บทเรียนจาก Star Trek


Star Trek เป็นหนังชุดแบบ SciFi ในโทรทัศน์ เริ่มสร้่างในปี 1966 มีทั้งหมด 726 ตอน และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อมาอีกสิบชุด (ชุดที่ 11 มีกำหนดฉายเดือนธันวาคม 2551) มนุษย์ชาติใน Star Trek ตามความคิดของ Gene Roddenberry ผู้สร้าง ค่อนข้างจะเป็นอุดมคติ และมีโครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างกับสิ่งที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากสังคมทุนนิยมที่เห็นต่อประโยชน์ส่วนตนก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด
<p>ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักคิด นักฝัน เสรีชน ติด Star Trek ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก – อาจจะเป็นวิธีหนีไปจากโลกของความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ – พวกนี้เรียกตัวเองว่า Trekkies </p><blockquote><p>“Space, the final frontier. These are the voyages of the starship Enterprise. Its five-year mission: To explore strange new worlds. To seek out new life and new civilizations. To boldly go where no man has gone before.</p></blockquote><p>เรื่องราวของ Star Trek เริ่ม หลังจากสงครามโลกครั้งที่สาม จากการที่ Zephram Cochrane ค้นพบวิธีเดินทางที่เร็วกว่าแสงในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21; ชาว Vulcan ได้พบ warp signature (ร่องรอยของอนุภาคซึ่งใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์เข้าสู่ความเร็วแสง) และได้เริ่มติดต่อกับมนุษย์อย่างเปิดเผย </p><p>ต่อมาในศตวรรษที่ 22 ชาว Vulcan มนุษย์ และเผ่าพันธ์อื่น ก็ได้ร่วมกันตั้ง สหพันธ์แห่งดาวเคราะห์ the United Fedreation of Planets หรือเรียกสั้นๆ ว่า the Federation หรือ สหพันธ์ฯ ; การปฏิบัติการของตัวละครที่อยู่ในสหพันธ์ เป็นไปตาม Prime Directive ซึ่งกล่าวไว้ว่า The Prime Directive dictates that there can be no interference with the internal affairs of other civilizations. …ฟังดูเหมือนอาเซียนยังไงก็ไม่รู้! </p><p>ถึงแม้ว่าตัวละครในฝ่ายสหพันธ์ฯ ตามจินตนาการของ Roddenberry จะดูเป็นอุดมคติ มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายไม่ใช่หรือ หากจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากหนัง </p><p>สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครเป็นอย่างไร/เป็นอะไร แต่เป็นที่หลักศีลธรรมและโครงสร้างทางสังคมที่สนับสนุนให้รางวัลแก่สมาชิกของสังคมให้ดำรงตนอยู่ในอุดมคติได้ โดยที่แต่ละคนยังเป็นปัจเจกชนที่แตกต่างกัน</p><p>ในองค์กรก็คล้ายๆ กับ Starship Enterprise บุคลากรต่างปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน หากทุกคนคิด/ทำ/เป็นเหมือนกันหมด ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมีคนจำนวนมากมารวมกัน เพราะว่าลูกเรือของ Enterprise ไม่ใช่สาวโรงงาน</p><p>Enterprise มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน ว่า “To explore strange new worlds. To seek out new life and new civilizations. To boldly go where no man has gone before.ซึ่งนั่นกลับเป็นความไม่ชัดเจนแบบแฟนละครสาระขัณฑ์คาดหวัง </p><p>ความชัดเจนในที่นี้เป็นเรื่องของทิศทางของเป้าหมาย (direction) ไม่ใช่ที่หมาย (destination)
</p><h4>คุณธรรม</h4> <p>สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ คือตัวละครหลัก (ลูกเรือ Enterprise) ประพฤติตนตามครรลองคลองธรรม พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมายปลายทาง ทำงานเพื่องาน กล้าหาญ ซื่อสัตย์ มีเกียรติ รักความยุติธรรม และเสียสละตนเพื่อส่วนรวม เขาไม่ถือประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ของส่วนรวม </p><p>คุณค่าที่เขาเหล่านั้นยึดถือ เป็นคุณค่าในอุดมคติที่แสดงออกมาในรูปที่คนแสดงออกได้ และเป็นภาพสะท้อนของสังคมอันแข็งแกร่ง แม้ว่าบางทีตัวละครแต่ละตัวอาจมี “อาการหลุด” ออกจากกรอบคุณธรรมบ้างเช่นเดียวกับคนทั่วๆไป แต่ก็สามารถ “กลับมาได้เอง” ในเวลาไม่นาน </p> <p>คุณธรรมหลักใน Star Trek มีอยู่สามอย่าง คือความถูกต้องตรงไปตรงมา (Data) ความรักและความเป็นมนุษย์ (Troi) และความกล้าหาญเกียรติศักดิ์ศรี (Worf) Star Trek ในแต่ละตอนผสมปนเปความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมทั้งสามให้ผู้ชมได้ชั่งน้ำหนักเอาเอง</p><p>Riker มีทั้งความตรงไปตรงมา ความรักความอบอุ่นแบบมนุษย์ และความกล้าหาญ แต่คุณลักษณะเหล่านี้อยู่ในระดับที่สมดุลย์กว่าใน Picard ซึ่งเป็นคนแบบที่ Star Trek เสนอให้เป็นต้นแบบของมนุษย์ในอุดมคติ</p><p>สำหรับเผ่าพันธ์อื่นๆ ก็มีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนสังคมและคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป เช่น ชาว Vulcan ให้คุณค่าแก่ความเป็นจริงและตรรกะ ชาว Betazoid เน้นเรื่องความรักและความเข้าใจถึงอารมณ์ความคิดของผู้อื่น ส่วนชาว Kingon ให้คุณค่าแก่ความกล้าหาญและเกียรติ</p><p>คุณธรรมเหล่านี้ แสดงด้วยตัวละครตั้งแต่ชุดแรก คือ ความจริง/ตรรกะ (Spock) ความรัก/ความรู้สึกโอบอ้อมอารี (McCoy) และความกล้าหาญ (Kirk)</p><h4>เป้าประสงค์</h4> <p>ตัวละครใน Star Trek ทำงานเพื่องาน เพื่อปรับปรุงตนไปสู่คนที่ดีขึ้น แต่ละคนมีองค์ประกอบส่วนตัวระหว่าง ความหลงไหล ความชำนาญพิเศษ ความต้องการ และเป้าหมาย ทำให้ทุกคนแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อนำคนเหล่านี้มารวมกัน กลับเป็นองค์ประกอบที่เสริม และปิดจุดอ่อนของกันและกัน  </p><p>พวกเขาไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แม้ว่าในหลายตอนมีการอ้างถึงหน่วยทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Federation Unit ก็ตาม แต่เงินเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะว่าการสะสมเงินและสิ่งของไม่ได้รับการยกย่องตลอดเรื่อง สถานะทางสังคมขึ้นอยู่กับผลสำเร็จและคุณค่าของผลงาน</p><p>แม้ว่าใน Star Trek จะมี “replicator” ซึ่งสร้างวัตถุ ทำให้ความต้องการทางวัตถุของตัวละครหมดไป ในเมื่อไม่มีปัญหาเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตอีกต่อไป ตัวละครก็มีสิทธิที่จะขี้เกียจไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้น เขาทั้งหมดกลับทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อเ้ป้าหมายของส่วนรวม</p><p>หากท่านเป็นตัวละครใน Star Trek ล่ะ ท่านจะเลือกทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างนั้นหรือไม่?
</p><h4>ความสามารถ ทักษะ และการปฏิบัติ
</h4> <p>ตัวละครใน Star Trek มีความสามารถ และมีทักษะสูงเป็นอย่างยิ่ง แต่ละคนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และของผู้อื่น พัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของตน ทำให้เหมาะกับงานที่ตนรับผิดชอบ แต่ละคนไม่ได้ต้องการจะเป็นคนอื่นเลย เพราะว่าคนแต่ละคนแตกต่างกัน </p> <p>สถานะทางสังคมขึ้นกับความสามารถและผลงาน (ซึ่งสะท้อนอยู่ในตำแหน่ง) ไม่มีการแบ่งแยกตามอายุ เพศ เผ่าพันธ์ ผลงานมีค่าสูงสุด และผู้ที่มีผลงานและความรับผิดชอบก้าวหน้าได้เสมอ </p> <p>โครงสร้างทางสังคมแบบนี้วัดที่ผลงาน ผู้ที่ทำได้เหนือความคาดหมายประเภทดาวรุ่ง เช่น Wesley Crusher ลูกหมอ Crusher ได้รับการสนับสนุนแม้จะอายุน้อยแทนที่จะถูกต่อต้าน สะกัดดาวรุ่งด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา (ความกลัวว่าจะมีคนมาแซงหรือตนจะสูญเสียความสำคัญ)</p> <h4>การรู้จักตนและความนับถือตนเอง</h4><p>ตัวละครทั้งหมด มีความภาคภูมิใจ (self-esteem) ในตัวเองสูง รู้ตัวว่ามีค่าต่อส่วนรวมไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่คิดลอกแบบใครเพราะตระหนักว่าตัวก็มีดีเหมือนกัน ถึงชีวิตก็มีความสุขสบายแต่กลับไม่มีใครเมาที่นอน ขี้เกียจ-ไม่ทำงาน </p><p>ต่างคนต่างมีแรงผลักดันของตัวเองเพื่อพัฒนาตนให้เป็นคนที่มีค่ายิ่งขึ้นต่อส่วนรวม ไม่จะเป็นต้องอิจฉาริษยาใคร เพราะว่าแต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน และต่างพึ่งพากัน โดยไม่ล้มทับกัน ไม่กล่าวโทษผู้อื่นสำหรับเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นกับตน</p><p>ช่างต่างกับสังคมสารขัณฑ์เสียเหลือเกิน ที่เป็นสังคมชี้นิ้วให้คนอื่นทำแต่ตัวเองกลับไม่ทำอะไร ขี้เกียจ อิจฉาตาร้อนกลัวว่าคนอื่นจะได้ดี  ข้อแม้เยอะ มีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะไม่ทำ ไม่เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติ</p><h4>ความเคารพนับถือกันและกัน</h4> <p>สังคม Star Trek แยกแยะงานเป็นงาน เวลาพักทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีฟอร์มอีกแล้ว เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวมองเห็นแก่นแท้ของกันและกัน ไม่ว่าจะในเวลางานหรือนอกเวลางาน ต่างคนต่างนับถือกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง และยอมรับเพื่อนได้แบบที่เขาเป็น </p><h4>ความเป็นระเบียบ
</h4> <p>ห้องพักและสถานีที่ทำงานของทุกคนเป็นระเบียบตลอดเวลา ทุกอย่างถูกจัดตามการใช้งานที่สะดวกที่สุด ไม่มีความหรูหราฟุ่มเฟือย </p><p>แม้ว่าจะ สังเคราะห์อาหารได้จาก replicator แต่ก็ไม่มีใครอ้วน เพราะความมีมากเกินไป ไม่ได้ช่วยให้ใครมีค่ากว่าคนอื่นอยู่ดี</p> <h4>ความไม่จำเป็นในการเสริมสร้างภาพลักษณ์และการไม่มีการตลาด</h4> <p>แม้ว่า Star Trek จะเป็นเรื่องในจินตนาการ แต่ตลอดทั้งเรื่อง กลับไม่พบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง หรือมีโฆษณาแอบแฝงใดๆ เหมือนรายการโทรทัศน์สาระขัณฑ์</p><p>สังคม Star Trek เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติ ดีหรือไม่ดีก็วัดกันตรงนั้นครับ ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์โอ้อวดกัน ถ้าดีจริงแต่คนอื่นไม่เห็น แบบนั้นดีจริงหรือครับ</p> <h4>ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง</h4> <p>Star Trek เป็นเรื่องในจินตนาการ เป็นการเสนอรูปแบบของสังคมอุดมคติแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อน </p><p>ท่านอ่านบันทึกนี้ แล้วท่านได้อะไรบ้าง?</p><p>ถ้าเปลี่ยน Enterprise เป็นหน่วยของท่าน และเปลี่ยนลูกเรือเป็นพนักงาน เปลีั่ยนองค์กรเป็น Star Fleet หรือเป็นสหพันธ์ฯ จะใกล้เคียงกันขนาดไหน; ท่านมีความต้องการให้องค์กรของท่านเป็นอุดมคติขนาดไหน และท่านจะต้องทำอะไร-อย่างไรเพื่อให้เกิดลักษณะแบบนั้นขึ้นบ้าง แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ คำบ่นความโกรธขึ้งทั้งหลายที่ท่านมีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน จะทำให้อะไรดีขึ้นมาหรือครับ?</p><p>แล้วถ้าเปลี่ยนกรอบใหญ่เป็นประเทศสาระขัณฑ์ล่ะครับ ประเทศนั้นจะดีขึ้นได้เองเพียงแต่ประชาชนแสดงความปรารถนาดีและไม่ต้องทำอะไรอย่างนั้นหรือครับ?</p>

หมายเลขบันทึก: 144688เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2007 03:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

P

Conductor

คุณธรรมหลัก ๓ ประการ คือ

  • ความถูกต้องตรงไปตรงมา (Data)
  • ความรักและความเป็นมษุย์ (Troi)
  • ความกล้าหาญเกียรติศักดิ์ศรี (Worf)

และอีกชุดหนึ่ง คือ

  • ความจริง/ตรรกะ (Spock)
  • ความรัก/ความรู้สึกโอบอ้อมอารี (McCoy)
  • ความกล้าหาญ (Kirk)

สองชุดนี้น่าจะเหมือนกัน เพียงแต่ใช้ภาษาแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น... (สงสัย ?)

.............

อ่านบันทึกนี้ แล้วก็นึกถึงคำบอกเล่าเชิงวิจารณ์งานเขียนของ ประชาคม ลุนาชัย ว่าเป็น แนวสัจนิยม (Realistic) คือ สะท้อนข้อเท็จจริงของสังคม ซึ่งนักอ่านวรรณกรรมเหล่านั้นบอกว่า พวกเขาอ่านมาเยอะแล้ว... ทำนองนั้น

สาเหตทีุ่พวกเขาไม่ชอบแนวสัจนิยม เป็นเพราะเขา เบื่อสังคมที่เป็นจริง ต้องการสังคมเชิงเพ้อฝันใช่หรือไม่ ?

ถ้าว่าย่อหน้าก่อนตอบว่า ใช่ ! นิยายเรื่อง Star Trek  ก็คงจะเป็นตัวอย่างคำยืนยันนี้ได้....

เจริญพร 

  • มาซึมซับครับ
  • ไม่มีความคิดเห็น แต่เห็นด้วยครับ
  • อิอิ

สวัสดีค่ะคุณ conductor

ตัวเองก็เป็น Trekkie คนหนึ่งเหมือนกันค่ะ ^ ^  ตอนอยู่อเมริกาเป็นช่วงที่เขาฉาย The Next Generation  อยู่พอดี (ชอบ Data และ Caption Picard มาก) แล้วก็ดู Rerun ของ Star Trek รุ่น Caption Kirk ไปด้วย

ดูแล้วรู้สึกว่าผู้ผลิตเขาสื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกายุคต่างๆ ออกมาเป็นเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์ได้ดี บางทีก็เห็นเรื่องความเห็นแก่ตัว บางทีก็เห็นเรื่องอำนาจ บางทีก็เห็นเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผิวสี ในสังคม ฯลฯ  เห็นชัดเจนว่ากลุ่มที่เรียกว่ามนุษย์นั้นมีความคิดอย่างไร คลิงออนคิดอย่างไร วัลแคนคิดอย่างไร

มานั่งคิดๆ ดูตัวเองก็ซึมซับวัฒนธรรม และรูปแบบความคิดของ series ชุดนี้มาบ้างเหมือนกัน เรื่องความไม่เรื่องมาก เรียบง่าย ตรงไปตรงมา การมีจุดยืน ฯลฯ

แต่ที่อ่านบันทึกแล้วอดให้ข้อคิดเห็นไม่ได้ตรงที่เพิ่งทราบว่าหลวงพี่มหาชัยวุธก็เคยได้ดูเรื่องนี้ แต่เป็น series รุ่นแรก ^ ^ 

ตอนที่อยู่ที่โน่นนั้น Deep Space Nine (กัปตันเป็นคนผิวสี Benjamin Sisko) ออกมาแล้ว แล้วก็ series ชุดที่มี Caption Kathryn Janeway (Star Trek Voyager) ที่มีผู้หญิงเป็นตัวเอกก็ออกมาแล้วเหมือนกัน จำได้แต่ประมาณว่ายานเดินทางผ่าน worm hole ไปโผล่อีกที่ quadrant หนึ่งเลย เป็นเรื่องของการเดินทางกลับโลกอย่างเดียวเลย

ตอนนี้กลับมาเมืองไทย ก็ยังได้ดู series ชุดสุดท้าย Star Trek - Enterprise ที่ย้อนกลับมาเวลาตอนที่จะส่งยาน Enterprise A ออกไปท่องอวกาศเป็นครั้งแรก ที่นำตอนที่แม่ของ spock มาโลกเป็นครั้งแรกมาให้ดูกันด้วย

Series ชุดสุดท้ายนี้แสดงให้เห็นถึงตอนที่มนุษย์ยังพัฒนาจิตใจและพฤติกรรมไปไม่ถึงยุค Enterprise D The Next Generation ที่มีกัปตัน Picard เป็นตัวเอก น่าสนใจดีเหมือนกันค่ะ

พระอาจารย์ชัยวุธ: คุณธรรมหลัก 3 ประการทั้งสองชุดนั้น เป็นเรื่องเดียวกันแต่ใช้คำต่างกันจริงครับ

ในเชิงแรงผลักดันให้เกิดวรรณกรรมนั้น อาจจะเป็นวิธีหนีไปจากโลกของความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ ครับ (เขียนไว้ที่ต้นบันทึก)

แต่บันทึกนี้ ถามถึงสิ่งที่เราเรียนรู้จากความคิดของ Gene Roddenberry ผู้สร้างซึ่งได้เสียชีวิตลงในปี 1991 ได้เสนอไว้นอกเหนือจากประเด็นของความบันเทิงครับ

คุณมะเดี่ยว: ยินดีต้อนรับนะครับ 

อาจารย์กมลวัลย์: เชื่อไหมครับ ผมทันรุ่น Original Enterprise NCC-1701 กัปตันเคิร์คด้วย

เมื่อมองย้อนกลับไป ส่วนหนึ่งที่ Star Trek ได้รับความนิยม อาจเป็นเพราะหนังฉายคาบเกี่ยวตั้งแต่กับความเคลื่อนไหวของฮิปปี้ การต่อต้านสงครามเวียดนาม มนุษย์เหยียบดวงจันทร์ และเพลง Imagine ของ John Lennon

สิ่งที่ผมเห็นจากบทเรียนนี้ คือความเป็นทีมที่ดีนั้น ไม่ต้องใช้คนที่เหมือนกันหมดครับ ทีมต้องการความแตกต่าง ต้องการทักษะความสามารถที่แตกต่าง แต่จะรวมกันได้ด้วยเป้าหมายร่วมกัน และรวมกันติดด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

 สวัสดีค่ะP

บันทึกเรื่องนี้ ดุแล้วก็ให้ข้อคิดอะไรๆหลายประการ บางทีก็อดเอามาเทียบกับตัวเราไม่ได้ หรือสังคมที่แวดล้อมตัวเราไม่ได้ค่ะ

คำถาม...ท่านต้องการให้องค์กรท่านอุดมคติ ขนาดไหน

รู้สึกสังคมอุดมคติในเรื่องนี้จะดูเป็นฝรั่งหน่อยนะคะ......

 

ตัวละครใน Star Trek มีความสามารถ และมีทักษะสูงเป็นอย่างยิ่ง แต่ละคนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และของผู้อื่น พัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของตน ทำให้เหมาะกับงานที่ตนรับผิดชอบ แต่ละคนไม่ได้ต้องการจะเป็นคนอื่นเลย เพราะว่าคนแต่ละคนแตกต่างกัน สถานะทางสังคมขึ้นกับความสามารถและผลงาน (ซึ่งสะท้อนอยู่ในตำแหน่ง) ไม่มีการแบ่งแยกตามอายุ เพศ เผ่าพันธ์ ผลงานมีค่าสูงสุด และผู้ที่มีผลงานและความรับผิดชอบก้าวหน้าได้เสมอ โครงสร้างทางสังคมแบบนี้วัดที่ผลงาน ผู้ที่ทำได้เหนือความคาดหมายประเภทดาวรุ่ง เช่น Wesley Crusher ลูกหมอ Crusher ได้รับการสนับสนุนแม้จะอายุน้อยแทนที่จะถูกต่อต้าน สะกัดดาวรุ่งด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา (ความกลัวว่าจะมีคนมาแซงหรือตนจะสูญเสียความสำคัญ)

โดยเฉพาะอย่างเรื่อง ดาวรุ่ง ที่เขียนน่ะค่ะ วัฒนธรรมคนไทย เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัดค่ะ

Star System เป็นระบบอเมริกัน ถ้าเป็นคนไทย เป็นระบบ Seniority นะคะ ไม่ว่าจะในวงการการศึกษา แพทย์ หรือวงการราชการ

แต่ถ้าเป็นภาคการเงิน  จะไม่เหมือนกันอยู่บ้าง ตรงเขาพยายามให้เป็นระบบ  Star System และมีการวัดผลงานกันอย่างเข้ม มักจะเป็นปีละ 2-3 ครั้ง

โดยส่วนตัวระบบ Seniority  เป็น สาเหตุหนึ่งที่เบื่อการทำงานในรัฐวิสาหกิจ นอกเหนือจากความช้าอุ้ยอ้าย 

 แม้เราจะอยู่ในสถานะที่o.k ไม่ต้องดิ้นรนไปมากกว่านี้แล้ว   แต่ก็ยังมีความรู้สึกอยากทำงานอะไรของตัวเองที่   ตัวเองมีสิทธิ์เต็มที่ค่ะ  อยากทำองค์กรในฝันของตัวเองค่ะ   มีทางเดียวคือ ออกมาทำกิจการของตัวเอง      และดีใจที่ได้ทำค่ะ

คำตอบจากประสบการณ์ส่วนตัว.....

องค์กรในฝันที่กลายเป็นจริงของตัวเอง   ก็มีจุดหลักๆใหญ่ๆ     คล้ายๆกับในStar Trek นี่ค่ะ แต่ไม่ดีเท่านี้หรอกค่ะ ยังมีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อยไป   เพราะยังมีเรื่องน้อยใจ เรื่องอิจฉา ร้องไห้ งอนหายตัวไป 2 วันโดยไม่บอกกล่าว  กันอยู่บ้าง แต่ต่อมาก็น้อยลงๆค่ะ   

เราเริ่มต้นด้วยการset ระบบวัฒนธรรมในองค์กร  ขึ้นมาก่อน อย่างที่เขียนไปแล้วในบันทึกนี้ 

 และสร้างให้เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติ  เรามีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการ roll over ตอนกลางปี

ไม่มีการพูดแล้วไม่ทำหรือ ตอนที่ปัญหาเกิดแล้ว  มาพูดว่า "ผมก็ว่าจะบอกแล้วเชียว ว่าทำอย่างนี้ มันไม่ได้....."  โดน break แรงๆแน่นอน

ข้อแตกต่าง.....1. ที่อาจจะต่างไปจากที่กล่าวในบันทึกนี้บ้าง  คือการสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์องค์กรต่อสาธารณะ และลูกค้า 

 ไม่ใช่ส่วนตัว หรือในท่ามกลางคนในองค์กรด้วยกัน

ซึ่งในกรณีของพี่ เป็นความจำเป็นต้องทำค่ะ เพราะจะช่วยอย่างมากในด้านการขายการตลาดค่ะ เราให้ความสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์มาก แต่ของจริง ก็ไปกันได้กับภาพที่สร้างขึ้นมานะคะ  ไม่ใช่โม้ไปเรื่อย

                         2.ในบันทึกนี้......งานเป็นงาน เวลาพักทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีฟอร์มอีกแล้ว

 เห็นด้วยค่ะ แต่ยังอยากให้อยู่ในขอบเขตอันควรค่ะ เรื่องนี้ ยังชอบวัฒนธรรมไทยอยู่ค่ะ

คุณศศินันท์: ขอบคุณครับพี่ ถ้าเรื่องนี้ดูเป็นฝรั่งหรือว่ามาจากนอกโลก ก็เพราะว่าหนังเป็นอย่างนั้นจริงๆ -- แต่ว่าข้อคิดใดๆในบล๊อกอันนี้ ต้องปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละคนก่อนเสมอครับ

ว่ากันที่จริง ผมเขียนบันทึกนี้มาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.นะครับ แล้วแก้ไขไปแล้ว 16 ครั้ง จนครั้งที่ 17 ตัดทิ้งไปประมาณ 30% เพราะว่ายาวเกินไปแล้ว พอดีอาจารย์เม้งมาชวนคุย ประกอบกับผมไม่ได้เขียนบันทึกใหม่มาหลายวันแล้ว ก็เลยลอกจากอันที่เป็นร่างไปโพสเป็นบันทึกใหม่ ถ้าหากว่าด้วนไป ขออภัยครับ

ขอต่ออีกหน่อยค่ะ

จริงๆแล้วเรื่องนี้ สนุกมากแบบมีสาระค่ะ และให้ข้อคิดมากมาย และเราก็อยากได้อย่างในหนังนะคะ

เห็นด้วยมากๆ ที่ทุกอย่าง เราคงต้องมาปรับ ตัดต่อให้เข้ากับเราค่ะ ถ้าเป็นองค์กรสร้างใหม่ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าเจอบริษัทหรือองค์กรที่ตั้งมานานแล้ว การจะปรับเปลี่ยนอะไร คงยากอยู่   เพราะคนเรา ปกติมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ถ้าการเปลี่ยนแปลง ทำให้เขายุ่งยากกว่าเดิม

ในกรณีของพี่เอง แม้แต่การทำระบบ ISO กว่าจะสำเร็จก็เหนื่อยมาก เวลาพนักงานเครียดๆ เขาจะถามเราเลยว่า นี่จะให้เขามาทำอะไร จะให้ดูแลการผลิต หรือ มาให้นั่งทำงานเอกสาร บางที ต้องอธิบายกันนาน ในที่สุด เขาก็ยอม พนักงานที่ถาม มักเป็นคนหนุ่มสาวที่ค่อนข้างจะมีความคิดอ่านเป็นตัวของตัวเองมาก และกล้าที่จะถามในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ ในทุกเรื่องเสียด้วย

แต่ในเรื่องหลักจริงๆ ในเรื่องนี้ ไม่เป็นฝรั่งหรอกค่ะ เป็นสากลค่ะ มีแต่เรา จะสามารถนำมาใช้ได้แค่ไหนค่ะ

ชอบมากๆที่คุณConductor เขียนไว้ว่า....

สิ่งที่ผมเห็นจากบทเรียนนี้ คือความเป็นทีมที่ดีนั้น ไม่ต้องใช้คนที่เหมือนกันหมดครับ ทีมต้องการความแตกต่าง ต้องการทักษะความสามารถที่แตกต่าง แต่จะรวมกันได้ด้วยเป้าหมายร่วมกัน และรวมกันติดด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ขอบคุณสำหรับ บันทึกดีๆที่ให้ข้อคิด ด้านการบริหารงานนี้ค่ะ

ถ้ารวมกันได้ด้วยเป้าหมายร่วมกันจริง อาการใส่เกียร์ว่าง ไม่ทำงาน ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลยนะครับ ส่วนถ้ารวมกันติดจริงด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน อาการน้อยใจ โทษกันไปโทษกันมา ก็ไม่น่ามีครับ

การทำงานร่วมกัน เป็นการเลือกสรรกันทั้งสองฝ่ายครับ คือพนักงานเลือกองค์กร ส่วนองค์กรก็เลือกพนักงานเช่นกัน ต้องพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงจะอยู่ร่วมกันได้

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรคือ GotoKnow พนักงานคือสมาชิก; GotoKnow  ก็มีหน้าที่ต่อสมาชิก และสมาชิกก็มีหน้าที่ต่อ GotoKnow เช่นกัน

สวัสดีครับอาจารย์P  Conductor

  • มาเรียนรู้ครับ เพราะว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรครับ
  • ตอนนี้อ่านครั้งแรกคงต้องเข้ามาย่อยอีกครั้งครับ
  • อยากบอกว่าผมก็ชอบเรื่องนี้มากๆๆเลยครับ  ดูแล้วได้จินตนาการดีครับ  ให้ความรู้สึกที่ล่องลอยเหมือนฝันเลยครับ
  • มาเข้าใจเรื่องคุณธรรมในเรื่องก็ครานี้ครับ  อาจจะซึมซับแบบไม่รู้ตัวครับแต่ไม่ได้เก็บประเด็นเป็นเรื่องราว
  • ช่วงนี้เรื่องราวขององค์กรน่าสนใจมากครับ  เพราะว่าอย่างที่เมลล์ถึงอาจารย์ครับ  ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติ  และรู้สึกดีๆที่จะทำงานเสมอๆครับ ดังบันทึก http://gotoknow.org/blog/km-sabai/144881
  • ฝากผู้มีประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการอย่างท่าน ช่วยมาร่วมแบ่งบันกับผอ. คนใหม่ http://gotoknow.org/blog/somkob2550 ของผมด้วยนะครับ ^_^ 
  • ขอบพระคุณมากๆครับ

อิทธิพลจาก Star Trek ที่มีกับผมก็คือ UsableEnterprise: to boldly do what no organization has done before

สมัยเรียนส่วนใหญ่ผมดู Star Trek แบบ rerun ตอนดึกๆ แล้วทำงานไปด้วยครับ กลับมานี่ก็คิดถึงเหมือนกันครับ ไม่มีเวลาได้ดูเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท