Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำแสง นาเฮง (ตอนที่ ๒) : เธอผิดกฎหมายคนเข้าเมืองหรือไม่ ? เธอไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ?


แม่ของคำแสงเล่าว่า ตนต้องเอาลูกชายทั้งสองคนเข้ามาหลบซ่อนในประเทศไทย เพราะกลัวจะถูกทหารพม่าจับตัวไปเป็นทหารและกลัวลูกจะไม่ได้กลับมา

สืบเนื่องจาก กรณีศึกษานางสาวคำแสง นาเฮง (ตอนที่ ๑) - เธอเป็นแรงงานต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภทผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวมิใช่หรือ ?  เธอเป็นคนไร้สถานะทางกฎหมายในสถาบันการศึกษาไทยอีกด้วยมิใช่หรือ ?, โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, งานเขียนเพื่อโครงการ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย พายัพ และ Unicef, เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

…………………………….

สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

…………………………….

·         แม้บิดาและมารดาของคำแสงมีสิทธิอาศัยชั่วคราว เนื่องจากมีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดระบบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ความเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวของบุพการีไม่อาจขยายถึงสิทธิอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมืองของคำแสง ซึ่งมีสถานะเป็น “ผู้ติดตามแรงงาน” 

·         ขอให้สังเกตในประการแรกว่า สถานะผู้ติดตามแรงงานนี้เป็น “สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร”  มิใช่สถานะตามกฎหมายคนเข้าเมือง  และนอกจากนั้น ที่อยู่ของสถานะบุคคลของคำแสงและบุพการี ก็คือ ทะเบียนประวัติ มิใช่ทะเบียนบ้าน

·         ขอให้สังเกตในประการที่สองว่า แม้ ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสถานะบุคคลของคำแสงในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แต่คำแสงก็ไม่มีสถานะเป็น “แรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทย” เธอจึงมีสถานะเป็น “แรงงานเทียม” มิใช่แรงงานแท้

·         แม้โดยนโยบายว่าด้วยแรงงานต่างด้าวในหลายมติคณะรัฐมนตรี บุพการีของคำแสงมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง แต่คำแสงซึ่งเป็นผู้ติดตามแรงงานไม่ได้รับสิทธิเช่นนั้น

·         เมื่อคำแสงได้รับการสำรวจเป็น “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ประเภท “บุคคลในสถานศึกษาไทย” ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

·         ขอให้สังเกตในประการที่สามว่า สถานะบุคคลนี้ของคำแสงก็เป็นเพียง “สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร”  มิใช่สถานะตามกฎหมายคนเข้าเมืองเช่นกัน เพราะเรายังไม่เห็นมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สิทธิเข้าเมืองหรืออาศัยของบุคคลในสถานศึกษาไทย ซึ่งควรจะมี แต่ก็ยังไม่มีออกมาสักที

·         ขอให้สังเกตในประการที่สี่ว่า หากฟังว่า คำแสงเกิดในประเทศไทย เราก็อาจวินิจฉัยต่อไปได้ว่า ฐานการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในไทยแต่ถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น จะต้องเป็นไปในลักษณะที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้น การส่งคำแสงออกไปจากประเทศไทยในลักษณะที่ทำให้คำแสงเสี่ยงภัยต่อชีวิตย่อมทำไม่ได้

…………………………….

ประเด็นการพิสูจน์สัญชาติพม่า

…………………………….

·         จะต้องตระหนักว่า ในอนาคต บุพการีของคำแสงจะได้รับการเปลี่ยนจาก “คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” เป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย” หากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าได้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖

·         จึงคาดว่า กระบวนการพิสูจน์สัญชาตินี้ย่อมส่งผลต่อคำแสงอีกด้วย ซึ่งการพิสูจน์สัญชาติพม่านี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อบุพการีคำแสง เพราะบุพการีได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่าแล้ว จนออกบัตรประชาชนพม่าให้ถือไว้ ดังนั้น เอกสารแสดงสัมพันธภาพระหว่างบุพการีละคำแสงย่อมจะทำให้การพิสูจน์สัญชาติพม่าของคำแสงสำเร็จลงได้

…………………………….

เหตุผลที่ครอบครัวของคำแสงละทิ้งประเทศพม่าเพื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทย

…………………………….

·         ยงแม่ของคำแสงเล่าว่า ตนต้องเอาลูกชายทั้งสองคนเข้ามาหลบซ่อนในประเทศไทย  เพราะกลัวจะถูกทหารพม่าจับตัวไปเป็นทหารและกลัวลูกจะไม่ได้กลับมา ยงจึงให้ลูกชายสองคนเข้ามาในประเทศไทยก่อนโดยมาอยู่ที่วัดท่ามะแกง

·         ดังนั้น หากสถานการณ์การเสี่ยงภัยต่อการถูกเกณฑ์แรงงานโดยทหารพม่ายังปรากฏตัวในรัฐฉาน จึงยังเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันคำแสงละครอบครัวกลับไปยังประเทศพม่า

…………………………….

ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของคำแสง

…………………………….

·         แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการขจัดความไร้รัฐของคำแสงและครอบครัวก็สำเร็จลงแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗

·         แม้จะฟังไม่ได้ว่า คำแสงมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแล้วว่า คำแสงมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย กล่าวคือ ท.ร.๓๘/๑ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ในสถานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว และ ท.ร.๓๘ ก. ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ ในสถานะบุคคลที่ได้รับการสำรวจในสถาบันการศึกษาไทย

·         แต่อย่างไรก็ตาม เรารับฟังได้ว่า บุพการีของคำแสงได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลพม่าแล้วว่า เป็นคนสัญชาติพม่า  ดังจะเห็นว่า บุพการีทั้งสองถือบัตรประจำตัวคนสัญชาติพม่า บุพการีจึงไม่ไร้รัฐและไม่ไร้สัญชาติ บุพการีจึงเป็นคนสองทะเบียนราษฎร กล่าวคือ มีชื่อทั้งในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและรัฐพม่า อันทำให้มีความแน่นอนที่คำแสงจะสามารถใช้สิทธิในสัญชาติพม่าตามด้วยในอนาคต

·         เพียงแต่เราไม่อาจทราบว่า คำแสงได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าว่า มีสัญชาติพม่าหรือไม่ แต่เราก็คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่คำแสงจะเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าหากร้องขอ หรือหากมีความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่อง ความเป็นไปได้ก็จะเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

·         ปัญหาความไร้สัญชาติของคำแสงในวันนี้ จึงไม่ยากที่จะแก้ไข

·         เพียงสัญชาติพม่าที่จะได้รับการรับรองสิทธินี้จะเอื้อสุขแก่คำแสงซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยและศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาไทยหรือไม่ ?

·         นอกจากนั้น เราไม่แน่ใจว่า จะเกิดความสงบทางการเมืองในประเทศพม่าได้จริงหรือไม่  อันทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่คำแสงและครอบครัวจะอพยพกลับไปอาศัยในประเทศพม่า

·         เราคาดว่า แม้คำแสงจะได้รับการยอมรับว่า มีสัญชาติพม่า คำแสงและครอบครัวก็จะยังคงมีสถานะเป็น “คนเสมือนไร้สัญชาติ” อยู่ต่อไป

…………………………….

ข้อเสนอเพื่อการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมาย

…………………………….

1.    คำแสงย่อมจะต้องแสวงหาพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมายืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดของคำแสง ประโยชน์สูงสุดของคำแสง ก็คือ การได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและทุกฝ่ายยอมรับ

2.    ในกรณีที่ฟังได้ว่า คำแสงเกิดในประเทศไทย คำแสงก็ควรร้องขอให้อำเภอแม่อายทำ “หนังสือรับรองการเกิด” ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

3.    และหากฟังว่า คำแสงเกิดในไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อันทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ คำแสงก็ควรร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

4.    ไม่ว่าจะอ้างสิทธิในสัญชาติไทยได้หรือไม่ คำแสงควรจะต้องร้องขอใช้สิทธิพิสูจน์สัญชาติพม่า ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ แต่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าตามความตกลงนี้ยังไม่อาจเริ่มต้นขึ้นได้จริง ดังกรณีความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว หรือกับประเทศกัมพูชา

5.    บุพการีของคำแสงควรจะร้องจดทะเบียนสมรสกัน เพื่อที่จะได้มีความสัมพันธ์ฉันภริยาสามีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้คำแสงและพี่น้องมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

6.    คำแสงควรจะต้องเรียนรู้กฎหมายและนโยบายอันจำเป็นสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย อาทิ (๑) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว (๒) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ (๓) กฎหมายว่าด้วยการถือครองทรัพย์สิน ฯลฯ

7.    รัฐยังไม่มีหน้าที่จะให้สัญชาติไทยแก่คำแสง แต่มีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่คำแสง

..................................

ภาพของคำแสงกับเพื่อนนักเรียนในห้อง ๕ เพื่อคนไร้สัญชาติใน ท.ร.๓๘/๑ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 255279เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2009 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 06:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คำแสงสามารถยื่นพิสูจน์สัญชาติพม่าได้หรือไม่ ถ้าได้้ แต่คำแสงไม่่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า คำแสงจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยกับพ่อแม่ได้หรือไม่ และสามารถทำงานได้หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท