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นภาพที่สวยงาม แต่กลับเป็นภาพของสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว เพราะว่าตนเคยมีความทรงจำอะไรบางอย่างหรือจิตผูกพันกับอะไรบางอย่างที่ตนปรุงแต่ง เป็นภาพที่น่ากลัว เป็นต้นว่าเห็นเป็นงูจะมากัด เป็นภาพผีสางอะไรต่างๆ สุดแล้วแต่จะเกิดขึ้นก็ทำให้ตกใจด้วยคิดว่าเป็นความจริง ถ้าร้ายแรงก็อาจจะทำให้สติวิปลาสหรือเสียจริตไปก็ได้ นี้ก็เป็นปัญหาแก่การฝึกสมาธิ --->>> เพราะฉะนั้นจะต้องรู้เท่าทันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพนิมิตและหันกลับมากำหนดสิ่งที่เป็นอารมณ์กรรมฐานต่อไป...


 

 

อ่านทั้งหมด ที่เวบ http://khunsamatha.com/ 

หมายเลขบันทึก: 86888เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท