๓๒. ไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย...ธรรมชาติการดูแลกันของชุมชน


"....ไอ้เป๋หนองบัว และวัวหลวงพ่ออ๋อย เป็นประสบการณ์ร่วมของคนหนองบัวหลายรุ่น อีกทั้งสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนและทุกสิ่งอย่าง ของคนหนองบัว...."
            คนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มีประสบการณ์สังคมผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ปรากฏการณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ หลายอย่าง รวมถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม

            หลายเรื่องสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิง เหมือนกับบอกพิกัดหรือตำแหน่งแห่งหนของกาละ-เทศะ ในวิถีของชาวบ้านได้ อย่างเรื่อง คนเผาถ่าน ไอ้เป๋หนองบัว และ วัวหลวงพ่ออ๋อย ที่จะเล่าต่อไปนี้ครับ

คนเผาถ่าน

            เมื่อต้นปีนี้ ผมกลับบ้านโดยรถตู้โดยสารจากสวนจตุรจักร ไปยังอำเภอหนองบัว  มีผู้โดยสารคนหนึ่งขึ้นมาในรถ แล้วก็เริ่มทำความรู้จักกับทุกคน เขาแนะนำตนเองกับใครๆหลายคนว่า เขาเกิดหนองบัวแต่จากหนองบัวมาอยู่กรุงเทพมากกว่า 20 ปีแล้ว เขาเป็นลูกหลานของครอบครัวคนเผาถ่าน 

            คนเผาถ่าน !!!  คนอื่นที่อยู่นอกบริบทของคนหนองบัว ได้ยินเข้าก็คงงงว่า อะไรกัน การระบุคน  สถานที่ หรือเหตุการณ์อ้างอิง สิ่งที่มีความร่วมกันหรือ Commons เขามีแต่ใช้สิ่งใหญ่ๆโตๆ หรือมีบทบาทโดดเด่น เป็นต้นว่าลูกผู้ว่า ลูกนายตำรวจ  เจ้าของกิจการใหญ่ในท้องถิ่น.....อะไรเทือกนี้ 

            นี่ใช้ ลูกคนเผาถ่าน เป็นหมุดหมายให้คนในวงสังคมระดับอำเภอเชื่อมโยงเข้าหาตนเองเพื่อข้ามเส้นแบ่งความเป็นคนแปลกหน้าแล้วเริ่มทำความรู้จักกัน คนทั่วไปในระดับอำเภอมันชุมชนเล็กอยู่เสียเมื่อไหร่ ฟังดูประหลาดแท้ ใช้ได้ด้วยหรือ 

            สำหรับคนหนองบัวแล้ว ได้ครับ ได้  มันมีที่มาอยู่ครับ

            ชุมชนเผาถ่านที่เป็นย่านอาศัยและเผาถ่านขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีอยู่แหล่งเดียวของอำเภอหนองบัว

            ละแวกดังกล่าว เป็นชุมชนอยู่ริมถนนดินทรายที่ตัดออกจากตลาด ปากทางไปโผล่ที่ร้านขายยาหมอหลุย ผ่านด้านหลังโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ผ่านหลังอำเภอและโรงพัก  ทะลุไปยังโรงเรียนหนองคอก หรือ โรงเรียนหนองบัว..โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอหนองบัวในปัจจุบัน

            เมื่อ 20-30 ปีก่อนโน้น สองข้างทางเป็นป่าละเมาะ  ทุ่งนา และบ้านเรือนประปราย ทว่าพอไปถึงสักครึ่งทาง ก็เป็นกลุ่มบ้านเรือนของชุมชนเผาถ่าน ตรงข้ามก็เป็นท้องนาโล่งกว้างไปจรดแหล่งที่เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลอำเภอในปัจจุบัน ริมถนนมีต้นมะม่วงป่า หน้าน้ำหลากก็มีแหล่งให้โดดน้ำเล่น

           เด็กโรงเรียนหนองคอก ต้องเดินและถีบจักรยานจากตลาดไปยังโรงเรียน  ร้อยทั้งร้อยต้องผ่านถนนสายนี้เป็น 3 ปี 6 ปี จึงทำให้รู้จักและต้องมีชุมชนคนเผาถ่านอยู่ในประสบการณ์ชีวิตแทบทุกคน

            อยู่ที่ว่าจะจดจำรายละเอียดได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง จึงถือเป็นสถานที่และแหล่งอ้างอิงทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นได้

            ดังนั้น พักเดียวก็เริ่มเจอคนรู้จักและไปๆมาๆก็ได้รู้จักกับเด็กรุ่นน้อง ซึ่งก็กลายเป็นน้องของคนที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่คนหนึ่งของเขา สลายความแปลกหน้าและกลายเป็นพวกกัน หรือคนบ้านเดียวกันได้ในที่สุด 

           ความเป็นชุมชนเป็นแหล่งความรู้ที่มีชีวิต สามารถเรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อการปรับตัวและทำสิ่งต่างๆร่วมกันผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ทางสังคม อย่างนี้แหละครับ

                             

ไอ้เป๋หนองบัว

           ไอ้เป๋ เป็นคนสติไม่ดี มือข้างหนึ่งหงิกและเดินขากระเผลก  ตัวดำมะเมื่อม  มีหนวดเฟิ้มห้อยออกสองข้างมุมปากและยาวจนคลุมริมฝีปากบน นุ่งกางเกงขาก๊วยมอมแมมจนเป็นสีดินโคลน  เปลือยร่างกายส่วนบนตลอดเวลา ไม่พูดไม่คุยกับใคร ไม่มีส่งสียง

           ไอ้เป๋...ชาวบ้านร้านตลาดเรียกเขาว่าอย่างนี้ ผมขอใช้ในฐานะเป็นชื่อเรียกไปด้วยก็แล้วกันครับ มิใช่เรียกด้วยความรู้สึกหมิ่นแคลน ละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้อื่นของผู้ถูกกล่าวถึง แต่อย่างใด

           เวลาไอ้เป๋อยากจะกินอะไรก็จะเดินไปยืนจ้อง ซึ่งส่วนใหญ่คนก็จะรู้ว่าเขาอยากกินข้าวหรือหิว ก็จะแบ่งปันอาหารให้  บางครั้งไอ้เป๋ก็จะไปคุ้ยหาอาหารเอาจากถังขยะ ยืนหยิบมากินเหมือนอาหารโต๊ะจีน จากนั้นก็จะเดินไปทั่วตลาด

          อยากนอนตรงไหนก็นอน  อยากยืนและควักไข่ออกมาเกาตรงไหนก็ทำ ซึ่งบางทีก็อยู่ตรงกลางตลาด ทำเอาคนที่อายและหลบวูบวาบกลายเป็นแม่ค้าและคนเดินซื้อของ ไม่ใช่ตัวเขา

           จะมีใครสามารถถลกกางเกงเปิดก้นและยืนเกาไข่กลางตลาดได้อย่างมีความสุขเหมือนเขา ไม่มีหรอกครับ ต่อให้เป็นนายห้างหรือนายพลก็ถูกจับข้อหาอนาจาร  แต่เป๋ไม่ครับ  เขาแน่จริงๆ

           แม้จะกินอาหารจากกองขยะ นอนตากยุง คลุกฝุ่น เกรอะกรัง ก็ไม่เคยมีใครเห็นไอ๋เป๋เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่ง  แม้ในยุคอดีตที่มีโรคระบาดในท้องถิ่นมากมายสารพัด 

            ต้องจัดว่าเขาเป็นตัวแทนของ สสส ได้เหมือนกัน ทว่า ไม่ใช่มาจาก สร้างเสริมสุขภาพ ครับ แต่คือ สติแตก สกปรก แต่ สุขภาพแข็งแรง !!!!

           ไอ้เป๋เป็นใครมาจากไหน ไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัด  ต่างก็บอกเล่าสืบทอดกันไปคนละทิศละทาง บ้างก็ว่าเขาเป็นนักสืบและสายลับของ ผกค บ้างก็ว่าเป็นทหาร เพราะในยุคนั้น หนองบัวยังเป็นทางผ่านของรถถัง และรถยีเอ็มซีขนทหาร ที่มักเคลื่อนจากค่ายจิระประวัตินครสวรรค์ไปทางป่าเขาเชื่อมต่อกับเพชรบูรณ์ 

           มีกิจกรรมที่ไอ๋เป๋มักทำอยู่เป็นประจำเหมือนกัน  คือ ตอนสายๆ  เขามักออกไปยืนกลางถนนแถวหัวตลาด หันหน้าไปทางพระอาทิตย์ขึ้น  แล้วก็ทำมือเหมือนท่าบูชาแสงตะวันแล้วก็ชี้เปะปะไร้ทิศทาง  ช่วงเวลาที่เขาทำอย่างนี้  คนมักเตร่เข้าไปดูกันอย่างจริงๆจังๆแล้วก็ตีเป็นหวย บอกต่อๆกันไป 

           พอกัน ก็บ้ากันคนละอย่าง

          ไอ้เป๋จึงเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของชาวหนองบัว ไม่มีใครทำร้ายและถือสาหาความ จึงไปไหนมาไหนและทำอะไรได้ตามใจชอบ นอนได้ทุกที่ มีคนหมุนเวียนปันอาหารเลี้ยงดู เรียกว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่และอยู่เหนือสารพันปัญหาใดๆอย่างแท้จริงทั้งของท้องถิ่นหนองบัวและของผู้คนทั่วไป

           ความเป็นชุมชนที่ผู้คนได้สิ่งต่างๆจากการอยู่ร่วมกันนั้น  แม้คนบ้า คนเมา คนจรจรัด กระทั่งสัตว์ ต่างก็เป็นองค์ประกอบความมีชีวิตชีวาของการอยู่ด้วยกัน อย่างใกล้ชิด 

วัวหลวงพ่ออ๋อย

           อีกสิ่งหนึ่งในความเป็นหนองบัวก็คือ วัวหลวงพ่ออ๋อย

           คนท้องถิ่นในอดีต ถือวัวควายเป็นสัตว์มีพระคุณ ในยุคผมนั้น มีโรงฆ่าสัตว์เชือดวัวควายเหมือนกัน แต่ทำส่งไปยังที่อื่น และทำโดยแขกปาทาน คนท้องถิ่นส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวบ้าน ยังไม่ค่อยรู้จักการทำวัวควายมาเป็นเนื้อบริโภค คือส่วนใหญ่ยังกินไม่เป็นกัน  เมื่อวัวควายแก่ หากไม่ปล่อยให้แก่ตายก็จะนำไปปล่อยวัด

           ควายที่แก่ตาย มักนำไปแล่หนัง  แล้วก็นำกระโหลกไปถวายวัด หรือไม่ก็เก็บไว้ในบ้านเป็นเครื่องรำลึกถึงกัน หนังก็นำไปทำเป็นเชือกถวายวัดหรือเป็นเครื่องมือเกษตรกรรม  หากตัวใดแก่มาก ตัวใหญ่ และชาวบ้านผูกพันนับถือ ก็จะนำหนังควายตัวนั้นไปทำหนังกลองถวายวัด

            ในอดีตนั้น จะมีการตีกลองย่ำค่ำ เป็นวัฒนธรรมการตีกลองบูชาพระรัตนตรัย  โดยถือว่ามนุษย์และชุมชนทำหน้าที่แทนคุณต่อควาย  ให้ควายซึ่งเป็นสัตว์มีบุณคุณได้เข้าใกล้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่ค่อยมีใครทำวัวควายกินเป็นอาหารอย่างจงใจ 

            การเห็นกลองหนังควายของวัดในชนบทแถวนั้น  แม้อาจจะดูฝีมือหยาบๆ  ทว่า มิติทางจิตวิญญาณกลับสูงส่งยิ่ง ชาวบ้านเขาพาควายและวัวที่มีบุญคุณต่อเขาให้ได้กราบบูชาพระพุทธเจ้า  ทุกครั้งเมื่อมีการตีกลองและย่ำค่ำ จึงหมายถึงการทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณควาย ให้ควายได้ร่วมกราบพระรัตนตรัย ซึ่งก็จะมีการตีเป็นชุด 3 ชุด  จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการบูชาด้วยเสียงกลองและดนตรีกาลนั่นเอง

             เป็นวิถีชุมชนที่แยบคายและลึกซึ้งอย่างยิ่ง

            นอกจากนี้ มักนำหนังวัวไปทำเชือก ใช้เอง แบ่งปันกันใช้ หรือถวายวัดเช่นกัน ซึ่งมีบ้างที่ก็ไม่กล้าทำ ด้วยสำนึกต่อบุญคุณของวัวเช่นกัน ก็เลยนำไปปล่อยที่วัดหนองกลับ หรือวัดหลวงพ่ออ๋อย เลยก็กลายเป็นมีฝูงวัวแก่หลายตัวอยู่ในวัด  นอนตามต้นมะขวิด มะสังข์ หรือเตร็ดเตร่และเล็มหญ้าทั้งในลานวัดและเดินไปทั่วตลาดอำเภอหนองบัว ไม่มีใครทำอะไร แม้แต่จะดุด่าหยาบคายหรือตีให้เจ็บ เช่นกัน

            ไอ้เป๋หนองบัว และวัวหลวงพ่ออ๋อย เป็นประสบการณ์ร่วมของคนหนองบัวหลายรุ่น อีกทั้งสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนและทุกสิ่งอย่าง ของคนหนองบัว

             เมื่อลองพิจารณาดู  ก็น่าสนใจว่า ลักษณะหนึ่งของการอยู่ร่วมกันในวิถีประชาหรือภาคประชาชน หรือในแหล่งที่มีความเป็นชุมชนก็คือ  ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ และสิ่งของส่วนรวม ก็มีความหมายต่อการอยู่ร่วมกัน  มีการผลิตระบบคุณค่าและการให้ความหมาย ที่ทุกคนต่างมีความหมายต่อกัน

             สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นทุนทำให้คนส่วนใหญ่ที่แม้จนเงิน  แต่ถ้าหากสามารถเรียนรู้  สร้างสังคมและสร้างความเป็นส่วนรวมกับคนที่อยู่ด้วยกันเป็น  ก็สร้างความสุขขึ้นได้  จึงเรียกว่าทุนทางสังคมที่ก่อให้เกิดสุขภาวะของชุมชน

             ชุมชนอย่างนี้  ไม่เพียงมีที่อยู่ให้แก่ไอ๋เป๋หนองบัวและวัวหลวงพ่ออ๋อยเท่านั้น  ทว่า  ทั้งมีที่อยู่และอยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งในสุขภาวะกันและกันเลยทีเดียวครับ

หมายเลขบันทึก: 220541เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (83)

ขอบคุณสำหรับบทความ อ่านสนุกค่ะ

ขอบพระคุณเช่นกันครับคุณ krutoi แล้วจะเก็บรวบรวมมาเล่าไว้ให้อ่านอีกครับ ดีใจครับที่บอกว่าสนุก การอ่านที่ทำให้สนุกนี่ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีเวลามีความสุขที่ลึกซึ้งไปหลายนาที และก็เป็นกำลังใจ ให้ผมได้มีความสุขไปด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

อ้างอิง

เรายังลืมบุคคลที่ถือว่าเป็นจุเด่นของหนองบัวนี้อีก 2 คน

ไอ้นพ เขาเป็นนักร้องหนุ่มชื่อดังแนวน้ำเสียง ยอดรัก และพระเอกลิเกขวัญใจแม่ยกชาวตลาดสดหนองบัวบ้านอยู่ห้วยร่วม

และอีกคนนึงคือคนขายน้ำตาลสดเขามีซโลแกรนและหลักการขายของเขาและเป็นที่รู้จักกับคนทั่วไปว่า

น้ำตาลสดจร้าถุงระ.......................บาดจร้า........พี่

คุ้นๆ นะครับ แต่นึกรายละเอียดไม่ออก โดยเฉพาะคนขายน้ำตาลสดนี่คุ้นๆมากเลย ไอ้นพที่คุณเก๊ากล่าวถึงนี่ก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่า อาจจะเป็นรุ่นหลัง 2520 หรือเปล่า เพราะก่อนหน้านั้น ผมพอจะคุ้นเคยอยู่มาก

พวกห้วยร่วมมีคนเล่นแตรวงและร้องเพลงเชียร์รำวงเก่งๆ เยอะ ไอ้นิจ หรือพินิจ รุ่นน้องผมปีนึงที่โรงเรียนหนองคอก ก็เล่นแตรวงและอยู่บ้านห้วยร่วม แล้วก็เล่นทรัมเป็ตของโรงเรียนหนองคอกด้วย ดูเหมือนว่าจบจากหนองคอกแล้วก็ไม่เคยเจอะเจอกันเลย เป็นคนเรียบร้อย สุภาพบุรุษ เล่นทรัมเป็ตในไสตล์ที่คนเล่นเครื่องเป่าเรียกกันว่า'เสียงกลม' ซึ่งต้องคนปากอยู่ ปอดแข็ง และควบคุมลมได้สมำเสมอ ถึงจะทำได้

อันที่จริงผมว่ามีอีกเยอะนะครับ เชิญเขียนเก็บรวบรวมไว้ตามสบายเลยนะครับ

เค้าว่าไอ้นพเป็นคนห้วยร่วมครับอาจารย์

ขอบคุณมากครับที่มีคนดีๆที่ทำรายการเกี่ยวกับบ้านเรา

รู้สึกดีมากเลยที่คุณเสวกเรียกเรื่องพวกนี้ว่า เป็นเรื่องของบ้านเรา มันเหมือนการที่เราได้เรียนรู้และเห็นตนเองร่วมกันจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น นอกจากต้องสร้างขึ้นจากเราเอง ทำนองว่า แม้นเป็นแสงหิ่งห้อย ก็ยิ่งใหญ่ตรงที่เป็นการเรียนรู้ที่จะร่วมเปล่งแสงออกจากตนเองของสิ่งงดงามเล็กๆจากชาวบ้านร้านถิ่นต่างๆ 

เหมือนกับเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้คนเราสามารถมีความคุ้นเคย  มีความเป็นญาติมิตร และสร้างสำนึกความเป็นพี่น้องกันได้ ดีจริงๆครับ

เหอะๆๆ..ดีๆๆ..ไม่เคยได้ยินเลย..แต่อ่านแล้วได้เนื้อหาสารดี..อยากทราบว่าผู้เขียนเป็นใครหรอคับ..ผมก็เป็นคนหนองบัวเหมือนกัน..อยากอ่านอีกอ่ะคับ

เหอๆๆ เป็นคนหนองบัวครือกันครับ แต่รุ่นแก่ไปหน่อยเลยร่วมสมัยกับเรื่องนี้ ผมเป็นรุ่นที่หนองบัวมีโทรทัศน์ขาวดำเครื่องแรกที่ร้านขายข้าวหัวตลาด และตอนนั้นโรงเรียนต้องหยุดให้นักเรียนไปดูอพอลโล 11 ลงจอดดวงจันทร์จากโทรทัศน์ขาวดำเครื่องแรกนั้นน่ะครับ ร้านที่ตอนนี้อยู่ตรงข้ามร้านเจ้าเง็กน่ะครับ เถ้าแง่เนี๊ยเง๊กนั่น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นผมทั้งหนองบัวเทพและหนองคอกครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจาย์

หวังว่าทานสะบายดีครับ ตอนนี้ใกล้ปีใหม่ของไทยแล้วก็อดนึกถึงภาพเก่าๆของการเล่นตรุดสงกรานต์ที่คนเถ้าคนแก่มาเล่นชิงช้า ร้องเพลงพวงมาลัยใต้ต้นมะขวิดทีวัดหนองกลับเสียมิได้ครับ

และขอให้ท่านอาจารย์มีความสุขมากๆนะครับ

  • รุ่นรู้จักต้นมะขวิด เล่นเพลงพวงมาลัยใต้ต้นมะขวิดที่วัดหนองกลับนี่ สงสัยจะเป็นรุ่นผมหรือไม่ไกลจากผมกระมัง
  • อันที่จริงข้างต้นมะขวิด มีต้นมะสังข์ด้วย ที่อยู่ข้างเมรุ เดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้ว
  • ขอให้มีความสุขมากๆด้วยเช่นกันครับ  ได้รับอีเมล์ของคุณเสวกแล้วนะครับ  ได้ตอบและเขียนถึงในบันทึกหัวข้อทุนทางสังคมของหนองบัวไปแล้วอีกที่หนึ่งนะครับ
  • วันนี้เพื่อนๆ เขาไปพบปะศิษย์เก่าหนองคอกกัน ผมไม่ได้ไปเลยเนี่ย
  • สวัสดีปีใหม่พี่น้องชาวจีน และสวัสดีปีใหม่ไทยล่วงหน้านะครับ
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

อยากให้โยมอาจารย์เขียนถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในท้องถิ่นหนองบัวต่อไปนี้

ประเพณีกินดอง

บวชนาคหมู่

อาสาทำงานช่วยคู่ดอง(คู่หมั้น)

ลงแขกดำนา-เกี่ยวข้าว

  • กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ ด้วยความดีใจอย่างสุดซึ้งเลยครับ ผมชอบไปคลุกคลีอยู่กับวัดมาแต่เด็ก พอโตมาหน่อยก็เป็นเด็กวัดจนจบมหาวิทยาลัย เลยรู้สึกตื้นตันใจและน้ำตาซึมเลย ไม่รู้สาเหตุเหมือนกัน พอจะพูดได้โดยประมาณว่า รู้สึกเป็นบุญและรู้สึกได้ทำความดีหากถูกพระใช้ ทำนองนั้นน่ะครับ พอเห็นพระคุณเจ้าให้ความสนใจและชวนคุยเรื่องพวกนี้เลยตื้นตันใจ
  • เวลามีลูกศิษย์ปริญญาโทและเอก ที่เป็นพระหรือคนที่สนใจปฏิบัติทางด้านการพัฒนาจิตใจในแนวทางต่างๆ มาให้เป็นที่ปรึกษาการวิจัยทำวิทยานิพนธ์ หรือต้องไปบรรยาย ผมจะเห็นศักยภาพและภาวะผู้นำของพระสงฆ์และเขาเหล่านั้นต่างจากผู้อื่นแล้วก็จะเพิ่มสาระสำคัญบางส่วนให้ เช่น วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ หรือวิธีนั่งสนทนา สร้างความรู้ท้องถิ่น วิธีสร้างความรู้และเติมปัญญาเข้าไปในกิจกรรม-ประเพณี วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างความรู้ขึ้นจากวงนั่งสนทนาที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนมักชอบมานั่งคุยกับพระ เหล่านี้เป็นต้น  ผมเคยได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษให้พระนิสิตของมหามกุฎราชวิทยาลัย ก็มีความสุขมากครับ เลยฝึกปรือวิทยายุทธให้พระนิสิตมีแนวคิดและได้รู้จักวิธีการถอดบทเรียน การทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนธรรม เป็นเวทีจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือสร้างความรู้ชุมชน ซึ่งเรื่องทำนองนี้ผมคิดว่าพระสงฆ์และผู้นำทางด้านศาสนธรรมในทุกศาสนาจะทำได้ดี และที่จะดีกว่าวงการอื่นทำคือ มันเชื่อมต่อกับการทำด้วยจิตใจและสปิริตของความเป็นพลเมือง.....เลยรู้สึกดีใจเป็นที่สุดที่ได้เห็นพระคุณเจ้าเข้ามาคุยและมีหัวข้อในการคุยต่อยอดความคิดกันในเรื่องนี้ครับ ยิ่งเป็นคนบ้านเราด้วย  ดีใจจริงๆครับ
  • เรื่องที่พระคุณเจ้าหยิบยกขึ้นมานั้น เป็นเรื่องที่น่าเขียนไว้และหลายแง่มุม ก็มีวิถีคิดและประสบการณ์จำเพาะของท้องถิ่นหนองบัว แตกต่างจากที่อื่นๆ อยู่มากเหมือนกัน อย่างเรื่องการบวชนาคหมู่นี้ ผมคิดว่าไม่มีที่ไหนทำได้ยิ่งใหญ่และเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมของสังคมที่มีพลังมาก เท่ากับที่มีที่วัดหลวงพ่ออ๋อย ผมเขียนถึงนิดหน่อยในบางแห่งบ้างแล้วนะครับ แต่จะลองเขียนจำเพาะในด้านที่ผมได้สัมผัสตรงๆ โดยเฉพาะการแห่นาค และวัฒนธรรมการรวมนาค การรวมแตรวง ซึ่งผมเล่นแตรวงบวชนาคเป็นเกือบสิบปี ไม่เคยพบว่ามีที่ไหนจะมีการบวชนาคหมู่ยิ่งใหญ่คึกคักเท่ากับคนหนองบัว ศาลาวัดของหนองบัวที่ใหญ่โตนั้น สามารถรองรับทั้งบนศาลาและนอกศาลาได้ถึง ๑๐-๒๐ เจ้า ผมยังจำบรรยากาศนั้นได้ดีครับ เพราะในวัฒนธรรมแตรวง  ก็ต้องพัฒนาตนเองขึ้นจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมจำเพาะถิ่นอย่างนั้นไปด้วย ไม่อย่างนั้น  การไปนั่งรวมกันเหมือนกับมีวงดนตรี ๑๐-๒๐ วงพร้อมกันบนเวที ก็ไม่มีทางเล่นกันได้ละครับ สนุกและมีจิตวิญญาณทางสังคมในวิถีชุมชนอย่างนั้นมากเลยครับ หากมีโอกาสและไม่ลืม จะเขียนให้ครับ
  • ลงแขกดำนาเกี่ยวข้าวนี่ ก็พอเขียนได้ในบางแง่ครับ เพราะได้ไถนาและต้องทำนากับมือตลอดก่อนออกจากถิ่นเกิดหลังจบหนองคอก ส่วนการกินดองและอาสาช่วยงานของคู่ดองนี่ก็น่าเขียนไว้ครับ  วัฒนธรรมนี้ในอดีตมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนวิถีการผลิตของชุมชนมาก รวมทั้งเป็นกลไกและกระบวนการผลิตซ้ำวิถีทรรศนะที่ถือเอาความเป็นแม่และความเป็นผู้นำของสตรีเป็นใหญ่ ซึ่งน่าสนใจมาก ผมประทับใจเรื่องเหล่านี้ด้วยเหมือนกันแต่รู้งูๆปลาๆ เพราะเวลาเล่นแตรงวงนี่ก็มีการรับงานที่เป็นงานแต่งงานประเพณีพวกนี้อยู่เสมอครับ  เราต้องรู้และต้องเรียนรู้ไปด้วย  เพราะหลายขั้นตอนการเล่นดนตรีจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ซึ่งสะท้อนวิธีคิดและภูมิปัญญาของสังคมอยู่ด้วย
  • กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ.

ขอเจริญพรโยมอาจารย์ เคยมีความรู้สึกว่า หนองบัวมีดีหลายอย่างแต่กาลเวลาผ่านไปเหมือนกับความดีเหล่านั้นได้สูญหายไปกับบุคคลและกาลเวลาด้วย พอดีเมื่อคืน(๑๓ พ.ค. ๕๒)ได้เปิดเว็บไซต์เจอโยมอาจารย์เขียนวิถีชีวิตคนหนองบัวออกเผยแพร่ก็ดีใจและขอชื่นชมอนุโมทนาและขอให้โยมอาจารย์ ได้เขียนต่อไปเรื่อย ๆ เพราะโยมอาจารย์เขียนได้ดีวิเคราะห์ได้ลึกซึ้งกว้างขวาง ครอบคลุมเชื่อมโยงหลายมิติน่าอ่านน่าสนใจ ยิ่งเป็นคนหนองบัวด้วยแล้วจะรู้สึกได้ถึงความดีงามและรักท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเองมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

คนหนองบัว-หนองกลับ จะมีประเพณีที่แตกต่างจากถิ่นอื่นอันเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นที่ยังจำได้อย่างหนึ่งก็คือ การแต่งงานจะมีการปลูกเรือนหอ โดยฝ่ายชายจะหาอุปกรณ์ไม้ปลูกบ้านคนละครึ่งกับฝ่ายหญิง เป็นต้นว่าพื้นบ้าน เครื่องบน เวลานี้ยังหาดูได้พื้นบ้านไม้มะค่าโมงหน้าใหญ่ ๆ สวยงามมาก วันแต่งงานเจ้าบ่าวจะนำวัวหนึ่งคู่ เทียมเกวียนใหม่ ๆ เรียกว่าเกวียนมือหนึ่งเลยแหละ แถมควาย ๑ -๒ ตัว มาเป็นค่าสินสอนเพื่อประกอบอาชีพการเริ่มต้นชีวิตคู่

อาตมาภาพไม่มีความสามารถทางการขีดเขียน แต่อยากจะให้ผู้ที่มีความสามารถด้านการขีดเขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นมรดกของท้องถิ่นหนองบัวให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้รากเหง้าตนเองต่อไป

แต่ก็ดีใจที่ของดีหนองบัวยังไม่สูญหายแน่นอน เพราะมีโยมอาจารย์ได้ช่วยสืบสานสืบต่ออย่างแข็งแรงอาตมาก็ขอให้กำลังใจและจะคอยติดตามงานโยมอาจารย์ต่อไป

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

  • กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ
  • พระคุณเจ้าคุยเรื่องทำนองนี้แล้วทำให้รู้สึกคึกคักขึ้นในใจเลย ผมพอจะนึกภาพออกเรื่องวิถีวัฒนธรรมและประเพณีที่ชาวบ้านยึดถือที่พระคุณเจ้านำมารำลึกถึง อย่างเรื่องการปลูกเรือนหอและการใช้ไม้มะค่าโมงหน้าใหญ่ๆเป็นสินสอด และเป็นเครื่องบ่งชี้ความพร้อมต่อการเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของคู่บ่าวสาวนี่  ต้องเป็นคนหนองบัวหรือเป็นคนที่เคยไปหาไม้ในป่าเขาสูง เขาเหล็ก และเขาพระ เท่านั้น จึงจะซาบซึ้งความนัยหลายอย่างของการมีพื้นบ้านและเครื่องเรือนเป็นไม้มะค่าโมง
  • การได้ไม้มะค่าโมง และยิ่งหน้าใหญ่ๆมาทำบ้าน บ่งชี้หลายเรื่อง เป็นต้นว่า (๑) ต้องพากเพียรและตั้งใจมุ่งมัน วางแผนเป็นปี เพราะต้องเข้าไปหาไม้ลึกเข้าไปในป่า ผมเคยไปครับ ไปช่วยพวกผู้ใหญ่หาไม้มาทำศาลาวัดและสิ่งของสาธารณะ โรงเรียน ศาลาพักร้อน ไม่แน่จริงไม่มีทางได้ไม้มะค่าโมง (๒) ต้องเป็นลูกผู้ชายและเป็นงาน บอกไม่ถูกว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร คือ ต้องรู้ที่จะเป็นเดินสำรวจ และโดยส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะเลือกไม้จำเพาะที่ต้องการใช้และขนได้ด้วยแรงวัวควาย ดังนั้น ต้องมีการเลือกเฟ้นที่ดี ไม่ใช่ตัดส่งเดช บางทีก็เป็นไม้ที่ล้มอยู่ในป่าลึก และหากเป็นไม้ใหญ่ ก็ต้องวางแผนที่ตัดและนำกลับมาใช้งานที่พอแก่ความต้องการ ดูไม้ไม่เป็นและไม่รู้จักป่า ก็ไม่ได้ไม้มะค่าโมงน่ะครับ (๓) การต้องเข้าป่าลึก เดินทางด้วยเท้าและขนด้วยเกวียน ต้องเลื่อยด้วยแรงมือและขนขึ้นเกวียนซึ่งไม่มีทางทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้การมีไม้มะค่าโมงกลับมาทำเรือนหอหรือทำสิ่งต่างๆ บ่งบอกถึงความเป็นคนที่ชุมชนและสังคมท้องถิ่นให้ความร่วมมือ ให้ความเป็นหมู่ญาติ และให้ความเป็นมิตร ต้องเป็นคนเอาสังคม ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีพรรคพวกหรือกลุ่มคนที่ไปเอาแรง ไปช่วยกันเอาไม้มะค่าโมงมาได้ การเห็นไม้มะค่าโมงทั้งที่เป็นพื้นบ้าน เครื่องสูง จึงเป็นตัวบอกว่า ผู้บ่าวผู้นั้น เป็นคนเอาถ่าน เป็นคนใช้ได้ เป็นเคยและเป็นตัวเชื่อมให้ญาติพี่น้องสองฝ่ายของบ่าวสาวเป็นดองกันได้  หรือเมื่อเห็นไม้มะค่าโมงอยู่ตามวัดหรือที่สาธารณะ ก็พอจะถอิดรหัสชุมชนได้ว่า หมู่บ้านนั้น  มีศรัทธาต่อส่วนรวมแข็งกร้า และมีความสามัคคี (๔) ไม้มะค่าโมงเป็นไม้เนื้อแข็งมาก แข็งชนิดที่เหวี่ยงขวานใส่นี้สะท้านไปทั้งตัวของเราเลยทีเดียว และระหว่างการเลื่อย ก็ต้องทำงานกันเป็นกลุ่มข้ามวันข้ามคืน ดังนั้น การมีไม้มะค่าโมงจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงการผ่านวิชาช่างที่ชาวบ้านทุกคนต้องเรียนรู้และทำได้ในวิถีชีวิต นี้เป็นเพียงบางแง่มุมเท่านั้นครับ พระคุณเจ้าจุดประกายอย่างนี้ ทำให้เห็นหัวข้อการสร้างความรู้จากเรื่องเล่าของคนเก่าแก่ขึ้นมาอีก เวลากลับบ้านจะไม่ลืมเก็บรวบรวมเรื่องราวพวกนี้ไปด้วยเรื่อยๆครับ
  • ผมดีใจมากเลยครับที่พระคุณเจ้าก็เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ เรื่องทำนองนี้และการนำมาเขียนรวบรวมไปเรื่อยๆในนี้ อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้อื่น แต่เวลาผมเขียน ผมกลับนึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญที่ผมต้องเขียนไว้ และเมื่อเจอเพื่อนๆก็มักเซ้าซี้ให้ช่วยกันเขียน หรือไม่ก็ให้เล่าให้ผมฟัง เพราะผมอยากให้ลูกหลานหรือคนท้องถิ่นบ้านเราได้ความพากภูมิใจและได้ความรู้สึกต่อท้องถิ่นของตนเองที่ดี เพื่อออกไปเป็นคนดีของโลกภายนอก หากกลับบ้านก็เป็นคนรู้จักตนเอง ผมนึกภาพไปว่า เวลาเด็กๆและชาวบ้านเข้ามาในอินเตอร์เน็ต หากเขาเจอสิ่งต่างๆมากมาย เจอความรู้ทั่วโลก  เจอทุกๆอย่างท่วมท้น ยกเว้นการเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ดังนั้น โดยไม่รู้ตัว  ผู้คนก็จะเรียนรู้ไปโดยทางอ้อมว่าพวกเขาและชุมชนของตนเองนั้นมีแต่ความว่างเปล่า ของดีมีแต่ของสังคมอื่นและการเปลี่ยนแปลงที่ดีก็คือทิ้งตนเองผ่านการแล่นไปเอาอย่างคนอื่น  ผมจึงทำไปอีกทางหนึ่ง โดยจินตนาการไปว่า เมื่อลูกหลานหรือคนท้องถิ่นเรา อยากเล่นคอมพิวเตอร์ ลองรู้จักคอมพิวเตอร์โดยป้อนข้อมูลให้มันค้นหาอะไรบางอย่างใกล้ๆตัวเอง และเป็นไปได้ที่ก็ใช้ข้อความที่รู้จักดี เช่นเรื่องบ้านตัวเอง อำเภอตัวเอง พอกดคลิ๊ก ก็เจอทันที่  มันจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนจิตใหญ่และอัศจรรรย์ใจมากกว่าการกดคลิ๊กแล้ว เรื่องของตัวเองก็ไม่เป็นที่รู้จักของคอมพิวงเตอร์เลย  การใช้เทคโนโลยีอย่างนี้ เทคโนโลยีและสังคมภายนอกจะฉลาดครับ แต่เราจะกลวงและโง่มากยิ่งๆขึ้น ผมก็เลยทำพอเป็นเชื้ออย่างนี้แหละครับ  พระคุณเจ้าจะเห็นว่า นอกจากเด็กหนองบัวบ้านป่าแดนดงของเรา คลิ๊กเข้ามาแล้วจะเจอเรื่องที่น่าประทับใจแก่ตัวเองแล้ว แม้บ้านตาลิน ไกลออกไปอีก ลองกดคลิ๊กค้นหา ก็ยังเจอเรื่องอยู่รอบๆตัวเขาด้วยครับ สังคมมักนึกเรื่องความรู้มากมายใหญ่โตด้านเดียว ลองนึกถึงความรู้และการจัดการความรู้อย่างนี้ให้เต็มประเทศไทย  ผมว่าคงจะทำให้เด็กๆได้เข้าถึงจิตวิญญาณของสังคมอีกแบบน่ะครับ
  • ผมประทับใจที่พระคุณเจ้าคุยมากครับ ประทับใจที่พระคุณเจ้าเขียนครับ พระคุณเจ้าบอกว่าเขียนไม่เป็นนั้น ผมต้องขอไม่เชื่ออย่างสิ้นเชิง เพราะวิถีเขียนและโครงสร้างประโยคของพระคุณเจ้านั้นไม่ใช่พระชาวบ้าน และหากเป็นมหาก็ต้องเป็นพระมหาที่เป็นงานวิชาการอย่างมากครับ ต้องเป็นนักอ่านและนักศึกษาค้นคว้าตัวยงเลยทีเดียว  นี่ถ้าหากพระคุณเจ้าไม่บอกว่าเป็นพระ ผมจะนึกถึงคนที่เรียนปริญญาโทขึ้นไป ผมนึกถึงคนที่เป็นครูอาจารย์และคนที่เชี่ยวชาญการอ่านเขียนเอามากๆนะครับ (ไม่กล้าบอกว่าสำนวนอย่างนี้ ผมนึกถึงคุณครูเก่าแก่ของผมท่านหนึ่ง เดี๋ยวกลับบ้านแล้วโดนเบิร์ทกระโหลก)
  • ผมมีงานเขียนงานแนวชุมชนและงานสร้างทรรศนะทางสังคมในทำนองนี้อีกด้วยเหมือนกันครับ หากพระคุณเจ้าสนใจ ก็สามารถแวะไปเสวนาสิ่งต่างๆตามแต่จะเห็นสมควรนะครับ ที่บล๊อกโอเคเนชั่น ของ คุณสุทธิชัย หยุ่น ที่นี่ครับhttp://www.oknation.net/blog/moy และhttp://www.oknation.net/blog/silpa และ

     กราบนมัสการมาด้วยความเคารพยิ่งครับ

     ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

ขอเจริญพรโยมอาจารย์ อาตมาภาพจะขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้เผยแพร่เรื่อง กินดอง-หนองบัว คือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ อาตมาให้หลานสาวที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวรเขียนเกี่ยวกับประเพณีกินดอง และหลานสาวก็เขียนได้ดีมากตามความรู้สึกของอาตมาที่ว่าดีนั้นไม่ใช่ว่าเป็นหลานตัวเองแล้วจึงชมว่าดี แต่เห็นสำนวนการเขียนการใช้ภาษาการเรียบเรียงเรื่องราวติดต่ออ่านได้ใจความและต่อเนื่องเห็นภาพพจน์ดี

เรื่องเวลาหรือจำนวนปี พ.ศ.ของเรื่องคงไม่ใช่เนื้อหาหลักแต่เนื้อหาสาระอยู่ที่ความเป็นท้องถิ่นเฉพาะตน ซึ่งความน่าสนใจก็จะอยู่ในวิถีทางอันเป็นแบบของตัวนั่นเอง

จริง ๆ แล้วอาตมาอยากเห็นผู้รู้ในท้องถิ่งหนองบัวได้เขียนไว้ให้อ่านบ้าง ถ้าผู้อ่านที่เป็นคนหนองบัว จะมีข้อสังเกตหรือเพิ่มเติมส่วนไหนบ้างก็ยินดีเป็นอย่างมาก

มีอีกเรืองหนึ่งน่ะโยมอาจารย์ คือมีเพื่อนพระด้วยกันอยากถามเรื่องการทำวิจัยคุณภาพเพราะเทอมนี้(มิ.ย.๕๒)ท่านลงเรียนวิชาวิจัยเชิงคุณภาพที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และท่านก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำวิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพด้วย ฉะนั้นก็เลยขอคำแนะนำการทำวิจัยและให้โยมอาจรย์เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทางไกลด้วย หวังว่าคงจะได้รับความอนุเคราะห์จากโยมอาจารย์

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประเพณีกินดอง

ประมาณปี พ.ศ. 2475 วัฒนธรรมการกินดองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหนองบัวการกินดองยุคแรกๆ นั้น มีขั้นตอนที่พอจะสรุปได้ดังนี้

1.พูดทาบทาม

การพูดทาบทามนั้นฝ่ายชายจะจัดให้ผู้ใหญ่ 3-4 คนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนนับหน้าถือตาในสังคม มีชีวิตครอบครัวที่ดี ไปทาบทามกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง และส่วนมากจะมีการตกลงระยะการดอง ว่าจะดองกันกี่ปี จึงจะแต่งงาน

2. เป็น “คู่ดอง”

การเป็น “คู่ดอง” กัน มีข้อปฏิบัติ หลายประการอาทิ คู่ดองจะเข้าใกล้กันได้มไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งในการดูใจกันของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าฝ่ายชายจะให้เกียจฝ่ายหญิงอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการดองหรือไม่ และเป็นการพิจารนาการวางตัวให้เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ หากฝ่ายใดประพฤติตนเหมาะสม จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป เป็นต้น

3.ปลูกเรือน

การปลูกเรือน ส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยฝ่ายชาย ซึ่งจะต้องตัดไม้ในป่า มีความเชื่อ เกี่ยวกับการเลือกตัดไม้ที่จะใช้ปลูกเรือน กล่าวคือ ฝ่ายชายจะนำไก่เป็นเข้าป่าไปด้วย 1 ตัว เมื่อเห็นต้นไม้ที่จะใช้ปลูกเรือนได้ ต้องมองหาตาของต้นไม้นั้นที่อยู่ต่ำที่สุด จากนั้นแปะอาหารไก่ไว้ที่ตานั้น ถ้าไก่จิกกินอาหารได้ห้ามตัดต้นไม้นั้นเป็นอันขาด

เมื่อฝ่ายชายตัดต้นไม้เสร็จ จะเข็นมาไว้ในบ้าน เตรียมทำการแปรรูปไปเป็น

เสา ฝาเรือน ฯลฯ บางบ้านจะมีการทำขวัญไม้โดยจะเชิญหมอมาทำขวัญให้ไม้ที่ตัดมาจากป่าก่อนทำการแปรรูป

จากนั้น ทำการหาทำเลขุดหลุมเสา โดยจะทำการซ่อนเงิน-ทอง ไว้ในที่ที่คาดว่าจะขุดหลุมจากนั้น ให้ “ผัวคู่เมียคู่” หมายถึง คู่สามีภรรยาคูหนึ่งที่ครองเรือนกันมานาน และชีวิตครอบครัวมีความสุขดี) หาเงิน-ทองที่ซ่อนอยู่จนพบ (โดยถือเคล็ดที่ว่า ทำเลนี้มีแต่เงินแต่ทอง จะทำมาค้าขึ้น) จากนั้น จะทำการขุดหลุมเสาและทำขวัญเสาโดยหมอทำขวัญ ก่อนทำการยกเสา(เอาเสาลงหลุม)เวลาตี 5 ของวันยกเสาจึงนิมนต์พระมา สวดชยันโตฯ แล้วยกเสาลงหลุมได้ จากนั้นจะให้ฝ่ายชายและหญิงปลูกกล้วยและอ้อยคนละต้น เพื่อเสี่ยงทายชีวิดคู่ หากต้นไม้ที่ปลูกมีอาการผิดปรกติไป แสดงว่า ชาย-หญิงคู่นั้นต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตคู่ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ

เมื่อยกเสาเรียบร้อยแล้ว จะทำการปลูก เรือนต่อ โดยแรงงานที่ปลูกเรือนนั้นได้จากการไหว้วานเครือญาติของทั้งสองฝ่ายจนเรือนเสร็จ

จากนั้นจะเป็นการหาฤกษ์แต่งงาน ส่วนใหญ่จะได้ฤกษ์จากพระที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือ เมื่อได้ฤกษ์แล้ว จะทำการเตรียมการจัดงานแต่งงานต่อไป

พิธีการแต่งงาน

พิธีแต่งงานเป็นผลต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมการกินดอง โดยพิธีแต่งงานของชาวหนองบัวสมัยก่อน จะมีขั้นตอนดังนี้

1.กินเลี้ยง

การกินเลี้ยงส่วนใหญ่จะทำตอนเย็นก่อนวันผูกข้อมือ โดยจะเชิญผู้ที่ช่วยปลูกเรือน ทั้งหมดมาเลี้ยงอาหารเป็นการขอบคุณ รวมทั้งร่วมเป็นพยานในงานแต่งงานของเจ้าภาพอีกด้วย

2.ทำบุญ รดน้ำสังข์

เวลาประมาณ 7.00 น.ของวันผูกข้อมือจะทำบุญเลี้ยงพระ จากนั้นพระสงฆ์จะรดน้ำสังข์ ให้คู่บ่าว - สาว ตามด้วยญาติผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย

3.ยกขันหมาก

เมื่อทำบุญรดน้ำสังข์แล้ว ฝ่ายชายจะไปตั้งขบวนขันหมากนอกบริเวณบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งขันหมากจะประกอบด้วย ขนนต้ม ข้าวเหนียวห่อ (แป้งข้าวเหนียวห่อไส้มะพร้าว)ข้าเหนียวหัวหงอก(ข้าวเหนียวโรยมะพร้าว) ไก่ตัวผู้ต้ม 1 ตัว เหล้าขาว 1 ขวด กล้วย 2 หวี ขนมกงชะมุด ขนมสามเกลอ ขนมนางว่าว ขนมนางเล็ด หมาก พลู จำนวนลงท้ายด้วยเลข 4 เช่น หมาก 4 ผล พลู 4 ใบ เป็นต้น

4.เปิดขันหมาก

เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงบนเรือนผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย จะทำการเปิดขันหมาก และเปิดสินสอดว่าครบหรือไม่ ในสมัยนั้น เงินสินสอดจะเป็นเงินขวัญถุงสำหรับคู่บ่าว-สาว จำนวน 44 บาท 44 สตางค์ เงินขวัญถุงนี้ ห้ามนำไปซื้อสิ่งได้เป็นอันขาดคู่บ่าว-สาวจะ ต้องเก็บไว้เป็นเงินสินสอดไห้ลูกชายของตน (ถ้ามี) ไปสู่ขอเจ้าสาวในอนาคต

5.ส่งตัว

การส่งตัวจะกระทำเมื่อถึงเวลาค่ำ ถือฤกษ์สะดวก หรือฤกษ์ที่คิดว่าตัวเลขเป็นมงคล เช่น 19.09 น. เป็นต้น

ผัวคู่เมียคู่จะพาคู่บ่าว-สาว เข้าห้องหอ แล้วสอนการใช้ชีวิตคู่ จากนั้นจะให้ เจ้าสาวล้างเท้าเจ้าบ่าว แล้วกราบเท้าของเจ้าบ่าว 3 ครั้ง หลังจากนั้นเจ้าบาวจะถอดเครื่องประดับทั้งหมด(ซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วยทอง)ไห้เจ้าสาวเก็บไว้ ตลอดระยะเวลาที่แต่งงานกัน ภรรยาจะต้องกราบเท้าสามีก่อนนอนทุกคืน

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2535 วัฒนธรรมการกินดองของหนองบัวได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไป จากที่เคยเรียกว่า “การกินดอง” จะเปลี่ยน เป็นการ “หมั่นหมั้น” รวมทั้งขั้นตอนและกิจกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนี้

1.พูดทาบทาม

ในวันศุกร์ตอนเย็นฝ่าย ชายจะจัดผู้ใหญ่ 7 คนไปบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อทำการทาบทามและนัดหมายกำหนดวันหมั้นและตกลงค่าสินสอดด้วย

2.หมั้น

หลังจากตกลงกำหนดวันและค่าสินสอดหมั้นแล้ว ในวันจันทร์ใด ๆ ของทุกปีก็ได้ฝ่ายชายจะยกขบวนขันหมากมาสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งขันหมากจะประกอบด้วยสิ่งของคล้ายกับขันหมากแต่งงานสมัยก่อนแต่จะเพิ่มทองรูปพรรน โดยน้ำหนักทองจะลงจำนวนคู่เช่น ทอง 2 บาท เงิน 2 หมื่นบาท หรือทอง 4 บาท เงิน 4 หมื่นบาท

3.เป็น “คู่หมั้น”

การเป็น “คู่หมั้น” จะแตกต่างจากการเป็นคู่ดอง คือคู่หมั้นใกล้ชิดกันได้มากขึ้น แต่ต้องไม่น้องกว่าครึ่งเมตร

หากระหว่างหมั้นมีการเกิดสุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา ฝ่ายหญิงจะต้องคืนทองให้ฝ่ายชาย แล้ว ฝ่ายชายจะยกขันหมากมาหมั้นมาอีกครั้ง ตอนเช้ามืด (ประมาณ 5.00 น.) ของวันผูกข้อมือ

4.ปลูกเรือน

การตัดไม้จากป่าและการทำขวัญยังมีการยึดถือคล้ายสมัยก่อน(ยกเว้น กรณีที่ซื้อไม้สำเร็จรูป) จะแตกต่างกันตรงที่สมัยนี้มีการว่าจ้างปลูกเรือน เนื่องจากญาติอาจไม่มีเวลามาช่วยปลูกเรือน ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในพิธีการแต่งงานต่อไป

พิธีแต่งงาน

โดยทั่วไป พิธีการแต่งงานสมัยนี้จะคล้ายกับสมัยก่อน แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนี้

-การกินเลี้ยง ซึ่งในสมัยก่อนนั้น จะเลี้ยงอาหารผู้ที่มาช่วยปลูกเรือน แต่เมื่อทำการว่าจ้างแทน การเลี้ยงอาหารจะกระทำโดยแจกบัตรเชิญให้เครือญาติมาร่วมงาน ซึ่งผู้ที่มาในงานจะนำเงินใส่ซองมาช่วยเจ้าภาพ

เป็นการเอาแรงตอนพิธีหมั้น

-สินสอดซึ่งในสมัยก่อนจะมีเพียงเงินขวัญถุงให้กันเท่านั้น แต่สมัยนี้ ค่าสินสอดจะเพิ่มจำนวนขึ้น คู่แต่งงานบางคู่จะเพิ่มค่าสินสอดแทนการปลูกเรือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างสองฝ่าย

-การส่งตัว ในการส่งตัวสมัยก่อนนั้น เจ้าบ่าวจะถอดเครื่องประดับให้เจ้าสาวเก็บไว้ แต่เมื่อมีการหมั้นด้วยทองรูปพรรนแล้วเจ้าบ่าวจึงไม่จำเป็นต้องถอดเครื่องประดับให้เจ้าสาวเก็บไว้อีก

การสืบทอด

พิธีการต่าง ๆ ถูกสืบทอดโดยการดูตัวอย่างและการบอกเล่าจากบรรพบุรุษ

วิธีการหาข้อมูลในชุมชน

สัมภาษณ์

นางลึ้ม นุชเฉย อายุ 84 ปี อาศัยอยู่บ้าน เลขที่ 152 ม.1

ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

นางบังอร นุชเฉย อายุ 48 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 152/1 ม.1 ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

น.ส.สุภาเพ็ญ(อ้อย)นุชเฉย นิสิตคณะเกษตรศาสตร์ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก ผู้สัมภาษณ์ วันที่ 17-19 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2547

ขอเจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ บทความเรื่องกินดอง มีผิดพลาดตอนท้าย ๆ อยู่ตรงข้อความ"หมั่นหมั้น" ขอแก้ไขเป็น"การหมั้น"

อาตมาได้เข้าไปดูที่บล๊อคโอเคเนชั่นแล้วงานศิลปะของโยมอาจารย์สื่อความหมายได้ดีและการบรรยายประกอบเรื่องได้ชัดเจนดีมากเชื่อมโยงได้หลากหลายมิติอ่านแล้วมีความสุขสงบชุ่มชื่นใจเกิดปัญญาความรู้มีมุมองในการดำเนินชีวิตดี

จะแสดงความคิดเห็นบ้างก็ยังสมัครไม่ได้ ข้อมูลของอาตมากำลังรอการตรวจสอบจาก admi... หนังสือพุทธธรรมของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต)หาซื้อได้ยากหน่อยตามร้านหนังสือทั่วไป ถ้าใครมีความประสงค์จะซื้อให้ไปซื้อได้ที่ร้านจุฬาบรรณาคารภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม.

ขอเจริญพร

phramaha lae

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) ครับ

  • เรื่องกินดอง ที่พระคุณเจ้าให้โยมหลานสาว ทำกรณีศึกษาและสร้างความรู้ท้องถิ่นจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่าทั้งต่อความเป็นทุนทางวัฒนธรรม ต่อความเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น  และวิธีสร้างความรู้ที่ทำให้ท้องถิ่นเกิดภูมิปัญญาเกี่ยวกับกิจกรรมที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในชุมชน และในวิถีชีวิต มากเป็นอย่างยิ่งครับ
  • แนวการศึกษาอย่างนี้ หากใช้เป็นวิธีสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แล้วนำมาทำเป็นสื่อและแหล่งเรียนรู้ชุมชน ก็จะเหมาะมากเลยครับ เช่น ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดหนองกลับ ก็พบว่า สามารถรวบรวมข้าวของเครื่องใช้มาเก็บไว้มากมาย และการจัดแสดงก็ดูน่าสนใจ แต่น่าเสียดายมากเลยครับ ที่สิ่งของต่างๆ ไม่ค่อยมีความรู้ในลักษณะอย่างนี้กำกับไว้ด้วย 
  • สำหรับบ้านนอกและชนบทแล้ว งานสร้างความรู้ในลักษณะอย่างนี้ ผมคิดว่าเป็นงานในแนวที่พระสงฆ์จะทำได้ดีและก่อให้เกิดพลังการเรียนรู้ของชุมชนได้ดีที่สุดหากสามารถเสริมศักยภาพให้ท่านเป็นนักวิจัยแบบนี้ได้ด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันครับ เพราะอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความเป็นตักศิลาของพระสงฆ์และวัดที่เคยมีดังอดีตในแทบทุกเรื่อง กลับมามีบทบาท สอดคล้องและเท่าทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
  • หากมีกลุ่มพระสงฆ์แนวนักวิจัยชุมชนอย่างนี้ กับกลุ่มคนที่มีทักษะและความสนใจความเป็นนักวิจัยท้องถิ่นแนวนี้ เช่น พวกลูกหลานของท้องถิ่นที่กลับมาเป็นครูอาจารย์ ข้าราชการ หรือเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอก ที่ทำมาหากินอยู่บ้าน อยากทำกิจกรรมสร้างความรู้อย่างนี้ จากเรื่องรอบๆตัว หากรวมกลุ่มกันได้แบบไม่ต้องเป็นทางการ แล้วอยากพัฒนาวิธีการอย่างนี้ ผมยินดีมาร่วมเวทีและถวายการอบรมหรือนั่งคุยกัน ให้ได้นะครับ
  • กระผมยินดีเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการแก่พระเพื่อนของพระคุณเจ้าในเรื่องการวิจัยคุณภาพ ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ

นมัสการมาด้วยความเคารพ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์

กราบขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าได้เข้าไปชมบล๊อกผมในโอเคเนชั่นและให้การสะท้อนต่อเรื่องงานศิลปะของผมครับ งานที่นำเสนอในบล๊อกโอเคเนชั่นที่พระคุณเจ้าได้เข้าไปดูนั้น เป็นการนำเอางานวิจัยและองค์ความรู้จากวิธีสร้างความรู้ท้องถิ่นร่วมกับคนในท้องถิ่น มาทำงานสร้างสรรค์ และนำเสนอต่อสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งโดยวิธีการทางศิลปะ

ทรรศนะที่พระคุณเจ้าสะท้อนว่า อ่านแล้วสุขสงบชุ่มชื่นใจและได้ปัญญา นั้น สื่อแนวคิดสำหรับการทำงานชุดนี้ได้ดีที่สุดเลยครับ คือ ต้องการหาวิธีนำคนให้เข้าถึงความเป็นสุนทรียภาพและได้สัมผัสกับความละเอียดประณีตทางจิตวิญญาณภายใต้งานทางความรู้ ซึ่งวิธีการวิจัยและการถ่ายทอดความรู้แบบทั่วไปมีข้อจำกัด ทำให้คนได้ความรู้แต่เข้าไม่ถึงผัสสะระดับมโนปัญญาได้

คนก็เลยเกิดประสบการณ์ได้แค่ประสบการณ์ทางสมอง ไม่สามารถเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณจากงานวิจัยและงานทางความรู้ได้

ผมเลยทดลองผสมผสานงานสองด้าน คือ งานวิจัยและงานความรู้ที่นำมาพูดด้วยภาษาและวิธีการศิลปะ แล้วก็ลองนำมานำเสนอดูครับ

งานบางส่วนในนั้น ได้ทำขึ้นเพื่อไปจัดแสดงต่อสาธารณะ ที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีที่ผ่านมาด้วยครับ ท่านที่สนใจ สามารถเข้าไปชมเรื่องที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงที่นี่นะครับ  http://www.oknation.net/blog/silpa

อีกบล๊อกหนึ่ง มีตัวอย่างงานทำให้เรื่องของวัดและชุมชน เข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์ได้อย่างพอเหมาะ อาจจะเป็นแนวทำงานวิจัยชุมชนและสร้างความรู้ให้กับท้องถิ่นได้ ที่บล๊อกนี้ครับ  http://www.oknation.net/blog/moy

ขอร่วมอณุโมทนา และยินดีนสรรเสิญเป็นอย่างยิ่ง

และร่วมแสดงความยินดีกับท่านอาจารย์วิรัตน์

นี่แหละครับ การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้มีไว้ในห้องเรียนดังที่เค้าบอก การค้นหาหรือได้รับการถ่ายทอดจากโลกนอกห้องไม่สิ้นสุดเช่นในตำราจริงๆครับ

ผมได้ครูเพิ่มอีกเป็น 2ท่านแล้วมีความสุขมากถึงแม้ยังไม่ได้เอ่ยรับเป็นศิษก็ตาม

งานกินดองนี้ผมเคยเข้าไปเปิดดูกรณีศึกษา ของนักศึกษา เรื่อง งานกินดองที่บ้านเนินตาเกิด แต่ไม่สามารเข้าชมได้ไม่ทราบว่าเป็นคนๆเดียวกันที่ทำอยู่หรือป่าว ดังเช่นพระมหาอาจารย์ได้กล่าวข้างต้น

ผมยินดีที่สุดที่อาจารย์เอ่ยจะจัดเวทีคุย ถ้าเป็นไปได้ผมขอเสนอว่า น่าจะเป็นวันเข้าพรรษาที่วัดเทพสุทาวาส ถ้าเห็นด้วยเป็นการสมควร

ผมอยากชักชวนพักพวก พริกเกลือ ไปร่วมรับฟังการสนทนาบันยาย และจะขอกราบแสดงตนฝากตนเป็นศิษด้วยครับ

  • สวัสดีครับคุณเสวก ขอบคุณครับที่ให้เกียรติเป็นอย่างยิ่ง เราต่างเป็นครูและนักเรียนของกันและกันดีกว่าก็แล้วกันนะครับ ที่สำคัญคือเป็นคนหนองบัวเหมือนกัน
  • วันเข้าพรรษาก็เหมาะดีครับ แต่ผมเคยจัดในวันออกพรรษา ก็ดีเหมือนกัน สำหรับชาวบ้านแล้ว การทำกิจกรรมที่อิงอยู่กับงานบุญงานประเพณีในวระต่างๆ ก็คิดว่าเหมาะสมดีครับ แต่ทำกันเองไปก่อนก็ได้ครับ เรื่องอย่างนี้ทำได้เสมอๆ เมื่อมีโอกาสหารือและเตรียมการทำด้วยกันได้ ก็คงจะได้ผสมผสานหลายๆกิจกรรมที่ช่วยกันทำ ให้อยู่ในงานเดียวกัน
  • ที่วัดเทพสุทธาวาสและชุมชนวัดเทพนี่ มีเรื่องราวเยอะที่น่านั่งพูดคุยกันครับ
  • อีกวิธีหนึ่ง เวลากลับบ้านจะได้ทำอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ต้องทำให้เป็นงานใหญ่ผิดกว่าปรกติหรือเกินกำลังจนเกินไป เลือกทำกิจกรรมง่ายๆแต่มีความหมาย ทำให้ผู้คนมีความสุขที่จะเจอกัน ได้ความเป็นญาติพี่น้อง  ได้รู้และเห็นโลกกว้าง และเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ ได้วิธีคิดและเกิดการหล่อหลอม หากต้องออกไปทำงานหรือไปเรียนไกลบ้านช่อง ก็จะได้เตรียมตนเองให้พึ่งตนเองและเรียนรู้ที่จะเผชิญชีวิตไกลบ้าน ให้มีความหมาย  ทั้งต่อตนเอง และต่อการเป็นคนดีของสังคม ที่ไปอยู่ที่ไหนก็ดี เช่น ให้พวกที่มีโอกาสไกลบ้านหรือย้ายถิ่นไปเรียนหรือไปทำงานที่อื่น นั่งคุยประสบการณ์ชีวิตและเรื่องราวต่างๆให้ฟัง  วิธีนี้พวกผู้ใหญ่ พ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่ ก็ชอบครับ สลับกับการคุยกันของชาวบ้าน
  • หากมีโอกาส ก็เก็บรวบรวมข้อมูลตนเองไว้อยู่เสมอ เช่น  ถ่ายรูป และหมั่นทบทวนประสบการณ์ในชีวิตตนเอง หาแง่มุมที่เกิดการเรียนรู้และคิดว่าคนรุ่นหลังเมื่อได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเราแล้ว  เขาจะต้องทำได้ดีกว่าเรา  เหล่านี้แหละครับ นำกลับไปฝากกัน  มีเครื่องฉายรูปถ่าย หากใครเล่นกีตาร์หรือดนตรีเป็น ก็เล่นผสมผสาน ทำให้เป็นเรื่องสบายๆและเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุขใจ
  • เวลากลับบ้านและทำกิจกรรมกับชุมชนญาติพี่น้องของเราเอง ก็ทำด้วยความปรารถนาให้ผู้อื่นได้สิ่งดีงามเข้าสู่ชีวิต  เรื่องนี้ต้องคิดเหมือนกันครับ  เวลากลับบ้าน หากหลีกเลี่ยงหรือจัดวางตนเองได้ ก็ควรเป็นตัวอย่างของความไม่ฟุ้งเฟ้อ  ไม่นำสิ่งไร้สาระของชีวิตไปให้คนรุ่นหลังเอาอย่าง  บ้านนอกของเรามันแย่อยู่แล้วในหลายเรื่อง ต้องให้เขาเป็นส่วนหนึ่งที่จำนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น 
  • อย่าพากันอวดมั่งอวดมีเพราะคนรุ่นหลังหรือคนที่ฐานะไม่ดีจะเรียนรู้ว่า ต้องเป็นคนมากมีทางวัตถุถึงจะกลับบ้านและไปทำสิ่งต่างๆด้วยกันแล้วจึงจะไม่ต้องอายใคร ต้องแสดงให้ผู้คนรู้สึกว่า การได้กลับบ้าน มีชุมชนและมีญาติพี่น้องนั้น เป็นความมั่งคั่งร่ำรวยของชีวิตที่สุดแล้ว และการที่แต่ละคนได้กลับเป็นทำสิ่งดีด้วยกันเมื่อกลับบ้าน  ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างที่สุดแล้ว ทำนองนี้แหละครับ  และเราเองก็จะได้ทำสิ่งต่างๆอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง
  • ผมมีตัวอย่าง ที่เคยทำบนศาลาวัดที่บ้านผม บ้านตาลินน่ะครับ ที่นี่ครับ  http://gotoknow.org/blog/edtech-research/217803
  • ชอบที่คุณเสวกคิดและพยายามทำน่ะครับ ขอให้กลุ่มพริกเกลือได้ทำกิจกรรมดีๆ เสมอๆครับ แค่คิดก็งดงามและได้ความดีงามแล้วครับ
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรคุณโยมอาจารย์วิรัตน์ พออาตมาอ่านข้อเขียนคุณโยมเสวกและคำตอบจากคุณโยมอาจารย์จบก็รีบตามไปอ่านเรื่อง"ทุนและสิ่งของกับวิธีให้เพื่อสร้างคนและชุมชน"ของโยมอาจารย์ทันทีเลย โยมอาจารย์เขียนหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ทราบซึ้งจับใจมองเห็นภาพสามารถปะติดปะต่อความเป็นไปในท้องถิ่นอย่างมีอรรถรสชวนให้ติดตามใคร่รู้ตามไปด้วย ตอนเป็นเด็กคนหนองบัว-หนองกลับเรียกคนแถวบ้านอาจารย์(บ้านตาลิน)และอีกหลายหมู่บ้านว่าเป็นคนลาว คงเรียกตามภาษาที่พูดมากกว่าที่จะให้มีความหมายว่าไม่ใช่คนไทย ถ้าเป็นเด็กด้วยกันก็จะเรียกแบบล้อเลียนแซว ๆ กันไปสนุกสนาน และคนหมู่บ้านดังกล่าวนั้นก็จะพูดล้อเลียนคนหนองบัว-หนองกลับ แบบเสียงเหน่อ ๆ ทำให้มีความขบขันล้อเล่นล้อเลียนกันไปตามประสาเด็ก ๆ ขอตอบข้อสงสัยคุณโยมเสวกตรงนี้ว่ากรณีศึกษาประเพณีกินดอง บ้านเนินตาเกิดที่อยู่ในเว็บไซต์นั้นคนละคนกันไม่ใช่หลานสาวอาตมาภาพ และด้วยความอยากรู้เช่นเดียวกันก็ลองเข้าไปดูแต่ไม่สามารถเปิดอ่านได้ บ้านอาตมาและบ้านหลานสาวอยู่บ้านเนินตาโพถ้าใครมีข้อมูลที่กล่าวถึงนี้อยากให้เอามาเผยแพร่ให้ได้อ่านกันบ้างก็จะขอบคุณอย่างมากเพราะปรารถนาจะอ่านอยู่พอดี ก็ขอเจริญพรขอบคุณและอนุโมทนาคุณโยมเสวกที่ให้เกียรติอาตมาภาพแต่อาตมาก็ขอเป็นเพียงคนรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดเหมือน ๆ กับคุณโยมเสวกก็พอแล้วเนาะเพราะเป็นคนมีความรู้น้อยไม่ใช่น้อยธรรมดานะแต่น้อยมาก ๆ ด้วย ขอให้คุณโยมเสวกทำกิจกรรมกลุ่มพริกเกลืออย่างมีความสุขถ้าเข้าพรรษาที่จะมาถึงนี้(๘ ก.ค. ๒๕๕๒)กลุ่มพริกเกลือมาทำกิจกรรมที่วัดเทพสุทธาวาส ก็ขอฝากกราบนมัสการท่านพระครูสมเจ้าอาวาสวัดเทพฯด้วยก็แล้วกัน มีเวลาว่างคงได้ไปพบท่านด้วยตนเอง

                                            ขอเจริญพร

                                             phramaha lae

  • ผมอ่านการทบทวนอดีตของพระคุณเจ้าเกี่ยวกับบ้านตาลินแล้วก็ต้องนั่งอมยิ้ม อย่างที่พระคุณเจ้าว่านั้นนับว่าใช่เลย ผมและคนรุ่นผมเป็นกันอย่างนี้แหละครับ พวกเพื่อนๆก็ชอบล้อพวกผมว่าไอ้ลาว ลาวกินปลาร้า แต่ผมไม่มีความรู้สึกเป็นเรื่องอื่นเลยนอกจากการเล่นกัน รวมทั้งเอาชื่อพ่อผมมาเรียกผม ไม่เรียกธรรมดานะครับ เรียกว่าไอ้เลยอีกด้วย
  • ผมก็ทำอย่างนั้นกับเพื่อนๆเหมือนกัน อย่างที่พระคุณเจ้าว่าเปี๊ยบเลย คือ ก็เรียกล้อเลียนพรรคพวกในตลาดหนองบัวว่า ไอ้พวกเหน่อบ้าง  ไอ้ลูกเจ๊กบ้าง(ต้องขออภัยนะครับ เป็นการยกตัวอย่างเฉยๆในเรื่องที่เกี่ยวกับวัยเด็กของคนรุ่นผมครับ) บางทีไม่ล้อเลียนเปล่า แต่ทำเสียงไล่ควายแบบเหน่อๆของคนหนองบัวแบบ หึยยย ล้อเลียน แล้วก็เอาชื่อพ่อของเพื่อนๆมาเรียกเพื่อนๆเหมือนกัน
  • เวลาถูกล้อ ผมกลับผสมโรงไปด้วยกับเพื่อนด้วยซ้ำ เช่น ปลาร้านี่ต้องมีหนอนด้วยถึงจะเป็นของแท้  แล้วพวกเพื่อนๆก็ไม่เห็นว่าจะชอบกินปลาร้านะครับ ร้องยี้เอาด้วยซ้ำ แต่ผมกับเพื่อนๆก็รักใคร่ราวกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกัน เขาล้อเลียนแต่ก็ไปคลุกคลีตีโมงที่บ้านและชุมชนผมได้ ไปเล่น ไปเที่ยว ไปกินข้าวกินปลาบ้านกันและกันได้ ไม่ว่าจะเป็นแต่ก่อนหรือเดี๋ยวนี้
  • ตอนแรกที่ผมได้ยินเรื่องกลุ่มพริกเกลือที่คุณเสวกเล่ามา ผมเลยแปลกใจไงครับว่าเป็นอย่างนี้จริงหรือ คนหนองบัวกินปลาร้าสับเป็นด้วยหรือ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจ ยิ่งมีการทำให้เป็นชื่อกลุ่มและถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยนี้ ก็ยิ่งแปลกใจปนขำๆ
  • ชอบที่พระคุณเจ้าและคุณเสวก มีทรรศนะในการรณรงค์การรักษ์ถิ่นเกิด และถือเป็นหนึ่งในแนวการดำเนินชีวิตตนเองนะครับ ผมก็ชอบครับ และการรักษ์ถิ่นเกิดนี้ ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นเพียงการอนุรักษ์ท้องถิ่นที่เป็นถิ่นเกิด ทว่า มีความหมายต่อการที่ต้องเป็นคนมีสำนึกต่อความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนรวมของทั้งถิ่นเกิดและถิ่นที่ตนอาศัย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็เป็นคนที่เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงตนเองด้วยชีวิตจิตใจกับแห่งนั้น

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

คนหนองบัว กับเพลงโคราช

คนหนองบัว-หนองกลับรุ่นเก่าหรือคนเฒ่าคนแก่สมัยนี้ในอำเภอหนองบัวเมื่อมีงานประเพณีประจำปีในวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)และวัดน้อยหรือวัดใหม่(วัดเทพสุทธาวาส) หรือมีงานทำบุญครบรอบร้อยวัน (๑๐๐ วัน)ให้พ่อ-แม่,ปู่-ย่า,ตา-ยาย ลูก ๆ หลาน ๆ ของท่านเหล่านั้นที่เป็นคนมีฐานะในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับ จะหามหรศพยอดฮิดอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำวัยของคนรุ่นนี้เป็นการเอาใจ(ผู้สูงวัย)และผู้ที่ล่วงลับไปก็ชอบด้วยเช่นกันและมหรศพที่ว่านั้นจะขาดไม่ได้เลยก็คือ เพลงโคราช คณะเพลงโคราชนี้มาจากจังหวัดนครราชสีมาทำการแสดงในงานดังกล่าว เวลาประมาณ ๒๐. ๐๐ น ผู้สูงวัยทั้งหญิงและชายจะเตรียมตัวเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เวลายังไม่ค่ำ เพราะการเดินทางต้องอาศัยลูกหลานไปส่งไปเองไม่ไหวเรียกว่าต้องหามไปงานทั้งผู้แสดงและผู้ชมเลยทีเดียวเชียว (ศิลปินผู้แสดงก็สูงวัยเหมือนกัน) เพลงโคราชเท่าที่เห็นมาตั้งแต่เด็กเมื่อทำการแสดงแล้วไม่แจ้ง(สว่าง)ไม่เลิกเล่น ผู้ชมส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงกันว่าเพลงโคราชนั้นยิ่งดึกยิ่งเล่นดี ตอนหัวค่ำจะเล่นเพลงทั่ว ๆ ไป เกริ่นกล่าวถึงท่านเจ้าภาพบ้างท่านผู้ล่วงลับบ้าง แฟนคลับบ้าง แฟนเพลง(โคราช)ที่เป็นขาประจำบ้าง ร้องเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านนิทานชาด พระรัตนตรัย การสร้างบุญสร้างกุศล ภาคหัวค่ำเล่นเป็นเรื่อง ภาคดึกเล่นเรื่องใกล้ตัวที่ชวนหัวจะมีโจ๊กผสมสองแง่สามง่ามต่อว่าต่อขานกันด้วยบทเพลงบทกลอนและด้วยความสามารถของพ่อเพลงแม่เพลงระดับมืออาชีพถึงจะมีการเล่นสองแง่สามง่ามแต่คำที่ใช้เป็นศิลปะชั้นยอดจริง ๆ ฟังแล้วไม่หยาบคายหยาบโลนแต่อย่างใด ฟังแล้วก็ขำตลกสนุกสนานเพลิดเพลิน และตรงนี้นี่เองที่เป็นมุขประจำตัวของแต่ละท่านโดยแท้ จะติดหูประทับใจหรือไม่ดูกันตรงนี้เพราะเล่นสด ๆ ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้บทร้องฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ภาษคอเพลงเรียกว่าแก้ตก ถ้าพ่อเพลงหรือแม่เพลงแก้ได้ดีถูกใจถึงใจพระเดชพระคุณท่านผู้ชมก็จะตบมือบ้าง ถ้าถูกใจมาก ๆ ถึงกับให้รางวัลตบรางวัลก็มี เช่น พวงมาลัย เงิน บางคณะเล่นถึงแจ้งจางปางจนตะวันขึ้นเลยก็มี ดังนั้น คนหนองบัว-หนองกลับที่สูงวัยในปัจจุบันจึงร้องเพลงโคราชได้หลายท่านและสามารถร้องได้ถึงขั้นถ้าไม่ได้เห็นตัวผู้ร้องอาจนึกว่าผู้ร้องเป็นคนโคราชเลยแหละ ทำไมเพลงโคราชจึงเป็นที่ชื่นชอบของคนหนองบัว ทำไมคนหนองบัว-หนองกลับจึงเลือกเสพศิลปะเพลงพื้นบ้านที่มาจากถิ่นอื่นแดนไกล ยิ่งสมัยที่ถนนหนทางไม่มีให้สัญจรได้สะดวกเหมือนสมัยนี้ แต่แปลกทำไมเพลงโคราชจึงเดินทางมาถึงหนองบัวได้ ถ้าเป็นชุมชนรอบนอกหนองบัวนั้น มีชาวโคราชมาอาศัยอยู่พอสมควร เช่นที่บ้านรังย้อย บ้านห้วยธารทหารอาตมายังไม่ทราบข้อมูลว่าหมู่บ้านดังกล่าวนิยมฟังเพลงโคราชหรือไม่ ที่เป็นข้อคำถามอยากชวนโยมอาจารย์คุยก็คือทำไมคนหนองบัว-หนองกลับที่เป็นผู้สูงวัยจึงนิยมชมชอบเพลงโคราชหรืออาจจะเป็นเพราะคนหนองบัว-หนองกลับมีเทือกเถาเหล่ากอเป็นชาวโคราช แต่คนหนองบัวก็ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นลูกหลานคนโคราช ซึ่งผิดกับชุมชนรอบนอกหนองบัวที่เขาบอกว่าบรรพบุรุษของเขาเป็นคนโคราช โยมอาจารย์สืบเสาะค้นหาตามร่องรอยของตัวเองได้ถึงสระบุรี สงสัยอาตมาต้องขอเชิญชวนชาวหนองบัวที่เป็นนักศึกษาครูบาอาจารย์นักวิจัยนักประวัติศาสตร์ที่เป็นลูกหลานคนหนองบัวช่วยกันสืบสาวหาโครตเหง้า(ขออภัยนะถ้าคำนี้เป็นคำไม่สุภาพ) แต่ในเบื้องต้นนี้ขอความคิดเห็นจากโยมอาจารย์วิรัตน์ก่อนในฐานะลูกคนหนองบัวคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนบ้านเรา. ขอเจริญพร พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

  • ผมมีความสุขมากเลยครับ  ทั้งจากการได้อ่านเรื่องที่พระคุณเจ้าเขียนคือเรื่องท้องถิ่นหนองบัว ชุมชนรังย้อย และขนบเพลงโคราช และทั้งจากวิธีการเขียนของพระคุณเจ้า ผมอ่านไปก็ทึ่งไป เนื่องจากพระคุณเจ้าเขียนหนังสือดีจริงๆ
  • อันที่จริง เพลงโคราช เป็นที่นิยมของแถวบ้านเรา ทั้งในหนองบัว รังย้อย ไปจนถึงที่ชุมชนบ้านผม ทั้งแถวห้วยถั่วกลางและชุมชนบ้านตาลิน ผมคุ้นเคยและติดหูติดตามาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็มักขวนขวายหาซื้อเพลงโคราชมาฟัง เพราะคิดถึงบ้าน  คิดถึงบรรยากาศชนบท
  • เมื่อองเดือนที่แล้ว ผมได้เป็นวิทยากรให้กับเครือข่ายวิจัยสื่อพื้นบ้าน ก็มีพี่คนหนึ่งแกเป็นศิลปินเพลงโคราช โอโฮ ฟังแกลุกขึ้นมาร้องทีไร  ก็อยากจะปูเสื่อให้แกร้องให้เป็นเรื่องเป็นราวสักเรื่องเลยทีเดียว
  • ขนบการเล่นเพลงโคราชอย่างที่พระคุณเจ้าเล่านั้น ก็เหมือนกับทางหมอลำนะครับ ศิลปินพื้นบ้านมักสืบทอดปัญญาที่ลึกซึ้งผ่านการสืบทอดความเป็นศาสตร์ของครูอาจารย์ตน การได้สืบทอด ถือว่าเป็นปฏิบัติบูชา และเป็นการสักการะ เป็นบุญเป็นกุศลต่อพระศาสนา ยิ่งในยุคก่อนโน้น หมอลำและเพลงโคราช ซึ่งแถวบ้านผมเรียกเพลงฉ่อย  มักทำหน้าที่หลายอย่าง อีกทั้งต้องเล่นยันแจ้งอย่่างที่พระคุณเจ้า คือ  (๑) แสดงหลักพระศาสนา สืบทอดหลักธรรมคำสั่งสอน เพื่อกล่อมเกลา หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของชาวบ้าน โดยปรกติก็มักอยู่ในช่วงต้นๆ(๒) บอกข่าว สื่อสาร สร้างความเชื่อมโยงให้แก่ผู้คน บอกกล่าวว่าเป็นใคร มาจากไหน บ้านเกิดเมืองนอน เป็นอยู่กันอย่างไร แล้วก็ฝากเนื้อฝากตัว เป็นญาติเป็นมิตรกัน (๓) ให้คติชีวิต ให้การเรียนรู้ทางสังคม โดยเฉพาะฮีตและครรลองต่างๆ (๔) ให้ความบันเทิงใจ เล่นปฏิภาณ ตลกขบขัน และอีโรติค(๕) พอใกล้สว่าง ก็จะให้หลักธรรม แล้วก็รำเพลงลา
  • เสาะหาโคตรเหง้านี่ไม่หยาบหรอกครับ ผมก็จะขอใช้ด้วยครับ
  • ผมเองนั้นก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกลุ่มดั้งเดิมของชาวบ้านหนองบัว ที่มีโคตรเหง้าจากโคราชเลย รู้แต่ว่าชาวบ้านรังย้อยนั้น มีสำเนียงแบบไทยโคราช มีกลุ่มคนเก่าแก่ และมีคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี มากกว่าชุมชนรอบนอกอื่นๆ
  • คนเฒ่าคนแก่แถวบ้านรังย้อยนั้น ผมรู้จักและเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถือหลายคน ครูแตรของผม และเป็นครูของครูแตรผม ก็เป็นคนรังย้อย ชื่อตาปุ่น
  • พ่อใหญ่อิ้ม ก็เป็นคนเก่าแก่และเป็นผู้มีศรัทธาเข้มแข็ง เป็นที่เคารพนับถือทั้งของลูกหลานชาวรังย้อยและชาวชุมชนบ้านตาลิน ลุกหลานและเหลน รวมทั้งวงวานว่านเครือ ทำราชการหลายคน ทั้งเป็นครู ทหาร หมอ ทั้งในท้องถิ่นและในส่วนกลาง บ้านแกอยู่ริมถนนของบ้านรังย้อยเลย  ไปเสาะหาและรวบรวมคำบอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นมา ก็เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนต้นเรื่องได้ครับ
  • ลูกหลานรุ่นแรกๆ ของชาวรังย้อยที่เข้ามาเป็นชาวตลาดหนองบัวก็มีครับ ผมพอรู้จักก็จำเพาะที่เป็นพ่อแม่และครอบครัวของเพื่อนๆพี่ๆ ที่เรียนหนองคอกด้วยกัน เท่าที่นึกออกก็คือ พ่อแม่ของคุณครูพิมพ์ทิพย์ นามสกุลเดิมคือ บัวสนิท ภรรยาของอาจารย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาเขตพื้นที่หนองบัว (ต้องขออภัยครับที่นึกนามสกุลไม่ออก) ซึ่งเป็นคนทำร้านตัดเสื้อผ้าเก่าแก่ของหนองบัว ชื่อร้าน เลิศภูษา ตั้งแต่ยุคที่โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว อยู่ตรงตลาดหนองบัว
  • คุณครูพิมพ์ทิพย์ ปัจจุบันก็เป็นครูอยู่โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)นั่นเอง เธอเป็นลูกหลานชาวรังย้อยและลูกหลานของตาอิ้ม ตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของชุมชนรังย้อย  อ้อ ผมเพิ่งนึกได้ วิเศษอย่างยิ่งเลย เธอเป็นครูสอนดนตรีและเป็นคนร้องเพลงที่ดีเยี่ยมมากด้วยครับ เรื่องเพลงโคราชนี้เธอย่อมทั้งแตกฉาน ร่วมศึกษา พูดคุย และร้องระดับแสดงโชว์ได้แน่นอน ไม่ใช่เฉพาะหนองบัวครับ ระดับประเทศก็ได้ 
  • ที่สำคัญ เป็นคนเอื้อเฟื้อ กว้างขวาง รู้จักกันทั่วทั้งตลาดอำเภอหนองบัวนั่นแหละครับ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่และเด็กๆ อันที่จริงให้เด็กๆลูกหลานหนองบัวมาแสดงโดยให้คุณครูและโรงเรียนเป็นแหล่งฝึกฝนให้ ก็คงจะเป็นเรื่องงดงาม สืบทอดพัฒนาการของท้องถิ่น และสร้างการศึกษาเรียนรู้อย่างบูรณาการแก่เด็ก ได้เป็นอย่างดีนะครับ

กราบมนัสการด้วยความเคารพครับ

  • มีอีกสองท่านที่อยากแนะนำครับ อีกท่านหนึ่ง คือ คุณครูชัยยุทธ ภู่เกต  ท่านเป็นข้าราชการบำนาญ ทว่า มีบทบาทในเรื่องสำคัญๆอยู่หลายเรื่อง เมื่อปีสองปีที่ผ่านมาท่านบอกว่าเป็นประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอหนองบัวด้วย ซึ่งถ้าหากว่าผมจำไม่ผิดและท่านก็ยังคงทำงานทางวัฒนธรรมให้ชุมชนอยู่ด้วยแล้วละก็  นับว่ายิ่งเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะท่านเป็นทั้งนักวิชาการ เป็นผู้บริหาร เป็นคนอาวุโส มีผู้เคารพนับถือและลูกศิษย์ลูกหา เรียกว่าทั่วอำเภอ และที่รังย้อยนั้น คนหลักๆ ครูอาจารย์ และคนที่ไปได้ศึกษาเรียนรู้พอทำงานได้นั้น แทบจะเป็นลูกศิษย์ของท่านทุกคนเลยครับ 
  • ที่สำคัญคือ ท่านเป็นคนสนใจในแนวนี้ด้วยครับ ทั้งเรื่องทางการศึกษา วัฒนธรรม พัฒนาคนและชุมชน เพียงท่านออกปากและแดวงความสนใจ ผมว่าคนมาช่วยลงแรงกันเต็ม เพราะอยากทำสิ่งต่างๆที่ดีกันอยู่แล้ว รอคนที่ใกล้ชิดกับพื้นที่พาทำเท่านั้นเองครับ และถ้าหากได้พระคุณเจ้า และผู้นำทางจิตใจมาเป็นกลุ่มผู้นำด้วย ก็จะยิ่งน่าสนุกและมีกำลังใจกันนะครับ
  • อีกท่านหนึ่งคือคุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไผ่น่ะครับ นอกจากเป็นนักวิชาการด้านการศึกษาแล้ว คุณครูพนมเป็นนักวิจัยแนวชุมชนที่มีประสบการณ์และมีเครือข่าย เชื่อมโยงได้ถึงระดับประเทศ เครือข่ายวิชาการของคุณครูพนม เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายการทำงานของผมด้วยด้วยครับ แล้วก็เขาเป็นสามีเพื่อนผมด้วยคือคุณครูสุนนท์ จันทร์ดิษฐ์ ซึ่งก็เป็นครูโรงเรียนหนองบัว คุณครูพนม มีแนวทำงานกับชุมชนและทำงานที่เชื่อมโยงเรื่องการศึกษาเรียนรู้กับความเป็นชุมชนครับ

คุณครูชัยยุทธ ภู่เกต เป็นครูผมด้วยครับ ภรรยาของท่านคือคุณครูเสาวนิตย์ ภู่เกต ก็เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษา ๒ ของผม ทั้งสองท่านตอนนี้ก็อยู่หนองบัวครับ ทั้งผม พี่น้อง พ่อแม่ รวมทั้งชาวบ้านชุมชนบ้านตาลิน ไม่เพียงเคารพรักว่าท่านเป็นครูอาจารย์อย่างเดียว แต่ผูกพันอย่างเป็นญาติผู้ใหญ่และเป็นผู้นำทางจิตใจเลย 

                       เสียงไล่ควาย

          โยมอาจารย์วิรัตน์เป็นคนช่างจดช่างจำจริง ๆ อาตมาเป็นลูกหนอบัวแท้ ๆ เกือบลืม ๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทองทองนี้ไปเหมือนกันพอโยมอาจารย์พูดถึงก็นึกขำตามไปด้วย ทำให้นึกตัวเองตอนทำนาต้องตื่นแต่เช้าขี่ควายไปนาเพราะนาของคนหนองบัวส่วนมากจะอยู่ไกลบ้านไม่เหมือนแถวบ้านตาลินบ้านโยมอาจารย์และหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งมีนาอยู่ติดกับบ้านตื่นแจ้งหน่อยก็ไม่เป็นไรมีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร ไถนาตอนนั้นวันไหนแดดร้อนมากคนก็เหน็ดเหนื่อยควายก็หอบตัวโยนกว่าจะได้ปลดคอมออกจากคอควายก็ประมาณพระตีกลองเพลตกตอนบ่ายก็นำควายไปเลี้ยงปลายนาจนเกือบค่ำค่อยกลับบ้าน

          วันหยุดประจำสัปดาห์สำหรับคนและ(น่าจะ)ควายด้วยที่อยากให้ถึงไว ๆ คือวันพระ วันพระคนก็ได้หยุดพักควายก็ได้หยุดพักอานิสงส์จากวันพระทำให้ควายได้กินหญ้าอิ่มหน่ำสำราญหนึ่งวัน พ่อแม่คนแก่คนเฒ่าก็ได้บำเพ็ญทานรักษาศีลตามวัดวาอารามจำได้ว่าโรงเรียนห้วยน้อยก็ปิดวันโกนวันพระด้วยเพราะโรงเรียนใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียนมีนักเรียนกี่ชั้นก็เรียนบนศาลาแต่ละมุมศาลาก็จัดเป็นห้องเรียนแต่ละชั้นอาตมาเรียนที่โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม แต่นาอยู่แถววัดห้อยน้อยถึงจะไม่ได้เรียนที่นี่ก็จริงแต่ก็ยังจำครูสาคร(นึกนามสกุลไม่ออก)ได้เป็นอย่างดี ในวัดจะมีส้วมรวมหรือส้วมสาธารณะอยู่หนึ่งหลังปลูกแบบยกชั้นสูงมีหลังคาสะพานที่พาดขึ้นไปก็น่ากลัว ข้างล่างขุดหลุมลึกประมาณ ๑-๒ เมตรนึกสภาพย้อนไปเมื่อเกือบสี่สิบปีคิดว่าเป็นส้วมที่สมัยไม่น้อยเพราะทำได้สวยปกกิดมิดชิดไม่กลัวคนเห็นเวลาถ่าย กระดาษทิชชู่ก็ไม่มี ก็ต้องใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่เล็ก ๆ คล้ายตอกมัดข้าวฝ่อนมัดกล้าแทนกระดาษทิชชู่(คนสมัยนั้นเรียกว่าบ๊อก-ไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ตามบ้านเรือนช้าวบ้านก็มีหรือบางคนก็ไปตามทุ่งนาหลังบ้านท้ายบ้าน)

            นึกถึงการไล่ควายแบบสำเนียงคนหนองบัวแล้วสุดคลาดสิคจริง ๆ ไม่มีใครเหมือนและก็ไม่เหมือนใครอีกด้วยคนหนองบัวจะชินกับเสียงไล่ควายแบบที่โยมอาจารย์เขียนมาไม่ค่อยมีความรู้ว่าเป็นสำเนียงที่แปลกอะไร แต่คนต่างถิ่นเมื่อได้ยินเป็นต้องอมยิ้มกับเสียงที่ได้ยินแล้วก็อดขำไม่ได้ถ้าใครอยากทราบว่าออกเสียงไล่ควายแบบไหนขอให้ไปอ่านบทความของโยมอาจารย์วิรัตน์ก็แล้วกันจะต้องได้อรรถรสแน่นอน

          ทำบุญทำทานเมื่อนึกถึงก็ตรวจน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้วัวควายที่เคยใช้ไถนาเทียมเกวียนขี่ไปนาไปไร่เราได้เคยพึ่งพาอาศัยเขาทำมาหากินนับว่าเป็นเพื่อนแท้อย่างหนึ่งที่ยังไม่ลืมเลือนวัวควายส่วนมากอยู่ด้วยกันจนแก่ชราตายจากไปก็นึกสงสารเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันก็เมื่อล้มหายจากเจ้าของก็ขอให้ไปสู่สุคติภพภูมิที่ดีเรื่องแบบนี้บางทีก็เกิดความซาบซึ้งขึ้นได้.

                             ขอเจริญพร

                          พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขอแก้คำผิดบทความเสียงไล่ควาย คือคำ หนอบัว เป็นหนองบัว ทองทอง เป็นทำนอง นึกตัว เป็นนึกถึงตัว ปกกิด เป็นปกปิด

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • สนุกครับ เกร็ดความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนที่เกิดและโตมากับชุมชนอย่างนี้  อย่างเรื่องไม้เช็ดก้น ทั้งวิธีทำและชื่อเรียกแบบท้องถิ่น 
  • ลักษณะของส้วมนั้น ผมทันได้เห็นส้วมอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าเป็นบันทึกไว้ครับ วันไหนพอมีเวลาและจิตนิ่งดีสักหน่อย ผมจะวาดรูปประกอบให้ครับ
  • เรื่องของพระคุณเจ้านี้เป็นหมายเหตุสังคมที่กล่าวได้ว่าสร้างขึ้นจากความรู้ของคนที่เสมือนเป็นเลือดเนื้อและส่วนหนึ่งในความเป็นชุมชนเลยทีเดียวครับ เป็นความรู้จากโลกทัศน์และชีวทัศน์ของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่กับตัวคนและสืบทอดไว้กับสังคมด้วยมุขปาฐะ พูด คิด ฟัง แล้วก็จำและสะท้อนไว้ในกิจกรรมต่างๆของวิถีชีวิตและการทำกิน ซึ่งก็มักขาดๆเกินๆไปตามธรรมชาติของคน  พระคุณเจ้าเล่าและชวนคุย บันทึกเป็นความรู้ไปในตัวอย่างนี้ จึงมีคุณค่ามากครับ ขอกราบอนุโมทนาในการถ่ายทอดให้เป็นทานทางปัญญาครับ
  • นอกจากการต้องตื่นแต่เช้ามากมายแล้ว  ชาวบ้านแถวบ้านผมก็มักกล่าวอย่างชื่นชมคนหนองบัวและหนองกลับไปด้วยอีกอย่างหนึ่งครับว่า เป็นคนขยันและทำนาเก่ง ก็คงจะเกิดจากการเห็นวิถีการทำนาของชาวบ้านอย่างที่พระคุณเจ้าเล่านั่นเอง
  • อีกอย่างหนึ่ง การทำคอกควาย เทคโนโลยีชาวบ้านและภูมิปัญญาในการดูแลควายของชาวหนองบัวก็น่าสนใจมากครับโดยมักทำเป็นคอกปลักตม เวลากลางคืนที่ควายนอน ก็จะนอนกันอยู่ในปลักซึ่งนับเป็นความชาญฉลาดที่สุด 
  • ก็อย่างที่พระคุณเจ้าเคยกล่าวมา  หนองบัวและหนองกลับในยุคที่เป็นบ้านป่าดงดอนนั้น  ยุง เหลือบ แมลง งู และสัตว์มีพิษในตอนกลางคืนนั้น มันเยอะมากมายจริงๆครับ  สุมไฟรมควันไล่ให้ควายไม่มีทางไหว อีกทั้งอันตรายและรบกวนการหลับนอนอีกด้วย ในชนบทหลายแห่ง รวมทั้งแถวบ้านปู่ย่าผมที่บ้านไร่-อุทัยธานี ชาวบ้านก็มีวิธีทำคอกควายอย่างนี้เหมือนกันครับ
  • ที่พระคุณเจ้าย้อนความทรงจำว่า วันโกนและวันพระ ชาวบ้านก็จะให้วัวควายได้พักผ่อน ไม่ทำบาปกรรมโดยการใช้งานหนัก และปล่อยให้กินหญ้าอย่างเต็มที่นั้น เป็นวงจรชีวิตที่ลึกซึ้งจริงๆ
  • ขับเคลื่อนแบบแผนการผลิตในวิถีชุมชน และเป็นวงจรผลิตซ้ำที่ทำให้การพัฒนาจิตใจและการเรียนรู้ที่มากับกิจกรรมวัฒนธรรมมีความมั่นคงยั่งยืนอยู่กับความเป็นจริงของชุมชนชาวบ้าน 
  • ยิ่งในช่วงพรรษากาล ทุกเย็นก็จะมีการตีกลองและระฆังย่ำค่ำ สามรอบ ซึ่งในความหมายหนึ่ง ก็ทำให้หนังวัวควายที่ได้นำมาทำเป็นกลองได้ใช้สอย ทำให้วัวควาย สัตว์ที่เป็นคุณต่อชาวบ้าน ได้กราบพระและเข้าใกล้ธรรม เรื่องเล็กๆน้อยๆพวกนี้มีเหตุผลและเป็นกุศโลบายต่อวิถีชุมชนมากจริงๆ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

มีภาพควายมาให้พักสายตานะครับ เป็นงานเขียนสีน้ำของผมเองครับ ลักษณะควายนอนปลักอย่างที่คอกควายของชาวหนองบัวที่ผมเคยเห็นนั้น มีลักษณะคล้ายอย่างนี้เหมือนกัน แต่มักทำไว้ในบ้าน กลางวันควายก็อยู่ตามปลวกใต้ร่มไม้ หรือปล่อยเดินกินหญ้าตามปรกติ เมื่อถึงกลางคืนก็ให้ควายนอนปลักซึ่งจะเป็นบ่อโคลน

การนอนปลัก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและชุมชนเกษตรกรรมในการป้องกันยุง เหลือบ งู และสัตว์มีพิษตอนกลางคืน มิให้ก่อความรบกวนและทำอันตรายต่อควาย บางแห่งจะเป็นปลักตมที่ควายสามารถจมลงไปทั้งตัว แต่บางแห่งก็เป็นปลักสำหรับให้ควายนอนกลิ้ง โคลนเหลวจะเคลือบควายทั้งตัวอยู่ตลอดเวลา ในชุมชนและหมู่บ้านที่อยู่ในป่า ไม่แห้งแล้ง ดังเช่นหนองบัว ซึ่งจะเต็มไปด้วยสัตว์และแมลงมากมาย จะไม่สามารถสุมไฟรมควันให้ควายได้ไหว วิธีการอย่างนี้จึงมีประสิทธิภาพและเป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนการใช้ความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆอย่างรอบด้าน ในชุมชนรอบนอกก็จะมีวิธีธีการที่ต่างกันออกไป

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

ขอเจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

แหมมีด

         คำนี้(ออกเสียงคล้ายชื่อไม้แสมสารเป็นศัพท์เฉพาะของคนหนองบัวหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ)ใช้เรียกอุปกรณ์ที่ช่วยยึดฝักมีดให้แน่นมั่นคงทำจากหวายยิ่งดีถ้าไม่มีหวายจะเป็นเถาวัลย์ที่มีอยู่โดยทั่วไปก็ได้เพราะมีความเหนียวทนทานถึงจะเหนียวทนสู้หวายไม่ได้ก็ตาม ไม่รู้แถวบ้านตาลินและหมู่บ้านอื่น ๆ เรียกว่าอะไร การทำก็ไม่ยากเย็นอะไรมากนักเอาหวายหรือเถาวัลย์มาเหลาให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ความยาวแล้วแต่เราจะทำแหมจำนวนเท่าใด เช่น แหมห้า ถักให้เป็นลายรอบฝักมีดห้ารอบ แหมเจ็ด แหมเก้า มากกว่านี้จะแน่นเกินและดูไม่สวยงาม

      แหมมีดนี้ถ้าหนุ่มหนองบัว-หนองกลับ มีคู่ดอง(คู่หมั้น) ตอนถึงฤดูทำนาฝ่ายชายจะอาสาไปช่วยคู่ดองทั้งดำนาและเกี่ยวข้าว ถ้าไปคนเดียวก็ช่วยหลายวันหน่อย สามวันบ้าง ห้าวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง แต่ถ้าเอาแรงกันก็จะไปหลายคนหน่อยเรียกว่าลงแขกดำนาห้าคนสิบคนก็ถือว่ามาก แต่ถ้าเกี่ยวข้าวจะเอาแรงกันมากยี่สิบคนถึงห้าสิบคนมากกว่านี้ก็มี เรียกตามศัพท์เฉพาะทางเทคนิคของคนหนองบัวว่าแขกทุ่มคู่ดอง(ลงแขกช่วยคู่ดองเกี่ยวข้าว)แต่ตอนใช้แรงงานคืนเหนื่อยหน่อยบางทีต้องใช้แรงงานคืนกันทั้งครอบครัวกว่าจะกลับคืนมานาตัวเองอีกทีข้าวที่เกี่ยวไว้ก็แห้งกรอบเมื่อหอบมัดเป็นข้าวฟ่อนรวงข้าวจะหักและล่วงหล่อนข้าวสารที่สีออกมาก็หักเป็นท่อนอีกด้วยราคาก็อาจจะตกได้

         แหมมีดเป็นตัวบ่งชี้บ่งบอกถึงตัวผู้ทำว่ามีศิลปะทางฝีมือมากน้อยเพียงใด ยิ่งทำเองได้แล้วก็จะเกิดความภูมิใจเพราะฝ่ายชายได้แสดงฝีมือทางจักสานให้คู่ดองได้เห็นเกิดความมั่นใจมากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งว่าที่พ่อตาแม่ยายก็ได้เห็นฝีมือในทางช่างของว่าที่ลูกเขยตนเองไปด้วยในตัวเท่าที่เห็นถ้าใครทำแบบลวก ๆ จะไม่สวยแต่ถ้าคนมีความปราณีตละเอียดตั้งใจทำแหมมีดจะสวยงามมากและคนที่ทำได้ถึงขั้นมีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชมกล่าวขาวถึงก็อาจจะมีงานเข้าโดยหนุ่ม ๆ จะขอให้ช่วยทำให้เพื่อออกงานนำไปโชว์คู่ดองของตนแบบนี้ก็มี 

        ทั้งฝักมีดตัวมีดแหมมีดเล่มนี้บางคนทำขึ้นโดยเฉพาะกิจเพื่องานช่วยคู่ดองของตนเป็นอาวุธคู่ชีพของชายหนุ่มโสดใช้เฉพาะตามฤดูกาล นี่ก็เป็นวิถีของคนหนองบัว-หนองกลับอีกโสตหนึ่งด้วย.

                            ขอเจริญพร

                   พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เลี้ยงควายป่าเหนือ

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

        โรงเรียนแดงสำหรับอาตมาแล้วได้แค่เพียงรู้จักว่ามีชื่อในนามอื่นโรงเรียนหนองคอกบ้างโรงเรียนหนองบัวบ้างเท่านั้นเอง รู้จักดีด้วยแต่ก็รู้แต่ชื่อโรงเรียนอย่างเดียวเพราะไม่มีโอกาสได้เรียนและไม่ได้เข้าไปในโรงเรียนเลย ที่ว่ารู้จักดีก็เพราะว่าบริเวณใกล้โรงเรียนแดงนั้นมีสภาพเป็นป่ารกมีไม้มากมายจนชาวหนองบัวสามารถนำมาเผ่าถ่านขายเป็นอาชีพได้อย่างหนึ่งในยุคโน้น และก็เป็นสถานที่ที่ใช้เลี้ยงวัว-ควายของคนหนองบัวอีกด้วย

         ถึงฤดูหน้าน้ำชาวบ้านทำนากันหมดทั้งท้องทุ่งทำให้ไม่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว-ควาย จะมีป่าไม้ที่ไม่มีเจ้าของก็ตั้งแต่โรงเรียนแดงนี่แหละเป็นที่เลี้ยงวัว-ควาย มีหนองแฟบอยู่ด้านตรงข้ามกับโรงเรียนแดงยังนึกเห็นภาพบ้านอยู่อย่างโดดเดี่ยวครัวเดียวถือว่าอยู่ห่างไกลหมู่บ้านและชุมชนมากนั่นคือบ้านยายริด บริเวณสี่แยกไฟแดงหนองบัวก็เป็นป่าทั้งนั้นคนหนองบัวเรียกสี่แยกไฟแดงหนองบัวในปัจจุบันว่า สี่แยกต้นอีซึกมีต้นอีซึกขนาดใหญ่มีต้นไม้มะค่ารอกใหญ่อยู่ใกล้สี่แยกนี้เป็นป่าเลี้ยงวัว-ควายในหน้าน้ำการไปเลี้ยงควายแถวนี้ต้องไปกันหลายคนเพราะถ้าไปกันคนสองคนอาจถูกโจรปล้นเอาวัว-ควายไปได้ง่าย ๆ ในป่าตั้งแต่โรงเรียนแดงจนถึงเขามรกตเขาพระเขาสูงเขาบ่อผักไห่แถว ๆ นี้ คนหนองบัวเรียกว่า ป่าเหนือ แต่ละหมู่บ้านจะเลี้ยงวัว-ควายเป็นกลุ่มรวมกันเป็นฝูงและเรียกชื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเพื่อการกำหนดหมายให้จำง่าย ๆ เช่นคนบ้านใหญ่ก็จะเรียกกันว่าฝูงควายบ้านใหญ่ บางทีแค่เห็นวัว-หรือควายก็สามารถจำได้ว่าเป็นฝูงควายจากหมู่บ้านใด มีฝูงควายบ้านใน ฝูงควายบ้านเนินน้ำเย็น ฝูงควายบ้านโคกมะตูม ฝูงควายบ้านโคกสวอง ฝูงควายบ้านเนินตาเกิด ฝูงควายบ้านบ่อยายโหมน หมู่บ้านใกล้กันก็เลี้ยงรวมก็มีเช่น หมู่บ้านอาตมากับหมู่บ้านเนินไร่ ฝูงควายบ้านเนินไร่-เนินตาโพ เป็นต้น ทุกคนจะห่อข้าวไปกิน การห่อข้าวก็จะใช้วัสดุจากป่าเหนืออีกเช่นกัน คือใบตองควง(ไม้พลวง)อังไฟอ่อน ๆ จะห่อง่ายและใบตองควงที่มีอยู่ในป่าเหนืออย่างมากมายนี่ตอนทำอาหารกลางวันจะนำมาห่อผักป่ามีใบส้มดอกกระเจียวดอกอุ้มน้องผักอีซึกคลุกเคล้าผสมกับหมูหรือปลาหรือนกที่หาได้ในป่าจากพรานจำเป็นใส่พริกเกลือให้เข้ากันดีแล้วนำไปหมกไฟสุกแล้วจะมีกลิ่นหอมเป็นอาหารรสเด็ดในมื้อกลางวันกลางป่าเขาลำเนาไพรอร่อยอย่าบอกใครเชียว เมนูชนิดนี้เรียกกันว่าหมกดอกอุ้มน้องท่ามกลางป่าเขามีวัว-ควายมากมายหลายหมู่บ้านควายแต่ละตัวจะมีโปงผูกคอที่ทำจากไม้ไผ่เมื่อควายเดินทางไปทิศใดจะได้ยินเสียงโปงชัดเจน ส่วนวัวก็จะมีกะแหร่งผูกคอดังมากเพราะทำจากเหล็ก เจ้าของจะจำเสียงโปง-กะแหร่งประจำตัววัวควายของตนได้อย่างแม่นยำไม่มีผิดพลาดผิดคิวเรียกว่าไม่หลงเสียงเด็ดขาด บางวันมีทั้งสนุกสนานที่เต็มไปด้วยมิตรภาพคนระหว่างหมู่บ้านนึกสนุกขึ้นมาก็ชวนเอาวัวควายขวิดกันบ้างบางทีวัวควายก็ไม่เต็มใจจะขวิดกันเลยแต่เจ้าของถูกยุบ้างเพราะกิติศัพท์เล่าลือว่าวัวควายของตนขวิดเก่งประเภทถูกท้าทายย่อมยอมไม่ได้ประมาณนั้นอาจมีบ้างที่อยากจะแสดงสัญลักษณ์แห่งอำนาจผ่านวัวควายบางครั้งก็ตื่นเต้นระทึกใจเพราะหลงป่าบ้าง วัวควายพลัดหลงไปปะปนกับฝูงอื่น ๆ บ้าง รสชาติชีวิตทำนองนี้โยมอาจารย์วิรัตน์ได้ประสบการณ์ตรงและได้ผ่านงานชีวิตแบบลูกทุ่งแนวนี้ไม่ทราบแถวบ้านตาลินมีไหม.

                   ขอเจริญพร

           พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ประสบการณ์อย่างนี้ คนในรุ่นผม กระทั่งรุ่นน้องๆถัดมาอีกเป็นสิบกว่าปีก็ยังมีครับ การเลี้ยงควายและการมีควายประจำตัวของเด็กๆแต่ละคนนั้น ผู้ใหญ่ทำให้เด็กๆจนรู้สึกเหมือนเป็นของเล่นเลย ทุกคนจะมีควายของตัวเองอย่างน้อยก็ตัวหนึ่ง แล้วก็ต้องคลุกคลีเป็นพิเศษจนรู้ใจและผูกพันกันอย่างเพื่อนคู่กาย 
  • ผมกับแม่เคยไปทำไร่แถวเขาสูงและเขามรกตด้วยครับ เหนื่อยครับ เหนื่อยกว่าทำนาหลายเท่า แต่ชอบการมีป่า ลำธาร ภูเขา กระรอก กระแต และนกหนูแปลกๆที่ในป่า
  • แถวหนองคอกนี่ผมทราบแต่ว่าเป็นหนองน้ำและที่เลี้ยงควาย แต่ไม่เคยทราบเลยว่าเขาเรียกโรงเรียนแดงด้วย แต่อาคารเรียนหลังเก่าที่ผมได้เรียนนั้น เป็นเรือนไม้และหลังคากระเบื้องสีแดง
  • แถวชุมชนเผาถ่านและป่ารอบๆโรงเรียนหนองคอกนั้น สมัยที่เป็นเด็กเรียนประถม-มัธยม พวกผมไปไต้กบไต้เขียดอยู่แถวนั้นจนปรุแหละครับ พอโพล้เพล้ก็เดินเท้าตั้งแต่บ้านตาลิน 8-9 กิโลเมตร พอถึงหนองคอกก็มืด พอใกล้สว่างก็เดินกลับ ถึงบ้านก่อนแจ้ง ได้เขียดมากมายครับ
  • แต่หนองคอก หนองบัว หนองกลับนี่ อึ่งเยอะจริงๆครับ ชาวบ้านหนองบัวเขากินเป็น คนแถวบ้านผมกินไม่เป็น ผมมากินเป็นเมื่อตอนโตและได้ไปเที่ยว-ทำงานแถวอีสาน
  • พระคุณเจ้าคุยเรื่องพริกเกลือและการห่อข้าวไปกินนี่ นอกจากทำให้น้ำลายสอแล้ว ก็คิดนึกถึงคุณเสวกเลยนะครับ แกพูดถึงอยู่บ่อยๆ  ตอนนี้ไม่รู้หายไปไหน
    • สวัสดีครับผมเองยังไม่ได้หายไปไหนครับเพียงแต่ตามไม่ทันเพราะมีหลายหน้ามากครับ  พอพูดถึงป่าเหนือก็ยิ่งคิดถึงบรรยากาศเก่าสมัยเด็กครับ เพียงแค่ออกจากบ้าน บ่อยายโหมนไปนิดเดียวถึงโคกตาเต็มตามแถวทุ่งไม้เอน ที่เลยเทศบาลใหม่ปัจจุบันแค่นั้นก็มี แย้ อึ่ง บุกลาย บุกกระโดนเอน เห็ดลูก ดอกอุ้มน้อง สารพัดช่วงหน้าฝน ไปย่ำลูกน้องแอ่ง (น่าจะเป็นเขียดทราย)ตามปลักควายไปหยกปลาหมอแถวๆหนองแฟบก็ได้กินแล้ว  และถ้าได้ไปเลี้ยงควายด้วยจะกินข้าวอร่อยมาก ข้าวห่อใบตองควง ฝนแซะๆ ได้หน่อไม่รวกมาซอยแล้วแกงพริกเกลือร้อนๆ ชื่นใจจัง
    • และถ้ายิ่งถ้าใครมีคู่ดองด้วยละก็ บุญขนมห่อ ช่วงเข้าพรรษา และบุญข้าวเม่า จะต้อง ขับรถพาคู่ดอง นำขนมมาให้ญาติและแม่ฝ่ายชาย ปัจจุบันก็ยังมี  เวลานั่งรถอีตุ๊ก หรือที่ต่างจังหวัเรียกอีแต๋นนั้น ต้องนั่งให้ใกลกันเข้าไว้ จะใกล้ชิดกันไม่ได้ชาวบ้านนินทา
    • คนที่มีคู่ดองนั้น พ่อใหญ่เล่าว่าแต่ก่อนต้องมีไถอาสา ซึ่งผิดจากไถทั่วไปมีลักษณะเด่นคือจะมีความโค้งปลายไถเป็นพิเศษเอาไวไปช่วยฝ่ายหญิงไถนา
    • ช่วงหน้าตรุด สาวๆจะตั้งกลุ่มตามบ้าน หนุ่มๆจะไปเล่นผลัดเปลี่ยนกันไป กาลเล่นได้แก่ ลูกช่วง งูกินหาง หมาบ้าคู่ และอื่นๆอีกมาก หมาบ้าคู่เวลาเล่นจับคู่กันแล้ววิ่งเอาผ้าไล่ตี แต่ชายหญิงจะไม่จะมือกันจะใช้ผ้าเช็ดหน้าจับคนละด้าน นั่นมีความสุขที่สุดทั้งที่ห้ามโดนถูกเนื้อต้องตัวกัน
    • จากนั้นหลังส่งกรานต์ก่อนลงทำนาก็จะเป็นการออกแกงไก่บ้านสาว ที่เรียกกันติดปาก ไอ้ที่ว่าแกงไก่คงเพราะแต่ก่อนมาทุกบ้านเลี้ยงไก่ไว้ติดบ้านไม่มีเซเว่นให้ซื้อไก่ซีพี ไก่เจ๊าไม่มี หากหนุ่มคนไหนได้ไปแกงไก่บ้านสาวถือว่าชอบพอกันเพื่อเป็นการดูต้ว แต่ต้องนั่งห่างกันประมานสองสามเมตร (ผมยังเคยเลยครับหลายบ้านด้วย)แต่ก็ยังไม่มีใครชอบอยากได้เป็นลูกเขย
    • เวลากลางวัน สาวๆจะขายน้ำแข็งไส หนุ่มๆจะเทียวไปนั่งเล่นที่ร้านน้ำแข็ง ยิ่งถ้าตอนเป็นนาค ยิ่งแจ่มมาก จะมีจดหมายน้อยติดไปด้วย ว่าแล้วไม่ได้เขียนนานเลยครับ แต่ต้องไห้เพื่อนเขียนให้ด้วยเพราะลายมือตนไม่สวยเดี๋ยวอายสาว
    • เมื่อมีการดองกันแล้วเมื่อฝ่ายชายจะบวชสีกาจะมาถือหมอนให้ โดยฝ่ายหญิงจะลงมือปักถักลวดลายทำหมอน ผ้าเช็ดผ้าสองผืน ไว้คลุมศีษะและรองกราบ เพื่อโชว์ให้เห็นถึงการเป็นแม่ศรีเรือนรู้จักถักเย็บเมื่อสึกมาแม่ยายก็จะเรียกว่าที่ลูกเขยว่า ออทิด
    • และเมื่อแต่งงานกันนอกจากจะมี เครื่องขันหมากที่หลวงอาว่ามานั้นผมชอบที่คือมี ย่ามดำ ในนั้นจะมีกลัก พลู ปูน หมาก และยาจืดด้วย พร้อมกับมีดเหน็บที่สวยงาม เพื่อจะได้มีติดตัวเมื่อออกเดินทางไปไล่นา

    สวัสดีครับคุณเสวก ข้อมูลและเกร็ดความรู้ท้องถิ่นหนองบัวเยอะเลยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    แฟนพันธ์แท้เพลงโคราช

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • • เวลามีงานวัดใหญ่หรือมีหนังกางแปลงหรือหนังขายยาที่ยังจำได้มีถ่ายไฟฉายตรากบ หมากหอมเยาวราช หนังจะตั้งจอตรงทิศตะวันตกโบสถ์หลวงพ่อเดิมใกล้ ๆ โบสถ์จะมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่(น่าจะเป็นมะม่วงกะร่อน)พวกเราก็จับจองที่นั่งตั้งแต่หัวคำที่นั่งก็มีกระดาษหนังสือพิมพ์บ้าง เสื่อบ้าง หนังจะฉายก็ประมาณสองทุ่ม ถ้าฉาย ๓-๔ เรื่อง ก็จะดูจนแจ้งจางปางสว่างคาตา  โรงลิเกจะอยู่ทิศตะวันตกของเมรุในปัจจุบัน หลังโรงลิเกมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกต้นมะโรงมีลูกกลมเกือบแบน
    • ระหว่างหอระฆังกับโรงลิเกจะมีต้นมะขวิดต้นตาลต้นโพธิ์ หมู่ต้นไม้กลุ่มนี้จะเป็นที่เล่นสงกรานต์ ที่รำวงตอนแห่นาคหมู่ ที่พักหลบแดดตอนกลางวันเมื่อมีงานคัดเลือกทหาร(เกณฑ์ทหาร)ช่วงเดือนเมษาฯ 
    •  ลิเกคนก็ดูเยอะมากเพราะลิเกจะมีตัวชูโรงที่เด่น ๆ เช่น พระเอกหล่อ-นางเอกสวย ตัวตลกเล่นดี และตัวโกง 
    •  แต่คนจะชอบตัวตลกกับตัวโกง นั่งนึกคนเดียวก็ชักจะลืมเสียส่วนมาก ที่จำได้มีศักรินทร์ดาวร้ายจะมีสุ้มเสียงดีร้องมีลูกคอลูกเล่นแพรวพราวน่าฟังบทบาทลีลาดุดัน ห้าวหาญสมกับเป็นตัวโกง เป็นที่ประทับใจบรรดาแม่ยกทั้งหลายและท่านผู้ชมทุกวัย
    • งานวัดก็เป็นที่พบปะผู้คนทั้งหมู่บ้านเป็นที่พบปะพูดคุยกันของหนุ่มสาวหรือคล้ายเป็นสถานบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจของคนผู้คน
    • ถ้าผู้สูงอายุก็มีเพลงโคราชให้ได้ดูชมกันอย่างสุขใจ และหลวงปู่อ๋อย ท่านก็ชอบเพลงโคราชมาก สามารถจำชื่อพ่อเพลง-แม่เพลงได้อย่างแม่นยำ และพ่อเพลง-แม่เพลง ก็เคารพนับถือท่านด้วยเช่นกัน 
    •  เมื่อมีเพลงโคราชรับรองว่าหลวงปู่ท่านจะไม่พลาดชมแน่นอน ท่านสามารถจำมุขตลกของแต่ละคนได้อีกต่างหาก อย่างนี้ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่อ๋อยนั้น ท่านเป็นแฟนพันธ์แท้เพลงโคราชตัวจริงเลยแหละ.

                                                               ขอเจริญพร

                                                         พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • พระคุณเจ้าเล่าให้เห็นภาพเก่าๆขึ้นมาได้มากเลยครับ พอจะนึกภาพออกว่ามีต้นมะม่วงอยู่ด้านหลังโบสถ์ เป็นต้นมะม่วงต้นใหญ่และมักมีกระรอก กระแต บ่าง ให้เห็น  ด้านล่างก็มีแย้วิ่งเพ่นพ่านอย่างไม่กลัวคน ดูเหมือนจะเป็นมะม่วงป่าครับ ลูกคล้ายกับมะม่วงกะล่อน แต่ไม่ใช่ รสชาดตอนดิบจะเปรี้ยวและมียางฝาด ตอนสุกก็หอมมากแต่เปรี้ยวจนกินไม่ลง
    • พระคุณเจ้าเขียนเล่าถ่ายทอดเรื่องราวชุมชนได้ดีจังเลยครับ ทั้งให้ความรู้และได้อรรถรสการอ่าน มีลักษณะของพระชาวบ้านที่เป็นแหล่งเก็บสะสมภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นหน่วยจัดการความรู้ ให้ชุมชนและกลุ่มชาวบ้านได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และข้อมูลข่าวสารผ่านการได้คุยกับพระและร่วมกิจกรรมทำบุญ-ทำทาน

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • พอโยมอาจารย์บอกว่าเป็นมะม่วงป่าอาตมาก็นึกได้ทันทีเลย จำได้ว่าเคยกินแล้วแต่รสเปรี้ยวมาก
    • ถ้าสุกก็พอกินได้แต่อาจจะคันเพราะมียางเยอะเวลากัดตรงจุกต้องรีบคายออกโดยด่วน
    • ตรงข้างเมรุด้านทิศใต้ใกล้โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมจะมีสระน้ำอยู่เป็นสระที่ลึกมากมีพระบวชใหม่ตกลงไปมรณภาพ
    • ท่านเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโยมแม่อาตมาคือลูกพ่อเฒ่ารถ-แม่เฒ่าเย็น
    • บริเวณนี้เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วน่ากลัวมากตอนเป็นเด็กไม่ค่อยกล้าเดินไปคนเดียว ต้นโพธิ์ใหญ่ต้นมะขวิดต้นตาลแถว ๆ นี้นกจะเยอะมากบางทีก็กลัวเสียงนกด้วย
    • มีแต่ความเงียบและวังเวงอย่างไรชอบกลแม้แต่กลางวัน.

                                                    ขอเจริญพร 

                                             พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)

    • ความเป็นหนองบัว ที่เมรุวัด วัด และโรงเรียนอยู่ติดกัน ในยุค ๓๐-๔๐ ปีที่พระคุณเจ้าช่วยทบทวนบรรยากาศมานั้น ชุมชนหนองบัวยังคับแคบ พวกเด็กๆอย่างผมขี่จักรยานจากสุดขอบชุมชนด้านเกาะลอยหรือทิศใต้  ออกไปสุดขอบของชุมชนวัดเทพสุทธาวาสซึ่งเป็นทิศเหนือ หรือจากด้านไปรษณีย์และอู่ประสาททองซึ่งเป็นด้านทิศตะวันตก ออกไปโรงเรียนหนองคอกซึ่งเป็นด้านทิศตะวันออก เพียงไม่นานก็หมดแล้ว-ทั่วแล้ว ดังนั้น เวลามีอะไรเกิดขึ้นในหนองบัว โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะรู้ถึงกันหมด คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันเป็นกลุ่มๆหมู่บ้าน เวลามีคนเสียก็เหมือนกัน พอมาวัดเผาที่วัดหนองกลับ เวลาแห่และเวลาเผาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเวลาที่โรงเรียนยังไม่เลิก เพราะงานศพคนบ้านนอกในยามนั้น ต้องนึกถึงการเดินเท้ากลับบ้านของญาติพี่น้องที่อยู่ตามไร่ตามนาห่างไกลกัน ตอนเรียนที่โรงเรียนหนองบัวเทพ พวกเด็กๆก็เลยมักจะได้เห็นขบวนแห่ศพอยู่เสมอๆ ยิ่งตอนเผา ควันก็จะคลุ้งตลบไปทั่วอยู่พักหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปทางด้านโรงเรียน ดังนั้น ก็จะมีการคุยกันเหมือนกับเป็นการสื่อสารถามไถ่ ประเดี่๋ยวเดียวก็พอจะรู้เรื่องเพราะโดยมากก็มักจะมีเด็กๆเป็นญาติหรือคนอยู่ในละแวกเดียวกันกับคนที่อยู่ในงานนั้นๆ
    • พระคุณเจ้าเล่าถึงความน่ากลัวแถวต้นตาล ต้นมะขวิด และต้นมะสังข์แล้วนึกภาพออกเลยครับ ต้นไม้ใหญ่ วังเวง ลมโกรกเกรียวกรู มีบรรยากาศเหมือนในเรื่องผีต่างๆ เวลาเล่นฟุตบอลในสนามโรงเรียนแล้วดันมีใครเตะบอลเลยออกไปนอกรั้วโรงเรียนหนองบัวเทพแล้วละก็ ก็มักจะไปตกอยู่แถวข้างเมรุพอดี เวลาเดินออกไปเอากลับมาก็ต้องปอดแหกกันทุกที
    • ขอบสระสองลูกของวัดหนองกลับ ไปจนถึงโรงเรียนหนองบัวเทพ มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในยุคนั้นคือมีต้นหางนกยูงมากมาย และในสระก็มีบัวหลวง มีฝักบัวและรากบัว หน้าแล้งผู้คนในชุมชนตลาดหนองบัว ก็จะไปขุดทำน้ำบ่อทรายในสระวัดหนองกลับเต็มไปหมด บ่อน้ำ รถลุน รถสาลี่ คานพ่วงปีบใส่น้ำพ่วงท้ายจักรยาน เลยเป็นเทคโนโลยีและวิธีจัดการทรัพยากรน้ำอุปโภคบริโภคที่แพร่หลายทั้งตลาดหนองบัว
    • อีกด้านหนึ่งของโรงเรียนหนองบัวเทพเป็นทางออกไปที่ว่าการอำเภอ เป็นสวนผักและสวนอ้อยของอาแปะ ครอบครัวของเพื่อนผมเอง ซึ่งตอนนี้เธอมาทำการงานอยู่ที่ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน มีครอบครัวและมีลูกเต้าเติบโตเป็นคนกรุงเทพฯหมดแล้ว ใกล้ๆกันนั้นและอยู่บนขอบสระ ก็มีร้านก๋วยจั๊บ หากเป็นยุคนี้ก็ต้องเรียกว่าจ้าวแรกและชื่อดังที่สุดของหนองบัว ปรกติก็ชามละ ๕๐ สตางค์และพิเศษที่สุดก็ ๗๕ สตางค์ ใส่ไข เนื้อและเครื่องในเต็มที่ ลูกเจ้าของร้านเป็นเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกับผม
    • คนชั้นกลางและกลุ่มคนที่เป็นผู้นำในภาคต่างๆของหนองบัวในปัจจุบัน ทั้งภาคราชการ ผู้นำชุมชน เจ้าของกิจการ บริษัทห้างร้าน ที่เป็นกลุ่มและเครือข่ายหลักๆที่เป็นแรงขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และการพัฒนาสาขาต่างๆของหนองบัว โดยมากแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่ง จึงเป็นคนที่มีพื้นเพและประสบการณ์ต่อสังคมที่ผสมผสานระหว่างยุคที่เป็นชนบทบ้านนาป่าดง กับยุคที่สังคมล่วงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ การคิดและปฏิบัติต่อเรื่องส่วนรวมจึงมีขอบเขตการคิดที่รอบด้าน มองเห็นความเชื่อมโยงของชุมชนดั้งเดิมกับยุคใหม่ อีกทั้งมักมีสำนึกความเป็นคนท้องถิ่นและความเป็นชุมชนเดียวกันกับผู้คนอยู่มาก เป็นกำลังภูมิปัญญาในการพัฒนาชุมชนหนองบัวไปได้อีกนาน ซึ่งการถือเอาวัดหนองกลับเป็นศูนย์กลางในการคิดและริเริ่ม ก็เป็นหนทางที่ดีอย่างหนึ่งครับ 

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และคุณเสวก ใยอินทร์

    ผมเพิ่งจะเข้ามาอ่านในบล็อกนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่บล็อก "แรกมีของอำเภอหนองบัว ตอนที่ 1"

    เรื่อง "ไอ้เป๋หนองบัว" นี้ ช่วงที่ผมและครอบครัวย้ายมาอยู่ อ.หนองบัว ใหม่ ๆ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2532 (ถึงปีนี้ก็ครบ 20 ปี พอดี) ก็ยังมีโอกาสได้เห็น "ไอ้เป๋" ซึ่งตอนนั้นพ่อกับแม่ผมก็ค้าขายอยู่ที่ในศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ เป็นตู้แช่ขายเครื่องดื่มเย็น ๆ ส่วนแม่ก็ขายข้าวแกงก็อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนไปขายขนมครกในตอนเช้าที่ตลาดสดเจริญผล จึงเหลือแต่คุณพ่อคนเดียว ก่อนที่จะเลิกขายที่ศูนย์ในปี พ.ศ. 2535 เพราะกำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นอาคารขึ้นมาแทน

    แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ถือเป็นสีสรรอย่างหนึ่งของคนหนองบัว ในช่วงที่ผมอยู่ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของเขา ประมาณปี พ.ศ. 2536 หรือ พ.ศ. 2537 ประมาณนี้ ซึ่งข้อสันนิษฐานของผม (วัยรุ่น ม. ปลาย) คือ เสียชีวิตด้วยอาการสงบ ไม่ได้ถูกทำร้าย หรืออาจจะมีกรณีอื่น ๆซึ่งผมก็ไม่ทราบได้ เพราะเรื่องนี้ผ่านมาตั้ง 15 - 16 ปีแล้ว

    ใช่เลยครับ เป็นสีสันของชุมชนชาวหนองบัวที่ให้ความทรงจำร่วมกันไปหลายรุ่น

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ครูอนุกูลคุณเสวกและท่านผู้อ่านทุกท่าน

    • หนองบัวยังขาดสีสันอีกอย่างหนึ่งนะโยมอาจารย์คือเจ้าของเรื่องในหัวข้อนี้แหละที่คนคุ้นหูคุ้นตากันมากตอนนี้
    • จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากวัวหลวงพ่ออ๋อย วัวที่เดินตลาดได้ตลอดทุกซอกทุกซอยเหมือนเป็น รปภ.
    • เดินได้ ๒๔ ชั่วโมงไม่มีวันหยุดราชการนึกไปนึกมาชักอยากจะเห็นวัวหลวงพ่ออ๋อยเดินเที่ยวตลาดหนองบัวเสียแล้วซิ
    • ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เดินเที่ยว(ห้างสรรพสินค้า)เลยแหละจะบอกให้.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    วัวหลวงพ่ออ๋อย : รปภ ชุมชนอำเภอหนองบัว

    ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                           

    ภาพไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย  : ที่พระคุณเจ้าอุปมาอุปมัยว่าวัวหลวงพ่ออ๋อยเดินในหนองบัวได้ ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกับเป็น รปภ ของหนองบัวเลยนั้น ให้ภาพความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและการให้ความเคารพนับถือต่อผู้นำทางด้านศาสนาของชาวบ้านหนองบัวได้ดีเป็นอย่างยิ่ง

    แต่ผมวาดมาให้ดูทั้งไอ้เป๋กับวัวหลวงพ่ออ๋อยเสียเลย อันที่จริงมีครูกฤษณาอีก ทว่า เรื่องราวของครูกฤษณานั้นอาจเป็นที่สะเทือนจิตใจทั้งต่อคนหนองบัวและคนทั่วไป เลยไม่นำมาวาดและเขียนถ่ายทอดไว้นะครับ ให้สืบทอดกันโดยปากต่อปากของคนในท้องถิ่นก็พอ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ครูอนุกูลคุณเสวกและท่านผู้อ่านทุกท่าน

    • "....ให้ภาพความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและการให้ความเคารพนับถือต่อผู้นำทางด้านศาสนาของชาวบ้านหนองบัวได้ดีเป็นอย่างยิ่ง."
    • อ่านประโยคนี้ของโยมอาจารย์วิรัตน์หลายรอบมาก ๆ เลยถือเป็นวรรคทองในหัวข้อนี้สำหรับอาตมาภาพมันบอกไม่ถูกเหมือนกันให้นึกไปถึงหลวงปู่อ๋อยอย่างสุดซึ้ง
    • ข้อความชุดนี้อธิบายพระพุทธศาสนาได้ทั้งชุดได้ทั้งสังคมไทย ยิ่งคิดยิ่งลึกซึ้งถ้ามองเผิน ๆ ไม่อาจเห็นปรัชญาอันลุ่มลึกกินใจจุดนี้ได้หรอก
    • ทุนนี้เป็นทุนอันทรงคุณค่า ได้เห็นความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณหลวงปู่อ๋อยที่มีต่อชุมชนหนองบัว แสดงถึงความมีธรรมของชาวหนองบัวต่ดสภาพแวดล้อมต่อสรรพสิ่งสรรพสัตว์เคารพให้เกีรยติแก่ผู้อื่นอย่างที่สุด 
    •      สมกับที่พระพุทธองค์ได้ส่งพระสาวไปประกาศศาสนาครั้งแรกที่ว่า จรถ ภิกขฺเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย  โลกานุกมฺปายแปลความได้ว่า .... “พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก ...

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • อันที่จริงสะท้อนวิถีแห่งศรัทธาของชาวบ้านในชนบทโดยทั่วไปด้วยครับ เมื่อศรัทธาใครแล้ว ก็จะแผ่ไปถึงทุกอย่างทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ที่เกี่ยวข้องกับคนที่เราศรัทธา วัวหลวงพ่ออ่อยนี่ก้ได้ความศรัทธาต่อหลวงพ่ออ๋อยของผู้คนเป้นเครื่องคุ้มครองดูแล 
    • ส่วนไอ้เป๋หนองบัวนั้น ก็ได้คุณธรรมและความเชื่อต่อคำสั่งสอนของพุทธองค์ รวมไปจนถึงศาสนธรรมที่มาในศาสนาอื่นๆ เป็นเครื่องคุ้มครองดูแล
    • ความเป็นทุนสังคม ทุนศาสนธรรม และทุนความเป็นประชาสังคมอย่างนี้ของชุมชนหนองบัว หากใช้เป็นฐานการพัฒนา ก็คงจะมีประสบการณ์ของสังคมไว้เป็นที่อ้างอิงได้อย่างดีครับ เรื่องอย่างนี้นำมาคุยและสืบทอดไว้ก็นับว่าได้ช่วยกันทำสิ่งดีๆไปตามกำลังแล้วครับ
    • แต่การส่งเสริมเรื่องทำนองนี้ก็ต้องเน้นทั้งศรัทธา การเรียนรู้ และการได้เจริญสติปัญญาให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นก็คงจะเป็นการดีครับ เพราะโดยทั่วไป ผู้คนเวลาศรัทธาสิ่งใดมากๆแล้ว ก้มักจะเลือกวิธีปฏิบัติต่อสิ่งศรัทธาง่ายๆ ที่สุดแต่เก็งกำไรด้วยการอ้อนวอนสิ่งดีที่สุดใด้แก่ตนเอง เช่น แทนที่จะบำรุงความเป็นชุมชน พัฒนาคุณธรรมและวัฒนธรรมที่สะท้อนแก่นธรรมที่มาในศาสนา ก็มักจะมุ่งไปทำเหรียญและสิ่งมงคล เอาไว้บูชาง่ายๆดี

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ครูอนุกูลคุณเสวกและท่านผู้อ่านทุกท่าน

    • กิระ ดังได้ยินมาว่า มีเด็กหนุ่มหนองบัวทำงานต่างจังหวัดเจอเรื่องไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อยของอาจารย์ถูกใจเลยนั่งนอนคัดลอกบทความชุดนี้เก็บไว้กับตัว
    • ฟังแล้วน่าชื่นใจจัง คงจะใช้คอมพิวเตอร์ที่ทำงานหรือไร
    • อาตมาคิดว่าถ้าเป็นเล่มหนังสือคนหนองบัวจะมีพ็อคเก็ตบุ๊ตเรื่องราวในหนองบัวติดตัวน่าประทับใจไม่น้อย

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ดีใจครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดได้คิดถึงบ้าน
    • การไปทำงานที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ หากได้เห็นข่าวคราวของบ้านและถิ่นเกิด ก็จะทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป และรู้สึกมีชุมชนที่ตนเองค้นเคยอยู่รอบข้างใกล้ชิดมากขึ้น ทำมาหากินก็จะมีกำลังใจและมีหลักใจ ให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตมากขึ้นนะครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    โหๆน่าอ่านๆวิถีที่แตกต่าง..ว่างๆค่อยมานะครูม่อย..

     

    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่แวะมาเยือนเรื่องราวของท้องถิ่นชุมชนหนองบัว
    • ให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิธีการผสมผสานการสร้างความรู้ การจัดการความรู้ และการขับเคลื่อนบทบาทของภาคสังคมที่ระดับฐานราก ซึ่งปรกติเป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ ได้ดีมากเหมือนกันครับ ทำไปก็ได้ประสบกาณ์ดีๆไปด้วย
    • ความแตกต่างหลากหลายจากชุมชนที่ไม่เป็นทางเลือกของสังคม ทำให้แข็งแรงและเพิ่มพูนให้เป็นทางเลือกที่งดงามหลากหลายให้กับสังคมได้มากขึ้น เมื่ออาศัยการผสมผสานการจัดการและการมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการเข้าช่วย
    • หลายคนของท้องถิ่นช่วยกันเขียน ผุดข้อมูล และผุดประเด็น ช่วยกันต่อเติมและสานให้เป็นเรื่องเป็นราว
    • ผมช่วยเพิ่มสังเคราะห์ เพิ่มเนื้อหา บูรณาการเข้ากับงานศิลปะพัฒนาวิธีนำเสนอ แล้วโยนให้ปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่กว้างและหลากหลายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับวิธีการของชุมชนแห่งการเรียนรู้
    • ท้องถิ่นก็ได้รับการเสริมพลังและมีเครือข่ายขยายขีดความสามารถให้มีโอกาสสร้างสิ่งดีๆได้มากขึ้น
    • ผมเองอยู่ไกลบ้านเกิด แต่ก็เหมือนได้ใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่พอมี ให้มีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนถิ่นฐานบ้านเกิดไปด้วยดีเหมือนกันครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • "อีกด้านหนึ่งของโรงเรียนหนองบัวเทพเป็นทางออกไปที่ว่าการอำเภอ เป็นสวนผักและสวนอ้อยของอาแปะ ครอบครัวของเพื่อนผมเอง ซึ่งตอนนี้เธอมาทำการงานอยู่ที่ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน มีครอบครัวและมีลูกเต้าเติบโตเป็นคนกรุงเทพฯหมดแล้ว"
    • สวนผักของอาแปะนี้ มีพื้นที่ไม่มากนักแต่ทำกินได้ทั้งปี จำได้ว่าแปลงผักจะทำอย่างสวยงาม สะอาดตามาก
    •  แปลงผักก็น่าดูและพืชผักก็งามดีด้วย ดูแล้วอาแปะช่างขยันจริง ๆ
    • ได้ข่าวว่าแกมีลูกเป็นตำรวจด้วยไม่รู้ใช่ครอบครัวนี้หรือเปล่า ชักจะลืม ๆ ไปบ้างแล้ว
    • คันร่องมันเทศตรงดิ่งดินขาวสวยงาม อ้อยก็ปลูกเป็นระเบียบ มักพูดกันว่ามีที่ดินอยู่แค่นี้จะทำกินได้พอเลี้ยงครอบครัวไหมหนอ
    • ชาวบ้านมักจะนิยมมีนาไร่มาก ๆ จึงจะดีเพราะนาไร่ทำได้ปีละครั้ง แต่สวนผักข้างสระวัดหนองกลับทำกินได้ตลอดปี ปีละหลายครั้ง

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ความเมตตาอย่างหนึ่งของหลวงปู่อ๋อยที่คนรุ่นเก่าสัมผัสได้ก็คือพระเดชพระคุณเอาใจใส่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อผู้คนเสมอ ๆ เลย เช่น วันพระมีญาติโยมมาทำบุญกันจำนวนมาก
    • หลวงปู่ท่านมักเดินไปพูดคุยกับญาติโยมบนศาลาการเปรียญเมื่อเสร็จจากพระสงฆ์อนุโมทนาให้พรแล้ว
    • คนที่มาทำบุญก็จะทานอาหารร่วมกันพูดคุยถามไถสื่อสารข่าวคราวในรอบสัปดาห์เรื่องทำมาหากิน สารทุกข์สุกดิบและเรื่องราวต่าง ๆ ทั่วไป เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกันเองและมีมิตรภาพอันดีงาม
    • ปกติก็รู้จักกันอยู่แล้วยิ่งมาทานอาหารร่วมกันยิ่งเพิ่มความสัมพันธ์ทางจิตใจเหมือนเป็นญาติเป็นมิตรรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ไม่ได้แยกเป็นคนรวย คนจน คนมีฐานะกับคนยากไร้
    • การทำบุญและทานอาหารร่วมกันก็เป็นวิธีสลายตัวตนให้หลอมรวมกันได้โดยไม่แบ่งความมีความจนได้จากวงอาหาร
    • ยิ่งมีพระสงฆ์ที่คนเคารพนับถือให้ความเมตตารักใคร่เอ็นดูก็ยิ่งจะมีความอบอุ่นใจสุขใจมีที่พึ่ง มีผู้ใหญ่ให้เป็นที่พึ่งพาก็เกิดเป็นบุญแก่ชีวิตมีหลักในการดำเนินชีวิตที่ปลดดโปร่งมีแนวทางในการใช้ชีวิตมีศูนย์รวมอยู่ที่พระศาสนา
    • หลวงปู่มักใช้เวลาที่ญาติโยมทานอาหารกันนี่แหละท่านจะมาสนทนาพูดคุยด้วยญาติโยมที่ได้พูดคุยกับท่านแม้ช่วงสั้น ๆ แต่ความรู้สึกกลับมีคุณค่าทางใจอย่างมาก เหมือนกับผู้น้อยได้รับความรักความเมตตาจากผู้ใหญ่ย่อมเกิดความอบอุ่นใจและมีกำลังใจ
    • นี่คือปฏิปทาอย่างหนึ่งของพระผู้ใหญ่สมัยโบราณที่น่าศึกษาเรียนรู้แนวทางการมีธรรมของท่าน คนรุ่นเก่าบอกว่าเป็นความรู้สึกดีอบอุ่นใจ นี่คือคนรุ่นที่ผ่านมามีต่อศาสนาต่อพระสงฆ์
    • แม้ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านที่สุขภาพไม่ค่อยดี แต่ที่เห็นและจำได้คือหลวงปู่อ๋อยท่านจะขึ้นศาลาทุกวันพระถึงกับประคองกันขึ้นเลยทีเดียว แต่ท่านก็ไม่ย้อท้อที่จะฉลองศรัทธาบุญของญาติโยม
    • ทั้งพระและญาติโยมก็มีความรู้สึกคล้ายกันคือ ท่านเป็นหลักแห่งวัดแห่งชุมชนแห่งผู้คนทั้งเมืองหนองบัวและโดยทั่ว ๆ ไป
    • ศาลาการเปรียญก็หลังใหญ่เป็นสง่าแก่บ้านแก่เมือง ผู้ครองวัดก็เป็นผู้นำทางจิตใจและผู้คนก็ทำบุญสุนทรทานกันเนืองแน่น เป็นภาพอันงดงามเป็นความรู้สึกดี เป็นความอบอุ่นเป็นบุญเป็นกุศล เป็นมิตรเป็นเพื่อนกันและกันตลอดมา
    • นี่คือบทบาทสงฆ์บทบาทวัดที่มีต่อชุมชนอันเป็นศูนย์รวมความบออุ่นใจ

    ขอเจริญพร

    • ลูกของอาแปะที่ว่าเป็นตำรวจด้วยคนหนึ่งนั้น ผมก็ไม่แน่ใจครับ แต่ดูเหมือนว่าจะใช่ครับ
    • บทบาทของวัดต่อชุมชน รวมทั้งต่อความเป็นสาธารณะของสังคม อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากครับ แม้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆได้มีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่สำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะในชนบทแล้ว บทบาทดังกล่าวของวัดและพระสงฆ์ก็คิดว่ายังคงมีบทบาทสำคัญมากครับ
    • หากมีแหล่งที่มีพระบวชเรียนและมีสถาบันการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ ก็คิดว่าควรมีการพัฒนาทักษะให้กับพระสงฆ์ เพื่อมีบทบาทดังกล่าวกับชุมชนได้อย่างสืบเนื่องครับ

    นับถือครับ....นับถือ สำหรับรูปไอ้เป๋ และรูปวัวหลวงพ่ออ๋อย คิดถึงบ้านและคิดถึงบรรยากาศสมัยนั้นจริง ๆ

    เมื่อตอนเด็ก ๆ สมัยผมเป็นสังกาลี....(ภาษลาวครับ.....ภาษาไทยเขาเรียกกันว่า...เด็กวัดหรือ อาราม BOY) อยู่กับหลวงลุงที่วัดโคกกระถิน (รอยต่อ 3 อำเภอ...หนองบัว - ท่าตะโก - ชุมแสง) มีคนลักษณะเดียวกับไอ้เป๋....ชื่อไอ้ไฮ้ ชอบสูบกัญชา และมีบ้องกัญชาเป็นเพื่อนเคียงกาย ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยหรือสุงสิงกับใคร เมื่อสูบกัญชาเมาได้ที่ มักส่งเสียงดังว่า......เป๊บ...!

    ไอ้ไฮ้ไม่เคยทำร้ายใคร แต่เด็ก ๆ ก็กลัว เนื่องจากเห็นว่าไอ้ไฮ้ เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ สามารถกินไฟได้...บางครั้งก็เคยเห็นคนข้างวัด ร่วมกินไฟกับไอ้ไฮ้ด้วย

    ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าไอ้ไฮ้เป็นใคร หรือมาจากไหน

    แต่ไอ้ไฮ้ เป็นลาวโซ่งหรือไทดำ เดินทางด้วยเท้า เหน็บบ้องกัญชา เคลื่อนไหวไป - มา ระหว่างตำบลไผ่สิงห์ อำเภอชุมแสง กับ บ้านน้ำสาดกลาง ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว.............เส้นทางที่ไฮ้เดินทางผ่านประจำคือ ไผ่สิงห้ - ไผ่ขวาง - หนองสระ - หนองละมาน - ดงจันทำ - ตะเฆ่ค่าย - โคกกระถิน - หนองแจง - หนองผักบุ้ง - สายลำโพงเหนือ - เนินประดู่(กระโดนปม) - หนองกระจูม - ห้วยปลาเน่า - โคกมะกอก - ป่าเรไร - น้ำสาดกลาง - บางครั้งก็เลยไปถึงน้ำสาดเหนือ /เขาอีต่วม ซึ่งมีลาวโซ่งอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

    ไอ้ไฮ้นี้ก็เป็นคนดัง แม้ว่าจะดังแบแบ้าน ๆในแถบ ๆ รอยตะเข็บ 3 อำเภอ แต่ก็ go inter ไม่แพ้ไอ้เป๋เหมือนกันครับ.

    นมัสการพระคุณเจ้าครับ

    ครูสาคร สอนรุ่นพี่ของผม ท่านอยู่ที่ห้วยปลาเน่าครับ (สมัยนั้น....โรงเรียนวัดห้วยวารีเหนือ...ปัจจุบันยุบแล้ว) บ้านท่านอยู่ห้วยปลาเน่าเหนือ ข้าคลองและ เลยวัดไปทางห้วยน้อยประมาณ 450 เมตร

    ปัจจุบันนี้การเดินทางจากห้วยปลาเน่า ไปห้อยน้อยไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อนแล้วครับ มีถนนไปมาหาสู่กันได้.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ยอมรับจริง ๆ ว่าตัวเองยังไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมคนรอบนอกหนองบัวดีเลย
    • แค่คำว่า สักกาลีหรือเด็กวัดนี่ ก็พึ่งทราบวันนี้
    • ขอบคุณอาจารย์สมบัติอย่างมาก ที่ช่วยให้คนที่อาจารย์เคยบอกว่า เป็นคนเมือง(หนองกลับ/หนองบัว) ได้รู้เพิ่มขึ้น
    •  ทั้งไอ้ไฮ้-ไอ้เป๋ ทำให้คนรุ่นหนึ่งมีความทรงจำและสามารถทำให้หวนรำลึกถึงบ้านตัวเอง
    • เดี่ยวกลับหนองบัวจะลองถามญาติที่ห้วยด้วยว่ารู้จักไอ้ไฮ้หรือไม่ แต่อาตมาเองไม่รู้จัก เพราะอยู่คนละเขต/เส้นทาง
    • เส้นทางเดินของไอ้ไฮ้ ถ้าคนในหมู่บ้านดังกล่าวมาอ่านเรื่องที่อาจารย์กล่าวถึง คงจะนึกถึงบ้าน และคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ เมื่อครั้งอดีต
    • ก็พูดตามตรง แบบชาวบ้านเรา คนหนองบัวนั้นก็จะรู้ว่าคนรอบนอกนั้นเป็นลาว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นลาวจากไหน ลาวอะไร
    • ได้มาทราบจากที่นี่ นี่เอง
    • อนุโมทนาขอบคุณที่ช่วยให้ได้รู้จักคนดัง(ไอ้ไฮ้) ที่ร่วมสมัยกันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งท่าน
    • เห็นไหมว่าไอ้เป๋เป็นประสบการณ์ร่วมของคนหนองบัวมากแค่ไหน ดีจังเลยครับที่สะท้อนทรรศนะให้อย่างนี้ เพราะทำให้เห็นอีกด้านหนึ่งของหนองบัวที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปให้ยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะความเป็นหนองบัวด้านนี้มาจากคนที่ไม่มีความหมายในสายตาของคนทั่วไป แต่พอนำกลับมานั่งคิดถึงก็กลับเห็นความเป็นส่วนหนึ่งของเราเองไปด้วยเลยทีเดียวนะครับ
    • สังกาลี นี่ผมเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกเลยละครับ

    เรื่องพระ เรื่องเจ้านี่ ผมก็พอจะรู้เรื่องบ้างเล็กน้อยครับ....เพราะเคยเป็นสังกาลี ที่วัดโคกกระถินและวัดสีหไกรสร 4 แยกพรานนก

    ผมมีพี่ชาย(เคย)เป็นพระเหมือนกัน แล้วก็เป็นพระมหาเช่นเดียวกับพระคุณเจ้าด้วย ท่านเคยบวชเณรอยู่วัดแสงสวรรค์ ย้ายไปเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในบริเวณวัดมหาธาตุ แล้วต่อ master ที่ Delhi

    หลังจบการศึกษา หลวงพี่ผมใช้ชีวิตในต่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งในนคร Los Angeles...Melbourne....Brisbane ในฝ่ายมหานิกายท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่รัฐ Victoriaและเป็นอุปฌาย์เดินทางไปบวชนาคทั่วทั้งทวีปอสเตรเลีย (รวมทั้งเกาะนิซีแลนด์)

    พอมาอยู่ชายแดนลาวผมก็ไปคลุกคลี ทำบุญให้ทานกับพระในนครหลวงเวียงจันทน์ ...... จึงพอได้ศัพท์ทางพระ(ลาว) มาบ้าง ซึ่งจะขอนำมาแบ่งปัน พอเป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้ครับ

    สังกาลี.....เด็กวัด

    เจ้าอธิการ....เจ้าอาวาส

    ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว.....สมเด็จพระสังฆราช

    จั่ว.....สามเณร

    สันจังหัน.....ฉันภัตตาหารเช้า

    ออกตนญาติโยม......ญาติโยม /ทายกทายิกา

    พ่ออก แม่ออก.....อุบาสก อุบาสิกา

    บ่วง......ช้อน

    ไม้ทูหรือไม่ทูลี.....ตะเกียบ

    เฝอ.....ก๋วยเตี๋ยว

    จอง......ทัพพีหรือช้อนขนาดใหญ่

    ถ้วย.....ชาม

    ชาม หรือซาม.....กาละมัง ไปเมืองลาว ถ้าจะกินเฝอ ต้องสั่งเป็นถ้วยนะครับ...อย่าสั่งเป็นชามเด็ดขาด เพราะท่านจะกินไม่หมด

    เจี้ย.....กระดาษ

    สบ.....ปาก

    เจี้ยเซ็ดสบ....กระดาษเช็ดปาก

    ผ้าอนามัย.....ผ้าเย็น(ธรรมดานี่เอง)

    เจี้ยอนามัย.....กระดาษทิชชู่ทั่ว ๆ ไป

    แอ๊ดซั่ง.....น้ำมันเบนซิน

    กาซ่วน....น้ำมันดีเซล...........ถ้าท่านขับรถไปเมืองลาว นอกจากพวงมาลัยรถลาวจะอยู่ด้านซ้ายและต้องขับรถชิดด้านขวา/แซงซ้ายแล้ว พึงจำ 2 คำนี้ไว้ให้ดีนะครับ...มิฉะนั้นรับรอง รถของท่านเครื่องพังแน่นอน

    คูบา.....พระ(ทั่ว ๆ ไป)

    ก่ะแล่ม.....ไอศครีม หรือไอติมนี่เอง.......จั่วน้อยมักหลาย

    ปี้......ตั๋วหรือบัตร

    ญน(ออกเสียงนาสิก)...เครื่องบิน........ปี้ญน แปลว่า ตั๋วเครื่องบินครับ

    ขัว...สะพาน อย่างสะพาานมิตรภาพไทย-ลาวเนี่ย คนลาวเขาก็จะเอิ้นว่า....ขัวมิดตะพาบลาว - ไท ครับ

    แคม....ริม ตัวอย่างเช่น ริมแม่น้ำโขง...แคมของ ริมถนนหนทาง....แคมทาง อะไรที่อยู่ริม ๆ หมิ่น ๆ ลาวเรียกแคมหมดล่ะครับ

    สายแอว.....ประคตรัดเอว หรือ เข็มขัด

    โมงแขน......นาฬิกาข้อมือ

    ปื้ม.....หนังสือสำหรับอ่าน

    ปื้มเขียน.....สมุด

    บิ๊ก.....ปากกา

    สอขาว......ชอล์ก

    ก่าจ้ำ.....ตรายาง

    สอ.....ดินสอ

    แจ่วหมากเล็น......น้ำพริกตำผสมกับมะเขือเทศ นี่เป็นอาหารหลักเชียวครับ

    แจ่วหมากเผ็ด.....น้ำพริก(ที่กินกับผัก) พริก ...ลาวเรียกว่า....หมากเผ็ด และยังมีหมากต่าง ๆอีกมากที่เรียกชื่อต่างกัน

    แจ่วปาแดก......น้ำพริกปลาร้า(ดีดีนี่เอง)

    ................ฯลฯ................ศัพท์แปลก ๆ พวกนี้ ผมรวบรวมไว้ใน..ถ้อยเสียงสำเนียงลาว..... มีมากกว่า 5 พันคำครับ

    ใครว่าไทย(กรุงเทพฯ)กับลาวพูดกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องใช้ล่าม ใช่ว่าจะจริงไปเสียทั้งหมด ขนาดผมเองฝึกมาตั้งแต่เกิด .... พอมีการประชุมกันอย่างเป็นการเป็นงาน ศัพท์บางคำยังต้องขอเวลานอก หรือไม่ก็แอบไปถามช่วงพักการประชุม ก็มีอยู่บ่อย ๆ ครับ..นั่นคือตอนที่ผมย้ายมาทำงานชายแดนใหม่ ๆ

    .....เกือบลืมไปครับ ท่านพระมหาแลฯ ผมไปทำการบ้านมา...

    ครูสาคร นามสกุล ฤกษ์สุทธิ์ ไม่ทราบว่าสะกดอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่าโทรไปถามทางบ้านมา ท่านเคยสอนที่ห้วยปลาเน่า น้องชายครูสาครชื่อครูห่อ นามสกุลเดียวกัน สมัยเมื่อกว่า 50 ปีก่อนมีครูสังเวิน ศิริชาติ (ภรรยาของท่านเป็นญาติกับผมด้วย) นอกจากนั้นยังมีครูชุบ ครูสมพงษ์ ครูตัน และครูอื่น ๆ อีกหลายท่านครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ไม่ใช่รู้น้อยแล้ว ต้องเรียกว่ารู้หลายเลยแหละ วัดสีหไกรสร ๔ แยกพรานนก บางกอกน้อยนี่
    •  เคยมีพระจากหนองบัวบ้านเนิน ขวาง ข้างวัดเทพสุทธาวาส ไปจำพรรษา
    • ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน วัดเทพฯ ช่วงที่อาตมาไปเยี่ยมท่านนั้นประมาณพ.ศ.๒๕๓๐ ปลาย ๆ
    • ตอนนี้ท่านจำพรรษาที่สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เจอท่านสิบกว่าปีแล้ว
    • อาตมากำลังจะรวมรวบพระมหาและอดีตพระมหา พระนักธรรมชาวหนองบัว ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน แต่ยังไม่มีเวลา
    • อาจารย์สมบัติพอจะมีข้อมูลลูกหนองบัวที่รู้จักและไม่รู้จักที่เป็นเปรียญ/อดีตเปรียญลาพรต(สึก) แถว ๆ เขตห้วยวารีและใกล้เคียงบ้าง
    • ก็นำมาเผยแพร่ในที่นี้ก็ได้ เพราะมีประโยชน์แก่พระหนุ่มเณรน้อย ที่ร่ำเรียนเขียนอ่านจะได้ศึกษาชีวิตแนวทางการศึกษาของท่านเหล่านั้น และเป็นกำลังใจแก่พระเณรอีกด้วย
    • ศัพท์แสงภาษาลาว ดีมากเลย ได้ความรู้เพิ่มมากมาย
    • ลองถามเด็กหนุ่มชาวอุดรธานี ว่าสังกาลี แปลว่า อะไร แกตอบได้ แกบอกด้วยว่าเป็นคำเก่า ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว
    • บางคำแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ขำ ๆ ดี
    • คุณครูสาคร ฤกษ์สุทธิ์ ที่เห็นตอนนั้นท่านสอนที่โรงเรียนวัดห้วยน้อย
    •  คุณครูห่อ ฤกษ์สุทธิ์ นี่ชื่อคุ้นมากเลย จำได้ไม่แน่ชัด แต่คิดว่าน่าจะใช่ครูห่อ ที่ชอบผูกมิตรไมตรีกับชาวบ้านบ่อย ๆ หรือเปล่า ดูท่านเป็นคนมีพวกมาก เคยเห็นท่านเดินออกจากหมู่มิตรเพื่อนบ้านทีไร เดินไม่ค่อยจะตรงทาง เซ ๆ (ขออภัยถ้าพาดพิง ผิดพลาดในข้อมูล)
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วัดสีหำกรสร ๔ แยกพรานนก บางกอกน้อย กมท.
    • เหมือนเป็นธรรมเนียมของญาติโยมใกล้วัดที่อุปัฏฐากพระสงฆ์โดยใส่บาตรทุกวัน
    • อาทิตย์ละครั้งหรือไรนี่แหละ จะถวายปัจจัยตอนบิณฑบาตเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อการศึกษาแก่พระเณรที่ศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์
    • วัดนี้ตอนกลางวันมีสมภารเฝ้าวัดอยู่รูปเดียว นอกนั้นเป็นพระเณรนักศึกษา/ไปเรียนกันหมด/พระไปเรียนต่อต่างประเทศก็เยอะด้วย
    • ทั้งเป็นวัดเล็ก ๆ แต่สนับการศึกษาส่งเสริมการศึกษาดี
    • ช่วงนั้นเจ้าอาวาสท่านเป็นคนอำเภอท่าตะโก จ.นครสวรรค์
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออภัยอุตส่าลบแล้วเชียว ก็ยังผิดอยู่อีก

    วัดสีหำกรสร แก้เป็น วัดสีหไกรสร

    การไปรู้จักประเทศเพื่อนบ้านแล้วเห็นเป็นโอกาสได้เรียนรู้ ดูมันมีแต่เรื่องน่าสนใจ เห็นทั้งความแตกต่างกับความเหมือนกันให้น่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปหมดเลยนะครับ แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันก็ดูน่าสนใจมากๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ ผมก็ได้หูตากว้าง ได้เกร็ดความรู้ไปด้วยเยอะแยะเลยครับ 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ขอเสนอให้คนหนองบัวลองไปหาอ่านพจนานุกรมภาษาลาวดู แต่งโดยคนหนองบัว( สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง)ไม่คิดค่าโฆษณา
    • สนุกดีด้วย ลองดูตัวอย่าง
    • พยัญชนะ ตัวเดียวกับพยัญชนะไทย แต่ออกเสียงต่างกันดังนี้
    •  ไทย ง.งู ลาว เป็น ง.งัว ตรงกับคนหนองบัว-หนองกลับ(เรียก งัว)
    • ไทย ย.ยักษ์(ญ) ลาว เป็น ย.ยุง (เสียงขึ้นจมูก)
    • ไทย น.หนู ลาว เป็น น.นก
    • ไทย ม.ม้า ลาว เป็น ม. แมว
    • ไทย ฮ.นกฮูก ลาว เป็น ฮ.เฮือน
    • แต่ที่ไม่เหมือนก็มีคือไทย ค.ควาย ลาวเป็น ค....
    • นี่แค่แซมเปิ้ลนะ...ยังมีอะไรอีกเยอะแยะ เด้อพี่น้อง

    เมื่อตอนเป็นเด็ก พอครูให้อ่านสามตัว คือ ค ซ ย ก็จะกลายเป็น  ค คว..ย   ซ ซ้าง   ย  ญัก  แล้วก็จะอาย 

    เอ....หรือว่าจะเป็นเพราะอย่างนี้กระมังครับ คือ จนป่านนี้ผมก็รู้สึกอายและประหม่าเวลาพูดต่อหน้าคน หรืออยู่บนเวทีพูด ทั้งๆที่ตลอดชีวิตการทำงาน ก็ต้องพูด-ต้องบรรยาย แต่ไม่เคยหายเลย ปอดแหกและเครียดทุกที ที่จะต้องพูด

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วันนี้ขออนุญาตอาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง
    • นำศัพท์ภาษาลาว จากพจนานุกรมภาษาลาว
    • ที่อาจารย์เขียนไว้ มีที่น่าศึกษาเรียนรู้มาแบ่งปันให้ชาวหนองบัว
    • นำมาเผยแพร่ผิดกฏหมายไหมเนี่ย เจ้าของยังไม่ได้อนุญาต เจ้าของลิขสิทธิ์ช่วยบอกด้วย
    • คอมพิวเตอร์            computer ภาษาลาวเขียนว่า ก่อมปุ่ยเต้อ
    • ครีมทาหน้า             cream ภาษาลาวเขียนว่า ก่ะแล่มท้าหน่า
    • ชิงถ้วย(ฟุตบอล)      competition for shampionship ภาษาลาวเขียนว่า ซีงขัน
    • ควายหาย(สาบสูญ)  lose baffalo ภาษาลาวเขียนว่า ค้วยเสีย

    ลักษณะการทับศัพท์แล้วกร่อนเสียงให้ถนัดปากของคนที่พูดอีกภาษาหนึ่งอย่างนี้มีเหมือนกัน จะมองให้เป็นเรื่องน่าขัน น่ารัก ก็ได้ หรือมองให้น่าสนใจก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ  ในภาษาไทยและทุกๆภาษา ก็จะมีครับ เช่น

    • โซป Soap สบู่ในภาษาอังกฤษ ภาษาไทยกร่อนเสียงเป็น สบู่ แล้วคนก็คิดว่าเป็นภาษาไทย     
    • Telephone เทเลโฟน ก็ทับศัพท์และกร่อนจนกลายเป็น โทรศัพท์         
    • เซมิหน่า Seminar การประชุมสัมมนา ก็เป็น สัมมนา ความหมายเดิมและเสียงก็แปล่งออกไปนิดหน่อยจากเดิม
    • ในภาษาญี่ปุ่นก็มีครับ เช่น Car คาร์  รถยนต์ ในภาษาอังกฤษก็เป็น Caru คารุ ความหมายเดิมแต่เพี้ยนเสียงออกไปนิดหน่อยกลายเป็นคำของญี่ปุ่นไป

    จะเห็นว่ามองผ่านภาษาและวัฒนธรรมการคิด-พูดแล้ว สังคมต่างๆก็จะมีภาพสะท้อนซึ่งกันและกันอยู่ ซึ่งมองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นร่องรอยที่บอกความเป็นจริงอย่างหนึ่งได้ว่า ไม่มีชุมชนและสังคมใดเลยในโลกที่จะก่อเกิดและดำรงอยู่อย่างเอกเทศ การเดินทางและเพี้ยนไปของภาษา-การพูด การออกเสียง ในลักษณะดังกล่าวถักทอสังคมหนึ่งๆไปสู่อีกสังคมหนึ่ง สะท้อนคิดให้เราเห็นอย่างนั้นได้

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    ครับ ท่านเจ้าอาวาสวัดสีหไกรสร ยังเป็นท่านเดิม ท่านเป็นคนท่าตะโก ศิษย์เก่าวัดแสงสวรรค์บ้าน อยู่ทางเขาล้อ-ดอนคา....ชื่อทางพระผมจำไม่ได้แล้ว พระครูประยูร หรือหลวงพี่ยูร ศรีบรรเทา เป็นชื่อ-นามสกุลจริงของท่านครับ...สัปดาห์หน้า คณะของท่านจะนำกฐินไปทอดที่วัดไทย ในออสเตรเลีย ...ออสเตรเลียเนี่ย คนลาวเขาเรียกว่า...อ๊ดสะต่าลี่....ครับ

    สำหรับอาจารย์ปาน วัดเทพสุทธาวาสนั้น กับครอบครัวผมรู้จักกันดีมากครับ งานบวชผม งานศพแม่ งานศพพ่อ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่หรืองานอื่น ๆ นิมนต์ท่านตลอด วาระสุดท้ายที่ท่านมรณภาพ ญาติพี่น้องผมไปกันเยอะครับ........ท่านสนิทสนมกับพี่ชายผมทั้ง 2 คน

    ระยะนี้ข่าวลาวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ผมมีศัพท์ต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬา และอื่น ๆ มาฝากครับ

    หมากก่ะต้อ.....ตะกร้อ

    หมากบานหรือบ่านเต๋ะ......ฟุตบอล

    บ่านบ้วง......บาสเก็ตบอล

    บ่านต๋บ.....วอลเลย์บอล บานมือ....แฮนด์บอล

    ดอกปีกไก่.......แบดมินตั้น

    หมากหวีด.....นกหวีด

    เต๋ะแจ๋.....เตะมุม

    เดิ่น.....สนาม (กอล์ฟ/ฟุตอล)

    ขุม.....หลุม(กอล์ฟ)

    ชิพแอนด์รัน.......ซิบแล่น(กีฬากอล์ฟ)

    หมากบุ่น/เปตัง.....เปตอง

    ซีงสายแอว......ชิงเข็มขัด (แช้มเปี้ยน)

    ลอยน้ำ.......ว่ายน้ำ

    ซ่วงเฮือ.....แข่งเรือ

    เกิบ.....รองเท้า

    ถงตีนหรือถ่งตี๋น....ถุงเท้า

    ลดถีบ....จักรยาน

    ลดจั๋ก.....รถมอเตอร์ไซด์หรือรถจักยานยนต์

    ญาง....เดิน

    แล็น.....วิ่ง / แล็นญ็อก ๆ .......จ๊อกกิ้ง

    คนเจ๋บ......คนป่วย

    เจ๋บเป๋น.....เจ็บป่วย

    พะญาด........โรค เช่น พะญาดหมากแดง....ผด/ผื่น/คัน

    โฮงหมอ....โรงพยาบาล

    ส้ง.....กางเกง

    ส้งซ่อนหรือส้งน่อย.....กางเกงชั้นใน

    เสื่อซ่อน......เสื้อชั้นใน

    สายแอว......เข็มขัด

    สะบู่ฝุ่น........ผงซักฟอก

    ฟองสะโน.....โฟม

    โทละพาบ.....โทรทัศน์

    ตี.....ชก

    หมากแลแซ็งหรือหมากลาแซ็ง.....องุ่น

    แว็ง......ไวน์

    ปั่วพะญาด......รักษาโรค

    หมอปั่วแข่ว.....ทันตแพทย์

    อี่หล่าค้างเหลือง....งูจงอาง

    โด๋ย.....ครับ/ค่ะ

    โด๋ยข่ะน่อย.......เจ้าค่ะ/พะยะค่ะ

    ข่ะน่อย....ข้าพเจ้า

    สะพากาแดง.....สภากาชาด

    ญิ่มอ่มแข่ว......อมยิ้ม/ยิ้มเอียงอาย

    ปู่มเป้า.......ลูกโป่ง

    เอ้ญ่อง........ตกแต่ง/ประดับประดาอย่างสวยงาม

    สายคอคำ......สร้อยคอทองคำ

    ก่าล่ะหวัด......เนคไท

    ญ็วง....ไม้แขวนเสื้อ

    หมากถั่วเลียน......ทุเรียน

    หมากถั่วดิน......ถั่วลิสง

    หมากสาลี.......ข้าวโพด ฯลฯ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • งานทำบุญบ้านแถววัดป่าเรไร และบริเวณใกล้เคียงทำนาอยู่ที่ห้วยน้อยยังได้ยินหลวงพ่อปานวัดเทพสุทธาวาสสวดมนต์ตลอด ท่านสวดเสียงดังฟังเพลินเจริญศรัทธาได้ดี คนศรัทธาท่านทั้งอำเภอหนองบัวและต่างจังหวัด
    • อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ได้นำคำศัพท์ภาษาลาวมาเผยแพร่ให้คนหนองบัวและทั่ว ๆ ไปได้ศึกษาเรียนรู้
    • คนหนองบัว-หนองกลับหรืออาตมานี่ ฟังเสียงพูดก็ไม่ค่อยออก รู้น้อยเต็มทีภาษาลาว ได้อ่านพจนานุกรมภาษาลาวที่อาจารย์เขียนจึงได้ความรู้เป็นอย่างมาก

    เจริญพร

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    การเป็นสื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิถีชาวบ้านนั้น นอกจากเป็นเรื่องสร้างสรรค์มากแล้วผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองเสียใหม่มากเลยนะครับ การมีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นมิตรร่วมพัฒนาไปด้วยกันเยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านนั้น ทำให้เสียทุนทางสังคมและเสียโอกาสการพัฒนาต่างๆไปมากมาย เลยเหมาะสมกับบทบาทของการได้เป็นกรรมการสานความสัมพันธ์ไทย-ลาวมากเลยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    นึกถึงตอนไถนาหรือเดินอยู่กลางทุ่งแล้วเห็นหลังคาโบสถ์อยู่ลิบๆที่ปลายทุ่งหรือแว่วเสียงพระสวดนี่ มันช่างเป็นบรรยากาศและลมหายใจชีวิตชนบทที่หอมหวานมากเลยนะครับ

    ผมก็เคยทำนาเหมือนกันครับ นาผมอยู่ไม่ไกลจากบ้าน แต่ที่เลี้ยงควายต้องไล่หรือปล่อยออกไปหากินหญ้าเกือบถึงบ้านห้วยถั่วใต้

    ระหว่างห้วยปลาเน่ากับห้วยถั่วใต้ มีไดห้วยถั่วใต้คั่นอยู่......ไดแห่งนี้เป็นที่เลี้ยงวัว - เลี้ยงควายของหลายหมู่บ้าน เป็นที่หาปู หาปลา หาเทา หาหอย หาผักต่าง ๆ ....เป็นที่พบปะของผู้คน (เด็กเลี้ยงควาย) จากต่างหมู่บ้าน รองเท้าก็ใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง มีผ้าขาวม้าคาดเอว สะพายถุงย่าม อาวุธเครื่องกระสุนครบมือ (หนังกะติ๊กพร้อมลูกกระสุน) เสบียงพร้อม

    พอตอนเย็นได้เวลาต้อนควายเข้าคอก ในถุงย่ามเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารเย็น/อาหารเช้าในวันรุ่งขึ้นได้

    ตอนเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่ง พอได้ยินเสียงเครื่องไฟ /ได้ยินเสียงบรรเลงของแตรวง (ไม่ว่าจะเป็นงานวัดหรืองานบ้าน) ดังข้ามทุ่ง หัวใจของเด็ก ๆ มันเต้นตูมตาม อยากจะไล่ควายให้ถึงบ้านเร็ว ๆ เพื่อจะได้อาบน้ำแต่งตัวไปร่วมงาน กินอาหาร-ขนมอร่อย ๆ ดูหนัง/ดูลิเก/หมอลำกับพ่อแม่

    ทั้งหมดนี้ ช่างเป็นเวลาที่.........คิดถึงคราวใด ก็มีความสุขครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาได้ไปตรวจเยี่ยมสนามสอบธรรมศึกษาสำหรับนักเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอชาติตระการ พิษณุโลก

    บริเวณหน้าโรงเรียนประจำอำเภอชาติตระการ และในชุมชนเมืองมีควายอยู่หลายที่

    ชุมชนก็ยังเป็นสภาพชนบทดีเงียบสงบมีภูเขาป่าไม้มากมาย วิถีชีวิตก็ดูเรียบง่ายส่วนใหญ่กินข้าวเหนียว

    ชาวนาแถบนี้ทำนากันคนละไม่กี่ไร่ทำเฉพาะไว้กินเองไม่ได้ขาย การเก็บเกี่ยวก็มีการลงแขกเอาแรงกันอยู่ เลยได้พูดคุยกับเจ้าอาวาสว่าถ้าชาวบ้านลงแขกเกี่ยวข้าวให้บอกลูกศิษย์ช่วยไปถ่ายรูปการลงแขกเกี่ยวข้าวในทุ่งนาเก็บไว้ให้ดูบ้างเพราะที่หนองบัวหาดูไม่ได้แล้ว ปัจจุบันเกี่ยววันเดียวเสร็จเรียบร้อย

    ทั้งเลี้ยงควาย-ลงแขกดำนา-ลงแขกเกี่ยวข้าวกลายเป็นอดีตที่นึกถึงแล้วก็เหมือนที่อาจารย์สมบัติว่าไว้เลยแหละ

    คือคิดถึงเมื่อไหร่ ก็มีความสุขไม่น้อยเลย

    • แล้วเวลาราดน้ำอาบนั้น ก็แทบจะเปียกไม่ทั่วตัวเลยใช่ไหมครับ เรียกว่าจ้วงโครมๆ แต่ใจไปอยู่หน้าโรงลิเกแล้ว เวลามีงานของชุมชนแถวบ้านนอกนี่ แค่ได้ไปเห็นแสงนีออนหรือแสงตะเกียงเจ้าพายุ หัวใจมันก็ฟูฟ่อง
    • วันนั้น พวกเด็กๆก็จะขยันทำความดีความชอบให้ปรากฏอย่างเป็นพิเศษ เพื่อตกค่ำจะได้ขอไปดูเครื่องไฟและไปเที่ยวงาน
    • การได้มีความสุขเมื่อคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนี่ มองอีกมุมหนึ่งก็ได้วิธีคิดนะครับว่า การทำปัจจุบันขณะของเราอย่างใส่จิตใส่ใจนั้น สักวันหนึ่งก็จะเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าต่อความทรงจำของเรานั่นเอง 
    • แล้วอีกอย่างหนึ่ง การได้มีเวลาทบทวนและนำสิ่งต่างๆในชีวิตมาคุยและคิดถึง ก็ทำให้เราได้ความสุขที่ลึกซึ้งได้ เป็นสุขภาวะจากการได้คิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ Healthy Learning ได้อย่างหนึ่งเลยนะครับ

    ความรู้ชุมชนจากคำบอกเล่า : ความเป็นมาของไอ้เป๋หนองบัว
    ผู้เล่าหลัก : จำลอง ทองแท่ง และผู้ให้ข้อมูลเสริม : บุญช่วย มีแสง

    ผมกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์จึงได้มีโอกาสพบปะและสนทนากับญาติพี่น้องไปตามอัธยาศัย ช่วงหนึ่งได้คุยถึงการเป่าแตรวงแห่นาคและช่างบังเอิญมีเรื่องไอ้เป๋หนองบัวผุดขึ้นมาในการสนทนาก็เลยได้นั่งคุยแล้วนำเค้าเรื่องมาบันทึกไว้

    จำลอง ทองแท่ง อายุ ๖๐ ปีเศษ เป็นชาวบ้านบ้านกลาง หมู่ ๑๑ ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในอดีตเป็นหัวหน้าแตรงวงคณะ ช.ลูกทุ่ง ปัจจุบันเป็นเกษตรกรและทำเส้นขนมจีนขาย บุญช่วย มีแสง อายุ ๗๐ ปีเศษ ในอดีตเป็นหัวหน้าแตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง ก่อนจำลอง ทองแท่ง ทั้งสองท่านนี้เป็นญาติผมด้วย โดยผมเรียกทั้งสองว่าน้าจำลองและน้าบุญช่วยและในฐานะที่เล่นแตรวง ทั้งสองท่านก็เป็นครูแตรของผม ซึ่งต่อไปนี้ผมขอเรียกทั้งสองท่านว่าน้าเพื่อแสดงความเคารพในวิถีชาวบ้าน

    น้าจำลองเล่าให้ทราบว่า ไอ้เป๋หนองบัวนั้นมีความเป็นมาร่วมกับการแห่นาคของแตรวง ช.ลูกทุ่ง ในช่วงประมาณปี ๒๕๑๕ และพื้นเพของไอ้เป๋หนองบัวนั้นเขาเป็นคนเลี้ยงควายอยู่ที่บ้านน้ำสาด

    ครั้งหนึ่ง น้าจำลองและคณะแตรวง ช.ลูกทุ่ง ได้ไปแห่นาคที่บ้านน้ำสาด ก็ได้พบไอ้เป๋มารำวงอยู่ในขบวนแห่นาคอยู่ในหมู่บ้านอยู่ตลอดเวลา รำทุกเพลง กระทั่งวันที่แห่นาคไปบวชที่วัดหลวงพ่ออ๋อย ไอ้เป๋ก็รำออกหน้าเดินไปกับชาวบ้านจากบ้านน้ำสาดไปจนถึงวัดหนองกลับ ซึ่งปัจจุบันหากขับรถจากหนองบัวไปบ้านน้ำสาดก็จะใช้เวลากว่า ๒๐ นาที แต่ในอดีตจะใช้เดินเท้าแห่ลัดทุ่งเกือบชั่วโมง

    เมื่อถึงวัดหนองกลับ ไอ้เป๋ก็รำแห่นาค และหลังจากนั้น ก็เห็นไอ้เป๋อยู่ที่หนองบัวตลอด ไม่กลับไปบ้านน้ำสาดอีกเลย

    ตื่นเต้นกับข้อมูลใหม่นี้และน่าสนใจมากเลย ต้องขอขอบคุณคุณโยมจำลอง ทองแท่งและคุณโยมบุญช่วย มีแสงอย่างยิ่งที่ช่วยให้ข้อมูลชุดนี้และได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากที่ไม่รู้ว่าไอ้เป๋มาจากไหนก็ได้รู้ว่าเขาเป็นคนอำเภอหนองบัวนี่เอง เขาเป็นคนเลี้ยงควาย เป็นนักรำวงอีกด้วย

    บ้านน้ำสาดมีอยู่ ๒ แห่ง คือบ้านน้ำสาดกลางอยู่ระหว่างบ้านห้วยด้วนกับบ้านป่าเรไร กับอีกที่หนึ่งอยู่ตะวันออกบ้านห้วยด้วน คือบ้านน้ำสาดเหนือ บ้านน้ำสาดเหนือนั้นมีพี่น้องลาวโซ่งอาศัยอยู่และปีนี้ก็เป็นครั้งแรกของหนองบัวที่มีพี่น้องลาวโซ่งจากจังหวัดเพชรบุรีมาเยี่ยมเชื่อมความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง วัดน้ำสาดเหนืออนั้นยู่ใกล้กับแยกถนนสายเอเชีย เส้นอินทร์บุรี-วังทอง ตัดกับถนนสายบ้านห้วยด้วน-บ้านเขานางต่วมโดยวัดอยู่ด้านทิศตะวันตกถนนใหญ่และห่างถนนไม่มากนัก

    อาตมาคาดว่าบ้านไอ้เป๋นั้นน่าจะอยู่ที่บ้านน้ำสาดกลาง บ้านน้ำสาดกลางเป็นหมู่บ้านที่เป็นชุมชนใหญ่พอสมควรดูได้จากที่นี่มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ซึ่งหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงกันแถบนี้จะมีโรงสีขนาดใหญ่ที่นี่แห่งเดียว และบ้านน้ำสาดกลางนี้มีบ้านไม้หลังใหญ่สุดคือบ้านผู้ใหญ่จูม เห็นแต่บ้านไม่เคยพบตัวท่านเลย เมื่อเกือบสี่สิบปีที่ผ่านมาคิดว่าไม่มีใครที่ไมรู้จักชื่อท่านและได้เห็นบ้านหลังนี้ ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่นำเสนอข้อมูลใหม่นี้ด้วย

      กราบนมัสการพระคุณเจ้าและทุกท่านครับ 

    • เป็นรื่องที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียวครับ ผมเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย พวกเราที่อยู่หนองบัว เห็นไอ้เป๋เป็นส่วนหนึ่งของหนองบัว จนไม่เคยคิดเป็นหัวข้อถามไถ่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าเขาเป็นใครมาจากไหน แล้วก็ไม่มีแง่มุมเด่นๆที่พอจะลองใช้เป็นข้อสังเกตตั้งต้นเปิดเข้าหาเรื่องราวความเป็นมาของเขาได้เลย แล้วเขาก็ไม่พูด ไม่ส่งเสียงให้เคยได้ยินเลย
    • การได้ทราบนี้เหมือนกับเป็นเรื่องบังเอิญอย่างที่สุด เพราะปนมากับการคุยกันอย่างสัพเพเหระ แต่ในความบังเอิญนั้นก็มีที่มาครับ คือ ในหนังสือ ๒ เล่มของผมที่ทำขึ้นมาและนำไปแจกจ่ายแก่ญาติพี่น้องนั้น  เล่มแรกก็มีเรื่องราวของชุมชนบ้านตาลินและเรื่องราวของหนองบัว ซึ่งผู้คนและกลุ่มคนที่เข้าไปปรากฏในเรื่อง และเป็นตัวเดินเรื่องนั้น เป็นคนที่คนแถวบ้านผมก็รู้จัก  เลยก็ทำให้เกิดหัวข้อคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ต่อเติมความรู้ บ้างก็ช่วยแก้ไขข้อมูลให้
    • พอเล่มที่สอง ก็เลยมีพื้นให้เกิดการสื่อสารเรียนรู้ เพิ่มพูนข้อมูลให้กันอีก อย่างเรื่องไอ้เป๋หนองบัวนั้น ก็ผุดขึ้นมาจากที่ผมุยยกตัวอย่างให้ดูว่า ใครมีเรื่องเก่าๆมาเล่าไว้ ผมเขียนขึ้นมาให้ทั้งนั้นแหละ แล้วผมก็ยกตัวอย่างไอ้เป๋
    • พอคุยขึ้นมา น้าลองของผม ก็เปรยขึ้นมาว่า "มึงรู้ไหมว่าไอ้เป๋เป็นใครมาจากไหน" (แถวบ้านผม คนอายุเท่ากัน กับผู้ใหญ่ที่พูดกับคนอายุอ่อนกว่า จะใช้สรรพนามแบบสังคมพ่อขุนรามฯทั้งนั้นแหละครับ คือ กู มึง ส่วนผู้ที่อ่อนกว่า จะเรียกตัวเองว่า "เฮา" ทั้งหญิงและชาย) โอ้โฮ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นครับ พอผมขอให้เล่าแกก็เล่าให้ฟัง
    • พระคุณเจ้าก็คงจะทราบดีว่า เมื่อก่อนนี้ คนที่จะรู้เรื่องภูมิศาสตร์สังคมอย่างดีและอย่างกว้างขวางตามชุมชนบ้านนอกอย่างเราๆนั้น ก็ต้องพวกเล่นลิเก แตรวง หมอทำขวัญ รถขายไอติม พวกเล่นรถไถนา กับพวกรถรับซื้อข้าวปลือก
    • นอกจากเรื่องไอ้เป๋แล้ว เนื่องจากไอ้เป๋เป็นคนเลี้ยงควาย แกเลยเล่าเรื่องเลี้ยงควายของชาวบ้านแถวบ้านน้ำสาดกับแถวบ้านผมให้ฟังอีก

      การเลี้ยงควายรวมกันของชาวบ้าน 

    • แกเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งว่า ชาวบ้านแถวบ้านน้ำสาดจะเลี้ยงควายช่วยกันเป็นฝูงเหมือนกับแถวบ้านผมเหมือนกัน โดยปรกติแล้วก็อาจจะปล่อยไปเลี้ยงรวมกัน แล้วก็ออกไปดูแลด้วยกัน แต่ถ้าหากบ้านไหนไม่มีลูกหลายมากพอจะไปเลี้ยงควาย ก็จะฝากควายไปให้ช่วยกันเลี้ยง ในกลุ่มบ้านหนึ่งๆก็มักจะมีใครสักคนที่ชาวบ้านไว้วางใจและให้การยอมรับไปโดยอัตโนมัติที่จะฝากควายให้ติดไปเลี้ยงด้วย ซึ่งในกลุ่มบ้านผม ก็จะมีน้าซึ่งเป็นน้องของแม่ผมเองที่จะเป็นคนที่สามารถเลี้ยงควายเป็นฝูงของญาติพี่น้องหลายเจ้า ก่อนที่จะตกมาถึงรุ่นพวกผม นี่ผมก็เพิ่งทราบละครับ
    • น้าจำลองกล่าวว่า ลักษณะการเลี้ยงควายของไอ้เป๋ที่น้าเห็นที่บ้านน้ำสาดนั้น มีลักษณะเหมือนแถวบ้านผม เขาจึงน่าจะเป็นคนที่คอยดูแลควายให้กับชาวบ้านหลายเจ้าและชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลเขาด้วยอีกทีหนึ่ง

                            

                            ภาพที่ ๑  จำลอง ทองแท่ง สวมเสื้อสีส้มเหลือง ชาวบ้านบ้านห้วยถั่ว ตำบลห้วยร่วม และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อดีตหัวหน้าคนที่ ๒ แตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง หลังจากนั่งอ่านหนังสือ ดังลมหายใจ แล้ว ได้เล่าเรื่องความเป็นมาของไอ้เป๋หนองบัว กับวิธีเลี้ยงควายรวมกันของชาวบ้าน

                           

                            ภาพที่ ๒ ชายสูงวัยสวมเสื้อสีฟ้าด้านซ้าย : บุญช่วย มีแสง อดีตหัวหน้าแตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง คนแรก รวมทั้งเป็นหมอเป่า นายพิธี มัคนายก ของชุมชน รวมทั้งเป็นนักการภารโรงของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)  ชายที่นั่งถือขันธ์ ๕ และธูปเทียนแพนั่งกลางวง : คำมูล ขุนอินทร์ ลูกชายของเจ้าของแตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง และเป็นผู้เล่นแตรโฟเนียมกับทรัมโบน ชายสวมเสื้อสีฟ้านั่งริมขวาสุด : ปรีชา เกษาแสง เป็นผู้เลี้ยงควายเป็นฝูงที่ฝากเลี้ยงรวมกันของชาวบ้าน อดีตเป็นมือเล่นทรัมเป็ต ของแตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง และเป็นช่างไม้-ช่างศิลป์ ฝีมือดีของหมู่บ้านและของอำเภอหนองบัว ต่อมาได้เป็นภารโรงของโรงเรียนอำเภอหนองบัว แต่ด้วยความที่ฝีมือและความรู้ทางช่างดี ทางโรงเรียนจึงให้เป็นครูสอนวิชาช่างให้กับนักเรียนด้วย ในขณะที่ได้รับารศึกษาที่เป็นทางการเพียงชั้นประถมเท่านั้น.

    ตอนแรกยังนึกว่าแถวบ้านตาลินมีการฝากเลี้ยงควายกันหรือไม่ เรื่องฝากเลี้ยงควายนี้มีประสบการณ์ตรง ที่ควายของป้าหายที่บ้านร่องดู่ตำบลวังบ่อนั้นก็เพราะครอบครัวบ้านป้าช่วงนั้นลูกชายป้าได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้วเหลือแต่ลูกสาว เมื่อคุณลุงไม่ว่างก็ฝากผู้เขียนไปเลี้ยงแทน

    บางปีอาตมารับฝากงัวควายของญาติๆไปเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงใหญ่เลย ด้วยความกลัวขโมยบางครั้งต้องนำปืนลูกซองยาวติดตัวไปด้วย เห็นใครเดินมาใกล้ๆเฉียดๆฝูงควายเราก็จะระแวงคิดกลัวไปต่างๆนาๆทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นก็เป็นคนหาผักหาปลาตามทุ่งนานั่นเอง หาผักอีซึก ผักอีนูน ไข่มดแดง ผักหวาน เก็บมะขามกรอก หากบ ใกล้ๆคลองจะมีงัวควายเยอะมาก แต่เมื่อมองหาคนเลี้ยงจะพบว่ามีไม่กี่คนเอง บางครั้งก็เกิดอาการกลัวขโมยไม่น้อย ตกบ่ายต้องรีบไล่ควายกลับ เพราะคนเลี้ยงมีน้อยและส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นด้วย

    สาเหตุที่คนหนองบัว-หนองกลับฝากควายกันเลี้ยงมาก ก็เพราะหน้าแล้งนั้นส่วนใหญ่คนวัยทำงานจะมีกิจกรรมหลักๆเลยก็คือการเรื่อยไม้ทำบ้าน ทำเรือนหอ มีการเอาแรงกัน ขึ้นแรงกัน เหมือนลงแขกเกี่ยวข้าว ทั้งในหมู่ญาติพี่น้องและบ้านใกล้เคียง ถ้าบ้านไหนมีลูกชายบวชสึกเป็นทิดเกณฑ์ทหารแล้ว บ้านนั้นจะมีงานใหญ่เลยคือการเรื่อยไม้ทำบ้าน ปลูกเรือนหอ แล้วแต่งงานเดือนสี่ เดือนหกก่อนลงนา บ้านหนองบัว-หนองกลับจะต่างกับที่อื่นอย่างมาก ที่ห้วยน้อย ห้วยปลาเน่า แต่งลูกแล้วค่อยทำบ้าน แยกเรือนทีหลัง แต่หนองบัวแล้วต้องปลูกเรือนหอให้เสร็จก่อนแล้วค่อยแต่ง ไม่เน้นสินสอนทองหมั้น แต่เน้นเรื่องบ้าน สร้างเรือนหอ  หลังน้อยใหญ่ตามฐานะ เมื่อวัยทำงานไม่ว่างภาระการเลี้ยงควายกก็จะตกกับวัยรุ่นชายแทน ส่วนใหญ่ก็ทำบัตรแล้ว(๑๗ปี-ญาติไว้วางใจได้)

    มีนาอยู่ที่บ้านห้วยน้อย ได้เห็นการเลี้ยงควายของคนห้วยน้อย บ้านป่าเรไร บ้านห้วยปลาเน่าซึ่งต่างจากหนองบัวและสนุกดีด้วย หนองบัวจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่เลี้ยงควาย แต่สามหมู่บ้านนี้มีหลากหลายมากมีทั้งเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิง และที่พิเศษก็คือมีสาวๆออกมาเลี้ยงควายกันเยอะด้วย หนุ่มสาวสมัยก่อนไม่ค่อยมีโอกาสได้พบกันมากนัก เลยได้เห็นหนุ่มสาวบ้านห้วยน้อยบางคนใช้สถานที่เลี้ยงควายเป็นแหล่งนัดพบปะพูดคุยจีบเล่นกันสนุกๆบ้าง เป็นเพื่อนกันบ้างและก็มีอีกเหมือนที่พัฒนาเปลี่ยนสถานะจากเพื่อนไปเป็นแฟนจนที่สุดได้แต่งงานกันก็มี

    นี่ก็ผ่านไปสามสิบกว่าปีแล้วยังไม่มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเพื่อนๆอีกเลย

       กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

                                Maddog 

    • แถวบ้านผมนั้น ถึงรุ่นผมแล้วก็ไม่มีเลี้ยงควาย-วัวรวมกันเป็นฝูงแล้วครับ รุ่นน้าผมนั้น ห่างจากรุ่นผมกว่า ๒๐ ปี
    • ในรุ่นพวกผมนั้น จะนำวัว-ควายไปเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงเหมือนกัน แต่เด็กๆและผู้ใหญ่ที่เลี้ยงควายก็จะออกไปด้วย
    • ไปถึงทุ่งหญ้า ก็ปล่อยให้ควายไปรวมกัน ผู้ใหญ่ก็จะไปเดินหาอาหาร หาเก็บผักเก็บฝืน เครื่องมือที่จะติดมือไปด้วย ก็จะเป็นเครื่องมือหาผักปลา หากเป็นผู้หญิงก็มักจะหิ้วกระแป๋งน้ำเก่าๆ (แถวบ้านเรียกถังน้ำและกระป๋องน้ำ ว่ากระแป๋ง) และเสียม ไปเดินขุดหอยขม วนเวียนข้างควาย-วัวที่เลี้ยง แล้วก็เก็บผักต่างๆ ผักอีซึก อีนูน ใส่งอบ ส่วนผู้ชายก็มักจะมีตะขอเกี่ยวกบ เดินหากบในทุ่งนาหน้าแล้ง
    • ส่วนเด็กๆ ก็โน่นครับ หากไม่เอาหนังสติ๊กวิ่งไล่ยิงนก ก็ไปอยู่บนยอดไม้ เหลือบตามองฝูงวัว-ควายเป็นระยะๆ แล้วก็เล่นหมาบ้ากับลิงทะโมนบนยอดไม้
    • แต่ชาวบ้านหนองบัวนั้นผมเห็นเลี้ยงควาย-วัวเป็นฝูงๆบ่อยครับ

         วันนี้คือวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2554 (ตรงกับวันฉัตรมงคล) ผมเพิ่งมีโอกาศได้เปิดมาดูและอ่านหน้าWeb นี้ ก็ด้วยจากผมค้นหาประวัติของหลวงพ่ออ๋อย ซึ่งคุณแม่และญาติๆของผมเป็นศิษย์ของท่านตั้งแต่คุณแม่ของผมอยู่หนองบัว (ปัจจุบันคุณแม่ของผมท่านเสียชีวิตแล้ว 2 ปี)

    ผมเกิดที่บ้านเกาะแก้ว ต.ห้วยร่วม อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ แต่ขอโทษทีไม่มีความรู้เกี่ยวกับอำเภอที่เกิดเลย เพราะครอบครัวของผมย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ ต.ศรีมงคล อ.บึงสามพัน (สมอทอด) จ.เพชรบูรณ์ ตั้งแต่ผมอายุได้เพียง 1 ขวบ แต่ก็อยู่ห่างจากหนองบัว ไม่ถึง 30 กิโลเมตรครับ

    แต่ผมมีโอกาศไปบ้านเยี่ยมบ้านเกิด(บ้านของญาติ) เพราะบ้านเดิมขายให้คนอื่นไปแล้ว(มั๊ง) ตอนอายุสัก 12 หรือ 13 ปี จำไม่ค่อยได้ แค่เพียงครั้งเดียวเอง ปัจจุบันนี้ญาติผมอยู่ที่ บ้านป่าเรไรเยอะมาก และผมก็มีเพื่อนที่นั่นเยอะเหมือนกัน เพื่อนคนหนึ่งเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านใจนักเลงมากชื่อกาน มาจีบญาติของผมที่บ้านอยู่หน้าวัด ตอนนั้นก็ไม่ชอบหน้ากันเท่าไหร่ เขม่นกันบ้างนิดหน่อย เพราะเขาเข้าใจว่าผมเป็นแฟนกับคนที่เขามาชอบ แต่พอหรือว่าผมเป็นญาติกัน เขาก็มาทำดีด้วย วันรุ่งขึ้นขับรถอีแต๋นมารับ (สมัยนั้นเท่ห์มากๆเพราะรถเขาแต่งเป็นของวัยรุ่น)ไปกินเหล้าที่บ้าน ญาติของผมห้ามไม่ให้ไปด้วยเพราะหมู่บ้านของเขาอยู่ห่างจากบ้านป่าเรไรประมาณสัก 2 กิโลเมตรต้องเ้ข้าไปในป่าและญาติผมก็บอกผมว่ามีวัยรุ่น มีนักเลงเยอะ กานเขาหันมาถามผมว่า กลัวเหรอ ผมกระโดดขึ้นรถเลย เพื่อนอีกคนที่มาด้วยกันจากสมอทอด ไอ้หมอนี้ตามันขาวมาก มันกลัวมันไม่อยากจะไป แต่มันห่วงผมเพราะคบกันมาตั้งเด็ก(อ้อ ลืมบอกไปตอนนั้นผมอายุ 15 ปี กานเขาแก่กว่าผม 1 ปี) มันจึงมาดึงแขนผมลง แต่ผมกอดเอวมันไว้แล้วร้องบอกให้กานออกรถเลย มันดิ้นแรงมาก แต่ก็ไม่หลุดจากวงแขนของผมไปได้ พอไปถึงบ้านกาน กานก็ร้องบอกพี่เขยให้เชือดไก่ให้ 5 ตัว ผมก็คิดว่าเขาพูดกับพี่เขยเขาเล่นๆ ที่ใหนได้เผลอแป๊บเดียวไก่ 5 ตัวมานอนเรียงกันอยู่ตรงหน้าแล้ว ผมยืนงงๆอยู่ กานหันมาถามผมว่า ทำอะไรกินดี ผมตอบไปว่า ตามใจ กานร้องบอกพี่สาวและพี่เขยให้จัดการให้แต่ก็มีคนอื่นมาช่วยด้วยหลายคน แสดงว่ากานเป็นคนที่มีบารมีในหมู่ญาติๆมากเพราะเขาเรียกใช้ใคร ทุกคนต้องรีบทำตามอย่างรวดเร็ว ขณะที่พ่อครัว แม่ครัวปรุงอาหารอยู่นั้น พวกเราที่เป็นวัยรุ่นก็นั่งกินเหล้ารอ มีผมกับเพื่อนอีกหนึ่งคนที่มาด้วยกันจากสมอทอด และก็เพื่อนของกานประมาณ 5-6 คน เพื่อนของกานนั้นมานั่งทีหลังเพราะไปถอนขนไก่มาก่อน สักครู่หนึ่ง ทั้งลาบ ต้ม แกง ก็วางเรียงรายอยู่ตรงหน้า อร่อยมาก เรากินไป ร้องเพลงกันไป แย่งกันคุย พูดคุยกันจนสนิทสนมกัน เลยสัญญากัน(ไม่ใช่สาบานนะ)เป็นเพื่อน 

    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถ้าผมมีโอกาศได้เที่ยวบ้านญาติผมเมื่อไหร่ ผมก็จะไปมาหาสู่กับกานเสมอ อีกอย่างหนึ่งที่ผมต้องไปบ่อยๆเพราะไอ้เจ้าจำเรียงเพื่อนผม ไอ้ตาขาวนั่นแหละ มันดันไปชอบญาติของกานเข้า มันก็เลยชวนผมไปบ้านญาติผมอยู่เรื่อย

    ตอนกานบวชผมก็ไปช่วยงานบวชที่บ้านเขา ญาติของผมก็ไปถือหมอนให้ ตั้งแต่นั้นผมก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย แต่ได้ข่าวว่าครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีณบุรี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นจังหวัดสระแก้วแล้ว

    เมื่อปีใหม่ผมเห็นว่างๆเลยขับรถไปพร้อมกับครอบครัว คือภรรยา ลูกชาย และลูกสาว ไปเยี่ยมญาติที่อำเภอคลองหาด ที่เมื่อก่อนมีค่ายทหารเยอะมาก โดยเฉพาะค่ายราชัญ 31 เป็นค่ายทหารปืนใหญ่ บ้านญาติผมอยู่หลังค่าย ผมไปญาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี 26 ตอนเมืองไอ้ลูกหลานพระยาละแวกมันไล่ฆ่ากันเอง แต่ผมไปตอนปีใหม่ไม่มีค่ายทหารอยู่แล้ว อะไรๆก็เปลี่ยนไปหมด แต่ผมก็หาบ้านญาติจนเจอ ก็เลยสอบถามเรื่องของกาน พอได้ยินเรื่องที่ญาติผมบอกผมใจหายหมดเลย กานถูกลอบยิงเสียชีวิต 2-3 ปี แล้ว

                                                    สู่สุคติเถิดกาน เพื่อนรัก 

    เริ่มต้นเขียนที่หนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    ตอนสุดท้ายไปจบที่ อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว

    แล้วจะเข้ามาใน Web นี้บ่อๆยครับ

    เมื่อวานเล่าเรื่องราวของเพื่อนคนเพื่อนคนหนึ่งชื่อกาน ไม่ได้เจอกัน 20 กว่าปีมาทราบอีกทีก็ไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว ผมยังมีเพื่อนที่วัดป่าเรไร บ้านน้ำสาดกลาง อีกหลายๆคน ที่สนิทกันและเป็นญาติกันด้วยชื่อวี นามสกุลธาตุแก้ว (นามสกุลเดิมของตระกูลฟมคือธาตุแก้ว แต่อำเภอเขียนผิดนามสกุลที่บ้านผมผิดเป็นหาดแก้ว พ่อและแม่ก็เลยปล่อยเลยตามเลย) คนนี้เป็นนักดนตรีอยู่คณะพรไพรงาม ซึ่งเมื่อ 30 กว่าปีนั้นเป็นวงสตริงคอมโบ้ที่ดังมากในแถบอำเภอหนองบัว ท่าตะโก ไพศาลี ชุมแสง และสมอทอดบ้านผม อีกคนอยู้นำ้สาดกลางชื่อเจ้าทบ ใช้ชื่อในการชกว่า ซมซาน ลูกน้ำสาด และเขายังพี่ชายอีก 2 คนเป็นนักมวยที่เก่งมาก น้องสาวของเจ้าทบ สวย น่ารัก แต่เห็นเป็นน้องสาวของเพื่อนเลยไม่กล้าจีบ เจ้าทบเป็นลูกครึ่ง ระหว่างโซ่งกับลาว ดูภายนอกไม่รู้เลยว่าเขาเป็นนักมวย เพราะเขาเป็นคนติ่มๆ ไม่ค่อยพูด แต่อยู่บนเวทีเขาดุดันมาก ไม่รู้ว่าจะมีใครจำคนที่ชื่อเล่นว่านพได้บ้าง สมัยก่อนใช้จักรยานถีบไปตั้งแต่หนองงูเหลือม ปัจจุบันเป็นตำบลศรีมงคล ไปเที่ยวเล่นแถววัดป่าเรไร บ้านน้ำสาดกลาง บ้างครั้งไปเช้า เย็นกลับ ก็สนุกดีนะ แต่ที่ไม่สนุกก็พวกที่คอยดักจี้ปล้นนี่แหละ เขาเจอกันปล่อยมาก เพราะถนนเส้นนั้นมันเป็นถนนลูกรัง แถมยังไม่ค่อยจะเรียบเป็นหลุมเป็นบ่อ ใครโชคร้ายโดนปล้นก็ต้องยอมไม่ค่อยมีใครกล้าขัดขืนหรอก เพราะพวกมันมีปืนแล้วก็มากันหลายคน แต่ผมก็ไม่เคยเจอนะ ถ้าเจอป่านนี้ก็ไม่จะเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มเพื่อนๆบางครั้งก็ไปกันเป็นสิบๆคันนั่งซ้อนกันไป มีปืนพกกันทุกคนยกเว้นผมไม่อาวุธอะไรเลย แต่ถือว่าเป็นความโชคดีของพวกเรา และพวกเขามากกว่าเน๊าะ เจ้าทบ เจ้าวีนี่ ตั้งแต่งานบวชกานแล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย

    เรื่องวัวของหลวงพ่ออ๋อยนี้ ผมพอได้ยินมาบ้าง เรื่องเจ้าเป๋นี้เลือนลางเต็มทน มีอีกเรื่องที่ผมสงสัยใคร่จะฝากผมผู้รู้ก็คือ เขาว่าหลวงพ่ออ๋อย ตาท่านมองไม่เห็น แต่สามารถรู้ว่าคนที่ไปกราบท่านนั้นชื่ออะไร และส่วนมากท่านจะตั้งชื่อคนที่เป็นศิษย์ของท่านด้วยตัวท่านเองให้ใหม่ ไม่ใช้ชื่อเดิม เรื่องนี้จริงหรือไม่ครับ

    วันนี้ได้พูดคุยกันกับพระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม พระเถระวัดหนองกลับ(อายุ ๖๗ ปี)มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะมาเพิ่มเติมข้อมูลคือเรื่องไอ้เป๋

    ได้รับรู้เรื่องราวไอ้เป๋จากพระอาจารย์อีกหลายประการเลย (๑)ไอ้เป๋เป็นคนบ้านน้ำสาด (๒)ไอ้เป๋ตอนเป็นหนุ่มชอบสนทนาพูดคุย(๓)ชอบเต้นรำ ร้องเพลง

    สมัยแรกๆไอ้เป๋ไม่ได้อยู่ที่วัดหรือในตลาด แต่ไปๆมาๆ ระหว่างบ้านน้ำสาด กับหนองบัว ช่วงนั้น มาก็พักที่กุฏิพระอาจารย์ส้ม กุฏิข้างสระน้ำวัด บริเวณกุฏิกลอง ซึ่งตอนนี้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยเมื่อก่อนกุฏิหลวงพ่ออ๋อยก็อยู่แถวนี้

    หลวงน้าส้มเล่าว่าในช่วงที่ไอ้เป๋ไปๆมาอยู่นั้น สิ่งที่สังเกตได้ก็คือความพิการคือขาพิการเล็กน้อย ส่วนเรื่องความเสียสติในตอนนั้นยังไม่เป็น พูดคุยรู้เรื่อง เพราะขณะนั้น ยังเป็นคนที่ชอบสนทนา แล้วพูดเก่งด้วย พระที่รู้ว่าไอ้เป๋ชอบร้องเพลง เมื่อไอ้เป๋มาที่วัดก็มักจะขอให้ร้องเพลงให้ฟัง ฟังเพลงนี้ครั้งใด ผู้ฟังก็จะขำหัวเราะชอบใจ และก็ไม่ได้ต้องการฟังให้จบเพลงแต่ประการใด

    เป็นเพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร ไม่ทราบเพลงอะไร ที่ขึ้นต้นท่อนแรกว่า นี่คือไพรวัลย์ น้องจ๋ายังได้ไหม แต่เมื่อคนที่พูดไม่ค่อยชัด จะให้ร้องชัดถ้อยชัดคำเหมือนปรกติคงไม่ได้ ไอ้เป๋ก็เช่นกัน เขาจะร้องเพลงไพรวัลย์ ดังนี้ นี่คือใครวัลย์ พอผู้ฟังได้ยินอย่างนี้ก็ขำ เมื่อคนฟังหัวเราะ เขาก็จะหยุดไม่ร้องต่อ

    พระอาจรย์เล่าต่อว่างานที่ไอ้เป๋มาประจำไม่ขาดคืองานบวชนาคช่วงนั้นหลวงพ่ออ๋อยเป็นพระอุปัชฌาย์มีคนมาบวชกับท่านมากมาย ด้วยความที่ไอ้เป๋มาบ่อยมาก พระก็จะพูดกันเล่นๆว่างานบวชนาควัดเรา(วัดหนองกลับ) ถ้าไอ้เป๋ไม่มา งานนี้จะบวชนาคไม่ได้นะเนี่ย แล้วอีกอย่างที่พระจำได้คือไอ้เป๋นี่รำวงเก่ง ชอบรำออกหน้าเขาด้วย รำแต้รอบโบสถ์เลย

    พระที่ไอ้เป๋รู้จักและสามารถเรียกชื่อถูกต้องคือพระครูสงวน ในตอนนั้นยังไม่ได้พระครู ไอ้เป๋จะเรียกว่าพระอาจารย์หวงน เมื่อเจอพระอาจารย์ส้ม เขาจะเรียกอาจารย์ส้มว่าอาจารย์หวงนเหมือนกัน(ท่านบอกว่าจะเป็นเพราะว่าชื่อหงวนเรียกง่าย แล้วชื่ออื่นเรียกยากเลยเรียกหงวนชื่อเดียว จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ)
    พระครูหงวนเองดูท่านก็ภูมิใจเวลามีคนพูดว่าไอ้เป๋จำชื่อท่านได้และเรียกถูกด้วย

    ท่านเล่าต่อว่าครั้งหนึ่งในช่วงที่นอนที่วัด ไอ้เป๋นึกอยากจะแกงเนื้อ แล้วไปได้เนื้อในตลาดมา ก่อนจะแกงก็เตรียมเครื่องแกงใส่หม้อเรียบร้อย เนื้อไม่ต้องสับนำไปใส่หม้อเลย แล้วเอาหม้อที่เตรียมแกงนั้นไปตั้งบนเตา โดยเตาก็ไม่ได้ก่อไฟแต่อย่างใดทั้งสิ้น เมื่อพระเห็นดังนั้น ก็ต้องไปก่อไฟให้ นำเนื้อมาสับเป็นชิ้นก่อน แล้วนำไปแกงให้ มื้อนั้นเลยได้กินแกงร้อนๆ

    ต่อมาอีก อยากกินส้มตำ ไปหามะละกอมา ใส่ครกตำทันทีโดยไม่ทันปอกเปลือกเลย พระต้องจัดให้อีกตามเคย นี่คือช่วงแรกที่มานอนวัด

    ต่อมาได้มาอยู่ในตลาดและวัด ช่วงนี้ไม่พูดจากับใครเลย พระอาจารย์บอกว่าเวลาผมรก หนวดยาว ตัวเปื้อนมอมแมม ถ้าเดินมาในวัดพระก็มักจะจับอาบน้ำ โกนหนวดให้ ถูขี้ไคลให้ สะอาดสะอ้าน เวลาพระถูกขี้ไคลให้จะชอบใจถูกใจ เสร็จแล้วพระท่านก็จะนำเอาเสื้อผ้าเก่าๆของลูกศิษย์วัดมาเปลี่ยนให้ใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้เนืองๆ

    คราวหนึ่งมานอนในวัดใกล้ๆกุฏิพระ กลางคืนมีมาแกล้งหรืออย่างไรนี่แหละ ท่านบอกว่าไอ้เป๋ไม่ได้ทำอะไรเป็นการโต้ตอบ ร้องเหมือนถูกทำร้าย เขาเลยตะโกนร้องเสียงดังจนพระได้ยิน ไอ้เป๋ร้องตะโกนไปว่าไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน

    สวัสดีครับคุณอภิรักษ์ครับ
    ขออภัยนะครับที่คุณอภิรักษ์ได้เข้ามาร่วมสนทนา เพิ่มเติมข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆด้วยกันในนี้ตั้งสองครั้งและนานแล้ว แต่ก็กลับไม่ได้มาร่วมสนทนาด้วย คงมีเล็ดรอดสายตาของผมอย่างนี้อีกหลายแห่ง ทั้งโดยดูไม่ทั่ว และคอมพิวเตอร์ผมก็มักจะมีปัญหาอยู่เรื่อย ต้องขออภัยนะครับ

    เป็นคนพื้นเพบ้านเกาะแก้วด้วย เมื่อตอนเด็กๆ ผมและคนแถวบ้านผม จะต้องได้ไปเที่ยวงานงานวัดเกาะแก้วและไปทอดกฐินวัดเกาะแก้วทุกปีเลยละครับ ญาติพี่น้องก็มีอยู่แถวนั้น ในยุคที่ใช้การเดินเท้านั้น ทำไมรู้สึกว่ามันใกล้ เดินเที่ยวงานกันได้สบายๆ เดี๋ยวนี้เวลานั่งรถผ่าน ก็รู้สึกว่ามันเป็นระยะทางที่ไกลมากเลยนะครับ คนเมื่อก่อนนี่ขยันเดินไปมาหาสู่กันดีจริงๆ เห็นระยะทางแล้ว ให้เดินเดี๋ยวนี้คงเดินกันไม่ไหวแน่

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    ดีใจมากเลยครับ ด้วยเหตุหลายประการด้วยกัน

    • ประการแรก เป็นการทำให้เรื่องราวของไอ้เป๋ ซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ในสังคม ค่อยๆปรากฏข้อมูล เรื่องราว ความเป็นชีวิต ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในชุมชนหนองบัว และความงดงามต่างๆ โดยเฉพาะจิตใจของผู้คนที่ผุดขึ้นมากับเรื่องราวของเขา จากการค่อยๆสานความทรงจำ ถักทอความรู้ จากแง่มุมที่กระจัดกระจาย ทีละนิดละหนอ่ยของหลายคน จากหลายห้วงเวลา 
    • ประการที่สอง เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ วิธีร่วมกันสร้างความรู้และรวบรวมข้อมูลของชุมชน ทำประสบการณ์และวิธีคิดต่อเรื่องต่างๆที่อยู่ในชีวิตการเป็นอยู่ของผู้คน ที่ผู้คนไม่ค่อยได้รู้และมักเลือนหายไปได้ง่ายๆ ซึ่งทำให้ชุมชนหนองบัวและชุมชนอีกเป็นจำนวนมากของประเทศ ทำเรื่องราวและองค์ความรู้ต่างๆของตนเองสูญหายไปเรื่อยๆ ได้ปรากฏขึ้นและสามารถรวบรวม นำมาศึกษาเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ทางปัญญาให้กับสังคมเพื่อการเดินไปข้างหน้า ได้เป็นอย่างดีกว่าเดิม จึงเป็นการได้พัฒนาวิธีวิจัยท้องถิ่น สร้างความรู้ทางสังคมของท้องถิ่น จากการทำของจริงไปเลย
    • ประการที่สาม ข้อมูลที่พระคุณเจ้านำมาเพิ่มเติม เริ่มมีเค้าเงื่อนสอดคล้องกับที่ผมเคยได้จากแหล่งอื่นๆหลายส่วนครับ เช่น ไอ้เป๋เขาเป็นคนที่เคยอยู่บ้านน้ำสาด (แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนบ้านน้ำสาดด้วยหรือเปล่า) ชอบร้องเพลงและรำวงนำขบวนแห่นาค
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท