Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางสาวคำเอ้ย นายใส่ (ตอนที่ ๒) : เธอไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริงมิใช่หรือ ? ความเป็นคนสัญชาติพม่าเอื้อสุขได้จริงหรือ ?


ภาพคำเอ้ยและเพื่อนนักเรียนกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเมื่อ ๗/๑๒/๒๕๕๒

สืบเนื่องจากกรณีศึกษานางสาวคำเอ้ย นายใส่ (ตอนที่ ๑) : เธอมีเลขประจำตัวบุคคล ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ แล้วยัง ? เธอได้มาซึ่งบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้วยัง ?, โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, งานเขียนเพื่อโครงการ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย พายัพ และ Unicef, เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

…………………………….

ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของคำเอ้ย

…………………………….

·         แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการขจัดความไร้รัฐของคำเอ้ยและครอบครัวก็สำเร็จลงแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ แม้จะไม่ทราบแน่ว่า คำเอ้ยปรากฏตัวในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าแล้วหรือยัง แต่ก็ยืนยันว่า คำเอ้ยไม่ไร้รัฐ เพราะปรากฏตัวแล้วในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภท ท.ร.๓๘/๑  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ในสถานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว รัฐไทยยอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคำเอ้ยแล้ว อย่างน้อยในสถานะของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของคำเอ้ย

·         นอกจากนั้น คำเอ้ยควรจะต้องได้รับการบันทึกชื่อใน ท.ร.๓๘ ก. ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ โดยผลของยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ในสถานะของ “บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถาบันการศึกษาไทย”  แต่วันนี้ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ แล้ว การเปลี่ยนสถานะของคำเอ้ยจากผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคำเอ้ยน้อยกว่าการมีสถานะเป็นนักเรียนไร้สัญชาติในโรงเรียนไทย จึงต้องติดตามแล้วล่ะว่า อำเภอแม่อายปรับเลขประจำตัวประชาชนของคำเอ้ยจากคนที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ เป็น ๐ แล้วหรือยัง ?

·         แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารับฟังได้ว่า มารดาของคำเอ้ยได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลพม่าแล้วว่า เป็นคนสัญชาติพม่า  ดังจะเห็นว่า มารดาถือบัตรประจำตัวคนสัญชาติพม่า มารดาจึงไม่ไร้รัฐและไม่ไร้สัญชาติ มารดาจึงเป็นคนสองทะเบียนราษฎร กล่าวคือ มีชื่อทั้งในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและรัฐพม่า อันทำให้มีความแน่นอนที่คำเอ้ยจะสามารถใช้สิทธิในสัญชาติพม่าตามด้วยในอนาคต

·         เพียงแต่เราไม่อาจทราบว่า คำเอ้ยได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าว่า มีสัญชาติพม่าหรือไม่ แต่เราก็คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่คำเอ้ยจะเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าหากร้องขอ หรือหากมีความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่อง ความเป็นไปได้ก็จะเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

·         ปัญหาความไร้สัญชาติของคำเอ้ยในวันนี้ จึงไม่ยากที่จะแก้ไข เป็นเพียงความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง มิใช่ความไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมาย

·         เพียงสัญชาติพม่าที่จะได้รับนี้ จะเอื้อสุขแก่คำเอ้ยซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยและศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาไทยหรือไม่ ?

·         นอกจากนั้น เราไม่แน่ใจว่า จะเกิดความสงบทางการเมืองในประเทศพม่าได้จริงหรือไม่  อันทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่คำเอ้ยและครอบครัวจะอพยพกลับไปอาศัยในประเทศพม่า

·         เราคาดว่า แม้คำเอ้ยจะได้รับการยอมรับว่า มีสัญชาติพม่าในอนาคต เราก็คาดการณ์ว่า คำเอ้ยและครอบครัวก็จะยังคงมีสถานะเป็น “คนเสมือนไร้สัญชาติ” อยู่ต่อไปในประเทศไทย

…………………………….

ข้อเสนอเพื่อการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมาย

…………………………….

1.    ควรติดตามเรื่องการปรับเลขประจำตัวบุคคล ๑๓ หลัก ของคำเอ้ยที่ขึ้นต้นด้วย  ๐๐ เป็น ๐ ทั้งนี้ ย่อมจะส่งผลเป็นการเปิดโอกาสให้คำเอ้ยได้มาซึ่งสิ่งรับรองสถานะความเป็นราษฎรไทย

2.    ตลอดจน ควรติดตามเรื่องของบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งกรมการปกครองย่อมจะต้องออกให้แก่คำเอ้ย

3.    คำเอ้ยควรจะต้องร้องขอใช้สิทธิพิสูจน์สัญชาติพม่า ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ แต่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าตามความตกลงนี้ยังไม่อาจเริ่มต้นขึ้นได้จริง ดังกรณีความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว หรือกับประเทศกัมพูชา

4.    คำเอ้ยควรจะต้องเรียนรู้กฎหมายและนโยบายอันจำเป็นสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย อาทิ (๑) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว (๒) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ (๓) กฎหมายว่าด้วยการถือครองทรัพย์สิน ฯลฯ

5.    รัฐยังไม่มีหน้าที่จะให้สัญชาติไทยแก่คำเอ้ย แต่มีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่คำเอ้ย ปัญหาว่า อะไรคือปัญหาสิทธิมนุษยชนที่คำเอ้ยเผชิญอยู่ล่ะ ??!!

…………………………….

ภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒

คำเอ้ยและนักเรียนห้อง ๕ ซึ่งเป็นคนใน ท.ร.๓๘/๑ กำลังเรียนกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของตนกับครูบอม อดิศร เกิดมงคล

หมายเลขบันทึก: 255474เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2009 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท