แซนโฎนตาเมืองขุขันธ์


               " เมืองขุขันธ์ "  เป็นเมืองเก่าแก่และสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๒ ตรงกับรัชสมัย
พระเจ้าเอกทัศน์    แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพญาช้างเผือกมงคลได้ แตกโรงหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ทหารเอก ๒ พี่น้อง ( ทองด้วง และบุญมา) พร้อมไพร่พลจำนวน ๓๐ คน ออกติดตาม        โดยได้รับความช่วยเหลือ
จากตากะจะและเชียงขัน  สองพี่น้อง    ซึ่งเป็นหัวหน้าชนเผาเขมรป่าดง แห่งบ้านปราสาทสีเหลี่ยมโคกลำดวน เเละ
สามารถจับพญาช้างเผือกมงคลนำกลับมายังศรีอยุธยาได้      และมีความชอบ    จึงทรงโปรดเกล้าฯ       ยกฐานะบ้าน
สี่เหลียมโคกลำดวนเป็นเมืองชื่อว่า “เมืองขุขันธ์”   เเละโปรดเกล้าฯ    ให้บรรดาศักดิ์ "ตากะจะ "    ในราชทินนาม
 “ หลวงแก้วสุวรรณ ”   ส่วนเชียงขัน ผู้น้องมีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “หลวงปราบ” ปกครองเมืองขุขันธ์ขึ้นตรงต่อ
เมืองพิมาย ต่อมาหลวงแก้วสุวรรณ ได้รับโปรดเกล้าให้มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน
ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก

 

          และต่อมาผู้ครองเมืองขุขันธ์  ได้รับโปรดเกล้าในบรรดาศักดิ์ราชทินนามพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  
ตั้งแต่ท่านแรกจนถึงท่านที่ ๙     ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อ“เมืองขุขันธ์”      เป็น “จังหวัดขุขันธ์”   ในปี
พุทธศักราช ๒๔๕๙              และในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑     เปลี่ยนชื่อ    “จังหวัดขุขันธ์”     เป็นชื่อ
“จังหวัดศรีสะเกษ”  แล้วเปลี่ยนชื่อ“อำเภอห้วยเหนือ” เป็นชื่อ“อำเภอขุขันธ์”
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

                “เมืองขุขันธ์” มีบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายจากชนเผ่าเขมรเป็นส่วนใหญ่  รองลงมาเป็นชนเผ่าลาว  ส่วย(กูย)
และเยอ   ตามลำดับ มีวัฒนธรรมที่ดีงามซึ่งบรรพบุรุษได้รักษาไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ถือปฏิบัติตาม  จนกลายมา
เป็นประเพณีที่สำคัญ คือ   “ประเพณีแซนโฎนตา”      อันเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวขุขันธ์    โดยเฉพาะปีนี้
เป็นปีที่ครบรอบ ๒๕๐ ปีของการสร้างเมืองขุขันธ์(พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๕๕๒)  จึงได้ชื่องานอันยิ่งใหญ่นี้ว่า
“ งานเทศกาลรำลึกพระยาไกรภักดี   ประเพณีแซนโฎนตา     บูชาหลักเมือง    ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ”  เป็นปีแรก   
ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานได้แสดงออกถึงคุณงามความดีที่เป็นคุณูปการที่บรรพบุรุษเมืองขุขันธ์มีต่อลูกหลานชาวขุขันธ์  
อีกทั้งลูกหลานได้มีโอกาสเซ่นไหว้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของวงศ์ตระกูลของตนเองที่ได้ล่วงลับ
ไปแล้ว    สำหรับในปี พุทธศักราช ๒๕๕๓ กำหนดจัดงานตรงกับ วันที่ ๔ - ๕ ตุลาคม  ๒๕๕๓

                คำว่า “แซนโฎนตา” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร  “แซน” แปลว่า การเซ่นไหว้ การอุทิศ หรือ
บวงสรวง  ส่วนคำว่า “โฎนตา” แปลว่า ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

                ความสำคัญ และประโยชน์ของการประกอบพิธีแซนโฎนตา ก็เพื่อถือปฏิบัติตามประเพณีที่สืบต่อกันมานาน
ของบรรพบุรุษชาวอำเภอขุขันธ์   ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกล
ทั่วทุกสารทิศ จะเดินทางกลับมารวมญาติ    และมาทำบุญที่บ้านเกิดเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา  ร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศ
ส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ และญาติของตนเองที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  เป็นโอกาสที่จะได้ทำดีตามหลักพระพุทธศาสนา
โดยการบริจาค   ให้ทาน และฟังเทศน์  ส่งผลให้จิตใจแจ่มใสปราศจากความเศร้าโศก    ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก  
ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว  เครือญาติ  และความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน
                พิธีการแซนโฎนตา  มีขึ้นในวันแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำของเดือน ๑๐ ทุกปี ซึ่งตรงกับวันสารทใหญ่ของชาวพุทธ
นั่นเอง   บรรพ บุรุษชาวขุขันธ์มีความเชื่อว่า ช่วงนี้ในเวลากลางคืนจะเป็นช่วงที่มีลมพัดจากทางทิศเหนือ ไปทางทิศใต้
ซึ่งสอดคล้องกับที่จะได้ลอยเรือส่งอาหารไปถึงพวกเปรตที่อยู่ทาง ทิศใต้
               อันที่จริงก่อนจะถึงวันทำพิธีแซนโฎนตา หรือที่ชนเผ่าเขมรอำเภอขุขันธ์เรียกว่า “เบ็ญธม” ซึ่งตรงกับ
วันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ทุกปีนั้น  ใน ช่วงระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ ถึงก่อนวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐  (ชาวเขมรเชื่อว่า
เมื่อถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ประตูยมโลกจะเปิดและอนุญาตให้ผีในยมโลกเดินทางมาเยี่ยมญาติได้)     
ชาวบ้านจะพากันไปวัดเพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา  เช่น   ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
และญาติที่ล่วงลับ   ฟังพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา เป็นต้น   เหลืออีก ๑ - ๒ วันก่อนจะถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ
ชาวบ้านจะเตรียมการจัดทำพิธีแซนโฎนตา โดยทำขนมหลากหลายชนิด มีข้าวต้มมัด  ขนมเทียน เป็นต้น 
เพื่อเอาไปทำบุญที่วัด และเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดกัน

                ตอนเช้าของวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐  ชาวบ้านจะทำอาหารและเครื่องสักการะต่างๆ นำไปตักบาตร 
เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปยังบรรพบุรุษ และญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว   ซึ่งในวันนี้   ญาติพี่น้องลูกหลาน
ที่อยู่ในต่างถิ่นต่างมารวมกัน และพบกันเป็นพิเศษเพื่อร่วมทำพิธีแซนโฎนตาด้วยกัน 

 

                ตอนบ่ายในวันเดียวกันนี้  จะมีพิธีแซนโฎนตา ที่บ้านตระกูลตัวเอง โดยจัดให้มีการปูเสื่อ  วางฟูก และ
หมอนวางบนส่วนท้ายของฟูกอีกด้านหนึ่ง    และเอาผ้าขาวคลุมหมอนอีกชั้นหนึ่ง    เพื่อวางกระป๋องสำหรับจุดธูปเทียน
ข้างล่างจะมีแก้วน้ำ  ๔ ใบ จัดเป็นแถว ถัดมามีพาน ๑ คู่ ที่บรรจุหมาก  พลู  บุหรี่  แถวถัดมาจัดพานขนม    และผลไม้
ส่วนถัดไปเป็นถาดใส่อาหารเซ่นไหว้   และใส่ข้าวในจานข้าวด้วย

 

                เมื่อญาติพี่น้องในครอบครัว และญาติจากที่อื่นๆมาพร้อมกันแล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้โดยจุดธูปเทียน
กล่าวอัญเชิญให้บรรพบุรุษ   และญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้วมารับประทานอาหารที่ได้จัดเตรียมไว้ให้    โดยอัญเชิญ
เป็นระยะ ๆ จำนวน ๓ ครั้ง การอัญเชิญในแต่ละครั้ง จะมีการเทน้ำใส่เเก้วเพื่อกรวดน้ำทุกครั้ง   เมื่อครบ 3 ครั้งแล้ว 
จะนำถ้วยชามมาตักอาหาร    ใส่ขนมและผลไม้ที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้    รวมทั้งบุหรี่และธูปเทียนแล้วนำไปเท หรือ
วางไว้บนดินนอกบ้าน เพื่อส่งไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว        เพื่อเก็บไว้กิน  และขณะเดียวกันก็จะกล่าวคำขอพร
ให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญ  ทำมาค้าขายมีกำไร  และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
                สุดท้าย  ชาวบ้านจะจัดทำเรือ/กระทงเล็กๆ โดยใช้ต้นกล้วย บรรทุกข้าว ข้าวโพด ถั่ว และเงิน  เมื่อถึงเวลา
ใกล้จะถึงตี ๔ หรือตี ๕ จะนำเรือ / กระทงเล็กๆ ไปลอยตามกระแสน้ำ เพื่อส่งไปยังพวกเปรตตามความเชื่อ  โดยชาวบ้าน
เชื่อว่า เปรตมี ๔ ชนิด ได้แก่   ๑) เปรตที่เลี้ยงตัวเองด้วยเลือด      ๒) เปรตที่หิวตลอดเวลา   ๓) เปรตที่ไฟไหม้ตลอด
และ ๔) เปรตที่เลี้ยงตัวโดยผลบุญกุศลที่เขาอุทิศให้ ซึ่งก็คือ การจัดพิธีแซนโฎนตาที่ญาติซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ทำบุญอุทิศให้
นั่นเอง
                อย่างไรก็ตาม แม้พิธีแซนโฎนตา  จะเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้   แต่ก็เป็นโอกาสดีที่ญาติพี่น้อง
จะ หาโอกาสมาพบปะกันปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล หรือไปทำงานอยู่ต่างถิ่น จะได้แสดงออกถึงความรักห่วงใยกัน
โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ต่างก็ออกจากบ้านอันเป็นถิ่นกำเนิดไปทำมาหากินอยู่ถิ่นอื่นๆ  หากไม่มีประเพณีแซนโฎนตาแล้ว  
ในรอบหนึ่งปีอาจจะหาโอกาสกลับบ้านเพื่อพบปะญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกันอาจหาไม่ได้

เพลงทำบุญจูนโฏนตา

เนื้อร้อง/ทำนอง ...พิทักษ์  สังข์เงิน

เรียบเรียงเสียงดนตรี...สมโภชน์   สุวรรณ์

                              พรสกล  ศิริศิลป์

ขับร้อง...บุญธรรม   ใจดี

ปรับปรุงเนื้อร้อง...สุเพียร  คำวงศ์

รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

 

ดาวน์โหลดเนื้อร้อง เพลงทำบุญจูนโฎนตา ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 289227เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 06:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
แมงก๋ำปุ๊งคำ...ลุ่มน้ำปิง/

อืมมมมส์.....นับว่าเป็นประเพณีเก่าแก่...มาแต่โบราณกาลจริงๆครับ

ควรที่จะอนุรักษ์เอาไว้ให้ดี...เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

เลยทีเดียว...ถึงการจัดพิธีเซ่นไหว้ถวายข้าวปลาอาหารให้กับบรรพบุรุษของชาว

ศรีสะเกษที่ล่วงลับไปแล้ว....

ประเพณีอย่างนี้...น่าจะมีกันหลายที่อยู่เหมือนกันนะครับ...อย่างเช่นที่ภาคเหนือ

ก็จะมีการจัดประเพณี " ตานก๋วยสลาก " หรือประเพณี " สลากภัตร "ของชาวล้านนา

ที่ทำสืบทอดกันมานานแล้ว...ตั้งแต่ผมจำความได้ ก็เห็นประเพณีนี้แล้วหล่ะ...

และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 52 ที่ผ่านมานั้น...ชาวล้านนาทั้งหลายก็ได้ไปร่วม

ทำบุญทำทานอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน..ใน กทม

เขาจัดกันที่วัดเบญจมบ่พิตร แถวๆดุสิตนะครับ... ก็มีสินค้าภาคเหนือมากมายมาออก

ร้านขายกัน..มีการแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนา เช่น สะล้อ-ซอ-ซึง การตีกลองสะบัดชัย

ฟ้อนเล็บ ฟ้อนนกกิงกะหล่า ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฯลฯอีกมากมาย

ปีนึ่งจะจัดขึ้นแค่วันเดียวครับ...สนุกมาก แต่จะจัดอีกวัน วันที่ 11 ตุลาคม 52 ที่วัด

วชิระธรรมสาธิต สุขุมวิท 101/1 หรือเข้าทาง สุขุมวิท 103(อุดมสุข)ซอยประวิทย์

และเพื่อนก็ได้ ก็จะมีการแสดง และสินค้ามาขายกันมากมายเช่นกันครับ ใครที่สนใจ

จะไปเที่ยวก็เชิญได้นะครับ...ชาวล้านนายินดีต้อนรับทุกๆท่านครับ /

แสดงว่า...ช่วงนี้...เป็นช่วงที่ประตูนรกและสวรรค์เปิดจริงๆตามความเชื่อของผู้คน

ในแต่ละภาคก็เห็นคล้องต้องกันจริง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ-ใต้-ออก -ตก และภาค

กลาง หรือแม้แต่ชาวจีนก็จะจัดกันในช่วงนี้จริงๆ...คุณว่ามั๊ย/

แมงก๋ำปุ๊งคำ...ลุ่มน้ำปิง/

เป็นประเพณีที่รัฐบาล หรือองค์กรหรือใครก็ตามที่สนใจ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันสืบทอดที่หาได้ยากในสมัยที่ มีแต่ยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน บางทีอาจจะทำให้ใครบางคนที่อยู่ไกล ๆ อยากจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองก็ได้นะครับพี่น้อง หรือพี่น้องชาวอีสานใต้ ว่าอย่างไรครับ... เชิญเที่ยวงานได้ครับ ทุกปีจัดทุกปี ปีนี้ 15 - 16 กันยายน 2552 เราชาวขุขันธ์ ยินดีต้อนรับ ...

ขอบคุณทุกความเห็น...ที่ช่วยเป็นกระจกให้ได้ปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้อง และดียิ่งขึ้นต่อไป

มีภาพล่าสุดปีนี้ช่วยลงให้ดูด้วยครับ ปีนี้ไม่ได้กลับ(น้อยใจ เศร้ากับตังเองลึกๆ)

คนบ้านตาปิ่น

มีภาพล่าสุดปีนี้ช่วยลงให้ดูด้วยครับ ปีนี้ไม่ได้กลับ(น้อยใจ เศร้ากับตังเองลึกๆ)

คนบ้านตาปิ่น

มีโอกาดไปดูประทับใจมากเห็นอะไรดีๆมากน่าสนับสนุนและอนุรักษ์ให้เด็กรุ่นหลังดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท