คุณเคยเจอความจริงใจบน gotoknow.org ในรูปแบบไหนบ้างคะ


สังคมของคน gotoknow.org กำลังจะนิยามคนนอกวงการที่เข้ามาอย่างอิสระถึงจะมีความมุ่งมั่นและจริงใจในการจัดการความรู้แค่ไหนก็ตามได้กลายเป็นคนที่ไม่จริงใจในการจัดการความรู้และกลายเป็นคนตกขอบขององค์ความรู้..อย่างนั้นหรือไม่

   ความคิดเรื่องความจริงใจวนเวียนในความคิดอยู่ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของความจริงใจบน gotoknow.org เพราะจะเจอบ่อยๆว่า การบันทึกและการให้ความเห็นหลายๆครั้งเป็น การแสดงออกด้วยมารยาท มากกว่าจะตรงไปตรงมา ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็จะหยิกแกมหยอกเคลือบน้ำตาลหนาๆ ลักษณะค่อนข้างจะการเมืองมากทีเดียว ตรงนั้นจึงทำให้สงสัยที่มาที่ไป ทำไมจึงไม่มีความตรงไปตรงมาที่จะบันทึกความเห็น หรือบางครั้งเมื่อเข้าไปถามความรู้ก็พบว่าไม่ได้รับการตอบความเห็น อย่างมากเวลาตอบก็คือเพื่อรักษา fan club ไว้สำหรับ เก็บสถิติ

    แล้วคนที่มีปัญญาน้อยเช่นตัวดิฉันเองจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ chat กันบนบล็อกนั้นจริงใจกันมากน้อยแค่ไหนและจะเอาไปใช้ได้อย่างไร และจะเอาไปใช้ในมิติไหน และหลายครั้งเกิดความสงสัยว่าทำไมคนมีปัญญาจึงชอบใช้วิธีเข้าหากันด้วยการเคลือบน้ำตาลก่อน หรือว่าวิธีนี้เป็นการแสดงความจริงใจของคนที่มีความรู้ ฯลฯ

    วันนี้เจอบันทึกที่กล่าวถึงความจริงใจ   พยายามคิดตามความเห็นของเจ้าของบันทึก และคนที่เข้าไปให้ความเห็น..แต่ก็ดูเหมือนว่า "ความหมายของความจริงใจ" มีแตกต่างกันออกไปในระดับของความหมาย

  • ระดับตื้นๆ เช่น คุณต้องมีรูป มีประวัติ ถึงจะแสดงความจริงใจ
  • สูงมาอีกหน่อย เช่น คุณไปแสดงความเห็นกับบันทึกของคนอื่น (คงหมายถึงตอบความเห็นที่คนอื่นมาให้ไว้ในบันทึกด้วย)
  • สูงไปกว่านั้นและน่าจะเป็นระดับสูงสุด เช่น การมีอิสระในการให้ความเห็นบน gotoknow.org ภายในกรอบจริยธรรมของการอยู่ในสังคมแห่งอริยชน

    ความจริงใจที่ยังมีความแตกต่างในความหมายของคนที่เกี่ยวข้องกับ สคส. กำลังจะบอกอะไรให้กับคนอ่านที่อยู่วงนอกเช่นดิฉันได้บ้าง

     ที่บอกว่าตัวดิฉันเองเป็นคนวงนอกก็เพราะดิฉันคือคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ สคส. ไม่ว่าการได้รับทุน การใช้เวทีนี้เพื่อการเรียนเอาคะแนน เอารางวัลหรือติดตามงานนักศึกษา หรือการทำวิจัยโดยทุน สคส. หรือแม้แต่รู้จักคนที่ทำงานกับ สคส. ฯลฯ แต่เป็นคนหนึ่งที่จับพลัดจับพลูเข้ามาใน gotoknow.org เนื่องจากการไปฟังบรรยายหนึ่งและงมเงอะกับการรู้จัก gotoknow.org ไม่ว่าคำศัพท์เฉพาะ การสร้างบล็อก การศึกษาวิธี "ยอวาที" ของผู้คนที่นี่ ฯลฯ

    ระยะที่ผ่านมาพบว่าสังคมที่นี่มีอะไรน่าสนใจไม่น้อย จนกระทั่งไม่นานมานี้ เมื่อเริ่มเรียนรู้ว่า การบันทึก ณ ที่นี้ ของผู้คนส่วนหนึ่ง(และอาจจะส่วนมาก) คือคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับ สคส. ไม่กรณีใดก็กรณีหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าทำไม กิจกรรมการแสดงออกด้วยมารยาท มากกว่าจะตรงไปตรงมา ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็จะหยิกแกมหยอกเคลือบน้ำตาลหนาๆ  ถึงกลายเป็นวัฒนธรรมฝังลึก และเข้าใจด้วยแล้วว่า ทำไมหลายๆ ความเห็นของหลายๆคนที่ผ่านเข้ามาและหายไป ที่เคยเตือนเรื่องนี้หลายๆครั้ง ว่าเป้าหมายของ gotoknow.org คืออะไรกันแน่ ความรู้ที่กำลังขับเคี่ยวและอยากให้เป็นของประเทศไทยกำลังเดินไปทิศไหนและ gotoknow.org เปิดกว้างกับความรู้ของทุกๆคนอย่างทัดเทียมกันจริงหรือ เหล่านั้นทำไมไม่เคยได้รับการตอบสนอง อย่างเสมอภาค 

  gotoknow.org ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองและรับใช้ใครกันแน่ และนั่นคือความจริงใจกับการจัดการความรู้อย่างแท้จริงหรือไม่ 

   และถ้าสังคมบน gotoknow.org กำหนดระดับของความจริงใจไว้ที่ ระดับตื้นและระดับกลาง สังคมที่นี้ก็กำลังส่งสัญญาณย้ำๆ บางอย่างให้รู้ว่าสังคมของคน gotoknow.org กำลังจะนิยามคนที่นอกวงการที่เข้ามาอย่างอิสระถึงจะมีความมุ่งมั่นและจริงใจในการจัดการความรู้แค่ไหนก็ตามได้กลายเป็นคนที่ไม่จริงใจในการจัดการความรู้และกลายเป็นคนตกขอบขององค์ความรู้..อย่างนั้นหรือไม่

    คำถาม ณ เวลานี้คือ สังคมบน gotoknow.org จะพิสูจน์ตัวเองอย่างจริงใจได้อย่างไรว่า ยังคงยืนหยัดกับความเชื่อที่ว่า "ทุกคนมีความรู้ในตัวเอง"

 

คำสำคัญ (Tags): #trust#ความจริงใจ
หมายเลขบันทึก: 70833เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2007 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)
  • เป็นคนหนึ่งนะคะ ที่ติดตามงานบันทึกของท่านมาโดยตลอด
  • และรับรู้ได้ว่า ท่านเป็นคนตรงและจริงใจมากๆ ค่ะ  ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ ดิฉันชอบมากค่ะ ที่จะเข้ามาอ่าน มาเก็บเกี่ยว เกร็ดความรู้ และประสบการณ์จากท่านค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ  มีความสุขกับปีใหม่ปีนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์บันทึกนี้ยาวนะคะ พรั่งพรูจังเลยค่ะ...ชม(จริงใจนะคะ)...กำลังคิดมากๆ กับบันทึ่กนี้ค่ะนี่ถ้าคุณไร้นามมาพบ บันทึกแห่งความจริงใจ...อันนี้คงดิ้นตายไปอีกคน....ขอทำประโยชน์ขั้นต้นไว้ก่อนนะคะ...บรรทัดที่ 5 นับจากล่าง...นิยาย...น่าจะ "นิยาม" มั๊งคะ

เมตตา

ขอบคุณค่ะ คุณ Bright Lily และคุณเมตตา

มาเร็วจนตกใจค่ะ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จันทรรัตน์
  • เป็นบันทึกเก็บอยู่ในใจผมมานานแสนนาน แต่สิ่งแวดล้อมใน G2K อย่างที่ท่านอาจารย์บอก น้ำตาลหยดลงหินทุกวัน หินที่ปากดี ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมอย่างผมก็ถูกน้ำตาลที่เปรียบเสมือนกระจกมาบัง และแถมยังเป็นกระจกสีน้ำตาลอีกครับ
  • ครั้งแรกที่เดินเข้ามาใน G2K แห่งนี้ ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าการจัดการความรู้คืออะไร วันหนึ่งคุณทรงพลไปบรรยายที่อุตรดิตถ์ ได้ยินชื่อคุณอำนวย คุณเอื้อ เป็นครั้งแรก อยู่บ้านว่าง ๆ ก็เลยจิ้มอินเทอร์เนท จิ้มไปจิ้มมาจนเจอ G2K แล้วก็ลองสมัครดู จิ้มโน่นจิ้มนี่จนกลายมาเป็นบล็อกความรู้คือพลัง ที่ช่วงแรกมีพลังเพราะเกิดจากความจริงใจแบบจริง ๆ ที่ต้องการนำเสนอ ต้องการพูด ต้องการเขียนจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยได้ประสบมา
  • จากนั้นก็อยากเดินเข้าไปเรียนและรู้กับการจัดการความรู้อย่างจริง ๆ ก็เลยสมัครเข้าเป็น KM Intern แต่แล้วชีวิตก็ได้จับพลัดจับผลูโลดแล่นไปอยู่ที่อุบลฯ ได้ 3 เดือน นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ความจริงใจ และคำว่าความจริงใจได้อย่างจริง ๆ เพราะเป็นการพิสูจน์ด้วยชีวิต
  • จนกระทั่งเก็บความบอบช้ำจากความจริงใจ ถ้าวันนั้นมีน้ำตาลเคลือบอยู่ หันหน้าเอาน้ำตาลฉาบใส่กัน ผมเองก็คงจะไม่กลับมาเจอกับคำถามที่บาดลึก หันหน้าไปทางไหนก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับความจริงใจที่มีมอบให้คนอื่นเสมอ ๆ "ความจริงใจ" ในสังคมไทย ผลที่ตอบกลับมักเป็นเช่นนี้
  • คงจะไม่มีความจริงใจไหนบริสุทธิ์เท่ากับบ้านของเรา พ่อและแม่จริงใจกับเราเสมอ
  • ช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่ผมจะสัมผัสกับบล็อกนี้ เวลาเหลือแค่พรุ่งนี้อีกวันเดียว ผมก็มีแต่ความจริงใจเป็นพลังที่จะมอบให้กับทุก ๆ คนครับ
  • พลังที่เหมือนจะมอดไหม้ เกือบจะกลายเป็นขี้เถ้า
  • แต่ถ้าความจริงใจเป็นความจริงใจแบบแท้ ๆ วันหนึ่ง ถ่านไฟเก่าจากขี้เถ้าก็อาจจะลุกโชนขึ้นไปกองไฟที่ทรงพลังได้
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้คำแนะนำ สอน ให้ความรู้ผมตลอดมา ผมจะจดจำและนำคำสอนของท่านอาจารย์ไปปฏิบัติครับ
  • ภาพยนต์เต่าที่อาจารย์ฝากไว้ให้ดู หนังสือธรรมะที่อาจารย์ฝากไว้ให้อ่าน ผมขอใช้เวลาที่เดินเข้าสู่ถนนชีวิตสายใหม่นี้ ศึกษา และค้นหาสัจธรรมแห่งความจริงและความจริงใจ
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์จากใจด้วยใจและความจริงใจครับ

 "และหลายครั้งเกิดความสงสัยว่าทำไมคนมีปัญญาจึงชอบใช้วิธีเข้าหากันด้วยการเคลือบน้ำตาลก่อน"
 ดิฉั๊นกลับไม่รู้สึกว่าเคลือบน้ำตาลนะคะ(หรือเราเป็นคนแบบนั้น จึ่งมองไม่เห็น)

 - รักษา แฟนคลับ...ดิฉั๊นก็ไม่ทำ
 - รักษาสถิติ....ยิ่งไม่ทำใหญ่
หรืออาจทำทั้งสองอย่างแต่ไม่เห็นตัวเอง

ทุกคนอยากให้เป็นสังคมแห่งการชื่นชมยินดี...เพื่อเสริมพลังทางความคิด...พลังใจ...กระทั่งถึงกำลังใจ....(ซึ่งดิฉั๊นก็สงสัยมานานว่า...ได้กำลังใจจากที่นี่หรือเปล่า...ตอบไม่ได้) ที่ตอบได้ชัดๆ คือพลังงานที่ได้เพิ่ม...มาเสริมส่งในการทำงาน...ได้จากการอ่านความสำเร็จ...ความภูมิใจของเพื่อนๆค่ะ..

อาจารย์จันทรรัตน์ครับ

สำหรับผมนั้น ผมถือความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานร่วมกัน

จะแสดงตัวหรือไม่ก็ไม่สำคัญ

เพราะบางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าการแสดงตัวจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจน้อยลงก็ได้

ความจริงใจผมจะดูจาก

  • เนื้อหาสาระการตอบ
  • มีประโยชน์ ในด้านใดด้านหนึ่ง
  • เข้าประเด็นหลักอย่างน้อยหนึ่งประเด็น
  • สะท้อนความเข้าใจในประเด็น
  • สะท้อนอารมณ์ที่เป็นมิตร แม้คำพูดจะฟังรุนแรง หรืออ่อนโยน
  • ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
  • ฯลฯ

ผมจะตอบอย่างจริงใจกับผู้แสดงความจริงใจ

และจะตอบตามมารยาทกับความเห็นที่ดูไม่ค่อยจริงใจ

อย่างเช่นที่อาจารย์ comment ว่าผมเปลี่ยนแปลงนั้น ผมนำมาทบทวนอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะตอบอาจารย์ไปเมื่อวันก่อน

แสดงว่าอาจารย์จริงใจกับผมที่เสนอตรงๆเช่นนั้น โดยไม่เคลือบน้ำตาล หรือมีก็บางๆ

ผมต้องขอบคุณที่อาจารย์ตอบผมเช่นนั้น

ไม่งั้นผมจะอึดอัดที่ทนรับประทานน้ำตาลที่ผมไม่ชอบ และไม่ชอบหยิบยื่นให้ใครด้วย

ยกเว้นไว้ผสมยาให้เด็กก็มีบ้างครับ

ขอบคุณมากครับที่เขียนมาในมุมที่ผมมีโอกาสแสดงความจริงใจให้อาจารย์ทราบ

 

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์จันทร์รัตน์... แต่อาจารย์มองเพียงด้านเดียว.... gotokrow ถูกสร้างขึ้นโดยเป้าหมาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้จริงและมีผลงานที่เป็นรูปธรรมของแต่ละหน่วยงานของท่านเอง....เช่น ท่านอยู่โรงพยาบาล ก. เป้าหมาย การจัดการ การบริหารงาน การนำเสนอผลงาน รูปแบบการพัฒนางาน ทุก ๆ สิ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น  แล้วนำมาประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้ศึกษาและปรับใช้ให้สอดคล้องกับท้องถิ่นของตนเอง เป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปฏิบัติร่วมกัน.......ไม่ว่าท่านจะอยู่จังหวัดใดก็สามารถช่วยเหลือกันได้ หรือประเทศใด ก็สามารถให้คำแนะนำและเป็นภาคีเครือข่าย เป้าหมายคือร่วมกันพัฒนาองค์กร และ skil แนวความคิดต่าง ๆ ออกมา ช่วยกันจรรโลงวัฒนธรรมประเพณีและสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป.......(หากอยากทราบรายละเอียดเกี๋ยวกับวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โปรดติดต่อ ส.ค.ส. นะครับ หรือติดต่ออาจารย์ ดร.จันทร์วรรณ

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ

รออ่านความเห็นของ คน gotoknow.org เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆค่ะ...

  • แวะเข้ามาอ่านครับ เป็นบันทึกนี้นะคิดครับ แต่ไม่ขอออกความเห็นครับ
  • แต่อย่างน้อย G2K ก็ได้มีการแจ้งเงื่อนไข วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ก่อนแล้ว

เห็นด้วยกับ คุณ น. เมืองสรวง สำหรับดิฉันเอง ชอบเขียนความรู้สึก ชอบการตบแต่ง ชอบความท้าทายกับความรู้ใหม่ แต่ ด้วยความอ่อนหัดไม่กล้าจะตีแผ่ความจริง จึงไม่ค่อยเขียนบันทึก เพราะมันขัดความรู้สึก เคยมีความรู้สึกที่แย่ๆ กับการพูดแต่สิ่งดีๆ ความสำเร็จ (ความล้มเหลว ห้าม!..พูด) แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อใครๆ  ก็สร้างภาพลักษณ์ อยากให้ใช้บล็อกให้เกิดประโยชน์ พูดความจริง รับความจริง ร่วมสรรค์สร้าง มือใหม่อ่อนหัดอยากเห็นจัง

  • แวะมาขอบคุณและสวัสดีปีใหม่
  • เพิ่งกลับมาจากชายแดน
  • ผมไม่ทราบว่าทำไมผมอ่านที่อาจารย์เขียนเรื่อยๆ  สงสัยชอบอ่านครับ

ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าอะไรที่จุดประกายให้คุณจันทรรัตน์ สะดุดถึงความไม่จริงใจใน GotoKnow นะคะ เป็นบันทึกแรกของคุณจันทรรัตน์ที่ตัวเองอ่านแล้ว รู้สึกไม่ค่อยเข้าใจ ปกติจะคิดว่าเรามองและคิดอะไรค่อนข้างคล้ายกัน เวลาไปอ่านบันทึกใคร แล้วมีความเห็นคุณจันทรรัตน์อยู่ก่อน ก็จะคิดว่า แหมเขียนได้ตรงใจ และบางครั้งกระจ่างแจ้งกว่าที่ตัวเองคิดจะเขียนด้วยซ้ำค่ะ

ยังไม่สะดุดอะไรที่ทำให้คิดว่า GotoKnow คือแวดวงของคนสคส.นะคะ สำหรับชาวพยา-ธิซึ่งทยอยรู้จักกับคนสคส.มาเรื่อยๆนั้น ก็เป็นเพราะเราได้รับการทาบทามให้เผยแพร่เรื่องของพวกเราเอง พอหลายๆครั้งเข้า ก็เหมือนว่าเราคุ้นเคยกับคนในสคส.ไปโดยปริยาย แต่เวลาไปร่วมงาน เช่นงานมหกรรมฯที่ผ่านมา พวกเราก็ได้รับการปฏิบัติไม่แตกต่างจากผู้อื่น และไม่เห็นว่ามีใครได้รับการดูแลหรือเป็นพรรคพวกแวดวงของคนสคส.เลยนะคะ

สำหรับตัวเอง ยังไม่เคยมีอะไรที่ทำให้คิดว่า เราเป็นคนวงนอกหรือวงใน คิดว่าอะไรที่เราคิดและเป็นประโยชน์ ก็น่าจะบันทึกไว้ในคลังแห่งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดกับคนอื่น บันทึกไหนที่ไม่รู้จกจริงๆ ก็จะไม่ออกความเห็น ยกเว้นแต่ว่าเป็นบันทึกของบล็อกเกอร์หน้าใหม่ ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า เราต้องการกำลังใจเมื่อตอนเริ่มๆเขียน เพื่อจะได้เขียนต่อเนื่องกันไป

ไม่ทราบว่าตรงกับที่คุณจันทรรัตน์ต้องการความเห็นหรือไม่ แต่ก็อยากจะเข้าใจว่า อะไรทำให้คุณจันทรรัตน์เขียนเหมือนผิดหวังกับ GotoKnow ค่ะ อยากให้คนที่มีความคิดวิเคราะห์วิจารณ์จริงใจ ตรงไปตรงมาแบบคุณจันทรรัตน์ ไม่มีความเคลือบแคลงอย่างที่รู้สึกจะเป็นอยู่ค่ะ ถ้าถามตัวเองว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ GotoKnow จากที่รู้จักกับอ.จันทวรรณและอ.ธวัชชัยตัวจริงๆแล้ว เชื่อมั่นค่ะว่าเป็นไปเพื่อให้คนไทยทุกคน ได้มีโอกาสออกความคิดเห็น บอกเล่าความรู้ความคิดของตนเองแน่นอนค่ะ นี่ยังไม่ต้องอ้างถึงท่านอ.หมอวิจารณ์ซึ่งพบเห็นเป็นปกติว่า ท่านจริงใจ และตรงไปตรงมาเสมอค่ะ

GotoKnow มีไว้เพื่อคนไทยทุกคนค่ะ

วัตถุประสงค์คือ เป็นคลังประสบการณ์ความรู้แนวปฏิบัติของประเทศไทย และสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของไทย เน้นเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทำงานค่ะ

แน่นอนค่ะอาจารย์ GotoKnow ต้องการคนที่มาเขียนด้วยใจและเขียนอย่างมีคุณภาพ  อย่างอาจารย์เยอะๆ ค่ะ อย่าง อาจารย์ Handy พี่โอ๋ คุณกะปุ๋ม คุณชายขอบ อาจารย์ beeman หรือ ใครหลายต่อหลายคนก็เช่นกันนะค่ะ

คนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ สคส. ค่ะ แต่มาเขียนอยู่ประจำ จน สคส. ทนไม่ไหวเห็นศักยภาพก็เลยเข้ามาเกี่ยวดองกับ สคส. โดยปริยายค่ะก็เยอะค่ะ :)

แต่กลุ่มคนที่ สคส. เป็นผู้กระตุ้นให้มาเขียนก็มีอยู่แน่นอนค่ะ เพราะ สคส. ต้องใช้ในการติดตามผลงาน ค่ะ

นี่ถ้าสมมุติดิฉันไม่ได้เป็นผู้บริหารระบบ GotoKnow ดิฉันก็จะเขียนกับ GotoKnow เช่นกันค่ะ เพราะเข้ามาจะได้รับ sense ของความจริงใจนะค่ะ

ดิฉันเชื่อว่า ความจริงใจมีอยู่ค่ะ แต่ความเกรงใจก็สอดแทรกเข้ามาตลอดค่ะ เพราะเป็นวัฒนธรรมของไทยค่ะ และกลุ่มผู้ใช้ใน GotoKnow ก็เป็นกลุ่มคนทำงานทั้งนั้นค่ะ

ส่วนอิสระในความเห็นมีแน่นอนค่ะ เพียงแต่เป็นเรื่องยากจะที่ให้คนอ่านแล้วคิดวิเคราะห์แล้วเขียนออกมาต่อยอดความรู้ค่ะ

ดิฉันคิดว่า คนที่ตอบอาจารย์ได้ดีที่สุด คงเป็นสมาชิก สคส. ค่ะ :)

  • ดิฉันกลับมองว่า...การใช้บันทึกโต้ตอบเป็นเพียงส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้นของคนที่ตอบ...มิได้บ่งบอกว่าเขาจริงใจหรือไม่จริงใจ...จึงไม่ควรสรุปพฤติกรรมเรื่องความจริงใจหรือไม่..จากเพียงการพิมพ์โต้ตอบนี้...
  • ดิฉันว่า....เวทีนี้มีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบันทึกนั้นๆของเรา...ความคิดอาจตรงมากหรือไม่ตรงเลย...ย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอนเพราะGotoKnowเปิดกว้าง...ระดับสมาชิกมีมาก...คนบันทึกน่าจะฉวยโอกาสนี้ได้รับทราบหลายๆมุมมอง..
  • เป็นธรรมดาค่ะ...บางครั้งคนเราอ่านตอนนี้...ตีความอีกแบบ...พอกลับมาอ่านใหม่..ตีความอีกแบบ...ด้วยความยากมากของการพิมพ์ที่ไม่ได้สื่อน้ำเสียง...หน้าตา..ท่าทาง....การเว้นวรรคพลาดนิดเดียว...อาจตีความหมายผิดได้เลย...แก้ไขก็ไม่ได้....ถ้าเรื่องเล็กน้อยก็พออภัย..ถ้าเรื่องใหญ่อาจเข้าใจผิด..โกรธกันโดยผู้ทำอาจไม่เจตนา..ต้องใจกว้างมากๆๆๆๆๆกับการใช้blogค่ะ...อย่าใส่ใจในรายละเอียดมากเกินไป...ยังไงที่พูดคุยกันอยู่นี้ก็รู้จักกันผิวเผินจริงๆค่ะ...นิดๆหน่อยๆ..ให้อภัยกันไปเถอะค่ะ...
  •  อย่าว่าแต่อาจารย์จะเรียกร้องความจริงใจจากตัวหนังสือเลยค่ะ..ดิฉันทำงานกันอยู่..คบกัน...เห็นกันตัวเป็นๆเป็นสิบปี..ยังหาความจริงใจไม่ได้เลย....สบายใจเถอะค่ะ....
  • แต่ยังไงฉันก็ยังขอบคุณGotoKnowอยู่ดี..ที่อย่างน้อยก็ได้รู้จักเพื่อนๆเก่งๆหลายคน
  • ดิฉันมีที่มาคล้าย อ.จันทรรัตน์ค่ะ..ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครเลย..คนนอกเช่นกันค่ะ..ขอให้กำลังใจค่ะอาจารย์

ขอบคุณกับคำอธิบายและความเห็นของแต่ละท่านค่ะ

ยังตามอ่านอยู่เรื่อยๆ ท่านใดมีความเห็นอย่างไรกรุณาด้วยค่ะ..ตอนนี้จิ๊กซอร์ความคิดกำลังลางๆ ค่ะ...

สวัสดีครับ อาจารย์จันทรรัตน์

  • ติดตามอ่านบันทึกอาจารย์เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยน
  • เรื่องนี้ผมได้คุยกับคุณกฤษณาไปเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะทราบว่าใครจริงใจกับเราแค่ไหน
  • ความเห็นของผมก็คือเจ้าของบันทึกควรให้ความจริงใจกับผู้มาเยือนเหมือนเป็นเจ้าของบ้านที่ดี เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
  • แต่กระนั้น ก็รู้สึกได้ว่า มีการแบ่งระดับเช่นเดียวกับที่อาจารย์นำเสนอ คือ จริงใจ และ มารยาท

 

ผมไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แบบยาวครับ แต่ขอเรียนอาจารย์จันทรรัตน์ว่า ถ้าอยากเห็นความคิดเห็นแบบไม่เคลือบน้ำตาลเลย (แถมเคลือบบรเพ็ดหน่อยๆ มาด้วย) ก็ต้องเป็นบันทึกที่เกี่ยวกับการเมืองครับ

ลองเขียนบันทึกวิจารณ์ "สนธิ ลิ้มฯ" หรือ ASTV ดูนะครับ เดี๋ยวจะมีหน่วยจรยุทธจาก บ.ผู้จัดการ มาให้ความคิดเห็นครับ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกของ GotoKnow ครับ เป็นหน่วยปกป้องบริษัทเขาครับ

ส่วนใน GotoKnow นั้น สิ่งที่น่ายินดีคือเราได้เห็นสังคมออนไลน์ที่ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย และให้เกียรติความคิดคนอื่นเป็นที่ตั้ง เป็นแนวทางของ Appreciation Inquiry (AI) ที่ไม่พยายามตัดสินผู้อื่นจากพื้นฐานของความคิดของเราครับ

ผมเองเชื่อว่า AI เหมาะกับสังคมไทยมากเชียวครับ ผมคิดว่าการทำให้สังคมไทยที่มีชั้นทางสังคมซับซ้อนมาเป็นสังคมที่จะกล้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ AI จะเป็นกระบวนวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้ครับ

ถ้าไม่พยายามใช้ AI คนที่กล้าจะแสดงความคิดเห็นภายใต้ creditable identity ของตัวเองในสังคมไทยจะเป็นพวกที่มียศทั้งนั้นเลย เพราะคนไม่มียศพูดยังไงก็ผิดครับ ส่วนคนมียศมีความมั่นใจจะผิดหรือถูกก็มั่นใจ แต่พวกมียศ พอเจอยศสูงกว่าก็นิ่งไปเหมือนกัน

สถานการณ์แบบนั้นเราไม่ต้องการเห็นครับ ไม่ KM และเป็นรูปแบบเก่าๆ ที่เราเห็นมาตลอดในสังคม

ผมเองก็พึ่งปลดยศตัวเองนะครับ ก่อนหน้านี้ชื่อ ธวัชชัย มันโหล ตอนนี้มีรูปแล้วไม่เป็นไรครับ 

ขอบคุณอาจารย์หมอสมบูรณ์และ ดร. ธวัชชัย ที่กรุณาให้ความเห็นค่ะ

มาติดตามต่อเนื่องอยู่ค่ะ...ยังไม่สรุปความคิดค่ะ...รอความเห็นอีกสักสองสามท่านหรือท่านเดิมต้องการเพิ่มเติมค่ะ...ขอบคุณค่ะ

  • ผมตามมาด้วยความจริงใจ ใสจริงและจะตามไปเรื่อยๆครับอาจารย์
  • การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบางอย่างผมได้มากกว่าการเรียนหนังสือครับ
  • ยังให้กำลังใจอาจารย์เสมอครับผม

"ทุกคนคือเจ้าของบ้านร่วมกันครับ"

1.gotokrow เป็นข้อมูลที่ถ่ายทอดความรู้สึกที่เป็นจริง

2.เห็นด้วยอย่างยิ่งคุณโอ๋ และ อ.ธวัชชัย

3.สังคม gotokrow เป็นสังคมทุกคนเท่าเทียม จะไม่แบ่งแยกหรือแบ่งพรรค สามารถ skil แนวความคิดต่าง ๆ ออกมาโดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด ๆ

4.แต่ต้องคำนึง " มรรยาท " ผู้ดี " และการนำเสนอความคิดที่เข้าตาและเข้าท่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้กระทั่งบุคคลที่ไม่จบการศึกษาสูง ๆ ก็สามารถเข้าเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ได้

5.การนำเสนอโดยหลัก "มนุษยธรรม" เพราะทุกคนต้องมีอยู่กันทุก ๆ คน

สวัสดีครับ อาจารย์ 

          ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ สคส. ครับ เข้ามาใน gotoknow เพราะทาง พรพ.มาแนะนำ ตอนไปประชุม HA ที่จังหวัด ทราบมานานแล้วว่ามี แต่ไม่ได้เข้ามา แต่เข้ามาก็ติดใจครับ(เพราะเข้ามาเกือบทุกวัน แต่ไม่ได้บันทึกนะครับ ไปอ่านของคนอื่นๆ ได้ความรู้เยอะดี)

          ผมรู้จักพี่ๆที่ gotoknow ผ่าน blog ไม่กี่คนครับ เช่น พี่ชายขอบ พี่Dr.Ka-Poom (เอ..นับไปนับมาก็รู้จักแค่ 2 คนเอง 555 ^_^ นอกนั้นแอบๆรู้จักครับ ประเภทติดตามผลงาน )

ขออนุญาติแสดงความเห็นนะครับ

           "ความจริงใจ"เกณฑ์ในใจของแต่ละคน ผมว่าไม่น่าจะเหมือนกัน หรือไม่เท่ากันครับ

          วัตถุประสงค์ในการตอบ หรือแสดงข้อคิดเห็นนั้นก็มองได้หลายแบบ 

          เช่น เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่ ่และเป็นกำลังใจในการเขียน เพื่อแสดงตัวและสร้างความรู้สึกดีๆในครั้งแรก เพื่อแสดงความเห็นร่วม..เออ..คิดเหมือนเรา มีพวกๆ เพื่อต่อยอด เพื่ออวยพร เพื่อ...ฯลฯ

          มนุษย์เราเกิดมามีนิสัยหลายแบบ ทุกๆสังคมย่อมมีคล้ายๆกัน แพทย์ก็ใช่ว่า่จะดีหมด สังคม gotoknow ก็น่าจะมี

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วย กับ อ.ธวัชชัย คือ เรื่องการเคารพความคิด/ความคิดเห็น/มุมมอง ของแต่ละคน มันก็อยู่ที่กล้าไหมที่จะแย้งความคิดเขาแบบตรงๆ ซึ่งผมเคยมาแล้วกับพี่ชายขอบ

http://gotoknow.org/blog/trustfulness/21822

ยินดีที่ได้รู้จักครับ 

ขอบคุณทุกๆ ท่านค่ะ...

ได้ข้อสรุปบางประการและคิดว่า บันทึกสิ่งที่เรียนรู้ไว้น่าจะดีกว่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ท่านที่ได้กรุณาแสดงความเห็นมาได้ตรวจสอบว่า สิ่งที่ดิฉันกำลังจะสรุปนี้ใช่และตรงกับที่ท่านทั้งหลายได้สละเวลามาแสดงความเห็นตรงไปตรงมากับดิฉันด้วยหรือเปล่านะคะ ..

เรื่องของความจริงใจบน gotoknow.org มีหลักการที่พอจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องของ อิสระในการบันทึกและให้ความเห็น เป็นการรับรู้ผ่าน sense ในการอ่าน

         การจะมีอิสระนั้น ต้องตัด"ปูมหลัง" "ยศ" ออกไปก่อนซึ่งการทำอย่างนั้น "เจ้าตัว" วางน้ำหนักของเรื่องที่จะบันทึกหรือให้ความเห็นที่ "เนื้อเรื่อง" มากกว่า "แหล่งประโยชน์" หรือ "แหล่งทุน" ...ต้องลด "อัตตา" และ ลด"ความขยาด" ต่อปูมหลังหรือยศของคู่สนทนาในบันทึก ตรงนี้หลายๆท่านให้ข้อมูลว่า มีอิสระในการบันทึกไม่มีแรงกดดันจาก สคส. และมี sense of belonging คือทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของ gotoknow.org ไม่ว่าจะมาอยู่ด้วยกันที่gotoknow.org โดยเส้นทางไหนก็ตามและเมื่อไหร่ก็ตาม

ขอบเขตของความจริงใจค่อนข้างกว้าง มองจากจุดเริ่มต้นคือเจ้าของบันทึกที่เปิดใจไปถึงความสม่ำเสมอของการให้ความเห็น

   เมื่อกล่าวถึงความจริงใจแล้ว ก็มีข้อแนะนำว่า การบันทึกต้องมี มารยาท ตรงนี้ไม่ค่อยมั่นใจค่ะว่าเข้าใจถูกต้องไหม คือเข้าใจว่า "สามารถจริงใจได้แต่ต้องมีมารยาทในการเขียน...คำว่ามารยาทนี้คงหมายถึงการเขียนด้วยถ้อยคำสุภาพ??ที่จะรวมถึงการเคลือบน้ำตาลไหม? หรือคนละเรื่อง?"

    และสิ่งที่ผู้ให้ความเห็นค่อนข้างจะให้น้ำหนักมากคือ การถนอมน้ำใจ (ใช่คำเดียวกับเกรงใจกัน?) และยอมรับความเห็นของคนอื่น หากมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งก็ต้องมีความกล้าที่จะบอก....(ตรงนี้น่าจะรวมความจริงใจต่อตัวเองด้วย?)

   มีข้อเสนอให้คิดออกไปกว้างๆ ถึงประโยชน์ในการใช้ gotoknow.org มากกว่าจะมามองมุมแคบๆเล็กๆยึดติดกับเรื่องจริงใจไม่จริงใจและให้กำลังใจดิฉันมาด้วย..เข้าใจ(เอง) ว่า คงอยากให้ดิฉันก้าวผ่านความคิดสงสัยไม่แน่ใจไปได้ด้วยดี..ขอบคุณค่ะ

   ส่วนที่ยังเห็นว่าน่าติดตามคือส่วนที่กล่าวถึงการกระตุ้นหรือสนับสนุนอย่างไรให้มีการเขียนบันทึกหรือความเห็นเชิงวิเคราะห์วิจารณ์รวมทั้งการจะให้ความเห็นขัดแย้งแต่ยังเป็นมิตรว่าเป็นเรื่องยาก ...อยากจะคิดอย่างนี้ค่ะว่า ความหวังดีและเชื่อมั่นจะช่วยลดความยากได้ไหมคะ ..อย่างเช่นที่ท่านทั้งหลายกรุณามาให้ความเห็นในบันทึกนี้ท่านมาด้วยความหวังดีจนยอมสละเวลามาให้ความเห็นอย่างจริงใจ(ดิฉันรับรู้ค่ะ)

   ขอบคุณทุกท่านที่กรุณามาอภิปรายกันตรงนี้นะคะ หากมีข้อสรุปใดที่ท่านเห็นว่าไม่ตรงหรือว่าตรงแล้วแต่ยังขาดความชัดเจน...จะช่วยแนะนำเพิ่มเติมก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องไปค่ะ

 

   

ความจริงใจบางครั้งอยู่ที่ความพอใจผนวกเข้าไปด้วย ...บางคนถ้าไม่พอใจกันแล้ว จะหาความจริงใจคงยากนะครับ เพราะมันต้องมาด้วยกัน...และบางครั้งก็อยู่ที่เราเปิดใจกว้างต่อเรื่องที่มีความคิดเห็นต่างหรือไม่ หากสามารถทำใจเมื่อมีความเห็นต่าง ถือว่าเข้าใจความจริงใจที่เขามีต่อ...แต่ผมเชื่อว่าคนที่มา GotoKnow ทุกคนจริงใจทั้งนั้นแหละครับ

หาความจริงใจ...

1.เปิดใจให้กว้าง

2.ยอมรับสิ่งใหม่

3.ถ่ายเทของเก่า ๆ

4.เพลา ๆ อคติ

5.ปิติยินดีกับผู้หวังดีและกับผู้สำเร็จ

6.เสร็จกิจแล้วขอบคุณ

7. เยี่ยมเยียนเมื่อเวลาอำนวย

8.อวยพรกับสิ่งที่มีคุณค่าและผู้คนด้อยโอกาส

9.ฉลาดช่วยคนและไม่มุ่งผลกำไร

10ใส่ใจใฝ่ศึกษา

11.หาทางช่วยเหลือกัน

12แบ่งปันน้ำใจ

 

 

เจริญพร อาจารย์

อาตมาคิดจะสร้าง เวบ มานานแล้ว แต่ขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและคร้านที่จะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย มีผู้แนะนำว่ามาใช้ โกทูโน นี้แหละ 10 นาทีใช้เป็นเลย ก็เริ่มใช้มาเดือนกว่าๆ แล้ว

นี้ เป็นโลกใหม่ของอาตมา กำลังศึกษาอยู่ว่าจะนำเสนออย่างไรให้มีคุณค่าต่อผู้อื่นบ้าง และเป็นเครื่องเล่นส่วนตัวได้ตามยุคสมัยกะเค้าบ้าง

บันทึกของอาจารย์ ก็ทำให้อาตมาได้ฉุกคิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งครับ 

เจริญพร

ขออนุญาตแสดงความจริงใจ ค่ะ

เห็นการเขียนภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องใน gotoknow เช่น ดิฉั๊น   ฯลฯ  ครั้งแรกที่เห็นก็รู้สึกว่าเขียนไม่ถูก  อยากจะบอก

แค่อยากให้คนไทยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  ค่ะ

  

ขอบคุณค่ะทุกท่านที่กรุณามาเสริมเพิ่มให้

การเปิดใจคงเป็นปราการด่านแรกของความจริงใจนะคะอาจารย์ศักราช...

เกณฑ์ 12 ข้อของคุณ น.แมนสรวง น่าสนใจค่ะ... 

นมัสการพระคุณเจ้า..หลายประเด็นบนgotoknow.org น่าฉุกใจค่ะ..ติดตามไปเรื่อยๆยิ่งเห็นหลายประเด็นที่น่าสนใจ..แต่อาจจะขึ้นกับปรัชญาและความใส่ใจของแต่ละคนนะคะ...

ขอบคุณค่ะคุณพรรณี...ท่านใดที่เขียนภาษาไทยผิดและมีคนแนะนำก็คงจะขอบคุณความหวังดีของคุณพรรณีค่ะ...แต่บางครั้งการใช้คำ...ผู้บันทึกอาจจะมีเจตนาเน้นเสียงด้วยไหม....

น่าสนใจค่ะถ้าจะมีการพูดเรื่องการใช้ภาษาไทยบนgotoknow.org บ้างคะ..คุณพรรณีเปิดประเด็นที่ทำให้น่าคิดต่อยอดค่ะ..

ถ้า  น้ำตาลที่เคลือบอยู่  เป็นสิ่งเดียวกับ "ปิยวาจา"   คงจะดีไม่น้อย
.
น้ำตาล    มีประโยชน์ค่ะ    ทานแล้วให้พลังงานอิ่มอร่อยและหายหิว   น้ำตาลในน้ำหวานดื่มแล้วชื่นใจ  (จำเป็นอย่างมากสำหรับคนต้องการกำลังใจ   อย่างเช่น blogger หน้าใหม่)
.
แต่ๆ....ถ้ากินมากๆ  ไม่ดีค่ะ   นอกจากจะ "เลี่ยน"  แล้ว...อาจทำให้อ้วนและเซลล์แก่เร็วด้วย
.
ทุกอย่างต้องพอดีพองาม   คำชมใครๆ ก็ชอบ   แต่ชมบ่อยๆ  ก็ไม่มีคุณค่า  เพราะเห็นจนชิน    
.
"คำติ"    คงไม่มีใครชอบ   แต่ถ้าติด้วยความหวังดี   ด้วยความเอ็นดู    ด้วย....อะไรดีๆ  หลายอย่าง   อันนี้เดาว่าคนส่วนใหญ่น่าจะยินดีรับ
.
ด้วยภาษาหนังสือ    บางครั้งเรามิอาจทราบได้ว่า   ข้อเขียน   คำติชม   ข้อคิดเห็นทั้งที่ขัดแย้งและเห็นด้วยนั้น   มาแบบจริงใจหรือไม่จริงใจ  (ที่คิดว่าดูออกนั้น   จริงๆ แล้วอาจจะดูผิดก็ได้เนาะ)
.
แต่ถ้าเจ้าของบันทึกหรือผู้อ่าน    คิดซะว่าเจ้าของข้อความนั้นจริงใจ   เท่านี้..ทุกอย่างก็คงจะจบลงอย่าง happy   และสามารถต่อยอดความคิด (บันทึก)  กันไปได้อย่างไม่มีปัญหา (ถ้าเราคิดว่าเค้ามาดี    เราก็จะดีตอบไป)
.
ชอบข้อความนี้ของ อ. ธวัชชัย  มากเลยค่ะ
 "ส่วนใน GotoKnow นั้น สิ่งที่น่ายินดีคือเราได้เห็นสังคมออนไลน์ที่ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย และให้เกียรติความคิดคนอื่นเป็นที่ตั้ง เป็นแนวทางของ Appreciation Inquiry (AI) ที่ไม่พยายามตัดสินผู้อื่นจากพื้นฐานของความคิดของเราครับ"
.
gotoknow  เป็นที่ฝึกให้เราคิดดี  ทำดีค่ะ

       ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น นะครับ "เรื่องของความจริงใจ" สำหรับผมมองว่าทุกคนมีความจริงใจครับ ที่จะเขียนบันทึกลงบน gotoknow และที่สำคัญ ผู้อ่าน ต้องใช้วิจารณญาณ ของตนเองครับว่า จะเลือกอ่านหรือเสาะแสวงหาความรู้แบบไหน จากใคร

      สำหรับผมเองเข้ามาใน gotoknow ด้วยความสมัครใจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สคส. เพราะผมอยู่ในองค์กรเอกชน เมื่อใช้วิจารณญาณของตนเองแล้วว่าเป็นแหล่งความรู้ ก็เลือกเข้ามาหาความรู้ตามที่เราต้องการ ครับ และการเขียนบันทึกก็เป็นการทบทวนกระบวนการทำงานของตนเอง ยิ่งเขียนก็ยิ่งได้เรียนรู้ ยิ่งเห็นช่องทางพัฒนางานของตนเอง และที่สำคัญถ้าผู้อ่านท่านใดเห็นว่าดี มีประโยชน์ก็นำไปใช้ได้ ผมมองว่าเป็นคลังความรู้มากกว่าที่จะมองหาความจริงใจ จากใคร แต่ที่รู้แน่ๆผมรู้ว่าผมจริงใจเท่านั้นครับ  สุดท้ายต้องถามว่า เราต้องการอะไร ก็หาสิ่งนั้นที่สำคัญ แล้วเราจะให้อะไรกับสังคมนี้ ครับ

      สังคม gotoknow ผมมองว่าเป็นสังคมที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมไทยเรานะครับ เป็นสังคมที่เอื้ออาทรกัน แม้ไม่เห็นหน้าเห็นตากัน ก็สามารถแบ่งปันกันได้ นะครับ  

ขอบคุณคุณ nidnoi และคุณ ภูคา ที่มาร่วมแบ่งปันความคิดค่ะ...

เป็นความเห็นที่เน้นน้ำหนักของประเด็นที่ว่า นึกถึงประโยชน์การใช้งานมากกว่าจะมานึกเรื่องจริงใจหรือไม่..และมองว่า สิ่งที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ เหมาะสมและเป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคมไทย ด้วยความเข้าใจสิ่งที่ท่านเขียนไม่ทราบว่าถูกต้องตามที่ท่านทั้งสองให้ความเห็นไหมนะคะ.... ก็คือเข้าใจว่าคงหมายถึงว่า คนอื่นๆที่อยู่นอกบล็อกก็ควรจะทำตัวเหมือนคนที่เป็นสมาชิกของที่นี่ด้วย?? และคุณภูคาก็ยืนยันว่ามีความจริงใจ รวมทั้งตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า จะให้อะไรกับสังคมนี้....

ส่วนที่คุณ nidnoi กล่าวไว้ว่า น้ำตาลมีประโยชน์แต่มากไปไม่ดี...เป็นจุดที่น่าสนใจและบอกให้ทราบว่า จริงๆแล้ว ทุกคนต้องการความจริงใจที่ไม่จำเป็นต้องเคลือบอะไรมากเลย ...คล้ายๆกับที่ ท่านอาจารย์แสวงกล่าวไว้เหมือนๆกัน

เวทีนี้คงยังไม่ปิด...หากมีท่านใดจะเสนอหรือเพิ่มเติมนะคะ ...

 ขอเรียนไว้ตรงนี้นะคะว่า เป็นบทบันทึกที่ทุกท่านได้เปิดโอกาสให้ดิฉันได้เรียนรู้ความคิดความเห็นที่ ตรงไปตรงมา หลากหลายมุมมอง หลายสไตล์ที่น่าสนใจ น่าจะเรียกได้ว่า ทุกความเห็นของท่านเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำว่า "ความจริงใจบน gotoknow.org"...

ขอบคุณค่ะ...

 

เพิ่งได้เข้ามาอ่านบันทึกนี้ ถ้าอาจารย์ไม่แอบกระซิบบอกไว้ ก็อาจจะไม่ได้คลิกเข้ามาอ่านเลย

และต่อให้อาจารย์ไม่ได้แย้มๆบอกเบื้องหลังที่มา แต่พอมาอ่านปั๊บ ก็เข้าใจและพอจะนึกออกคะ ว่าที่มาของบันทึกนี้อยู่ตรงไหน

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับสิ่งที่อาจารย์สรุปให้ไว้ เป็นสิ่งที่ตรงกับใจ k-jira นะคะ

คงไม่มีความเห็นอะไรเพิ่มเติมในเรื่องของ "ความจริงใจ"  แต่อาจจะเพิ่มเติมในเรื่องของชีวิตบนโลกอินเตอร์เนตว่า

โลกใน G2K ก็ไม่ได้ต่างจากสถานที่บนโลกไซเบอร์ทั่วๆไปเลย  แต่สิ่งที่แตกต่าง คือวัฒนธรรมที่เหล่าสมาชิกได้ร่วมกันเข้ามาสร้างไว้ เพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงาม สำหรับสมาชิกรุ่นต่อไปเข้ามาปฏิบัติ

เนื่องเพราะแต่ละท่าน ต่างล้วนเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีคุณวุฒิและวัยวุฒิ ประสบการณ์ ทำให้พื้นฐานความคิด และจิตใจ มีความหนักแน่น เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และเรียนรู้  แตกต่างกับสถานที่บนโลกไซเบอร์อีกหลายแห่ง ที่มีสมาชิกเป็นยุวชน ที่ยังด้อยประสบการณ์และการควบคุมตนเอง

และเพราะที่นี่ มีประชากรที่ดี และมีคุณภาพ จึงช่วยสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กรของที่นี่

สิ่งนี้คือพลังที่ยิ่งใหญ่ค่ะ ที่จะฉุดพาพลังเล็กๆให้พุ่งไปข้างหน้าด้วยกัน และเพราะเป็นพลังที่ดีงาม ทุกๆคนจึงพลอยได้รับสิ่งดีๆนั้นไปด้วย

 

วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละเวบ เป็นได้ทั้งเสน่ห์ที่จะชักชวนคนอื่นๆเข้ามาเป็นแนวร่วม และเป็นได้ทั้งกำแพงอันน่ากลัว ที่จะสะกัดกั้นคนอื่นไม่ให้กล้าเข้ามา ซึ่งถ้าเผลอก้าวเข้าไป ก็จะถูกวัฒนธรรมนั้นกลืนกิน ให้เป็นตามไปด้วย

ตัวอย่างเช่น เวบบอร์ดบางที่ ที่มีแต่คำพูดก้าวร้าว ใครเข้าไปก็จะถูกฉุดดึงให้ก้าวร้าวใส่กัน ใครที่ทนไม่ได้ก็ต้องถอยออกมา

ในขณะที่อีกที่หนึ่ง ทุกคนอยู่กันอย่างสมานฉันท์ พูดจาอย่างมิตร อย่างพี่น้อง ประนีประนอม ใครเข้ามาป่วย ก็จะถูกเมินชา เป็นการ reject ของสังคม  และเพราะพื้นฐานความต้องการของคน คือการได้รับการยอมรับ เขาผู้นั้น ก็จะปฏิบัติ ปรับตัวเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมนั้น

ดังเช่นสำนวนที่ว่า

 

 

ต่อนะคะ... (ตะกี้มันเผลอกดอะไรไม่รู้)

ดังเช่นสำนวนที่ว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล


สำนวนนี้จึงได้รับการพิสูจน์จาก G2K แล้วนั่นเอง

k-jira คิดว่า.. จะจริงใจหรือ เคลือบน้ำตาลเข้ามา นั่นคือ การแรกปฏิบัติตัวเข้าของสมาชิกใหม่  ไม่ใช่สิ่งสำคัญ มันไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่า เขาจริงใจ หรือเสแสร้ง แต่นั่นคือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้  เพื่อการดำรงอยู่ในสังคม ให้สังคมนั่นๆยอมรับเขา

และเพราะวัฒนธรรม ของที่นี่ ที่สมาชิกรุ่นก่อนๆ ช่วยกันสร้างเอาไว้ การอ่อนน้อมถ่อมตัว    การพูดจาคล้อยตาม การเคลือบน้ำตาลในคำพูด ไม่ได้แตกต่างกับ การที่เราไปบ้านใคร ก็ต้องยกมือไหว้ พูดจาดีๆกับเจ้าของบ้าน หรือผู้อยู่ก่อน เมื่อได้มีการเรียนรู้จักกัน ตัวตนจึงค่อยๆเผย

แต่กระนั้น เพราะวัฒนธรรมของสถานที่แห่งนั้น ที่ยอมรับมีมีมารยาท ก็จะหล่อหลอมคนผู้นั้น ให้อยู่ในกติกา

ไม่ทราบยิ่งพูดยิ่งยาว ยิ่งออกนอกเรื่องรึเปล่านะคะ ^^

แต่สรุปก็คือ k-jira อยากจะใช้ วัฒนธรรมขององค์กร มาอธิบายพฤติกรรมทั้งหลายของคนที่มาอยู่ด้วยกัน และพลังที่จะฉุดพาพฤติกรรมของผู้คน ว่าให้ดำเนินไปทางใด

และการที่คนในสังคม จะเรียนรู้กันรวดเร็วแค่ไหน ก็อยู่ที่ทุกคนเปิดใจให้รู้จักกันแค่ไหน  อุปสรรคที่จะมาปิดกั้นตรงนี้ คือ  ความแตกต่าง ยศตำแหน่ง วัยวุฒิ ความเป็นมาของแต่ละคนนั่นเอง

แต่สิ่งนี้ ดูเหมือนจะถูกปัดเป่าให้ผ่อนคลายไปเยอะนะคะ เมื่อมี blog tag เกิดขึ้น

ขอบคุณค่ะ

^___________^

 

มาช้าค่ะ....แต่มาขอทิ้งรอย...บอกให้อาจารย์ทราบค่ะว่ากะปุ๋มมาอ่านด้วยนะ...สำหรับบันทึกนี้..

เดี่ยว..สักครู่...ออกไปวิ่งเพื่อเรียนรู้..."ภายในจิต-ตน" ค่ะ...จะกลับเข้ามาใหม่...ค่ะ

ขอบอกว่า...ชอบบันทึกนี้ค่ะ...อาจารย์คงมีเหตุผล...สำหรับบันทึกนี้...

(^_________^)

กะปุ๋ม

สวัสดีครับอาจารย์

  เพิ่งจะตามเข้ามาอ่านเร่องราวดีๆจากการ link ของท่านอาจารย์หมอมาโนชครับ  จากบันทึกที่อาจจะเกี่ยวกันของอาจารย์หมอฟีนิกส์ครับ

   ขอบคุณอาจารย์ที่เปิดประเด็นนี้และขอบคุณกับบันทึกความเห็นที่ดีๆของอาจารย์ทุกท่านครับ(ไม่ได้ใส่น้ำตาลนะครับ..จากใจจริงๆครับ)

   โดยเฉพาะอาจารย์หมอมาโนช์ครับ  ที่ทำให้ผมไม่พลาดกับบันทึกดีๆเช่นนี้

                                    ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

การชวนมองในมุมแบบนี้  โดยส่วนตัวผมถือ "จริงใจ" นะครับ

ผมไม่กล้ายืนยันสิ่งที่อาจารย์กำลังสงสัยครับ   แต่ขออนุญาตยกเหตุการณ์บางอย่างมา share แทนนะครับ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในต่างประเทศ (ผมอ่านเจอในหนังสือ Social Intelligence) ทดลองโดยใช้นักศึกษาที่ไม่รู้จักกันมาก่อน  เข้าไป chat  กันในอินเตอร์เน็ต   โดยที่นักวิจัยคอยสังเกตพฤติกรรม     พบว่า   มีประเด็นการ (พิมพ์) คุยกันในทาง sex  กันแบบโจ่งครึ่ม  แบบ rate super X  ยกกำลังสอง  กันเลย    แต่พอนักวิจัยเอานักศึกษาเหล่านั้น  มาพบหน้าพบตาให้คุยกับแบบ  F2F   โดยที่เขาไม่รู้ตัวมาก่อนมาคนเหล่านั้นที่เขาเจอเป็นคนที่เขา chat กันมาก่อน   กลับกลายเป็นการคุยที่เปลี่ยนไปครับ

ที่นี้  ผมลองยกเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวเข้ามาสักนิดหนึ่ง  ในสังคม gotoknow    ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง    คือ   เมื่อมีกิจกรรมที่ทำให้ bloggers ใน gotoknow  ได้มาเจอกันแบบตัวเป็นๆ  ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน   แต่ผมสัมผัสได้ถึงความ "เป็นเพื่อน"  ระหว่างกัน  แบบน่ารักๆ   เช่น   เมื่องานมหกรรมฯ ครั้งที่สาม  ที่เพิ่งผ่านไป    อ. Handy   มาด้อมๆมองๆ  แล้วเข้ามาทักทายกับคุณชายขอบ   และคุณชายขอบถามผมว่า  "พี่ธวัช"  รู้จัก blogger ที่ใช้นามว่า Handy  มั๊ย?   ผมบอกว่าไม่รู้จักมาก่อน   คุณชายขอบบอกทันที่ว่า   "คนนี้งัย!"   แล้วก็ได้คุยกัน

ในงานเดียวกัน  blogger อีกท่านหนึ่งเป็นสุภาพสตรี  ที่ผมจำชื่อ blog ท่านไม่ได้    อุตส่าห์พกของที่ระลึกมาให้ blogger อีกท่านหนึ่งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน   แล้วมาเดินหาในงานนี้ 

ล่าสุด  ในงาน  UKM 9  ที่ ม.ขอนแก่น   ผมเห็นปฏิกิริยาอันหนึ่ง คือ  active participate  ของกลุ่ม bloggers ในงานนั้น   ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่เป็นเป็น blogger  จะไม่ active นะครับ   มี active เหมือนกัน   แต่  bloggers  จะแสดงตัวในเรื่องนี้ชัดกว่า   หากมองในมุมอัตราส่วน    อาทิ  อ.ขจิต  ทั้งที่  มอ  ที่อาจารย์สังกัดอยู่  และรมทั้ง มอ ที่เรียนอยู่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิก UKM  แต่อย่างใด   ที่ อ.ขจิต  มาในงานนี้โดยมีคนรู้จักเต็มไปหมด   ราวกับว่ารู้จักกันมานานแล้ว  

ในงาน  UKM  ผมมีโอกาสได้เจอตัวเป็นๆ  "คุณหมอสมบูรณ์"   ได้คุยกันนิดหน่อย   ตอนแรกจำไม่ได้ครับ   เพราะรูปถ่ายนั้นแก่กว่าตัวจริง    blogger หลายคนเข้ามาทักทายกัน  

บรรยากาศอย่างนี้   หากเกิดขึ้นในสังคมมากๆ  โดยเฉพาะในที่ทำงานของเราเอง  มันจะดีมากเลยครับ

 

สวัสดีครับ อ.จันทรรัตน์

เรายังไม่เคยเจอกันมาก่อน อ.มาโนชส่ง link นี้มา เพราะเมื่อวานผมเขียนบทความ "คล้ายๆกัน" มาลง ก็มีหลายส่วนที่ล้อกัน สะท้อนกันได้ดี

มีสอง keywords ในเรื่องนี้ "คำหวาน จริงใจ"

พอแยกเป็นคำแล้ว ปรากฏว่าไม่เกี่ยวกัน ถ้าเรารู้สึกเกี่ยวข้องกัน แปลว่าน่าจะมี "บริบท" มาเสริมแต่ง ดังนั้นถ้าจะเติมสันธานลงไประหว่างคำทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็น "แปลว่า", "อาจจะไม่", "อาจจะ", "คือไม่" ฯลฯ บริบทคงจะต้องเติมไปอีกเยอะๆ แล้วเราพิจารณาว่าอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้น

ที่น่าสนใจประกอบด้วยก็คือ อะไรจะเกิดขึ้น "ถ้าไม่หวาน"

ผมเองจัดกลุ่ม หวาน ไม่หวาน เป็นแค่ "อุบาย" ในการสื่อเท่านั้น ส่วนหนึ่งในสังคมที่เราใช้คำสุภาพ หวานหู รื่นหู นั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดทำให้การสนทนานั้นคงอยู่ได้ยาวนานพอที่จะส่งต่อเนื้อหาได้ โดยไม่แตกดับกันไปเสียก่อน แต่เนื่องจากมันเป็นแค่ "อุบาย" ก็อย่าไปเน้นอุบาย เน้น frill จนกระทั่งเนื้อหามันจมลงไปในลายลูกไม้ประดับวจีกรรมเกินไป บางทีสิ่งประดับเหล่านี้มันเจือจางแก่นใจความจนเสียความ ก็น่าเสียดาย

ผมจะระมัดระวังการมีมารยาท มากไป น้อยไป ว่ามันเป็นแค่นั้น โดยไม่ไปแตะต้องอีกมิติหนึ่ง คือ ความจริงใจ เลยครับ เพราะอันตรายอย่างยิ่ง ทางการแพทย์เราให้เกียรติเรื่อง autonomy มาก เราเกรงว่า preference หรือความชอบของคนๆหนึ่ง อาจจะเป็นอะไรที่เราสนใจได้ แต่ comment หรือไม่? ส่วน judgemental attitude นั้น ต้องหลีกเลี่ยงแน่นอน

 ผมมีญาติครอบครัวหนึ่ง มีสายผู้ดีเก่า (จริงๆ) คำพูดที่บ้านนี้ใช้จะวกวน อลหม่าน แต่ก็เพราะดี ถ้าจะวิจารณ์คงจะบอกแค่ว่าผมพูดได้เร็วกว่า สั้นกว่าประมาณ 2 เท่าแค่นั้น แต่คงไม่สรุปว่าคนที่เน้นความอ่อนหวาน แก่หวาน ของคำพูด การแสดงออก จะแปลเป็นเรื่องความไม่จริงใจ

ความจริงใจคงจะเป็นสิ่งที่ "กำหนด" ไม่ได้กระมังครับ เรามีแค่ "สื่อ" คือตัวหนังสือ ภาษา ไม่มี อวจนภาษามาช่วยเสริม ลำพังการ focus ที่ว่าเนื้อหาใจความมีความหมายที่ลึกซึ้งเพียงไร ก็เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ควรค่าในการพิจารณาอย่างไตร่ตรองอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มการต้องพิสูจน์ การวัด การสงสัยเรื่องความจริงใจอีกมิติหนึ่ง คงจะเป็นงานหนักมากขึ้นทีเดียว แถมยังไม่มีเครื่องมือที่เที่ยงพอจะวัดด้วย

ตามอาจารย์สกลมาอ่าน

ดีใจครับที่อ. จันทรัตน์ สร้างบรรยากาศ การให้ความเห็นอย่างจริงใจ ผมว่าแนวคิดนี้ จะกระเพื่อมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้น

ผมได้แสดงความเห็นเรื่อง การเปิดเผยตนเอง แล้วที่ บันทึกของอาจารย์สกล ที่นี่ ครับ  

 

ดูเหมือนว่าจะทอดทิ้ง ที่จะเข้ามาขอบคุณ ทุกท่าน ที่กรุณาเข้ามาเพิ่มเติม ต่อประเด็น และให้ภาพในมิติ อันหลากหลายนะคะ

ขอขอบคุณ ที่ ทีมผู้ดูแลระบบ มีระบบการแจ้งผ่านอีเมล์ด้วยค่ะ เพราะว่า แวะเข้ามาดูที่ศูนย์ข้อมูล ไม่พบอะไร จนกระทั่งไปเช็ค เมล์ถึงทราบว่ามีหลายท่านมาทิ้งรอยจารึก ไว้

เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน...ไม่มีอะไรคงที่กับความคิดคนค่ะ

ตอนนี้ถามว่า คิดอย่างไรกับบันทึกนี้

คิดว่า ตอนนั้นคิดออกมาได้ไงแฮะ แต่ก็คุ้มกับการที่ได้บันทึก เพราะผลจากบันทึกนี้ทำให้ได้รู้ว่ามีหลายๆ คนที่คิดคล้ายๆกัน แม้จะเขียนอธิบายต่างๆกัน และมีอีกหลายมิติ ที่คนในสังคมจะมองสภาพการณ์หนึ่งๆ

ถ้าย้อนไปอ่านความเห็นของหลายๆท่าน และเข้าไปอ่านประวัติ (ยกเว้นท่านที่ไม่ได้ log in) ก็จะเข้าใจสิ่งที่เป็นไป ณ เวลานั้นๆ ว่าทำไมได้คำตอบเช่นนั้น และถ้าเป็นเวลานี้ที่สภาพการณ์เปลี่ยน ทำไมถึงได้ความเห็นอย่างนี้

นี่คือความสนุกของดิฉันในการเรียนประวัติศาสตร์บนบันทึกค่ะ

ประวัติศาสตร์ของที่ไหนๆ ก็อิงการเมืองเสมอ

มาจนถึงตอนนี้ สภาพการณ์เปลี่ยนไปในระดับที่บันทึกนี้ตกรุ่นไปแล้ว (มั้ง) แต่พอมีหลายๆท่านเข้ามาบันทึกความเห็น ถึงได้เข้าใจว่า บันทึกยังไม่ตกรุ่นซะเลยทีเดียว รอยเกวียนรอยแรกยังมีผู้ที่มองหาได้มองเห็น..แค่นี้ก็ดีใจแล้วค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านและมาให้ความเห็นค่ะ

 

อาจารย์จันทรรัตน์ทราบมั๊ยครับ ว่าผมพบเรื่องนี้ของอาจารย์ครั้งแรกจาก google search ครับ ผมเคยเผอิญเข้าเว็บมาเจอ G2K ครั้งแรกเมื่อปี 49 คิดว่า อืม น่าสนใจดี แต่ก็ไม่ได้มีเวลาศึกษาอะไรมาก มาจนเมื่อช่วงมค.50 ผมหาเรื่องอะไรอยู่ไม่ทราบจาก google แล้วมาเจอเรื่องนี้ของอาจารย์เข้า แบบชื่อสะดุดใจดี เลยอ่านดู วันนั้นว่างพอดี เลยมีเวลาดูให้ทั่วว่าเจ้า G2K มันคืออะไรหว่า ... ทำไมอาจารย์ต้องตั้งข้อสังเกตในเรื่องความจริงใจ  จากนั้นก็ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก แล้วก็ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ดีใจครับที่สมาชิกท่านอื่นๆ เห็นว่าเรื่องนี้่น่าสนใจและน่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมคงไม่มีอะไรมา share มาก เพราะท่านอื่นๆ ได้เขียนถูกใจผมไปหมดแล้ว อยากจะบอกว่าถ้าผมเขียนตอนเข้าใหม่ๆ ก็คงจะอีกแบบ แต่ถ้าตอนนี้ก็คงจะเปลี่ยนไป เหมือนกับที่อาจารย์ว่า "ตอนนั้นคิดออกมาได้ไงแฮะ.."  และก็เป็นบันทึกเส้นทางบน G2K ที่ดีมากชิ้นหนึ่งนะครับ (ปากหวานอีกแล้ว แต่จริงใจนะครับ  ^___^)  

ผมอยากให้สมาชิกเราตั้งประเด็นที่น่าสนใจหรือข้อสังเกตแบบนี้ไม่ว่าจะต่อตัวเอง เพื่อน หรือจากการงาน และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างปัญญาแบบนี้อยู่บ่อยๆ  นอกเหนือไปจากการเล่าเรื่อง และคุยกันทั่วๆ ไป   G2K เราจะได้มีรสชาติเข้มข้นครับ  (เป็นแกงส้มปลาน้ำข้นที่ผมชอบ)

  • แวะมาทักทายด้วยคนค่ะ  เพราะคำถามของอาจารย์เป็นประเด็นที่ทำให้ดิฉันคิดสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น?
  • แบบว่าเข้ามาใช้ G2K ครั้งแรกเพราะรับทำวิจัยเรื่องหนึ่งที่หัวหน้าชุดโครงการเปิดบล็อกให้นักวิจัยทุกคน แล้วบอกว่าให้เขียนรายงานในนี้ (ซึ่งพอเสร็จก็ปิดไปแล้ว)
  • ระหว่างนั้น เห็นว่าเว็บนี้เป็น tool ที่ดี เลยเปิดบล็อกใหม่ เพื่อเขียนบันทึกเป็น e-note รายสะดวกและเก็บรวบรวมงานที่เขียนไว้ เผื่อจะเกิดประโยชน์แก่คนอื่นๆ บ้างเท่านั้น ไม่รู้ว่านี่เรียกการจัดการความรู้หรือเปล่า (ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยคิดจะศึกษาเรื่อง KM จริงจังสักที)
  • ต่อมาก็เห็นว่าระบบนี้ใช้ในการเรียนการสอนได้ก็เลยสั่งนักศึกษาเปิดบล็อกเขียนบันทึกประจำวันประสบการณ์การฝึกงานที่นี่  (เดี๋ยวนี้ย้ายไป Learners แล้วค่ะ)
  • มาถึงทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิมคือเขียนบันทึกเรื่องของตัวเองแบบรายสะดวก และนำงานที่เขียนไว้มาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นแบบรายสะดวกเช่นกัน  และการแสดงความคิดเห็นหรือตอบข้อคิดเห็นก็รายสะดวกด้วย เรียกว่าใช้งาน G2K อยู่เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดอะไรมาก
  • รูปแบบความจริงใจบนG2K แบบไหนที่เคยเจอนั้น ดิฉันตอบไม่ได้ค่ะ เพราะไม่เคยค้นหา และต่อไปก็คงไม่ค้นหา เพราะสิ่งที่ดิฉันสัมผัสจากการเข้ามาเป็นสมาชิกที่นี่คือ มิตรภาพกับความรู้  ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับตัวเอง
  • เวลามีใครมาทักทายก็ดีใจค่ะ ชอบที่มีเพื่อนหลากหลายประสบการณ์ ดิฉันรู้จักอาจารย์ก็ที่นี่ และชอบใจที่ได้เป็น e-friend กับอาจารย์ เช่นเดียวกับที่ได้รู้จักกับ e-friend คนอื่นๆ  เท่านี้ก็มีความสุขดีอยู่
  • แล้วดิฉันควรค้นหาความจริงใจมั๊ยเนี่ย?
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท