พบตัวจริงท่าน"ไร้กรอบ"ครั้งแรกในงานสัมนา “Productivity วิถีพุทธ”


การทำงานต้องให้มีความสมดุล มีความหลากหลายในองค์กร ทั้ง Hard Side และ Soft Side

 

 

ผมติดตามผลงานของท่านไร้กรอบ (อ.วรภัทร ภู่เจริญ) และนำแนวคิดของท่านมาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต มานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยพบตัวจริงท่านเลย เพิ่งได้มีโอกาสสัมผัสกับท่านอย่างใกล้ชิดเมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี้เอง คือ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ทางสถาบันเพิ่มผลผลิตได้จัดสัมนาเรื่อง “Productivity วิถีพุทธ” ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอ็มเมอร์รัล รัชดา กรุงเทพมหานคร เวลา 13.30 -16.30 น. เมื่อผมทราบข่าวก็ชักชวนพรรคพวกที่บริษัทเข้าร่วมงานนี้หลายคน ได้หนังสือมา 3 เล่ม (ทางผู้จัดมี Promotion เข้าสัมนา 4 คน แถมหนังสือ 1 เล่ม)

  

 

 

 

ผมไปถึงที่จัดงานประมาณบ่ายโมงพอดี บรรยากาศในงานคึกคักมาก ด้านหน้ามีบูธขายหนังสือของอาจารย์และของสถาบันฯ ด้วย เห็นอาจารย์กำลังแจกลายเซ็นต์อยู่ด้านหน้า  พอเข้าไปด้านในห้องสัมนาผมก็แปลกใจเล็กน้อย ตอนแรกนึกว่าจะจัดเป็นห้องสัมนาเล็กๆ แต่เขาจัดเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ คาดคะเนด้วยสายตาน่าจะประมาณ 100 ที่นั่งขึ้นไป

 

 

 

ก่อนที่จะเริ่มการสัมนาอย่างเป็นทางการ อาจารย์ได้ทดสอบเครื่องฉายภาพ Visualizer ก่อน โดยขีดเส้นและวาดภาพใบไผ่และหมีแพนด้า และต่อด้วยภาพยันต์คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า ถือเป็นการเรียกน้ำย่อยได้ดีพอสมควร จากนั้นก็เริ่มเข้าเนื้อหา โดยการพูดคุยแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการหรือวิชาการมากนัก อาจารย์บอกว่าแนวคิดเรื่อง “Productivity วิถีพุทธ” ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นการนำเอาแนวทางของความหมายคำว่า “พุทธะ” คือ “ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”มาใช้กับเรื่องการทำงานและการดำเนินชีวิตให้มีคุณค่ามีความสุขอย่างเป็นธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน โดยเชื่อมโยงจากคำว่าวิถีไปยังคำว่า “WAY” หรือ “มรรคา” ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติรู้อย่างเบิกบาน ซึ่งก็จะเกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรอย่างจริงใจ  (LOKM) ทำให้องค์กรนั้นทำงานได้อย่างมีความสุข (Happy Work Place) เมื่อทุกคนในองค์กรได้ทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องไปตามซื้อหาเทคโนโลยีใหม่ๆมือสองที่คนอื่นเขาคิดไว้ก่อนแล้วนำมาหลอกขาย ซึ่งเชื่อว่าคนที่ขายน่าจะไม่ให้ Know How  เต็มร้อยอย่างแน่นอน

 

   

 

เป้าหมายในการธุรกิจไม่ใช่อยู่ที่กำไรสูงสุด แต่ต้องคำนึงถึง 3 P อย่างสมดุลกัน คือ People/Planet/Profit  ผลประกอบการ กำไรขององค์กรต้องให้พออยู่อย่างเหมาะสม โดยต้องให้คนในองค์กรมีความเป็นอยู่ทีดีและมีความสุข  People ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนในองค์เท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงคนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชากรของโลกด้วย  การธุรกิจต้องไม่ทำลายโลก ต้องไม่รุมทึ้งทรัพยากรมาถลุงเพื่อตอบสนองเพียงเพื่อความสะดวกสบายของตน ดังนั้นการธุรกิจต้องให้กลมกลืนกับธรรมชาติ อาจารย์ได้ยกตัวอย่างหนังเรื่อง AVATAR (อวตาล) เชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=8308&PN=1)

 

 

 

อาจารย์ได้เล่าให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ โดยเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของประวัติศาสตร์แต่ละยุค โดยเริ่มตั้งแต่ยุคล่าสัตว์ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรมรวมยุค IT (ยุคปัจจุบัน)  และยุคแห่งองค์กรเรียนรู้ ในอนาคต(Cognitive Era) ซึ่งยุคที่ทำลายโลกมากที่สุดคือยุคอุตสาหกรรมและยุค IT เพราะตั้งแต่เจมส์วัตน์ ค้นพบและประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำสำเร็จ ก็พบว่า คนได้ทำลายธรรมชาติไปมาก เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคของผู้ชาย (แนวคิด) ที่มีแต่ความแข็งกระด้าง ต้องการผลลัพท์อย่างเดียว อาจารย์ยังได้วิพากวิจารณ์ว่าศาสตร์ที่ทำลายโลกมาที่สุดคือคนที่เรียนจบทางด้าน Hard Side มาเช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์  MBA การตลาด เป็นต้น ดังนั้นต้องให้สมดุลกันระหว่าง Hard Side และ Soft Side

 

 

 

อาจารย์ได้ให้แนวคิดที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการให้บริการไว้ว่า การที่เราตามใจลูกค้าตามแนวคิดของ Deming (ลูกค้าพึงพอใจ/ลูกค้าปลื้มใจ) นั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้ลูกค้าเกิดการเรียนรู้ในสิ่งผิดๆ เพราะจะทำให้ต้องรุมทึ้งทำลายธรรมชาติเพื่อผลิตสินค้าให้แปลกใหม่อยู่เสมอเพื่อตอบสนองตัญหาและกิเลสของลูกค้า ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนฉุกคิดเพื่อคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ ก่อนที่ธรรมชาติจะเอาคืน ดังจะเห็นได้จาก สึนามิ และแผ่นดินไหวที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้

 

 

 

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างหลายเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังแย่  เราเสียเอกราชทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ ชาวต่างชาติได้มากว้านซื้อที่ดิน กว้านซื้อกิจการ ทำโรงงานปล่อยของเสีย แต่เรายังปลอบใจตัวเองอยู่ ว่ามีงานทำ แต่นั่นก็เป็นมนุษย์เงินเดือนคอยกินเศษเนื้อข้างเขียงที่เขาทิ้งให้เท่านั้น ส่วนผลกำไรที่แท้จริงเขาได้นำกลับไปยังบ้านเกิดเขาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นอาจารย์ได้ให้แนวคิดไว้ว่า เราต้องธุรกิจที่สมดุลกับธรรมชาติ ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติแต่ไม่ทำลาย แต่ต้องอยู่อย่างกลมกลืนกัน คนที่มาจากต่างจังหวัดมาขายแรงงาน (แรงงานในที่นี้คือพนักงานโรงงานและพนักงานบริษัทที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม) ก็ขอให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน กลับสู่แผ่นดินแม่ กลับสู่ธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่อาจารย์พูดมาทั้งหมดก็คือสิ่งที่ในหลวงของพวกเราได้ดำริไว้ทั้งหมดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ซึ่งอาจารย์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงคนที่รักในหลวงจริงๆ ที่นำนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียงนี้ไปปฏิบัติให้เห็นผลจริง  ไม่ใช้รักด้วยปาก ที่แม้จะใส่เสื้อเหลือง เสื้อชมพู แต่ก็ยังทะเลาะกันอยู่

  

ช่วงหลังจากที่พักรับประทานอาหารว่างเสร็จ อาจารย์ได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานในองค์การให้มีความสุขและประสบผลสำเร็จว่า การทำงานต้องให้มีความสมดุล มีความหลากหลายในองค์กร ทั้ง Hard Side และ Soft Side แต่ปัจจุบันพบว่าองค์กรส่วนใหญ่จะมีแต่ Hard Side และมองมุมเดียว  คนในองค์กรต้องมีความหลากหลายทางความคิด และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ในอ่อนมีแข็ง ในแข็งมีอ่อน (ในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน) มองแบบองค์รวม การทำงานร่วมกันต้องเป็นรูปแบบ Community Base Management คือต้องบริหารจัดการบนพื้นฐานความต้องการของชุมชน มีความเท่าเทียมกัน อาจารย์ได้ยกตัวอย่างองค์ที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารแนวนี้คือบริษัท NOK Precision Component (Thailand) Ltd. บางปะอิน http://www.nokpct.com/index1.html  (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=8153&PN=1 )

 

 

ภาพจาก http://www.se-ed.com/eShop/(A(FdfQ4XoKygEkAAAAMDQ5MmU2YmUtYzg4Yy00YjUwLWJmODAtMWM5YWUyMjFkYjRm7Ux9_s9ZSwBJbxsvpxqQ8GlvxdI1))/Products/image.axd?picture=9786117148002L.gif&Type=Large

 

ผู้นำสมัยใหม่ต้องมีลักษณะเป็น Collective Leader Intelligent คือต้องรับฟังเก็บสะสมสิ่งที่เป็นประเด็นรอบด้าน ต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ อยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจ ดำเนินการตามหลัก อปริหานิยธรรม 7 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaidhammajak.com/webboard/detail.php?question_id=12254) รายละเอียดของเนื้อหาอาจารย์ได้ขยายความไว้ในหนังสือ “Productivity วิถีพุทธ” แล้ว การทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตามหลักแนวคิด “NO 4B” ดังนี้

 

Block   อย่าขวางความคิดของเพื่อนพนักงาน  โดยเฉพาะเจ้านาย สันดาน "คุณอำนาจ"ทั้งหลาย

Ble  อย่าเบิ้ล   คือ อย่าขี้คุย  อย่าทับถม อย่าดูถูก  ซ้ำเติม   เพราะ คนเราหลายคน  โดยสันดาน ชอบแซว  ชอบเอาปมด้อยคนอื่นมาโจมตี    ชอบยกตนข่มท่าน   คุยโวโอ้อวด

Bee อย่าบี้    คือ บดขยี้  ให้เพื่อนพนักงาน ถูกกดดัน    อย่าตามล้างตามเช็ด  อย่าล้างแค้น  อย่าใช้อารมณ์  อย่าใช้จิตอกุศล

Blame อย่าตำหนิ  อย่าหาแพะรับบาป  อย่าหาที่ระบายอารมณ์   เจ้านายต้องแสดงความ "นิ่ง หนักแน่น"   เต็มไปด้วย ยุทธศาสตร์  และ ปิยวาจา  พูดจาหลอกล่อ ให้พนักงาน คึกคักที่จะคิด จะทำ     ใช้ อิทธบาท 4 ให้มากๆ    (ใช้ Hansei & poka-yoke คือไม่มีใครผิด   แต่ เราจะยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น  หาต้นตอสาเหตุ และ ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ)

ข้อมูลจาก http://www.managerroom.com/

 

ผู้บริหารผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงมูลค่าทรัพย์ที่เป็นนามธรรมประเมินค่าไม่ได้ (Intangible) ให้มาก เพราะส่วนใหญ่จะพบว่าจะคำนึงถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้ (Tangible) เท่านั้น มูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นลักษณะของ Intangible ได้แก่ ทุนทางสังคม ทุนทางเครือข่าย และทุนทางปัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=176&Itemid=62 และ  http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=252&Itemid=54 ) นอกจากนี้พนักงานต้องเข้าใจ ผู้บริหารด้วยว่าเขาอาจจะมีมีแนวคิดที่ไม่เหมือนเรา เขามองคนละมุม เขาอาจจะมีข้อมูลมากกว่า แต่ถ้าคิดว่าเขาเป็นคนไม่ดี ยิ่ง่ต้องให้ความเมตตาเขา ให้ความรักมากๆ มองด้วยความสงสารเพราะเขาเทียบเท่าได้กับคนป่วยทางใจ เมื่อให้ความรักความเมตตามาก ผลตอบรับที่ได้มาก็จะเป็นความรักความเมตตามากด้วยเช่นกันตามหลัก Action/Reaction อาจารย์เข้าใจใช้คำว่า “META” ซึ่งแปลว่าหลากหลาย และไปพ้องเชื่อมโยงกับคำว่า “เมตตา” ซึ่งแปลว่าการให้ความรักความปราถานาดี พอดีเลย

 

 

บทส่งท้ายของการสัมนาครั้งนี้ผมคิดว่าการบริหารจัดการองค์กรต้องให้เกิดความสมดุลทาง Hard Side และ Soft Side โดยให้มองเป็นเรื่องของเครื่องมือ และวัฒนธรรม คือ ก่อนที่จะนำเครื่องมือด้านแข็งมาใช้ต้องให้คนในองค์กรมีพื้นฐานด้านวัฒนธรรมให้เข้มแข็งเสียก่อน ตามแนวคิดที่อาจารย์ ได้ Post ไว้ที่ http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=4265&PN=1 ดังนี้

 

 “คนตาบอด หลงป่า  ก็บ่นว่า เดินวนมานานแล้ว  ออกจากป่าไม่ได้สักที  ....เดินมาเจอคนพิการที่ขา   คนพิการขาก็บอกว่า  นอนตรงนี้มานานแล้ว เห็นทางออก  แต่ไปไม่ได้ 

คนพิการเดินไม่ได้    ก็เสมือน พวกที่เล่นแต่ intuition tools  คือ แนว soft side พวก dialogue / storytelling เป็นต้น  

คนตาบอด   = คนที่เล่นแต่ rational tools  คือ พวก แนว hard side ก็พวก why-why / 6 sigma / Qc tools / new 7 tools ทั้งหลาย

ดังนั้น  คนพิการควร ขึ้นหลัง คนตาบอด  จึงจะเดินออกมาจาก ป่าแห่งปัญหาได้”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 332080เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2010 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณค่ะ

คนพิการขึ้นหลังคนตาบอด

คล้ายคนตาบอดขี่คอคนเป็นใบ้ สองคนเป็นเพื่อนกันถ้อยทีถ้อยอาศัย

 

  • สวัสดีครับ
  • มาทักทาย  หลังเลิกงาน ก่อนกลับบ้านครับ
  • สบายดีนะครับ

ชอบฟังอาจารย์พูดมากๆ...และเห็นด้วยเลยค่ะกับคนไทยทุกๆคนที่ "รักในหลวงจริงๆ ที่นำนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียงนี้ไปปฏิบัติให้เห็นผลจริง  ไม่ใช้รักด้วยปาก ที่แม้จะใส่เสื้อเหลือง เสื้อชมพู แต่ก็ยังทะเลาะกันอยู่"

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณค่ะ
  • สำหรับสาระที่นำมาถ่ายทอด

สวัสดีครับ คุณ P krutoiting "คนตาบอดขี่คอคนเป็นใบ้ สองคนเป็นเพื่อนกันถ้อยทีถ้อยอาศัย" ผมเข้าใจว่า เปรียบเสมือนคนในองค์กรที่นำเครื่องมือ (Hardside) และวัฒนธรรม (Softside) มาใช้โดยไม่ศึกษาถึงความเหมาะสมอย่างถ่องแท้ก่อนครับ ทำให้หลงทาง ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือนกันครับ

ขอบคุณ คุณ P นายก้ามกุ้ง ที่เข้ามาทักทายครับ เมื่อวานผมบันทึกเสร็จก็ปิดเครื่องกลับบ้านก่อนครับ (ใช้เครื่องที่ทำงาน)  เลยต้องมาตอบวันนี้แทน

ขอบคุณ คุณ P noktalay ที่มาเยี่ยมเยือนกันครับ วันนั้นอาจารย์วรภัทร์บอกว่าในหลวงท่านคือสุดยอดนักปราชญ์ของโลกเลยครับ และผมคิดว่าท่านเป็นต้นแบบ Idol ของคนทั้งประเทศด้วยครับ

ขอบคุณ คุณ P ครูคิม ที่มาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจครับ เนื้อหาที่ผมบันทึกนี้อาจจะมีการตีความเชื่อมโยงไปยังความรู้อื่นๆ ตามความเข้าใจของผม ซึ่งทำให้เนื้อหาอาจจะแตกขยายออกไปจากต้นฉบับเดิมที่อาจารย์ได้บรรยายไว้บ้าง (อ่านรายละเอียดบันทึกเรื่องนี้ของอาจารย์วรภัทร์ได้ที่นี่ครับ  http://gotoknow.org/blog/ariyachon/331577)

Collective intelligent ปัญญาร่วม เป็นการระดมปัญญา ไม่ใช่ คิดคนเดียว ซึ่ง ผู้นำสมัยใหม่ ก็จะเป็น ผู้นำร่วม (Collective leader) คือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โสเหล่กันบ่อยๆ

ผมชอบ บันทึกนี้ ของ "ไทยเลยบ้านแฮ่" นะ

คิดแบบ Deming แบบ Juran ผลก็คือ ถล่มมารดาโลก (Mother earth หรือ Eva) เพื่อ ตามใจ กิเลสของลูกค้า ที่เรา ยั่ว จน ลูกค้าคึกตามมาตลอด

สวัสดีครับ

อาจารย์ยกตัวอย่างมาซะเห็นภาพเลย

“คนตาบอด หลงป่า  ก็บ่นว่า เดินวนมานานแล้ว  ออกจากป่าไม่ได้สักที  ....เดินมาเจอคนพิการที่ขา   คนพิการขาก็บอกว่า  นอนตรงนี้มานานแล้ว เห็นทางออก  แต่ไปไม่ได้ 

คนพิการเดินไม่ได้    ก็เสมือน พวกที่เล่นแต่ intuition tools  คือ แนว soft side พวก dialogue / storytelling เป็นต้น  

คนตาบอด   = คนที่เล่นแต่ rational tools  คือ พวก แนว hard side ก็พวก why-why / 6 sigma / Qc tools / new 7 tools ทั้งหลาย

ดังนั้น  คนพิการควร ขึ้นหลัง คนตาบอด  จึงจะเดินออกมาจาก ป่าแห่งปัญหาได้”

ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกดีๆ

เคยเจอหนึ่งครั้งครับ

แนวคิดสุดยอดครับ

 

ขอบคุณ อ. วรภัทร์ เจ้าของต้นเรื่อง ที่เข้ามาเยี่ยมและเติมเต็มเนื้อหาให้สมบูรณ์ครับ

คุณบัวปริ่มน้ำครับ P จากตัวอย่างหรือเนื้อหาทุกอย่างที่อาจารย์ได้บรรยายไว้ ผมคิดว่า คนที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ดีเป็นอันดับแรกเลย ก็คือผู้บริหารทั้งหลายครับ

ขอบคุณ คุณ P berger0123 ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจในทุกบันทึกครับ

ขอบคุณ คุณ P ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกันครับ รูปที่ถ่ายคู่กับอาจารย์ดูใกล้ชิดดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท