BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อาคมและอธิคม


อาคมและอธิคม

มีกัลยาณมิตรแนะนำมาว่า เมื่อเขียนเรื่อง อักษร อักขระ  ซึ่งเน้นที่ อักขระ แล้วก็ควรจะเขียนเรื่อง อาคม ด้วย เพราะมีสำนวนไทยว่า อักขระ อาคม ... ผู้เขียนก็รับปากว่าจะเขียน แต่ก็มานึกต่ออีกว่า ยังมีอีกสำนวนคือ อักขระ คาถา อาคม ... ซึ่งจะเล่าในตอนต่อไป ส่วนตอนนี้จะว่าด้วย อาคม และ อธิคม ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กัน....

คำว่า อาคม มาจากรากศัพท์ว่า คม แปลว่า ไป, ถึง ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไว้บ้างแล้วในคำว่า  คมนาคม ผู้สนใจอาจกลับไปดูได้อีกครั้ง....

อา เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์ ใช้เพื่อกลับความหมายรากศัพท์เดิม ดังนั้น เมื่อ คม รากศัพท์แปลว่า ไ... พอมี อา นำหน้า จึงกลับความหมายจาก ไกลายเป็น มา ... นั่นคือ อาคม แปลว่า มา

อาคม ตามวรรณคดีบาลีมีความหมายอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ถึง ปริยัตติ และ ปฏิบัติ ..

...........

 สิ่งที่ควรศึกษาเรียนรู้ซึ่งเราเรียกกันตามสำนวนปัจจุบันว่า ทฤษฎี ... แต่ตามสำนวนบาลีเรียกว่า ปริยัติ ...ดังนั้น ปริยัติก็คือทฤษฎี ทฤษฎีก็คือปริยัติ

 และเมื่อนำทฤษฎีนั้นมาเป็นหลักในการใช้หรือดำเนินชีวิต เราเรียกว่า ปฏิบัติ... ซึ่งสำนวนไทยนำคำนี้มาใช้ในความหมายทำนองเดียวกัน....

ทั้งปริยัติและปฏิบัติสองอย่างนี้ เรียกรวมกันได้ว่า อาคม ... เนื่องจากอาคม แปลตามศัพท์ได้ว่า มา ... ปรัยัติ เป็นสิ่งที่ควรนำมาสู่จิตใจ (โดยการศึกษาเล่าเรียน)... ดังนั้น ปริยัติ จึงเรียกว่า อาคม ในความหมายว่า ควรนำ มา สู่จิตใจ ... ประมาณนี้

ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ควรนำมาสู่จิตใจนั้น จะต้องนำมาปฏิบัติ กล่าวคือควรนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตด้วย... ดังนั้น ปฏิบัติ จึงเรียกว่า อาคม ในความหมายว่า ควรนำ มา เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ... ประมาณนี้

สรุปว่า ปริยัติและปฏิบัติ เรียกว่า อาคม เพราะ ควรแก่การนำมาสู่จิตใจและควรนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ... ประมาณนี้

........

พระสัทธรรม คือ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จำแนกได้เป็น ๓ กล่าวคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ... ในส่วนปริยัติและปฏิบัติ รวมเรียกว่าอาคม... ส่วน ปฎิเวธ เรียกว่า อธิคม

ปฏิเวธ ตามศัพท์นิยมแปลกันว่า การแทงตลอด(ธรรม) เป็นการบรรลุธรรม นั่นคือ เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ทฤษฎีแล้วนำมาปฏิบัติ.. เรียกกันว่า อธิคม ในความหมายว่า ควรแก่การบรรลุ

อธิ เป็นอุปสัค ใช้ในความหมายว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ ... เมื่อนำหน้า คม รากศัพท์ในความหมายว่า ถึง ... (อธิ + คม = อาคม) นิยมแปลกันว่า ถึงทับ หรือแปลรวบความตามสำนวนไทยว่า บรรลุ

ดังนั้น ปฏิเวธ จึงเรียกว่า อธิคม ในความหมายว่า ควรแก่การบรรลุ

.......

ในวรรณคดีบาลี อาคมาธิคม (แยกสนธิออกเป็น อาคม + อธิคม) ถ้าไม่แปลทับศัพท์ว่า อาคมและอธิคม ก็สามารถจะแปลว่า ปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ ได้เลยโดยไม่ถือว่าผิด....

ส่วน อาคม ที่ใช้เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสำนวนไทย ถ้าจะใช้ในความหมายว่า ศักดิ์สิทธิ์เชิญมาอยู่ที่นี้ ก็น่าจะได้...

อนึ่ง คำว่า อาคม นี้ ยังหมายถึง ตำรา คัมภีร์ หรือหนังสือก็ได้.... ในบาลีมีใช้บ้างเล็กน้อย ไม่มากนัก... แต่ในวรรณคดีพุทธศาสนามหายาน หรือวรรณคดีสันสกฤตอื่นๆ นิมยใช้คำว่า อาคม ในความหมายนี้โดยทั่วไป...     

หมายเลขบันทึก: 122068เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการพระคุณเจ้าครับ
  • ผมตามมาจาก b ของ อ.หมอวิจารณ์ http://gotoknow.org/blog/thaikm/124539 เพราะเหตุของคำ ๒ คำคือ อาคม และ อธิคม ซึ่งเป็นคำที่ผมคล้ายกับเคยได้สำเหนียกมาก่อน
  • มาได้อ่านความรู้ ทำให้ได้ความรู้ครับ
  • ขอบพระคุณครับ
P

นมินทร์ (นม.)

ก็เล่าไปเล่นๆ เท่านั้น... 

รู้สึกว่า เคยเห็นอาจารย์เข้ามาเยี่ยมบ้างเหมือนกัน แต่คงจะนานมาแล้ว....

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท