Workshop Note Taker สำหรับเยาวชน (๒)


การที่จะเป็นคนที่บันทึกหรือจับความรู้ได้ ต้องฝึกการจับประเด็น ต้องทำบ่อยๆ ...ต้องมีทักษะว่าเขากำลังสื่ออะไร

ตอนที่ ๑

ผ่อนพักตระหนักรู้
๑๓ น. คุณธวัชบอกว่าเวลาเรียนเราจะใช้สมาธิมากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือหรือปิดไปก่อน เพราะจะต้องอยู่ในความเงียบ อยู่กับตัวเองพอสมควร เราจะลองชาร์ตแบตฯ ...ให้นอนหงายเหยียด อยู่ในท่าสบายๆ มีคนมาสาธิตท่านอนให้ดู เตรียมพื้นที่ให้พอดีๆ ช่วงนี้จะเงียบจะอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด.......ได้ผลเหมือนกันบางคนหลับลึกจนเพื่อนต้องปลุก...ฝึกการอยู่กับตนเอง จนเพื่อนต้องปลุก

ลุกขึ้นมานั่งล้อมวง หันขวาเอามือแตะเพื่อนให้ถึง นวดให้เพื่อน คนที่อยู่ข้างหน้าสั่งได้ว่าจะเอาหนักเบาขนาดไหน เมื่อกี้อยู่ในท่านอนอาจมึนๆ เลยนวดกันหน่อย กลับหันหลัง เป็นช่วงเอาคืน...

 

นวดให้เพื่อน

ม่านประเพณี
ผู้เข้าประชุมนับ ๑, ๒ รวมตัวกันตามเลขที่นับ ให้แต่ละกลุ่มคุยกันว่าในอีกกลุ่มมีใครบ้าง เป็นการทดสอบว่าเมื่อเช้ายังจำกันได้หรือเปล่า เอาผ้าทึบมากั้นเป็นม่าน แต่ละกลุ่มส่งคนมาประชันเรียกชื่ออีกฝ่าย พอเอาม่านลงใครเรียกชื่ออีกฝ่ายไม่ได้ เรียกช้า หรือเรียกผิด ก็ต้องเสียท่าถูกดึงเอาไปอยู่อีกฝ่าย เมื่อจบเกมฝั่งที่ชนะมีคนรวม ๑๖ คน ในขณะที่อีกฝั่งมี ๑๑ คน

ฝึกการฟัง
คุณธวัชเปิดเพลงให้ฟัง...นอนฟังก็ได้ ...เพลงจบแล้วให้คุยกันว่าเพลงต้องการสื่อความหมายสำคัญอะไร อะไรคือหัวใจ แก่น หรือประเด็นหลัก แล้วเขียนลงกระดาษ เขียนหลายประเด็นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสรุปเป็นคำเดียว เพลงนี้บอกอะไรเรา เขาต้องการสื่ออะไรที่สำคัญ เขียนเสร็จก็รวมตัวเข้าวงใหญ่

การที่จะเป็นคนที่บันทึกหรือจับความรู้ได้ ต้องฝึกการจับประเด็น ต้องทำบ่อยๆ ...ต้องมีทักษะว่าเขากำลังสื่ออะไร เพลงมันชัดอยู่แล้ว...เวลาเราฟังอะไรเราต้องดึงประเด็นออกมาให้ได้ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราเขียนอาจจะมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ แต่ละคนฟังอาจจับประเด็นได้ไม่เหมือนกัน ถ้าเราคุยกันอาจทำให้จับประเด็นได้ชัดเจนขึ้น หากเราเขียนแล้ววิธีเช็คที่ดีคือให้เจ้าของ (เรื่อง) เช็คว่าใช่หรือไม่ใช่ ให้เขาอ่าน หรืออ่านให้เขาฟัง..ต้องฝึกทำบ่อยๆ

ภารกิจเชฟมือโปร
จากกลุ่มเดิม ๒ กลุ่มให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทน ๕ คน เอาคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี สามารถเขียนอธิบายได้ กลุ่มตัวแทนและกลุ่มที่เหลือต่างแยกกันไปเขียนตำรา เคล็ดลับในการทอดไข่ให้สุก กลุ่มตัวแทนได้ทดลองปฏิบัติกับของจริง ให้เวลา ๑๕ นาที แล้วคัดเลือกคนที่ออกมาประลอง ๖ คน โดย ๒ คนให้เลือกจากกลุ่มที่ไม่ใช่ตัวแทน แต่ได้อ่านตำราของกลุ่มตัวแทน เอามาให้อ่านเทียบกันกับตำราที่พวกตนเขียนขึ้น ให้สิทธิคนแข่งว่าจะทำตามตำราของใคร

 

แยกกันเขียนตำรา "ฝัด" ไข่

ให้ ๒ คนแรกออกมาก่อนประลองก่อนโดยยังไม่ให้มีการอธิบายกัน หลังประลองกัน ๒ คนแล้วให้ทั้งกลุ่มคุยกันแล้วส่งอีก ๔ คนมาประลองจะเลือกจากกลุ่มใดก็ได้ จะเห็นได้ว่าเวลาที่เราถ่ายทอดสิ่งที่เราทำได้ให้คนอื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

ประลอง "ฝัด" ไข่

มีการสะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง เช่น
- ความรู้มันเกิดจากคนเริ่มต้นปฏิบัติ ทดลอง จนได้วิธีการที่ถูกต้อง เมื่อได้ความรู้มาแล้ว ถ่ายทอด คนรับ ถ้าเชื่อก็สามารถรับองค์ความรู้ไปได้เลยไม่ต้องเริ่มนับ ๑, ๒, ๓, ๔...
- ได้ฝัดไข่ กลุ่มที่ออกไปวางแผน (ลองทำ) ถ่ายทอดยาก ขาดสมาธิที่จะถ่ายทอดให้คนอื่น การฝึกความชำนาญ อย่าไปฟังคนอื่นมาก การจะทำงานสิ่งไรก็แล้วแต่ต้องเชื่อมั่นตนเอง
- ระยะเวลาน้อย การถ่ายทอดในเวลาที่ไม่เพียงพอก็ได้ความรู้น้อย...เทคนิควิธีการถ่ายทอด  ความรู้ที่ถ่ายทอด และประสบการณ์

ความรู้ปฏิบัติที่อยู่ในคน บางเรื่องที่ทำได้ แต่พอให้ถ่ายทอดให้สอน เขาอึ้ง พ่อทำนาสอนลูก... ความรู้พวกนี้ต้องลองลงมือทำถึงจะเข้าใจ เหมือนการหัดรถถีบ ถ้าฟังแล้วทำเป็นไหม... ถ้าลองทำจะค่อยๆ เข้าใจ นี่เป็นลักษณะของความรู้ปฏิบัติซึ่งมีมากในชุมชนในท้องถิ่น ไม่ควรเริ่มจาก ๐ ปู่ยาตายายทำอะไรไว้สารพัดเรื่อง ถ้าเราไม่รู้ตัวจะค่อยๆ หาย การบันทึกจึงสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอาชีพ ภูมิปัญญา เป็นความรู้ที่ทำให้เราอยู่ในบ้านได้ เราต้องไปแลว่าเขาทำอะไรได้

ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนพูดถึงเรื่องเวลาในการถ่ายทอดเวลาน้อย... ความรู้ปฏิบัติต้องทำซ้ำกันหลายๆ ครั้ง จนเกิดความชำนาญ ต้องสะสมชั่วโมงบิน นักบินต้องเก็บชั่วโมง ฝึกมากเท่าไหร่หมายถึงเขามีประสบการณ์มากเท่านั้น บ้านเราใครทำอะไรดีลองไปแลว่าเขาทำมานานแค่ไหน เราอาจไม่คิดว่าเป็นความรู้ในภาษาของเรา จริงๆ เป็นความรู้ปฏิบัติ แต่วิธีการถ่ายทอดมันยาก

ให้ผู้เข้าประชุมลองเขียนความรู้ปฏิบัติ แบ่งกลุ่ม จับคู่ ๒ คน แล้วให้น้องตัวเล็กไปแจม น่าจะแยกคนละหมู่บ้าน ถ้ารู้จักกันแล้วอาจมองไม่ค่อยเห็น จับคู่ "แลง" เอาน้องเล็กไปแทรก เล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่ตนเองทำได้ดี ไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนการทำ ต้องมีเคล็ดลับด้วย “ทำพันพรือ” สำคัญต้องมีทำพันพรือ แล้วให้ฝึกการจดบันทึก เลือกเรื่องของเพื่อนที่ประทับใจมาเขียน

มีเรื่องดีๆ น่าสนใจให้ได้ยินเคล็ดลับหลายเรื่อง เช่น การล้างจาน การเจียวไข่ การทำเหนียวห่อกล้วย การต้มปู การเลือกหมาก.......ไม่นึกว่าเด็กเล็กๆ ก็มีความรู้แบบนี้เพราะเขาได้ทำกับพ่อแม่ น้องต้อม ที่บ้านเป็นร้าน เขาทำเหนียวห่อกล้วยเป็น

๑๖.๑๕ เอาเรื่องที่เขียนมาเรียงให้มาเดินอ่านของเพื่อน หาว่าของเขามีอะไรพิเศษ แล้วล้อมวงเล่าว่าประทับใจเรื่องของเพื่อนตรงไหน เกี่ยวกับอะไร

 

หลากหลายเรื่องเล่าดีๆ

คุณธวัชชี้ประเด็นให้เห็นว่า ผอ.และ ผญ.แม็กชวนต้อมคุยไปก่อนว่าช่วยพ่อแม่ทำอะไรบ้าง เขาไม่รู้ว่าเขามีความรู้อยู่ในตัว อยู่ๆ ไม่ได้ออกมาทันที ชวนคุย สีหน้าสีตา ถามเชิงชื่นชม คนถามให้ความสนใจ เด็กจะดีใจ ภูมิใจ ถ้าไปถามแบบวัดวิชา คนตอบจะตอบอีกอารมณ์หนึ่ง

ความรู้ปฏิบัติเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ๆ ตัว เรื่องพวกนี้มีมาก ถ้าไปคุยไปพูดกับคนที่ทำได้ เขาจะรู้สึกดีมากๆ ว่ามีคนสนใจ ความรู้พวกนี้มีอยู่รอบๆ ตัว เป็นความรู้ที่เอาชีวิตรอดได้ ความรู้ที่ทำให้เราอยู่ที่บ้านได้ เป็นความรู้ที่แลกเปลี่ยนได้... ยังมีวิธีการเก็บแบบอื่นอีก เช่น คลิป VDO ถ้าเอามาใช้จะมีประโยชน์

เราได้ดูคลิป VDO การเพาะเห็ดบนกิ่งไม้ม่วง คุณธวัชบอกว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบันทึก เขียนอย่างเดียวถ้าคนไม่มีจริตอ่านก็จะไปเก็บกองอยู่ ในคลิปมีเรื่องวิธีคิดลึกๆ ถ้าทำคลิป VDO มีคนถ่ายเป็นเก็บไว้เป็นเรื่องๆ สั้นๆ แล้วเอามารวมอัดรวมเป็น CD ก็เอาไปเปิดดูได้

พัก ๑๖.๔๕ น. เรากินข้าวเย็นราว ๑๗ น. กว่า มีเวลาเหลือต่างแยกย้ายกันมีกิจกรรมตามอัธยาศัย เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ไปวิ่งเล่นที่บริเวณถนนหน้าเรือนพักรับรองฯ สนุกตามประสาเด็ก ผอ.มาเอนหลังพักอยู่ในห้องประชุม พี่ๆ วัยรุ่นชาววังอ่างไปหลบมุมตามสุมทุมพุ่มไม้ และชมทิวทัศน์รอบๆ

เวลา ๑๘.๐๐ น. ดูหนังรายการคนค้นคน เรื่องราวของแหลม:  พูนศักดิ์ สมบูรณ์ อรหันต์ชาวนา ให้นอนดูก็ได้ ดูหนังแล้วจะคุย ๑ รอบว่าประทับใจหรือเห็นตรงไหนดี จะเอาอะไรไปใช้ที่บ้านบ้าง.... คนดูดูไปคุยกันบ้าง มีเสียงเฮฮาเป็นพักๆ ได้รู้วิธีคิดที่ว่า “ทำนาสบายจะตายในวันหน้า (ทำนาสบายคือจ้างอย่างเดียว) ทำนาสิตาย (ทำนาแบบขยัน) สบายในวันหน้า” ใช้เวลาเกือบ ๑ ชม.

 

ดู VDO เรื่องของคุณแหลม

คุณธวัชชวนคุยให้เห็นว่าวิธีนี้เป็นวิธีการบันทึกความรู้อีกแบบ ถ้าทำได้จะมีผลด้านจิตใจด้วย ไม่ได้นำเสนอความรู้อย่างเดียว....ถ้าคนสนใจไม่ต้องนั่งรถไปดูไกล ที่เขาบันทึกก็ไม่ใช่เรื่องวิเศษวิโส... แต่ก่อนเรามองไม่ออกว่าเป็นความรู้

กรณีของคุณแหลม เหมือนเราเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เสทือนถึงดวงดาว กรณีเล็กๆ ของเราที่ใกล้ตัวต้องพยายามเก็บไว้ พยายามบันทึก ถ้ากลับไปบ้านอย่าไปหาคนที่สมบูรณ์แบบแบบแหลม ยาก แต่ให้ไปหาของดีเล็กๆ อย่าไปหานางงามทั้งตัว ให้ไปหานางงามแบบคนนี้ตางาม คนนี้คิ้วสวย....นั่งคุยซักเรื่องราวออกมา จะมีเรื่องวิธีคิดออกมา เรื่องพวกพรรณนี้ ใช้ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีแรงบันดาลใจ

ได้เวลากำลังดี เราแยกย้ายกันไปพักผ่อน พรุ่งนี้นัดกันในเวลา ๐๘.๓๐ น. มาเรียนรู้เพิ่มเติม

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 338869เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท