อนุทินล่าสุด


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๖๓.Mobile ที่เพราะกังวานไปถึงโลกหน้า : ภาษาความเงียบจากการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อจิตใจกัน

ช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา ผมไปหาแม่ที่บ้านหนองบัว นครสวรรค์ และขนหนังสือกับรูปเขียนไปบ้านที่สันป่าตองเชียงใหม่ มีของชิ้นเล็กๆชิ้นหนึ่งห่อกระดาษและเขียนด้วยลายมือมอบให้ผมโดยอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งเกษียณและเคยนั่งในห้องพักอาจารย์ที่เป็นห้องพักของผมในปัจจุบัน เมื่อครั้งท่านเกษียณและผมจะต้องไปนั่งแทนท่านนั้น ภาควิชามีที่คับแคบ หัวหน้าภาคฯจึงให้ผมนั่งในห้องท่านเองก่อน แต่ผมก็ไม่ขอนั่งบนเก้าอื้ท่าน ขอนั่งที่เก้าอี้หน้าโต๊ะท่านแทน ส่วนที่ห้องพักนั้นผมก็แสดงเจตนาที่จะให้ความเคารพผู้ที่อยู่มาก่อนและให้ความสำคัญต่อความรู้สึกกัน ไม่ใช่ในฐานะคนเกษียณ ทว่า ในฐานะครูอาจารย์และคนทำงานมาตลอดชีวิตคนหนึ่ง โดยขอให้ผู้ที่ต้องดูแลสถานที่ว่าผมรอคอยได้ ไม่ต้องออกปากเร่งให้ท่านย้ายของออก ให้ท่านได้อยู่ นั่งทำงาน มีเวลาปรับจิตใจตามสบาย ตอนที่ท่านอำลาไป ท่านก็ให้ของที่ระลึกแก่ผม ผมแกะดูจึงเพิ่งทราบว่าเป็น Mobile ดินเผารูปหมูหลายตัว เมื่อแขวนโดนลมก็ส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งกังวาน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

@67288
๖๒.ขอบคุณครับคุณแสงแห่งความดีครับ
ผมเลยได้ทดลองทำอ้างอิงอนุทินไปด้วยเลยละครับ
จะทดสอบดูว่าจะออกมาได้หรือเปล่า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๖๑. ความรักความผูกพันและการติดยึด สร้างความทุกข์ใจ บั่นทอนสุขภาพและกำลังปัญญา

สองสามวันที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนที่ผมเคยทำงาน ได้จัดเวทีสาธิตการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติตนให้อยู่ดีมีความสุขของชมรมผู้สูงอายุพุทธมณฑลและเครือข่ายชุมชน กับการนั่งเสวนากันให้เป็นกิจกรรมวิชาการ ๒๘ ปีของการก่อตั้ง เชิญให้ผมได้ไปร่วมและเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา มีผู้เข้าร่วม ๖๐-๗๐ คน เป็นที่ประทับใจและได้แนวสร้างความร่วมมือกันในอนาคตหลายเรื่อง เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมผมก็หาโอกาสนั่งรำลึกถึง ก็ได้วิธีคิด ความประทับใจ และเกิดทรรศนะที่ต่างไปจากเมื่อก่อนพอสมควร ผมรู้สึกปลอดโปร่ง สบาย และการนำเสวนาในระยะเวลาอันจำกัดให้เกิดสิ่งดีแก่ทุกคนได้พอสมควรนั้น ผมพลอยได้ความยินดีและมีความสุขเหมือนกำลังได้ให้บางสิ่งจากน้ำใจตนเองแก่เพื่อนๆน้องๆที่สถาบัน รวมทั้งเหมือนกำลังแสดงกตเวทิตาต่อองค์กร ต่างกับเมื่อตอนที่ผมทำงานทั้งเป็นเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และทีมผู้บริหารของสถาบัน ผมรู้สึกเครียด กดดันกับงาน หงุดหงิดใจ และรู้สึกทำไม่ได้อย่างใจอยู่เป็นประจำ ทั้งที่น่าจะได้ทำสิ่งต่างๆมากกว่าครั้งนี้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๖๐. นักการศึกษาแนวบูรณาการของมหิดล

พุธ๑๙กรกฎา.๕๓ เป็นวันที่ได้สิ่งดีมากอีกวันหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ผมขอเชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย มาสอนให้นักศึกษาในชั่วโมงเรียนวิชา Education and Development ของผมและผมขอนั่งเป็นนักเรียนไปด้วย อาจารย์ชวนนักศึกษาอภิปรายเรื่อง Interconnectness และ Interaction ของระบบการศึกษากับระบบต่างๆของสังคมทั้งในท้องถิ่นและของโลก ตอนบ่าย ก็ให้นึกอยากเข้าไปดูเทปของมหาวิทยาลัยเรื่อง Transformative Learning บรรยายให้คนมหิดลโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองอธิการบดี ซึ่งบันทึกเก็บไว้และออนไลน์เป็นIntranetให้เข้าชมได้ทุกเวลา อีกทั้งในเทปนี้ก็ได้ฟังรองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี อภิปรายแลกเปลี่ยนทรรศนะเรื่องTransformative Learning และ Contemplative Learning  ทั้งหมดนี้ทำให้ได้เห็นด้านความเป็นนักการศึกษาที่นอกเหนือจากความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ | ความเป็นครูของคนรุ่นใหม่ | และความเป็นยอดนักบริหาร ของแต่ละท่าน ให้กำลังความคิดและเห็นพลังปัญญาอย่างยิ่ง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๙.การแสดงทรรศนะวิพากษ์ ระวังจับประเด็นผิดและไม่เข้าใจวาระที่มีนัยสำคัญภายใต้เรื่องที่จะวิพากษ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้นั่งสนทนากับกลุ่มวิชาการต่างสาขา ที่พอจะรวมกลุ่มปรึกษาหารือและระดมความเป็นพหุวิทยาการกลุ่มเล็กๆมาคิดเรื่องต่างๆด้วยกันที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อพัฒนาวิชาการของประเทศที่เชื่อว่าเราทำได้ อาจารย์ท่านหนึ่งได้ถือโอกาสสะท้อนทรรศนะต่อการวิจัยและบทบาทของงานวิชาการที่ลงไปเชื่อมต่อกับความเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับชุมชน รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหากระจัดกระจายในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆของชุมชนว่าเกรงว่าจะไม่ใช่บทบาทของการวิจัย แต่เป็นงานพัฒนาชุมชนและการลงไปทำกิจกรรมพัฒนา มากกว่าจะเป็นการวิจัยที่มีความลึกซึ้ง ผมคิดในใจว่าทรรศนะวิพากษ์อย่างนี้ ละเลยการเรียนรู้ความเคลื่อนไหวทางวิชาการลักษณะนี้ว่ามองปัญหาและมีแนวพิจาณาประเด็นสังคมกับงานวิชาการอย่างไร จุดยืนที่ทำให้ต่างไปจากความเชื่อของตนคืออะไร เมื่อละเลยเสียแล้วก็ทำให้มุ่งเพ่งไปที่เทคนิควิจัยที่ตนคุ้นเคยให้เป็นศูนย์กลางการแสดงทรรศนะ ซึ่งมีข้อจำกัดและหลุดจากประเด็นสำคัญ.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๘. ความบริสุทธิ์และสุจริตใจต่อการงานและการดำเนินชีวิต

ผมมักได้คุยกับเพื่อนร่วมงาน รุ่นน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา กระทั่งเป็นลูกศิษย์ลูกหาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แล้วก็มักจะมีวัฒนธรรมปฏิบัติต่อกันเหมือนอย่างที่ผมมักได้รับสิ่งดีๆจากเพื่อนและผู้อื่นอย่างหนึ่งคือความเป็นสภาพแวดล้อม คิดและทำสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจกันให้ได้ความคิดริเริ่มสิ่งดี ได้อยู่กับสภาพแวดล้อมความเป็นเพื่อนและญาติมิตร มีความอิสระและได้เป็นตัวของตัวเอง อยากคิด ทำ หาประสบการณ์ชีวิต และอยากปรึกษาหารือสิ่งใด ก็ไม่ต้องระวังตัวเยี่ยงคนอื่นไกล เมื่อคืนผมก็ให้กำลังใจแก่น้องเพื่อนร่วมงานเหมือนกับอบรมตนเองไปอยู่เรื่อยๆด้วยว่า ในการทำงานและการใช้ชีวิตกับผู้อื่นในฐานะต่างๆนั้น สิ่งที่ต้องหมั่นดูแลคือการดูแลตนเองจากข้างใน ให้เรามีความสุจริต ซื่อตรง มีคุณธรรม และบริสุทธิ์ใจต่อผู้คนและสิ่งต่างๆอยู่เสมอ ความผิดพลาดและทำได้ยังไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น อย่าให้มาจากความมีเจตนาร้ายและไม่บริสุทธิ์ใจ แต่ให้เกิดจากความโง่เขลาและฝึกอบรมตนเองได้ไม่ดีพอ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงและยังคงพัฒนาตนเองได้อีก



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๗.การศึกษาโดยมีชีวิตและพัฒนาการปฏิบัติเป็นศูนย์กลาง

"การศึกษา คือ การเรียนรู้เพื่อทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง"
"การศึกษา คือ การทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ดี ให้ถูกต้อง"

                                                 การปาฐกถาธรรมโดย พระพรหมคุณาภรณ์
                                                 จากรายการวิทยุเช้าวันอังคาร ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๖. เดินทอดหุ่ย

หากไม่มีงานวันหยุด ไม่ได้มีกิจกรรมกับญาติมิตร พี่น้อง เพื่อนฝูง และไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัด ได้พักอยู่ในที่พักบนคอนโดราคาถูกในชานเมืองกรุงเทพมหานคร ผมก็มักจัดอาหารมื้อเช้ามื้อพิเศษสำหรับตนเองเพื่อมีความสุขแบบไม่ต้องรีบเร่งในยามเช้าวันหยุด ความพิเศษก็คือข้าวแกงหนึ่งชุด หนังสือพิมพ์กรอบเช้า เลือกฉบับที่มีบทวิเคราะห์สังคมรายสัปดาห์และสกู๊ปสังคม การศึกษา ต่างประเทศ ศิลปะ หนังสือ และวรรณกรรม ๑-๒ ฉบับ โดยมากก็จะเป็นมติชน คมชัดลึก หากไม่ทันคนอื่นเขาก็จะเป็นเดลินิวส์และไทยรัฐ เสร็จแล้วก็เปิดวิทยุฟังข่าว การแสดงธรรมในวันหยุด พร้อมกับกินข้าว ดื่มน้ำเย็นๆ ปิดท้ายด้วยนั่งอ่านหนังสือพิมพ์และฟังวิทยุ ก่อนที่จะหางานหรือกิจกรรมชีวิตอย่างอื่นทำ ไม่ก็นอนให้หลุดโลกไปเลย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๕.มิติสังคมและชนชั้นบนยางข้าวและปลาเค็มทอด

ในวันหยุด ทำให้ผมเห็นความหลากหลายของข้าวและกับข้าวที่ร้านข้าวแกง เห็นปลาเค็มทอด คอไก่ทอด คนขายบอกว่าปลาทอด คอไก่ทอด และการแบ่งข้าวเป็น ๓ ขนาดถุงตั้งแต่ ๓ บาท ๕ บาท และ ๗ บาท จะมีแต่ในช่วงวันหยุดเท่านั้น เพราะของส่วนใหญ่จะขายในวันธรรมดาไม่ได้ วันธรรมดาคนกินข้าวร้านข้าวแกงมักเป็นกลุ่มคนทำงานรับจ้างและใช้แรงงานรายวัน ไม่สามารถซื้อปลาเค็มทอดตัวละ ๒๐ บาทกิน จึงจะทำขายในวันธรรมดาไม่ได้ ข้าวมียางไม่ร่วนก็จะขายได้แต่จำเพาะในวันหยุด เพราะวันหยุดข้าราชการและคนมีเงินเดือนจึงจะมาซื้อกิน ข้าวมียางจะเป็นข้าวขาว เมล็ดสวย หอม เป็นข้าวที่คนยากจนไม่ค่อยได้กินเพราะซื้อได้ในปริมาณน้อย คนใช้แรงงานจะซื้อได้แต่คอไก่ทอดไปกินกับข้าวที่หุงเองจากข้าวขาวเก่าๆเม็ดหักๆร่วนๆและไม่หอม ไม่มีกำลังซื้อปลาเค็มทอดและข้าวขาวที่มียางข้าว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๔. มีความสุขที่ได้เห็นศิลปะแห่งความสุขในชีวิต

ผมเดินไปซื้อข้าวกินที่ร้านขายข้าวแกงในหมู่บ้าน ระหว่างยืนรอ ก็เหลือบไปเห็นคุณยายท่านหนึ่งอายุน่าจะเกิน ๘๐ ปีนั่งดูดโอวัลตินเย็นในถุงบนม้านั่งหินขัดข้างร้านขายกาแฟติดกับร้านขายข้าวแกง คุณยายดูแก่ชรา ผอมบาง แต่ดูสดใสและงามตามวัย คุณยายนั่งอยู่คนเดียวและนั่งประคองถุงโอวัลตินด้วยสองมือ ค่อยๆยกขึ้นมาดูดเป็นระยะๆในลักษณะที่เรียกได้ว่า 'ดูดแบบละเลียดและกำซาบลิ้น' พลางก็ทอดอารมณ์สบายๆ รอบข้างไม่วุ่นวายจอแจ ดูสภาพภายนอกแล้ว คุณยายน่าจะอยู่ในฐานะที่สามารถนั่งรับประทานอาหารในภัตตาคาร ด้วยบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยลูกหลานมีฐานะและอำนวยความสะดวกด้วยบริกรในทุกอริยาบทที่คุณยายต้องการ ดังนั้น สิ่งที่คุณยายกำลังประคองด้วยสองมือและดื่มกินนั้นจึงคงจะไม่ใช่โอวัลตินเย็นในถุงธรรมดาๆเท่านั้น ทว่า เป็นความหมาย ความทรงจำ การทำประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมายให้แก่ตนเอง เห็นแล้วมีความเป็นศิลปะในความสามารถมีความสุข เหมือนได้เห็นประติมากรรมชีวิตแห่งความเรียบง่าย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๓. แนะแนวหลานเพื่อวางแผนชีวิตการศึกษา ๒๐ ปี

ผมมีหลานลูกพี่ชายและพี่สะไภ้เป็นเด็กหญิงอายุแค่ ๑๐ กว่าขวบแต่ความสามารถศิลปะนั้นรอบด้าน ทักษะการเรียนรู้ วุฒิภาวะและการแสดงออก เกินความเป็นเด็กมาก สำเร็จในการเรียนทุกด้านอย่างดี นอกหลักสูตรก็รักการอ่านและการเขียนอย่างกับผู้ใหญ่ ทางด้านศิลปะนั้นได้รับรางวัลระดับชาติจากหลายเวทีอยู่เสมอ ล่าสุดก็ได้รางวัลยอดเยี่ยมจาก ปตท.ซึ่งจะได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯอีกครั้งในหลายครั้งของเธอ แม่พ่อและป้าซึ่งทำงานอยู่อเมริกาอยากเอาเธอไปเรียนและให้เติบโตในต่างประเทศ มาหารือผมเพราะผมกับหลานมักคุยกันเรื่องรูปเขียนและหนังสือ ผมบอกว่าหลานคนนี้เป็นผู้ใหญ่และได้ประสบการณ์ชีวิตกว้างขวางมากแล้ว จะไปตอนโตหรือตอนเด็กก็มั่นใจได้ว่าเธอจะเป็นนักเรียนและพัฒนาตนเองตลอดชีวิตแน่นอน หากไปตั้งแต่ยังเด็ก ผมบอกให้รักษาความสนใจเรียนไปทางศิลปะและสะสมความเป็นนักพัฒนาการดำเนินงานระหว่างประเทศในมิติใหม่ๆทางศิลปะ ทำให้คนร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมมากยิ่งๆขึ้นโดยวิธีทางศิลปะ อย่ามุ่งเป็นเลิศเพื่อตัวเองเลย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๒. ผลงานและบทเรียนชีวิตของจิตรกรไทย : ถวัลย์ ดัชนี โดย นักเขียนปากกาทอง ไมตรี ลิมปิชาติ

เย็นเมื่อวาน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผมถือโอกาสแวะร้านหนังสือเคล็ดไทยในลานวัฒนธรรมมหิดล หลังมหาวิทยาลัย ได้หนังสือติดมือ ๒ เล่ม ๑ ในนั้นเป็นหนังสือชีวิตและผลงานนักจิตรกรรมสากล มนุษย์ต่างดาว : ถวัลย์ ดัชนี โดย ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนแถวหน้าคนหนึ่งของประเทศ ถวัลย์ ดัชนี เป็นจิตรกรระดับโลกที่นำเสนอความเป็นสากลจากวิธีคิดของท้องถิ่น มีสตูดิโอในหลายประเทศและแสดงผลงานทั่วโลก ในประเทศไทยนั้นเขาทำบ้านที่เชียงราย เป็นทั้งการจัดวางทางศิลปะและเป็นแหล่งสะสมผลงานกว่า ๓๐ หลังโดยมุ่งสร้างให้เป็นมรดกทางศิลปะทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ชีวิตและผลงานของเขาเป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ ไมตรี ลิมปิชาติ ผู้นำมาเขียนถ่ายทอดก็เป็นน้อยคนที่สามารถเข้าถึงชีวิตคนทำงานศิลปะ จึงเป็นงานเขียนทางศิลปะอีกแนวหนึ่งที่หาอ่านยากด้วยเช่นกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๑. ความรู้ การเรียนรู้ และแรงกดดันเชิงระบบ กับความรุนแรง

เหตุการณ์นักเรียนก่อเหตุเผาห้องสมุดโรงเรียนในประเทศไทย เป็นอุบัติการณ์คล้ายกับอีกหลายประเทศที่มีความรุนแรงมากกว่านี้โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในอเมริกาและยุโรป เด็กและเยาวชนใช้อาวุธร้ายแรงก่อเหตุฆาตกรรมหมู่เพื่อนเด็กนักเรียนและครู ซึ่งมองอีกแง่หนึ่งได้ว่าพัฒนาการความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนนั้น เกิดมากขึ้นในหลายประเทศของโลก ขณะเดียวกัน ก็สามารถเกิดจากเงื่อนไขวิธีการทางความรู้และกระบวนการศึกษาเรียนรู้ได้ด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๕๐. การศึกษาเรียนรู้และวัฒนธรรมของพลเมือง

การเคลื่อนไหวการเมืองของสังคมไทย ๓-๔ ปีที่ผ่านมากระทั่งพลิกผันเป็นวิกฤติที่สั่นสะเทือนทั้งต่อสังคมไทยและทั่วโลก การเมืองภาคประชาชนและสื่อมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมากมายมหาศาล แต่เป็นความตื่นตัวและแสดงความมีส่วนร่วมที่เต็มไปด้วยอารมณ์และแรงปะทะ ถูกโหมแรงปะทุทางอารมณ์ด้วยการปลุกปั่น ขาดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ในอนาคต หากไม่เพิ่มลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนระบบโครงสร้างทางวัฒนธรรมและมิติสติปัญญาที่บูรณาการกับวิถีชีวิต สังคมซึ่งเข้าถึงสื่อรอบด้านจะตื่นตัวได้มากกว่าเดิมและเป็นพลังที่โน้มไปสู่ความรุนแรงได้มากกว่าเดิมหลายเท่า ต้องมุ่งพัฒนาความสามารถเผชิญแรงกดดันและจัดการส่วนรวมด้วยวิถีการใช้สติปัญญาและสร้างสรรค์ พัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองและชุมชน พัฒนาสื่อ ศิลปะ การศึกษา การศึกษาอบรมทางจิตใจและพัฒนา Soft Science - Soft culture การสร้างความรู้ การพัฒนาพื้นที่ทางปัญญาและสังคมแห่งการเรียนรู้ที่บูรณาการมิติชีวิตและการทำมาหากินของชุมชน สังคมแห่งการอ่าน เขียน พูด และแสดงความสร้างสรรค์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๙.พระเสื้อเมือง ผีเสื้อเมือง ยังเข้มแข็งมั่นคงและสุขภาพดีมาก

ที่บ้านเชียงใหม่ ผมต้องเตรียมข้อมูลพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิจัยของโครงการวิจัยโครงการหนึ่ง แต่ต้องการความคิดดีๆสักหน่อย เลยใช้วิธีแบบหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช คือ นอนหัวค่ำ ๓ ทุ่มและตื่นขึ้นมาทำงานตี ๓ พอกำหนดใจไว้ก็นอนและตื่นขึ้นมาได้อย่างที่ตั้งใจ รู้สึกดี สดชื่น ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งอยู่บ้านนอกวัยเด็ก จึงอยากฟังว่าตี ๓ นี้ไก่จะต้องขันครั้งแรก ตี ๔ จะขันครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ จะขันตอนตี ๕ ซึ่งรอบนี้จะขันต่อเนื่องจนถึงเช้า ปรากฏว่าไก่ยังคงขันอย่างเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนขันครั้งที่ ๒ ก็มีนกกวัก นกกระปูด นกไก่นา ร้องนำมาก่อน ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนก็จะมีเสียงชะนี นกเค้าแมว และพระจะลั่นระฆังทำวัตรเช้าด้วย เมื่อถึงตี ๕ ก็จะมีเสียงฝูงนกเอี้ยงร้องเซ็งแซ่ก่อนออกหากิน มีเสียงวัวควาย เริ่มได้กลิ่นควันไฟและหอมไอหุงข้าวไปจนถึงเช้า วงจรของธรรมชาติยังคงเที่ยงตรงผสมผสานมาก บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าระบบธรรมชาติที่ดูแลรักษาสรรพสิ่งนั้นยังคงดีอยู่มาก สุขภาพของสังคมไทยยังดีมาก



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๘. วิทยาศาสตร์ผสมผสานกับจิตใจทำให้รักษาฟันได้ ๑ ซี่

ฟันเขี้ยวที่กรามล่างขวาของผมโยกและปวดเป็นแรมปี แต่เดิมก็โยกเฉยๆก็คิดว่าถึงวัยที่จะเจอกับปัญหาแบบ Degeneration Illness Health เลยแก้ไขไปตามสภาพ ไม่แปลกใจและไม่กังวลใจนัก แต่นานเข้าก็โยกมากขึ้นและเริ่มปวดเจ็บ เพื่อป้องกันความทรมานจากการปวดผมเลยไปหาหมอที่บ้านเชียงใหม่ แต่หมอก็แนะนำให้รักษาตนเองไปก่อน หมอให้เวลาพูดแนะนำกระทั่งผมเห็นด้วย เลยถอนไม่สำเร็จ ที่สุดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ปวดจนเคี้ยวอาหารไม่ได้ เลยไปหาหมอที่บ้านเกิดอำเภอหนองบัว นครสวรรค์และคิดจะถอนอีก หมอดูแล้วก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคปริทนต์ รักษาไว้ดีกว่า เลยก็ถอนไม่สำเร็จอีก แต่เนื่องจากปวดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงดึงเอากานพลูซึ่งอาผมเป็นแม่ชีเคยได้เสาะหามาฝากตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยความเมตตา นำมารักษาอาการอย่างที่อาแนะนำไว้คือเหน็บไว้ที่ซอกฟันเวลานอน ผมนอนทำอย่างนี้ครั้งละ ๒ ชั่วโมงอยู่ ๓ วัน อาการปวดลดลงมากเพราะกานพลูทำให้ชา และปรากฏว่าวันที่ ๓ ก็มีบางอย่างหลุดออกมาเหมือนหินปูน อาการปวดหายไปตามลำดับและฟันกลับมาดีอีก เลยไม่ต้องถอนแล้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๗. อาลัยวานิช จรุงกิจอนันต์

มีน้องนักอ่านส่งข่าวให้ทราบว่า วานิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเช้านี้ด้วยโรคลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว วานิชเป็นคนศิลปะ จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่มาประสบความสำเร็จด้วยการเขียนหนังสือ ทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว คอลัมน์ประจำ บทกวี ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมีมากมาย เช่น แม่เบี้ย ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมเรื่องยาวที่ประสบความสำเร็จและต่อมาก็ทำเป็นภาพยนต์,คนซอยเดียวกัน ผมและเพื่อนๆกลุ่มเพาะช่างชอบอ่านและชอบคุยถึงวานิช จรุงกิจอนันต์ราวกับเป็นพี่และเพื่อนสนิท งานทุกอย่างของวานิชผมชอบอ่าน รวมทั้งการนั่งคุยสนทนา ผมก็ชอบฟัง ตัวหนังสือและทรรศนะของเขามีปฏิภาณ ฉลาดแบบเรียบง่าย แหลมคม ซื่อตรง เมื่อตอนที่ในวงการสื่อเกิดความแตกแยกกันทั้งด้านความคิดและวิถีการทำงาน กระทั่งวานิชเหมือนถูกลงโทษทางสังคมนั้น ผมกับเพื่อนๆที่ชอบผลงานของเขาคุยกันว่ารู้สึกเสียใจ เสียดายคน ไม่เชื่อ และเจ็บปวดไปด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๖. การหยุดปัญหาและวางท่าทีเผชิญปัญหาให้สร้างสรรค์

ในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งระบบสังคมมักมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามากกว่าประเทศที่ก้าวหน้าและระบบต่างๆมีภาวะอยู่ตัวมากแล้วนั้น องค์กรที่ทำหน้าที่บริการสาธารณะอย่างไม่มุ่งกำไรซึ่งก็จะสะท้อนภาวะดังกล่าวอยู่ในความเป็นองค์กรเช่นกัน มักจะขาดความเป็นตัวของตัวเอง ปัญหาในระบบจำนวนมากจะไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง ทว่า อาจเกิดจากวิธีคิด วิถีความรู้ โลกทัศน์ส่วนตน และการไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถเผชิญปัญหาด้วยตนเองแทนความเป็นองค์กรของสมาชิกทุกคน ทำให้คนทำงาน อาจทำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาให้เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหา ก็ทำตนเองให้เป็นอีกหนึ่งตัวปัญหา รวมทั้งสิ่งที่ควรจะเป็นสิ่งดีก็มองเชิงลบและทำให้เป็นปัญหาขององค์กรขึ้นมาได้อีก สถานการณ์ดังกล่าวนี้ การตั้งหลักที่ตนเองและแปรสถานการณ์ปัญหาให้มีทางออกจะเป็นหนทางทำให้เกิดการพิจารณาปัญหาและคลี่คลายด้วยตนเองได้เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีปัญหา ไม่เป็นตัวบวกปัญหา ไม่ขยายผลปัญหา และร่วมเป็นผู้หนึ่งที่ยุติปัญหาด้วยตัวเรา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๕. ความงดงามและการเติบโตภายในของเด็ก

น้องสาวคนเล็กของผมมีลูกชายคนหนึ่ง พ่อของเขาเป็นนายตำรวจ ตอนนี้อายุย่าง ๙ ขวบ เมื่อยังเด็กนั้นเขาไม่เปิดตัวเลย คุ้นเคยและเป็นมิตรแต่กับพ่อแม่ เล่นเกมส์และดูการ์ตูนจากคอมพิวเตอร์จนมีทักษะคอมพิวเตอร์มากแต่ขาดทักษะปฏิสัมพันธ์กับคน มาเมื่อปีที่ผ่านมาก็เริ่มพูดและร่าเริงทั้งกับคนรอบข้างในทุกกิจกรรมรอบตัวราวกับเป็นอีกคนหนึ่ง ใบหน้ายิ้มรื่นบอกถึงความเป็นเด็กพื้นจิตใจดีอยู่ตลอดเวลา เมื่อช่วงสงกรานต์ ผมต้องเดินทางโดยรถไฟจากบ้านเกิดที่หนองบัว นครสวรรค์ไปเชียงใหม่ตอน ๔ ทุ่มกว่า น้องสาวและแม่ผม รวมทั้งหลาน พากันไปส่งที่สถานีรถไฟ แต่ส่งแล้วก็ไม่กลับทันทีเพราะหลานอยากรอดูรถไฟ รอไปจนถึง ๔ ทุ่มกว่ารถก็ยังไม่มา หลานทำท่าง่วงนอนและกวนอยากกลับ แต่ก็ยังอยากเห็นรถไฟใกล้ๆ กระทั่งช้าไปกว่า ๔๐ นาทีรถไฟก็มา เมื่อเห็นไฟจากหัวรถจักร หลานก็ดีใจและวิ่งโผไปกอดแม่ของเขาพูดระร่ำระลักว่า "ขอบคุณครับแม่ ขอบคุณครับแม่" ผมทึ่งที่หลานรู้จักให้ความสำคัญกับการได้ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งบ่งบอกความเป็นคนรักการเรียนรู้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๔.กราบคารวะท่านอาจารย์สุจินต์ นรเดชานนท์

เพื่อนฝูงที่เคยร่วมงานกันได้บอกแก่ผมว่าท่านอาจารย์สุจินต์ นรเดชานนท์ ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัยเกือบ ๙๐ ปี ผมได้มีโอกาสเป็นผู้ร่วมงานกับอาจารย์เกือบ ๒๐ ปีนับแต่อาจารย์เกษียณจากเป็นผู้อำนวยการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต ๗ ราชบุรี แล้วมาเป็นทีมผู้บริหารและที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลที่ทำงานเดิมของผม อาจารย์เป็นครูอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศและมีคุณูปการต่อสังคมไทยมากมาย เมื่อมาทำงานที่สถาบันก็เป็นผู้วางระบบพื้นฐานการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกการจัดประชุมสัมมนา อบรม และงานบริการวิชาการของสถาบันซึ่งรองรับกลุ่มคนทั้งชาวไทยและนานาชาติทั่วโลกอย่างดีที่สุด ผมผูกพันกับอาจารย์ทั้งการร่วมทุกข์สุขในการทำงาน ทั้งการให้ความเมตตาทั้งต่อผมและภรรยา คอยตักเตือนให้สติทั้งเรื่องการทำงานและการดำเนินชีวิต และเป็นที่ปรึกษาราวกับเป็นญาติผู้ใหญ่ที่สนิทสนมที่สุดท่านหนึ่ง 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๓.กราบคารวะอาจารย์อวบ สาณะเสน 

อาจารย์ผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นพี่เก่าแก่รุ่น ๕ จากโรงเรียนเพาะช่าง ได้บอกข่าวผมว่าท่านอาจารย์อวบ สาณะเสนถึงแก่กรรมแล้ว ญาติมิตรตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อเป็นนักเรียนศิลปะ ผมกับเพื่อนๆที่ชอบแนวศิลปะและศรัทธาต่อวิถีดำเนินชีวิตของท่าน เคยขอไปนั่งดูท่านทำงานที่บ้านกรุงเทพฯ ๒-๓ ครั้ง นึกอยากไปก็ไปตามประสาเด็ก ท่านก็เปิดบ้านต้อนรับพวกผม แล้วก็เลี้ยงข้าว สีไวโอลินให้ฟัง นั่งคุยความคิด พาดูงาน และระหว่างทำงาน หากพวกผมขอนั่งดูด้วยท่านก็ไม่ว่าอะไร ซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีพิเศษ แต่ท่านให้ความเมตตาอย่างนี้กับทุกคน อาจารย์เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แนวที่เป็นบุคลิกของอาจารย์คือการเขียนสีสันบางเบา เว้นขอบ และเล่นแสงเงาให้เกิดเส้น ไม่ใช้สีขาว แต่ใช้การเว้นว่างและเช็ดสีออก Subject ที่เห็นแล้วจะนึกถึงท่านคือ ลายชามสังคโลก ชามเบญจรงค์ ดอกกุหลาบ ดอกไม้ และไวโอลิน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๒. โลกเดียวกัน...แต่ใยโลกเราไม่เหมือนกัน

  • ตื่นขึ้นตีห้าฟังข่าววิทยุแผ่นดินไหวที่เฮติอย่างรุนแรงเมื่อเย็นวาน พลเมืองเสียชีวิตเบื้องต้นหลายหมื่นคน ทำเนียบประธานาธิบดีพังทลาย ทั่วเมืองหลวงล่มสลายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ขาดอาหาร ยา และสาธารณูปโภค ไม่มีคนพอแม้แต่จะขนย้ายศพ
  • เยาวชนและคนเฮติอายุ ๑๕-๔๙ ปีติดเอดส์สูง ๒ เท่าของกลุ่มแคริบเบียนด้วยกันและกว่า ๑.๕ เท่าของไทย เด็กขาดอาหารร้อยละ ๔๖ สูงกว่าไทยกว่า ๒ เท่า
  • ที่ไทยเยาวชนช่างกล ๒ แห่งยกพวกตีกัน รุมทำร้ายช่างโทรศัพท์ในห้างเจ็บสาหัส สำนักงานตำรวจฯใช้ตำรวจเกือบ ๓๐๐ นายเข้าตรวจค้นและคุมสถานการณ์ไว้ 'เป็นโรคความรุนแรงและความสูญเสียที่อยู่ในระบบสังคม'
  • มีผู้โฆษณาและอ้างเป็นกุมารแพทย์ รพ.ศูนย์มีชื่อในเชียงใหม่ ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อให้คุณแม่มือใหม่ทั่วประเทศปรึกษาสุขภาพและการเลี้ยงลูก แล้วให้สั่งนมผงกับผ้าอ้อม โอนเงินให้แต่กลายเป็นการลวง มีผู้เสียหายกว่า ๒๕๐ คน 'โรคและภาวะทุพโภชนาการเกิดจากคนและกิจกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม'


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๑. ความแตกต่างของ'การสื่อสารพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา' กับ 'การสร้างปัญหาจากวิธีสื่อสาร'

ในองค์กรการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปจนถึงในชุมชนระดับต่างๆและในภาคสาธารณะ จำเป็นต้องมีการสื่อสารและสร้างการปฏิสัมพันธ์เพื่อทำความตกลง สร้างความเข้าใจ และร่วมกันสร้างสังคมให้ชุมชนและสังคมสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านต่างๆได้ ดังนั้น การสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเป็นเหมือนกิจกรรมพื้นฐานของมวลมนุษย์ แต่ก็เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาด้วยเช่นกัน โลกในยุคใหม่จึงต้องพัฒนาศักยภาพในการสื่อสาร ถ่ายทอด นำเสนอ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีความหมาย รวมทั้งคำนึงถึงปัญหาของการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ควรมุ่งสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผู้มุ่งร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน หากสื่อสารเหมือนกับสื่อกับผู้อื่นแบบทั่วไปหรือสื่อผ่านกลไกสาธารณะแทนการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเจาะจง ก็จะเป็นตัวสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ซึ่งจะแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆเพราะเกิดปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๔๐. อย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ

ในหมู่บ้านที่ผมพักอาศัย ตั้งอยู่เกือบชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ด้านหน้ายังเป็นที่ว่างซึ่งแต่เดิมตามผังแม่บทของหมู่บ้านจะทำเป็นสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น ต่อมาก็เป็นที่รกร้าง ต้นธูปฤาษีขึ้นรกเต็มไปหมด กรรมการหมู่บ้านได้ช่วยกันหารถมาไถและปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ หน้าแล้งจึงสามารถทำเป็นสนามฟุตบอลให้เด็กและวัยรุ่นเล่นบอลกับตะกร้อ หน้าฝนและหน้าน้ำท่วมมีน้ำขัง ก็ปล่อยปลา แต่มีบัวหลวงขึ้นมาด้วยเต็มไปหมด ต่อมาก็แซมด้วยบัวสาย เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา แม่ค้าในหมู่บ้านกล่าวว่า "มีบัวหลวงขึ้นเยอะๆนั้นดี ทำให้วัชรพืชกับต้นธูปฤาษีไม่ขึ้น" ซึ่งดูแล้วก็เห็นว่าจริงอย่างข้อสังเกตของแม่ค้า...เป็นวิธีคิดที่เห็นความเชื่อมโยงและมองเห็นกระบวนการเชิงระบบที่มีการเยียวยาและแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุผลซึ่งกันและกันขององค์ประกอบหลายอย่างที่อยู่ด้วยกันในระบบนิเวศน์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๙. พระ ต่างกับวัวควาย : วิธีคิดทำปัญหาให้เป็นการสร้างสัมมาทรรศนะ

พระมหาสมควร วัดสมอทอด ได้พูดสนทนาให้วิธีคิดแก่ญาติโยมระหว่างการทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ๗ รูป ของแม่ ที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวบ้านมีกิจกรรมทำบุญและพระต่างมีกิจนิมนต์อย่างหนาแน่น ซึ่งจำเป็นต้องสนองศรัทธาเพื่อทำศรัทธาของชาวบ้านให้สำเร็จดังตั้งใจ ทำให้พระไปได้ไม่ทั่ว และในวันหนึ่งๆก็ต้องไปหลายแห่งโดยเฉพาะท่านเป็นพระอาวุโส เป็นพระมหา เทศน์ดี มีโวหาร และปาฐกถาธรรมแยบคายลึกซึ้ง ท่านเสร็จกิจนิมนต์จากงานหนึ่ง ก็ต้องมาอีกงานหนึ่ง แต่แทนการกล่าวว่างานเยอะ ต้องเดินทางและทำให้บางแห่งต้องรอช้า ท่านก็พูดว่า "พระไม่เหมือนวัวควาย วัวควายนั้นเมื่อแก่ตัวลงเขาก็มักปลดระวาง หยุดใช้งาน แต่พระนั้น ยิ่งแก่คนยิ่งศรัทธาและอยากใช้ จะนิมนต์ก็ต้องเจาะจงว่าต้องเป็นองค์นี้"เป็นวิธียกสถานการณ์เชิงอุปมาให้เป็นเงื่อนไขการคิดและได้ทรรศนะเข้าใจโลกกว้างที่แยบคาย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท