มงคล ยะภักดี


นักสังคมสงเคราะห์
กรมกิจการผู้สูงอายุ
Username
yabhakdee
สมาชิกเลขที่
9146
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
ประวัติย่อ

สังคมไทยไร้อุปสรรค

โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน วิธีคิด วิธีปฏิบัติของคนก็ควรที่จะเปลี่ยนตามไปด้วย
เมื่อครั้งอยู่ในห้วงบรรยากาศกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาถาวร ปี ๒๕๕๐ มีข่าวเล็กๆ รายงานข่าวกรณีเครือข่ายผู้พิการร้องให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญจาก "มีสิทธิได้รับ" เป็น "มีสิทธิเข้าถึง" ลองคิดกันอย่างช้าๆ จะรู้สึกได้ว่า "การได้รับ" กับ "การเข้าถึง" นั้นมีวิธีคิดวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าการได้รับมักหมายถึงการสงเคราะห์ การรับอุปการะ ขณะที่การเข้าถึงหมายถึงสิทธิและบริการสาธารณะที่ใครๆ พึงได้รับ และเมื่อเป็นสิทธิและบริการสาธารณะแล้วหน่วยบริการก็ย่อมจะพัฒนารูปแบบและสิ่งเอื้ออำนวยให้ใครๆ สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายหลากหลายรูปแบบ

ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็จะพบความจริงที่ปรากฏว่า
มาตรา ๕๓
  บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๔  บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๕๕  บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 

ครั้นเมื่อพลิกแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ ก็ให้สะดุดตากับ
พันธกิจที่ ๓  ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการในสังคม
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ การส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการ
โดยเฉพาะมาตรการที่ ๑) ผลักดันให้มีนโยบายและวาระแห่งชาติในการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค (Accessible Environment) และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อก้าวสู่สังคมที่ปราศจากอุปสรรคเพื่อคนทั้งมวล (Barrier free Society for All) และผลักดันให้มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ผมว่าตรงนี้สำคัญอย่างที่สุดเลยนะครับหรือจะเรียกได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิของงานในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการเลยทีเดียว

เพราะลำพังการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ก็มีอุปสรรคเสียแล้วก็ป่วยการที่เราจะไปอภิปรายในเรื่องสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หรืออคติอื่นใดละครับว่าจะมีอุปสรรคอย่างไรหรือไม่ แนวคิดนี้อาจสามารถขยายไปสู่ประเด็นยุทธศาสตร์อื่นๆ ได้โดยง่ายโดยมีประเด็นหลักคือ "การเข้าถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะอ้างเหตุความพิการ" อย่างน้อยที่สุดการสร้างสภาพแวดล้อมและสิ่งเอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงสำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัยที่มีข้อจำกัดและแตกต่างก็ย่อมจะเป็นมรรคที่นำไปสู่ผล

หน่วยงานราชการหลายแห่งขัดพื้นอย่างมันวับ ประชาชนต้องถอดรองเท้าเข้าไปติดต่อราชการ กลับออกมารองเท้าหายแล้วไม่รับผิดชอบ อย่างนี้ถือเป็นอุปสรรคไหมครับ (ไม่ฮา)

ผมชอบคำนี้ครับ: Barrier-free Society for All ซึ่งฉบับก่อนหน้านี้เหมือนว่าเราจะใช้คำว่า Barrier-free Society
ยอมรับละครับว่าเป็นคำหรู คำโก้ ให้ชวนคิด ให้ชวนฝัน
เป็นคำในระนาบเดียวกับ Knowledge Base Society, Learning Society

คลิก เพื่ออ่านบันทึกBarrier-free Society for All


-------------------------------------------------------------------------
-------------------------------------------------------------------------
 

มัคนายกทำบุญสงกรานต์ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐

   
บันทึกบ้านนิคมปรือใหญ่

ถ้าจะว่าไปแล้วสถานสงเคราะห์ก็เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ท้ายซอย แล้วซอยที่ว่านี้มันก็เป็นซอยตันเสียด้วยสิ

ใครที่ (ถูกไล่) มาถึงท้ายซอย หันหน้าหันหลังไม่รู้จะไปทิศทางใดต่อ ครั้นจะหันหลังเดินกลับออกไปยังปากซอยที่เพิ่งเข้ามาก็ไม่มีแรง (กาย+ใจ) พอที่จะไปถึงได้ หรือพอไปถึงปากซอยแล้วจะไปไหนและทำอะไรต่อก็ยังคิดไม่ออก

บทบาทของบ้านใหญ่ท้ายซอย คือการเปิดรับแขกลักษณะดังกล่าวด้วยความยินดี พร้อมที่จะให้ความอบอุ่นด้วยน้ำใจและปัจจัยสี่ตามสมควร  กินให้อิ่ม นอนให้หลับ แล้วค่อยคิดกันต่อไปว่าจะเอากันอย่างไรเป็นคำพูดแรกๆ ที่จะได้ยินจากปากของเจ้าของบ้าน  โดยแทบจะไม่สนใจว่าความเดือดเนื้อร้อนใจที่สุมทรวงอยู่นั้นมาจากตัวเขาหรือตัวใคร ไม่สนใจว่าจะนอกหรือในเวลาราชการสำหรับบ้านใหญ่ท้ายซอยหลังนี้  เป็นบ้านหลังใหญ่ที่เขียนข้อความตัวโตๆ หน้าบ้านว่า "บ้านเราแสนสุขใจ ถึงจะอยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา"

แต่เมื่อเฝ้าพิจารณาเหตุการณ์แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าซอยที่ว่านี้เริ่มจะตื้นขึ้นทุกวัน การเดินทางมาถึงบ้านใหญ่ท้ายซอยเหมือนว่าจะง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ภาพลักษณ์ของบ้านใหญ่ที่ใครก็ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากให้ใครที่รู้จักเข้าไปอยู่ หรือไม่ปรารถนาจะให้ใครที่รู้จักอยู่ในบ้านหลังนี้นาน เริ่มเปลี่ยนไป...

เปลี่ยนไป เป็นการนำญาติ นำคนรู้จักมาฝาก มาส่ง

เปลี่ยนไป เป็นการเดินทางที่มาถึงท้ายซอยได้โดยง่ายด้วยความที่ซอยมันตื้น ทั้งที่ตามสภาพแล้วเมื่อใครสักคนตัดสินใจออกจาก "บ้าน" (หมายเอาที่หลับนอน ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของก็ตาม : สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก หลวงพ่อ ฯลฯ) ก็จะต้องเดินผ่านบ้านญาติ  ผ่านเพื่อนบ้าน  ผ่านคนรู้จัก  ผ่านผู้นำชุมชน  ผ่านโรงเรียน  ผ่านวัด  ผ่านอนามัย  ผ่านวิทยาลัย  ผ่านมูลนิธิ   ผ่านตลาดสด  ผ่านร้านค้า   ผ่านผู้คนที่เดินขวักไขว่  ผ่าน...  ผ่าน...  ผ่าน...  และผ่าน... ฯลฯ 

ซอยมีบรรยากาศคึกคักขึ้น บ้านใหญ่ขึ้น วัดใหญ่ขึ้น โรงเรียนใหญ่ขึ้น ทุกอย่างใหญ่ขึ้นเจริญขึ้นหมด ผู้คนก็เยอะแยะมากมายคึกคักน่าดู แต่ทำไมเขากลับเดินผ่านทะลุถึงท้ายซอยได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม หรือเพราะความเจริญในลักษณะอย่างนี้มีปัญหาผิดพลาดหรือขาดความสมดุลอะไรบางอย่างที่ทำให้เราหรือคนที่เรารู้จักเดินทะลุถึงท้ายซอยกันได้ง่ายๆ

น่าจะเป็นการเร่งด่วนสำหรับการที่เราจะเร่งสร้างบรรยากาศและก่อให้เกิดสภาพ "ซอยลึก" และควรทำให้ลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ เพราะไม่อย่างนั้นบ้านใหญ่หลังนี้คงล้นทะลักเป็นแน่

เป็นการลึก ในความหมายว่าทำให้ใครก็ตามเดินถึงท้ายซอยได้ช้าที่สุด

เป็นการลึก ในความหมายว่าเขาเหล่านั้นสามารถนั่งแวะพัก นั่งทานข้าว นั่งเล่าเรื่องราวกับใครๆ หรือกับหน่วยงานใดๆ ที่เขาเดินผ่านได้

เป็นการลึก ในความหมายให้คนในซอยได้ร่วมรับรู้และร่วมแบกรับความทุกข์ยากเดือดร้อนของกันและกัน

เป็นการลึก ในความหมายที่ใครก็ตามที่อยู่กับเรา เกี่ยวเนื่องกับเราล้วนแล้วแต่ "เป็นคนของเรา" : เป็นลูกเป็นหลานของเรา เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา เป็นคนในครอบครัวของเรา เป็นญาติของเรา เป็นเพื่อนบ้านของเรา เป็นคนในคุ้มเดียวกันกับเรา เป็นคนในชุมชนของเรา เป็นคนจังหวัดเดียวกับเรา เป็นคนภาคเดียวกันกับเรา เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นคนเอเชียด้วยกัน และท้ายที่สุดเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับเรา

ยิ่งมองด้วยใจเปิดกว้าง ซอยก็จะยิ่งลึก ยิ่งจะทำให้ร่วมรับรู้และร่วมแบกรับ

ภาพในฝัน บ้านใหญ่ท้ายซอยจะกลายเป็นบ้านร้างผีสิง ที่ไม่มีใครอยากเข้าอยู่ใช้บริการ หรือปรารถนาจะให้ใครๆ ที่เรารู้จักเข้าใช้บริการ และในที่สุดการปรับเปลี่ยนภารกิจของบ้านใหญ่จะเกิดขึ้นอีกรอบ เป็นภารกิจที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างเสริมและพัฒนา มากกว่าการดำเนินงานในเชิงสถาบัน

 

คลิก เพื่ออ่านบันทึกคำขอร้องของคนท้ายซอย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท