ภาษาไทยวันนี้ ขอเสนอคำว่า “เนียน”


. . . แล้วนี่เมื่อไรเราจะได้ใช้ชีวิตแบบเนียนๆ กันซะที !

         ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 596 คำว่า เนียน หมายถึง (1) มีเนื้อละเอียดนุ่มนวล เช่น เนื้อเนียน; (2) เรียบสนิท เช่น เข้าไม้ได้เนียนดี ความหมายที่ผมจะพูดถึงในบันทึกนี้ น่าจะตรงกับความหมายที่สองที่มีความหมายในทำนองที่ว่า เรียบสนิท เข้ากันได้ดี

         สิ่งที่ คาใจ ผมมาเป็นเวลานานก็คือการที่เราไม่สามารถผสานสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่นี้ให้เนียนเป็น เนื้อเดียวกัน ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นใน ระบบการศึกษา ผมมองว่ายังห่างไกลจากความหมายของคำว่า เนียน ค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้ว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ยังมองการเรียนรู้ในลักษณะว่าเป็นเรื่องที่หนัก ไม่อยากจะอ่าน ไม่อยากจะเขียน ไม่อยากจะเรียนรู้ ซึ่งครูเองก็จนปัญญา ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้วิธีที่จะกระตุ้นจูงใจ ในที่สุดก็หันไปใช้อำนาจที่มีอยู่ ใช้คะแนนเป็นตัวล่อ ใช้การสอบเป็นตัววัดเป็นการตัดสินว่าผู้เรียนคนนี้สมควร ผ่าน หรือไม่ ทำไปๆ จนการสอบกลายเป็นหัวใจของการศึกษาไปโดยปริยาย

         มาถึงวันนี้ วันที่วงการศึกษาไทยได้ให้ความสำคัญกับ การประกันคุณภาพการศึกษา แต่ปรากฏว่าภาพในอดีตก็ยังย้อนมาหลอกหลอนเราอีกจนได้  เราไม่สามารถสร้างคุณภาพให้ เนียน อยู่ในกระบวนการศึกษาของเราได้ สายตาทั้งหลายไม่ว่าจะของครูหรือของผู้บริหารสถานศึกษาต่างก็มาจับจ้องอยู่ที่ผลของการประเมิน ในลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างไปจากการสอบ ตก/ผ่านแต่อย่างใด โดยไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาคุณภาพภายในมากนัก

         การทำ KM ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หลายหน่วยงานทำไปก็เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ทำ KM แล้ว เป็นการทำเพื่อโชว์ ทำเพื่อจะได้คุยโวว่า ข้าก็มี KM กับเขาเหมือนกัน และที่สำคัญก็คือทำไปเพื่อให้ผ่านการประเมินของ กพร. ผ่านการประเมินของ TRIS ซึ่งในที่สุดก็ติดอยู่กับโหมด (Mode) การประเมินอีกแล้ว (ครับท่าน) จะหาการทำงานแบบที่มี KM เนียนอยู่ในเนื้องานนั้นช่างยากจริงๆ !

         เรื่องสุดท้ายที่อยากจะกล่าวไว้ก็คือเรื่องการ ปฏิบัติธรรม แม้แต่การปฏิบัติธรรมเองก็ยังหาที่เนียนอยู่กับการใช้ชีวิตได้ค่อนข้างยาก ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมากยังทำแบบ ติดรูปแบบ มากกว่าทำไปด้วยเป้าหมายเพื่อการ ละ วาง หากแต่เป็นการทำไป ตามกระแส เพื่อให้รู้ว่า ข้าแน่ หรือเพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าก็ไปสำนักนั้นสำนักนี้มาแล้วเหมือนกัน ลืมการปฏิบัติธรรมแบบที่เนียนอยู่ในชีวิตประจำวันไปจนหมดสิ้น . . .

. . . แล้วนี่เมื่อไรเราจะได้ใช้ชีวิตแบบเนียนๆ กันซะที !

หมายเลขบันทึก: 278596เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 07:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ...แวเมื่อไหร่ คะ ...อิอิ

แวะมาแซวตอนเช้าค่ะ

จะได้เนียนๆ ในวันนี้

สวัีสดี paula คนขยัน . . . เข้ามาอ่านแต่เช้าเลยนะ

..ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมากยังทำแบบ “ติดรูปแบบ” ..

แต่ข้าน้อยว่าเพราะผู้สอนนำเสนอให้ติดรูปแบบมากกว่าขอรับอาจารย์..แทนที่จะทำใจหในยนกลับกลายให้ใจหยาบขึ้น..อาจารย์ว่าไหมขอรับ..

แทนที่จะทำใจหในยน

แทนที่จะทำใจให้เนียน

นมัสการพระคุณเจ้า . . . ทำอย่างไรเล่า . . เราจึงจะสอนไม่ให้เขาติดรูปแบบ . . . ทำอย่างไรเราจึงจะทำโดยไม่ติดรูปแบบ (ทำแบบไม่ทำ) . . . ทำอย่างไรเราจึงจะทำได้แบบ "JONATHAN LIVINGSTON : SEAGULL" . . . ขอท่านมหาเมตตาชี้แนะด้วยครับ

สนับสนุนที่ท่านนำเสนอคำสอนแบบนี้ ผมเข้ามาหาความรู้เสมอๆแต่รีบเลยไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ ขอให้มีความสุขนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • หลายอย่างเห็นว่าเป็นการทำไปตามกระแสมากกว่าค่ะ
  • อย่างเช่นค่ายคุณธรรม  แลการประกัน ถูกประเมินจากกระดาษมากที่สุดค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์ประพนธ์

  • KM จะกลายเป็น ปลาเค็ม
  • ไม่ค่อยเนียนกับเนื้องาน
  • เพราะ
  • หลาย สถาบัน ทำตาม กระแสะ และ กระสุน
  • โดยไม่ได้ดู "มาตรฐานที่สามของชาติ"ครับ

แวะมาเรียนรู้เช่นเดิมครับท่านอาจารย์ประพนธ์

" การที่เราไม่สามารถผสานสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่นี้ให้เนียนเป็น “เนื้อเดียวกัน” ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นใน “ระบบการศึกษา”"

ในฐานะที่ผมอยู่ในวงการศึกษา และเป็นผู้ปฏิบัติ จะ"เนียน"หรือ"ไม่เนียม"ผมว่าไม่สำคัญ

สำคัญว่าเราจะทำ KMเพื่องาน หรือ เพื่อประเมิน หรือจะเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะบอกชาวโลกว่าเราทำ KM.

หากแต่ว่าสิ่งที่เราทำมันก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดการโอนถ่ายความรู้ร่วมกัน มีวัฒนธรรมของการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่ถูกบังคับ

แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอครับ

...ต้องทำให้แนบเนียน..เป็นต้นว่า "เล่านิทานโกหก" ให้ฟังบ่อยๆ..คนไทยชอบโกหก..แต่ต้องเล่าอย่างแนบเนียน...หนามยอกให้เอาหนามบ่ง...อิอิ

5555 ชอบความเห็น  ยายธี ค่ะ

เราไม่ต้องไปทำอะไรมากค่ะ น้อมกลับมาที่ตัวเรา เนียนๆ...ใครเห็นหรือไม่เห็น...ก็ช่างเขาเถิดขอเพียงเราได้เห็นเราและได้น้อมนำตนเองได้ทำ...เท่านั้นก็พอแล้วค่ะ

เมื่อไรที่เราลุกขึ้นมาปฏิบัติต่อความเป็นปัจเจคแห่งตนได้ และเมื่อปัจเจคเคลื่อนมาหากัน เมื่อนั้นกระแสจะเกิดขึ้นอย่างเนียนๆ แห่งสภาวะธรรมชาติ...

(^_____^)

ศาสดาของพุทธศาสนาสอนว่า

จงรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามเป็นจริง (ยถาภูตํ ปชานาติ)

ฌอง-ปอล ซาตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส แห่งลัทธิเอ็กซิสเตนเชียลิสม์

ใช้วิธีศึกษาตัวเองและปัญหาแบบพุทธเจ้าคือ

ปรากฏการณ์ใด พฤติกรรมใด ความรู้สึกใดที่เกิดขึ้นในจิตให้มองตามเป็นจริงโดยไม่ตั้งข้อสมมุติฐานคือนั่นคือไม่เอาอคติหรือความรู้ลัทธิใดๆเข้าไปทรอดแทรกและตีความ..

แม้แต่โสเครติส กล่าวไว้ว่า Know thyself (จงรู้จักตัวสูเอง)

ถ้าทำได้ดั่งนี้ความเนียนจะเกิดขึ้นในจิตขอรับอาจารย์..

สวัสดีค่ะ อ.ประพนธ์

ชอบ Comment ของ คุณKa-Poom ค่ะ
คนที่จะรู้ว่าเราอยู่แบบแนบเนียนกับความรู้ที่ได้มานั้น คือตัวเราเองค่ะ
ซึ่งต้องใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองและหยิบจับสิ่งที่เข้ามานั้นมาปรับเข้าสู่ตัวเองอย่างแนบเนียนด้วย

แตงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งค่ะ
เขาได้สรุปกับสิ่งที่เราได้องค์ความรู้จากการปฏิบัติแล้วน้อมนำเข้าสู่ใจกายเราอย่างแนบเนียนนี้นะคะว่า "ปัญญาปฏิบัติ" ค่ะ

เพราะการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและอย่างมีสติในการปฏิบัติ ภูมิปัญญาก็จะเกิดจากปฏิบัตินั้นอย่างซื่อสัตย์ค่ะ

แตงตะล่อมจนเข้าเนื้อหาหรือเปล่าไม่รู้นะคะ

 

สวัสดีครับ อาจารย์

วันนี้เลยได้ไป 3 เนียนครับ

1. การประเมินให้เนียน 2. การทำ KM ให้เนียน และ 3. การปฏิบัติธรรมให้เนียน (ไม่รวมศัพท์ในพจนานุกรมครับ)

ถ้าจะเปรัยบกับการทำอาหาร เช่น นวดแป้ง ตีครีม (เคยช่วยคุณแม่ทำขนมครับ)

กว่าจะเนียนก็ยังต้องใช้เวลานาน เรื่อง 3 เนียน ก็คงต้องเหมือนกันคือต้องออกแรง

ต้องใช้เวลา ต้องทุ่มเทจริงๆ ไม่ใช่แค่เอามารวมกัน (เหมือนเอาแป้งมาใส่น้ำและ

ผสมคลุกเคล้าสองสามทีแป้งจะเนียนเข้ากันดีไม่ได้)

แต่ถ้ามองแบบให้กำลังใจก็อาจต้องเริ่มจากไม่เนียนก่อน ค่อยนวดไป บีบไปดันไป

จนกว่าจะเนียนเข้ากันดี หรืออย่างน้อยถ้าไม่ได้เริ่มเลยก็ไม่เกิดแน่ๆ ก็คงพอช่วยได้บ้างครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจาร์ยที่เคารพ

ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกท่านด้วย ถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกันนะครับ มุมมองของอาจาร์ยในที่นี้ (มรู้สึกเอาเองครับ) ว่าเป็นวิธีการครับที่อยากให้เนียน เพราะผลลัพธ์เรารู้อยู่แล้ว แต่กว่าจะได้วิธีการที่เนียน ๆ ก็ต้องผ่านการฝึกฝน ประสบการณ์ ลองผิด ลองถูก จนไร้กระบวนท่าครับ หมายถึง รู้ว่ามีแนวทางปฏิบัติใดบ้าง เพื่อรองรับในแต่ละสถานการ์ณ คือไม่ใช้รูปแบบเดียว รองรับทุก ๆ เรื่อง

ขอบคุณอาจาร์ยมากครับ ที่มีแต่เรื่องดี ๆ มาให้ครับ

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

พยายามจะทำให้ "เนียน" อยู่เหมือนกันครับ

1. การคุยกับผู้คนนั้น หากต้องการให้เขาเปิดเผยข้อมูลหรือความจริงใจ ก็ต้องใช้คำถามที่ "เนียน"

2. บางคนพูดยาวเกินไป หรือพูดในประเด็นที่ไร้สาระ หากเราต้องการให้เขาเปลี่ยนเรื่อง ก็ต้องมีวิธีที่ "เนียน"

ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว ระดับขั้นสูงสุดของ KM ก็อยู่ที่ "เนียน" นั่นแหละครับ พูดง่าย แต่ฝึกยาก

ในทางธรรมะชั้นสูงเขาเรียกว่า Non Dual หมายความว่า ตัวตนของเราเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล

ซึ่งผมก็มองว่าเป็นอีกความหมายหนึ่งของ "เนียน" คือ กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว กระทำอย่างเป็นธรรมชาติ จนดูเหมือนไร้กระทำ

ขอโอกาสต่อยอดความคิดเรื่องแรก (ระบบการศึกษา) ไว้ในบันทึก

ความ "เนียน" ในระบบการศึกษา...?

 

 

สวัสดี ครับ อาจารย์ ประพนธ์

ผมเป็นพนักงานกสิกรไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรม KM Workshop กับอาจารย์ระหว่างวันที 3-5 มิถุนายน 2552 ตอนนี้ ก็เริ่มพบปัญหาคำว่า "เนียน" ในฐานะที่เป็นคุณอำนวย เริ่มสังเกตเห็นได้ว่า คงเป็นวัฒนธรรมของเราเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่องค์กร แต่มันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เรียนหนังสือ โดยไม่รู้เป้าหมายที่ชัดเจน พ่อแม่ก็บอกให้เราเรียนรู้หนังสือไปเถอะ โตขึ้นจะได้มีงานทำ ต่างจากเมืองนอก ที่เค้ามีเป้าหมายที่ชัดเจน เรียนเพื่อต้องการอะไร เรียนรู้แบบนักวิจัย เรียนเพื่อการพัฒนา

หากมาปลุกฝังตอนแก่ๆ แล้วคงจะยากสักนิด คงต้องอาศัยเวลา แล้วจะต้องขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างชัดเจนไปทั้งองค์กร ผมเคยนำ KM มาใช้กับหน่วยงาน มาหลายครั้งแล้ว ตลอดหลายปี แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะติดคำว่า เนียน นี่ล่ะครับอาจารย์

ระบบเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แต่ปัจจัยหลักน่าจะเป็นที่ตัวเรา

ที่จะวิ่งไปตามระบบ หรือเรียนรู้ตัวเองและระบบ

เพื่อปรับความเนียนของตัวเราให้สม่ำเสมอ

การศึกษานั้นไม่สำคัญว่าจะเนียนหรือไม่เนียนขึ้นอยู่กับการสอนที่มีแนวใหม่ๆเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาหันมาสนใจและตั้งใจกับการเรียนมากขึ้นและหันหน้ามาพูดคุยกันแสดงความคิดเห็นมากขึ้นแค่นี้การศึกษาก็จะเป็นระบบตามที่ต้องการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท