AAR: ประชุมที่ TRN สัมมนาย่อยกับอารยชน และบรรยายที่ธรรมนิติ


วันที่ 14-15 มี.ค. ที่ผ่านมาผมเดินทางไปกรุงเทพฯ ครับ เป็นสองวันที่สนุกอย่างยิ่งในการทำงาน โดยการเดินทางไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ผมได้พลังใจมากครับ

ปัจจุบันผมเชื่อว่าประเทศไทยเรานั้นมีคนทำงานที่ "สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมสังคม" ไม่น้อยกว่าประเทศไหนๆ หากคนสร้างสรรค์เหล่านี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งได้ เราจะเห็นประเทศไทยที่แข็งแรงขึ้นอย่างมากแน่นอนครับ

การเดินทางครั้งนี้ของผมเจตนาดั้งเดิมคือเดินทางไปประชุมกับ สสส. เพื่อโครงการจัดการความรู้ของ สสส. ด้วย ICT ต่อจากการประชุมคราวที่แล้วที่ผมได้เขียน AAR ไว้ที่ "บันทึกนี้" ครับ แต่เนื่องจาก สสส. โทรมาแจ้งเลื่อนประชุมในเย็นวันที่ 13 เนื่องจากคุณหมอกฤษดาติดธุระกระทันหัน การประชุมจึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 18 นี้ครับ

ด้วยเหตุนี้วันที่ 14 ที่ผ่านมาผมจึงใช้เวลาในการประชุมที่ TRN ซึ่งบริหารแผนงาน ICT เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของ สสส. เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันของแผนงานกับ UsableLabs ครับ

ในการประชุมมี คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร (ไป๋) จาก TRN และ คุณปฎิพัทธ์ สุสำเภา (เก่ง) และ คุณ พัชราภรณ์ ปันสุวรรณ (หนึ่ง) หนุ่มสาวไฟแรงจาก OpenDream ครับ

การประชุมนี้เป็นการประชุมที่สนุกสนานอย่างยิ่งครับ โดยเราได้เห็นภาพของการทำงานร่วมกันที่จะ synergy ทรัพยากรและศักยภาพระหว่าง TRN OpenDream และ UsableLabs ที่จะเกิดขึ้นในปี 2551 นี้ครับ การ synergy พลังกันนั้นสำคัญมาก มดตัวเดียวจะสู้กับพญาช้างสารก็คงไม่ได้ แต่มดหลายตัวรวมพลังกันนั้นมีกำลังเหนือกว่าช้างสารตัวไหนๆ ครับ

ผลโดยรวมจากการประชุมนี้คือ TRN จะช่วยเหลือในเรื่องทรัพยากรและการประสานงานเพื่อให้งานของ OpenDream และ UsableLabs สามารถดำเนินไปได้โดยเต็มกำลัง ส่วน OpenDream จะทำงานในส่วนการพัฒนาเว็บไซต์โดยใช้เทคโนโลยี Drupal โดยมุ่งที่กลุ่มเป้าหมายอายุน้อยกว่า 35 ปี และพัฒนาตนเองเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เต็มตัว ในขณะที่ UsableLabs จะพัฒนาเว็บไซต์โดยใช้เทคโนโลยี Ruby on Rails โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายอายุ 35 ปีขึ้นไป และให้บริการ Usability Consulting กับองค์กรภาคีอื่นๆ และพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Research Lab) เต็มตัว

ในเรื่องเครื่องแม่ข่ายนั้น OpenDream และ UsableLabs จะร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการครับ โดยทรัพยากรอะไรที่เราสามารถใช้ร่วมกันได้ก็จะพยายามออกแบบให้ทำงานร่วมกันและสามารถรองรับความต้องการของแต่ละหน่วยได้ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพราะเครื่องแม่ข่ายนั้นเป็นฐานที่สำคัญของงานของทั้งสองหน่วยงาน เมื่อเราไม่มีความสามารถในการใช้ "ทุน" เป็นเครื่องมือหลักได้ เราก็ต้องใช้ "ความรู้" เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน และการใช้ "ความรู้" ในการทำงานจะได้ผลสูงสุดก็ต้องเกิดจากการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ครับ

การไดัคุยกับหนุ่มสาวไฟแรงอย่าง OpenDream นี้เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากครับ มีคนหลายคนบอกว่าหนุ่มสาวทุกวันนี้นั้นไม่ได้เป็นที่พึ่งของสังคมได้อีกต่อไป ผมเชื่อว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นเข้าใจนั้นผิด เพราะ เก่ง และ หนึ่ง จาก OpenDream นั้นเป็นตัวอย่างที่จะบอกว่าหนุ่มสาวในปัจจุบันนั้นคือกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมให้ดีงามขึ้นไม่ได้แพ้หนุ่มสาวในยุคไหนๆ เลยครับ

เก่ง หนึ่ง และผม นั้นคุยด้วยศัพท์คำเดียวกันคือคำว่า "passion" ครับ ผมเองบอกกล้าเสมอว่าเรา "programming by passion" ส่วนเก่งนั้นพึ่งประกาศรับสมัคร Passion-Driven Web Programmer ครับ

เราเห็นตรงกันครับ ว่า "passion" คือ keyword ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานเพื่อสังคมครับ

หลังจากประชุมกับ TRN แล้ว ผมก็เดินทางไปร่วมเสวนากับกลุ่ม อารยชน ที่ร้านอาหารบ้านในสวนครับ โดยกลุ่ม อารยชน นำโดยคุณพิชัย พืชมงคล และมีคุณรชตะ สาสะเน และคุณพิสิทธิ์ Thai Wikipedia มาด้วย เมื่อเดินทางไปถึงพบคุณหมวย MiniSiam คอยอยู่แล้วครับ

เรากินข้าวกันไปคุยกันไปสักพักคุณ Eddie ก็มาร่วมด้วย และอีกไม่นานคุณอาท bact' ก็มา หลังจากนั้นกลุ่ม DuoCore.TV ก็มาแจมด้วย แล้วเราก็นั่งคุยกันเป็นที่สนุกสนานครับ

กล้า DuoCore.TV บอกว่าเขาทำเพื่อ "Non Profit" แต่ผมบอกว่า ไม่ใช่ เขาทำเพื่อ "Social Profit" ครับ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะได้เห็น social-profit organization เกิดขึ้นเยอะๆ ครับ

ผมได้เสนอแนวความคิดของ Common Magazine เพื่อให้อินเทอร์เน็ต "ทะลุ" ออกไปถึงคนไทย 89% ที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เราจะต้องหาทางวางแผนการทำกันต่อไปครับ

เราเลิกคุยกันประมาณห้าทุ่มและคุณพิชัยได้กรุณาไปส่งผมที่โรงแรมที่พัก เพราะ taxi ที่คุณพิชัยและผมนั่งกันมาโดยแวะส่งคุณพิชัยที่บ้านก่อนนั้นไม่ยอมไปแถวรัชดาเพราะไม่อยากตีรถเปล่ากลับ เลยทำให้ได้รู้ว่ากรุงเทพฯ นี้ taxi ก็ยังปฎิเสธลูกค้าได้อย่างง่ายๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้วนั่นเอง

คืนนั้นกว่าจะได้นอนก็ตีหนึ่งกว่าๆ เพราะมัวแต่จัดการเมลที่ค้างๆ อยู่ครับ ปรากฎว่า GPRS ของ DTAC เมื่อใช้ที่กรุงเทพฯ แล้ว เร็วกว่าที่ใช้ต่างจังหวัดมาก เป็นบทพิสูจน์อีกว่า "เมืองไทยคือกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ คือเมืองไทย ส่วนต่างจังหวัดนั้นคือบ้านนอก" จริงๆ

ในวันเสาร์ผมตื่นขึ้นมาก็ลงไปกินข้าวเช้า ปรากฎว่าอาหารเช้าในโรงแรมมีเพียงสองอย่างที่ผมกินได้ คือมันฝรั่งกับออมเลต อาหารนอกจากนั้นมีส่วนผสมของสัตว์บกหมดเลยครับ

หลังจากกินอาหารเช้าเสร็จแล้ว ผมก็กลับขึ้นมาเตรียมการบรรยายและออกเดินทางไปสำนักงานกฎหมายธรรมนิติตอนเกือบๆ เที่ยง โดยตอนแรกผมกะจะนั่งรถไฟใต้ดินไปต่อรถไฟฟ้า แต่เพื่อป้องกันปัญหาการหลงและเห็นว่าเป็นวันเสาร์ เลยตัดสินใจนั่ง taxi ดีกว่า เลยได้เห็นว่ากรุงเทพฯ นั้น แม้วันเสาร์รถก็ติดไม่ได้แพ้วันไหนๆ เลย

เมื่อไปถึง สนง. กฎหมายธรรมนิติผมก็ได้บรรยายเรื่องการจัดการความรู้ให้แก่ทนายความและนักกฎหมายของ สนง. โดยเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ขององค์กร เป็นการบรรยายที่กึ่งๆ lecture ครับ

สิ่งที่น่าประทับใจมากของ สนง. กฎหมายธรรมนิติคือการตกแต่ง สนง. ครับ เพราะเป็นการตกแต่งที่ได้ความร่มรื่นอย่างมาก เหมือนกับว่าเป็นสำนักงานในสวนอย่างนั้น ทั้งๆ ที่อยู่บนชั้นสี่อาหารพาร์คนายเลิศใจกลางกรุงเทพฯ แท้ๆ เทคนิคการตกแต่งโดยใช้ต้นไม้ขนาดกลางอยู่ด้านนอกอาคารเพื่อลดความแข็งของวิวกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยตึกนั้นเยี่ยมมากครับ

โดยปกติเมื่อเราเข้าไป office ในกรุงเทพฯ นั้นจะได้ความรู้สึกแข็งเพราะทั้งด้านในและวิวด้านนอกจะแข็งไปหมดด้วยเหลี่ยมมุมของอาคารและตึกด้านนอกที่ไม่ว่าจะมองไปไกลแค่ไหนก็ไม่เห็นธรรมชาติ แต่การใช้ต้นไม้ขนาดกลางมาเกลี่ยมุมแข็งของวิวด้านนอกทำให้ภาพที่มองออกไปจากหน้าต่างนิ่มนวลลงมากครับ เมื่อประกอบกับการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้โดยจัดวางในมุมเฉียงแล้ว จะได้บรรยากาศที่นึกไม่ถึงว่าอยู่ในกรุงเทพฯ เลยครับ

หลังจากบรรยายแล้ว ผมเดินทางกลับหาดใหญ่ในเวลา 7.15 น. โดยมาเที่ยวบินเดียวกันกับอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ครับ แต่ไม่ได้มีโอกาสถามว่าเจ้าโซดากับชาเย็นและตัวเล็กๆ เป็นอย่างไรบ้างครับ

การไปสองวันนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปอะไรเลย ทั้งที่มีรูปที่อยากเก็บมาประกอบในบล็อกเยอะมาก ทำให้ผมรู้ว่าการซื้อโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้นั้นเป็นสิ่งที่ผมต้องรีบทำแล้วครับ

เมื่อกลับมาถึงบ้านเกือบสี่ทุ่มผมก็แทบหมดแรงทุกก๊อก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผมเมื่อต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ครับ โดยปกติการเดินทางไปกรุงเทพฯ แต่ละครั้ง ผมจะกลับมานอนเพลียอยู่วันสองวันถึงจะฟื้นตัว เข้าใจว่าเป็นเพราะร่างกายไม่สามารถปรับตัวเข้ากับอากาศของกรุงเทพฯ ได้ ดังที่ผมได้เขียนไว้ในบันทึก "อากาศดีไม่มีขาย" ครับ

การได้สูดอากาศบริสุทธิ์ทุกเช้าในต่างจังหวัด นั่นคือรายได้ของชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราคนต่างจังหวัดได้เปรียบคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่งครับ เป็นรายได้ที่เราต้องไม่ลืมที่จะอ้าแขนรับครับ

 

หมายเลขบันทึก: 171276เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2008 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แหม อาจารย์ไม่โทรเรียกแท็กซี่เจ้าประจำนี่ครับ

  • แวะมาให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ หายเหนื่อยหรือยังคะ
  • ขำๆเรื่องกรุงเทพที่อาจารย์เล่า ใช่แล้วค่ะกรุงเทพคือเมืองไทย
  • อิอิ ต่างจังหวัดกว่าจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมคงทำได้ยากค่ะ

มาทำธุระในกรุงเทพเสร็จแล้วรีบกลับบ้านเหมือนกันเลยค่ะ อากาศกรุงเทพนั้นทำให้หมดแรงจริงๆค่ะ

ได้อ่านบันทึกนี้แล้วดีใจที่เห็นพลังของคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังของสังคม ใช้คำว่า Social Profit นั้นให้ความรู้สึกที่ตรงใจ ชัดเจนมากนะคะ

สุขี สุโข ไปใหญ่ไปโต สิบแปดก็มาอีกแล้ว อย่าให้ต้นไมเฉาก็แล้วกัน

หนิงก็กำลังจะเข้ากทม.(อีกแล้ว) เหมือนกันค่ะ

คราวนี้ไปท่าพระจันทร์ค่ะ

ว่าแล้ว็คิดถึงมะตะบะ เอิ๊กกกกกก

โอว ผมกับหนึ่งต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ข้อความข้างบนเป็นกำลังใจให้ผมสองคนมากๆ ครับ

ไปล้มช้างกันเถอะครับ อาจารย์ เอิ๊กๆ :-)

ชอบเรื่อง มด มาก

และยังชอบที่อาจารย์บอกว่า

"passion" คือ keyword ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานเพื่อสังคม ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท