Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาต ลุงยอน (ตอนที่ ๒) - ไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ? เสมือนไร้สัญชาติจริงหรือ ?


ครอบครัวของมาตอยู่บ้านนอก ทหารพม่าเข้าในหมู่บ้าน แล้วไล่ทั้งหมู่บ้านให้ไปอยู่ในตัวเมือง มาตไม่สามารถอยู่เมืองได้เพราะหากินลำบากมาก ทนอยู่ในเมืองได้ ๓ ปี หลังจากนั้น ก็หนีเข้ามาในประเทศไทย ความลำบาก อยู่ที่ไหนก็ลำบาก แต่มันไม่เหมือนกัน มาตอยู่ในประเทศไทยรับจ้างทั่วไป มาตรู้ว่า อยู่ในประเทศไทยต้องมีนายจ้าง มาตไม่มีนายจ้าง เพื่อความอยู่รอด มาตจึงขอผู้ใหญ่บ้านเป็นนายจ้าง มาตบอกไม่กลับไปพม่าอีกแล้ว จะอยู่ในประเทศไทยตลอดไป มีพี่น้องอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ คน ตอนแรกคิดว่า จะมาทำงานหาเงิน พอได้เงินแล้ว ก็จะกลับ พออยู่นานๆ ไม่อยากกลับ มาตบอกว่า ครั้งแรกที่มาในประเทศไทย มาตไม่มีบัตรประชาชนของพม่า ต้องยืมของคนอื่นมา พอมาตกลับไปพม่าเอาบัตรไปคืนแล้ว ไปขอทำบัตรของตัวเอง เสียเงินประมาณเงินไทย ๓๐ บาท ช่วงไหนที่ทางอำเภอไม่เปิดทำบัตร เราไปขอทำบัตรจะเสียเงินเยอะ มาตบอกอีกว่า บางคนก็ไม่ไปทำบัตร อยู่อย่างคนไร้รัฐ

 สืบเนื่องจากบันทึกเรื่อง  มาต ลุงยอน (ตอนที่ ๑) - เธอเป็นราษฎรไทยไหม ? เธอมีสิทธิอาศัยไหม ? เธอเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหรือไม่ ?, โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, งานเขียนเพื่อโครงการ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ , ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย พายัพ และ Unicef, เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

…………………………….

สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานคนต่างด้าว

…………………………….

·         แม้มาตจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มาตก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา ๑๓ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ในสถานะ “คนต่างด้าวที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

·         จะเห็นว่า ความเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายของมาต จึงไม่ส่งผลความถูกกฎหมายว่าการทำงานของคนต่างด้าวของมาต

·         นอกจากนั้น ความเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานถูกกฎหมายของมาตกลับส่งผลให้มาตมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” [1]

·         แต่จะเห็นว่า ความเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานถูกกฎหมายของมาตไม่ส่งผลให้มาตมีสิทธิเข้าเมืองแต่อย่างใด

…………………………….

ประเด็นการพิสูจน์สัญชาติพม่า

…………………………….

·         จะต้องตระหนักว่า ในอนาคต มาตจะได้รับการเปลี่ยนจาก “คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” เป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย” หากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าได้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖

·         การพิสูจน์สัญชาติพม่านี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อมาต เพราะมาตได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่าแล้ว จนออกบัตรประชาชนพม่าให้ถือไว้ ดังนั้น เอกสารแสดงสัมพันธภาพระหว่างมาตและรัฐพม่าย่อมจะทำให้การพิสูจน์สัญชาติพม่าของมาตสำเร็จลงได้

…………………………….

สาเหตุที่มาตละทิ้งพม่าและอพยพมาประเทศไทย

…………………………….

·         มาตเล่าว่า “ครอบครัวของมาตอยู่บ้านนอก  ทหารพม่าเข้าในหมู่บ้าน แล้วไล่ทั้งหมู่บ้านให้ไปอยู่ในตัวเมือง  มาตไม่สามารถอยู่เมืองได้เพราะหากินลำบากมาก ทนอยู่ในเมืองได้ ๓ ปี  หลังจากนั้น ก็หนีเข้ามาในประเทศไทย  ความลำบาก  อยู่ที่ไหนก็ลำบาก แต่มันไม่เหมือนกัน  มาตอยู่ในประเทศไทยรับจ้างทั่วไป มาตรู้ว่า อยู่ในประเทศไทยต้องมีนายจ้าง  มาตไม่มีนายจ้าง เพื่อความอยู่รอด มาตจึงขอผู้ใหญ่บ้านเป็นนายจ้าง มาตบอกไม่กลับไปพม่าอีกแล้ว จะอยู่ในประเทศไทยตลอดไป มีพี่น้องอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ คน ตอนแรกคิดว่า  จะมาทำงานหาเงิน พอได้เงินแล้ว ก็จะกลับ พออยู่นานๆ ไม่อยากกลับ   มาตบอกว่า ครั้งแรกที่มาในประเทศไทย มาตไม่มีบัตรประชาชนของพม่า   ต้องยืมของคนอื่นมา พอมาตกลับไปพม่าเอาบัตรไปคืนแล้ว ไปขอทำบัตรของตัวเอง   เสียเงินประมาณเงินไทย ๓๐ บาท  ช่วงไหนที่ทางอำเภอไม่เปิดทำบัตร เราไปขอทำบัตรจะเสียเงินเยอะ  มาตบอกอีกว่า บางคนก็ไม่ไปทำบัตร อยู่อย่างคนไร้รัฐ”[2] 

…………………………….

ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมาต

…………………………….

·         จะเห็นว่า กระบวนการขจัดความไร้รัฐของคำแสงและครอบครัวก็สำเร็จลงแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗  แม้ก่อนที่มาตจะได้รับการเพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าและออกบัตรประจำตัวคนสัญชาติพม่าใน พ.ศ.๒๕๕๑

·         เราฟังได้ชัดเจนว่า มาตมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า และก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแล้วว่า มาดมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย กล่าวคือ ท.ร.๓๘/๑ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ในสถานะแรงงานต่างด้าว  

·         มาตจึงเป็น “คนในสองทะเบียนราษฎร”  กล่าวคือ มีชื่อทั้งในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและรัฐพม่า มาตจึงมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย” และ “คนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า”

·         มาตจึงไม่ไร้รัฐและไม่ไร้สัญชาติทั้งโดยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

·         เราตระหนักว่า สัญชาติพม่าย่อมไม่อาจเอื้อสุขแก่มาตคนเชื้อสายไทยใหญ่อย่างแน่นอน ?

·         นอกจากนั้น เราตระหนักว่า ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศพม่าส่งผลความไม่มั่นคงในชีวิตต่อคนเชื้อสายไทยใหญ่ดังเช่นมาต  ?  เราตระหนักในความเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันมาตและคนไทยใหญ่อพยพกลับไปอาศัยในประเทศพม่า เราตระหนักว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติของประเทศไทยก็ตระหนักถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

·         เราตระหนักว่า แม้มาตไม่ไร้สัญชาติ แต่มาตก็มีสถานะเป็น “คนเสมือนไร้สัญชาติ”  ในวันนี้

…………………………….

ข้อเสนอเพื่อการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมาย

…………………………….

1.    มาตควรจะต้องต่อใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวตลอดไป เพื่อที่จะรักษาความเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และเพื่อสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์พม่าอันจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมาตจาก “คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” เป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย” ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ ขอให้ตระหนักว่า กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าตามความตกลงนี้ยังไม่อาจเริ่มต้นขึ้นได้จริง ดังกรณีความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว หรือกับประเทศกัมพูชา

2.    มาตควรจะร้องจดทะเบียนสมรสกับนายจั้งสามี เพื่อที่จะได้มีความสัมพันธ์กับสามีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย ซึ่งในอนาคต สามีได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย มาตก็จะสามารถใช้สิทธิร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรส มาตและสามีพยายามที่จะร้องขอใช้สิทธินี้ต่ออำเภอแม่อาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการนัดจากอำเภอดังกล่าวเพื่อการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย

3.    มาตควรจะต้องเรียนรู้กฎหมายและนโยบายอันจำเป็นสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย อาทิ (๑) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว (๒) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ (๓) กฎหมายว่าด้วยการถือครองทรัพย์สิน ฯลฯ

4.    รัฐไทยมีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่มาต แม้รัฐนี้ยังไม่มีหน้าที่จะให้สัญชาติไทยแก่มาต  

…………………………….

[1] ตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[2]  สัมภาษณ์โดย นางบุญ พงษ์มา และนางสาวรุจิราพร โชคพิพัฒน์พร เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑

…………………........………….

ภาพของมาตและเพื่อนนักเรียน ตลอดจนคณาจารย์ในวันเปิดเรียน

หมายเลขบันทึก: 255361เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ อาจารย์
  • หาแม่บ้านยากลำบากมากค่ะ กำลังคิดอยากได้แม่บ้านจากประเทศลาว แต่ญาติๆไม่ค่อยจะเห็นด้วย เกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากตามมาเรื่องของสัญชาติและการเข้าเมืองและอื่นๆๆๆ

 

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ ป้าแดง

คนก็คือคนค่ะ มีดีมีเลว

จ้างแรงงานต่างด้าวได้ค่ะ ถ้าเขามีใบอนุญาตทำงาน ไม่ผิดกฎหมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท