Barrier-free Society for All


เมื่อครั้งอยู่ในห้วงบรรยากาศกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาถาวร ปี ๒๕๕๐ มีข่าวเล็กๆ รายงานข่าวกรณีเครือข่ายผู้พิการร้องให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญจาก "มีสิทธิได้รับ" เป็น "มีสิทธิเข้าถึง" ลองคิดกันอย่างช้าๆ จะรู้สึกได้ว่า "การได้รับ" กับ "การเข้าถึง" นั้นมีวิธีคิดวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าการได้รับมักหมายถึงการสงเคราะห์ การรับอุปการะ ขณะที่การเข้าถึงหมายถึงสิทธิและบริการสาธารณะที่ใครๆ พึงได้รับ และเมื่อเป็นสิทธิและบริการสาธารณะแล้วหน่วยบริการก็ย่อมจะพัฒนารูปแบบและสิ่งเอื้ออำนวยให้ใครๆ สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายหลากหลายรูปแบบ


พิการ : ความหมายและมุมมอง

ถ้าเราได้มีโอกาสเปิดดูกฎหมายหลักว่าด้วยคนพิการ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ จะพบว่าท่านให้นิยามความหมายของ "คนพิการ" ไว้ดังต่อไปนี้

"คนพิการ" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด

ซึ่งแนวคิดข้างต้นนั้นเป็นแนวคิดเชิงการแพทย์ (Medical Model) ซึ่งมองว่า "ความพิการเป็นปัญหา" โดยมองว่าการที่คนพิการไม่สามารถมองเห็น เคลื่อนไหวอวัยวะบางอย่าง สื่อสาร ฯลฯ ได้ด้วยวิธีที่คนทั่วไปสามารถทำได้ เป็นปัญหาของคนพิการ และทำให้คนพิการไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้ แต่เนวคิดเชิงสังคม (Social Model) นั้นมองว่า "ความพิการไม่ใช่ปัญหา" เพราะเราไม่สามารถรักษาหรือเปลี่ยนแปลงความพิการได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่สามารถบังคับให้คนพิการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นี้ได้ด้วย จึงเกิดแนวคิดว่า "สภาพแวดล้อมและสังคมน่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า" และนั่นคือปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งก็หมายความว่า คนพิการสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้หากมีการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีในสังคม เช่น ต้องมีระบบขนส่งมวลชน การศึกษา การประกอบอาชีพและการสันทนาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลาย (ไม่ใช่ความต้องการพิเศษ) มากขึ้น เช่น ทางลาด อักษรเบรลล์ ข้อมูลภาพและเสียง ภาษามือ เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนพิการเข้าถึงบริการต่าง ๆ และแข่งขันกับคนทั่ว ๆ ไปภายในสังคมได้ (อ้างอิง: http://th.wikipedia.org/wiki/คนพิการ)



ภาพลุงจันทร์ ตางาม : ราษฎรตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ


และในกฎหมายดังกล่าวท่านได้ให้ความหมายของคำสำคัญไว้ด้วยว่า

"การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" หมายความว่า การเสริมสร้างสมรรถภาพหรือความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น หรือดำรงสมรรถภาพหรือความสามารถที่มีอยู่เดิมไว้ โดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์ การศาสนา การศึกษา สังคม อาชีพ หรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมอย่างเต็มศักยภาพ

"การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต" หมายความว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การจัดสวัสดิการการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ การสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได



ลุงจันทร์เป็นบทเรียนสำคัญยิ่งสำหรับผมในมิติของการเข้าถึง
การใช้สิทธิ และการเกื้อหนุนทางสังคมทั้งในฐานะของผู้ให้และผู้รับ



ได้รับ และเข้าถึง

ท่านได้ให้เหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้ว่า เพราะเหตุที่พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการสงเคราะห์และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรกำหนดแนวทางและปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการเพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ รวมทั้งให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้


โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน วิธีคิด วิธีปฏิบัติของคนก็ควรที่จะเปลี่ยนตามไปด้วย
เมื่อครั้งอยู่ในห้วงบรรยากาศกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาถาวร ปี ๒๕๕๐ มีข่าวเล็กๆ รายงานข่าวกรณีเครือข่ายผู้พิการร้องให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญจาก "มีสิทธิได้รับ" เป็น "มีสิทธิเข้าถึง" ลองคิดกันอย่างช้าๆ จะรู้สึกได้ว่า "การได้รับ" กับ "การเข้าถึง" นั้นมีวิธีคิดวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าการได้รับมักหมายถึงการสงเคราะห์ การรับอุปการะ ขณะที่การเข้าถึงหมายถึงสิทธิและบริการสาธารณะที่ใครๆ พึงได้รับ และเมื่อเป็นสิทธิและบริการสาธารณะแล้วหน่วยบริการก็ย่อมจะพัฒนารูปแบบและสิ่งเอื้ออำนวยให้ใครๆ สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายหลากหลายรูปแบบ

ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็จะพบความจริงที่ปรากฏว่า
มาตรา ๕๓
  บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๔  บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๕  บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 



คนเราแค่เปิดใจให้กว้าง ยอมรับความต่างทั้งความคิด ความเชื่อ และปัจจัยทางกายภาพ
แล้วโลกนี้ก็จะเปลี่ยนไป ดังคำพระท่านว่า
: จิตฺเตน นียติ โลโก



Barrier free Society for All
ครั้นเมื่อพลิกแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ ก็ให้สะดุดตากับ
พันธกิจที่ ๓  ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการในสังคม
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ การส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการ
โดยเฉพาะมาตรการที่ ๑) ผลักดันให้มีนโยบายและวาระแห่งชาติในการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค (Accessible Environment) และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อก้าวสู่สังคมที่ปราศจากอุปสรรคเพื่อคนทั้งมวล (Barrier free Society for All) และผลักดันให้มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ผมว่าตรงนี้สำคัญอย่างที่สุดเลยนะครับ เพราะผู้พิการลำพังการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ก็มีอุปสรรคเสียแล้วก็ป่วยการที่เราจะไปอภิปรายในเรื่องสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หรืออคติอื่นใดละครับว่าจะมีอุปสรรคอย่างไรหรือไม่ แนวคิดนี้อาจสามารถขยายไปสู่ประเด็นยุทธศาสตร์อื่นๆ ได้โดยง่ายโดยมีประเด็นหลักคือ "การเข้าถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะอ้างเหตุความพิการ" อย่างน้อยที่สุดการสร้างสภาพแวดล้อมและสิ่งเอื้ออำนวยต่อบุคคลทุกเพศทุกวัยที่มีข้อจำกัดและแตกต่างก็ย่อมจะเป็นมรรคที่นำไปสู่ผล--หน่วยงานราชการหลายแห่งขัดพื้นอย่างมันวับ ประชาชนต้องถอดรองเท้าเข้าไปติดต่อราชการ กลับออกมารองเท้าหายแล้วไม่รับผิดชอบ อย่างนี้ถือเป็นอุปสรรคไหมครับ (ไม่ฮา)

ผมชอบคำนี้ครับ: Barrier free Society for All ซึ่งก่อนหน้านี้เหมือนว่าเราจะใช้ Barrier free Society
ยอมรับละครับว่าเป็นคำหรู คำโก้ ชวนคิด ชวนฝัน
เป็นคำในระนาบเดียวกับ Knowledge Base Society, Lerning Society

 


ลุงจันทร์ : บทเรียนสำคัญกรณีงานจัดบริการต่อผู้พิการกรณีเครือข่ายผู้พิการ และ Support Group

บรรยายภาพ:
ลุงจันทร์นำพาบุคคลผู้ประสบอุบัติเหตุตกนั่งร้านก่อสร้าง แพทย์ผู้ให้การรักษาอนุญาต
ให้ฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายที่บ้านและมีแนวโน้มว่าจะพิการขา (สถานภาพสมรสโสด) ผู้ให้การดูแล
เป็นพี่สาว (สวมเสื้อแขนยาว) ไม่ได้ประกอบอาชีพหลัก มีบุตรในวัยเรียนที่ต้องให้การดูแล ๓ คน
แน่นอนว่าผู้พิการย่อมเริ่มจะอึดอัดบ้างแล้ว เพราะกว่า ๓ เดือนที่คนวัยทำงานมิได้ทำงานและรู้สึกสูญเสีย 

ส่วนพี่ที่นั่งจักรยานยนต์นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ผมครับ ตอนนี้คุณพี่เขาลาออกไปเป็น ส.อบต. เสียแล้วครับพี่น้อง


เรื่องของลุงจันทร์ ตางาม

บันทึกแรกนี้ ขอนำเสนอภาพของลุงจันทร์ ตางาม ครับ
ลุงจันทร์ เคยเป็นช่างก่อสร้างแล้วประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตอย่างแรง เนื้อตัวมีแผลเต็มไปหมดทั้งพิการแขนทั้ง ๒ ข้าง ขณะที่ขายังต้องดามด้วยเหล็ก แน่นอนว่าเมื่อเจ็บป่วยอย่างนี้ย่อมมีปัญหาครอบครัวแน่ๆ ภรรยาหอบลูกหนีไปไหนไม่ปรากฏระหว่างที่ลุงจันทร์เข้ารับการรักษาและฟื้นฟูในหน่วยงานของรัฐ

ประเด็นสำคัญที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การเข้าถึงบริการของลุงจันทร์ครับ
ลุงจันทร์มีความรู้เรื่องสิทธิประกันสังคม เข้าใช้บริการในวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกสารพัดหน่วยงานที่ให้การการฟื้นฟูสมรรถภาพ บริการฝึกอาชีพคนพิการ ตลอดจนการเข้าถึงบริการกายอุปกรณ์ ผมว่าตรงนี้สำคัญที่สุดครับว่าทำไมลุงจันทร์ถึงได้รู้และเข้าถึงบริการของหน่วยงานเหล่านี้ได้

อ่านมาถึงตรงนี้ ลองหันไปถามคนข้างๆ ดูสิครับว่า ถ้าวันหนึ่งพิการเช่นลุงจันทร์ จะทำอย่างไรภายหลังการรักษาในโรงพยาบาล
ลุงจันทร์โชคดีที่มีนายจ้างดี ไม่ทอดทิ้ง มีที่ปรึกษาคอยแนะนำตลอดระยะการเจ็บป่วยที่ต้องรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ

ใช้ชีวิตในรูปของคนพิการในกรุงเทพฯต่ออีกสักพักก็ได้รับแจ้งว่าแม่ไม่สบาย ลุงจันทร์ต้องเดินทางกลับมาดูแลแม่
แล้วก็ปรากฏว่า นับแต่วันนั้น ลุงจันทร์ในวัย ๕๐ ปี วันนี้ ต้องเป็นกำลังหลัก กำลังสำคัญของครอบครัวที่ต้องดูแลแม่วัย ๘๖ ปี พี่สาวคนโตวัย ๖๓ ปี และพี่สาวคนรองที่พิการทางการได้ยิน วัย ๕๗ ปี ล่าสุดที่ได้พบเจอลุงจันทร์แวะมาเยี่ยมบอกว่าขายไอศครีมมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ ๑๙๐ บาท

ความงดงามของลุงจันทร์ประการหนึ่งคือ การเป็นอาสาสมัครตาสับปะรด เห็นผู้พิการหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นต้องแวะมาบอกข่าวคราวให้ผมไปเยี่ยมบ้าน หรือไม่ก็นำพามาด้วยรถของลุงจันทร์เองนะแหละครับ ลุงจันทร์จึงอยู่ในฐานะผู้ให้และผู้รับการเกื้อหนุนทางสังคมที่น่าปลื้มใจในสังคมที่รุ่มร้อนนี้ยิ่งนัก

 

ขอบคุณลุงจันทร์สำหรับบทเรียนนี้ครับ

ผมเริ่มแล้วนะครับ เรามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวที่แตกต่าง
ร่วมผลักดันและแหวกว่ายให้ผ่านพ้นม่านอคติในใจเรา

เพื่อร่วมกันใส่ใจ และเรียนรู้กับผู้คนที่แตกต่าง
เพราะโลกทั้งผอง พี่น้องกัน

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------
ท่านสามารถดาวน์โหลด
แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔
ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)
ที่ http://www.nep.go.th



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท