การกล่าวตู่พระพุทธองค์เรื่องวัสสการพราหมณ์


การกล่าวตู่พระพุทธองค์ว่าทรงเป็นผู้ออกอุบายให้วัสสการพราหมณ์ในการทำสงครามกับกษัตริย์ลิจฉวี

สมัยเด็กๆเคยมีผู้เล่าให้ฟังว่า วัสสการพรามหณ์ มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามว่าทำอย่างไรจึงจะโค่นล้มแคว้นวัชชีซึ่งปกครองโดยเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีได้ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าต้องทำให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคีเสียก่อน วัสสการพราหมณ์จึงไปดำเนินอุบายตามนั้นจนสำเร็จ ตอนนั้นยังสงสัยค่ะ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสแนะนำอย่างนั้น

จนได้มาศึกษาในเวลาต่อมา (จากนั้นนานนับสิบๆปี) จึงได้เข้าใจ แท้จริงแล้ว ดิฉันเข้าใจผิดมาเสียนาน และพระพุทธองค์ก็ถูกกล่าวตู่จนเสียหายมาเสียนานแล้ว

ขอบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นไว้หน่อยนะคะ เพราะจะทำให้เราจะมองภาพออกว่าทรงมีพระเมตตาต่อหมู่สัตว์ มากกว่าที่จะปรารถนาให้เกิดภัยพิบัติ

แคว้นมคธ ปกครองโดยกษัตริย์ ขณะนั้นกษัตริย์ผู้ครองแคว้นคือ พระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งอยู่ตรงข้ามกับแคว้นวัชชีโดยมีแม่น้ำคงคาเป็นพรมแดนระหว่างสองแคว้น

pic

ในสมัยนั้น บางรัฐในชมพูทวีปมีการปกครองในระบบสภากษัตริย์ หรือสามัคคีธรรม คือชนในวรรณกษัตริย์ทั้งหลายพระองค์ร่วมกันเป็นคณะราชย์ปกครองเมือง หรือรัฐร่วมกัน ซึ่งลักษณะการปกครองแบบนี้ ในสมัยพุทธกาลมีอยู่ ๓ รัฐ ด้วยกันคือ

๑. แคว้นวัชชี ปกครองโดย เจ้าลิจวี มีกรุงไพศาลี หรือเวสาลีเป็นเมืองหลวง

๒. แคว้นมัลละ ปกครองโดย มัลลกษัตริย์ มีกรุงกุสินาราเป็นเมืองหลวง

๓. แคว้นสักกะ ปกครองโดย ศากยราช มีกรุงกบิลพัสด์เป็นเมืองหลวง

เหตุที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงคิดรุกรานแคว้นวัชชี เพราะมีพระประสงค์จะขยายอาณาเขตอันเป็นการสานต่อปณิธานของพระเจ้าพิมพิสาร (พระบิดา) อย่างหนึ่ง และเพราะความไม่พอพระทัยเกี่ยวกับหมู่บ้านปัฏฏนคาม อีกอย่างหนึ่ง

หมู่บ้านปัฏฏนคามมีดินแดนอยู่ในอำนาจการปกครองของมคธกึ่งหนึ่ง เป็นของวัชชีกึ่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านนี้มีคันธชาติ (พวกไม้หอม)ที่มีค่ามากมายไหลตามน้ำมาจากเชิงเขา กษัตริย์ลิจฉวีมักจะให้คนมาเก็บตัดหน้าพระเจ้าอชาตศัตรูอยู่เสมอ พระองค์จึงกริ้วค่ะที่ผลประโยชน์ของมคธตกเป็นของวัชชีทั้งที่มีสิทธิเสมอกัน จึงประกาศสงครามกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

พระเจ้าอชาตศัตรูเอง ก็ทราบดีว่าการศึกกับวัชชีไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งนี้นอกจากเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจะสมัครสมานสามัคคีกันแล้ว กองทัพของวัชชียังมีชื่อในด้านการยิงธนู และหัตถิศิลปะ คือการใช้ช้างทำศึก

จึงทรงมาสร้างหมู่บ้านปาฏลีคามที่อยู่ตรงข้ามกับวัชชีให้เป็นเมืองหน้าด่าน มีป้อมปราการมั่นคง ทรงส่งมหาอำมาตย์ทั้งสองคือวัสสการพราหมณ์ และสุนีธพราหมณ์มาคุมทหารมาทำการก่อสร้าง เพื่อปรับปรุงสถานที่ จากหมู่บ้านเล็กๆให้กลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เป็นรัฐกันชนระหว่างมคธกับวัชชี และเป็นที่รวมพลพร้อมทั้งยุทธปัจจัย ทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโปกรณ์จะถูกลำเลียงมาพักไว้ ณ ที่นี้ เพื่อที่ว่าในเวลาที่พระเจ้าอชาตศัตรูประกาศสงครามกับพวกสมาพันธรัฐลิจฉวี จะได้เคลื่อนกำลังพลได้สะดวก

ขณะที่วัสสการพราหมณ์กำลังเกณฑ์ไพร่พล ทำการก่อสร้างหมู่บ้านปาฏลีคามให้เป็นเมืองหน้าด่านอยู่นั้น พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็เสด็จผ่านมา ( บางที่ว่าทรงแสวงหาสถานที่ที่จะปรินิพพาน) เพื่อจะข้ามฟากไปวัชชีที่อยู่ตรงข้าม วัสสการพราหมณ์จึงรับเสด็จ และนิมนต์ให้พระองค์ทรงรับภัตตาหารพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตาม

พราหมณ์ได้ทูลถามหยั่งเชิงดูถึงพระนครไพศาลีอันเป็นเมืองหลวงของวัชชีว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าทรงพยากรณ์ออกมาเป็นอย่างไร ก็จะมีผลต่อการทำสงครามระหว่างมคธกับวัชชีที่กำลังจะมาถึง พระองค์ไม่ตรัสพยากรณ์ตรงๆ แต่กลับหันไปถามพระอานนท์ว่า

อานนท์ ปัจจุบันนี้ชาววัชชียังประพฤติอปิหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ (กรุณาอ่านในบันทึก " จากเวสาลีถึงรัตนโกสินทร์ ประวัติศาสตร์ชาติล่มที่สังคมไทยต้องศึกษา"ของพระคุณเจ้าMCUKMค่ะ)

พระอานนท์ทูลตอบว่า ยังประพฤติกันดีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า

ตรัสต่อไปว่า หมู่คณะใดประพฤติอปริหานิยธรรมเป็นอันดี โดยชอบให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทแล้ว หมู่คณะนั้นพึงหวังได้แต่ความเจริญเพียงฝ่ายเดียว

การตรัสของพระองค์ บางคนมองว่าทรงแนะอุบายทำศึกให้พราหมณ์

วัสสการพราหมณ์ฟังแล้วก็รู้ได้ด้วยปัญญาทีเดียวค่ะ ว่าการทำสงครามกับแคว้นวัชชี คงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะเอาชนะได้ เว้นไว้แต่จะใช้วิธียุยงให้พวกวัชชีแตกความสามัคคีกันเสียก่อน

ในยามที่พระพุทธองค์จะเสด็จออกจากปาฏลีคามเพื่อข้ามฟากไปวัชชี มหาอำมาตย์ทั้งสองได้ส่งเสด็จ และคอยตามดูว่าจะทรงผ่านออกไปทางเส้นทางใด เพื่อจะตั้งชื่อทางนั้นให้เป็นมงคล เช่นเมื่อพระองค์เสด็จออกประตูกนึ่ง ก็ตั้งชื่อประตูนั้นว่า โคตมทวาร (ประตูที่พุทธโคดมเสด็จผ่าน) ส่วนท่าน้ำที่พระองค์เสด็จมาเพื่อข้ามฝั่ง ก็ตั้งชื่อว่า โคตรมติตถะ (ท่าน้ำที่พุทธโคดมเสด็จข้าม) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงฐานะอันสูงส่งของพระพุทธองค์ในสมัยนั้น

หลังจากที่ได้ทูลถามพระพุทธองค์แล้ว วัสสการพราหมณ์ ยังคงเป็นผู้คุมกำลังทหารก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ อันเป็นการป้องกันแคว้นต่อไปอีกถึงหนึ่งปี

ต่อมา จึงวางแผนกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทำทีเป็นคัดค้านพระเจ้าอชาตศัตรูในการทำสงครามกับวัชชี ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำทีเป็นโกรธ ให้ลงโทษด้วยการโบยหลัง (บางที่ว่าโกนศีรษะ) แล้วเอาตัวไปขังไว้ จากนั้นพราหมณ์ก็ทำเสมือนหนึ่งว่าหนีจากที่ขุมขังได้ (แต่บางที่ว่าถูกเนรเทษ) แล้วไปขอสวามิภักดิ์กับเหล่ากษัตรย์ลิจฉวี

และยุยงให้แตกสามัคคีกัน

เวลาผ่านไปประมาณสองปีแผนการณ์ก็สำเร็จ วัสสการพราหมณ์จึงส่งสัญญาณให้พระเจ้าอชาตศัตรูกรีฑาทัพบุกแคว้นวัชชีทันที ผลก็เป็นไปตามที่วางแผนไว้ค่ะ คือมคธเป็นฝ่ายชนะ

เหตุที่มคธเป็นฝ่ายชนะ นอกจากจะเพราะอุบายของวัสสการพราหมณ์แล้ว ยังเพราะมคธเอง ก็พัฒนากองทัพตนจนเข้มแข็งเป็นอย่างมาก มีการสร้างยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพมากขึ้น 2 ชนิด คือ มหาศิลากัณฏกะ และ รถมุศาละ

มหาศิลากัณฏกะ เป็นเครื่องติดตั้งคันยิงขนาดใหญ่สำหรับดีดก้อนศิลาที่มีน้ำหนักมากเข้าใส่ศัตรู ส่วนรถม้ามุศาละ เป็นรถศึกที่ติดตั้งมีดหรือสิ่งมัคมตรงบริเวณด้านล่างของสารถี เมื่อรถแล่นไป ของคมเหล่านั้นทำหน้าที่ห้ำหั่นศัตรู เพราะอาวุธอันทรงพลังทั้งสองนี้เอง วัชชีจึงถึงกับแหลกลาญ

คงมองภาพออกแล้วนะคะ ไม่ว่าพระพุทธองค์จะตรัสอย่างไร การศึกระหว่างสองแคว้นก็เกิดขึ้นอยู่ดี

ต่อการที่มีผู้กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงชี้แนะช่องทางให้กับวัสสการพราหมณ์นั้น เป็นเพราะใช้ความเป็นปุถุชนไปคะเนน้ำพระทัยของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ ขึ้นชื่อว่าพระอรหันต์แล้ว ย่อมไม่ยินดีให้หมู่สัตว์ประสบรับภัยพิบัติ ท่าทีต่อเรื่องนี้ของพระองค์จึงมีในลักษณะทัดทานว่าอย่าทำเลยเสียมากกว่า แต่ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นเสนาธิการทหารของวัสสการพราหมณ์จึงทำให้ดำริไปเช่นนั้น

และเมื่อดูจากลำดับเวลาจาริกในช่วงพรรษาสุดท้ายของพระองค์ น่าจะยืนยันความเมตตาที่ทรงมีต่อชาววัชชีได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากที่ทรงข้ามฟากไปวัชชีแล้ว ได้ทรงจำพรรษาที่ 45 อันเป็นพรรษาสุดท้ายที่นั่น หลังจากออกพรรษาได้เสด็จไปกรุงสาวัตถี ทรงทราบข่าวการนิพพานของพระสารีบุตรที่เมืองนี้เอง เสด็จต่อไปกรุงราชถฤห์ และทราบข่าวการนิพพานของพระโมคคัลลานะ จากนั้นเสด็จกลับไปที่เวสาลีอีกครั้ง ไปประทับที่ป่ามหาวัน และต่อมา จึงทรงปลงอายุสังขาร ทรงดำเนินด้วยพระบาทนาน 3 เดือนเพื่อไปปรินิพพาน

ในคัมภีร์ อ.อํ. สตฺต ภ๗/๖๐ มีข้อความกล่าวว่า การที่พระองค์ตรัสแนะไปเช่นนั้น เพราะดำริในพระทัยว่า

แม้เมื่อเราไม่กล่าว เพียง ๒ ๓ วันเท่านั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็จักเสด็จไปจับเจ้าวัชชีไว้ทั้งหมด แต่ครั้นเรากล่าวแล้ว อชาตศัตรูต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ ปี จึงจะทำลายพวกลิจฉวีผู้สามัคคีได้ การมีชีวิตอยู่แม้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าประเสริฐ

พระดำรินี้เป็นอรรถกถาวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ก็ตาม พระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ย่อมไม่ยินดี และไม่มีส่วนแห่งการสงคราม คงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่พระผู้ทรงมีพระเมตตาตราบวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ จะถูกตู่กล่าวหาว่าเป็นผู้ออกอุบายในการทำสงคราม จนเป็นเหตุให้สัตว์โลกต้องถึงแก่สิ้นชีวิต

..................................................

อ้างอิง

นวองคุลี เหตุเกิดหลังพุทธปรินิพพาน วัดสุวรรณประสิทธ์ คลองกุ่ม กรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๔๘

วรศักดิ์ มหัทธโนบล คอลัมน์เงาตะวันออก นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 29 ฉบับ1508 1510

มนต์ ทองชัช 4ศาสนาสำคัญของโลก สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 860-862 วังบูรพา กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 299714เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาน้อมรับความรู้ค่ะ

มาชม

เมืองเก่าที่มีอยู่ในแผ่นที่ ผมยังไม่ไปก้มีแต่ เมืองตักสิลา

อ่านแล้วเห็นความสำคัญของความสามัคคีนะครับ...

สวัสดีครับพี่

เห็นอนุภาพของความสามัคคีครับ

ขอบคุณครับ

ค่ะ ลำพัง มหาศิลากัณฏกะ และ รถมุศาละ วัชชีก็คงยากจะต่อต้านมคธอยู่แล้ว เมื่อมาเจอแผนยุยงของวัสสการพราหมณ์เข้าไปอีก จึงไม่อาจทานทน

.

อดนึกถึงบ้านเรายามนี้ไม่ได้นะคะ แค่สถานการณ์ภายนอก เราก็ยากจะต้านรับอยู่แล้ว ยังเจอเรื่องการแตกสามัคคีของคนในชาติอีก

.

วัสสการพราหมณ์มาอยู่ในวัชชี คอยทำหน้าที่ยุยง บ้านเรา การยุยงลอยลมมาไกลเชียว

.

เราจะเป็นยังไงกันต่อไปนะคะนี่

<h4>อปริหานิยธรรม๗ (เวอร์ชั่นสรุปเป็นคำคล้องจอง)</h4>

<h4><strong>&ldquo;</strong>หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์<strong> </strong>พร้อมทำกิจไม่เกี่ยงก่อนหลัง<span style="font-weight: 800;">&nbsp;</span>ตั้งมั่นหลักการไม่หาญหัก<strong> </strong>เคารพรักนักปราชญ์ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่<strong> </strong>คุ้มกันภัยมวลหมู่ไม่ให้หวาดหวั่น&nbsp;เคารพในชาติ ศาส-กษัตริย์ ศูนย์รวมใจ<strong> </strong>&nbsp;สั่งสมและส่งเสริมให้พระดี คนดี มีกำลังนำสังคม<strong>&rdquo;</strong></h4>

<h4 style="font-size: 1em;">&nbsp;* หากมีผู้ต้องการคัดลอกไปเผยแผ่ ควรระบุว่าเป็นเวอร์ชั่น สรุปเป็นคำคล้องจองด้วย มิฉะนั้นจะมีส่วนทำให้ธรรมเคลื่อนไป</h4>

<h4>&nbsp;</h4>

สรุปงานเสวนา ๙วิธีฟื้นฟูชาติ ครับ

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/307280

มารับรู้ความนัย"การแตกสามัคคี"ของพระพุทธองค์ค่ะ...

ลึกซึ้ง ลึกซึ้ง อิ่มเอมด้วยอรรถรสที่วิเคราะห์ได้ชัดแจ้ง ตามด้วยความเข้าใจ ทั้งในทางภูมิศาสตร์ ขอบคุณนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท