BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

มิคสัญญี


มิคสัญญี

เหตุการณ์หน้ารัฐสภาไทยเมื่อวานนี้ (๗ ต.ค.) มีผู้เปรียบเปรยว่าเป็นแดนมิคสัญญี ซึ่งคำนี้คิดว่าความเข้าใจของคนทั่วไปคงจะหมายถึง สถานที่รบราฆ่าฟันโดยไม่มีใครเกรงกลัวใคร ซึ่งอาจตรงกับภาษาอังกฤษว่า warfare เป็นต้น และความหมายเดิมในภาษาบาลีก็ทำนองนี้เหมือนกัน...

  • มิคะ + สัญญี = มิคสัญญี

มิคะ แปลว่า เนื้อ โดยคัมภีร์ระบุว่าใช้ ๒ ความหมาย ความหมายแรกหมายถึงสัตว์เลี้ยงทั่วไป และความหมายที่สองหมายถึงสัตว์ที่มีหนังเป็นประโยชน์เช่นกวางหรือสมัน... เมื่อพิจารณาการใช้ศัพท์นี้ ก็คือสัตว์ที่ไม่มีพิษภัย และอาจถูกฆ่าได้ง่าย ซึ่งคำไทยโบราณรวมความแล้วเรียกสัตว์ทำนองนี้ว่า เนื้อ หมายถึงสัตว์ที่อาจฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหารได้โดยไม่ยากนัก... เฉพาะคำนี้ อาจตั้งวิเคราะห์ได้หลายนัย ดังเช่น

  • มรตีติ มิโค
  • สัตว์ใด ย่อมตาย ดังนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า มิคะ
  • จาทิตุกาเมหิ มียตีติ มิโค
  • สัตว์ใด อันผู้ต้องการจะกิน ย่อมเบียดเบียน ดังนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า มิคะ
  • อิโต จิโต โคจรํ มิคตีติ มิโค
  • สัตว์ใด ย่อมเสาะหา ซึ่งแหล่งอาหาร โดยทางนี้และทางนั้น ดังนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า มิคะ

 

สัญญี แปลว่า มีสัญญา (คำว่า สัญญา เคยเล่าไว้แล้ว ผู้สนใจ คลิกที่นี้ ) หรืออาจแปลออกศัพท์ว่า มีความสำคัญหมาย... คำนี้เป็นศัพท์ตัทธิต อาจวิเคราะห์ได้ว่า

  • สญฺญา ตสฺส อตฺถีติ สัญญี
  • ความสำคัญหมาย ของผู้นั้น มีอยู่ ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า มีความสำคัญหมาย

 

เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็นคำสมาสว่า มิคสัญญี ก็อาจตั้งวิเคราะห์ได้อีกทำนองหนึ่งว่า

  • ปเร มิคํ อิว สญฺญา ตฺตฺถ อตฺถีติ มิคสญฺญี
  • ความสำคัญหมาย ซึ่งชนเหล่าอื่น ว่าเป็นเพียงดังเนื้อ ย่อมมี ในที่นั้น ดังนั้น ที่นั้น ชื่อว่า มิคสัญญี (เป็นที่สำคัญหมายซึ่งชนเหล่าอื่นว่าเป็นเพียงดังเนื้อ)

ตามวิเคราะห์นี้ มิคสัญญี ใช้เป็นสถานที่อันไม่มีใครกลัวใคร เพราะแต่ละคนต่างก็คิดว่า คนอื่นๆ นั้น เป็นเหมือนเนื้อ ที่เราจะเบียดเบียนหรือฆ่าเสียเมื่อไหร่ก็ได้... และคำว่า ที่นั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวานนี้ ก็อาจชัดเจนยิ่งขึ้น...

.........

นอกประเด็นนิดหน่อย warfare หรือ สภาวสงคราม หรือบางครั้งเราก็ใช้ว่า มิคสัญญี ทำนองนี้ ทำให้นึกไปถึงวิชารัฐศาสตร์ในเรื่องทฤษฎีกำเนิดรัฐ โดยแนวคิดสัญญาประชาคม หรือ Social Contract ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องนี้...

ทอมัส ฮอบส์ นักปรัชญาขาวอังกฤษให้ความเห็นทำนองว่า มนุษย์นั้นมีความกระหายอำนาจ ต่างก็คิดว่าตนเท่านั้นเป็นหนึ่งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ละคนจึงต่างก็ไม่ยอมใคร แก่งแย่งชิงดีซึ่งกันและกัน จึงเกิดสภาวสงครามหรือมิคสัญญี... อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความฉลาด เมื่อเล็งเห็นว่า การแก่งแย่งชิงดีแล้วรบราฆ่าฟันทำนองนี้ ไร้ประโยชน์ จึงได้พร้อมใจยกอำนาจของตนแต่ละคนให้แก่ใครคนหนึง ให้เค้ามีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และนั้นคือ ผู้ปกครอง ของรัฐ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสถาบันกษัตริย์ในสมัยต่อมา...

ขณะที่ จอห์น ล้อค นักปรัชญาชาวอังกฤษอีกคน มีความเห็นแย้งไปจากฮอบส์ โดยล้อคมีความเห็นทำนองว่า การยกอำนาจให้ใครบางคนนั้น เป็นเพียงการมอบให้ชั่วคราว ถ้าเขาทำไม่ถูกต้อง เราแต่ละคนก็อาจมีสิทธิเอากลับคืนมาได้ นั่นคือ ถ้าผู้ปกครองใช้อำนาจไม่เป็นที่พอใจของแต่ละคน และการที่แต่ละคนลุกขึ้นมาทวงอำนาจคืนก็อาจเป็นที่มาของสภาวสงครามหรือมิคสัญญีอีกครั้ง และอีกครั้ง ... ซึ่งประเด็นนี้ ก็โยงมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในสมัยต่อมา...

มิคสัญญี ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจทางการเมืองทำนองนี้ ก็มีเช่นเดียวกัน ใครสนใจลองไปค้นช่วงรอยต่อระหว่างการสิ้นสุดและการเกิด ยุค ก็จะเจอเรื่องนี้ไม่ยาก... (คำว่า ยุค ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะค่อยนำมาเล่าต่อไป...)

สรุปว่า สภาวสงคราม หรือ มิคสัญญี ดังที่เกิดที่หน้ารัฐสภาเมื่อวานนี้ มิใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีผู้คิดเห็นและจินตนาการมานานแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 214937เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ หลวงลุง

หลวงลุงสบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ หลานแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ...น้องจิ

กราบนมัสการค่ะ...

ได้ความรู้ดีมากค่ะ

เนื้อนี้คล้ายๆ ผักปลา หรือเปล่าครับ? ชีวิตคนเป็นผักปลา

นมัสการ พระคุณเจ้าครับ มารับรู้เรื่อง มิคสัญญีแล้วครับ

นมัสการครับ

ได้ความรู้มากเลยครับ

Pโก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง

 

ถ้ามีใครถามทำนองนี้ ก็มักจะตอบว่า...

  • สุขบ้างทุกข์บ้าง

.............

Pกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

 

โบราณว่า...

  • รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม

...........

Pवीर

 

เนื้อ ตามนัยนี้ ก็คงจะทำนองเดียวกับ ผักปลา ในแง่ว่าใช้เป็นอาหารได้...

.........

Pธีรนร นพรส

 

  • ธีรนร อาจแปลว่า คนมีปัญญาเป็นเครื่องทรงไว้เพื่อรักษาตน

........

 

Pคนพลัดถิ่น

 

โบราณว่า...

  • ครูพักลักจำ

............

P 8. kaytay

 

สงสัยว่า ถ้าได้ความรู้น้อย จะเป็นอย่างไร ? (............)

............

เจริญพรทุกท่าน

 

นมัสการพระคุณเจ้า

 ถ้ามีอสิงหา ก็ไม่เกิด มิคสัญญี

อาจารย์ ครับ ช่วยกรุณา ให้ความหมาย ของ วิสัญญีด้วยครับ

P บังหีม

 

บังว่ามานั้น น่าจะเป็น อหิงสา ซึ่งแปลว่า ความไม่เบียดเบียน ... ส่วน อสิงหา นั้น น่าจะแปลว่า มิใช่เดือนสิงหา (...........)

 

  • วิ + สัญญี = วิสัญญี

วิ ในที่นี้ บ่งชี้ว่า ต่าง, ปราศ

สัญญี คือ มีความสำคัญหมาย

ดังนั้น วิสัญญี ควรแปลว่า มีความสำคัญหมายไปปราศแล้ว นั่นคือ  สลบ นั่นเอง

เป็นอันว่า วิสัญญีแพทย์  ก็คือ หมอวางยาสลบ

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า ขออภัยจริงๆ

แล้วขนาด ทวนความ อ่านแล้ว ยังไม่นึกว่าผิด เพราะใจนึกคิดถึงอหิงสาครับ

 ส่วนวิสัญญี รู้เพียงว่าหมอดมยา วันนี้พระคุณเจ้าให้ความกระจ่าง แบบรู้แจ้ง เห็นจริง ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

Pบังหีม

 

ก็ตระหนักอยู่ว่า บังพิมพ์ผิด ซึ่งอาตมาก็ผิดบ่อยเหมือนกัน...

เมื่อคืนถวายความเห็นพี่ท่านไปว่า ถ้าไปโพสต์บันทึกของผู้อื่น ต้องตรวจสอบให้ดี เพราะถ้าพิมพ์ผิดพิมพ์พลาด ก็จะคงอยู่อย่างนั้น เนื่องจากเราแก้หรือลบไม่ได้... แต่ถ้าเป็นบันทึกของเราเอง ไม่ค่อยเป็นไรนัก เมื่อเห็นว่าผิด ก็ลบทิ้งแล้วตอบใหม่ได้...

โบราณว่า ผิดเป็นครู ! ต่ถ้าผิดบ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ เพื่อนบอกว่า ไม่สาไหร่ ! (...............)

เจริญพร

ขอบคุณพระอาจารย์มากๆครับ

พระอาจารย์ครับ ผมต้องการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา อาจารย์ว่า ผมควรร่วมจากส่วนใด/เรื่องไหนก่อน ขอบคุณมากครับ

Pm.almaarify

 

ถ้าเป็นแนวคิดเชิงวิชาการก็แนะนำหนังสือ พุทธธรรม (รูปหนังสือ) ถ้าอ่านเล่นๆ ก็ลองหาหนังสือสำหรับนักธรรมตรีชื่อ นวโกวาท เป็นต้น

พุทธศาสนาในส่วนที่มิใช่หลักคำสอน เป็นเพียงวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ เป็นต้น อาจารย์ก็หาอ่านได้ทั่วไป หรือสอบถามคนใกล้ๆ ตัวไปเรื่อยๆ ก็น่าจะพอได้...

เจริญพร

ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยให้ความรู้

แต่รู้สึกว่า ถึงแม้จะเป็นคำที่หรือเหตุการณ์ที่มีมานานแล้ว

แต่ทำไม มนุษย์ เรา ไม่เรียนรู้ ที่จะไม่ทำผิดซ้ำ

ฟังแล้วมันเศร้าอ่ะคะ

30moonus

 

  • มิคสัญญี คำนี้กลับมาสู่เหตุการณ์อีกครั้ง

เจริญพร

นมัสการครับผม ความรุ้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา

หนึ่งฤทัย แก้วคำสอน

ขอบคุณมากสำหรับคำตอบนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท