KM ในองค์กรส่วนใหญ่ กำลังตกอยู่ในภาวะ “ดื้อยา”


เป็นการทำแบบสะดุด “ทำหยุด ทำหยุด” ทำจน “ช้ำ” ไปหมด ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่บริหารด้าน KM

         ท่านที่เคยใช้ยาปฏิชีวนะ คงจะทราบดีว่าถ้าหมอให้ยามาทานเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เราจะต้องทานจนครบ ถึงแม้ว่าแค่ทานไปสองสามวันแล้วอาการดีขึ้น ก็จะต้องทานต่อไปจนครบสัปดาห์ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดภาวะ “ดื้อยา” คือถ้าเกิดป่วยขึ้นมาอีก อาจใช้ยาตัวเดิมนี้ไม่ได้

         สองสามปีที่ผ่านมานี้มีองค์กรหลายแห่งกำลังใช้ยาที่ชื่อว่า KM นี้กันอย่างเปรอะปะ ถ้าองค์กรมีงบประมาณด้านการฝึกอบรมมากหน่อย มักจะจัดอบรม KM ค่อนข้างบ่อย เดี๋ยวเชิญวิทยากรคนนั้นมา เดี๋ยวเชิญวิทยากรคนนี้มา และเนื้อหาที่วิทยากรแต่ละท่านสอนก็มักจะแตกต่างกันพอสมควร แต่ละคนมีมี “รูปแบบ” และจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้คนในองค์กร “หัวปั่น” กันพอสมควรเลยทีเดียว

         

         วิทยากรคนแรกแนะนำว่าให้ทำอย่างนี้ ในขณะที่วิทยากรอีกคนหนึ่งบอกว่าถ้าจะให้ได้ผลดีต้องทำอย่างนั้น เรียกว่ามีการใช้ “ยา KM” กันหลายขนาน แต่ปรากฏว่ากินยาไม่ครบตามที่กำหนด คือทำตามคำแนะนำของวิทยากรไประยะหนึ่ง ครั้นเห็นว่าไม่ค่อยได้ผลก็หยุดทำ พยายามมองหาวิทยากรคนใหม่ และทำตามแนวทางใหม่ไปสักพัก พอพบอุปสรรคก็หยุด เป็นการทำแบบสะดุด “ทำหยุด ทำหยุด” ทำจน “ช้ำ” ไปหมด ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่บริหารด้าน KM

        
         หลายครั้งที่ผมได้รับเชิญให้เข้าไปทำความเข้าใจกับคนในองค์กร (อีกครั้ง) พลังในเรื่อง KM ในองค์กรนั้นๆ แทบจะไม่เหลือแล้ว เพราะหลายคนเริ่มเข็ดขยาดกับเรื่อง KM และ LO พอถูกเชิญ (สั่ง) ให้มาเข้าร่วม KM Workshop (อีกครั้ง) หลายคนก็เข้ามาอย่างไม่เต็มใจนัก เพราะรู้สึกว่า KM เป็นเรื่องที่เสียเวลา เข้าใจยาก และไม่ได้ประโยชน์อะไร มาเข้าร่วมอย่างไม่มีใจ บ้างก็อยู่ไม่ครบอ้างเหตุผลต่างๆ นานา อ้างว่าติดลูกค้า ติดประชุม ฯลฯ
        
         หลายครั้งเหมือนกันที่ผมเองก็ “ถอดใจ” คิดว่าจะเลิกบรรยาย คิดว่าจะไม่ทำ Workshop อีกต่อไป “การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าผู้เรียนไม่มีใจที่จะเรียน” แต่เมื่อหันมามองอีกมุมหนึ่ง ผมเห็นว่า “นี่คือความท้าทาย” ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของ KM/LO เห็นว่า “เครื่องมือ” ชิ้นนี้มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเขาทั้งที่บ้านและที่ทำงานอย่างไร เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็ทำให้เกิดกำลังใจที่จะทำงานนี้ต่อไป เพราะโจทย์ใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าคือ “การรักษาผู้ที่อยู่ในภาวะดื้อยา (KM)” โดยที่มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ตรงที่ว่า . . . ทำอย่างไรเขาจึงจะรักษาตัวเองได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เรา !!!         
คำสำคัญ (Tags): #km#ดื้อยา#ฝึกอบรม
หมายเลขบันทึก: 304415เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ที่โรงพยาบาลยโสธรก็เป็นมีอาการเช่นนี้ค่ะ

เกิดอะไรขึ้นเหรอนี่?

เป็นสิ่งที่สงสัยในตนเอง ต่อมาก็เลยเลิกสงสัย ตนก็ก้มหน้าก็ตาทำไป ทำไปแบบไม่มีงบไม่มีโครงการ แต่ทำไปด้วยใจ รวมคนที่ปรารถนาอยากทำ อาจดูช้าและมีกลุ่มน้อย เพราะไม่มีเงินงบประมาณเป็นตัวนำ บางครั้งถูกสะกัดดาวรุ่งด้วยซ้ำไปแบบประมาณโดนว่าเป็น KM เถื่อน ไม่ใช่ KM จริง... เอ้า เถื่อนก็เถื่อน ปลอมก็ปลอม แต่ก็ทำไป...

คนที่มาชี้บอกเราว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่ KM จริง...เขาก็นำสรรพคุณของวิทยากร KM ที่มีชื่อมีเสียงคนนั้นคนนี้ สถาบันนั้นสถาบันนี้...มาการันตี อืม... ก็อาจจะใช่ ตัวเองนั่นน่ะเป็นเพียงคนบ้านนอก ที่ทำงานก็อยู่บ้านนอก อำนาจหน้าที่ไม่มี มีแต่อำนาจทางใจเท่านั้น... แต่จะอย่างไรก็ตามตนเองก็ทำ เพราะทำแล้วตนเองรู้อยู่ในตน ยิ่งทำยิ่งมีความสุข ยิ่งทำยิ่งมีพลัง...แจะถูกต่อต้าน ถูก block อย่างไรก็ทำ...เพราะเราทำนั่นน่ะไม่ได้เบียดเบียนใครเลย เงินหลวงก็ไม่ได้ใช้ ทำตามกำลังสติปัญญาที่มี และแรงใจที่มี

ทำแล้ว...ก็เกิดปิติสุข...

ทำไปไม่ใช่เพื่ออยากไปพิสูจน์ให้ใครเห็น หากแต่ทำไปด้วยความเชื่อและศรัทธาในวิถีและความดีงามอันเกิดประโยชน์ทางปัญญา... ใครเห็นคุณค่าอยากมาทำร่วมด้วยก็ไม่ปิดกั้น หากแต่เปิดใจต้อนรับอย่างไม่มีขีดประมาณ...

 

อาจารย์ประพนธ์เปรียบเทียบได้ตรงมากเลย ปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะภายในหน่วยงานนะคะ องค์กรให้ทุนโครงการต่างๆ ไปทำงานยิ่งน่าตกใจ เพราะกำหนดให้ทุกโครงการมี KM แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร พูดกันไปต่างๆ นานาๆ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ใช่ KM ตามแนวทางของ สคส. ไปฟังเขาพูดกันแล้ว ทั้งงง ทั้งสับสน ทั้งเสียดายเงิน (ภาษี) ค่ะ

สงสัยต้องใช้ธรรมชาติบำบัดครับ จะได้หายดื้อ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • หน่วยต่างๆ โดยเฉพาะ ขรก. เขากินยาหลายขนานครับ
  • ถ้าให้เดา..คงดื้อยาทุกขนานแหละครับ
  • เพราะคนคิดแยกส่วน ทำแบบเดิมๆ ฯลฯ จนชิน
  • น่าสงสารประเทศไทยนะครับ

  ผมเห็นคล้ายๆกับคุณ Phornphon  ครับ   คือ   ต้องใช้ธรรมะบำบัด

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • บันทึกนี้โดนใจอย่างจัง ค่ะ
  • นอกจากการดื้อยาแล้วยังอยู่ในขั้น โคม่า ด้วยค่ะท่าน
  • กำลังปรับแนวคิดของตัวเองอย่างแรงอยู่ค่ะท่าน
  • ตอนนี้คิดได้แต่เพียงว่า ถึงแม้ ที่นี่...จะไม่ทำ KM แล้ว.... แต่ตัวเองยังคงสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องราว KM ต่อไปเนื่องจากเป้าหมายในชีวิตมีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้วค่ะท่าน
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับการปรับทัศนคติหรือกระบวนทัศน์ของคนในองค์กร แต่ผู้บริหารบางคนใจร้อนต้องการเห็นผลชัดทันที มอง KM เป็น Tool ทำทีเดียวกะเอาคุ้ม หรือบางครั้งต้องรีบหากำไร หาเงินมาใช้หนี้ จนไม่มีเวลามามองเรื่องนี้ ผมคิดว่าต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปั้น เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ประคบประหงม ดูแลกันไป แล้วค่อยๆ ขยายวงออกไป และต้องทำอย่างต่อเนื่องครับ เห็นด้วยกับคุณ Ka-Poom ครับ ว่า KM ไม่ใช่รูปแบบ แต่เป็นวัฒนธรรมครับ

สวัสดีครับ ขอแจมด้วยคนก่อนอื่น ผมเริ่มจากการเห็นด้วยกับข้อคิดของคุณ Ka-poom แลคุณ ไทเลย-บ้านแฮ่ เป็นอย่างมาก KM ต้องทำด้วยใจที่เป็นสุขเห็นคุณค่าตัวเองและคุณค่าที่เกิดขึ้นกับสังคม KM ไม่ใช่รูปแบบที่จะลอกเลียนจากใครแล้วไม่ดูตัววัฒนธรรมองค์กร ค่อยทำๆ แล้วขยายผล บวกกับทุนเดิมขององค์กรที่มีอยู่กับสิ่งที่เกิดการเรียนรู้จากใจของผู้คนที่เข้าร่วมจริง KM บ้านเราเมืองเราก็จะดีขึ้น หันกับมาดูแลตนเอง หน่วยเล็กของสังคมให้ดี ทำจากสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ แต่ขอให้คิดให้ถูกทาง เชื่อว่าผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ มีปัญญานำมาสู่การปฏิบัติได้ครับ

คุณ ไพทูล มาเปิดประเด็นให้ต่อยอด...ดีจังเลย

ในทัศนะของกะปุ๋มเอง...มันเป็น "ความคิดความเชื่อ และความศรัทธานะ..."

เราคิดเราเชื่อ และเราศรัทธาว่า...การทำ KM นี่เป็นความดีงามที่นำพาและผ่องถ่ายให้ผู้คนได้ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นและขัดเกลา...ปัญญาที่มาจากส่วนจิตที่ดีงาม... เมื่อเราเชื่อในความเป็นมุษย์ เชื่อว่ามนุษย์นั้น เป็นผู้ที่สมารถเรียนรู้ได้ ใช้ปัญญาในตนที่มีได้ และทีสำคัญเพิ่มพูนและงอกเงยได้...เราจะศรัทธาในกระบวนการนำพาความรู้ที่มีมาผ่องถ่ายกันและกัน...และในขณะเดียวกัน ได้นำไปสู่การสร้างความรู้เกิดขึ้นนะ

ความเชื่อ ความศรัทธานี่..ค่อนข้างจะเป็นสภาวะที่ใกล้เคียงกับความงมงาม

แต่มีจุดต่างนิดเดียวเสมือนเป็นเส้นยาแดงผ่าแปด...

นั่นก็คือ สติปัญญา...จะเป็นตัวแยกแยะว่าสิ่งใดคือ ศรัทธา...สิ่งใดคือความงมงาย

ดังนั้นเมื่อไรที่เรานำพาตัวเรานำไปสู่สภาวะแห่งความศรัทธา...นั่นน่ะเรากำลังฝึกฝนสภาวะแห่ง "สติ+ปัญญา" ให้เพิ่มพูนและงอกเงย...

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน KM โดยส่วนใหญ่...จะเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อม เพราะเขาเหล่านั้นได้เห็นเชิงประจักษ์ในความยิ่งใหญ่อันเป็นศักยภาพที่มนุษย์มีอยู่ นอบน้อมต่อความดีงามที่เป็นบาทฐานรองรับและสนับสนุนให้ผู้คนได้ใช้ปัญญาและนำพาปัญญานั้นไหลพาสู่กันและกัน...

การนำพา KM ที่แท้...เป็นการนำพาที่มาจาก "ใจ"...ใจอันมีความศรัทธา...ซึ่งมีสติและปัญญา เป็นผู้กำกับ...ทิศทางแห่งการก้าวเดิน

ดังนั้นการทำ KM ในทัศนะของตัวเอง...

จึงมีอะไรที่เป็นไปมากกว่าการนำความรู้ในคน ในองค์กรมาจัดการ... หากแต่เป็นความยิ่งใหญ่ที่เรานำพลังส่วนดีที่มีอยู่ทุกผู้ทุกคน...มาส่งเสริมและสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นได้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ในฐานะแห่งความได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้...ได้สร้างปัญญา ได้ใช้ปัญญา ... ปัญญาอัมาจากการที่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตในใจไปควบคู่กันไปด้วย...

แต่อย่างไรก็ตาม...กะปุ๋มก็ยังเชื่ออีกว่า...

การทำ KM ในแนวทางเช่นไร...ท้ายที่สุดแล้ว...จะมาในแนวทางนี้กันทุกคน

แนวทางแห่งการส่งเสริมปัญญาและหัวใจไปพร้อมๆ กัน...

บางสภาวะอาจไปหลงติดกับดักทางความคิด ตามความงดงาม หรือตามอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของบุคคลนั้นต้องเจอ ต้องเผชิญ ... แต่แล้วกระบวนการเรียนรู้ที่เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ จะนำพาให้เขามาสู่หนทางและเส้นทางการทำ KM ด้วยจิตด้วยใจแห่งศรัทธา...

ในฐานะที่เรา...ได้สัมผัสพลังแห่งความดีความงดงามของ KM นี้แล้ว...เราไม่ต้องทำอะไรมาก...ไม่ต้องคาดหวังอะไรหาก หากแต่เพียงน้อมใจลงศรัทธาและตั้งมั่นทำในส่วนที่เป็นหน้าที่ของเรา ดั่งเช่น เป็นผู้เชียร์ทำ KM ก็พึงทำหน้าที่เชียร์ เชียร์ด้วยพลังใจที่เรามีทั้งหมดทั้งสิ้น...

การที่เราได้น้อมตัวเองทำด้วยพลังแห่งความดีงามนี่แหละ จะฉายส่องนำทางสู่ผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน...

แล้วเขาเหล่านั้นก็จะได้มาสัมผัสสัมพันธ์เองแหละว่า... การทำ KM นี่มันเกิดปิติเช่นไร...และงดงามดั่งดอกไม้บานอย่างไร...

 

การทำKM นี้ หลาย ๆคนคิดว่าเป็นภาระที่ยุ่งเหยิงขององค์กร และทำให้คนในองค์กรยุ่งเหยิงไปด้วย แถมยังไม่มีการเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังว่า " ทำไมองค์กรจึงจำเป็นต้องทำKM และทำแล้วเกิดอะไรขึ้น " ในฐานะที่เราเป็นคนในองค์กร เราควรเดินเข้าไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งหนึ่งที่เราคนทำ KM ภูมิใจ คือ ผลลัพธ์ที่ได้เป็น ความสุขจากการให้ ได้ลปรร ทำให้เป็นคนที่กล้าพูด กล้าทำ เป็นคนที่มีคุณค่า เพิ่มมูลค่าแก่ตนเอง และผู้ได้สนทนา ได้ให้ ซึ่งกันและกันด้วยความรัก และความจริงใจในการให้ซึ่งกันและกัน การทำ KM ให้เนียนไปกับงานประจำ เป็นสิ่งที่ทุกคนที่ได้ทำจะสบายและเป็นธรรมชาติ โดยที่งานในมอบหมายไม่เป็นภาระเพราะเป็นงานที่ทำอยู่ ฉนั้น ท่านใดยังไม่มีความรู้สึกเช่นนี้ ขอให้เข้ามาอ่านในเว็บgotoknowนี้มากๆน่ะคะ และท่านจะได้เข้าถึงแก่นของการเรียนรู้ด้วยตนเอง

สรุปงานเสวนา ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ ตามแนวพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระมหาชนก"ที่ผ่านมาครับ

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/307280

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท