Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำแสง นาเฮง (ตอนที่ ๑) : เธอเป็นแรงงานต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภทผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวมิใช่หรือ ? เธอเป็นคนไร้สถานะทางกฎหมายในสถาบันการศึกษาไทยอีกด้วยมิใช่หรือ ?


ยงมารดาของนางสาวคำแสง นาเฮง เล่าว่า คำแสงเกิดที่เขตบ้านสันต้นดู่ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ยงกำลังตั้งท้องคำแสงในขณะที่เธอเข้ามาในไทยประมาณปลายปี ๒๕๓๕ และคลอดคำแสงหลังจากมาถึงประเทศไทยได้ ๒ เดือน ต่มิได้คลอดในโรงพยาบาลเหมือนคนอื่น ยงตลอดคำแสงในสวนหอมกระเทียมที่ตนรับจ้างอยู่ขณะนั้น โดยมีพี่สาวและพี่เขย เป็นพยานบุคคล แต่พอคลอดคำแสงได้ไม่เท่าไร ยงก็ได้อุ้มคำแสงไปเมืองตุมประเทศพม่าด้วยเพื่อไปดำนาปลูกข้าว ซึ่งเป็นบ้านเกิดของยง และเมื่อทำนาที่เมืองตุมเสร็จ จึงกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง ขณะนั้นคำแสงอายุได้ขวบครึ่งแล้วที่ยงอุ้มเข้ามา ต่อมา แม้ยงกลับไปเมืองตุมอีกครั้ง ก็มิได้พาคำแสงไปด้วย ยงฝากคำแสงไว้กับน้องสาวชื่อ นาจิต ซึ่งอยู่อาศัยที่หมู่บ้านสันต้นดู่

…………………………….

ข้อเท็จจริงของคำแสง

…………………………….

·       มารดาของเธออ้างว่า เธอเกิดที่บ้านสันต้นดู่ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย แต่ไม่ปรากฎเอกสารรับรองการเกิด  แต่ตัวเธอเองเข้าใจว่า ตนเกิดที่เมืองตุม อำเภอเมืองสาด จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า

·         ข้อเท็จจริงเรื่องวันเดือนปีเกิดตามเอกสารของนางสาวคำแสงไม่ตรงกัน จะเห็นว่า (๑) บัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ระบุว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๖  (๒) เอกสารของโรงเรียนบ้านท่าตอน ระบุว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๗ (๓)  บัญชีสำรวจรายชื่อชนกลุ่มน้อยโดยผู้ใหญ่บ้านระบุว่า  เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ (๔) แบบสอบถามและแบบบันทึกของคลินิกแม่อายระบุว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๖

·         ยังมีความสับสนกว่า เด็กหญิงคำแสง  นาเฮง มีชาติพันธุ์ไทยใหญ่    หรือชาติพันธุ์ไทยเขิน[1]   หรือชาติพันธุ์ไทยลื้อ[2]

·         เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗  บิดามารดาไปรับการจดทะเบียนแรงงาน เธอและครอบครัวจึงได้รับการบันทึกชื่อใน ท.ร.๓๘/๑ เธอจึงได้รับเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก กล่าวคือ  ๐๐-๕๐๑๐-๑๐๔๙๓๐-๗ เพราะเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวซึ่งถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑

·         แต่คำแสงไม่ได้รับการออกบัตรประจำตัวแต่อย่างใด เนื่องจากในวันนัดให้ไปถ่ายรูปนางสาวคำแสง นาเฮงไม่ได้ไปตามนัด (ใบขอรับ-ส่วนที่ ๓ เลขที่เอกสาร ๐๑๘๖๘  นัดถ่ายรูปเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑)

·       ปัจจุบันเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนบ้านท่าตอน

·         ต่อมา แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ท.ร.๑๔/๑) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑ได้รับรองว่า คำแสงเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยกำหนดให้มีเลขประจำตัว ๐-๕๐๑๐-๘๙๐๒๖-๘๐-๙ ซึ่งเอกสารนี้ระบุว่า คำแสงมีสัญชาติไทยใหญ่ ซึ่งสถานะบุคคลดังกล่าวหมายความว่า คำแสงได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนประเภทบุคคลในสถาบันการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

·       คำแสงป่วยเป็นโรครูมตอย sle ที่เธอต้องเข้ารับการรักษาทุกปียังไม่มีแนวโน้มที่จะรักษาให้หายขาด

·       คำแสงมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน เธอเป็นคนที่ ๓ ซึ่งเราได้ทราบว่า เธอมีน้องฝาแฝดชายหญิงที่แม่ของเธอจำใจยกให้คนอื่นไปเลี้ยง 

·         ในปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยน้ำเย็น  หมู่ที่     ตำบลท่าตอน  อำเภอแม่อาย จังหวัด  เชียงใหม่

…………………………….

ข้อเท็จจริงของบิดาของคำแสง

…………………………….

·         บิดาชื่อนายทำมะ นายเฮง

·         โดยแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ รับรองว่า ทำมะเกิดเมือ  พ.ศ.๒๕๑๐  และมีสัญชาติพม่า

·         ทำมะก็ให้ปากคำว่า เขาเกิดในประเทศพม่า 

·         ทำมะยอมรับว่า มีบัตรประจำตัวประชาชนที่ออกให้โดยรัฐบาลพม่า (ไม่ทราบเลขประจำตัว)

·         เขาเล่าว่า เข้ามาในไทยครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๕๓๕  และเดินทางไปๆ มาๆ หลายครั้ง จนประมาณปี ๒๕๔๒ ก็ได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทย โดยเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านสันต้นดู่  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

·         เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗  นายทำมะไปรับการจดทะเบียนแรงงาน แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ ระบุว่า ทำมะเป็นคนสัญชาติพม่า

·         กรมการปกครองได้ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่ทำมะ โดยกำหนดให้มี เลขประจำตัวประชาชน ๐๐-๕๐๑๐-๑๐๔๙๒๙-๓ บัตรหมดอายุในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐

·         นอกจากนั้น พบว่า นายทำมะร้องขออนุญาตทำงานตามกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน และได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยมาตลอด

·         ปัจจุบันและย้ายมาอยู่บ้านห้วยน้ำเย็น  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่ 

…………………………….

ข้อเท็จจริงของมารดาของนางสาวคำแสง นาเฮง

…………………………….

·         มารดา ชื่อ นางโยง[3] หรือนางยง[4] อินดี  เกิดเมือ  พ.ศ. ๒๕๐๕  ในประเทศพม่า 

·         ยงมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ออกให้โดยรัฐบาลพม่า (ไม่ทราบเลขประจำตัว) 

·         ยงเข้ามาในไทยครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๕๓๕  และเดินทางไปๆ มาๆ หลายครั้ง จนประมาณปี ๒๕๔๒ ก็ได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทย โดยเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านสันต้นดู่  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

·       เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗  นางโยงไปรับการจดทะเบียนแรงงาน แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ ระบุว่า ยงมีสัญชาติพม่า

·         จึงได้รับการออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร โดยมีเลขประจำตัวประชาชน ๐๐-๕๐๑๐๑๐๔๙๓๑๕   

·         ปัจจุบันและย้ายมาอยู่บ้านห้วยน้ำเย็น  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่ 

…………………………….

จุดเกาะเกี่ยวระหว่างคำแสงกับประเทศไทย

…………………………….

·         หากฟังว่า คำแสงเกิดในประเทศไทย ดังปากคำของมารดาของคำแสง คำแสงมีจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดนโดยการเกิดกับประเทศไทยเพราะคำแสงเกิดในประเทศไทย

·         คำแสงมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยเพราะอาศัยอยู่จริงในประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างน้อย คำแสงจึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยหลักดินแดนภายหลังการเกิด

…………………………….

จุดเกาะเกี่ยวระหว่างคำแสงกับประเทศพม่า

…………………………….

·         หากฟังว่า คำแสงเกิดในประเทศพม่า ดังปากคำของคำแสงเอง คำแสงมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดโดยหลักดินแดนกับประเทศพม่า

·         แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อฟังว่า บุพการีทั้งสองมีสถานะเป็นคนสัญชาติพม่า และเป็นคนในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า คำแสงจึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐพม่าโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา

·         ที่ชัดเจนในปัจจุบัน คำแสงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าโดยหลักดินแดนเพราะไม่ได้อาศัยอยู่จริงในประเทศพม่า

…………………………….

สถานะบุคคลของคำแสงตามกฎหมายพม่าว่าด้วยสัญชาติพม่า

…………………………….

·         เราอาจชี้ได้ชัดเจนว่า คำแสงอาจมีสิทธิในสัญชาติพม่าโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต เพราะเมื่อบุพการีทั้งสองมีสถานะเป็นคนสัญชาติพม่า และเป็นคนในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า คำแสงจึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐพม่าโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา

·         หากเราฟังว่า คำแสงเกิดในประเทศพม่า  เราก็ต้องชี้ว่า คำแสงอาจได้สัญชาติพม่าโดยหลักดินแดน

·         แต่หากจะรับฟังได้ว่า คำแสงเกิดในประเทศไทย  เราก็จะต้องชี้ว่า คำแสงย่อมไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติพม่าโดยหลักดินแดน

·         เรายังไม่ทราบว่า บุพการีของคำแสงได้เพิ่มชื่อของคำแสงในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า ข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องสืบค้นต่อไป

…………………………….

สถานะบุคคลของคำแสงตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย

…………………………….

·         เรายังไม่อาจชี้ได้ชัดเจนว่า คำแสงมีสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า คำแสงเกิดก่อนหรือหลังวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

·         หากเราฟังว่า คำแสงเกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เราก็ต้องชี้ว่า คำแสงมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งหากคำแสงยืนยันว่า ตนเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ดังกล่าว คำแสงก็จะต้องหาพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมายืนยันข้อเท็จจริงนี้ให้ได้ จึงสถานะเป็นคนต่างด้าว

·         หากเราฟังว่า คำแสงเกิดตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา เราก็ต้องชี้ว่า คำแสงไม่ได้สัญชาติไทยแม้จะรับฟังได้ว่า คำแสงเกิดในประเทศไทย และยังจะต้องรับฟังว่า คำแสงถูกถือเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยมาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  

·         แต่หากเราฟังว่า คำแสงมิได้เกิดในประเทศไทย  เราก็ต้องชี้ว่า  คำแสงก็ไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ภายหลังการเกิด คำแสงก็อาจร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิด ซึ่งอาจจะเป็นสัญชาติไทยโดยการสมรส หากมีคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทย หรืออาจจะเป็นสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ หากคำแสงแสดงให้ประจักษ์ถึงความกลมกลืนระหว่างคำแสงและประเทศไทย

โปรดอ่านอีกด้วย

กรณีศึกษานางสาวคำแสง นาเฮง (ตอนที่ ๒) – เธอผิดกฎหมายคนเข้าเมืองหรือไม่ ? เธอไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ?

http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/255279

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานเขียนเพื่อโครงการ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย พายัพ และ Unicef

เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 255276เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2009 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท