ข้อสอบ MCQ และการวิเคราะห์ ๑


          คุณสมประสงค์ ถามดิฉันผ่านทาง Blog มาว่า

          "ผมอยากทราบถึงทฤษฎีของการวิเคราะห์ข้อสอบแบบเลือกตอบครับ การตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบ การวิเคราะห์ความยากง่าย จะต้องทำอย่างไรบ้างครับ ?"

          ประจวบเหมาะอะไรอย่างนี้ ดิฉันเพิ่งได้เรียนรู้มาแหมบๆ ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้สักเท่าไหร่

          ท่านอาจารย์หมอวัลลี (ผศ.พญ.วัลลี  สัตยาศัย: รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) เพิ่งจะรับเชิญมาเป็นวิทยากรแก่คณาจารย์คณะสหเวชฯ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมานี้เองค่ะ

          หรือว่า... ท่านส่งคนมาประเมินผลการเรียนรู้ของดิฉัน รึปล่าวเนี่ย??

          อย่างไรก็ไม่ว่ากัน...ดิฉันจะลองอธิบายดูนะคะ....ต้องเริ่มตั้งแต่รู้จักข้อสอบแบบเลือกตอบก่อนนะคะ


เทคนิคการออกข้อสอบ MCQ : Multiple Choice Question

          ข้อสอบแบบ MCQ: เลือกตอบ เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อสอบปรนัย (Objective Examination)
          ข้อสอบปรนัย ยังมีแบบ True-false: เลือกถูก-ผิด และแบบ Maching: จับคู่  แต่ 2 แบบหลังนี้ ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว เพราะใช้วิธีเดาได้ ทำให้วัดผลได้ไม่แม่น

          ข้อสอบแบบ MCQ มีข้อดี คือ

  1. มีความเที่ยงสูง เพราะสามารถออกข้อสอบได้จำนวนข้อมาก และคำตอบมีความชัดเจน
  2. ให้คะแนนง่าย ถ้าอาจารย์ทำคำตอบไว้ ก็ไม่ต้องตรวจเอง ยิ่งสมัยใหม่มีเครื่องสแกนช่วยตรวจ ทำให้สะดวกมากขึ้น ผู้ตอบตอบบนกระดาษคำตอบด้วยวิธีฝนหมึกลงไปในช่อง เครื่องสแกนก็สามารถอ่านคำตอบให้ได้ รวมคะแนนให้ได้
  3. สามารถเลือกเนื้อหามาออกข้อสอบได้เยอะ  ครอบคลุมสิ่งที่สอนได้มาก อาจารย์ส่วนใหญ่จะชอบ

          ข้อสอบแบบ MCQ มีข้อด้อย คือ

  1. ใช้เวลาออกข้อสอบมาก  ในกรณีที่รู้หลักการออกข้อสอบแบบ MCQ อย่างถูกต้อง จะทราบว่าต้องใช้เวลามากทีเดียว
  2. ใช้ประเมินความจำมากกว่าความเข้าใจ การประเมินการแก้ปัญหาหรือการประยุกต์ใช้ทำได้จำกัด  เพราะข้อสอบ MCQ โจทย์ต้องสั้น แต่ข้อสอบความเข้าใจ โจทย์ต้องยาว

          เมื่อไหร่จึงจะใช้ข้อสอบ MCQ  (ที่ถูกแล้ว การสอบควรมีทั้งข้อสอบปรนัย และอัตนัย) 

  1. เมื่อผู้สอบมีจำนวนมาก เช่นร้อยคนขึ้นไป เพราะจะตรวจข้อสอบได้เร็วกว่าอัตนัยมาก
  2. เมื่อต้องการนำข้อสอบไปวิเคราะห์และเก็บไว้ใช้ใหม่  เพื่อทำคลังข้อสอบ มีโปรแกรมสำเร็จรูปวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบ เก็บได้ทั้งคำถามและคำตอบ ไม่เหมือนอัตนัยที่ไม่มีโปรแกรมวิเคราะห์ และเก็บคำตอบไม่ได้เพราะคำตอบอาจต้องออกแบบใหม่
  3. เมื่อต้องการครอบคลุมรายละเอียดของเนื้อหา เพราะข้อหนึ่งๆ ใช้ 1 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ข้อสอบแบบอัตนัย ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 5 นาทีต่อข้อ
  4. เมื่อต้องการวัดความรู้  ไม่ใช่วัดทักษะ หรือเจตคติ การวัดทักษะหรือเจตคติ ต้องใช้ข้อสอบแบบอื่น
  5. เมื่อมีเวลาออกข้อสอบมาก ต้องการผลสอบเร็ว
ต่อ ข้อสอบ MCQ และการวิเคราะห์ ๒

หมายเลขบันทึก: 73847เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สมประสงค์ ป้องปาน

ขอบคุณมากครับ ผมได้รู้เสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท