การตรวจพิเศษทางรังสีของกล่องเสียง 1


ประมวลจากรายงานของนิสิตรังสีเทคนิค เรื่อง การตรวจพิเศษทางรังสีของกล่องเสียง

รู้จักกล่องเสียง : Larynx

          กล่องเสียง จะอยู่ต่อเนื่องมาจากคอหอยและติดอยู่กับส่วนต้นของหลอดลม และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับรูเปิดของหลอดอาหารด้วย ขณะที่มนุษย์เราหายใจเข้า  อากาศจะเข้ามาทางรูจมูกทั้ง 2 ข้างไปยังด้านหลังของโพรงจมูกและวกลงด้านล่างไหลผ่านคอหอยไปยังกล่องเสียงและไปยังหลอดลมจนกระทั่งถึงปอด

          ในทางกลับกันเมื่อหายใออกอากาศจากปอดจะไหลผ่านหลอดลม, กล่องเสียง, คอหอย และออกไปทางจมูก

          ส่วนเมื่อมนุษย์เรารับประทานอาหาร อาหารจากปากจะถูกกลืนผ่านคอหอยไปยังหลอดอาหารและลงไปยังกระเพาะอาหาร ในขณะกลืนเมื่ออาหารผ่านไปถึงยังบริเวณคอหอยเพื่อจะลงไปยังหลอดอาหารนั้น กล่องเสียงจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้อาหารตกไปยังหลอดลม เพื่อไม่ให้เกิดการสำลักโดยการที่ฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวมาปิดรูเปิดของกล่องเสียง (เพื่อไม่ให้เกิดการสำลัก) นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องกลั้นหายใจขณะกลืนอาหารนั่นเอง

กล่องเสียงมีไว้เพื่อ

  1. เป็นทางผ่านของลมหายใจ  ทั้งลมหายใจเข้าและออก
  2. ช่วยในการสื่อสารและออกเสียงพูด โดยอากาศจากปอดจะไหลผ่านหลอดลมขึ้นมาที่กล่องเสียงทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเยื่อบุภายในกล่องเสียงร่วมกับการขยับของสายเสียงจึงทำให้เกิดเสียงขึ้น อากาศจะนำเอาสายเสียงนั้นผ่านมายังคอหอยเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณคอหอย โคนลิ้นอีกจากนั้นมีการขยับของลิ้น, ฟัน และริมฝีปาก จึงเกิดเป็นคำพูดขึ้นมา
  3. ช่วยป้องกันการสำลักอาหารในขณะกลืน ทำให้หลอดลมและปอดไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอาหารที่อาจตกลงไปในทางเดินหายใจ
  4. ช่วยในการไอ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค หรือเสมหะ หลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองขึ้นคือการไอ เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดออกมาจากทางเดินหายใจ กล่องเสียงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการไอขึ้น

          เนื่องจากกล่องเสียงทำหน้าที่หลายประการ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการทำงานที่ผิดปกติของกล่องเสียง จึงมีผลตามมาหลายอย่างไม่ใช่เฉพาะเรื่องเสียงเท่านั้น


การตรวจกล่องเสียงด้วยอุปกรณ์พิเศษ (STROBOSCOPE)

          ปกติแล้วการตรวจกล่องเสียงนั้น โดยทั่วไปจะใช้กระจกเล็กๆ ส่องเข้าทางช่องปาก แล้วดูด้วยตาของแพทย์ หรืออาจใช้กล้อง (มีทั้งแบบแข็ง Rigid และแบบอ่อน Flexible) ส่องก็ได้ ซึ่งการดูด้วยตาเปล่านั้นมีข้อจำกัด เช่น สิ่งผิดปกติเล็กๆที่กล่องเสียงนั้น อาจมองไม่เห็น หรือไม่ชัดเจนได้

          การใช้กล้องส่องก็จะทำให้ภาพนั้นชัดขึ้น และสามารถนำภาพภายในกล่องเสียง ออกมาขยาย และแสดงให้ผู้ป่วยเห็นได้ทางจอโทรทัศน์ ภาพที่ออกมานั้นจะเป็นภาพเคลื่อนไหว (เหมือนการดูภาพยนต์) แต่ภาพเคลื่อนไหวที่เห็นนั้นมีความถี่สูง (ความถี่เดียวกันกับความถี่ของเสียงผู้ป่วย) ภาพจึงเคลื่อนไหวเร็ว จนบางครั้งไม่สามารถแยกความผิดปกติออกจากกล่องเสียงปกติได้ จึงได้มีการสร้างอุปกรณ์ใหม่ขึ้นมาเป็นตัวเสริม ทำให้การส่องกล้องนั้นได้รายละเอียดของกล่องเสียงค่อนข้างสมบูรณ์ และสามารถนำภาพมาแสดงในความถี่ที่ช้ากว่าปกติได้ (slow motion) จึงสามารถเห็นความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกล่องเสียงได้ง่าย และชัดขึ้น เครื่องมือนี้เรียกว่า “ STROBOSCOPE ”

          STROBOSCOPE เป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับการส่องกล้องเข้าไปตรวจกล่องเสียงของผู้ป่วย โดยตัวกล้องจะถูกเชื่อมเข้ากับ STROBOSCOPE เมื่อมีการถ่ายภาพภายในกล่องเสียงขึ้น ภาพเหล่านั้นจะถูกนำมาประมวลภายในเครื่อง STROBOSCOPE  และแสดงให้เห็นภาพทางจอโทรทัศน์ โดยสามารถแสดงให้ดูได้ทั้งภาพเคลื่อนไหวแบบปกติ และแบบช้ากว่าปกติ (slow motion) ทำให้สามารถตรวจเช็คความผิดปกติต่างๆ ได้ง่ายและชัดเจนขึ้น เช่น ภาวะการอักเสบ, เนื้องอก,  ถุงน้ำ, มะเร็ง, แผลต่างๆ, การทำงานของสายเสียง, ภาวะอัมพาตของสายเสียง, ภาวะน้ำกรดไหลย้อน, ภาวะเลือดออกหรือบวมช้ำของสายเสียง,  กล้ามเนื้อของสายเสียงลีบฝ่อ เป็นต้น

          STROBOSCOPE ยังสามารถตรวจรายละเอียดของกล่องเสียง และนำภาพมาเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการรักษา เช่น ก่อนผ่าตัด และ หลังผ่าตัดได้ด้วย
ขณะที่ตรวจโดยใช้ STROBOSCOPE นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการออกเสียงร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถตรวจได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถออกเสียงได้ เช่น ขณะที่กำลังหอบเหนื่อย, ไม่มีแรงมากพอที่จะเปล่งเสียงได้ หรือไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

          การส่องกล้องเพื่อตรวจกล่องเสียงด้วย STROBOSCOPE  สามารถตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาไม่นานและไม่เจ็บ  ไม่ต้องดมยาสลบ  ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและสามารถแสดงภาพของคอและกล่องเสียงให้ผู้ป่วยดูได้ทางจอคอมพิวเตอร์ ในขณะที่กำลังตรวจ

          นอกจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจบริเวณอื่นของคอด้วย เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เมื่อพบสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อผิดปกติที่กล่องเสียงผู้ป่วยก็จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตัดชิ้นเนื้อนั้นๆ ไปชันสูตร  เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์  และเจาะเลือด ฯลฯ

 


          Laryngography  เป็นการตรวจพิเศษทางรังสีของกล่องเสียง การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรรมดาของคอ (Neck) จะมองไม่เห็นกล่องเสียง เนื่องจากจะมีเงาของกระดูกสันหลังส่วนคอ (C-spine) ที่ทึบกว่ามาบัง

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  1. เพื่อตรวจดูความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสายเสียง (Vocal cord)
  2. เพื่อดูว่ามีก้อนมะเร็งอยู่ภายในกล่องเสียงหรือไม่
  3. เพื่อดูการลุกลามของก้อนมะเร็งว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะบริเวณ  sub glottis เพราะบริเวณนี้แพทย์ไม่อาจใช้ Laryngoscope ส่องดูได้

 

วิธีทำ

  1. ใส่สายยางเข้าไปทางปาก หรือจมูกของผู้ป่วย ลงไปถึง Supra glottis ดูดสารทึบรังสีใส่ syringe ฉีด  ไปตามสายยาง พร้อมกับดูไปกับจอทีวีของเครื่องเอกซเรย์ ฟลูออโรสโคปี ปริมาณยาที่ใช้ไม่แน่นอน แต่จะไม่เกิน 20 ซี.ซี.
  2. รังสีแพทย์จะ spot film ในท่า AP, Lateral หรือ Oblique และจะดูภาพของสายเสียงผ่านจอทีวีของเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี ในขณะให้ผู้ป่วยร้องเสียง อี และ อา เพื่อดูการทำงานของสายเสียง
  3. ถ่ายฟิล์มใหญ่ (over head film) ของ neck ในท่า AP และ Lateral supine บางรายแพทย์อาจจะให้ถ่ายเพิ่มในท่า upright อีกก็ได้
  4. เมื่อยาชาหมดฤทธิ์แล้ว ผู้ป่วยจะไอเอาสารทึบรังสีออกมาเอง

อันตรายที่อาจเกิดจากการตรวจ

  1. ผู้ป่วยบางคนอาจแพ้ยาชา เวลาพ่นต้องไม่ให้ผู้ป่วยกลืน เพราะถ้ากลืนเข้าไปยาจะถูกดูด ซึมและแพ้ได้ง่าย บอกให้ผู้ป่วยอมยาชาไว้สักครู่แล้วบ้วนออก
  2. ผู้ป่วยบางรายที่มีเนื้องอกมากๆ เวลาฉีดสารทึบรังสีอาจเลยเข้าไปยังปอด ทำให้หายใจ ไม่ออก เรียกว่าจมน้ำ ผู้ป่วยจะตัวเขียว ถ้าแก้ไม่ทันอาจถึงตายได้

 

คำสำคัญ (Tags): #stroboscope#laryngography#larynx
หมายเลขบันทึก: 240685เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ 

เราควรตรวจหลอดเสียงบ่อยแค่ไหนค่ะ เพราะใช้เสียงวันละ 5 ชั่วโมง

สวัสดีค่ะ krutoi

โดยปกติ ถ้าเรารู้สึกสบายดี ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจกล่องเสียงเป็นประจำหรอกค่ะ  เพราะอวัยวะส่วนนี้  ถ้าเกิดความผิดปกติขึ้นเพียงเล็กน้อย เราก็สามารถรับรู้ได้โดยตนเองเกือบจะทันที  ดังนั้น ผู้ที่ควรตรวจ  ควรไปหมอหมอให้ตรวจ  ต้องเข้าข่ายดังนี้ค่ะ

  1. เป็นผู้ที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งบริเวณลำคอ กล่องเสียง และหลังโพรงจมูก เช่น สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานๆ ดื่มเหล้าเป็นประจำ เคี้ยวหมากเป็นประจำ เป็นต้น
  2. คลำพบก้อนและหรือต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy) นานเกิน 2 สัปดาห์
  3. มีอาการหวัดเรื้อรังและคัดจมูกเป็นเลือดประจำและหรือมีเลือด กำเดา (Epistaxis) บ่อยๆ
  4. มีอาการปวดบริเวณศรีษะและใบหน้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. มีอาการกลืนลำบากเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  6. มีอาการกลืนลำบากเรื้อรัง (Persistent Dysphagia) หรือ แบบเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ (Progessive Dysphagia)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท