Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาต ลุงยอน (ตอนที่ ๑) - เธอเป็นราษฎรไทยไหม ? เธอมีสิทธิอาศัยไหม ? เธอเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหรือไม่ ?


คนเชื้อสายไทยใหญ่อพยพจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มาตร้องขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายไทยใน พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้รับการบันทึกชื่อทะเบียนราษฎรไทยใน ท.ร.๓๘ ก จึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทแรงงานต่างด้าว ต่อมา มาตกลับไปพม่าเพื่อร้องขอทำบัตรประชาชนพม่า แต่ก็ยังกลับมาอาศัยกับสามีเชื้อสายไทยใหญ่ซึ่งมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวเช่นกัน เหตุที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยจริงๆ ก็เพราะหนีภัยจากทหารพม่าที่เข้าไปกดขี่รังแกในบ้านเกิด มาอยู่ประเทศไทย พบสามีที่ดีงาม จึงคิดจะอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นแรงงานแท้ไหม ? หรือแค่มนุษย์ที่แสวงหาชีวิตที่เป็นสุขบนพื้นโลกเท่านั้น

…………………………….

ข้อเท็จจริงของนางมาต  ลุงยอน

…………………………….

·         เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑  (ปรากฏตาม ท.ร.๓๘/๑) ปัจจุบันอายุ ๔๒ ปี

·         เกิดที่หมู่บ้านนามล ตำบลบ้านเลา อำเภอกุนฮี จังหวัดเมืองนาย ประเทศพม่า (ปรากฏตาม ท.ร.๓๘/๑)

·         เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางเมืองยอน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

·         ปัจจุบันประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

·         เธอร้องขอรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทแรงงานต่างด้าว (ท.ร.๓๘/๑)  เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘

·         มาตได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เลขประจำตัว คือ ๐๐-๕๐๑๐-๑๐๖๕๔๑-๘  วันออกบัตร ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ วันบัตรหมดอายุ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

·         มาตมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวตั้งต่ พ.ศ.๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน

·         มาตมีบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว

·         มาตบอกว่า “ครั้งแรกที่มาในประเทศไทยนางมาตไม่มีบัตรประชาชนของพม่า   ต้องยืมของคนอื่นมาพอนางมาตกลับไปพม่าเอาบัตรไปคืนแล้วไปขอทำบัตรของตัวเอง   เสียเงินประมาณเงินไทย ๓๐ บาท  ช่วงไหนที่ทางอำเภอไม่เปิดทำบัตรเราไปขอทำบัตรจะเสียเงินเยอะ”

…………………………….

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาและมารดาของนางมาต ลุงยอน

…………………………….

·         บิดา ชื่อนายลุงยอน เสียชีวิตในประเทศพม่า

·         มารดา ชื่อนางหมั่น เสียชีวิตในประเทศพม่า

…………………………….

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสามีของนางมาต ลุงยอน

…………………………….

·         สามี ชื่อ นายจั้ง มณีวรรณ แต่มิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศใดเลย

·         นายจั้ง มณีวรรณ ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย 

·         เลขประชาชน ๖-๕๐๑๐-๗๒๐๕๑-๓๐-๘

·       เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ นายจั้งได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งมีชื่อว่า “ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯฉบับที่ ๒”  ปรากฏเป็นบุคคลอยู่ในลำดับที่ ๑ เลขที่ ๒/ช ม.๓ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งว่า ระบุเกิดในประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทยทางด่านแม่สายเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕

·       ดังนั้น นายจั้งจึงเป็นบุคคลเป้าหมายของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓  ซึ่งยอมรับให้สิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ถาวร ทั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

·       นายจั้งได้ยื่นคำร้องขอสถานะคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว แต่เรื่องยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติฯ

·        นายจั้งมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

·         ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกัน

…………………………….

จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่า

…………………………….

·         มาตมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าโดยการเกิดโดยหลักดินแดนเพราะมาตเกิดในประเทศพม่า

·         มาตมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าโดยการเกิดโดยหลับุคคล เพราะบิดาและมารดาของมาตก็เกิดในประเทศพม่า อีกทั้งปู่ย่าตายายก็เปฯคนไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศพม่าอีกด้วย

·         แม้รัฐบาลพม่าจะมิได้ออกบัตรประชาชนให้แก่มาตตั้งแต่เกิด แต่ในช่วงที่มีการรณรงค์การทำประชามติรัฐธรรมนูญพม่า มาตก็ได้รับการออกบัตรประชาชนคนสัญชาติพม่า นั่นหมายความว่า มาตย่อมมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า

·         เมื่อเราฟังข้อเท็จจริงว่า มาตอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๔๑  เราจึงสรุปได้ว่า มาตจึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดนภายหลังการเกิดกับประเทศพม่า  ความสัมพันธ์ระหว่างมาตและรัฐพม่าภายหลังการเกิดจึงสิ้นสุด ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมาตและรัฐไทยภายหลังการเกิดจึงเข้ามาแทนที่

…………………………….

จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย

…………………………….

·         มาตเริ่มมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยเพราะอาศัยอยู่จริงในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลารวมกว่า ๑๐ ปี

·         นอกจากนั้น มาตยังมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยภายหลังการเกิด เพราะสามีมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย (ท.ร.๑๓) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ยอมรับให้นายจั้ง มณีวรรณ ซึ่งเป็นสามีของมาตมีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓ แต่อย่างไรก็ตาม จั้งยังมิได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว

·         เราจึงสรุปได้ว่า จุดเกาะเกี่ยวระหว่างมาตและรัฐไทยเป็นความสัมพันธ์ภายหลังการเกิด

…………………………….

สถานะบุคคลตามกฎหมายพม่าว่าด้วยสัญชาติพม่า

…………………………….

·         เราอาจชี้ได้ชัดเจนว่า มาตมีสิทธิในสัญชาติพม่าโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต เพราะเมื่อบุพการีทั้งสองมีสถานะเป็นคนสัญชาติพม่า และเป็นคนในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า กล่าวได้ว่า มาตจึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐพม่าโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา

·         นอกจากนั้น เราฟังได้ว่า มาตเกิดในประเทศพม่า  เราจึงชี้ได้ว่า มาตย่อมมีสัญชาติพม่าโดยหลักดินแดน

·         เราทราบว่า มาตตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในขณะที่เกิด และมาตได้รับเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในช่วงที่มีประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญพม่าใน พ.ศ.๒๕๕๑

·         ในวันนี้ มาตถือบัตรประจำตัวคนสัญชาติพม่าที่ออกโดยรัฐบาลพม่า มาตจึงทั้งมีและใช้สิทธิในสัญชาติพม่าได้อย่างไม่ตรงสงสัย

…………………………….

สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย

…………………………….

·         เราอาจชี้ได้ชัดเจนว่า เมื่อนางมาตมิได้เกิดในประเทศไทย  เราก็ต้องชี้ว่า  มาตก็ไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด

·         แต่ภายหลังการเกิด มาตย่อมมีสิทธิร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิด ซึ่งอาจจะเป็นสัญชาติไทยโดยการสมรส หากมีคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทย หรืออาจจะเป็นสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ หากมาตแสดงให้ประจักษ์ถึงความกลมกลืนระหว่างมาตและประเทศไทย

·         จะเห็นว่า นายจั้งซึ่งเป็นสามีของมาตยังมิใช่คนสัญชาติไทย มาตจึงไม่อาจร้องขอใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรส แต่หากว่า นายจั้งได้มาซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติในอนาคต มาตก็อาจใช้สิทธิร้องขอสัญชาติโดยการสมรสตามสามี

·         นอกจากนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสัญชาติไทยเป็นไทยนั้น มาตเองก็ยังไม่อาจทำได้ เพราะมาตยังไม่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

…………………………….

สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

…………………………….

·         เมื่อมาตไม่มีสัญชาติไทย จึงสถานะเป็นคนต่างด้าว

·         แต่มาตเข้าเมืองไทยมาโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตจึงมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

·         แต่เมื่อมาตได้รับการบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ จึงมีสถานะเป็นราษฎรไทย

·         เมื่อมาตได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยมาตลอด มาตจึงมีทั้งสิทธิทำงานในประเทศไทย และความเป็นคนทำงานถูกกฎหมายไทยจึงทำให้มาตมีสถานะเป็น “แรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” แม้จะยังมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย” ก็ตาม

·         มาตจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย หากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าได้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖

·         ขอให้สังเกตในประการแรกว่า มาตมีสถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็น “สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร”  แต่อย่างไรก็ตาม ที่อยู่ของสถานะบุคคลของมาตและบุพการี ก็คือ ทะเบียนประวัติ[2] มิใช่ทะเบียนบ้าน[3]

·         ขอให้สังเกตในประการที่สองว่า มาตมีสถานะที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง  กล่าวคือ เป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวโดยผลของมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

·         ขอให้สังเกตว่า  กรมการปกครองจะต้องออก “บัตรประจำคนไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายทะเบียนราษฎร” ให้แก่มาต เราไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึงต้องตรวจสอบว่า มาตได้รับบัตรประจำตัวนี้แล้วหรือยัง ??

·         ขอให้สังเกตในประการที่สามว่า มาตก็น่าจะมีสถานะเป็น “แรงงานแท้ หากพิจารณากับการมีอยู่ของใบอนุญาตทำงาน  

โปรดอ่านอีกด้วย

มาต ลุงยอน (ตอนที่ ๒) – เธอไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ? เธอเสมือนไร้สัญชาติจริงหรือ ?

http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/255361



หมายเลขบันทึก: 255140เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2009 03:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ศศิวัลย์ สิริกมลรุ่งโรจน์

ข้าพเจ้ารับอุปการะเด็กที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ติดตัว เนื่องจากเข้ากรุงเทพฯ ตัั้งแ่ต่อายุได้ 9 ขวบ และอาศัยอยู่กับช่างรับเหมาทำงานบ้านจนช่างรับเหมาเสียชีวิต เด็กคนนี้อายุประมาณ 15 ปี ก็เลยมาอาศัยอยู่กับข้าพเจ้าตลอดมาจนปัจจุบัน อายุประมาณ 27 ปี

เมื่อปี 2549 ได้แจ้งเป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนไทย

และได้ต่ออายุบัตรต่างด้าวตลอดมาทุกปี ไม่ทราบว่ากฏหมายไทย มีทางออกใดให้กับเด็กคนนี้ได้บ้าง เพราะเขาไม่ใช่พม่า แต่เป็นเด็กชาวเขาจากเชียงราย พ่อเสียชีิวิต เหลือแม่กับน้องสาวซึ่งไม่ได้ติดต่อมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงไม่ทราบว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ เนื่องจากออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบจึงจำใครไม่ได้อีก ขอความกรุณาท่านที่รู้กฏหมาย หรือระเบียบข้อปฏิบัติกรุณช่วยเหลือด้วยค่ะ

ขอบคุณแทนด้วยค่ะ

เปรม

พาเด็กมาหาดิันที่ธรรมศาสตร์ได้ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท