Workshop “คิด พูด ทำ” กับการนำ OM มาใช้แบบเนียนๆ


. . โดยที่ สคส. ไม่ได้พูดถึงเทคนิค OM หรือ Outcome Mapping เลย แม้แต่คำเดียว !
            ผมเคยพูดถึง Workshop 3 ครั้งแรกไว้ [ที่นี่] Workshop ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สี่ที่ สคส. จะจัดให้เป็นครั้งสุดท้าย หลายคนที่เข้าร่วมโครงการนี้อาจเข้าใจผิดคิดว่าโครงการกำลังจะจบ แต่ผมมองในทางตรงกันข้าม ผมพยายามเน้นให้เห็นว่าการพัฒนาที่แท้จริงกำลังจะเริ่มต้นในวันนี้ ที่ผ่านมาสี่ห้าเดือนเป็นเพียงแค่การฝึกซ้อมเท่านั้น
             Workshop ครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 วัน (วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา) มีผู้บริหารระดับสูงมาเข้าร่วมทั้งหมด 9 ท่าน สิ่งสำคัญของกิจกรรมวันแรกก็คือการนำเสนอโดยกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อให้ผู้บริหารได้ทราบว่า สี่ห้าเดือนที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรกันไปบ้าง? ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และที่สำคัญ ต้องการให้ผู้บริหาร “หนุนเสริม” อะไรอีกบ้าง?  ผมเองค่อนข้างจะชื่นชมการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร แต่ละท่านมีคำแนะนำดี ๆ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ  ถือว่าเป็น Session ที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างความสัมพันธ์ และมีการส่งผ่านประสบการณ์ความรู้เรื่องงานและการบริหารได้โดยไม่เคร่งเครียด
             หากจะให้ผมสรุปสาระสำคัญของโครงการนี้ ผมขอสรุปออกมาเป็น “4C ” คือ C ตัวแรก เป็นเรื่องของ Connection เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกัน แต่ละท่านที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มาจากหลายหลายหน่วยงาน (บริษัทลูก) บางท่านอาจไม่สนิทกัน แต่จาก Workshop 4 ครั้งนี้ ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อนข้างดี C ตัวที่สอง เป็นเรื่องของ Communication หากมีเพียงการเชื่อมโยงกันแต่ขาดการสื่อสารที่ดี ไม่เปิดใจรับฟังกัน ผลที่ออกมานั้นก็คงจะไม่ดีเช่นนี้ นี่เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า “การฟังอย่างเปิดใจ” นั้นสำคัญเพียงใดต่อการสื่อสาร ซึ่งกระบวนการที่ สคส. ใช้จะเน้นในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
             สำหรับ C ตัวที่สาม นั้น เป็นเรื่องของ Commitment คือไม่ใช่สื่อสารหรือพูดจากันแบบลอย ๆ แต่ในการพูดจานั้นมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็หมายถึง C ตัวที่สี่ ที่ตรงกับคำว่า Change นั่นเอง การบริหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้หลักการของ OM (Outcome Mapping) เข้ามาเต็มๆ โดยได้นำมาดัดแปลงให้เข้าใจง่าย ผ่าน 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
 
  1. ให้เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพที่ปรารถนาขึ้นมา ภาพที่สื่อได้ว่า “เราต้องการอะไร” สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องเชื่อมั่นในภาพที่เราสร้างขึ้นมานั้น ส่วนเรื่อง Expectation นั้นไม่สำคัญเท่าใด ถ้าเราเชื่อในภาพนั้น “No Expectation” ก็ได้
  2. ให้หา “แนวร่วม” หรือ “ตัวช่วย” เพื่อจะมาช่วยสานฝันตามที่วาดไว้ใน ข้อ 1 นั้น ซึ่งในภาษา OM อาจจะเรียก “ตัวช่วย” นี้ว่า Boundary Partners หรืออะไรก็ตามแต่
  3. ต้องมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทักษะให้เกิดขึ้นใน “แนวร่วม” ที่เลือกไว้ในข้อ 2 เพราะพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการนี้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาแนวร่วม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหมั่นติดตาม คอยช่วยเหลือ ดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าแนวร่วมจะมีขีดความสามารถตามที่เห็นว่าจำเป็น
  4. ต้องมีการใช้กลยุทธ์ (Strategy) ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อจะได้มีการพัฒนาแนวร่วมให้ก้าวหน้าได้ตามที่ระบุไว้ในข้อ 3
  5. การที่จะทำให้ Strategy ที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ดำเนินไปได้ จะต้องมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร ต้องการให้ “คุณเอื้อ” เกื้อหนุนอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด
             ทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ เป็นสิ่งที่ได้ถูกออกแบบไว้ให้เป็นแก่นของโครงการ “คิด พูด ทำ” โดยที่ สคส. ไม่ได้พูดถึงเทคนิค OM หรือ Outcome Mapping เลย แม้แต่คำเดียว !
หมายเลขบันทึก: 305569เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอเสริมเรื่อง Outcome Mapping นิดหนึ่งครับ OM ของจริง เน้น Step ที่ 3 คือการสร้าง "เป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย" ให้กับ Boundary Partner แล้วนำ เป้าหมายที่ท้าทาย (Outcome Challenge) นี้ มาแตกเป็น เป้าหมายย่อยๆ เพื่อใช้สำหรับติดตามความก้าวหน้า ที่เรียกว่า Progress Marker นั่นแหละครับ . . . จะเห็นได้ว่า Step ที่ 3 นี้ ค่อนข้างสำคัญมาก

ตามมาเรียนรู้เรื่อง OM ครับ

OM แบบประยุกต์ใช้ . . . คงไม่ทำให้งงนะครับ อาจารย์หมอ JJ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท