อนุทินล่าสุด


ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

.........วันนี้(8 พ.ค.51) จัดอบรมหลักสูตร "การวิจัยและพัฒนางานทางวิชาการ เป็นวันสุดท้าย ช่วงเช้าได้ไปพบสมาชิกประมาณ 30 นาที(8.30-9.00 น.) เพื่อซักถามสารทุกข์ สุกดิบ และทบทวนเนื้อหา

........10.00 น. ไปสัมภาษณ์ อ.จงกล ทรัพย์สมบูรณ์ เกี่ยวกับแผนงานส่งเสริมภสวะสุขภาพเด็กและเยาวชน จนถึงเที่ยง แล้วกลับเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อบรรยาย เป็นช่วงสุดท้าย(13.00-16.00 น.) ก่อนที่จะมอบวุฒิบัตรและพิธีปิดการสัมมนา

........เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบัน หลักสูตรต่าง ๆ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัย มีผู้สนใจเข้าอบรมมมากขึ้น และผู้เข้าอบรมมีวุฒิสูงขึ้น  เช่น ในรุ่นนี้ ในจำนวนผู้เข้ารับการอบรม 32 คน มีผู้จบปริญญาเอก ถึง 3 คน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

      วันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ตอนเช้า ไปทำพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร "การวิจัยและพัฒนาผลงานทางวิชาการ" ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีผู้เข้ารับการอบรม 32 คน ส่วนหนึง เป็นสมาชิกที่ติดตามการอบรมที่ผมและทีมงานจัด อย่างต่อเนื่อง

      ช่วงเที่ยงเดินทางไปโรงแรม แมกซ์ ถนนพระราม 9 เพื่อนำเสนอแนวคิดเรื่อง "การนำผลการสอบ NT ไปใช้ในการวางแผนพัฒนาสถานศึกษา  ผู้ฟัง คือศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ  ได้เสนอวิธีการที่ควรจะเป็นระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษา  พร้อมทั้งได้ฝากฝังเรื่องปัญหาเด็กจบ ป. 6 แล้วอ่านหนังสือไม่ออก(ท่านลองติดตามในบล๊อก "การพัฒนาคุณภาพโรงเรียน/สถานศึกษา >การนำผลการสอบ NT ไปสู่การพัฒนาสถานศึกษา"  และ "การแก้ปัญหาเด็กเด็กจบ ป.6 แล้ว อ่านหนังสือไม่ออก"

        ช่วงค่ำ 19.00-21.30 น. ไปบรรยายให้คณะผู้บริหาร 160 คน  ของ สพท.ตาก เขต 1 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา" วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม  ผมได้ชี้ประเด็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษา โดยดึงข้อมูลตามที่บันทึกใน บล๊อกของ G2K พร้อมทั้งนัดหมายว่า ต่อจากนี้ไป ไม่ต้องเดินทางมาฟัง ถึงจังหวัดนครปฐม หรือในกรุงเทพ ก็ได้  สามารถเข้ามาถามปัญหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน G2K ก็ได้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

    ศูนย์การเรียนรู้พันท้ายนรสิงห์

      วันที่ 3 พฤษภาคม 2551  ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้" ให้แก่คณะครู โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา จังหวัดสมุทราสาคร ตอนเย็นเมื่อจบภารกิจแล้ว ผู้อำนวยการและ อ.ประสาน ได้พาเยี่ยมชม "ศูนย์การเรียนรู้พันท้ายนรสิงห์" ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ด้านป่าชายเลน อยู่ในบริเวณโรงเรียน  ได้เห็นความพยายามของครูและชุมชนในการสร้างป่าชายเลนจากสภาพเดิมที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง รู้สึกทึ่งในความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพยายามของผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง

       หลังจากได้พบเห็นบทเรียนต่าง ๆ ที่สรุปไว้ในศูนย์การเรียนรู้พันท้ายนรสิงห์ แห่งนี้แล้ว อยากให้ สพฐ(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) กระตุ้นให้โรงเรียนต่างๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ณ ศูนย์แห่งนี้ แล้วนำไปขยายผลในเขตพื้นที่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป(โรงเรียนที่อยู่ติดริมทะเล)  นอกจากจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรู้สึกรักธรรมชาติแล้ว จะเป็นการพัฒนาประเทศไปในตัวด้วย  เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการใช้ชุมชนเป็นฐานโดยแท้จริง

        ท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร โปรดหาเวลาไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้นะครับ  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 ก.ม.  หรือถ้าออกจากกรุงเทพ ผ่านทางถนนพระราม 2  ให้เข้าทางหมู่บ้านสาริน(ก่อนถึงทางแยกเข้าสมุทรสาครประมาณ  4 ก.ม.) ไปตามป้าย "ศาลพันท้ายนรสิงห์" เมื่อเข้าไปข้างในแล้ว ถามเส้นทางเอาเองนะครับ "เส้นทางไปโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์" ครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

      การวางแผนพัฒนาองค์กร

      วันนี้ช่วงเช้า ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการการศึกษาของ มสธ. ให้แก่สำนักบริการการศึกษา  ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรใด ๆ ยังไม่ค่อยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการจัดทำแผน  อันที่จริงในยุคนี้ องค์กรสามารถจัดสัมมนาผู้เกี่ยวข้องผ่านระบบอินเตอร์เน็ตสัก 2-3 เดือน แล้วหาข้อสรุปเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทำงาน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการได้มาก อีกทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง มากกว่าการมีตัวแทนไปร่วมประชุมเพื่อจัดทำแผนเพียง 2-3 วัน

    ช่วงบ่ายไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง Balanced Scorecard ให้แก่กรมสรรพากร ตามหลักสูตรนักบริการเบื้องต้น จุดอ่อนประการหนึ่งที่เราพบค่อนข้างสม่ำเสมอ คือ สมาชิกขององค์กรมักจะจำภารกิจองค์กรได้ไม่หมด ซึ่งจะมีผลทำให้องค์กรขาดประสิทธิภาพในการบริหารภารกิจได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

        จุดอ่อนของงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

        วันนี้ ช่วงเช้า 8.30-11.00 เป็นวิทยากรวิพากษ์ผลงานวิจัยในชั้นเรียนของครูที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร "การวิจัยในชั้นเรียน ของสถาบันการศึกษาทางไกล ร่วมกับคุรุสภา จุดอ่อนที่พบมาก คือ  การกำหนดประชากร กับกลุ่มตัวอย่าง   การอธิบาย "ตัวนวัตกรรม" ไม่ชัดเจน  ครูให้ความสำคัญกับรายงานการวิจัยมากกว่าตัวนวัตกรรม แต่โดยภาพรวม ผลงานรุ่นนี้ คมกว่าผลงานรุ่นก่อน ๆ

      11.00 น. เดินทางไปโคราช บรรยายให้สถาบันวิจัยการเรียนรู้ ณ โรงแรม เฮอมิเทจ  คืนนี้ พักที่โคราช   การบรรยายในช่วงบ่าย รู้สึกว่าผู้เข้ารับการอบรมจุดนี้ ค่อนข้างตื่นตัวมากกว่า ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  

       ทุกครั้งที่ให้ครูคิดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูมักจะคิดเฉพาะกิจกรรมที่จะทำในห้องเรียน  ครูยังไม่คิดเรื่อง "ชุดกิจกรรมสำหรับผู้ปกครอง" หรือ "บทบาทของผู้ปกครองในการร่วมพัฒนาเด็ก"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

เปิดบล๊อกใหม่ ชื่อ "การวิจัยและพัฒนาสำหรับครู" 

บ่ายวันนี้(28 เม.ย.51) ไปเป็นวิทยากรวิพากษ์ผลงานวิจัยในชั้นเรียนของครูที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร "การวิจัยในชั้นเรียน" ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาทางไกล และ คุรุสภา  ในการเสนอผลงานของครู ยังมีข้อที่ควรปรับปรุงหลายประการ จึงได้แจ้งว่า ให้แต่ละคนเข้ามาติดตามความรู้ที่ G2K ก็ได้ ผมจะเปิดบล๊อกใหม่ให้อีก 1 รายการ ชื่อ "การวิจัยและพัฒนาสำหรับครู"  เพื่อให้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโอกาสต่อไป

...ช่วงเย็น ไปสอบวิทยานิพนธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง "การปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทยของนักเรียนในโรงเรียนสองภาษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน"  ผลการวิจัย พบว่า นักเรียนมีการปฏิบัติในระดับปานกลางในทุกประเด็น ซึ่ง อาจสะท้อนว่า ในอนาคต อาจเป็นปัญหาในเรื่องการสืบทอดวัฒนธรรมได้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอสำหรับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

วันนี้  ก่อนนอน ได้อ่านบล๊อกและบันทึกของอาจารย์ฟ้าใส ให้ข้อมูลว่าได้ประโยชน์จากการบรรยายเรื่อง "การกำกับติดตามและประเมินโครงการวิจัย" ซึ่งบรรยายให้แก่ วช และ สมศ.เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2551  อาจารย์ท่านนี้ได้เข้าร่วมอบรมด้วย ในหลักสูตร "การบริหารจัดการโครงการวิจัย สำหรับหัวหน้าโครงการ รุ่นที่ 9"  ก็ภูมิใจน่ะ ที่ทราบว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้กับนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้   ได้แนะนำให้ผู้เข้ารับการอบรม แวะเข้ามาเยี่ยมใน G2K เพื่อศึกษาหาความรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ที่นี่ น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน  ผลของการแนะนำบังเกิดผลน่ะ มีสมาชิกเข้ามาอย่างน้อย 1 คน แล้ว(ก็ อ.ฟ้าใส ไงล่ะ)

...สำหรับตนเองแล้ว ตั้งใจว่า จะใช้ช่องทางนี้ในการถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนสมาชิกตลอดไป น่าจะขยายผลในวงกว้างได้มากกว่าการบรรยายให้ผู้ฟังครั้งละ 40-50 คน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

บทบาทร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา

22 เมษายน 2551 ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาเรื่อง "เราจะร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 กันอย่างไร" ผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  คณะกรรมการ อ.กคศ.เขต  คณะกรรมการกำกับติดตามและนิเทศ  คณะผู้บริหารของสพท.นนทบุรี เขต 2  และ แกนนำ อบต.17 อบต. ได้ข้อสรุปที่สำคัญหลายประการ ดังที่ปรากฏใน blog การพัฒนาคุณภาพการศึกษา/สถานศึกษา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ลืมไม่ลง...ปัญหาเด็กทุจริต การสอบ O-NET 2550

....วันนี้ ขณะจัดเรียงหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ได้อ่านเจอข่าวการทุจริต O-Net ของนักเรียน 2-3 ราย ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง คณะกรรมการสอบฯ ตัดสินให้ปรับตกทุกวิชา และให้งดการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 ปี   อ่านข่าวแล้วรู้สึกใจหาย สงสาร เห็นใจเด็กและพ่อ-แม่ของเด็ก ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ 1) เด็กเหล่านี้มักจะเป็นเด็กเก่ง ที่มีความมุ่งมั่นสูง เขาคงรู้สึกว่าชีวิตอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ระหว่าง "การได้เข้าเรียนในคณะที่ต้องการ" กับ "พลาดในคณะที่ต้องการ" ดังนั้น เมื่อมีสิ่งล่อใจ เช่นเทคโนโลยีใหม่ จึงตัดสินใจนำมาใช้ในกระบวนการทุจริตทันที หรือทันทีที่มีผู้เสนอ ก็จะขานรับ...ท่านเชื่อหรือไม่ ถ้าเป็นเด็กอ่อน เด็กเกเร จะไม่มีความคิดเหล่านี้หรอก(ในการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย  2) เด็กเหล่านี้เป็นเด็กเลวโดยสันดานหรือ  คำตอบ ก็ไม่น่าจะใช่  จากการลองสุ่มสัมภาษณ์คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่ง ผศ.  รศ. หรือ ศ. หลายคน เคยจดสูตรเข้าไปในห้องสอบ ด้วยกลัวจะเสียคะแนนหากจำสูตรไม่ได้ ไม่ใช่คนที่เลวโดยสันดาน ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่า "หากวันนี้ทุจริตการเรียน  สักวันหนึ่งคงจะทุจริตระดับชาติ ก็ไม่น่าจะใช่  3) เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศเรา โดยนักการศึกษาอย่างเรา ๆ หรือนักการศึกษาชั้นนำของประเทศ "เราไม่สามารถสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง หรือ มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้" ทำให้คนจำนวนมาก หรือนักเรียนเก่งจำนวนมากยังยึดติดกับ "ชื่อของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง"(ถ้าเขาไม่ยึดติดและมีความคิดว่าเรียนที่ไหนก็ได้ ท่านเชื่อหรือไม่ เด็กเหล่านั้นจะไม่ทุจริตหรอก) ในประเด็นที่สามนี้ ต้องโทษผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ทุกคน ที่ไร้ความสามารถ

.....ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็เพราะรู้สึกเห็นใจกับมาตรการลงโทษแบบฆ่าคนทั้งชีวิตของคณะกรรมการ ถ้างดการยื่นสมัคร 3 ปี หมายความว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันขึ้นเรียนชั้นปีที่ 4 เราจึงจะมีสิทธิ์เข้าเรียนชั้นปีที่ 1....รุนแรงและเด็ดขาดเกินไปหรือไม่(แม้จะจำเป็นต้องเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ที่พอจะเข้าใจได้)...ถ้าเป็นลูก หลานของผม ผมเชื่อว่า คนเป็นพ่อ -แม่  ปู่ ย่า ตา ยาย คงจะรู้สึกตายทั้งเป็นเกือบทุกคน กับการที่ลูกหลานเราถูกลงโทษเช่นนี้(แม้เขาจะทำผิดจริง)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

แม่ ป. 4 สร้างลูก ปริญญาเอก ได้อย่างไร

...วันนี้ตั้งใจจะเขียนถึงคุณแม่ของตัวเองในเรื่อง "กระบวนการสร้างลูกถึง 7 คน"  คุณแม่ผมจบชั้น ป.4 แต่ในความรู้สึกผมแล้ว "แม่คือนักจัดการที่ยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลมหัศจรรย์" คุณแม่ให้กำเหนิดลูก 7 คน โดยใช้ระยะเวลาร่วม 21 ปี แล้วสร้างลูกทุกคนให้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้ง 7 คน สิ่งที่จะเขียนคือกระบวนการหล่อหลอมลูกทั้ง 7 คน ด้วยวิธีปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม(ในสายตาผมที่เป็นลูก) ทั้งนี้ ผมจะเขียนไว้ในบล๊อกที่ชื่อว่า "แม่ ป.4 สร้างลูกปริญญาเอก ได้อย่างไร"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ลูกเลือกอาชีพ...มากกว่าเลือกมหาวิทยาลัย

.......ปีนี้ ลูกสาวคนโตจบ ม.6 สายศิลป์-เยอรมัน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ดูคะแนน O-Net A-Net และเกรดเฉลี่ยรวม แล้ว ได้คะแนนรวม 8000 กว่า ๆ(จาก 10,000 คะแนน) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ถ้าเทียบระดับประเทศ น่าจะอยู่ที่อันดับไม่เกิน 15-18 คนแรกของประเทศ(ในสายศิลป์-เยอรมัน)

........ในการเลือกยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อน ๆ และญาติผู้ใหญ่จำนวนมากเสนอแนะให้เลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมักจะเป็นที่นิยมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(และคนทั่วไป) และถ้ายื่นสมัครก็คงจะได้ 100 % ...แต่ในที่สุด ลูกสาวเขาก็ยืนยันความคิดเดิมแบบแน่วแน่(ซึ่งคิดมาปีกว่าแล้ว)คือจะเลือก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเอกภาษารัสเซีย  ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนใจเขาได้   การตัดสินใจครั้งนี้ ถือว่าสำคัญมากในชีวิต "เขาเลือกสาขาวิชาและวิชาชีพ มากกว่ายึดติดกับค่านิยมในเรื่องมหาวิทยาลัย"....ในฐานะคนเป็นพ่อ รู้สึกภูมิใจนะ ที่เขามีแนวคิดเป็นของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง "ลูกหลุดพ้นจากการมีค่านิยมแบบผิด ๆ ของคนจำนวนมาก(บางคนจะเลือกแต่จุฬาฯ คณะอะไรก็ได้ ซึ่งน่าจะถือเป็นค่านิยมในการเลือกอาชีพที่ผิด)"

.........อยากบอกลูกว่า พ่อภูมิใจในการตัดสินใจของลูก พ่อยืนเคียงข้างลูกในการตัดสินใจครั้งนี้ ถ้าลูกมีอุดมการณ์และความเชื่อมั่นในตนเองเช่นนี้ ลูกคงจะประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนอย่างแน่นอน และ ในสายตาของพ่อ "ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าเรียนอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งของประเทศไทย"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

...ทำบุญด้วยจิตใจที่ผ่องใส V.S. การหาเสียง

.......วันนี้ ช่วงเช้า ไปทำบุญที่วัดเชิงเลน มี ส.ส.จังหวัดนนทบุรีไปร่วมทำบุญด้วย  หลวงพ่อประกาศเกียรติคุณเป็นการใหญ่และท่าน ส.ส. มีการเดินทักทายประชาชนที่มาร่วมทำบุญและเดินร่ำลาก่อนกลับ เดินทั่ววัด...มองมิติหนึ่งก็เป็นบรรยากาศที่ดี แต่อีกมิติหนึ่งรู้สึกจะไม่ค่อยเป็นธรรมชาติของการปฏิบัติในฐานะอุบาสกคนหนึ่งที่ควรจะวางตัวเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปที่ไปร่วมทำบุญที่วัด  หรือว่า นี้คือสัจธรรม "เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแล้ว ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

....วิชาชีพครู : "พัฒนาได้ประสบความสำเร็จ...คืออย่างไร"

....วันนี้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "การประเมินการปฏิบัติงาน" ให้แก่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพ  และควบคุม กำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา..............ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่มองเห็นร่วมกันก็คือ "ยังไม่มีการกำหนดภาพความสำเร็จและตัวชี้วัดความสำเร็จของวิชาชีพครูที่เป็นรูปธรรม"  ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไม่เห็นจุดร่วมหรือบทบาทร่วมที่สำคัญ ในการร่วมกันพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ .......ถึงเวลาหรือยังที่เราควรร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของวิชาชีพครูที่เป็นรูปธรรมและเป็นที่เข้าใจตรงกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

...แนวการเขียนชุดฝึกที่น่าสนใจ...

วันนี้ไปเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษา ม.เกตรศาสตร์ วิชาเอกการวิจัยและประเมินการศึกษา เป็นการวิจัยและพัฒนาชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ร้อยละ  ลักษณะของชุดฝึกมีลักษณะโดดเด่น คือ 1) นำเสนอ นิยาม ที่สะท้อน Concept ในเรื่องนั้น ๆ >2) เสนอกรณีตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนเกิด Concept จนสามารถสร้างความคิดรวบยอดในประเด็นนั้น ๆได้ หรือเกิดการสังเคราะห์ข้อสรุปได้ด้วยตนเอง  > 3) เสนอกรณีตัวอย่างเพื่อฝึกทักษะ  แล้วตามด้วยชุดฝึกทักษะการคิดคำนวณ > 4) ให้ประเมินความสามารถของตนเอง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

การกำกับติดตาม "ชุดโครงการวิจัย"

การกำกับติดตามและนิเทศโครงการวิจัยจำนวนมาก หรือชุดโครงการวิจัยที่มีผู้รับผิดชอบหลายคน อย่างเช่น โครงการการ สร้างนวัตกรรม ของ สคบส.(38 คน) จำเป็นต้องจัดทำผังความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ แล้วสะท้อนข้อมูลให้สมาชิกรับทราบความก้าวหน้าโครงการทั้งหมด เป็นระยะ ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้รับผิดชอบโครงการย่อยต่าง ๆ เร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างจริงจังมากขึ้น(เมื่อเห็นความก้าวหน้าของคนอื่น จะเกิดการตื่นตัว เร่งรัดผลงานของตนเองมากขึ้น)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

การทำหนังสั้นเพื่อสรุปภาพรวมโครงการอบรม-สัมมนา

โครงการอบรมที่มีหลายระยะ หากให้ทีมงานจัดทำหนังสั้น หรือ คลิบวีดิโอ เกี่ยวกับบรรยากาศและกระบวนการอบรมสัมมนา โดยมีการ Plot เรื่องอย่างดี จะช่วยให้ได้ข้อสรุปที่ดี สามารถนำไปฉายในการสัมมนาครั้งสุดท้ายในพิธิปิดโครงการได้  อีกทั้ง วีดิโอชุดนี้ก้จะกลายเป็นสื่อสำหรับการอบรมในรุ่นต่อ ๆไปได้เป็นอย่างดี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ปฏิบัติการก่อน..แล้วสอนทีหลัง

วันนี้เป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตรการสร้างนวัตกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา โครงการของ สคบศ. บทเรียนที่สำคัญ คือ"การให้ครูร่างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลในโครงการวิจัยของตนเอง ให้นำเสนอต่อกลุ่ม แล้ววิทยากรใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการวิพากษ์และเติมเต็มเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติในการสร้างเครื่องมือเพื่อการวิจัย"

การสอนในแนวทางนี้ น่าจะให้ผลดีมากกว่าการบรรยายหลักการหรือแนวคิดให้แก่ผู้ฟัง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท