กิจกรรมจิตอาสา “ขัดบ่อเต่า” กับงานปัจฉิมนิเทศหลักสูตรพี่เลี้ยงพนักงานขับรถไฟฟ้า


เชื่อมโยงกิจกรรมนี้ไปยังเรื่อง Team Spirit, Safety & Service Mind

 

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับการที่กว่าจะได้เป็นพี่เลี้ยงพนักงานขับรถไฟฟ้ามาแล้ว (http://gotoknow.org/blog/attawutc/267675)  ซึ่งในหลักสูตรก็จะประกอบไปด้วยเนื้อหาทั้งด้าน Soft Skill และ Hard Skill ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ณ วันที่เขียนบันทึกนี้ เราก็ได้จัดมาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการฝึกอบรมพี่เลี้ยงพนักงานขับรถไฟฟ้าในรุ่นล่าสุดนี้ เราได้จัดให้มีกิจกรรมปัจฉิมนิเทศให้กับผู้เข้าอบรมที่จะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของพนักงานขับรถไฟฟ้า โดยเราได้จัดเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือสัตหีบ กิจกรรมที่วางแผนไว้เบื้องต้นคือ การเข้าไปช่วยทำความสะอาด บ่อเต่า และตัวเต่า พร้อมทั้งปล่อยเต่าลงสู่ทะเล  และแน่นอนการไปทำกิจกรรมอะไรซักอย่างที่ต้องเดินทางออกไปนอกบริษัทต้องมีคำถามว่า จัดกันไปเที่ยวอีกแล้วหรือ? ไปแล้วจะได้อะไรกลับมา? คุ้มค่าหรือไม่?  ผมก็ได้เตรียมคำตอบไว้ดังนี้คือ งานนี้ผมเตรียมธีมหลักของกิจกรรมไว้ให้เชื่อมโยงกับเป้านโยบายหลักของบริษัท โดยให้กิจกรรมทุกกิจกรรมเชื่อมโยงไปยังเรื่องของ การทำงานเป็นทีม มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและให้การบริการ 

 

เช้าวันนั้นเราเริ่มเดินทางออกจากบริษัทประมาณ 7 โมงกว่าๆ ไปถึง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือสัตหีบ 10 โมงนิดๆ  พอไปถึง ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ นำโดย นาวาโท ขวัญเมือง คเรศตรี หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมหลัก ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้เราเข้ารับฟังการบรรยายสรุปความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเต่าทะเลในห้องประชุมก่อนพร้อมทั้งพาชมห้องนิทรรศการและตู้กระจกแสดงสัตว์น้ำของศูนย์ฯ ทำให้เราทราบสถานการณ์ของการดำรงค์พันธุ์ของเต่าทะเลในประเทศไทยว่ายังอยู่ในภาวะที่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะถูกคุกคามจากภัยรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ด้วยกัน ภัยธรรมชาติ และที่สำคัญภัยจากมนุษย์เรานี่เอง ที่กินทั้งไข่กินทั้งเนื้อ ล่าเอากระดองมาทำเครื่องประดับ ทำเฟอร์นิเจอร์ ทางศูนย์ฯ จึงต้องอนุรักษ์เลี้ยงดูฟักไข่ให้มีโอกาสรอดและแข็งแรง จากนั้นก็ปล่อยกลับสู่ธรรมชาติต่อไป (รายละอียดเกี่ยวกับความรู้เรื่องเต่าทะเลดูได้ที่เวบไซต์ของ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ที่Link http://www.navy.mi.th/turtles/index.htm และ http://www.navy.mi.th/turtles/b1.html )

  

 

หลังจากที่ฟังบรรยายและเยี่ยมชมห้องนิทรรศการตู้กระจกแสดงสัตว์น้ำของศูนย์ฯแล้ว ก็ได้เวลาช่วยกันทำความสะอาดบ่อเต่ากัน โดยพวกเราทั้งผู้เข้าอบรม เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ และบรรดาครูฝึกของหลักสูตรประมาณ 10 กว่าคน ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการขัดบ่อเต่ากัน สาเหตุที่ต้องมีการทำความสะอาดบ่อยๆ ประมาณ สัปดาห์ละครั้ง ก็เพราะน้ำที่อยู่ในบ่อเป็นน้ำนิ่ง ทำให้มีตะไคร่น้ำเกาะตามพื้นและขอบบ่อรวมทั้งตัวเต่าด้วย การทำความสะอาดเราจะใช้แปรง สกอตไบร์ ไม้กวาดทางมะพร้าว ขัดทำความสะอาด โดยห้ามใช้สารเคมีใดๆ เด็ดขาด เพราะจะทำอันตรายแก่เต่าได้ เราใช้แรงล้วนๆ ได้เหงื่อดีมาก ดีกว่าไปออกกำลังกายตามฟิตเนตเป็นไหนๆ บ่อที่เราขัดในวันนั้นมีขนาดประมาณ 2 x 10 เมตร เราใช้เวลาประมาณ เกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะได้รับประทานอาหารกลางวันก็เกือบจะบ่ายโมง

  

 

หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว เราได้มีโอกาสปล่อยลูกเต่าสู่ท้องทะเลด้วย โดยเต่าที่จะปล่อยต้องมีอายุอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งการปล่อยเต่านี้จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลักให้เต่ามีความคุ้นเคยและสามารถระลึกได้ 3 อย่าง คือ สนามแม่เหล็กโลก พื้นที่และเคมีบริเวณที่ถูกปล่อย ทั้งนี้เพื่อสามารถเดินทางกลับมาวางไข่ ณ จุดที่ปล่อยนี้ไว้ได้ ทางศูนย์ก็จะได้เก็บไข่นำไปฟักและเลี้ยงดูเพื่อนำกลับสู่ธรรมชาติให้ปลอดภัยได้ต่อไป นอกจากนี้พื้นที่ในการวางเต่าจะต้องห่างจากน้ำอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้เต่าปรับตัวได้

 

 

 

เสร็จจากการปล่อยตัวเราก็กลับมาสรุปกิจกรรมให้ห้องประชุมกันต่อ โดยผมให้ผู้เข้าอบรมช่วยกันเขียนสรุปสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้เป็นหัวข้อหลักๆ ดังนี้

1. รู้สึกอย่างไรจากกิจกรรมนี้

2. ได้อะไรจากกิจกรรมนี้

3. กิจกรรมนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องการทำงานเป็นทีม การมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและให้การบริการ ได้อย่างไรบ้าง

4. จะนำสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ไปใช้ในการทำงานพัฒนาองค์กรได้อย่างไรบ้าง และขอให้ร่างปฏิณญาร่วมกันว่าเราจะทำอะไรให้แก่องค์กรอย่างไรบ้าง

 

หลังจากที่ทุกคนได้ช่วยกันเขียนสรุปสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็ให้ทุกคนมานั่งล้อมวงคุยกันเพื่อคุยแสดงความคิดเห็นสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน สิ่งที่เราคุยกันและสรุปตามหัวข้อหลักๆ ออกมามีดังนี้

 

 

สิ่งที่เรารู้สึก คือ ตื่นเต้น ดีใจอยากทำกิจกรรมเร็วๆ กระตือรือล้นอยากที่จะทำ อยากเห็นสถานที่จริง ดีใจที่บริษัทสนับสนุนการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีของพนักงานอันจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่ได้  คือ เกิดความสามัคคีขึ้นภายในกลุ่ม มีความเสียสละ ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้เรื่องราวการอนุรักษ์เต่าว่ามีความจำเป็นอย่างไร และสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเล ได้รู้จักคำว่าให้ (กลับคืนสังคม) หลังจากรับมาตลอดเวลา 1 เดือน ขัดเกลากิเลสรู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน(หิว,เมื่อย,เหนื่อย,เจ็บ)

สิ่งที่เรียกว่า TEAM คือ การทำภาระกิจของกลุ่มสมาชิกจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย อันส่งผลให้ เกิดความสามัคคี รู้จักหน้าที่ มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รับฟัง เข้าใจ เห็นใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูล

สิ่งที่เรียกว่า SAFETY คือ เรียนรู้งานที่จะทำว่าจุดใดที่จะก่อให้เกิดอันตราย และหาวิธีป้องกัน ระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน รู้จักหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง เช่น การระวังพื้นลื่น ระวังกระดองบาดมือ การห้ามจับเต่าลูกอ่อน เพราะอาจติดเชื้อจากตัวเราได้ กระทั่งปฏิบัติงานเสร็จจะเห็นได้ว่ากลุ่มเราไม่ได้รับอันตรายใดๆในการทำกิจกรรม

สิ่งที่เรียกว่า SERVICE คือ การบริการสังคม ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม การให้โดยมิหวังผลรางวัลตอบแทนหวังแต่เพียงว่าสี่งที่ทำจะมีประโยชน์ต่อสังคม

สิ่งที่จะนำมาปรับใช้ คือ การทำงานเป็นทีมต้องมีเป้าหมายเดียวกันและช่วยกันทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามัคคี เสียสละ อดทนอดกลั้น เรียนรู้สี่งต่างๆและวิเคราะห์เพื่อนำสิ่งที่ดีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและบริษัท อะไรที่เป็นประโนชน์ตอส่วนรวมเรายินดีที่จะทำ

สิ่งที่เราจะทำ ปฏิณญาร่วมกัน คือ เป็นพี่เลี้ยงที่ดีมีประสิทธิภาพ นำความรู้ที่มีถ่ายทอดและดูแลน้องอย่างตั้งใจและเต็มใจให้สมกับที่บริษัทให้โอกาสและไว้วางใจ พวกเรา หากมีปัญหาเราจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปรึกษากัน ร่วมกันทำสิ่งดีๆต่อไป เราจะไม่หยุดสิ่งที่ดีไว้เพียงแค่กลุ่มเราเท่านั้นเราจะแพร่กระจายสิ่งที่ดีให้แพร่ออกไปๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

 

 

กิจกรรมของเรายังไม่จบเพียงแค่นี้ เรายัง Build อารมณ์ของผู้เข้าอบรมต่อไปอีกโดยการ ให้ชม VDO/Flash Presentation กิจกรรมของหลักสูตรทั้งหมดที่อยู่ร่วมกันมาใน 1 เดือน ภาพที่แสดงเป็นภาพตั้งแต่การเข้ามาอบรมร่วมกันมาตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ (หลังจากปล่อยเต่าเสร็จ) โดยทีมงานของเราได้ Load ภาพตัดต่อสดๆ ร้อนๆ แล้ว ฉายให้เห็นตอนนั้นเลย กิจกรรมในหลักสูตรทั้งหมดเราจะเน้นในธีมของเรื่อง Team/Safety และ Service

 

 

 

หลังจากนั้นครูเศก (เศกศักดิ์  หุ่นสอาด : http://www.oknation.net/blog/sekyicy) ก็ได้มาสรุปภาพรวมของหลักสูตรทั้งหมด ในกิจกรรมของการปิดตาแล้วให้แต่ละคนพูดเรียงตัวอักษร A-Z โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ให้คนที่อยู่ข้างกันพูดต่อกัน ผลจากการสรุปกิจกรรม เรื่องนี้จะนำไปสู่เรื่องการทำงานให้เข้าขากัน รู้ใจกัน รู้หน้าที่กัน โดยไม่ต้องบอก ไม่ขัดแข้งขัดขาแย่งงานหรือเกี่ยงงานกัน  จากนั้นครูเศกยังได้เชื่อมโยงต่อไปยังเรื่องความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของการเป็นพี่เลี้ยง โดยยกตัวอย่างจากหนังเรื่อง Troy ที่โอดิสซี่ ที่ต้องไปรบเป็นเวลากว่า 10 ปี จนต้องฝากลูกไว้กับเพื่อน ที่ชื่อ Mentor ซึ่งการที่เราจะฝากลูกเราไว้กับใครนั้น คนนั้นต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจว่าต้องเป็นคนดี คนเก่ง ที่จะสามารถช่วยดูแลลูกของเราได้ตลอดรอดฝั่ง ต่อมาชื่อนี้จึงได้นำไปใช้สำหรับคนที่ช่วยดูแลในงานลักษณะนี้ว่า “Mentor” หรือ พี่เลี้ยงนั่นเอง  

 

 

เมื่อ Build อารมณ์ได้ที่ ครูเศกก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พูดแสดงความรู้สึกทีละคน กับการเข้ามาอบรมหลักสูตรนี้ ถึงเพื่อน ครู ผู้ประสานงาน บุลคลที่เกี่ยวข้อง และจะไปทำหน้าที่พี่เลี้ยงนี้ต่อไปอย่างไร หลังกจากนั้นครูเศกก็ฝากแนวคิดการเลี้ยงลูกและการทำรังของนกอินทรี ที่ฝึกลูกจนแกร่ง เปรียบเทียบกับการฝึกคน ว่า เราจะต้องรู้จักให้เขาเรียนรู้ และปฏิบัติจนชำนาญ ฝึกให้เขารับรู้/เรียนรู้ ถึงความเจ็บปวด ผิดหวัง (รู้ เข้าใจ ทำได้ สอนเป็น) โดยให้เขาได้พบประสบกับสิ่งเหล่านั้นจริงๆ จึงจะปล่อยออกสู่โลกกว้างได้ ไม่เหมือนกันนกกระจาบที่ทำรังใหญ่โต และคอยป้อน ประคบประหงมคุ้มครองจากพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาคับขัน ก็ทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองได้

 

 

กิจกรรมสุดท้ายของการอบรมจบลงด้วยการมอบสิ่งดีๆ จากครูผู้สอนและหัวหน้างานต้นสังกัด ด้วยพิธีผูกข้อมือ และอวยพรให้พบกับสิ่งที่ดีๆ ต่อกัน กิจกรรมนี้ แม้จะดูเผินๆ เหมือนว่าจะไม่มีอะไร ในด้านของเนื้อหา  แต่เรื่องของสาระ ที่ทุกคนมอบให้กันก็จะเป็นการจุดประกายให้เกิดทัศนคติที่ต่อการงานที่จะต้องรับผิดชอบต่อไป

 

 

จากองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นความรู้ที่เราได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องนำความรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ให้ยั่งยืน ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากต้นสังกัดให้ประเมินผลและติดตามผลต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 382005เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • มาขอบคุณคุณไทเลยที่เข้าไปทักทายผมที่อาศรมก้ามกุ้งครับ
  • หวังว่าอาศรมของผมคงได้รับเกียรติจากคุณตลอดไปนะฮะ
  • ขอบคุณอีกครั้ง

 ขอบคุณ เช่นกันครับ 

 

ผมติดตามบันทึกของคุณกิตติพัฒน์ P  ใน Planet อยู่เสมอครับ เข้าใจว่าเมื่อก่อนจะใช้ชื่อว่า "อาศรมก้ามกุ้ง" ใช่มั้ยครับ

ขอบคุณมากค่ะ

ติดตามมาจากสนทนาแนวธรรมะค่ะ

เป็นแนวทางการทำงานที่ให้ความรักก่อนความรู้ความเข้าใจจะตามมาเอง..ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท