BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อิทธิ ฤทธิ์


อิทธิ ฤทธิ์

อิทธิ เป็นบาลี ฤทธิ์ เป็นสันสกฤต ทั้งสองคำนี้แปลเหมือนกันว่า สำเร็จ และก็มีใช้ทั้งสองคำในภาษาไทย ... ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า อิทธิ ใช้ในความสำเร็จทั่วๆ ไป... ส่วน ฤทธิ์ ใช้ในความสำเร็จของสิ่งที่เหนือธรรมชาติ....

ว่าตามรูปศัพท์ อิทธิ มาจากรากศัพท์ว่า อิธ ในความสำเร็จ บวกกับ ติ ปัจจัย แล้วแปล ติ เป็น ทธิ... และลบที่สุดของรากศัพท์คือ ธ.ธง ออกไป ก็จะสำเร็จรูปเป็น อิทธิ (อิธ+ติ = อิทธิ)

อิทธิ คือ ความสำเร็จ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าใช้ในความสำเร็จทั่วๆ ไป น่าจะมาจากหลักธรรมหมวดอิทธิบาท ๔ คือ หลักธรรมว่าด้วยแนวทางประสบความสำเร็จประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ได้แก่

๑. ฉันทะ คือ ความพอใจในการกระทำสิ่งนั้นๆ

๒. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามในการกระทำสิ่งนั้นๆ

๓. จิตตะ คือ การจดจ่อ ไม่ปล่อยวางธุระนั้นๆ

๔. วิมังสา คือ การรู้จักใคร่ครวญพิจารณาสิ่งกำลังทำอย่างรอบคอบ

อิทธิบาท (อิทธิ+บาท) เป็นหลักคำสอนเบื้องต้นซึ่ง เรารู้จักกันโดยทั่วไป ดังนั้น อิทธิ ในความหมายว่า สำเร็จ โดยทั่วไป ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากหลักธรรมนี้

ฤทธิ์ ในภาษาไทยมักจะเป็นความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาหรือเหนือธรรมชาติ เช่น หายตัวได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ ดำดินได้ ยิงฟันไม่เข้า หรือแปลงกายเป็นอย่างอื่นได้ ...เป็นต้น ...

บางครั้ง อาจใช้ควบกันเป็น อิทธิฤทธิ์ ซึ่งหมายถึง การมีอำนาจมีความสามารถเหนือคนทั่วๆ ไป ประมาณนี้....

หมายเหตุ

ฤทธิ์ อ่านว่า ริด ...ซึ่งเป็นการยากในภาษาไทยที่จะอ่านตัว ได้ เพราะตัวนี้อ่านได้สามอย่าง คือ ริ เรอะ รึ ...ซึ่งผู้เขียนได้สูตรการอ่านมาจากครูท่านหนึ่งว่า คืน นี้ พี่ มา หา (ค น พ ม ห) นั่นคือ ถ้าตามหลังอักษรไทย ๕ ตัวนี้ ให้อ่านว่า รึ เช่น

ค - คฤหัสถ์ (คะ - รึ - หัด)

น - นฤพล (นะ - รึ - พน)

พ - พฤหัส (พะ - รึ - หัด)

ม - มฤคทายวัน (มะ - รึ - คะ - ทา - ยะ - วัน)

ห - หฤทัย (หะ - รึ - ไท)

ส่วนนอกนั้นให้อ่านว่า ริ เช่น ฤทธิ์ (ริด) ...และบางตัวเท่านั้นที่อ่านว่า เรอะ เช่น ฤกษ์ (เริก) ..

คำสำคัญ (Tags): #อิทธิ#ฤทธิ์
หมายเลขบันทึก: 73653เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

คนเรานี่...อยากมีอิทธิฤทธิ์โดยที่ไม่เคยเข้าใจมันอย่างถ่องแท้จริง ๆ นะครับ...พระอาจารย์...

 

บางพวกก็ชอบแสดง อิทธิฤทธิ์ ให้เห็นเป็นประจำ...โดยไม่ได้รู้เลยว่าอาการอันเป็น อิทธิฤทธิ์ นั้น... หาได้เป็นสิ่งที่ควรยึดเป็นสรณะไม่....

 

แล้วอิทธิพลล่ะครับพระอาจารย์...ดูคำแปลน่าจะไปในทางดี...แต่มัยถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย เป็นผู้มีอิทธิพล...โดนแน่....5555

คุณโยมขำ

หลงรู้ไม่จริง ? น่าจะเข้าข่ายนี้นะครับ...

ตอนแรกบวชใหม่ๆ อาตมาก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระมหาเถระ รูปหนึ่ง ท่านชอบซื้อหวย (แต่ชอบอ่านหนังสือท่านพุทธทาส) ญาติโยมก็ชอบมาคุยเรื่องหวยกับท่าน วันหนึ่ง หลังจากญาติโยมกลับแล้ว ท่านก็พูดเปรยๆ รูปเดียวว่า หลงกันเหลือเกินแล้ว ทั้งพระทั้งโยม ...ตอนนี้ท่านก็มรณภาพไปเกือบยี่สิบปีแล้ว...

ผู้อิทธิพล แปลตรงตัวก็ พลังแห่งความสำเร็จ...รู้สึกว่าคำนี้จะใช้แทน เจ้าพ่อ เจ้าแม่ และใกล้เคียงกับคำว่า ผู้กว้างขว้าง....

รู้สึกง่วง ครับ จะจำวัดก็ไม่ได้ บ่ายสามโมงก็จะลงรื้อกุฎิเก่าๆ (เพิ่งได้ฤกษ์ชวนพระเณรรื้อเมื่อวาน) ตอนนี้เปลี่ยนหน้าที่จาก นักบ็อกเกอร์ มาจับงานนวกรรม คงอีกหลายวันกว่าจะเสร็จ ...โยมขำหายไปหลายวัน อาตมาก็ไม่ค่อยมีใครมาคุย 5 5 5...

เจริญพร

ชอบซื้อหวยนี่เป็นกรรมที่ไม่สามารถตัดรอนได้ง่าย(สำหรับคนส่วนใหญ่...อิอิ)...

เพราะว่าบางคนเก็บเป็นจิตใต้สำนึก...ประมาณว่าอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจอ่ะครับ... และอาจมีปัจจัยเอื้ออื่น ๆ ... เช่นเป็นทางผ่าน / มีคนมาเสนอถึงที่ ... บางคนไม่เข้าใจตนเอง...รู้สึกว่ามีความสุขกับการได้ลุ้น...

ราวกับว่าหวย มีอิทธิพล ต่อคนไทยไม่น้อย.... แต่ว่าพลังแห่งความสำเร็จนี้หาได้ยั่งยืนไม่(เทียบได้กับไม่สำเร็จ)...

คุณโยมขำ ....

ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา ...อาตมาบวชมายี่สิบกว่าปี เคยซื้อหวยครั้งเดียว ตอนอยู่กรุงเทพฯ นานมากแล้ว ...ส่วนสลากกินแบ่ง เคยซื้อหลายครั้ง แต่คงไม่ถึงสิบครั้ง (ตั้งแต่เกิด) ...เคยถูก ๒ ครั้ง ...สามตัวครั้งหนึ่ง สองตัวครั้งหนึ่ง...ไม่แน่ใจว่าปีแล้วหรือปีแล้วก่อนที่ซื้อเป็นครั้งสุดท้าย ...

ตามที่คุณโยมว่านะ ถูกต้อง คนต้องการลุ้น ต้องการมีความหวัง ...น่าจะศึกษาด้านนี้ทางจิตวิทยา แต่เราอย่าไปเครียดกับเรื่องนี้เลยครับ ให้นโยบายหวยใต้ติน-บนดิน คลอดออกมาก่อน... รู้สึกว่าเค้ายังตัดสินไม่ได้เรื่องประเด็นนี้ 5 5 5

เจริญพร

 

ญาครู

กระผมพึ่งเข้ามาอ่านได้ความรู้ทางภาษามากเลย อยากให้ท่านญาครูนำเสนอศัพท์แบบนี้บ่อย ๆ ครูภาษาไทยจะได้รับความรู้จากผู้รู้จริง ขออนุโมทนาในความรู้อันนี้

สาธุ

P พิมล มองจันทร์

 

  • ญาครู ! ! !

อ่านถึงสะดุดใจนิดหน่อย แต่พออ่านจบก็นึกได้ว่า คำนี้ใช้เรียกพระภิกษุของอิสานในบางท้องถิ่น ก็รู้สึกปลึ้มเพราะไม่เคยฟังคำนี้มานานแล้ว...

อาตมาเคยเที่ยวอยู่ทางอิสานประมาณครึ่งปีตอนบวชไม่นานนัก เท่าที่พอจำได้ อยู่บัวใหญ่โคราชประมาณ ๒ เดือน แล้วไปเที่ยวอำเภอชนบทขอนแก่น ๒-๓ วัน ไปเข้าปริวาสที่อำเภอนาเชือกสารคาม แล้วไปเยี่ยมเพื่อนที่วัดกลางกาฬสินธุ์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปสกลนคร ข้ามไปชมหม้อโบราณที่บ้านเชียงอุดร แล้วย้อนกลับมาเพื่อไปเยี่ยมพระเถระที่ปลาปากนครพนม...

พักกับท่านที่นั้นราว ๒เดือน หลังจากไปเที่ยวงานไหว้พระธาตุพนม ก็กลับมาเยี่ยมพระเถระอีกรูปที่ศรีษะเกษ จำได้ว่ามีงานบุญเข้าจี่ที่นั้น อันที่จริงท่านก็ใคร่จะให้พักอยู่นานๆ แต่คิดถึงบ้านเต็มที่แล้ว จึงกลับมาทางบุรีรัมย์ ปราจีน แปดริ้ว แล้วก็กลับปักษ์ใต้บ้านเรา...

ตอนกลับมาก็ตั้งใจว่าไปอีก แต่ก็กว่ายี่สิบปีแล้วยังไม่ได้ย้อนกลับไป... "ญาครู" หรือบางครั้งก็ "ญาครูญาซา" เคยมีโยมเรียกตอนครั้งนั้น พอจำได้ แต่ไม่เคยเห็นว่าเค้าเขียนคำนี้อย่างไร... ก็เพิ่งเห็นจากคุณโยมนี้แหละเป็นครั้งแรก...

ใครที่เล่าเรื่องอดีตได้มาก บ่งชี้ว่า แก่แล้ว ! (........)

เจริญพร

อิทธิฤทธิ์         หรือจะคิดสู้           อิทธิบาท

คนประมาท      ห่างอิทธิบาท        ใกล้อิทธิฤทธิ์

P small man~natadee


  • อิทธิบาท      สะสมบาท       เพื่อมั่นคง
  • เพื่อดำรง      วงศ์ครอบครัว   ตัวเมียลูก
  • อิทธิบาท      บุญหนำ         จำเริญปลูก
  • เพื่อสันต์สุข   ชาตินี้หน้า       นิพพานเทอญ

เจริญพร

 

นมัสการ

"ญาครู" ความจริงเป็นสมณศักดิ์ที่เกิดจากพิธีเถราภิเษกที่เรียกว่า "ฮดสรง" (สรงน้ำพระ) กล่าวกันว่าเมื่อพระภิกษุเจริญพรรษาถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ชาวบ้านจะพากันนิมนต์ให้เข้าพิธีฮดสรง เมื่อผ่านพิธีแต่ละครั้งก็จะเรียกนามต่างกัน ดังนี้

ครั้งที่

1 เรียก สำเร็จ, สมเด็จ

2 เรียก ซา

3 เรียก คู

4 เรียก ราชคู

5 เรียก คูฝ่าย

6 เรียก คูด้าน

7 เรียก คูหลักคำ

8 เรียก คูลูกแก้ว

9 เรียก คูยอดแก้ว

ตำแหน่งที่ 1-4 เป็นฝ่ายปริยัติ

ตำแหน่งที่ 5-9 เป็นตำแหน่งฝ่ายบริหาร

(แต่บางท้องที่อาจมีเพียง สำเร็จ, ซา, คู, ราชคู, คูหลักคำ, คูยอดแก้ว ตามความเชื่อของแต่ละท้องที่)

ส่วนคำว่า "ญา" มาจากคำว่า "อัญญา" ซึ่งในภาษาลีผมไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร แต่ในภาษาอีสานหมายถึงคำนามก่อนหน้าชื่อของเชื้อพระวงศ์ฝ่ายล้านช้าง เช่น อัญญาไชยสุริยวงสา หมายถึง พระเจ้าไชสุริยวงศา เป็นต้น ชาวอีสานจึงเอาคำท้ายอัญญาว่า "ญา" มาเรียกพระสงฆ์ที่ ซึ่งจะเรียกนับตั้งแต่ "ซา" ขึ้นไปว่า ญาซา ญาคู

ญาราชคู เป็นต้น

นมัสการลาขอรับ

Pพิมล มองจันทร์

 

  • อนุโมทนาอย่างยิ่ง...

เคยฟังอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าเรื่องนี้ แต่เน้นตอนทำพิธีแต่งตั้ง ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ใส่ใจนัก เนื่องจากอาจารย์ท่านก็ลาสิกขามานานทั้งอายุก็มากแล้ว เพิ่งมาทราบรายละเอียดก็จากคุณโยมนี้แหละ...

เพิ่มเติมนิดหน่อย ญา และ อัญญา น่าจะเป็นคำบาลี...

  • ญา = รู้
  • อัญญา = รู้ทั่ว

เจริญพร

พระฤาษีถือศีลกี่ข้อคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท