คังเคยยชาดก


ว่าด้วย ผู้ชอบโอ้อวด

คังเคยยชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. คังเคยยชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๐๕)

ว่าด้วยเต่างามกว่าปลาในแม่น้ำคงคา             

(เต่ากล่าวกับปลาว่า)             

[๑๐๙] ปลาที่อยู่ในแม่น้ำคงคาก็งาม ถึงปลาที่อยู่ในแม่น้ำยมุนาก็งาม แต่สัตว์สี่เท้ามีสัณฐานกลมคล้ายต้นไทร มีคอยื่นออกมานิดหน่อยตัวนี้สง่างามกว่าใครทั้งหมด             

(ปลากล่าวว่า)             

[๑๑๐] ท่านไม่ตอบเหตุที่เราถาม ท่านถูกถามอย่างหนึ่ง กลับตอบไปเสียอีกอย่างหนึ่ง คนที่ยกย่องตนเอง พวกเราไม่ชอบใจเลย

คังเคยยชาดกที่ ๕ จบ

--------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

คังเคยยชาดก

ว่าด้วย ผู้ชอบโอ้อวด

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นสหายสองรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุทั้งสองนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี บวชในศาสนาแล้ว มิได้บำเพ็ญอสุภภาวนา ชอบสรรเสริญรูป เที่ยวพร่ำเพ้อแต่เรื่องรูป.
               วันหนึ่ง ภิกษุทั้งสองนั้นเกิดทุ่มเถียงกันเรื่องรูปว่า ท่านงาม เราก็งาม เห็นพระเถระแก่รูปหนึ่งนั่งอยู่ไม่ไกล พูดว่า พระเถระรูปนี้จักรู้ว่าเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาท่านถามว่า ท่านขอรับ ผมทั้งสองนี้ใครงาม. พระเถระตอบว่า เรานี้แหละงามกว่าพวกท่าน. ภิกษุหนุ่มทั้งสองรูปคิดว่า หลวงตาแก่รูปนี้ไม่ตอบคำที่เราถาม กลับตอบคำที่เราไม่ได้ถาม จึงบริภาษแล้วหลีกไป.
               กิริยาของภิกษุสองรูปนั้นได้ปรากฏในหมู่สงฆ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ข่าวว่า พระเถระผู้เฒ่าได้ทำให้ภิกษุหนุ่มอวดรูปโฉมทั้งสองนั้นได้อาย. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหนุ่มสองรูปนี้ มิใช่ยกยอ รูปแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอทั้งสองก็เที่ยวพร่ำเพ้อรูปเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ที่ฝั่งคงคา. ครั้งนั้น มีปลาสองตัวอยู่แม่น้ำคงคาตัวหนึ่ง อยู่แม่น้ำยมุนาตัวหนึ่งทุ่มเถียงกันเรื่องรูป ณ ที่แม่น้ำคงคาและยมุนามาบรรจบกันว่า เรางาม ท่านซิไม่งาม เห็นเต่าเกาะอยู่ที่แม่น้ำคงคา ไม่ไกลจากที่นั้นเท่าไร คิดกันว่า เต่านี้คงจักรู้ว่า พวกเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาเต่านั้น แล้วถามว่า เต่าผู้เป็นสหาย ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคางาม หรือปลาตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนางาม. เต่าตอบว่า ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคาก็งาม ตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนาก็งาม แต่เรางามยิ่งกว่าเจ้าทั้งสองเสียอีก
               เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
               ปลาชื่อคังเคยยะก็งาม และปลาชื่อว่า ยมุนาก็งาม แต่บุรุษ ๔ เท้ามีปริมณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่งผู้นี้ ย่อมรุ่งเรืองกว่าใครทั้งหมด.
               ปลาฟังคำเต่าแล้วกล่าวว่า เจ้าเต่าชั่วพ่อตัวดี เจ้าไม่ตอบคำที่เราถาม กลับไปตอบเป็นอย่างอื่นเสียนี่ แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่ง ท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คนสรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.
               ปลาทั้งสองตัวพ่นน้ำใส่เต่าแล้ว ก็ได้ไปยังที่อยู่ของตนตามเดิม.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               ปลาสองตัวในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุหนุ่มสองรูป ในครั้งนี้
               เต่าได้เป็นภิกษุแก่
               ส่วนรุกขเทวดาผู้เกิดที่ฝั่งคงคาผู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาคังเคยยชาดกที่ ๕

----------------------



 

คำสำคัญ (Tags): #รุกขเทวดา
หมายเลขบันทึก: 718060เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 05:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 05:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท