Bee Boy
นาย สิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ

ภูมิปัญญาคนตำบลห้วยเขย่ง(ตอนที่ 1 )


ภูมิปัญญาไทยกับความรู้ทางชีววิทยา
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ BRT หรือที่เรียกกันชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบาย การจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเองได้พบกับภูมิปัญญาการตกกุ้งของคุณลุงท่านหนึ่ง เป็นวิธีที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สำหรับผู้อ่านอาจจะเคยเห็นมาแล้ว แต่อาจไม่กล้าที่จะเขียนลงก็ได้

การทำมาหากินเพื่อปากท้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในชนบท โดยมีการอาศัยและพึ่งพิงแหล่งอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่นการหาผักผลไม้จากป่า การเก็บเห็ด การล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก การดักสัตว์ต่าง ๆ การตกปลา เป็นต้น ดังนั้นการที่จะได้มาซึ่งอาหารเพียงเพื่อยังชีพไปในแต่ละวันนั้น บางวันหามาได้มาก บางวันหามาได้น้อย บางวันหาไม่ได้เลย ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ซึ่งล้วนได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น สำหรับตำบลห้วยเขย่งเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการพึ่งพิงทรัพยากรจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีผู้รู้ในด้านการล่าสัตว์ ซึ่งในที่นี้เราได้พบกับชาวบ้านท่านหนึ่งที่ได้ ยอมเปิดเผยเคล็ดความรู้ในการตกกุ้ง เพื่อให้ลูกหลานได้นำไปใช้ และยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้สูญหายไป

หลายคนคงเคยได้ยินแต่คำว่าตกปลา ซึ่งเป็นคำที่คุ้นหูกัน สำหรับตกกุ้งแล้วบางคนอาจจะงง การจับกุ้งนั้นมีหลายวิธี วิธีที่ใช้กันมากในเขตตำบลห้วยเขย่ง คือ การแทงกุ้ง โดยมีอุปกรณ์คือ เหล็กแหลมยาว หน้ากากดำน้ำ และหนังสะติ๊ก วิธีการนี้ต้องใช้ความชำนาญในการแทง หากไม่ชำนาญแล้วโอกาสที่จะได้กุ้งมาคงต้องน้อยตามไปด้วย แต่สำหรับวิธีการตกกุ้งนั้น คุณลุงเหวย สีนวล เป็นผู้เปิดเผยเคล็ดลับนี้ ซึ่งลุงเองยังไม่เคยบอกใคร แม้กระทั่งลูกของลุงเอง วิธีการนี้จะเริ่มจากการเตรียมเหยื่อล่อกุ้งและเบ็ด จากนั้นจึงเป็นวิธีการล่อกุ้ง

การเตรียมเหยื่อ

1. มะพร้าวน้ำหอม
2. น้ำใบเตย(คั้นสด)
3. นุ่น(นุ่นยัดหมอน)
4. แป้งข้าวเจ้า

วิธีการทำ <

ในการตกกุ้งแต่ละครั้งคุณลุงเหวยจะเน้นเสมอเรื่องของเคล็ดลับความเชื่อ นั่นคือว่าในขณะที่เตรียมตัวตกกุ้งนั้น ไม่ว่าใครจะมาถามหรือพูดคุยอะไร ห้ามพูดอะไรทั้งสิ้น เวลาทำต้องทำคนเดียวจนกระทั้งตกกุ้งเสร็จ จึงจะสามารถพูดได้ ไม่อย่างนั้นแล้วจะไม่ได้กุ้งกลับมาบ้าน

เมื่อเตรียมเหยื่อเรียบร้อยแล้ว ให้นำน้ำมะพร้าวน้ำหอมมาพอประมาณ แล้วผสมกับน้ำใบเตยจากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้าลงไป แล้วตั้งไฟ เคี่ยวให้เหนียว เมื่อเหนียวดีแล้วให้ใส่นุ่นลงไปจนกว่าจะจับตัวกันเป็นก้อนที่สามารถนำมาปั้นได้
การเตรียมเบ็ด<

ในการเตรียมเบ็ดนั้นคุณลุงเหวยให้เตรียมเป็นเบ็ดพวงเพราะจะสามารถเกาะเหยื่อเป็นก้อนใหญ่ได้ โดยเบ็ดที่ใช้จะเป็นเบ็ดไม่มีเงี่ยง เพราะเบ็ดที่มีเงี่ยงนั้นจะทำอันตรายกับกุ้งได้มากกว่าเบ็ดไม่มีเงี่ยง ซึ่งกุ้งอาจตายได้และไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เบ็ดไม่มีเงี่ยงทำได้โดยนำเข็มเย็บผ้าธรรมดา ลนไฟแล้วงอให้เป็นรูปเบ็ด ทำให้ได้ประมาณ 4 – 5 อัน แล้วร้อยรูด้วยเชือกหรือเส้นเอ็นขนาดเล็ก จากนั้นนำมารวมกันเป็นเบ็ดพวง ซึ่งจะทำกี่พวงนั้นขึ้นกับความต้องการของผู้ตก หากต้องการทำเบ็ดสาย ก็ต้องใช้หลาย ๆ พวง หากไม่ต้องการทำเบ็ดสายก็นำเบ็ดพวง 1 อัน มาผูกกับคันเบ็ดที่มีความยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งคันเบ็ดจะยาวเท่าไรนั้นขึ้นกับความสะดวกของผู้ใช้

วิธีการตกกุ้ง<

เมื่อได้เบ็ดพวงมาแล้ว ให้นำเหยื่อที่เตรียมไว้มาเกี่ยวกับเบ็ด จากนั้นจึงนำไปตก ก่อนตกนั้นจะต้องถ่วงตะกั่วก่อน โดยให้ใช้ตะกั่วเท่ากับเม็ดถั่วเขียว มาถ่วงที่เชือกที่มีเบ็ดอยู่ โดยการตกกุ้งนั้นควรตกเวลาประมาณ 6 โมงเย็นเป็นต้นไป และควรเลือกบริเวณที่มีน้ำนิ่ง หรือน้ำอับ ในการตกนั้นคุณลุงแนะเคล็ดลับความเชื่อไว้ว่า ให้ผู้เตรียมนั้นไปเพียงคนเดียว ห้ามใครไปเป็นเพื่อน และห้ามพูดกับใครเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นแล้วจะไม่ได้กุ้งกลับบ้านเลย ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ต้องการความเงียบสงบนั่นเอง

เ มื่อตกเบ็ดแล้วให้นั่งนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ประมาณ 15 – 20 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชุกชุมของกุ้ง เมื่อกุ้งกินเหยื่อแล้ว ให้ค่อย ๆยกเบ็ดขึ้นแล้วใช้สวิงรอง จากนั้นจึงหยิบกุ้งใส่ข้องที่เตรียมไว้ โดยข้องนั้นจะต้องแช่น้ำไว้เพื่อไม่ให้กุ้งตายก่อน คุณลุงยังกล่าวอีกว่าสาเหตุที่ใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอมและใบเตยนั้นเป็นเพราะว่าทั้งสองอย่างนี้มีกลิ่นหอม เมื่อหย่อนเบ็ดลงไปในน้ำ กุ้งจะได้กลิ่นแล้วจะพากันมากิน ส่วนนุ่นและแป้งข้าวเจ้านั้นจะเป็นตัวช่วยทำให้เหยื่อเป็นก้อน ดังนั้นทั้งสองอย่างนี้จึงเป็นตัวประสานที่จะทำให้เหยื่อเกาะกันเป็นก้อนเมื่อจุ่มลงในน้ำ การตกกุ้งของคุณลุงเคยตกได้คราวละมาก ๆ เป็นประจำ จนคนอื่นที่หากุ้งเป็นอาชีพเกิดความไม่พอใจ เพราะกุ้งมีน้อยลง และขยายพันธุ์ไม่เพียงพอ กุ้งที่คุณลุงได้นั้นจะนำมากินเองบ้าง ขายบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ แต่ทุกครั้งที่คุณลุงออกไปตก มักจะได้กุ้งกลับมา คุณลุงยังกล่าวอีกว่าให้ไปลองทำดูเอง เพราะทำให้ดูไม่ได้ ถ้าทำให้ดูก็จะไม่ได้กุ้งกลับมา

จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนฉลาดในการหากิน สามารถที่จะเรียนรู้ในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพด้วยตนเอง แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำมาหากิน โดยจะต้องรู้ว่ากุ้งสามารถรับรู้กลิ่นได้ แล้วกลิ่นอย่างไรกุ้งจึงชอบ แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะได้กุ้งมา จนต้องมีการลองผิดลองถูกในการคิดสูตรอาหารของกุ้ง จนได้สูตรอาหารที่ใช้ได้จริง ซึ่งความรู้เหล่านั้นได้สืบทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนถึงปัจจุบันนี้ แต่คนรุ่นหลังมาคงจะยังไม่เคยได้ยินกันสักเท่าไร
หมายเลขบันทึก: 33468เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2006 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  •  เหมือนได้กลับไปบ้านเกิดเลย
  • รอดูรูปครับ
    Lobster






พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท