เอ็นทรานซ์ไม่ติด..ต้องปลิดชีวิตตนเองด้วยหรือ


เด็กฆ่าตัวตาย..ใครผิด เรื่องนี้ ครูทุกคนต้องอ่าน

เด็กฆ่าตัวตาย....ใครผิด

การฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองเป็นการแสดงถึงความโกรธหรือความก้าวร้าวอย่างหนึ่ง ถ้าสามารถแสดงความก้าวร้าวใส่ผู้อื่นได้ก็แสดงออกไป ความคับแค้นใจก็จบ แตถ้าแสดงความโกรธใส่ผู้อื่นไม่ได้ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

การกล่าวโทษผู้อื่นหลังจากเด็กทำร้ายตัวเองไปแล้วก็คือการแสดงความโกรธของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อทำแทนลูกหลานตนเองที่ตายไปแล้ว ซึ่งความคับแค้นใจและความโกรธเหล่านั้นจะไม่มีวันหมดจากใจของคนเหล่านั้น การเสนอข่าวของสื่อบางแขนงช่วยกันเติมเชื้อไฟแห่งความโกรธให้มากขึ้น เพื่อเป็นการบอกว่า คนอื่นผิดหมด แต่ผู้เกี่ยวข้องกับคนตายไม่ผิด ความจริงไม่อยากให้มองว่า ใครผิดใครถูก แต่..มาดูปัจจัยที่จะนำไปสู่การทำร้ายตนเองมาจากอะไรบ้าง

ความผิดปกติทางจิตใจของคน เช่น มีความเครียดสูงในบางเรื่องแล้วสะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือปัญหาการปรับตัวจากความเครียด (Adjustment Disorder) นำไปสู่การคิดทำร้ายตนเอง ถ้ามีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย เช่น สุรา ยาเสพติดบางชนิด ทำให้การยั้บยั้งชั่งใจเสียไป สามารถทำร้ายตนเองในระยะเวลาอันสั้น

ปัญหาบุคลิกภาพของคนเกี่ยวข้องกับวิธีคิด และทักษะในการแก้ปัญหา รวมถึงการรู้จักควบคุมอารมณ์เวลาเจอความผิดหวังเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งสะท้อนถึงอีคิวของคนคนนั้น ถ้ามีความบกพร่องที่อีคิว แม้ไอคิวจะใช้ได้ หรือบางคนดีมากเสียด้วย ก็มิได้เป็นตัวรับประกันถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่รุนแรงในชีวิต คนเหล่านี้ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเป็นคนหุนหันพลันแล่น ชอบทำอะไรเสี่ยง เรียกว่าเป็นคนใจร้อน เอาแต่ใจตนเอง คุมอารมณ์โกรธค่อนข้างยาก

การเลี้ยงดูของคนในครอบครัว การเป็นแบบอย่างที่ดี เช่นพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนที่ใจเย็น ค่อยๆคิดแก้ปัญหา และไม่กล่าวโทษผู้อื่นเวลามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตหรือไม่ มีการสอนลูกหลานอย่างไรเวลาที่เจอกับปัญหาต่างๆในชีวิต คอยตามแก้ปัญหาให้ลูกอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ เคยฝึกให้ลูกคิดเองแก้เอง และเป็นกำลังใจให้บ้างหรือไม่ ที่แย่กว่านั้นในบางครอบครัว นอกจากไม่เคนสอนลูกแล้ว ยังไม่เคยให้กำลังใจเลย ชีวิตอยู่แบบขาดแรงจูงใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต

ปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหา มากกว่าการกล่าวโทษกันไปมา หรือมัวแต่นั่งแก้ตัวไปวันๆ เพราะมิได้ช่วยให้คนที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ ในขณะเดียวกันก็มิได้ช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนรุ่นหลังต่อไปได้

ถ้าพบว่าเด็กนักเรียนที่กำลังมุ่งอยู่กับการเรียน การสอบมากเกินไป ควรใส่ใจดูแลสุขภาพจิตอย่างจริงจัง อย่ามัวแต่นั่งภูมิใจที่เด็กเหล่านั้นขยัน เพราะคุณอาจไม่มีโอกาสรู้ได้เลย ว่าที่พวกเขาทำอยู่นั้น มิได้ทำเพื่ออนาคตของตัวเอง หากแต่ทำเพื่อตอบสนองความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองและสังคม ควรช่วยส่งเสริมให้เด็กเหล่านั้นเป็นเยาวชนที่มีความสุข แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่ดีอย่างที่คาดหวัง แต่ชีวิตยังไม่จบสิ้นเพียงแค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ได้

หากแต่การมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังว่าจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมต่างหาก เป็นสิ่งที่น่ายกย่องเชิดชูที่สุด

จากบทความของนายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล โรงพยาบาลมนารมย์

เห็นไหมครับ ในที่สุด ครูก็พ้นผิด ครูมีหน้าที่เพียงสังเกตและเรียนรู้เด็กเป็นรายบุคคล ใส่ใจสุขภาพจิตของเขา เพื่อนำข้อมูลมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเด็ก ตามหน้าที่ของเรา งานนี้จึงโล่งอกแทนเพื่อนครูทุกคน

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 184572เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2008 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีคะ อาจารย์

ยินดีที่ได้รู้จักคะ...

"ปัญหาบุคลิกภาพของคนเกี่ยวข้องกับวิธีคิด และทักษะในการแก้ปัญหา รวมถึงการรู้จักควบคุมอารมณ์เวลาเจอความผิดหวังเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งสะท้อนถึงอีคิวของคนคนนั้น" จริงๆ คะ ญาเห็นด้วย เด็กทุกวันนี้ไม่ถูกฝึกให้แก้ปัญหาเลย..ญาว่้ามันเป็นปัญหามาตั้งแต่การเลี้ยงดูของครอบครัวเลยคะ..ไม่เคยให้วิธีคิดที่ถูกกับลูก แล้วจะโทษใครละคะ....

ญา (ผุสดี)

สวัสดีครับคุณผุสดี แหม..ดีใจจังที่เข้ามาอ่าน ที่สำคัญได้รู้จัดกับพี่น้องชาวปักต์ใต้ ใช่ครับผู้ปกครองไม่ฝึกให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหา เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู วัฒนธรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนะครับ เราอย่าให้คำตอบแก่ลูกเสียทุกเรื่อง..ต้องสอนวิธีคิด แล้วหาคำตอบด้วยตนเองบ้าง ขอบคุณอีกครั้งครับ และยินดีร่วมเป็นเครือข่ายกับท่านผุสดีด้วยมิตรภาพ และความจริงใจครับ อาจารย์เก

สวัสดีคะ อาจารย์เก

ดิฉันเข้ามาอ่านบันทึก และได้ลองดูคำสำคัญ อาจารย์ใช้คำสำคัญได้ดียิ่งขึ้นแล้วคะ

แต่คำสำคัญ เด็กฆ่าตัวตาย..ใครผิด <--- ยังเป็นรูปประโยคที่ยาวเกินไปคะ อาจจะเปลี่ยนใหม่เป็นคำที่สั้น และเป็น keyword ที่จะสามารถค้นหาบันทึกนี้เจอคะ และเป็นคำที่สอดคล้องกับเนื้อหา

ลองปรับดูนะค่ะ

หวัดดีคะ...อาจารย์ จริงๆ ยาชอบคนเหนือมากเลยคะ ไปอยู่เชียงใหม่ 3 ปี่ ประทับใจคนเหนือคะ ...โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนชอบมากคะ ขอบคุณมากๆ คะ

สวัสดีครับ อาจารย์เก

  • ร่วมแลกเปลี่ยนในบางมุมมองที่

http://gotoknow.org/blog/sup004/183230

อาจารย์มะปรางเปรี้ยวครับ ขอบคุณอีกครั้งครับที่ช่วยชี้แนะข้อบกพร่อง ผมทำการแก้ไขแล้วครับ ช่วยตรวจสอบและชี้นำให้ผมตลอดไปนะครับ เพราะผมจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้คณะครูเมื่อมีการอบรมเรื่อง บล็อคครับ อาจารย์เก

ท่านดร.สุพักตร์ครับ ผมเข้าไปอ่านเรื่องเล่าของท่านแล้ว เราคิดตรงกัน เห็นตรงกัน ที่สำคัญห่วงเด็กของชาติเหมือนกัน ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของท่านที่จะทำการช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ที่รับผิดชอบ การช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กเป็นทานบารมีที่สูงส่งครับท่าน อาจารย์เก

ตอบคุณผุสดี (คุณยา)อีกครั้งหนึ่ง คุณยาครับ ลูกสาวและหลานของผมอพยพจากแม่ฮ่องสอนไปอยู่เกาะเต่า สุราษฏ์ธานี เพิ่งเดินทางไปเมื่อวานนี้เอง ผมเป็นห่วงมากเนื่องจากเป็นคนเหนือ ไปอยู่ที่นั่นต้องปรับสภาพทุกอย่าง ทั้งภูมิอากาศ การกินการอยู่ คนก็แตกต่างกันในด้านนิสัยใจคอ ผมเกรงว่าจะเอาตัวไม่รอด (ไปทำงานให้กับบริษัทเอกชนเกี่ยวกับท่าเรือ) ที่สำคัญเอาหลานไปด้วย อายุ 5 ขวบ ต้องลาออกจากโรงเรียนทางนี้ไป ทำให้ผมคิดมากจนนำตาร่วงเพราะคิดถึงและเป็นห่วงหลาน ไม่ให้หลานไปด้วยก็คงไม่ถูกเพราะเขาต้องอยู่กับแม่ของเขา ผมคิดว่าอีกไม่นานผมคงต้องลางานไปเยี่ยมเขาเร็วๆนี้ อยากขอคำแนะนำจากอาจารย์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นครับ หากกรุณาช่วยแนะนำด้วยครับ อาจารย์เก

ขอบคุณอาจารย์เกนะคะที่เข้าไปอ่านและแสดงความคิดเห็นในบล็อกของหนูขวัญ

ส่วนบล็อกของอาจารย์บล็อกนี้สะท้อนชีวิตและการศึกษาของไทยในปัจจุบันจริงๆค่ะ ตราบใดที่ผู้ใหญ่และสังคมยังป้อนค่านิยมเรื่องชื่อเสียงของสถาบัน หรือการวัดความสำเร็จจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ ก็อาจมีหลายคนตัดสิน ตัดสิทธิ์การใช้ชีวิตตัวเองไปอย่างน่าเสียดายค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์เก

ก้ามปูคิดว่าเป็นส่วนที่เรา ต้องช่วยกันทุกหน่วยงานและทุกสถาบันเลยคะ ก้ามปู ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับชุมชน ในประเด็น การศึกษาขับไล่เราออกจากชุมชนบ่อย เป็นเพราะความเชื่อ และรูปแบบการศึกษาที่ไม่ได้ เอาภูมิปัญญา มาช่วยในเรื่องการศึกษา และ ต่อยอด ก้ามปูคิดว่าส่วนนี้ก็เป็นส่วน สำคัญ ในการคิดเหมือนกันนะคะ

ก้ามปูเคยไปเกาะเต่า อ.สมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ไม่แน่ใจว่าที่เดียวกันไหมคะ หากที่เดียวกันไม่น่าจะกังวลนะคะ อาจารย์ เพราะ ชุมชนน่าอยู่ดีคะ

คุณครู ขวัญ ครับ ยังมีเรื่องราว และปัญหาอีกมาก ที่ยังไม่ลงตัวในวงการศึกษาไทย บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี และค่านิยมก็เปลี่ยนแปลง คนจึงเปลี่ยนไปแบบตั้งตัวไม่ติด ครูทั้งหลายก็ต้องคอยคิดหาวืธีการสอนเพื่อให้เด็กได้ความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดี ตามที่หลักสูตรปราถนา(แต่..ครูแทบพลิกตำราไม่ทัน) เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ดูง่ายๆเด็กสมัยนี้ไม่สนใจใยดีด้านการเมือง ผิดกับสมัยก่อน แต่ถ้ามีนักร้องดังๆที่อยู่ในดวงใจของเขามาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทย เด็กก็จะไปรวมตัวกันเป็นแสน เพื่อกรี๊ดให้กับนักร้องคนนั้น สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากการเรียนรู้จากสื่อ มิใช่เกิดจากครูสอน เราสอนความรู้ ทักษะให้เด็กได้ แต่...เราสอนเจตคติให้เด็กยากกว่า เป็นปัญหาที่ครูรุ่นใหม่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ สำหรับลุงนั้น อายุมากแล้วรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน อาจารย์เก

คุณก้ามปู ครับ ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม ลุงคิดว่า ทางภาคใต้นั้นต้องเอาความเชื่อทางศาสนาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการศึกษา เอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นบันไดแห่งการเรียนรู้ คนภาคใต้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสากลมาก ขอให้เรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตของเขาเองให้เกิด องค์ความรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นสุข เท่านั้นแหละครับสำหรับเป้าหมายการจัดการศึกษาสำหรับพี่น้องชาวใต้ ส่วนใครที่จะเรียนรู้และขับเคลื่อนตนเองไปสู่สากลก็มีทางเลือกให้อยู่แล้ว ผมมองปัญหาไปที่การสาธารณสุข ผมคิดว่าคงไม่แตกต่างไปจากแม่ฮ่องสอนเท่าใดนัก การขับเคลื่อนองค์ความรู้ที่เราอยากจะให้เขา ต้องเกิดความศรัทธาเชื่อถือก่อนจึงจะเป็นผล ไม่เช่นนั้นจะเป็นการยัดเยียดให้เขา ทั้งๆที่เป็นของดี แต่.เขาจะไม่รู้คุณค่า ไม่เกิดความยั่งยืน ภาษานักพัฒนาเขาบอกว่า "อย่าไปคิดแทนชาวบ้าน ว่าเขาต้องการอะไร แล้วนำสิ่งนั้นไปให้เขา เขาจะไม่เห็นคุณค่า แม้ว่าสิ่งนั้นมีค่าจริง" แล้วงานทั้งระบบ ทั้งโครงการก็จะไม่ยั่งยืน ในที่สุดก็ล้มเหลวทั้งระบบ ฝากแนวคิดมาให้ หนูก้ามปูนะจ๊ะ คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหนูอีก ลุงอยู่กับชาวบ้าน ชุมชน มาทั้งชีวิตจึงรู้ว่า ชุมชนเขาคิดอย่างไร แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมายขององค์กร อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท