BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา


อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา

ข้อความนี้มักมีผู้นำไปอ้างเสมอในการสอนธรรมเชิงปฏิบัติ วันนี้ก็มีผู้สงสัยถามมาว่า คำไหนที่แปลว่า มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน เพราะมองไม่เห็นศัพท์เลย ศัพท์ใดกันแน่ที่แปลว่า ความเพียร เผา และ กิเลส (ถามมาทาง Email ซึ่งผู้เขียนบอกหลายครั้งแล้วว่า ไม่ตอบคำถามหรือไม่รับปรึกษาปัญหาทุกกรณีผ่านทาง Email)... แต่ประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ จึงใคร่จะใช้บันทึกนี้ขยายความย่อๆ เพื่อคลายความสงสัย...

อาตาปี สมฺปชาโน สติมา ข้อความนี้ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฏกหลายที่ ส่วนที่นิยมอ้างนั้น มาจาก มหาสติปัฏฐานสูตร ผู้สนใจจะอ่าน คลิกที่นี้ โดยพระสูตรนี้ ท่านแปลข้อความนี้สั้นๆ ดังนี้

  • อาตาปี = มีความเพียร
  • สมฺปชาโน = มีสัมปชัญญะ
  • สติมา = มีสติ
  • อาตาปี สมฺปชาโน สติมา = มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

 

ในประเด็นที่ถามมา สำหรับผู้เป็นมหาเปรียญนั้น มิใช่เรื่องยากหรือลึกลับเลย เพราะสามารถตอบได้ทันทีว่าศัพท์ว่า อาตาปี นี้แหละ ที่แปลว่า มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส หรือ มีความเพียรย่างกิเลสให้เร่าร้อน และอาจแปลสั้นๆ พอได้ความว่า มีความเพียร

อาตาปี มาจากรากศัพท์ว่า ตปฺ ซึ่งศัพท์นี้ถ้าจะแปลเป็นศัพท์ที่ไม่ต้องเรียกหากรรมของประโยค (intransitive verb) ก็จะแปลว่า ร้อน ... แต่ถ้าแปลเป็นศัพท์ที่เรียกหากรรมของประโยค (Transitive verb) ก็จะแปลว่า เผา ...

ส่วน อา เป็น อุปสัคใช้นำหน้ารากศัพท์ในความหมายว่า ทั่ว. ยิ่ง. ขยายความว่า ทั่วทั้งหมด ทั่วทุกอย่าง หรือ ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือ ช่วยหนุนให้รากศัพท์มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น แต่อุปสัคนั้น บางครั้งจะไม่แปลออกความหมายก็ได้เพื่อมิให้รกเรื้อเกินไป และครั้งนี้ผู้เขียนก็จะไม่แปล...

อาตาปี เป็นศัพท์ตัทธิต ซึ่งเดิมเป็นศัพท์นามกิตก์ว่า อาตาโป (อาตาปะ) โดยมีการตั้งวิเคราะห์ว่า...

  • กิเลเส อาตปติ เตนาติ อาตาโป
  • บุคล ย่อมเผา ซึ่งกิเลสทั้งหลาย ด้วยความเพียรนั้น ดังนั้น ความเพียรนั้น ชื่อว่า อาตาปะ (เป็นเครื่องเผากิเลส)
  • กิเลเส อาตาเปติ เตนาติ อาตาโป
  • บุคล ยังกิเลสทั้งหลาย ย่อมให้เร่าร้อน ด้วยความเพียรนั้น ดังนั้น ความเพียรนั้น ชื่อว่า อาตาปะ (เป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน)

ตามนัยนามกิตก์นี้ จะเห็นว่าคำว่า อาตาปะ เป็นคำคุณนามขยายความเพียร โดยถ้าแปลว่า เผา ก็จะได้ว่า (ความเพียร) เป็นเครื่องเผากิเลส ... ถ้าแปลว่า ร้อน ก็จะได้ว่า (ความเพียร) เป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน

 

จาก อาตาโป ซึ่งเป็นศัพท์นามกิตก์นั้น ก็ตั้งวิเคราะห์ตามนัยตัทธิตได้อีกครั้งว่า..

  • อาตาโป ตสฺส อตฺถีติ อาตาปี
  • ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ของบุคลนั้น มีอยู่ ดังนั้น บุคลนั้น ชื่อว่า อาตาปี (มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส)
  • อาตาโป ตสฺส อตฺถีติ อาตาปี
  • ความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน ของบุคลนั้น มีอยู่ ดังนั้น บุคลนั้น ชื่อว่า อาตาปี (มีความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน)

ตามนัยตัทธิตนี้ อาตาปี จะแปลงมาเป็นคำคุณนามขยายบุคล โดยถ้าแปลว่า เผา ก็จะได้ว่า (บุคล) มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส... แต่ถ้าแปลว่า ร้อน ก็จะได้ว่า (บุคล) มีความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน

 

สรุปว่า อาตาปี ถ้าจะแปลให้ได้ความสั้นๆ ก็ มีความเพียร ... แต่ถ้าจะแปลออกศัพท์ ก็อาจยักเยื้องไปตามโวหารได้ เช่น มีความเพียรเป็นเครื่องย่างกิเลสให้เร้าร้อน มีความเพียรเผาผลาญกิเลส ฯลฯ...

อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์บาลีที่แปลว่า ความเพียร นั้นก็มีหลายศัพท์ แต่มิใช่ว่าบางศัพท์จะใช้แทนกันได้ (สอบบาลีประโยคสูงๆ ใช้ศัพท์ผิดคำเดียว ท่านอาจปรับตกได้ โดยให้ความเห็นว่าไม่สมภูมิรู้ หรือผิดหลักธรรม)...  เหมือนดังภาษาไทยว่า กิน แดก ฉัน ยัด ทาน รับ รับทาน รับประทาน เสวย ฯลฯ ในภาษาไทย ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ... ประมาณนั้น

อนึ่ง อีก ๒ ศัพท์ คือ สติมา (มีสติ) และ สัมปชาโน (มีสัมปชัญญะ) ขอผ่าน... แต่ยืนยันว่าที่ท่านแปลนั้นถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 273554เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สาธุ ที่ให้ความรู้เรื่องภาษาบาลี
  • ญาติโยมส่วนมาก จะไม่เข้าใจ หากเผยแพร่และเห้นบ่อย ๆ ก็จะชินครับ
  • นมัสการ

นมัสการพระคุณเจ้า ลองไล่เรียงคำว่า "กิน"ต่อจากพระคุณเจ้าเกริ่นไว้ มากมายมหาศาลจริงๆ กับคำว่ากินครับ

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

กิน นอกจากความหมายที่หนึ่งแล้ว อาจมีความหมายที่สองซึ่งนำไปใช้ในบริบทอื่นๆ เช่น

  • ทุจริตต่อหน้าที่ (โกงกิน, กินตามน้ำ )
  • เกียจคร้าน (นอนกินบ้านกินเมือง)
  • การรับตำแหน่งหน้าที่ (กินตำแหน่ง, กินเมือง)

เจริญพร

 

กราบนมัสการ พระคุณเจ้า

พระคุณเจ้าได้นำความกระจ่างแจ้งต่อศัพท์คำนี้อย่างหาผู้ใดจะตอบได้ละเอียด ลึกซึ้ง

มีการอ้างอิง และได้ความรู้อย่างยิ่ง เป็นการคลายความสงสัยมาช้านานของข้าพเจ้า

ผู้ถาม อันเนื่องมาจากข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยวิธีที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนอย่างน้อยก็ในยุคปัจจุบัน คือ การเผาย่างกิเลสให้เร่าร้อน ครูบาอาจารย์ที่มาสอนมิได้อยู่ในภพภูมิเดียวกัน

เมื่อปฏิบัติแล้วก็เห็นว่า เกิดมรรคผลยิ่งนัก จึงอยากค้นหาคำบาลีที่ยืนยันหลักการว่า

ด้วย " ความเพียรเผากิเลส" แต่ก็จนด้วยปัญญาที่จะหาใครตอบได้ชัดเจนเช่นนี้

ข้าพเจ้าซาบซึ้งในความกรุณาของท่านยิ่งนักที่ช่วยขจัดความสงสัยมาช้านาน

ให้หมดสิ้นไป ข้าพเจ้ากำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนานี้ อยากจะขอ

อนุญาตท่านนำอรรถาธิบายต่อคำนี้โดยละเอียดไว้ในหนังสือของข้าพเจ้าด้วย เพราะ

เป็นนัยยะสำคัญยิ่งต่อวิธีการปฏิบัติเพื่อเผากิเลส

หวังว่าพระคุณเจ้าคงเมตตา

นมัสการด้วยความเคารพยิ่ง

กราบ 3 หน...ไม่ได้เข้ามาติดตามพระอาจารย์เสียนาน...จิตก็บอกว่าให้อ่านเฉย ๆ ... แต่ใจไปสะดุดกับคำว่า ครูบาอาจารย์ที่มาสอนมิได้อยู่ในภพภูมิเดียวกัน...ซึ่งยากที่จะเข้าใจทั้งคุณอัจฉราวดีและผู้ที่รับรู้...

วันก่อนผมคุยกับน้องที่เป็นสหธรรมมิก...เขาบอกว่า ความสงสัยทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้น...จะหยาบหรือละเอียดเพียงใด... จะคงเส้นทางที่ถูกต้องไว้ได้ ด้วยพระไตรปิฏกที่เขียนไว้โดยไร้การแต่งเติม(ปรุง)ด้วยกิเลส...วิปัสนูกิเลส...ความฟุ้งธรรม...

ผมนึกถึงพระอาจารย์...และอดที่จะกราบด้วยจิตที่ระลึกถึงพระคุณเจ้าท่านเจ้าคุณปยุตโตเสียมิได้...

เดินทางไกลหนึ่งก้าว        เท้าแรก มั่นคง

จิตย่อมหมาย ปลดปลง     ย่างเท้า

กายถูกจ่อ จิตรู้                ดูไป่ ได้จริง

ไกลแค่ไหน หลักแท้         บอกเส้น ทางธรรม  

กราบ 3 หน

Pนายขำ

 


  • ผู้คนนั้นมีมาก แต่ผู้เป็นนักปฏิบัติธรรมนั้นมีน้อย
  • นักปฏิบัติธรรมนั้นมีมาก แต่เป็นผู้เข้าถึงธรรมนั้นมีน้อย

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท