ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

จากเวสาลีสู่รัตนโกสินทร์: ประวัติศาสตร์ชาติล่มที่สังคมไทยต้องศึกษา


หมู่คณะใดที่มีความพร้อมเพรียงไม่หวาดระแวงกันและกัน หมู่คณะนั้นย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ อย่าว่าแต่มวลหมู่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์ทั้งหลายก็เช่น หรือแม้แต่กิ่งไม้ที่มัดเป็นกำ ย่อมใช้กำลังหักได้ยาก หมู่คณะที่ไม่สามัคคี ไม่มีความพร้อมเพรียง อย่าหวังว่าจะมีความสุขความเจริญบรรดาความทุกข์และภัยพิบัติทั้งปวง ย่อมไม่เกิดมีหากมีความสามัคคีปรองดองกัน จึงสมควรที่ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นสมาคมหรือหมู่คณะทุกกลุ่ม ต้องใส่ใจคำนึงถึงความสามัคคีเป็นหลัก ที่ไม่มีความสามัคคี ต้องเสริมสร้างให้เกิดมีที่มีอยู่แล้ว ก็ให้มีมากขึ้น ย่อมประสบแต่ความสุขทุกเมื่อ

๑.  บทนำ  

            ในสถานการณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและนำไปสู่ความรุนแรงในหลายมิติ  ซึ่งทำให้สังคมไทย และประเทศไทย “ติดหล่ม” ของความขัดแย้งจนยากที่จะเยียวยา และผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวไปได้อย่างราบรื่น  คำถามที่สำคัญคือ เราจะผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ที่เกิดจาก “หยาดน้ำตา” “เสียงร้องไห้” และ “การห้ำหั่นกันทั้งกายภาพและจิตภาพ” ได้อย่างไร

            ด้วยเหตุนี้ สมควรอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องศึกษา “บทเรียนการล่มสลายของนครเวสาลี” ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยเป็นเมืองที่ปกครองด้วยระบอบ “สามัคคีธรรม” หรือ “ประชาธิปไตย” และมีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย  ความเข้มแข็งดังกล่าวกลับไม่สามารถที่จะทำให้เมืองเวสาลีรอดพ้นจากความล่มสลายได้

            สังคมไทยในฐานะเป็นเมืองที่เรียกขานตัวเองว่า “ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา” และมีพระพุทธศาสนาเป็นภูมิปัญญาสำคัญกว่า ๗๐๐ กว่าปีที่ใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาบ้านเมืองทั้งในแง่ของกายภาพและจิตภาพ  จะเรียนรู้อะไรจาก “ประวัติศาสตร์ชาติล่มของนครเวสาลี”  หรือว่าในท้ายที่สุดแล้ว นครรัตนโกสินทร์อาจจะต้องพบกับความล่มสลายเหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับเมืองเวสาลี 

๒. เวสาลี:ประวัติศาสตร์ชาติล่ม

            สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไม่นานนัก  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงครองราชสมบัติที่นครราชคฤห์ แคว้นมคธ  พระองค์ทรงมีวัสสการพราหมณ์  ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชกิจทั่วไป  ขณะนั้นทรงปรารภจะแผ่พระราชอาณาเขตเข้าไปถึงแคว้นวัชชี  แต่กริ่งเกรงว่ามิอาจเอาชนะได้ด้วยการส่งกองทัพ เข้ารุกราน  เนื่องจากบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมีความสามัคคีสูง และการปกครองอาณาประชาราษฎ์ร ด้วยธรรม อันนำความเจริญเข้มแข็งมาสู่แว่นแคว้น  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์  จึงเห็นแจ้งในอุบายจะเอาชนะด้วยปัญญา
            วันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการ พร้อมพรั่งด้วยเสนาอำมาตย์ชั้น ผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จวาระเรื่องอื่นๆ ลงแล้ว  จึงตรัสในเชิงหารือว่า หากพระองค์จะยกทัพไปปราบ แคว้นวัชชีใครจะเห็นคัดค้านประการใด  วัสสการพราหมณ์ฉวยโอกาสเหมาะกับอุบายตนที่วางไว้ ก็กราบทูลท้วงว่าเห็นทีจะเอาชนะไม่ได้เลย  เพราะกษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนผูกพันเป็นกัลยาณมิตรอย่างมั่นคง มีความ สามารถในการศึกและกล้าหาญ  อีกทั้งโลกจะติเตียน หากฝ่ายมคธจงใจประทุษร้ายรุกราน เมืองอื่น  ขอให้ยับยั้งการทำศึกเอาไว้เพื่อความสงบของประชาราษฎร์

               พระเจ้าอชาตศัตรูทรงแสร้งแสดงพระอาการพิโรธหนัก  ถึงขั้นรับสั่งจะให้ประหารชีวิตเสีย  แต่ทรงเห็นว่าวัสสการพราหมณ์รับราชการมานาน  จึงลดโทษการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ครั้งนั้น  เพียงแค่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัสจนสลบไสล  ถูกโกนหัวประจานและ เนรเทศออกไปจากแคว้นมคธ

               ข่าววัสสการพราหมณ์เดินทางไปถึงนครเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ทราบไปถึงพระกรรณของหมู่กษัตริย์ลิจฉวี  จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานตีกลองสำคัญเรียกประชุมราชสภาว่า ควรจะขับไล่หรือเลี้ยงเอาไว้ดี  ในที่สุดที่ประชุมราชสภาลงมติให้นำเข้าเฝ้าเพื่อหยั่งท่าทีและฟังคารมก่อน แต่หลังจากกษัตริย์ลิจฉวีทรงซักไซ้ไล่เลียงด้วยประการต่างๆ ก็หลงกลวัสสการพราหมณ์  ทรงรับไว้ทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาคดีและตั้งเป็นครูฝึกสอนศิลปวิทยาแก่ ราชกุมารของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีด้วย  จากนั้นต่อมา  พราหมณ์เฒ่าก็ทำที่ปฎิบัติงานในหน้าที่อย่างดี ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง จนหมู่กษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย

               แผนการทำลายความสามัคคีได้เริ่มจากวัสสการพราหมณ์ใช้กลอุบายให้บรรดาราชโอรสกษัตริย์ลิจฉวีระแวงกัน  โดยแกล้งเชิญแต่ละองค์ไปพบเป็นการส่วนตัว  แล้วถามปัญหาธรรมดาที่รู้ๆ  กันอยู่  เมื่อองค์อื่นซักเรื่องราวว่าสนทนาอะไรกับอาจารย์บ้าง  แม้ราชกุมารองค์นั้นจะตอบความจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ ก่อให้เกิดความระแวงและแตกร้าวในบรรดาราชกุมาร  กระทั่งลุกลามไปสู่กษัตริย์ลิจฉวี ผู้เป้นพระราชบิดาทุกองค์  ทำให้ความสามัคคีค่อยๆ เสื่อมลง  จนกระทั่งไม่เข้าร่วมประชุมราชสภา  หรือได้ยินเสียงกลองก็ไม่สนใจประชุม  เมื่อมาถึงขั้นนี้วัสสการพราหรณ์จึงลอบส่งข่าวไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาตีแคว้นวัชชี

              พระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งแคว้นนคร ยาตราทัพถึงเมืองเวสาลี พระองค์ทรงสังเกตและทรงพินิจพิจารณาเห็นว่าในขณะที่ข้าศึกรุกประชิดถึงเมืองเวสาลี เสมือนหนึ่งไม่สนใจใยดีต่อข้าศึกศัตรู ไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ ไม่คิดจะต่อสู้ขัดขวางป้องกันภัย สงบเงียบ ไม่ทำอะไรเลย คล้าย ๆ เมืองร้าง  พระองค์มั่นพระทัยว่า ท่านวัสสการพราหมณ์ได้ดำเนินการตามกลอุบายได้สำเร็จ กษัตริย์ลิจฉวีผู้ครองเมืองเวสาลีได้แตกแยกความสามัคคีกันแล้ว ถึงคราวที่จะต้องพบภัยพิบัติมหาศาล เหมือนเด็ก ๆ หมุนลูกข่างเล่นอย่างสนุกสนาน สามารถหมุนลูกข่างไปในทิศทางที่ตนต้องการ ท่านครูวัสสการได้ยุแหย่อย่างแยบยลขึ้น ทำให้กษัตริย์เมืองเวสลีแตกร้าวความสามัคคีไม่เหลือหลอ

            เมื่อพระองค์ทรงไตร่ตรองทุกอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงทรงสั่งการให้แม่ทัพนายกองทหารกล้าทั้งหลาย รีบสร้างแพไม้ไผ่ เพื่อนำกองทัพข้ามแม่น้ำเข้าสู่เมือง เหล่าแม่ทัพรับคำสั่ง ระดมสร้างแพเสร็จตอนรุ่งเช้าพอดี พระองค์ทรงยกทัพใหญ่ข้ามแม่น้ำโดยแพไม้ไผ่จนหมด กรีฑาทัพเข้าเมืองเวสาลีอย่างสะดวกสบาย

            ชาวเมืองเวสาลีเห็นเหล่าศัตรูข้ามแม่น้ำมามากมาย มุ่งหมายถล่มเมืองของตน ต่างตระหนกตกใจ วิ่งหนีกันจาระหวั่น ทั่วทั้งเมืองเกิดจลาจล เสียงผู้คนดังวุ่นวายสับสน เหล่ามุขมนตรี (ที่ปรึกษาของพระราชา) ต่างตรอมใจเมื่อเห็นภัยมาถึงเมือง บางคณะก็ไม่ใส่ใจ บอกไม่เป็นไรหรอกแค่นี้ แต่บางท่านก็บอกว่าน่าจะรักษาประตูเมืองให้แข่งขัน ต่อต้านศัตรูไว้ก่อน แล้วประชุมสภามุขมนตรีขอพระบรมราชโองการ พระราชาทรงดำริอย่างไร ก็จะได้ปฏิบัติตาม เหล่าเสนาอามาตย์จึงตีกลองเรียกประชุมสนั่นปานประหนึ่งกลองจะพัง

            เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี เมื่อได้ฟังเสียงกลองเรียกประชุม ต่างก็นิ่งเฉยไม่สนใจ เหมือนไม่มีความกังวลใด ๆ ไม่ยอมไปที่สภาประตูเมืองทุกด้านปิดเงียบ พระเจ้าอชาตศัตรูจอมทัพแคว้นมคธ ทรงยกทัพเข้าเมืองเวสาลีด้านประตูที่เปิด ไม่มีผู้ใดต่อสู้ขัดขวาง ขณะนั้นท่านครูวัสสการได้นำทัพของเจ้าเมืองมคธเข้าปราบกษัตริย์ลิจฉวี ยึดครองเมือง    เวสาลี โดยไม่เสียกำลังพลแต่อย่างใด

 

๓. สังคมไทยได้บทเรียนอะไรจากความล่มสลายของเมืองเวสาลี

         ๓.๑ สามัคคีธรรมไม่มา พาสังคมไทยล่มจม
                การที่พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าครอบครองเมืองของกษัตริย์ลิจฉวี อย่างง่ายดายและการที่บรรดากษัตริย์ลิจฉวีประสบกับความพินาศอย่างยับเยิน ก็เพราะแตกสามัคคี เพราะทิฏฐิมานะและเพราะความโกรธขาดความสมัครสมานปรองดอง ไม่ไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ หลงเชื่อง่าย ไม่หาข้อมูลข้อเท็จจริง จึงทำให้เกิดความเสื่อม เศร้าโศก สูญเสียผืนแผ่นดิน เสื่อมสิ้นชื่อเสียงเกียรติคุณ สมควรยกย่องครูวัสสการพรามหมณ์ ผู้ใช้อุบายในการกระทำให้กษัตริย์ลิจฉวี แตกแยกความสามัคคี จนได้ชัยชนะ บรรดานักปราชญ์ต่างยกย่องสรรเสริญความรักสามัคคีในหมู่คณะ ว่าทำให้เกิดผลดีไม่เสื่อมคลาย

              ฉะนั้น ผู้มุ่งหวังความเจริญ จึงต้องมีความพร้อมเพรียงในการทำงาน ผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าต้องเอาธุระทั้งของตนและของหมู่คณะ ไม่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน รักษาน้ำใจของผู้อื่น ๆ ไม่ถือทิฏฐิมานะ รู้จักข่มจิตข่มใจ เอื้ออารีทุกงาน ยึดมั่นความยุติธรรม แบ่งปันผลประโยชน์อย่างโปร่งใสยุติธรรม ไม่อิจฉาริษยามีน้ำใจไมตรี

               หมู่คณะใดที่มีความพร้อมเพรียงไม่หวาดระแวงกันและกัน หมู่คณะนั้นย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ อย่าว่าแต่มวลหมู่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์ทั้งหลายก็เช่น หรือแม้แต่กิ่งไม้ที่มัดเป็นกำ ย่อมใช้กำลังหักได้ยาก   หมู่คณะที่ไม่สามัคคี ไม่มีความพร้อมเพรียง อย่าหวังว่าจะมีความสุขความเจริญบรรดาความทุกข์และภัยพิบัติทั้งปวง ย่อมไม่เกิดมีหากมีความสามัคคีปรองดองกัน  จึงสมควรที่ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นสมาคมหรือหมู่คณะทุกกลุ่ม ต้องใส่ใจคำนึงถึงความสามัคคีเป็นหลัก ที่ไม่มีความสามัคคี ต้องเสริมสร้างให้เกิดมีที่มีอยู่แล้ว ก็ให้มีมากขึ้น ย่อมประสบแต่ความสุขทุกเมื่อ

       ๓.๒ ปริหานิยธรรม นำไทยพบสันติสุข

              วัสสการพราหมณ์ได้อาศัย “ช่องทาง” จากการตีความหลัก “อปริหานิยธรรม” ไปเป็นคู่มือในการทำศึกสงครามแบบ “ใต้ดิน” กับเจ้าลิจฉวี  จนทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับชัยชนะในที่สุด ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ  จุดแข็งของเจ้าลิจฉวีก็คือ “อปริหานิยธรรม” และจุดอ่อนของเจ้าลิจฉวีก็เป็นหลักการนี้เช่นเดียวกัน  จะพบว่าในช่วงเวลาหนึ่งหลักการนี้เป็น “จุดแข็ง”  แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง หลักการนี้กลับทำให้วัสสการพราหมณ์พบ “จุดอ่อน”

                “อปริหานิยธรรม” หมายถึง “ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความเจริญโดยส่วนเดียว  ไม่มีเสื่อม”[1]  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่เจ้าลิจฉวี มี  ๗  ข้อ กล่าวคือ[2]

                (๑) หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์ ประชุมกันบ่อยๆ

                (๒) เมื่อจะประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่ควรจะช่วยกัน ไม่บัญญัติ

                (๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ  ไม่ลบล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่ว่างไว้ตามเดิม[3]

                (๔) สักการะ เคารพ นับถือผู้ใหญ่ในชุมชน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากท่านเหล่านั้น

                (๕) ไม่ข่มเหง ไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารี

                (๖) สักการะ เคารพ นับถือ  บูชาเจดีย์ทั้งในเมือง และนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป

                (๗) จัดการ รักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า “ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มี พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา และท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”

                จากหลักการทั้ง ๗ ข้อนั้น พระองค์ทรงย้ำว่า “ตราบใดที่เจ้าลิจฉวีดำรงตนอยู่ในอปริหานิยธรรม  ตราบนั้น เจ้าลิจฉวีจะพานพบความเจริญแต่ประการเดียวเท่านั้นโดยไม่พบคำว่าเสื่อม” สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากนำเสนอหลักการนี้แก่เจ้าลิจฉวีแล้ว  พระองค์ได้มองเห็นความสำคัญของชุดความคิดดังกล่าว  จึงทรงย้ำเตือนให้พระภิกษุประพฤติ และปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน[4]

                กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม (Participation)โดยการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันทั้งก่อนการประชุม ขณะประชุม และหลังประชุมให้พร้อมเพรียงกัน  การทำในลักษณะนี้ทำให้กระบวนการนำเสนอปัญหา สาเหตุของปัญหา และแสวงหาทางออกของปัญหาได้อย่างครบวงจรและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดเชิงรุกนี้สอดรับกับแนวคิดสมัยปัจจุบันที่เกี่ยวกับ “หลักเสวนาประชาชน” หรือ “สานเสวนา” (Citizen’s Dialogue)

                นอกจากนั้น การพยายามรักษาสิ่งที่ดีและมีคุณค่าในสังคม ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของท้องถิ่นอันเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”  หรือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน”  การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งการให้เกียรติและเคารพ “เกียรติภูมิ” และ “ภูมิปัญญาดั้งเดิม” เอาไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเคารพโดยผ่านบุคคลที่ถือได้ว่าเป็น “ผู้นำทางภูมิปัญญาท้องถิ่น”  โดยการเคารพและให้เกียรติ    “ผู้อาวุโส” ที่ทำหน้าที่ในการแนะนำสิ่งที่ดีและมีคุณค่าต่อ “อนุชน” รุ่นหลัง รวมไปถึงการพยายามที่จะให้เกียรติต่อ “สตรี” ที่เป็นเพศซึ่ง “อ่อนกำลังเชิงกายภาพ” โดยไม่แสดงออกซึ่งความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม แนวทางนี้สอดรับกับหลักการที่ว่า “ฟ้าสูงอย่าหมิ่น ดินต่ำอย่าข่ม”

                สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความพยายามรักษา “คนดี” และ “มีศีลธรรม” เอาไว้ไม่ให้ “คนชั่วรังแก”  ซึ่งการปกป้อง ผดุงรักษาคนเหล่านั้นย่อมถือว่า เป็นการรักษา “ภูมิปัญญา” ที่สำคัญของชาติเอาไว้ เพราะท่านเหล่านั้นเปรียบประดุจ “ธนาคารแห่งความคิด” หรือ “คลังสมอง” ของชาติและสังคม ซึ่งเป็นแนวทางในการ “ขจัดพาล ภิบาลบัณฑิต”

 

 


                      [1] อปริหานิยธรรมมี ๒ ประเภท คือ ราชอปริหานิยธรรม และภิกขุอปริหานิยธรรม  ที.ม.อ. ๒/๑๓๔-๑๓๖/๑๖๖-๑๒๘.

                      [2] อง.สตฺตก. (ไทย) ๒๐/๑๙/๓๑-๓๒. ดูเทียบใน ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๔/๖๖-๖๘.

                      [3] “วัชชีธรรมที่วางไว้ตามเดิม” หมายถึง “ประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร  ผู้จับจะไม่สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน  ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิดก็ปล่อยตัวไป  ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไปตามลำดับชั้น  บางกรณีอาจจะส่งถึงเสนาบดี  บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย  ที.ม.อ. ๒/๑๓๔/๑๑๘.

                      [4] อง.สตฺตก. (ไทย) ๒๐/๒๓/๓๗-๓๘. ดูเทียบใน ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๖-๑๔๐/๖๙-๗๒.

หมายเลขบันทึก: 299110เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 05:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

นมัสการพระคุณเจ้า

เรื่องราวของวัสสการพราหมณ์ เป็นอีกเรื่องที่ดิฉันสนใจเจ้าค่ะ วางแผนไว้ว่าจะเขียนอยู่ ถึงการกล่าวตู่พระพุทธองค์ที่ว่า ทรงแนะอุบายให้พราหมณ์จนเป็นเหตุให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแตกคอกัน ทั้งๆที่ทรงให้ความสำคัญกับธรรมนี้มาก

มีผู้กล่าวว่า เพราะเอาจิตปุถุชน ไปวัดพระอรหันต์ จึงได้รับการสั่งสอนอย่างนั้น ดิฉันเห็นด้วยเจ้าค่ะ

อยากให้เสื้อสารพัดสี ผู้มีหน้าที่ ได้เข้ามาอ่าน และตรองตามเนื้อความในบันทึกพระคุณเจ้าจังเจ้าค่ะ

กราบนมัสการลา

เจริญพร โยมณัฐรดา

ขอบใจมากที่ได้กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนอีกครั้ง พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นเอาไว้ อาตมาส่งบทความนี้ไปลงตีพิมพ์เอกสารการสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้าเดือนหน้า หวังว่าหลายท่านจะมีโอกาสได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

นมัสการพระคุณเจ้าอีกครั้ง

"อาตมาส่งบทความนี้ไปลงตีพิมพ์เอกสารการสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้าเดือนหน้า หวังว่าหลายท่านจะมีโอกาสได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนกัน"

หวังอย่างนั้นเช่นกันเจ้าค่ะ

โยม ณัฐรดา

ขอให้มีความสุข สงบเย็น เป็นสันติสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ ที่ได้สละเวลาแวะชมข้อเขียนใน oknation และได้เมตตาให้ความเห็นอันเป็นกำลังใจไว้ในบันทึก ศาสนาอิสลามสอนอะไร

สำหรับบันทึกศาสนาอิสลามสอนอะไรนี้ เป็นการคัดลอกหนังสือที่สมเด็จย่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เขียนและจัดพิมพ์ขึ้น เพราะพระกรุณาโดยแท้เจ้าค่ะ ทำให้หลายๆคน รวมทั้งดิฉันด้วย มองศาสนาอิสลามและพี่น้องไทยมุสลิมในด้านที่ถูกต้องขึ้น

ดิฉันมองว่า การมองศาสนา และศาสนิกชนในแง่ดีดี เป็นสิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเจ้าค่ะ

กราบนมัสการลา

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากที่สระเวลาเขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์ให้สมาชิกใน gotoknow ได้ศึกษาหาความรู้และอยากให้พระคุณเจ้าได้หาวิธีการนั้งสมาธิที่สงบให้ด้วยเจ้าค่ะ กราบนัสการ

เจริญพร โยมเรียม

ขอบใจมากที่แวะมาเยี่ยมและนำเสนอประเด็นที่ต้องการจะให้เล่าเพิ่มเติม รับรองพระไม่ขัดศรัทธาแน่นอน

นมัสการพระคุณเจ้า

ขออนุญาติลิ้งค์บันทึกนี้ กับบันทึก การกล่าวตู่พระพุทธองค์เรื่องวัสสการพราหรมณ์ นะเจ้าคะ

โยม ณัฐรดา

ด้วยความยินดี และเต็มใจ หวังว่า สองเรื่องนี้ จะทำให้เราเห็นภาพของวัสสการพราหมณ์มากยิ่งขึ้น เจริญพรเพิ่มเติมว่า พราหมณ์ท่านนี้น่าจะมิใช่ชาวพุทธ ข้อสังเกตคือ จะเรียกพระพุทธเจ้าว่า โภ โคตม (ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ) แต่โดยปกติทั่วไปชาวพุทธในสมัยนั้น จะเรียกพระพุทธเจ้าว่า ภันเต ประเด็นนี้ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปกได้ตั้งข้อสังเกตเอาเช่นเดียวกัน

ขอบพระคุณเจ้าค่ะพระคุณเจ้า

และเมื่อเสริมข้อมูลยุทโธปกรณ์ของทั้งสองฝ่าย ยิ่งทำให้เห็นภาพพระกรุณาของพระพุทธองค์มากขึ้นนะเจ้าคะ

นมัสการพระคุณเจ้า

.

คุณกลมกลืนเค้าโพสต์ในบอร์ดขององค์การสวนพฤกษศาสตร์เจ้าค่ะ ถึงเรื่องวัสสการพราหมณ์นำธรรมทั้ง 7 ข้อ กลับมาทูลพระเจ้าอชาตศัตรู จนพระเจ้าอชาติศัตรูตรัสว่า "เพียงข้อหนึ่งข้อใด วัชชีก็ไม่มีเสื่อม ไม่มีทางหักหาญได้...... จะกล่าวไปไยถึง 7 ข้อ"

.

เลยเอา URL บันทึกนี้ไปแปะไว้ต่อท้ายเจ้าค่ะ

<h4 style="font-size: 1em;">อปริหานิยธรรม๗ (เวอร์ชั่นสรุปเป็นคำคล้องจอง)</h4>

<h4 style="font-size: 1em;"><strong>&ldquo;</strong>หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์<strong>&nbsp;</strong>พร้อมทำกิจไม่เกี่ยงก่อนหลัง<span style="font-weight: 800;">&nbsp;</span>ตั้งมั่นหลักการไม่หาญหัก<strong>&nbsp;</strong>เคารพรักนักปราชญ์ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่<strong>&nbsp;</strong>คุ้มกันภัยมวลหมู่ไม่ให้หวาดหวั่น&nbsp;เคารพในชาติ ศาส-กษัตริย์ ศูนย์รวมใจ<strong>&nbsp;</strong>&nbsp;สั่งสมและส่งเสริมให้พระดี คนดี มีกำลังนำสังคม<strong>&rdquo;</strong></h4>

<h4 style="font-size: 1em;">&nbsp;* หากมีผู้ต้องการคัดลอกไปเผยแผ่ ควรระบุว่าเป็นเวอร์ชั่น สรุปเป็นคำคล้องจองด้วย มิฉะนั้นจะมีส่วนทำให้ธรรมเคลื่อนไป</h4>

นมัสการพระคุณเจ้า  P  ธรรมหรรษา

ดิฉันได้เข้ามาศึกษา "จากเวสาลีสู่รัตนโกสินทร์: ประวัติศาสตร์ชาติล่มที่สังคมไทยต้องศึกษา" แล้ว  เป็นประโยชน์ต่อดิฉันในฐานะผู้สอนวิชาภาษาไทย เรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นอย่างยิ่ง  เหตุผลที่ดิฉันศึกษาเรื่องนี้เป็นเพราะวรรณคดีเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เป็นวรรณคดีที่แต่งได้ดีและมีข้อคิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้  ในบทเรียนตัดตอนมาให้เรียนเพียงบางส่วน  ซึ่งทำให้ขาดอรรถรสไปอย่างน่าเสียดาย  ดิฉันจึงเขียนบันทึกเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม  เมื่อบันทึกเรื่อง "ศึกษาวรรณคดี สามัคคีเภทคำฉันท์"สมบูรณ์แล้ว ดิฉันตั้งใจว่าจะศึกษาเรื่องอื่น ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เรียนต่อไปค่ะ 

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ท่านตั้งหัวข้อและเนื้อหาได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท