วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองสบายๆ สไตล์เรา


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่มีความเจริญทางวัตถุส่วนใหญ่จะมีสถิติมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถิติมะเร็งในผู้หญิงไทยเราพบว่า มะเร็งเต้านมกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงกรุงเทพฯ พบมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ 1 ส่วนผู้หญิงนอกกรุงเทพฯ ยังพบเป็นอันดับ 2-3

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์จัดทำแผ่นพับแนะนำการตรวจมะเร็งด้วยตนเอง ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

  • ภาพการตรวจเอกซเรย์เต้านม (mammogram / แมมโมแกรม) ซึ่งเริ่มด้วยการวางเต้านมลงบนถาดพลาสติกใส ใช้ถาดอีกใบหนึ่งกดลงไปให้เต้านมแบนราบลง
  • ถ้านึกวิธีกดไม่ออก... ให้นึกวิธีทำกล้วยทับที่ใช้ไม้ 2 แผ่นกดกล้วยลงไปจนได้แผ่นบางๆ อยู่นิ่งๆ กลั้นหายใจ เอกซเรย์ แล้วจะได้ภาพออกมา

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

  • ภาพเอกซเรย์เต้านม > ก้อนที่มีลูกศรชี้มีขอบเขตขรุขระ ไม่เรียบ แลดูคล้ายหนามทุเรียนหรือหนามเงาะ
  • ลักษณะแบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าก้อนที่เรียบ และไม่มีหนาม

...

  • ภาพนี้น่าจะเป็นภาพเอกซเรย์เต้านมฝรั่ง ซึ่งมีสัดส่วนไขมันสูง ทำให้เห็นก้อนได้ชัดเจน
  • ภาพเอกซเรย์เต้านมคนไทยส่วนใหญ่จะเห็นเบลอๆ ไม่ชัด คล้ายๆ ภาพก้อนเมฆ เนื่องจากคนไทยมีสัดส่วนไขมันในเต้านมต่ำกว่าฝรั่ง (เนื้อแน่นกว่าฝรั่ง) จึงนิยมทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound / อัลตราซาวนด์) ร่วมด้วยเสมอ

...

การตรวจเต้านมด้วยตนเองทำได้ง่าย สบายๆ และช่วยให้ตรวจพบก้อนได้ตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าตรวจเป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้งจะทำให้เกิดความชำนาญ และจะตรวจหาก้อนที่มีขนาดเล็กได้เร็วกว่าคนที่ไม่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ

ผู้หญิงทุกคนควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน โดยตรวจในวันที่ 10 หลังประจำเดือนมาวันแรก ถ้าตรวจในช่วงที่ประจำเดือนมา... ช่วงนั้นเต้านมจะแน่น อาจทำให้คลำหาก้อนได้ไม่ชัดเจน ถ้ารอวันที่ 10 จะตรวจได้แม่นยำขึ้น

...

ถ้าประจำเดือนหมด หรือมานานๆ ครั้ง เช่น 2 เดือนต่อครั้ง ฯลฯ ควรตรวจในวันเดียวกันของรอบเดือน เช่น วันที่ 1 วันเกิด ฯลฯ เพื่อให้ตรวจได้ทุกเดือน ไม่หลงลืม

ถ้าคลำได้ก้อน... อย่าเพิ่งตกใจ เพราะก้อนส่วนใหญ่ (80-85%) ไม่ใช่มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ ถุงน้ำหรือซิสต์ (cyst) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ฯลฯ ควรปรึกษาหมอใกล้บ้านทันทีที่ตรวจพบก้อน

...

ภาพแสดงการรณรงค์ส่งเสริมการตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งนิยมทำในเดือนตุลาคม (October) ของทุกปี

  • เต้านมคนเราไม่ได้มีรูปกลม ทว่า... มีรูปคล้ายหยดน้ำ โดยมีส่วนโค้งตั้งอยู่บนหน้าอก ส่วนปลายแหลมชี้ไปที่รักแร้ การตรวจเต้านมจึงต้องคลำรักแร้ทุกครั้ง

...

  • นอกจากส่วนรักแร้จะมี "หาง" หรือส่วนยื่นของเนื้อเต้านมแล้ว ส่วนรักแร้ยังมีต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมะเร็งเต้านมมักจะแพร่กระจายไป ทำให้ต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต
  • คนไข้มะเร็งเต้านมหลายรายคลำก้อนที่เต้านมไม่ได้ แต่คลำต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่โตได้... การตรวจเต้านมจึงต้องคลำรักแร้ทุกครั้ง

...

ก่อนอื่นควรดูภาพนี้ให้ติดตาไว้ก่อนคือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกท่านั้นมีเคล็ดไม่ลับที่สำคัญสุดๆ อยู่ 3 ประการได้แก่

(1). ตรวจเต้านมข้างไหน

  • ให้ยกแขนข้างนั้นขึ้นเหนือหัว นิยมวางไว้ที่ท้ายทอย ปล่อยแขนสบายๆ (ไม่เกร็งแขน)

...

(2). ใช้นิ้วมือข้างตรงข้ามคลำ

  • ใช้ปลายนิ้วมือ 3 นิ้ววางติดกัน คลำคล้ายๆ กับท่าตะเบ๊ะ หรือวันยาหัตถ์ของลูกเสือสามัญ หรือจะใช้นิ้วทั้ง 5 เรียงกันดังภาพ และตรวจด้วยปลายนิ้ว 3 นิ้ว(นิ้วชี้-นิ้วกลาง-นิ้วก้อย)ก็ได้

...

  • อย่าใช้ท่าตะเบ๊ะของลูกเสือสำรอง ซึ่งใช้นิ้ว 2 นิ้วแยกกัน
  • การใช้นิ้ว 2 นิ้ววางห่างกันคลำเต้านมไม่ดี เพราะอาจทำให้เกิดการ "คีบ" เนื้อเต้านมเข้าหากัน ทำให้เข้าใจผิด คิดว่า เนื้อเต้านมบางส่วนเป็นก้อน ซึ่งจะทำให้ตกใจ และขวัญกำลังใจหายไปอย่างรวดเร็ว

...

(3). เลื่อน-อย่ายก

  • เวลาตรวจเต้านม > ให้กดลงไปตรวจ คลึงเบาๆ เป็นรูปวงกลมหลายๆ รอบ แล้วเลื่อนไปบริเวณข้างเคียงช้าๆ

...

  • อย่ายกปลายนิ้วมือขึ้นจากเต้านม เนื่องจากอาจเกิดการ "กระโดด (skip)" ข้ามก้อนได้ ให้เลื่อนไปข้างๆ คล้ายๆ การลูบทีละน้อย เพื่อให้คลำได้ครบทุกส่วน

...

ภาพแสดงการตรวจโดยใช้ปลายนิ้ว 3 นิ้ว

  • จุดแดงแสดงส่วนของปลายนิ้วที่มีประสาทรับความรู้สึกมาก ถ้าใช้ส่วนนี้คลำจะทำให้การตรวจคลำมีความแม่นยำสูง (ดังภาพ)

...

  • เวลาคลำให้คลำเต้านม 3 ระดับ (3 ที) ได้แก่ คลำเบาๆ เพื่อตรวจส่วนตื้นๆ + คลำแรงปานกลางเพื่อตรวจส่วนลึกลงไป และคลำแรงมากหน่อยเพื่อตรวจส่วนลึก (ดังภาพ)

...

 ภาพแสดงการตรวจหน้ากระจกท่ายืน(หรือนั่ง)

  • การตรวจเต้านมควรทำ 2 ท่าได้แก่ ท่ายืน(หรือนั่ง)กับท่านอน

...

  • การตรวจท่ายืน(หรือนั่ง)ควรตรวจหน้ากระจกมี 2 ท่าย่อยได้แก่ ท่ายืนตรง (ชูแขน ประสานมือขึ้นเหนือหัวดังภาพ) และท่าท้าวสะเอว-ยื่นหัวและไหล่ไปด้านหน้า
  • ควรสังเกตว่า หัวนมชี้ไปด้านใด มีการยุบบุ๋มเข้าไปหรือไม่ มีรอยแดงหรือไม่ มีรอยคันหรือไม่ และดูว่า มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนมหรือไม่ (ถ้ามีเลือดออกมีโอกาสเป็นมะเร็ง 1 ใน 5 หรือ 20%)

...

ภาพแสดงการคลำเต้านมตอนอาบน้ำ

  • การตรวจเต้านมตอนอาบน้ำค่อนข้างสะดวก เนื่องจากมือที่เปียกสบู่จะลื่นเล็กน้อย ทำให้การเลื่อนนิ้วมือไปยังส่วนต่างๆ ทำได้ง่าย ทว่า... ไม่ควรลืมการตรวจหน้ากระจกทุกครั้ง เพื่อจะได้ตรวจว่า หัวนมเป็นอย่างไร เหมือนเดิมหรือไม่ และเนื้อเต้านมส่วนใดยุบบุ๋มหรือเบี้ยวไปหรือไม่

...

  • ท่านที่มีเต้านมขนาดใหญ่ควรตรวจ 2 รอบในท่ายืน(หรือนั่ง)
  • รอบแรกให้คลำจนครบทุกส่วน รอบที่สองให้ใช้มือข้างเดียวกันประคองเต้านมจากส่วนล่าง และมือข้างตรงกันข้ามคลำจากด้านบน

...

  • นั่นคือ ตรวจเต้านมข้างขวา-ใช้มือขวาประคองจากด้านล่าง-คลำด้วยมือซ้าย ตรวจเต้านมข้างซ้าย-ใช้มือซ้ายประคองจากด้านล่าง-คลำด้วยมือขวา
  • อย่าลืมว่า ท่านควรใช้มือข้างตรงข้ามคลำเต้านม อย่าใช้มือข้างเดียวกันคลำ (มือขวาคลำเต้านมซ้าย + มือซ้ายคลำเต้านมขวา)

...

ภาพแสดงการตรวจเต้านมท่านอน

  • การตรวจในท่านอนควรสอดหมอนเตี้ยๆ หรือม้วนผ้าใต้ไหล่ข้างที่ตรวจ เช่น ตรวจเต้านมขวา-หนุนไหล่ขวา ตรวจเต้านมซ้าย-หนุนไหล่ซ้าย ฯลฯ
  • บริเวณที่ควรตรวจให้ละเอียดถี่ถ้วนมากเป็นพิเศษได้แก่ เต้านมด้านนอก-ส่วนบน หรือเต้านมด้านใกล้รักแร้ เนื่องจากบริเวณนี้มีปริมาณเนื้อเต้านมมากที่สุด และมีโอกาสเป็นมะเร็.มากที่สุดเช่นกัน

...

ต่อไปเป็นวิธีการคลำ 2 วิธีได้แก่

  1. การคลำในแนวก้นหอย(คล้ายวงกลม)
  2. การคลำในแนวขึ้นลง(คล้ายเครื่องสแกนภาพคอมพิวเตอร์)

...

ภาพแสดงวิธีการคลำในแนวก้นหอย

  • การคลำในแนวก้นหอย > เริ่มจากหัวนม คลำหัวนมและบริเวณใต้หัวนมก่อน จากนั้นให้ค่อยๆ หมุนวนออกมาเป็นแนวก้นหอย > จบการคลำที่รักแร้

...

ภาพแสดงวิธีคลำในแนวขึ้นลง

  • การคลำในแนวขึ้นลง > เริ่มจากรักแร้ คลำบริเวณรักแร้ให้ทั่วก่อน จากนั้นให้ค่อยๆ คลำในแนวขึ้นลงจากด้านนอกเข้าด้านใน > จบการคลำที่แนวกึ่งกลางหน้าอก

...

การคลำ 2 วิธีมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันได้แก่

  • การคลำในแนวก้นหอย > ทำได้ค่อนข้างง่าย สบายๆ

...

  • การคลำในแนวขึ้นลง > ทำยากขึ้นเล็กน้อย ทว่า... มีความครอบคลุมเต้านมส่วนต่างๆ ได้ครบถ้วน ทำให้มีความแม่นยำสูงกว่า
  • ถ้าเป็นไปได้ > ควรฝึกตรวจในแนวขึ้นลง เพราะชีวิตเป็น "อะไรที่ควรทะนุถนอมและใส่ใจ" ถ้าลงทุนเพิ่มอีกหน่อยแล้วทำได้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องน่าลงทุนแบบสุดๆ

...

ต่อไปจะเป็นภาพความผิดปกติที่ควรสังเกตทุกครั้งที่ตรวจ [ จากวิกิพีเดีย - Wikipedia ]

  • ภาพซ้าย > แสดงการคลำได้ก้อน
  • ภาพขวา > แสดงการผิวหนังที่ยุบบุ๋มลงไป

...

  • ภาพซ้าย > แสดงผิวเต้านมผิดปกติ เช่น หนาขึ้น แข็งขึ้น ขรุขระคล้ายผิวส้ม ฯลฯ
  • ภาพขวา > แสดงหัวนมผิดปกติ เช่น เดิมยื่นออกกลายเป็นยุบบุ๋มลงไป ฯลฯ

...

  • ภาพซ้าย > แสดงสารคัดหลั่ง เช่น น้ำใสๆ เลือด ฯลฯ ออกจากหัวนม

...

อย่าลืมว่า มะเร็งที่พบบ่อยผู้หญิงได้แก่ มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมนั้น... ไม่เหมือนมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ ฯลฯ

มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมมีโอกาสตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม แถมยังมีผลการรักษาค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่น คุณอาผู้เขียนเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่มมานานกว่า 40 ปี ตอนนี้อายุประมาณ 87 ปียังแข็งแรง (เสียตรงขี้บ่นหน่อยเท่านั้นเอง)

...

คุณป้าผู้เขียน(ภรรยาคุณลุง)เป็นมะเร็ง 2 ชนิดได้แก่ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ตอนนี้อายุประมาณ 89 ปียังแข็งแรง

การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ ("แปป" มาจากชื่อคุณหมอชาวกรีกคือ Papanicolauo ที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ช่วงแรกตกงาน อาศัยขยันเลยขายพรมไปก่อน เก็บเงินได้ก็เรียนต่อ หันไปทำงานวิจัยจนค้นพบวิธีการตรวจมะเร็งที่ช่วยคนนับแสนนับล้านคนทั่วโลก) ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

...

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนเป็นวิธีที่ประหยัด เข้ากับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าทำเป็นประจำจะทำให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่าพวกที่ชอบทำอะไร "เป็นพักๆ (ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง เหยาะแหยะในเรื่องชีวิต)"

เรียนเสนอให้ท่านผู้อ่านหันมาตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ขอแนะนำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนมะเร็งเต้านม

  • กรมอนามัย > โทร. 0-2590-4522
  • ศูนย์ถันยรักษ์ > โทร. 0-2246-1294 (ถึง 9)
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ > โทร. 0-2419-8749 (ถึง 51)

...

ที่มา                                       

...

 

  • ขอขอบพระคุณ > กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ > การตรวจเต้านมด้วยตนเอง Breast self-examination > โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. 2545.
  • Thank Wikipedia > Breast > [ Click ] > November 5, 2008.
  • Thank Wikipedia > Breast Cancer > [ Wikipedia ] > November 5, 2008.

 

...

  • ข้อมูลในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค 
  • ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้ 

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.  
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 5 พฤศจิกายน 2551. 

 

...

หมายเลขบันทึก: 221028เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2008 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอ

ขอบพรคุณสำหรับความรู้ที่ดี -การตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกท่านั้นมีเคล็ดไม่ลับที่สำคัญสุดๆ

ขอขอบคุณอาจารย์ panatung...

  • ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ขอให้ท่านผู้อ่านช่วยกันตรวจเต้านมทุกเดือนครับ...

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

ตามมาอ่านความรู้ดีๆ ค่ะ....เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ คุณแม่ของดิฉันท่านก็เป็นมะเร็งเต้านมค่ะ เมื่อประมาณ 18ปีที่แล้วค่ะ ตอนนั้นดิฉันยังเด็กมาก ท่านเล่าให้ฟังว่าคลำเจอก้อนเล็กๆและรู้สึกเจ็บนิดหน่อย วันถัดมาท่านก็ไปหาหมอเลย ก็ได้เจาะและส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ก็รอฟังผลนาน 11วันค่ะ ปรากฎว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 2แล้ว..ก็ไปรักษาที่ รพ.นอร์ทอีสเทอร์นวัฒนา อุดรฯ ผ่าตัดเต้านมทิ้งไปข้างหนึ่งค่ะ (ข้างซ้าย) ก็ทำเคมีบำบัดไปด้วย ...ทุกวันนี้จะว่าแข็งแรงดีก็ไม่เชิง แต่ยังดีที่ไม่ลามไปข้างขวาค่ะ ก็ไป F/U ปีละครั้ง ..คุณแม่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเบาหวาน และภูมิแพ้ ค่ะ ...ประวัติเคยผ่าตัดมาแล้ว 6ครั้ง (นับรวม C/S 3ครั้ง) นอกนั้นก็นิ่วถุงน้ำดี และไส้ติ่งอักเสบ...

จะว่าไปแล้ว...กรรมพันธุ์ดิฉันก็มีเป็นมะเร็ง ชักเริ่มกลัวๆแล้วสิคะ คุณหมอ :(      

สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ สำคัญเท่าเทียมกัน ..ถ้าคนเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง อารมณ์ดี มีแต่ความรู้สึกดีๆ ก็จะมีสุขภาพที่ดีด้วย ..จริงมั๊ยคะ?

หวัดดีค่ะอาจารย์หมอ มาตรวจด้วยคนค่ะ

ขอบคุณ... คุณ Oh-Ho

  • ขอแสดงความชื่นชมที่ดูแลคุณแม่ดีมากๆ ครับ
  • สาธุ สาธุ สาธุ
  • ขอขอบคุณประสบการณ์ตรง ซึ่งจะมีคุณค่าต่อท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ อย่างมากมายเช่นกัน

ขอขอบคุณ... คุณ jinni

  • ขอแสดงความชื่นชมที่ใส่ใจสุขภาพครับ
  • สาธุ สาธุ สาธุ

แวะเข้ามาอ่านค่ะ ตัวเองก็ตรวจเป็นประจำทุกปี แต่จะลืมตรวจด้วยตัวเองบ่อย ๆ ต่อไปนี้ จะพยายามตรวจด้วยตัวเองให้บ่อยขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะคุณหมอวัลลภ ขอให้สุขภาพดี มีความสุขค่ะ

ขอขอบคุณ... อาจารย์ tucky...

  • ขอแสดงความชื่นชมที่คุณ tukky ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติอย่างมากมาย... สาธุ สาธุ สาธุ
  • การตรวจเอกซเรย์มะเร็งเต้านม ของไทยนิยมตรวจพร้อมคลืี่นเสียงหรืออัลตราซาวนด์) เป็นการตรวจที่ดี

ทว่า...

  • การศึกษาที่ผ่านมาในไทยเราพบว่า ความแม่นยำค่อนข้างต่ำคือ 84-94% (ไม่มีการตรวจใดที่แม่นยำ 100%)
  • สาเหตุสำคัญได้แก่ เต้านมคนไทยและคนเอเชียมีไขมันน้อยกว่าฝรั่ง ทำให้เห็นภาพในเอกซเรย์ไม่ชัดเท่าในฝรั่ง

อีกอย่างคื

  • ธรรมชาติของมะเร็งเต้านมมีส่วนน้อยที่โตเร็วมาก เร็วจนการตรวจประจำทุกปีไม่พบ (เรียกว่า intervel cancer)
  • การตรวจเต้านมด้วยตนเองมีส่วนช่วยเติมเต็มตรงนี้ได้

ขอบคุณ ค่ะ

ชัดเจน ดีมากเลย ทีละขั้นตอน รูปประกอบ และคำอธิบายของ อาจารย์ สมบูรณ์ ดีจริงๆ

ขอขอบคุณอาจารย์หมอรวิวรรณมากๆ ครับ

  • ขอขอบคุณต้นฉบับจากศูนย์ถันยรักษ์และกระทรวงสาธารณสุขมากๆ เลย
นางสาวสุลิวัลย์ โพธิ์ศรี

......ปัญหาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันนับว่าเป็น

ปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญมากสำหรับผู้หญิง

และเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ

.....การที่มีข้อมูลที่น่าสนใจแบบนี้ให้อ่านนับว่ามีประโยชน์มาก

มีขั้นตอนที่ชัดเจนให้ตรวจสอบด้วยตัวเองได้ด้วย

ทำให้สามารถตรวจสุขภาพของตัวเองได้ตลอดเวลา

ต้องขอขอบคุณข้อมูลที่ดีๆๆๆๆ ........

ดีค่ะ ที่มีประโยชน์มาก .......

ขอขอบคุณ... คุณสุลิวัลย์มากๆ ครับ

  • ขอขอบคุณที่พวกเราหันมาใส่ใจสุขภาพ ซึ่งจะช่วยตัวเราเองด้วย ช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายสุขภาพด้วย
น่าดีใจมากๆ ที่คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท