สัมภาษณ์ : ทางออกที่สร้างสรรค์ - กรณีหนังสือ ไอน์สไตนพบ พระพุทธเจ้าเห็น


ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง แม้แต่ประเด็นทางธรรมะต่างๆ ที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง ก็น่าจะมีผู้รู้ทางปรัชญาและพุทธศาสนามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน

 

 



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม 2551

ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของผมเกี่ยวกับกรณีที่มีการระงับการตีพิมพ์เพิ่ม

หนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น และ ฟิสิกส์นิวตัน จนกว่าจะได้รับการแก้ไข

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวอยู่ในเซ็คชั่น จุดประกายวรรณกรรม ในหน้า 12 (ต่อด้วยหน้า 11)


ผมจึงขอนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาบันทึกไว้ในที่นี้

เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับกรณีสำคัญในวงการหนังสือ & วงการวิทยาศาสตร์บ้านเราดังนี้


สัมภาษณ์ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

กรณีหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น & ฟิสิกส์นิวตัน

[ในกรุงเทพธุรกิจใช้หัวข้อว่า ความผิดพลาดของ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’
ในหลักเหตุผล ‘ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ  และระบุว่า สัมภาษณ์โดย ปีนนกสีขาว (นามปากกา)]


กลายเป็นประเด็นร้อนถกเถียงกันตามหน้าเว็บบล็อกเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคนอ่านทัวไปขึ้นมาทีเดียว

กรณีนักเขียนและนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง

อย่าง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ออกมาทักท้วงถึงความถูกต้องของข้อมูลจากหนังสือขายดิบขายดี

เรื่อง ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น และฟิสิกส์นิวตัน

งานเขียนของทันตแพทย์สม สุจีรา นักเขียนกำลังฮิตฮอตอยู่ในเวลานี้


ต้องยอมรับว่าหนังสือ “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” นั้นได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 40 ครั้ง ยอดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 100,000 เล่ม

แต่ล่าสุดทางสำนักพิมพ์ได้มีการระงับการพิมพ์เพิ่มหนังสือทั้ง 2 เล่มแล้ว จนกว่าจะได้รับการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว


ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

ว่าทำไมถึงต้องออกมาท้วงติงและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น

แต่รวมไปถึงหลักธรรมทางศาสนาว่า มีการบิดเบือนและคลาดเคลื่อนด้วยหรือไม่

 



ถาม : กรณีที่มีการระงับการพิมพ์เพิ่มหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ฟิสิกส์นิวตัน และ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น จนกว่าจะมีการแก้ไขนี้ ประเด็นสำคัญคืออะไร?

ตอบ : ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมสปิริตของผู้เขียน และชื่นชมความเป็นองค์กรคุณภาพของสำนักพิมพ์ที่เมื่อทราบว่าหนังสือทั้งสองเล่มมีข้อผิดพลาดมาก ก็ได้ระงับการพิมพ์เพิ่มไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไข

ผมมองว่าแก่นของปัญหานี้คือ การขาดการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการก่อนที่จะทำการพิมพ์หนังสือออกมา หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีการอ้างอิงถึงหลักการ ทฤษฎี และข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์อย่างมาก

ในกรณีที่มีการใช้และอ้างถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ น่าจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมด้วย มิฉะนั้นก็จะมีความเสี่ยงที่หนังสือจะให้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้

ที่ว่ามีความเสี่ยงก็คือ หากผู้เขียนมีความรู้ที่ถูกต้อง และนำเสนอได้อย่างแม่นยำ หนังสือก็จะไม่มีปัญหาอะไร

แต่หากผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และกองบรรณาธิการไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลและความรู้นั้นได้ ก็จะทำให้หนังสือมีที่ผิด หากคลาดเคลื่อนมาก ก็จะมีที่ผิดมากตามไปด้วย



ถาม : บางคนอาจมองว่าหนังสือสองเล่มนี้เขียนเพื่อให้ความบันเทิงมากกว่าให้ความรู้ คือแม้จะผิดพลาดมากก็คงไม่เป็นไร?

ตอบ : ลองมาดูทีละเล่มนะครับ


เล่ม ฟิสิกส์นิวตัน ระบุที่หน้าปกว่า “เสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย” และ “เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป”


ดังนั้น เล่มนี้จึงต้องการให้ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ถูกต้องแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยมีจุดพิเศษคือ เป็น “ปรากฏการณ์ใหม่ของการเรียนฟิสิกส์จากจินตนาการและความเข้าใจ”


ส่วนเล่ม ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั้นต้องการแสดงให้เห็นว่า “ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์” และ “บางสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาก่อนแล้วนับพันปี” ดูโปรยปกสิครับ

จุดสำคัญก็คือ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนในลักษณะของนิยายหรือเรื่องสั้น แต่มีลักษณะให้ข้อมูลทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาพร้อมการวิเคราะห์ ตลอดจนการแทรกข้อคิดเห็นของผู้เขียนลงไปจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้จัดพิมพ์ยังเป็นสำนักพิมพ์ที่มีผลงานน่าเชื่อถือสูงมาก อันเกิดจากการให้ความสำคัญกับคุณภาพของหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ เสมอมา


อย่างไรก็ดี สำนักพิมพ์จัดหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เล่มนี้อยู่ในชุดธรรมะวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า แม้จะมีผู้อ่านส่วนหนึ่งอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ก็ย่อมจะมีผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงทั้งทางวิทยาศาสตร์และธรรมะ และต้องการจะเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และธรรมะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร 


พูดถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง แม้แต่ประเด็นทางธรรมะต่างๆ ที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง ก็น่าจะมีผู้รู้ทางปรัชญาและพุทธศาสนามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน  หากสำนักพิมพ์ต้องการให้หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นทุกเล่มในชุดธรรมะวิทยาศาสตร์นี้มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้เขียน ผู้อ่าน และสำนักพิมพ์นั้นๆ เองครับ 

มองในระยะยาวออกไป ย่อมเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการอ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งๆ ออกไป เพื่ออ้างอิง หรือเพื่อต่อยอดทางความคิด หากหนังสือที่ถูกอ้างถึงผิดพลาดมากเสียแล้ว ผลลัพธ์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรก็สุดจะหยั่งถึงครับ

 


 ถาม : กรณีของหนังสือ “ฟิสิกส์นิวตัน” มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร

ตอบ
: หนังสือเล่มนี้นำเสนอประเด็นพื้นฐานทางฟิสิกส์หลายอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การให้ความหมายของแรงปฏิกิริยา (reaction) ผิดพลาด ในหน้า 70 และ ความสับสนระหว่างการหมุน (rotation) กับการเคลื่อนที่เป็นวงกลม (circular motion) ในบทที่ 5 และประเด็นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งดังที่มีผู้ชี้ให้เห็นในเว็บ Pantip.com ห้องหว้ากอแล้ว [ดู อ้างอิง 1 และ อ้างอิง 2 เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง]



นอกจากนี้ ยังมีการใช้คำที่แสดงถึงความไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงในทางวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น “Young’s modulus เป็นการวัดขนาดความแข็งของวัตถุ” ซึ่งที่ถูกต้องได้แก่ “ค่ามอดุลัสของยัง (Young’s modulus) เป็นสมบัติทางกลแบบหนึ่งของวัสดุที่คำนวณได้จากความชันของเส้นกราฟระหว่างความเค้นกับความเครียดในช่วงยืดหยุ่น” 

ส่วนความแข็งของวัสดุเรียกว่า hardness เป็นสมบัติทางกลที่มีวิธีการวัดค่าได้หลายแบบ แต่หลักๆ ก็คือ เป็นสมบัติของพื้นผิวที่ต้านทานต่อแรงกด หรือแรงที่มาขูดขีดผิวในพื้นที่แคบๆ
 
คุณจะเห็นว่า เพียงแค่ประโยคสั้นๆ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรน่าสงสัยนี้ หากผู้รู้มาพบเข้าและแก้ไขให้ ก็จะถูกขยายความออกมามากทีเดียว

 


ถาม : การแก้ไขหนังสือ “ฟิสิกส์นิวตัน” สามารถทำได้อย่างไร?

ตอบ : สามารถทำได้ และสมควรทำอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหนังสือที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมปลายสนใจและเข้าใจวิชาฟิสิกส์อย่างถูกต้อง

การแก้ไขคงต้องทำในหลายส่วน ในส่วนผู้เขียนจำเป็นต้องทบทวนความรู้ หรือเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าหนังสือหรือบุคคล โดยทั้งนี้ต้องระมัดระวังการตีความและการคาดเดาที่เกินเลยจากบริบทการใช้งานของทฤษฎีและความรู้ชุดหนึ่งๆ

ในส่วนของบรรณาธิการ จำเป็นต้องมีนักฟิสิกส์ที่มีความรู้อย่างน้อยระดับปริญญาโทเข้ามาตรวจสอบ เพราะในฉบับการพิมพ์ครั้งแรกๆ นั้นมีการอ้างถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กายภาพอื่นๆ เช่น เอนโทรปี (entropy) ทฤษฎีเคออส (chaos theory) และจักรวาลวิทยา (cosmology)

นักฟิสิกส์ที่จะทำหน้าที่นี้หากมีใจรักทางด้านการศึกษาด้วยก็จะดียิ่ง เพราะนี่คือหนังสือสำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องถูกต้อง อ่านสนุกเพลิดเพลิน ตรงตามความประสงค์ของผู้จัดทำ

ในส่วนของหนังสือที่ขายไปแล้ว คงต้องแล้วแต่ว่าสำนักพิมพ์จะดำเนินการบรรเทาความเข้าใจผิดทางวิชาการที่แพร่กระจายออกไปแล้วอย่างไร เช่น มีผู้เสนอไว้ในเว็บว่า อาจมีการจัดทำไฟล์ที่แก้ไขอย่างดีแล้วขึ้นเว็บ แล้วจัดแถลงข่าวให้ผู้ที่ซื้อหนังสือไปมาดาวน์โหลดไฟล์ดังกล่าว เป็นต้น

 



ถาม : แล้วหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร?

ตอบ : เรียนตามตรงว่า กรณีของหนังสือเล่มนี้นั้นซับซ้อนกว่ากรณีหนังสือ ฟิสิกส์นิวตัน มากทีเดียวครับ 

 


หนังสือ ฟิสิกส์นิวตัน เป็นหนังสือแค่ระดับมัธยมปลาย ถ้าตอนผมเรียนก็แค่ชั้น ม. 4 นะครับ ยังมีที่ผิดในระดับแนวคิดพื้นฐานอย่างเรื่องแรงปฏิกิริยาเลย

แต่หนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น อ้างถึงวิทยาศาสตร์ที่สูงกว่าครับ คือ อย่างต่ำๆ ก็ปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ โดยมีเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องที่ต้องไปเจาะลึกต่อ แล้วแต่ความสนใจของผู้ที่เรียนฟิสิกส์แต่ละคน เช่น จักรวาลวิทยา (cosmology) ในหน้า 31 ทฤษฎีสตริง (string theory) ในหน้า 39 ทฤษฎีเคออส (chaos theory) ในหน้า 128 และทฤษฎีสัมพัทธภาพ (relativity) ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในเล่มเมื่อกล่าวถึงแสงและเวลา เป็นต้น

      เนื่องจากความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนมีมาก ผมจะขอแบ่งเป็น 2 ลักษณะหลักๆ ได้แก่

หนึ่ง – ความผิดพลาดในแง่ของข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา

สอง – ความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนในประเด็นที่ซับซ้อน
      


แบบแรกนี่แก้ไขได้ไม่ลำบากนัก แต่แบบหลังนี่สิครับ อาจจะต้องเขียนบทความขนาดยาวเพื่ออธิบายกันเลยทีเดียว

นอกจากความผิดพลาดที่เห็นได้อย่างชัดเจน 2 อย่างนี้แล้ว ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจคือ การนำเสนอแทบจะไม่ได้แยกแยะระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) การตีความ (interpretation) และ การคาดเดา (speculation) เลย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอสามารถจัดระดับความน่าเชื่อถือของข้อความได้ครับ

 


 

ถาม : ช่วยยกตัวอย่างความผิดพลาดด้วยครับ

ตอบ : เรื่องนี้ผมเขียนไว้ในเว็บบางส่วนแล้ว พอเป็นตัวอย่างบ้างแล้ว

(http://gotoknow.org/blog/science/192799 และ http://www.vcharkarn.com/varticle/37687)

จะขอเพิ่มเติมอีกเท่าที่มีพื้นที่จำกัดในหนังสือพิมพ์นะครับ

ตัวอย่างความผิดพลาดลักษณะแรก (แก้ไขง่าย) เช่น 


“...วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา (หมายถึง เดอบรอย) ที่ยืนยันว่าอิเล็กตรอนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า...” (ที่ถูกต้องคือ “....ที่ถือเสมือนว่า อิเล็กตรอนสามารถประพฤติตัวเป็นคลื่นได้” (หน้า 16)

“คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมดต้องถือเป็นอนุภาค และอนุภาคทุกชนิดต้องถือว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” (ที่ถูกต้องคือ “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจประพฤติตัวเป็นคลื่นหรืออนุภาคได้ แล้วแต่สภาวะเงื่อนไขที่เราทำการสังเกต” (หน้า 17)


มีตัวอย่างประโยคที่ซ้อนความคิดหลายชั้น มีถูกมีผิดปนกัน ทำให้ต้องค่อยๆ แยกแยะอย่างระมัดระวัง เช่น

“แสงจะเดินทางช้าลงได้ที่อุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ (-273 องศาเซลเซียส) ซึ่งยังไม่มีห้องทดลองที่ไหนทำได้ และถึงทำได้มนุษย์ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นานเมื่อเข้าไปอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำขนาดนั้น”  (หน้า 65)

ข้อความ “แสงจะเดินทางช้าลงได้ที่อุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ (-273 องศาเซลเซียส)”  - ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง

ข้อความ “...ซึ่งยังไม่มีห้องทดลองที่ไหนทำได้  และถึงทำได้มนุษย์ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นานเมื่อเข้าไปอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำขนาดนั้น” - ข้อความนี้ถูกต้องเฉพาะท่อนแรก คือ ยังไม่มีใครสร้างอุณหภูมิศูนย์เคลวินได้ เพราะกฎข้อที่สามของเทอร์โมไดนามิกส์ห้ามเอาไว้ แต่มีการทดลองบางอย่างที่สามารถลดอุณหภูมิลงจนต่ำมากๆ ได้

ที่สำคัญคือ การลดอุณหภูมินั้นไม่จำเป็นต้องทำกับห้องที่คนอาศัยอยู่ แต่สามารถทำภายในแชมเบอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิ ข้อสรุปที่ว่า “ถึงทำได้มนุษย์ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน...” จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจเงื่อนไขในการทดลอง

คุณจะเห็นว่า แค่เพียงประโยค 2 บรรทัดในตัวอย่างหลังสุดนี้ ยังมีแง่มุมละเอียดอ่อนที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหากจะแก้ไข ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว

และประโยคในลักษณะนี้นี่เองที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือเล่มนี้ ทำให้หนังสือเล่มนี้ซึ่งอ่านง่าย แต่จะแก้ไขให้ถูกต้องนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ความรู้ และความอดทนอย่างมาก



ส่วนตัวอย่างของกรณีที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามในการปรับแก้นั้น มักจะปรากฏขึ้นเมื่อกล่าวถึงแนวคิด หลักการ หรือทฤษฎีที่ซับซ้อน 

ตัวอย่างเช่น เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ในข้อความที่ว่า “ทฤษฎีแห่งความยุ่งเหยิง (Chaos T heory) ถือว่าเป็นทฤษฎีแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถเข้ามาแทนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ความมหัศจรรย์ของทฤษฎีนี้ก็คือ สามารถนำไปใช้อธิบายระบบได้ทุกระบบ” (หน้า 77) - ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทฤษฎีเคออสศึกษาระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นซึ่งมีพฤติกรรมไวต่อเงื่อนไขตั้งต้น ส่วนทฤษฎีสัมพัทธภาพมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษซึ่งศึกษาการสังเกตปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในกรอบอ้างอิงเฉื่อย และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในกรอบอ้างอิงที่มีความเร่ง หรือมีความโน้มถ่วง


การที่จะอ้างถึงเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้อง จำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานของทฤษฎีที่กล่าวถึงอย่างถ่องแท้

 


 


ถาม : แล้วทางแก้ไขสำหรับหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ควรเป็นอย่างไร?

ตอบ : คงต้องมองจากหลายๆ ฝ่ายนะครับ ทางฟากอาจารย์และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องนี่ ผมกำลังประสานงานกับอาจารย์ ดร. อรรถกฤติ ฉัตรภูติ แห่งภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสัมมนาในประเด็นที่ว่า เหตุใดฟิสิกส์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำจึงถูกเข้าใจอย่างคลาดเคลื่อนได้มากถึงเพียงนี้ และทางนักวิชาการจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร เป็นต้น

ล่าสุดอาจารย์แจ้งว่า เสียงตอบรับค่อนข้างดี และหัวหน้าภาควิชาฯ รับทราบเรื่องโดยเบื้องต้นแล้วครับ

ส่วนทางผู้เขียนและสำนักพิมพ์นั้น ก็คงจะต้องหานักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ และมีเวลาเพียงพอที่จะลงในระดับรายละเอียด

[หมายเหตุเพิ่มเติม : นักวิชาการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องจำเป็นต้องลงในรายละเอียดระดับคำ วลี ประโยค และความกลมกลืนของภาพรวมในแต่ละส่วน เพราะผู้เขียนมีลีลาการเขียนที่พลิกพลิ้วลื่นไหล มีทั้งแบบผิดจังๆ และแบบผิดถูกก้ำกึ่งปะปนกัน (ขึ้นกับเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุ) ลีลาการเขียนเช่นนี้เองที่ทำให้ดูเหมือนอ่านง่าย แต่จะปรับแก้ได้ให้ถูกต้องและรัดกุมได้ด้วยความยากลำบาก เช่น หากใช้เชิงอรรถ (footnote) ก็จะทำให้ทั้งเล่มเต็มไปด้วยเชิงอรรถ หลายหน้าอาจจะมีหลายเชิงอรรถอีกด้วย เพราะหลายหน้ามีข้อความดังกล่าวมากกว่า 1 แห่ง]

คำว่านักวิชาการนี้ ผมคิดว่าถ้ามีได้ทั้งทางวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะผู้ที่รู้ฟิสิกส์ยุคใหม่อย่างดี รวมทั้งผู้รู้ทางศาสนา อาจจะเป็นพระหรืออาจารย์ทางปรัชญา มาทำงานร่วมกันก็น่าจะเกิดประโยชน์นะครับ
        

 

 


 

ถาม : ข้อดีของหนังสือสองเล่มนี้มีบ้างไหม?

ตอบ : มีแน่นอนครับ กรณีที่หนังสือ ฟิสิกส์นิวตัน ได้รับการแก้ไขฟิสิกส์อย่างถูกต้องทั้งหมด (อาจจะรวมถึงธรรมะด้วย) ก็สามารถใช้ในการเรียนรู้ได้ เพราะผู้เขียนมีสไตล์การนำเสนอที่น่าสนใจ

 

ส่วนเล่ม ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั้น หากเป็นเล่มที่ยังไม่ได้แก้ ซึ่งแพร่หลายไปพอสมควรแล้ว ก็คงต้องอ่านด้วยการวางใจกลางๆ คือ ไม่ด่วนเชื่อ หรือไม่เชื่อในทันที อย่างที่ชาวพุทธยึดถือหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์นั่นแหละครับ จากนั้นถ้าสนใจจริงๆ ก็นำประเด็นที่ผู้เขียนกล่าวอ้างเอาไว้ไปสืบค้นจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ สอบถามจากผู้รู้ และคิดพิจารณาด้วยตนเองโดยแยบคาย 

แต่ในยุคสมัยของความเร่งรีบเช่นนี้ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำเช่นนั้นได้ นี่แหละครับที่ทำให้นักวิชาการหรือคนที่ต้องการความถูกต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไข เพราะถ้าทำถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ก็จะเหนื่อยและเสียเวลาน้อยลง จะได้นำเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้


ถาม : บทเรียนสำหรับกรณีนี้คืออะไรครับ?

ตอบ : สรุปแบบกรณีทั่วไปเลยนะครับ ไม่เฉพาะแต่กรณีนี้เท่านั้น 

สำหรับนักวิชาการนั้น เราจำเป็นต้องทำหน้าที่โดยให้ความรู้แก่สังคม หรือลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตหรือทักท้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเสนอแนวทางแก้ไข


ผู้อ่านที่สนใจก็ต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะความจริงออกจากการคาดเดา

สำหรับนักเขียนก็คงต้องศึกษาพื้นฐานของเรื่องที่ตนเองจะเขียนถึงให้ดี โดยหากเป็นเรื่องที่ศึกษาด้วยตนเอง ก็น่าจะมีที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้

ส่วนสำนักพิมพ์ก็คงต้องมีกระบวนการตรวจสอบ และสร้างระบบบรรณาธิการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเมื่อคุณกำลังจัดพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับความรู้เฉพาะด้าน ยิ่งจำเป็นต้องสร้างกลไกตรวจสอบความถูกต้องของต้นฉบับ แน่นอนว่าตัวบรรณาธิการอาจไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง แต่ควรสงสัยในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ และนำข้อสงสัยนั้นไปตรวจสอบ ซักถาม ขอความรู้จากแหล่งต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามีช่องทางในการตรวจสอบมากมาย 


เพราะหนังสือนี่พิมพ์ออกมาแล้ว ยังอยู่อีกนาน อาจจะเกินกว่าชั่วชีวิตคนด้วยก็เป็นได้

 

 

 


  

Mirror Sites & เสียงสะท้อนในโลกไซเบอร์ 

 


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 198495เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2008 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

อ่านๆ ไปก็นึกถึงทฤษฎีเชือกผูกรองเท้า หรือทฤษฏีคู่ขนาน ตอนเรียนปรัชญาวิทยาศาสตร์...

โดยส่วนตัว อาตมาคิดว่า สังคมไทยไม่ค่อยตระหนักในความรู้เพื่อความรู้ โดยมากมักตระหนักในความรู้เพื่อเงินและความรู้เพื่อชื่อเสียงมากกว่า...

เจริญพร

 

กราบนมัสการหลวงพี่พระมหาชัยวุธครับ

       คงจะต้องไปรบกวนให้ช่วยอธิบาย "ทฤษฎีเชือกผูกรองเท้า" หรือ "ทฤษฎีคู่ขนาน" ซะแล้วครับ

       เรื่องความรู้เพื่อเงิน/ชื่อเสียง ท่าจะจริงครับ เพราะคนจำนวนไม่น้อยเดี๋ยวนี้วัดความสำเร็จ (success) กันด้วย เงิน/ชื่อเสียง ไม่ใช่ความสุขในงานที่ทำ (ผมอคติหรือเปล่าหนอ?) 

กราบนมัสการหลวงพี่พระมาชัยวุธ และ สวัสดีครับ พี่ชิว

ผมขอยก คำพูด ของตัวละคร หนึ่ง ใน ชอลิ้วเฮียง ตอน กล้วยไม้เที่ยงคืน ว่า

" ดังนั้น เมื่อ พวกเรา คิดกระทำเรื่องหนึ่ง เพียงถามเรื่องนี้สมควรกระทำหรือไม่ คู่ควรกระทำหรือไม่ ขณะที่กระทำเรื่องนี้ ใช่ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ตัวเองกระตือรือร้น หรือ ไม่ เนื่องเพราะ ชีวิต เป็นแต่เพียงขั้นตอนช่วงหนึ่งเท่านั้น "

แปลโดย น.นพรัตน์

ตื่น

สวัสดีครับ ตื่น

         ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิด มีความลุ่มลึกดีจริง

         ที่กำลังทำอยู่นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งในชีวิตเหมือนกัน มันผ่านมา แล้วก็จะผ่านไป แต่จะต้องไม่ลืมภาพใหญ่นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ คน-คน-สิ่งมีชีวิตอื่นๆ - สิ่งแวดล้อม - จักรวาล

พี่ชิว

 

ต้องเรียนขออภัยที่ได้นำการแสดงทรรศนะที่มีคุณค่ายิ่งชิ้นนี้ของ คุณบัญชา ไปโพสต์ที่ อารยชน โดยยังมิได้ขออนุญาต เพราะคิดว่า คุณบัญชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์คงเปี่ยมด้วยจิตเมตตาในการให้ความรู้และโลกทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์แก่สาธารณชน

ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งที่ คุณบัญชา และปัญญาชนอีกหลายท่าน ยังคงมุ่งมั่นทำงานของปัญญาชนสาธารณะ ด้วยจิตใจอันกล้าหาญ ยืนหยัดทวนกระแสนิยมซึ่งถูกปกคลุมด้วยอวิชชาและโลกทรรศน์หยาบเถื่อนนานาชนิด

ขอแสดงความนับถือมา ณ ที่นี้

สวัสดีครับ คุณศรศิลป์

       ผมต้องขอขอบคุณคุณศรศิลป์ที่ช่วยนำบทสัมภาษณ์ไปโพสต์ไว้ที่  อารยชน ครับ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือในการเผยแพร่ข้อเท็จจริง (facts) และข้อคิดเห็น (opinions) อีกทางหนึ่ง

       สังคมไทยตอนนี้เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนมากมายเหลือเกินครับ ที่น่าสังเกตคือ คนส่วนใหญ่จะสนใจคนพูดเก่ง นำเสนอตัวเองเก่ง แต่มิได้สนใจว่า เนื้อหา (content) ที่นำเสนอมานั้น มีโอกาสเป็นจริงได้มากเพียงไร? มีนัยยะอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่? หรือจะตรวจสอบอย่างไร?

       กรณีที่กล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่หลายคนทำใจรับได้ยาก เพราะถ้าแม้แต่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับหลักฐาน & ข้อเท็จจริงอย่างสูง ยังถูกเข้าใจผิดพลาด และถูกนำไป "ตีความใหม่" ให้สอดรับกับความเชื่อบางอย่างที่ "ปักธง" เอาไว้แล้ว....ก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วองค์ความรู้ในเรื่องอื่นๆ จะถูกนำไป (รับ) ใช้ลัทธิ/ความเชื่อ/ค่านิยม หนึ่งๆ ฯลฯ ได้ง่ายเพียงใด

       เรียนให้ทราบเพิ่มเติมอย่างย่อๆ ว่า กรณีนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่อาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจคนด้วย (มีหลักฐานบางอย่างที่ผมยังไม่ได้นำเสนอไว้ ณ ที่นี้ แต่ถ้าสนใจ ก็คุยกันทาง e-mail ได้ครับ)

       ขอบคุณคุณศรศิลป์อีกครั้งครับ จะหาโอกาสไปอ่าน อารยชน เป็นระยะนะครับ ^__^

สวัสดีค่ะพี่ชิว

ตามมาอ่านสัมภาษณ์เรื่องนี้ ..ทำให้ได้คิดว่าต้องคอยเตือนตัวเองเรื่อง ต้องรู้จักแยกแยะึความจริงจากการคาดเดา ..

..และเห็นด้วยกับพี่ชิวว่าสังคมไทยจะมีเรื่องข้อเท็จจริงที่บิดเบือนมากมาย ทั้งใช้การเล่นคำ แต่งเติมใส่ไข่..ทำให้ต้องมานั่งคิด นั่งแยกแยะ เสียเวลาในการพัฒนาประเทศจริงๆด้วยค่ะ

สวัสดีครับ อุ๊

        คงจะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาประเทศครับ จริงๆ แล้ว แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังมีความจริงที่ยังซุกซ่อนอยู่มากมาย...ใช่ไหมครับ

        กรณีนี้ แม้จะเป็นกรณีเล็กๆ เมื่อเทียบกับปัญหาปากท้อง หรือ ปัญหาด้านความมั่นคง ก็ตาม แต่ก็สะท้อนว่า สังคมไทยนี้เพียงแค่พัฒนาให้คนอ่านหนังสือมากๆ ยังไม่พอ ต้องดูว่า อ่านอะไรไป และมีความคิดเห็นอย่างไร อีกด้วยครับ

        ที่น่าสนใจก็คือ หากใครก็ตาม "ปักธง" เชื่อมั่นในความคิดหนึ่งๆ เข้าแล้ว อาจจะทำให้การรับสาร (เช่น การอ่านหนังสือ การสนทนาก้บคนอื่น) ถูกตีความบิดเบือนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

        กล่าวคือ คนๆ นั้นจะเลือกเอาเฉพาะส่วนที่เข้ากับความคิดเห็นของตนไปตอกย้ำความเชื่อที่ยึดถึออยู่ก่อนแล้ว (pre-conceived ideas) ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก อย่างที่เรียกกันว่า ความโน้มเอียงที่จะหาหลักฐานมายืนยันความเชื่อของตน (confirmation bias) นั่นแหละครับ

        พี่คงจะหยุดเรื่องนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อรอดูสถานการณ์ ตอนนี้กลับไปดูเมฆกันต่อดีกว่าครับ

        ว่าแต่ แวะไปชม เมฆของ อ.มัทนา กับ เมฆของพี่ดาว แล้วหรือยัง สวยจริงๆ นะเออ

 

 

คุณบัญชา ได้ปักหลักต่อสู้ทางความคิดกับความโน้มเอียงลักษณะ "สัทธรรมปฏิรูป" ที่แฝงตัวมาในคราบผู้สืบทอดพระศาสนาหลายกลุ่มหลายพวก ซึ่งในหลายทศวรรษหลังๆ นี้ ได้พัฒนาการเทคนิคในการ "ดัดแปลง-ปลอมปน" คำสอนหลักๆ ของพระศาสดาเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์และผลประโยชน์ของฝ่ายตน ทั้งยังนำ กรรมวิธีทางการตลาดแบบทุนนิยมแดกด่วน มาใช้ในกระบวนการสร้าง "ความจริงลวง" จำนวนมากมาล่อลวงผู้คนให้เข้ามาเป็นสาวก

หนึ่งใน "ความจริงลวง" จำนวนมากที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อครอบอวิชชาใส่สมองผู้คนก็คือ การบิดเบือน โลกทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก การตัดต่อ-ตบแต่ง-เลือกใช้บางส่วน ในข้อมูลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อมารับรองแนวคิด "สัทธรรมปฏิรูป" ของพวกตน

ขอร่วมให้กำลังใจ คุณบัญชา ในการต่อสู้เพื่อความจริงในแนวรบด้านวิทยาศาสตร์นี้

 

ตามเข้าไปอ่านในพันทิป แล้วก็ตามเข้าไปอ่านในลานธรรมด้วยค่ะ

ทำให้รู้สึกว่าหนังสือที่ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเป็นอันตรายต่อเยาวชนมากกว่าที่คิด ถ้าคนอ่านแยกแยะได้แล้วก็ถือว่าแล้วไป และสามารถใช้ปัญญาในการรับข้อมูลได้

แต่ถ้าเป็นเด็ก หรือเยาวชนที่ยังแยกแยะได้ไม่ดีนัก (ไม่อยากบอกว่าแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เถอะ) ลองได้รับข้อมูลเข้าไป เหมือนโดนโปรแกรมฝังหัวไว้แล้ว คงยากที่จะปรับเปลี่ยนในภายหลัง คล้ายๆ กับตั้งหางเสือผิดทาง ไม่รู้จะพาไปเข้ารกเข้าพงต่อที่ไหนเลยทีเดียว

สังเกตได้จากการตอบกระทู้ของทั้งสองเว็ปบอร์ดข้างต้นค่ะ ตีกันได้หลายประเด็นเลย

สวัสดีครับ คุณศรศิลป์

        เป็นการสรุปที่เฉียบคมมากครับ เดี๋ยวนี้มีการอ้างว่า "เป็นวิทยาศาสตร์" กันเยอะ เพราะฟังแล้วน่าเชื่อถือดี

        แต่จะเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่นั้น ต้องตรวจสอบได้ครับ

สวัสดีครับ คุณ แม่น้องธรรม์

        ใช่แล้วครับ เพราะข้อมูลนั้นทรงพลังกว่าที่เราคาดคิดมากนัก

มีคนเคยบอกไว้ว่า ถ้าคุณเข้าใจอะไรสักอย่างจริงๆ คุณจะจำมันได้ชั่วชีวิต

แต่ถ้าจะให้ครบก็ต้องบอกว่า ถ้าคุณคิดว่าเข้าใจอะไร ทั้งๆ ที่คุณเข้าใจผิด คุณก็จะเข้าใจผิดๆ และจำมันไปฝังหัวชั่วชีวิตเหมือนกันครับ

เรื่องหนังสือฟิสิกส์นิวตัน จงใจทำให้ความผิดพลาดน้อยลงหรือเปล่าครับ

ถึงจะเป็นการรักษาหน้าของทพ.สมก็ตาม

เพราะแค่เรื่องมวลกับน้ำหนัก สับสนกันตลอดเล่ม แค่นี้ก็หน้าหงายแล้ว

คือมันผิดเยอะมาก แบบที่ว่าไม่น่าเป็นผู้ผ่านการเรียนฟิสิกส์มาก่อน แต่ในคอลัมน์เหมือนเล็กน้อย คือเขียนตีความผิดจาก

การดู'ความสัมพันธ์ของตัวแปร' กลายเป็น 'ตัวแปรหนึ่ง"คือ"อีกตัวแปรหนึ่งดำเนินการบางอย่าง'

ซึ่งถ้าผู้อ่านคอลัมน์มาอ่าน ก็คงไม่รู้สึกว่ามันหนักหนาอะไรครับ

สวัสดีครับ

      ไม่ได้จงใจอะไรเลยครับ แต่พอดีมีเวลาตอบสัมภาษณ์ไม่มากนัก จึงทำให้หลงลืมเรื่อง มวล-น้ำหนัก นี่ไป อีกอย่างในเว็บ Pantip.com นั้น คุณศลก็ได้ชี้ให้เห็นประเด็นนี้แล้ว

      คงต้องมาจับตาดูกันต่อครับสำหรับวงการหน้งสือวิทยาศาสตร์บ้านเรา

      เมื่อสักครู่ (วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2551 ประมาณ 9:45am) ได้มีโอกาสสนทนากับคุณสุภาวดี โกมารทัต ทางโทรศัพท์ และได้ทราบจากคุณสุภาวดีฯ ว่า

      - คุณสุภาวดีฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาเรื่องนี้แล้ว (ยืนยันคำพูดของท่านจากการสนทนาครั้งก่อน)

      - คุณเมตตาฯ ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วรู้สึกชื่นชม เพราะจะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งผู้เขียน สำนักพิมพ์ และผู้ให้สัมภาษณ์ จึงจะส่งขนมมาให้ที่ สวทช. [หมายเหตุ : ผมเลยแซวไปว่า เดี๋ยวเกิดมีเงินซุกมาด้วย 2 ล้าน ก็ยุ่งแน่ (ฮา)] 

      - ผู้เขียน กำลังปรับปรุงหนังสือ 2 เล่มนี้อยู่..... [หมายเหตุ : ได้แจ้งคุณสุภาวดีไปว่า...ผู้เขียนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป และมีความผิดพลาดมากขนาดไหน - เรื่องนี้คงต้องรอดูต่อ]

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นนะครับ ^__^

 

ศล (ห้องคอมที่ มช เน็ตหลุดบ่อยมาก T T )

สวัสดีครับพี่ชิว

ดีใจจังครับที่ได้ทราบว่าทั้ง สนพ และ ผู้เขียน เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพี่แล้วนำไปปรับปรุง

แต่ผมก็มีความรู้สึกลึก ๆ บางอย่าง เนื่องจากความผิดพลาดที่เห็นมานั้น เกิดจาก "ความเข้าใจผิด"

ไม่ได้เกิดจากการคิดเลขคำนวณผิด

หรือพิมพ์ตก ๆ หล่น ๆ

หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหา

หรือการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน

หรือ ฯลฯ

เพราะในหลาย ๆ จุดผิด ผมเชื่อว่าเราเห็นชัดว่าผู้เขียนบรรยายชัดเจน สมบูรณ์ สามารถเข้าใจได้

ว่าผู้เขียนคิดเห็นอย่างไร แต่เนื้อความที่ผู้เขียนบรรยายมานั้นเกิดจากความเข้าใจผิด

การแก้ตรงนี้ ถ้าแก้โดยตัวเองแก้ยากครับ เพราะผู้เขียนอาจมองไม่ออกว่าตัวเองเข้าใจผิดตรงไหน

(แตกต่างจากความไม่เข้าใจนะครับ เพราะเรากำลังพูดถึงความเข้าใจผิด)

ฉะนั้นการแก้ถ้าผู้เขียนคิดจะแก้จริง ๆ คงต้องเริ่มจากศึกษากันใหม่เลยทีเดียว ทั้งในฟิสิกส์และพุทธธรรม

โดยเฉพาะหนังสือไอน์สไตน์ฯ นั้น (เท่าที่ผมเริ่มพลิกดูผ่าน ๆ) ผู้เขียนไม่ศึกษาอภิธรรมมาดีพอ

แต่พยายามอธิบายอภิธรรมด้วยภาษาง่าย ๆ ผลที่ได้คือความมั่วและไม่ลงรอยกันเองในอภิธรรม

ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นการตีความเลยครับ แค่ประเด็นที่ว่ากันตรง ๆ ตามตัวอักษรยังผิดเพี้ยนเลย

(ผมยกตัวอย่างจากที่อ่านมาครึ่งหน้าคือเรื่อง เจตสิก ครับ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=zol&month=31-07-2008&group=5&gblog=8)

ที่พี่บอกว่าคงต้องรอดูกันต่อไป จึงทำให้รู้สึกหวั่น ๆ ใจชอบกล

ผมขอเล่าเรื่องที่มีคุณครูคนหนึ่งในเว็บบอร์ด pantip.com ส่งข้อความหลังไมค์มาหาผมนะครับ

ผมคิดว่าตัวอย่างนี้น่าจะสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างได้ดี

ถึงผลกระทบที่ตัวผู้เขียนเอง สนพ (โดยเฉพาะฝ่ายการตลาด) อาจจะคาดคิดไว้ไม่ถึง

คุณครูคนนั้นเขียนมาขอบคุณ "ที่ได้ท้วงติงข้อผิดพลาดของหนังสือดังกล่าว

ที่ รร.เป็นหนังสือที่แนะนำให้นักเรียนอ่าน เพิ่งเจอกระทู้ที่หว้ากอ

ตอนนี้แจ้งรองวิชาการแล้วค่ะ ขอบคุณมากนะคะ" (ข้อความส่งวันที่ 4 สค 51)

และผมก็ขอขอบคุณพี่ชิวมากครับที่ปักหลัก (ที่ถูกต้อง) ต่อสู้ให้เรื่องออกมาสู่สาธารณชนในหมู่กว้าง

ถ้ามีฉบับพิมพ์ปรับปรุงใหม่ และผ่านการตรวจสอบจากผู้รู้ที่รู้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากต่อวงการหนังสือ

แต่ถ้าคำว่า "ปรับปรุงใหม่" ไม่ได้หมายรวมไปถึง "ปรับปรุงความเข้าใจของผู้เขียนเสียใหม่"

ก็มีความเป็นไปได้ต่อ "หายนะซ้ำบนรอยเดิม" ครับ

ปล. ผมขออนุญาตลิงค์จากจากบล็อกผมมาที่หน้านี้นะครับ (ทำไปแล้ว ^_^)

สวัสดีครับ "ศล"

        เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า   

         "การแก้ตรงนี้ ถ้าแก้โดยตัวเองแก้ยากครับ เพราะผู้เขียนอาจมองไม่ออกว่าตัวเองเข้าใจผิดตรงไหน (แตกต่างจากความไม่เข้าใจนะครับ เพราะเรากำลังพูดถึงความเข้าใจผิด)

         ฉะนั้นการแก้ถ้าผู้เขียนคิดจะแก้จริง ๆ คงต้องเริ่มจากศึกษากันใหม่เลยทีเดียว ทั้งในฟิสิกส์และพุทธธรรม"

         นี่แหละครับที่พระท่านถึงได้บอกว่า อันกิเลสของมนุษย์นั้น "โมหะ" หรือ "ความหลง" นี่เห็นได้ยากที่สุด โดยเฉพาะตัวผู้มีโมหะนั้นเอง

         ไม่เหมือน "โลภะ" หรือ "โทสะ" ซึ่งมีอาการที่เห็นได้ง่ายกว่า

         เอาไว้คุยกันอีกทีเรื่องนี้ครับ ว่าถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เราจะทำอย่างไรกันต่อไป

         แต่ตอนนี้อุ่นใจขึ้นเยอะแล้วครับ เพราะคนที่เขาอึดอัดกับ "ความมั่วๆ ชุ่ยๆ" นี้ เห็นคนที่เขาจะมาคุยด้วยแล้ว

         "ศล" ได้ทำบุญไปแล้วครับ ที่ได้ชี้ให้เห็นสิ่งผิดปกติต่างๆ อย่างละเอียด และทำให้บางโรงเรียนรับทราบเรื่องนี้ครับ

 

ขอบคุณ ที่ให้ความกระจ่างครับ

ไปเห็นหนังสือขึ้นหิ้ง ติดอันดับ

ว่าจะเอามาอ่านมั่ง แต่มาเจอข้อโต้แย้ง

จากหลายๆท่านเลย - -

สวัสดีครับ คุณ alldata

        อ่านได้ครับ ยิ่งรู้ทันว่าอะไรเป็นอะไร อาจจะอ่านสนุกกว่าเดิมด้วยซ้ำนะครับ ;-)

        จะได้เห็นจินตนาการอันล้ำลึกในการ "จับแพะชนแกะ" ของผู้เขียนครับ ล้ำลึกกว่า Star Trek + Star Wars อีกแน่ะ (จริงๆ นะ เอาแค่เรื่อง Graviton กับ รอยพระพุทธบาท นี่ก็อึ้ง + ทึ่ง แล้ว)

        หนังสือเล่มนี้จริงๆ แล้วควรจะจัดไว้ในกลุ่ม "แฟนตาซี" แถมยัง "โรแมนติก" อีกต่างหาก เป็นไปตามสไตล์ "เขียนด้วยความรู้สึก" อย่างที่ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ไว้

        ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ต้องระมัดระวังมาก

        นี่คือ วิทยาศาสตร์ปลอมๆ ที่มาในคราบวิทยาศาสตร์ โดยการอ้างศัพท์แสง แนวคิด ทฤษฎี และการให้เหตุผล ที่ "ดูเหมือนวิทยาศาสตร์"

        เอาไว้จะหาโอกาสขยายความ วิธีการตรวจสอบว่าคำกล่าว หรือวิธีการคิดหนึ่งๆ เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ - ตอนนี้ขอติดไว้ก่อน

        จริงมั่ง มั่วมั่งไปก่อน เหตุเพราะคิดว่าเข้าใจ แถมยังอธิบายได้ดี เป็นตุเป็นตะอีกตะหาก...นับเป็น "จุดแข็ง" ครับ สร้างความบันเทิงและอารมณ์ร่วมให้กับคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเด็ก & เยาวชนไทย ที่ยังไม่มีความรู้มากนัก & ยังขาดวิจารณญาณ

        หันมามองสังคมไทยเราบ้าง.... ขอสรุปสั้นๆ ว่า

        น่าเป็นห่วงครับ หากเด็ก & เยาวชนไทยถูกหล่อหลอมด้วยข้อมูล & วิธีคิดที่ถูกบิดเบือนมากเช่นนี้

        ผมมีลูก 2 คนครับ และจะสอนเขาให้ระมัดระวังเรื่องทำนองนี้ให้ดี

        เพราะ "ความเชื่อ" นี่แหละ ที่กำหนดชีวิตของคนและสังคม

สวัสดีครับคุณบัญชา

จริงๆ แล้วกรณีเรื่องที่ว่า คนไทย (จริงๆ ผมว่าไม่ใช่แค่คนไทยน่ะนะ) วัดความสำเร็จ ด้วยการเงินนั้น ผมยังอาจจะมี argument อยู่

คือในฐานะภาพรวมของ Empirical Fact นั้นผมอาจจะคล้อยตามอยู่พอสมควร แต่ในแง่ของ Value แล้ว ผมคิดว่าบางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ "เลวร้ายมากมาย" อย่างที่คิดนัก...คือ "ไม่ใช่ว่าดี แต่ก็ไม่ได้เลว" อะไร

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นแลกๆ คำคมกันอยู่ ผมเลยขอเสนอบ้างสักประโยค

"Only in the dictionary that you are able to find the word 'success' comes before 'work'."

(มีเพียงแต่ในพจนานุกรมเท่านั้น ที่คุณจะพบคำว่า "success" มาก่อนหน้าคำว่า "work")

แต่บอกตรงๆ นะครับ ว่า "นักคิดคำคม" ที่ผมชอบที่สุด อย่างไม่มีคนไหนสามารถล้มตำแหน่งได้เลย ก็คือ ไอนสไตน์เนี่ยแหละครับ...แต่ละคำของปู่แก คม และช่างประชดประชันจริงๆ

ที่ผมชอบมากที่สุดคงเป็น

"I know not with what weapons World War III will be fought, but World War IV will be fought with sticks and stones."

(ผมเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าสงครามโลกครั้งที่สามนั้นจะรบรากันด้วยยุทโธปกรณ์ใด แต่สงครามโลกครั้งที่สี่นั้นยุทโธปกรณ์จะเป็นแต่เพียงกิ่งไม้ และก้อนหิน)

...ผมอ่านครั้งแรกนี่แบบว่า "โห ปู่แกคิดได้ไงวะเนี่ย"...(จริงๆ มีเด็ดๆ อีกเยอะมากนะครับของปู่แก)

อีกคนที่คำคมดีๆ เด็ดๆ เยอะก็คือ ขงจื๊อครับ แต่น่าแปลกที่คนไทยมักไม่ค่อยจะได้รู้จักกัน...โดน force ให้รู้จักแต่คำของตถาคตเสียหมด

"การไม่รู้จักแก้ไขความผิดพลาด...คือความผิดพลาดที่แท้จริง" (ขงจื๊อ)

หวังว่าคำกล่าวของขงจื๊อนี้ คงตะสื่อไปถึง "ท่านทันตแพทย์หญิงผู้โด่งดัง" ท่านนั้นได้ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่งนะครับ

ด้วยความเคารพ

ปล. ขออภัยที่มาเวิ่นเว้ออยู่เรื่อยๆ นะครับ

สวัสดีครับ

        ไม่ได้ 'เวิ่นเว้อ' อะไรเลย (เอ...ว่าแต่ 'เวิ่นเว้อ' นี่แปลว่าอีหยัง?)

        ผมเกรงว่าเจ้าตัว 'ไม่รู้ว่าตนเองได้ทำอะไรผิดไป' ซะมากกว่าครับ คือ คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องแล้ว ทำนองว่า ก็มีคนต้องการเยอะแยะ จะผิดได้ยังไง (ตรรกะนี้ถ้าใช้กับ บุหรี่ เหล้า หรือยาเสพย์ติด ก็พอๆ กัน...ลองจินตนาการดูเองได้)

        ชอบคำคมของ 'ขงจื๊อ' มากครับ ขออีกๆๆๆ

        อ๊ะ! ชอบไอน์สไตน์ซะด้วย...แต่...เอ! นี่แสดงว่าไม่เคยอ่านหนังสือที่ผมเขียนเลยใช่เปล่า?

        เล่มนี้ และ เล่มนี้ ครับ

       ส่วนรวมฮิต คำคมของไอน์สไตน์จาก Wikipedia ก็ลองเข้าไปดูได้

       

เวิ่นเว้อ นี่อาจจะแปลเป็นภาษาอย่างเป็นทางการยากอยู่นะครับ (ขอเวลาผมคิดก่อน...คือ เหมือนเวลามีคนถามผมว่า ภาาาอีสานคำว่า "พอกระเทิน" แปลว่าอะไร นี่ก็ไม่รู้จะแปลไงเหมือนกัน)

ส่วนเล่มของคุณสมบัติ ผมยังไม่ได้อ่านเลยครับ (แหะๆ...ขออภัย) คือ หนังสือเล่มเดียวที่ผมซื้อตอนช่วง "ครบรอบ 100 ปีไอนสไตน์" คือเล่มเล็กๆ (แต่ราคาสูง*) ที่รวมคำคมของไอนสไตน์น่ะครับ (ที่ปกขึ้นคำโปรยว่า Imagination is more important than knowledge.)

คือ ผมชอบไอนสไตน์ทั้งในแง่ของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์น่ะครับ แถมผมชอบเค้ามากยิ่งในเรื่องการมี accountability ต่อสังคม ตอนที่เค้าคิดว่าทฤษฎีของเค้าผิด เค้าก็แสดง accountability ที่ชัดมากๆ ด้วยการออกมา "ยอมรับผิด" (ผมว่า คุณทันตแพทย์หญิง น่าจะลองเอาเป็นตัวอย่างบ้าง)...ส่วนหนังสือของคุณบัญชานั้น ผมเคยเล็งที่จะบริโภคหลายรอบแล้วครับ แต่ยังไม่ประสบโอกาสสักที ทั้งติดต้องอ่านหนังสือบังคับ ทั้งจากความเกียจคร้านของตัวเอง...แต่คงได้อ่านแน่ๆ ครับ เพราะอยู่ในลิสต์รายการหนังสือที่อยากอ่านมาพักใหญ่ๆ แล้ว

(บางทีอาจเป็นช่วงปิดเทอมนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดเข้ามาแทรกซ้อนอีก 555+)

ส่วนคำคมขงจื๊อ ผมขอค้นแปบนะครับ ผมเคยรวบรวมไว้เป็นไฟล์เดี๋ยวกันแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าไปยัดไว้ folder ไหน

ด้วยความเคารพ

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช

ปล. มีเว็บหนึ่งที่รวบรวม quote ของไอนสไตน์ไว้เยอะมากๆ เลยครับ ผมจำลิ้งก์ไม่ได้ ขอเวลาหาอีกเช่นกัน

(หมายเหตุ - *ผมใช้คำว่า "ราคาสูง" เพราะต้องการจะสื่อว่า "ไม่ใช่หนังสือแพง" ผมคิดว่า คนไทยเราควรแยกความแตกต่างระหว่าง "ราคาสูง กับแพง" ออกจากกันอยู่ คือหนังสือบางเล่มราคา 20 บาท อาจจะเรียกได้ว่าแพง ในขณะที่หนังสือเล่มละหลายร้อย อาจถูกมากๆ ก็ได้...คือ ผมคิดว่าคนไทยเรา ไม่ค่อยแยก Value ของหนังสือ กับ Price ของหนังสืออกจากกันน่ะครับ ทั้งๆ ที่ Value กับ Price มันเป็นคนละอย่างกัน)

ว่างๆ เข้าเป็นเล่นบล็อกผมมั่งก็ดีนะครับ (ขอโฆษณาหน่อยนะครับ 555+) ที่ http://fallingangels-review.exteen.com

ของขงจื๊อนะครับ (...เจอแล้ว)

"อย่ากังวลว่าผู้อื่นจะไม่เข้าใจตนเอง

พึงกังวลว่าตนเองจะไม่เข้าใจผู้อื่น

จงพยายามหาทาง ที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจ"

"อย่ากังวลว่าจะไม่มีตำแหน่ง

จงกังวลว่า จะไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในงานที่ทำ"

"เมื่อตนทำถูกต้อง ไม่ต้องออกคำสั่งก็มีผู้ปฏิบัติตาม

เมื่อตนทำไม่ถูกต้อง แม้ออกคำสั่งก็ไม่มีผู้เชื่อฟัง" (อันนี้ผมชอบมาก)

"สุภาพชนรักสมานฉันท์ แต่ไม่แสวงหาพรรคพวก

คนต่ำทรามแสวงหาพรรคพวก แต่ไม่สมานฉันท์"

"สุภาพชนย่อมสุขุมในคำพูด แต่ไวในการปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมไม่โดดเดี่ยวและมีเพื่อนเสมอ"

- - - - - - (มีเท่านี้อ่ะครับ) - - - - - -

แต่ผมเจอลิ้งก์เพิ่มเติมเป็นภาษาอังกฤษ หากท่านใดสนใจลองดูได้ครับ

http://thinkexist.com/quotes/confucius/

--------------------------------------

ส่วนลิ้งก์ quote ของไอนสไตน์นั้น ผมหาไม่เจอจริงๆ (แต่ดีมากๆ quote เยอะ และครบถ้วนมากๆ)

แต่ผมบันทึกเนื้อหาไว้แล้ว หากท่านใดสนใจก็บอกได้ครับ เดี๋ยวผมส่งเมล์ให้ได้

ด้วยความเคารพ

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช

สวัสดีครับพี่ชิว...นำ พระอภัยมณีคำกลอนของสุนทรภู่ มาฝากครับกระผม ตอนนี้ เป็นตอนที่ บรรยายความถึง นางวาลี ผู้มีรูปชั่ว ตัวดำ "เหมือนคุลาหน้าตุเหมือนปรุหนัง แลดูดังตะไคร่น้ำดำมิดหมี" แต่พระอภัยมณีรับนางไว้เป็นหม่อม เพราะเห็นว่านางเป็นคนมีสติปัญญา นางวาลี ต้องการฆ่า อุศเรน หลังจากเจ้าลังกาสิ้นแล้วเพราะนางคิดว่าต่อไปภายหน้าอุศเรนอาจเป็นเสี้ยนหนามที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พระอภัยมณีได้ ต่อไปนี้คือวาทะของนางวลี

พระผ่านเกล้าเรานี้อารีเหลือ         เหมือนดูถูกลูกเสือเบื่อนักหนา
พระทัยซื่อถือว่าคุณเขามีมา         ถึงจะว่าเห็นไม่ฟังกำลังเมา
ทั้งองค์พระมเหสีก็มิห้าม             เพราะมีความการุญคิดคุณเขา
ด้วยเป็นมิตรบิตุรงค์ของนงเยาว์    เว้นแต่เราจะต้องทำแต่ลำพัง
ประเวณีตีงูให้หลังหัก                  มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ถึงน้ำมีกำลัง               เหมือนเสือขังถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า            ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย        จะทำภายหลังยากลำบากครัน 

จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ           ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ              นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการ

ได้อ่านคำวิจารญ์ข้อผิดพลาดต่างๆ แล้ว แต่ผมไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับพิสิกส์เท่าไหร่ ธรรมะก็ไม่ได้จะรู้อะไรลึกซึ้ง

เลยคิดว่า ขออ่านเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเข้าสู่ธรรมะของผมเองดีกว่า (ปกติบาปหนา ไม่ค่อยสนใจธรรมะ)

แล้วค่อยๆ ศึกษาธรรมะไปด้วยตัวเอง เคยเห็นประโยคว่า...อย่าเืชื่อเพราะ....อะไรทั้งหลายแหล่นั่นแหละ ... กับอีกอย่าง ธรรมะมันสอนกันเท่าไหร่ ก็ไม่เท่ากับปฏิบัติจริง

ขอบคุณผู้วิจารญ์ ขอบคุณสำนักพิมพ์ ขอบคุณผู้เขียนหนังสือ.....

  • ตามมาอ่านบันทึกเรื่องหนังสือคุณหมอสม  หลายๆ บันทึกของอาจารย์แล้วค่ะ
  • แม้จะได้เข้ามาอ่านช้าไป แต่ต้องขอบคุณอาจารย์มาก ที่เขียนบันทึกนี้ ดิฉันได้ความกระจ่างในหลายๆ ข้อสงสัย
  • บางครั้งเราก็ไม่รู้นะคะว่า "สิ่งที่อ่าน" นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนเช่นไร จนกว่าจะมีคนที่รู้จริงๆ มาชี้ให้เห็น  เพราะเราไม่รู้ทั้งหมด  จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนร่วมกับสำนักพิมพ์จริงๆ ในการเผยแพร่ 
  • ผู้อ่านยิ่งต้องใช้วิจารณญานเป็นตัวกรองอย่างสำคัญ
  • ได้ข้อคิด และ ความรู้มากที่มาอ่านบันทึกนี้
  • ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เรื่องที่รับรู้อยู่ทุกวันตื่นนอนกินอาหารถ่ายแล้วเข้านอนมีเสพเมถุนและเสพอาจมเสพขรรธ์ห้าอายตนะทั้งหกรู้อยู้แล้วเพียงแต่มีผู้ชี้แนะให้เห็นทางคือพระพุทธเจ้านั่นเองพระพุทธเจ้าตรัสรู้คือไม่มีใครมาบอกเล่าแต่พวกเรารับรู้เรื่องเหล่านี้จากพระพุทธเจ้าทำให้เข้าใจมากขึ้นตั้งแต่มีโลกเกิดขึ้นมาแล้วมนุษย์เป์นแพลงตอนมีแสงในตัวต่อมาพัฒนาการจนเป็นสัตวเลี้ยงลูกด้วยนมสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัวต์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่หนีลงทะเลละโลภโกรธหลงทรัพย์สมบัติคือโลมาท่องไปในดินแดนที่แสนไพศาลมิต้องมิรถราอาคารหากแต่อยู่วัฎสงสารอันน้อยนิดพร้อมจะนิพพานเมื่อเวลามาถึงสูงส่งกว่ามนุษย์จะเข้าใจไอสไตน์รับรู้ในทางวิทยยาในความเป็นเหตุเป็นผลแต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่อุบัติเกิดขึ้นมีอยู่ดับไปนั้นเรียกว่าอะไรไอสไตน์จึงให้ทฤษฎีที่ว่าไม่มีปาฎิหาร์ยหากแต่มีความสมเหตุและผลเมื่อองค์ประกอบเท่ากันจะบังเกิดเหตุอันไม่น่าเชื่อต่อผู้ไม่รู้นั่นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท