ทุนและสิ่งของกับวิธีให้เพื่อสร้างคนและชุมชน


"... วิธีการและกระบวนการให้ บางทีก็สำคัญมาก เราสามารถจัดกระบวนการให้ชาวบ้านได้วิธีคิดและมีมิติการเรียนรู้ชุมชนหรือสิ่งที่ช่วยเสริมประสบการณ์เชิงบวกต่อชุมชนให้ก่อน จากนั้น จึงให้สิ่งของ ก็จะเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างคนและพัฒนาชุมชนได้หลายอย่าง..."

             บ้านเกิดผม อยู่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา-ทำไร่ ครัวเรือนกว่า เกือบ 70 ครัวเรือนที่อยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มบ้านเดียวกัน  เกือบร้อยเปอร์เซ็นเป็นญาติพี่น้องและเกี่ยวดองกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนรุ่นแรกที่อพยพไปหักร้างถางพงและตั้งรกราก ไปจากถิ่นฐานซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า "บ้านล่าง" และ "เมืองนอก"

            บ้านล่างของยุคเมือ 60-70 ปีก่อนโน้น หมายถึงลพบุรี สระบุรี และอยุธยา ส่วนเมืองนอก  ก็หมายถึงขอนแก่นและโคราช ซึ่งชาวบ้านยุคนั้นจะประเมินและแสดงขอบเขตทางภูมิศาตร์โดยความสามารถเดินทางถึงด้วยเกวียนและการปล่อยโคมลอย  หากไกลพ้นเขตที่โคมลอยจะส่งข่าวสารไปถึง หรือเกินกว่าจะสามารถเดินทางถึงได้โดยวิสัยชาวบ้าน  ก็จัดว่าเป็นเมืองนอกหมด  ต้องสื่อสารและบอกข่าว  ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันผ่านสื่อทางวัฒนธรรม เช่น หมอรำ ลิเก และแตรวง  รวมทั้งสื่อผู้คน ซึ่งรวมกลุ่มรอนแรมแลกของกินของใช้กันเมื่อยามข้าวยากหมากแพง

          เรื่องนี้สนุกครับ หากมีโอกาสจะนำมาเล่าไว้  ผมเคยคุยกับศักดิ์สิริ  มีสมสืบ กวีซีไรต์ ซึ่งเคยเล่นแตรวงเหมือนกัน ก็มีประสบการณ์คล้ายกันอย่างนี้

          โคตรเหง้าเหล่ากอผมไปจากสระบุรี ในรุ่นที่ยายผมซึ่งร่วมสมัยกับคนรุ่นแรกที่ก่อตั้งชุมชน ยังเป็นเด็ก ดังนั้น ชุมชนนี้จึงอายุร้อยกว่าปีแล้ว วิถีชุมชนและปูมชุมชน จึงมีหลายอย่างที่น่าหวงแหน และสืบสานให้เป็นพลังชีวิตสังคม เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงไปกับสังคมภายนอก  พร้อมกับพึ่งตนเองก่อนในการพัฒนาและจัดการกับการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ของตน   

          เวลามีโอกาสกลับบ้าน ผมจึงมักหาเรื่องทำอะไรก็ได้กับบ้านเกิด ทั้งในชุมชนบ้านเกิด อำเภอ และจังหวัด ที่เป็นการแปรโอกาสกลับบ้าน ให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์ชุมชน  และแปรประสบการณ์จากการที่ต้องพลัดบ้านไปอยู่ที่อื่น  แทนที่จะเป็นการเสียโอกาส  ที่ลูกหลานชุมชนอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น  ก็พลิกให้เป็นการร่วมเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชุมชน 

         ทุกปี หลังจากสรุปแล้วว่าคงจะไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเกิด ผมจึงตั้งใจว่าจะอดออมค่าใช้จ่าย เพื่อมีทุนไปทำอะไรเล่นเล็กๆตอนกลับบ้านตามกำลังของตัวเอง  พร้อมกับรวบรวมและทำสิ่งที่ต้องการใช้แบบสะสม เช่น สื่อ หนังสือ กระบวนการทำงานชุมชน ข้าวของเครื่องใช้เพื่อทำกิจกรรม  โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กลูกหลาน คนแก่ วัด และโรงเรียนของชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาของผมด้วย        

          ยิ่งปัจจุบันนี้  โรงเรียนในชุมชน  กำลังเผชิญปัญหาเพื่อการอยู่รอดและการพัฒนาตนเองอย่างหนัก เพราะการมีถนนหนทางดีขึ้นและความเจริญที่เกิดขึ้นรอบข้าง ทำให้ครอบครัวและผู้คนในชุมชนที่พอมีเงินส่งลูกหลานเรียน  ต่างมุ่งส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในตัวอำเภอ  โรงเรียนประถมศึกษาที่มีอยู่ในชุมชน  จึงเหลือเด็กๆอยู่ไม่ถึงร้อยคน  แต่ตามระเบียบและกฏหมายของกระทรวงศึกษาธิการ  ก็ทำให้ยุบโรงเรียนไม่ได้ (อีกทั้งไม่ควรยุบด้วย)

         แน่นอน  เด็กๆจำนวนน้อยที่เหลืออยู่นั้น  ย่อมหมายถึงเป็นลูกหลานของครอบครัวที่จนกรอบ ย่อบแย่บ  ชนิดที่เรียกว่า  เงินซื้อหนังสือและชุดนักเรียนแค่ ร้อย-สองร้อยบาท ก็อาจชี้เป็นชี้ตายอนาคตของเด็กไปเลย

         ปีก่อน ผมรวมทุนได้จำนวนหนึ่ง ก็ไปทำกิจกรรมอย่างที่ตั้งใจกับชุมชน เด็กๆ และโรงเรียน  ผมเตรียมหลายอย่าง เพื่อทำให้การกลับบ้าน  เป็นโอกาสทำงานชุมชน  ให้กับชุมชนและบ้านเกิดตนเองด้วย เป็นต้นว่า

  • พัฒนาจิตใจ ทำหนังสือสวดมนต์แปล โดยคัดลอกจากของท่านพุทธทาส สวนโมกข์  แต่ทำขึ้นใหม่ให้เป็นหมวดเล็กๆ แยกเป็น 3 ฉบับ เพื่อพาชาวบ้านและคนเฒ่าคนแก่สวดมนต์ทำวัตรเช้า  สวดชัยมงคล  และทำวัตรเย็น  ผมเป็นคนนำสวดเอง  ปิดท้ายด้วยการพาเจริญสติภาวนา  แบบที่ผมและหมู่มิตร ก็ได้ทำอยู่ในที่ทำงานและที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
  • เรียนรู้สังคมภายนอก ถ่ายรูปและเตรียมทำเป็นชุดเรื่องเล่า สำหรับเล่าเรื่องราวต่างๆ  เพื่อการเรียนรู้ทางสังคมของชาวบ้าน  โดยเฉพาะเด็กๆ และคนที่เดินทางเข้าออกชุมชนสู่โลกภายนอก จะได้เป็นโอกาสสร้างเสริมวิธีคิดและพัฒนาโอกาสการเดินทางหรือย้ายถิ่นแบบเลือกสรร มีข้อมูลข่าวสารและตัวแบบการปฏิบัติ ให้สามารถจำลองโลกภายหน้า เพื่อเตรียมตัวเอง พึ่งตนเอง และดูแลชีวิตตนเอง ให้ย้ายถิ่นและเป็นพลเมืองที่ดีในทุกหนแห่งตามอัตภาพของตน
  • เรียนรู้การใช้ชีวิตจากประสบการณ์ของคนแบบเดียวกัน เชิญเพื่อนที่สถาบัน  ไปคุยบทเรียนชีวิตตนเองให้เด็กๆและชุมชนฟัง  โดยเลือกเอาคนที่มีพื้นเพจากบ้านนอกและมีวิธีคิดในการเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง  ซึ่งได้คนหนึ่งเป็นลูกหลานชนบทจากภาคใต้ และอีกคนหนึ่งเป็นลูกชนบทอีสาน ซึ่งชาวบ้านและเด็กๆชอบมาก คนเฒ่าคนแก่นั่งฟังและเดินเข้ามาจับเนื้อจับตัวแสดงความเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลาน ขอให้มาพูดและทำอย่างนี้อีกในปีหน้า
  • ก่อตั้งกองทุนและการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน ผมรวบรวมทุนจะมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็ก และเติมกองทุนซึ่งแม่และครอบครัวตั้งเป็นทุนพัฒนาการศึกษาแก่โรงเรียน อุทิศเป็นส่วนกุศลให้แก่พ่อผม ซึ่งในส่วนทุนการศึกษาเพื่อเด็กๆนี้  พอเพื่อนๆและชาวบ้านรู้ ก็ขอร่วมด้วยตามกำลัง ได้ทุนมาก้อนหนึ่ง สามารถแบ่งเป็นทุนเพื่อมอบให้แก่เด็กๆ ทุนละ 300 บาท  30  ทุน แบ่งเป็น  3  ประเภททุน ประเภทละ  10  ทุน  ส่วนที่เหลือ  มอบเป็นทุนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน ตามแต่คุณครูเห็นสมควร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสนุกและได้ไอเดียมากมาย
  • เชื่อมโยงกับทางอำเภอ ผมเชิญท่านนายอำเภอสมดี คชายั่งยืน นายอำเภอหนองบัว ซึ่งบังเอิญว่าเป็นนายอำเภอที่เคารพนับถือความเป็นคนดีและเป็นรุ่นพี่ด้วย มาร่วมงาน ซึ่งท่านก็มาแบบใช้วิถีชาวบ้านเลย คือมาแบบนั่งลงกลางศาลาวัด  ทั้งชาวบ้าน  คุณครู และผู้นำชุมชน ซาบซึ้งใจอย่างเป็นที่สุด  เพราะไม่เคยมีบรรยากาศอย่างนี้มาก่อนเลยในชุมชน      

        ผมประสานงานกับคุณครูที่โรงเรียน โดยใช้วิธีไม่เป็นทางการ  คุยกันแบบคนที่มีสำนึกต่อชุมชนเหมือนกัน ปรึกษากันแบบพี่ๆน้องๆ  ครูใหญ่ก็เป็นคนจากหมู่บ้านอีกตำบลหนึ่ง จึงใช่คนอื่นไกล คุณครูหลายคนก็เป็นรุ่นพี่-รุ่นน้อง จากโรงเรียนประจำอำเภอเหมือนกัน เลยช่วยกันทำโดยหมายให้คุณครูมีกำลังใจ ไม่เสียขวัญที่โรงเรียนราวกับถูกทอดทิ้งจากชุมชนจนเหลือเด็กและครูหรอมแหรม

        ผมกับมักทายก ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนๆ ที่ผมพาไป เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เช้า  ใช้เครื่องขยายเสียง-เสียงตามสาย บอกกล่าวชุมชนว่าจะมีกิจกรรมที่ศาลาวัดอะไรบ้าง ซึ่งจะทำทั้งวันเลย  เริ่มจากทำบุญตักบาตร  ซึ่งผมและมักทายก ก็จะปรับแนวปฏิบัติเล็กๆน้อยเพื่อให้ชุมชนได้ความแยบคายในสิ่งที่ทำ  พูดอธิบายคุณค่า ความหมาย และความงดงาม ของสิ่งที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมทางการปฏิบัติ  เสร็จแล้วก็ทำวัตรเช้าแบบสวดมนต์แปล  

        ตอนมอบทุน  ผมชวนชาวบ้านมาตั้งชื่อทุน เพื่อมอบทุนให้เด็กๆ  ได้ทุนสามประเภทและชื่อทุนเป็นชื่อคนเก่าแก่ซึ่งล่วงลับไปนานแล้ว ทว่า ยังคงเป็นที่รำลึกถึงของชาวบ้านในด้านต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงการเรียนรู้ สานสำนึกชุมชน คือ....

  • ทุนเด็กเก่ง  สำหรับเด็กที่มีการเรียนดีแต่ยากจนมากกว่าคนอื่นๆ   ให้ชื่อทุนว่า ทุนครูฟื้น ซึ่งเป็นครูเก่าแก่ของชุมชน เป็นหมอและนักส่งเสริมสุขภาพให้ชาวบ้านในยุคห่างไกลความเจริญ  ส่งเสริมการได้เรียนหนังสือของเด็กๆและผู้ใหญ่ เป็นครูของแทบจะทุกคนในชุมชนนับแต่รุ่นตายาย พ่อแม่  กระทั่งลูกหลาน เหลน ในปัจจุบัน
  • ทุนเด็กดีของชุมชน สำหรับเด็กที่ถึงแม้ไม่เก่ง แต่ชุมชนเห็นว่าเป็นเด็กกตัญญู มีจิตสาธารณะ เคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ช่วยพ่อแม่ทำการงาน  ให้ชื่อทุนว่า ทุนพ่อใหญ่คำ ซึ่งได้จากชื่อมักทายกคนเก่าคนแก่ของชุมชน แตกฉานในพระศาสนา เป็นจ้าวพิธีและผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน เป็นสัญลักษณ์แห่งการมั่นคงในความดี อยู่ในสำนึกและจิตใจของผู้คนด้วยความดีงาม ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อสาธารณะ
  • ทุนเด็กสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน  สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านต่างๆ คือ ด้านศิลปะและหัตถกรรม  กีฬา  ร้องเพลงและเล่นดนตรี  เขียนและแต่งกลอนภาษาไทย  หรือเป็นเด็กที่มีแววดีที่สามารถส่งเสริมให้ค้นพบตนเองในทางสร้างสรรค์ ให้ชื่อทุนว่า ทุนครูเรือง  ซึ่งเป็นชื่อครูรุ่นบุกเบิกเก่าแก่ของชุมชนอีกคนหนึ่ง  เป็นครูของแทบจะทุกคนในชุมชนนับแต่รุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่  กระทั่งลูกหลาน เหลน รวมทั้งเป็นครูที่ร่วมกับนายอำเภอ  บุกเบิก  ก่อตั้งโรงเรียนขึ้น จัดว่าเป็นวีรชนของชาวบ้าน เป็นที่กล่าวขานถึงแม้ในปัจจุบัน

        คุณครู ช่วยกันพิจารณาเด็ก  ว่าจะมอบทุนประเภทไหน ซึ่งก็ได้เด็กมากมาย เพราะในความเป็นจริง  โดยวิธีให้ทุนอย่างนี้  ก็ทำให้สามารถหาเหตุมอบทุนให้แก่เด็กๆที่ขาดโอกาสมากกว่าเพื่อน และเชิดชูให้เด็กๆเห็นด้านที่เป็นจุดแข็งของตนเองได้ทุกคน ไม่มีเด็กขี้แพ้และด้อยไปกว่าคนอื่นเลยนั่นเอง

        ก่อนมอบ  ผมก็นำเอาคนเก่าแก่ของชุมชน  มานั่งพูดคุยถึงชุมชน และคนเก่าแก่อันเป็นที่เคารพนับถือของชุมชนซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วและได้นำมารำลึกถึงด้วยการใช้เป็นชื่อทุน  ลูกหลานหลายคนน้ำหูน้ำตาไหล  ทั้งด้วยความตื้นตันและการได้มีโอกาสทบทวน  ซาบซึ้ง  กับความหมายของการเป็นชุมชน ที่นำกลับมาสืบสานเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ทำขึ้น  จากนั้นก็มอบผ่านคุณครู  พ่อแม่ และเด็กๆ

        เสร็จแล้ว  ก็เชิญท่านนายอำเภอคุยตามสบาย  ขอให้เพื่อนปาฐกถาหัวข้อธรรมที่เสริมส่งการปฏิบัติ  ผมกล่าวสรรเสริญกิจกรรมต่างๆให้ชาวบ้านชื่นชมและได้ความดีงามแก่ตนเอง จากนั้นก็พากันสวดมนต์ทำวัตรเย็นเมื่อบ่ายแก่ๆ

        ถัดมาจากปีนั้น คุณครูบอกข่าวให้ได้ร่วมความดีใจกับโรงเรียนและชุมชนด้วยว่า คุณครู 6-7 คนของโรงเรียนมีกำลังใจขึ้นก่ายกอง เด็กหลายคนก็ทำให้โรงเรียน พ่อแม่และชุมชน มีกำลังใจมากขึ้นไปด้วย โดยเด็กบางคนไปแข่งขันทางวิชาการ ได้รางวัลในระดับอำเภอ ทางด้านกีฬา ภาษาไทย และศิลปะ ก็ได้รางวัลหลายรางวัลของอำเภอ  ทำให้ชุมชนเริ่มหันมาสนใจที่จะคิดและทำสิ่งดีๆให้กับโรงเรียน  แทนที่จะเลือกสิ่งดีๆให้กับตนเองโดยทิ้งโรงเรียนของชุมชนไปอย่างเดียว

         วิธีการและกระบวนการให้ บางทีก็สำคัญมาก เราสามารถจัดกระบวนการให้ชาวบ้านได้วิธีคิดและมีมิติการเรียนรู้ชุมชนหรือสิ่งที่ช่วยเสริมประสบการณ์เชิงบวกต่อชุมชนให้ก่อน จากนั้นจึงให้สิ่งของ ก็จะเป็นการเรียนรู้และพัฒนาพลเมืองที่บูรณาการในกิจกรรมปฏิบัติชุมชน สร้างคนและสร้างชุมชน ได้มากมาย.

          

         

หมายเลขบันทึก: 217803เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2008 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ อาตมาได้ไปช่วยงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตวัดหนองแก้ว ต.ห้วยใหญ่ มีท่านพระครูสุริน(พระครูนิยุตวุฒิธรรม)เป็นเจ้าอาวาส สภาพโดยทั่วไปก็มีความเจริญตามยุคตามสมัย วัดวาอารามก็ร่มรื่นมีพระจำพรรษาไม่ขาด แต่ที่เห็นแล้วสะดุดตาคือสภาพโรงเรียนที่อยู่ติดกับวัดหนองแก้วอาคารเก่าชำรุดทรุดโทรมมอมแมวกะดำกะด่างผิดปกติสอบถามท่านพระครูจึงได้รู้ว่า โรงเรียนถูกยุบไปแล้วโดยไปรวมกับอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั่นเอง เคยดูรายการของดร.นิติภูมิท่านบอกผ่านรายการว่าตัวท่านเป็นคนบ้านนอกแล้วลูกท่านก็เรียนโรงเรียนวัดหน้าน้ำหลากน้ำท่วมเด็กนักเรียนก็จะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานและลูกท่านก็มีเพื่อนบ้านที่เป็นนักเรียนในชุมชนเดียวกันพอโตมาก็ยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิมไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนนอกชุมชนที่แปลกแยกจากคนอื่นที่เป็นชาวนา-ชาวไร่คนจนคนยากไร้แต่อย่างใด ท่านยังพูดอีกว่าเราหมายถึงคนที่พอมีฐานะบ้างก็จะชอบคิดว่า ลูกตนเองควรจะเรียนในโรงเรียนดี ๆ มีเพื่อนดี ๆ มีสมาคมที่ดี ๆ โดยที่ลูกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ใกล้ชิดกันซึ่งตามธรรมชาติของเด็กนี่เขาไม่เคยแยกฐานะตนเองว่า ตนเหนือกว่า ตนมีโอกาสกว่า ตนรวยกว่าคนที่แบ่งแยกฐานะชนชั้นในสังคมกลับกลายพ่อแม่ผู้ปกครอง คือปิดกั้นไม่ให้ลูกคบค้าสมาคมกับคนบ้านใกล้เรือนเคียง ที่จนกว่าเมื่อโตมาตนเองก็ไม่รู้จักเพื่อนบ้าน สังคมของตัวก็ไม่รู้จัก คิดอย่างเดียวจะต้องออกไปจากชุมชนให้ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี อาตมามีตัวอย่างเช่น ครูสอนอยู่โรงเรียนใกล้บ้านตนเอง แต่ลูกครูคนดังกล่าวไม่ได้เรียนในโรงเรียนแห่งนั้นแต่ไปเรียนในตัวอำเภอในตัวจังหวัด อาตมายังจำคำพูดท่านดร.นิติภูมิได้และประทับใจด้วยท่านพูดว่าโรงเรียนวัดนั้นช่วยหล่อหลอมคนได้เป็นอย่างดี ท่านอยากให้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนวัด ยุคหนึ่งคนไทยไม่นิยมส่งลูกเรียนหนังสือรัฐจึงต้องไปสร้างสถานศึกษาให้ในชุมชนโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนไกลบ้าน แต่ผ่านไปไม่นานคนก็นิยมให้ลูกเล่าเรียนหนังสือกันอย่างจริงจังโดยหวังให้เป็นเจ้าคนนายคน การจะเป็นเจ้าคนนายคนได้นั้นทางหนึ่งที่พอมองเห็นจะเลื่อนสถานะทางสังคมได้ก็คือสถาบันการศึกษาโรงเรียนไหนดังที่ไหนเด่น ที่ไหนมีคนนิยมเรียนเยอะก็หาโอกาสที่จะให้บุตรได้เรียนกับเขาบ้าง ถ้าพ่อแม่มีค่านิยาแบบนี้โรงเรียนข้างบ้านโรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนวัด โรงเรียนในชุมชน โรงเรียนบ้านนอก โรงเรียนวันครูของโยมอาจารย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเห็นท่าจะร่วงโรย ล่วงลับดับสูญล่มสลาย ถูกยุกหรือไม่ก็ยุบตัวเองเพราะไม่มีผู้เรียน ได้ข่าวว่าโรงเรียนวัดห้วยน้อยถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนอนุบาลหนองบัวไม่ทราบว่าข้อมูลนี้ถูกต้องหรือไม่ เห็นโยมอาจารย์พูดถึงชุมชน พูดถึงคนในชุมชนมักจะลืมบ้านเกิด ลืมถิ่นเกิดไม่ภูมิใจในตัวตนของตัวเองขาดการเรียนรู้เรื่องราวในชุมชน คงต้องหันกลับมาดูรากฐานเดิมกันบ้างน่าจะดีช่วยกันบำรุงรากรักษารากให้มั่นคงแข็งแรงจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพมีคุณค่าถ้าใช้สำนวนทางพระพุทธศาสนาก็ต้องบอกว่ารู้อะไรก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการรู้จัก(สังคม)ตนเอง.

ขอเจริญพร

Phramaha lae

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย

  • เป็นเรื่องที่แปลกครับ เมื่อคืนและเช้านี้ ผมอยากปรับวิธีการนอนผม จากชอบทำงานดึกๆ แล้วก็มานอนตอนใกล้สว่าง ตื่นสายๆ ให้เป็นรีบนอนแต่หัวค่ำก่อนเที่ยงคืน แล้วก็ตื่นแต่เช้าๆ  พอตื่นเช้าก่อนสว่าง เลยได้ทำสิ่งต่างๆแบบสบายๆหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ การทบทวนตนเอง ทำสมาธิ  เลยทำให้ได้ความสด  พอเปลี่ยนอริยาบทไปทำกิจกรรมอื่นๆ อารมณ์ภาวนาในจังหวะที่พอเหมาะก็ยังอยู่
  • พอเข้ามาในบล๊อกนี้ ก็ได้มาเจอการเข้ามาสนทนาของพระคุณเจ้า พอได้อ่านแล้ว  ทั้งภาพในใจว่าเป็นทรรศนะของพระคุณเจ้า และการเรียบเรียงคลื่นความคิด ที่ถ่ายทอดและส่งออกมาจากตัวหนังสือ ก็เหมือนทำให้เกิดความต่อเนื่องของอารมณ์การทำสมาธิไปด้วย เลยกลายเป็นสิ่งมงคลที่ได้แก่ตนเองในเช้านี้อย่างไม่ได้คาดคิด
  • อ่านที่พระคุณเจ้าเขียนแล้ว นอกจากเรื่องที่คุยแล้ว ต้องขอออกปากว่าพระคุณเจ้าเขียนหนังสือแปลกและดีจริงๆ  เป็นวิธีเขียนที่ทำให้รู้สึกเหมือนมิใช่แค่อ่านหนังสือ แต่รู้สึกได้ถึงอารมณ์ภาวนา ความเป็นระเบียบของความคิด และความสม่ำเสมอ เรียบ นิ่ง ของสติและกระบวนการภายในจิตใจ  ทำให้ผมเห็นตัวอย่างอีกแบบหนึ่งของวิธีการทำในใจให้ความแยบคาย หรือโยนิโสมนสิการ ในรูปแบบวิภัชวาทธรรม คือ การเขียนที่สะท้อนออกมาจากภาวะภายใน ทำให้เกิดการจัดระเบียบความคิดและการภาวนา รู้สึกถึงมิตินั้นจริงๆครับ
  • ผมไม่แน่ใจว่าโรงเรียนห้วยน้อยได้ถูกยุบให้ไปรวมกับโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)หรือไม่ หากมีการยุบ ก็คงต้องยุบไปหลายปีแล้ว ก่อนที่จะมีแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการออกมามิให้ยุบโรงเรียนและให้ปรับบทบาทเข้าไปเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนหรือทำหน้าที่อื่นๆให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ
  • ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ที่ควรส่งเสริมและฟื้นฟูบทบาทของวัดกับโรงเรียนและชุมชน ให้มีปฏิสัมพันธ์และมีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาตนเองของกันและกันให้มากยิ่งขึ้น  ที่บ้านตาลินบ้านเกิดผมนั้น ผมก็เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ครับ เพราะพื้นที่ของวัดและโรงเรียนรวมกันอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ยังไม่มีรั้วกางกั้น เลยต้องกลับไปทำกิจกรรม ให้ชุมชนมีชีวิต รักษาความเชื่อมโยงกันและธำรงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วยการมีกิจกรรมที่ทำหน้าที่สำคัญต่อชุมชน ทั้งเด็กๆ คนแก่ ครอบครัว และชาวบ้าน
  • ตอนนี้ ผมกำลังเตรียมจะกลับไปทำกิจกรรมที่วัดและโรงเรียนของที่บ้านเกิดอีกครับ คาดว่าจะเป็นช่วงออกพรรษาหรือไม่ก็ช่วงระหว่างพรรษา หากสามารถทำได้ จะบอกกล่าวในบล๊อกนี้ไว้ครับ หากพระคุณเจ้าอยู่ใกล้หรือผ่านไป จะขอกราบอาราธนาสนทนาหรือปาฐกถาธรรมให้กับชาวบ้านแถวบ้านผมบ้างนะครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

           โยมอาจารย์วิรัตน์เขียนหนังสือที่มีพลังทางความคิดอย่างมหาศาลให้ความรู้ให้บทเรียนชีวิตให้บทเรียนสังคมให้บทเรียนชุมชนให้สติแก่คนที่ชอบเห่อเหิมทางวัตถุทรัพย์สินเงินทองให้กำลังใจคนที่มีความด้อยโอกาสในสังคมให้ปัญญาแก่ผู้ที่แสวงหาปัญญาความรู้ให้ขุมทรัพย์ทางธรรมในการดำเนินชีวิต คนอย่างโยมอาจารย์วิรัตน์นับเป็นปราชย์ยังน้อยไปภาษาพระท่านเรียกว่า ผู้มีวิชาและจรณะเลยทีเดียว แบบนี้แหละที่ท่านเรียกว่าครูอาตมาว่าครูไทยมีสถานะค่อนข้างสูงในสังคมที่สูงคงไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐิก แต่เป็นสถานะทางปัญญาทรงความรู้ทรงธรรม ทรงความดีทรงคุณธรรมเป็นต้นแบบต้นบุญของสังคมได้อย่างมั่นคงตลอดเวลาที่ผ่าน ครูนับเป็นอาชีพคนมีบุญเพราะได้ทำบุญสร้างปัญญาสร้างสังคมสร้างโลกให้มีสันติสุขตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยผู้ผู้ใหญ่ ถ้าไม่พูดเป็นภาษาพระจนเกินไปความสุขของคนที่ยั่งยืนและสงบเยือนเย็นน่าจะเป็นความสุขทางปัญญาความรู้เพราะเป็นความสุขที่ปราศจากโทษไม่เจือปนด้วยยาพิษ ไม่ต้องแย่งชิง ไม่ต้องแข่งขัน ไม่ต้องต่อสู้ไม่ต้องเบียดเบียนใคร ได้มาด้วยการแสวงหาวิจัยวินิจฉัยจากคำสอนของบัณฑิตผู้รู้นักปราชญ์ตรงตามพุทธภาษิตว่า เว้นความรู้แล้วเรา(ตถาคต)ยังไม่เห็นความสวัสดีที่สัตว์ทั้งหลายจะพีงได้ สัมผัสได้จากความรู้แนวคิดและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะแล้วโยมอาจารย์สมกับเป็นครูของสังคมจริง ๆ ถ้าเป็นยุคโบราณอาจมองเห็นครูที่วางตัวอย่างโยมอาจารย์เป็นเรื่องธรรมดาเพราะมาตรฐานคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ยุคปัจจุบันสมัยครูอย่างโยมอาจารย์ถือเป็นครูในอุดมคติ มีบทเพลงของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่ไม่ได้ฟังมานานมากแล้ว จะมีคำร้องท่อนหนึ่งว่า ไม่เด่นไม่ดัง จะไม่หันหลังกลับไป ทุกวันคืนนอนร้องไห้อีกเมื่อจะโชคดี ถูกต้องตามเนื้อเพลงหรือเปล่ายังไม่ได้ตรวจสอบจำได้ลาง ๆ ชื่อเพลงนักร้องบ้านนอกคงจะประมาณนี้แหละ เนื้อหาบทเพลงนี้แสดงถึงค่านิยมที่มีต่อบทเพลง หรือค่านิยมมีอิทธิพลต่อบทเพลงอมตะของพุ่มพวงเพลงนี้กันแน่ อาตมาวิเคราะห์อย่างคนไม่มีหลักวิชาการว่า เพลงนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยแบบลูกทุ่งไม่น้อย เพราะอะไร เพราะว่าเท่าที่สังเกตคนในชุมชนออกจากบ้านไปทำงานต่างถิ่นหรือถึงต่างประเทศ ถ้าคนนั้นมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายมีงานมั่นคงจนสามารถกลับมาทำประโยชน์ให้กับหมู่บ้านตนเองได้ คนก็ชื่นชมยินดีสรรเสริญยกย่อง ยิ่งกลับมาใหญ่มากยิ่งเด่นดีมากในสายตาของสังคม พูดง่าย ๆ ว่าถ้ากลับมารวยคนยกย่องสรรเสริญเยินยอ มีคนอยากเอาอย่างดำเนินรอยตาม คนก็จะสอนลูกหลานของตนให้เอาเยี่ยงคนนั้นที่ได้ดิบได้ดี มีหน้ามีตาซึ่งคนจะประสบผลสำเร็จได้ขนาดนี้นับว่าหายากมาก ๆ ส่วนคนที่กลับมาแบบธรรมดาไม่เด่นดังอะไรอาจขาดกำลังใจเพราะตนเองได้ต่อสู้อย่างสุดความสามารถแล้วมาตราฐานวัดคุณค่าคนจะวัดกันที่วัตถุทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวยเราไปให้คุณค่าคนที่ด้านวัตถุมากเกินไปหรือเปล่าก็น่าคิด อันที่จริงตอนไปก็จนอยู่แล้ว เมื่อกลับมายังจนอยู่ก็ไม่น่าแปลกอะไรไม่เห็นน่ารังเกียจอะไรตรงไหน ถ้ารวยคือดี ถ้าจนคือไม่ดี(เลว) เป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของคนแล้วคนหรือชุมชนก็จะดูถูกตนเองรังเกียจตนเองมองเห็นตนเองไม่มีคุณค่าอะไร นับว่าทัศนะแบบนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเราบูชาวัตถุเป็นความดี คุณค่าอย่างอื่นอีกมากมายเราก็จะมองไม่เห็นหรืออาจมองเป็นของไร้ค่าไปก็ได้ แค่ฟังโยมอาจารย์เล่าเรื่องราวที่ไปทำให้กับชุมชนบ้านตาลินแล้วก็มีความสุขชื่นใจจริง ๆ พร้อมกับทำใจอนุโมทนาไปด้วย.

             ขอเจริญพร

         พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข (อาสโย)ครับ

  • ผมดีใจและเกิดความปีติอย่างที่สุด ที่พระคุณเจ้าเห็นประเด็นพวกนี้ และผู้ที่เห็นความสำคัญเป็นฝ่ายผู้นำทางจิตใจ ทางพระศาสนา ดีใจและมีกำลังใจอย่างบอกไม่ถูกว่าชุมชนและบ้านนอกมีกำลังทางปัญญาดีอยู่
  • ผมเห็นประเด็นสำคัญที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงหลายเรื่อง รวมทั้งผสมผสานกับประเด็นที่ผมพูดถึงในบทความนี้ที่พระคุณเจ้าเข้ามาร่วมเสริมต่อความรู้-ความเข้าใจ ทั้งเรื่อง (๑) วิถีการเป็นผู้ให้ (๒) การเป็นผู้มุ่งสร้างปัญญาด้วยการวิจัยวินัจฉัยคำสอน(ในพระธรรมและผู้รู้ทั้งหลาย) (๓) การมุ่งหาความสวัสดีด้วยวิถีความรู้ และ (๔) การสร้างทรรศนะเชิงคุณค่าต่อตนเองและการปฏิบัติต่อความเป็นชุมชน ที่ลดความเป็นวัตถุและการทำตามแฟชั่นที่ให้ค่านิยมผิวเผิน (๕) วิถีแห่งปัญญาเพื่อความสุขที่ยั่งยืนและสงบเยือกเย็น
  • วิถีการให้และการเรียนรู้จากการให้เพื่อพัฒนาเข้าไปภายในตัวคนนั้น เป็นเรื่องที่ส่งเสริมบุญกริยาวัตถุ การทำทาน การบริจาคทาน ให้ลงลึกไปถึงการกล่อมเกลาความเป็นอัตตา ความเป็นตัวกู-ของกู ซึ่งเป็นธรรมในขั้นสูง พาคนพ้นจากอัตตาและความเห็นแก่ตน ความเป็นตัวกูของกู  ทำให้ได้พื้นฐานสำหรับเข้าถึงธรรม ในขั้นปัญญาเห็นแจ้งได้ เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ ทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ชาวบ้านและเด็กๆทั่วไปของชุมชน  ทำกิจกรรมชุมชนให้มีความหมายลึกซึ้งต่อตนเองได้ครับ 
  • พื้นฐานปัญญานี้  น่าจะเป็นกำลังของชุมชนและสังคม ให้พอสู้กับการกลืนกลายเป็นสังคมผู้บริโภคที่ไม่มีคุณภาพได้ และสร้างความสมดุล ระหว่างเรื่องทางวัตถุ กับคุณค่าทางจิตใจและสุนทรียภาพทางปัญญาได้
  • การเรียนรู้ของสังคมและชุมชน เพื่อเป็นผู้มุ่งวิจัยวินิจฉัยคำสอน รวมทั้งการมุ่งสร้างความสวัสดีด้วยวิถีแห่งความรู้นี้ ลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ
  • ผมเลยได้ของดีจากที่พระคุณเจ้านำมาให้ทราบไปด้วย หลักคิดนี้ จะเป็นที่วางความคิด ให้เห็นว่าเราสามารถเรียนรู้เพื่อ สร้างฉันทะและความศรัทธาต่อปัญญาและความรู้ ได้อย่างไร  ในแนวคิดของตะวันตกก็มีครับ คือ Philosophy นั้น แปลว่า รักในความรู้ ผมหาอยู่พอดีครับว่า ในวิธีคิดทางพุทธศษสนาและในคติชุมชนแบบชาวบ้านๆ นั้น เชื่อมโยงเรื่อทางจิตใจและความเป็นสุนทรีภาพในชีวิต เข้ากับเรื่องทางความรู้สมัยใหม่  เพื่อให้เกิดองค์รวมทางปัญญาได้อย่างไร  ก็มาเห็นเค้าเงื่อนจากที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี่เองครับ กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ
  • เห็นด้วยมากครับว่า เรื่องการต้องหาโอกาสให้ประชาชนที่ย้ายถิ่นไปทำงานและออกจากถิ่นฐานชั่วคราว ทั้งไปศึกษาเรียนรู้และหางานทำ ให้ได้ค่านิยม หลักชีวิต และมีแนวปฏิบัติตนมิให้หลงติดไปกับความเป็นวัตถุและความเป็นแฟชั่นอยากเด่นดังฉาบฉวย เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดไปในทุกที่และทุกโอกาสที่มีครับ โดยเฉพาะสำหรับลูกหลานของเราที่อยู่บ้านนอก ได้-ไม่ได้ สำเร็จ-ไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นปัญหาครับ  เรื่องอย่างนี้ต้องทำให้เป็นปัจจัยแวดล้อมที่มีอยู่เสมอ
  • กราบขอบพระคุณอย่างสุดซึ้งด้วยครับ ที่พระคุณเจ้าทั้งช่วยอนุโมทนา สะท้อนคิดเสริมกำลังใจ-กำลังปัญญา รวมทั้งแจกแจงของสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ให้ได้วิธีนำกลับมาใคร่ครวญตนเองเพื่อได้ความหมายและคุณค่าที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เราสามารถลงมือทำด้วยตนเอง แสดงวิธีการที่เป็นกุศโลบายและให้ความแยบคายในการเจริญสติภาวนามากอย่างยิ่งครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

เจริญพรโยมอาจาย์วิรัตน์

ปัญญาบารมี

         เมื่อพรรษาที่ผ่านมามีพระรูปหนึ่งในวัดศรีโสภณที่อยู่วัดเดียวกับอาตมาได้พาพระสามรูปขึ้นไปจำพรรษาที่พักสงฆ์ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นเชิงเขาสูงในอำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก เป็นสถานที่ที่อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโสภณ(พระครูสิริโสภณ)ไปบุกเบิกริเริ่มสร้างไว้เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ทำไร่ตามฤดูกาลยังไม่มีไฟฟ้าใช้ชาวบ้านต้องอาศัยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์วันไหนแดดออกก็ได้ใช้ไฟดีหน่อยวันไหนครึ้มฟ้าครึ้มฝนก็ไม่สะดวกเรื่องไฟ้ฟ้าเท่าที่ควร ต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีคณะศรัทธาญาติโยมจาก จ.ชลบุรีนำพระพุทธรูปมาถวายที่พักสงฆ์ อาตมาได้อนุโมทนาบุญกับท่านแต่ก่อนจะเริ่มงานได้แนะนำท่านไปว่าชาวบ้านนั้นถ้าเชิญชวนทำบุญยังพอมีศรัทธาทำได้ตามกำลังศรัทธากำลังทรัพย์เรื่องทานในพระศาสนาคนยังทำกันเป็นปกติอยู่ อาตมาถามท่านว่ารู้จักโยมที่นำพระพุทธรูปมาถวายดีไหม ท่านตอบว่ารู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เมื่อท่านตอบว่ารู้จักดีได้ให้แนวคิดไปว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้ทำทานทำบุญกับเด็กเยาวชนในท้องถิ่นแถวนั้นที่อยู่ใกล้ที่พักสงฆ์ด้วยการแจกทุนการศึกษาได้น้อยได้มากไม่เป็นปัญหาเพราะเด็กที่ได้ทุนก็ยินดีรับอยู่แล้ว ถ้าวัด(ที่พักสงฆ์)เจริญงอกงามมีคนอุปัฏฐากอุปถัมภ์บำรุงเพียบพร้อมสมบูรณ์มีโอกาสเป็นไปได้ แต่เราน่าจะสนับสนุนคนในชุมชนซึ่งเป็นเด็กที่จะต้องดูแลสังคมส่วนรวมพระศาสนาในภายภาคหน้าให้เขาได้รับอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญทานบารมีของชาวพุทธในคราวครั้งนี้บ้าง อยากเห็นพระสงฆ์มีแนวคิดในเรื่องปัญญาบารมีบ้างช่วยกันสร้างปัญญาจะได้เกิดวัฒนธรรมทางปัญญาไปพร้อม ๆ กับการสร้างทานบารมีให้ทำปัญญาบารมีบ้างน่าจะดีถึงจะไม่เท่ากับทานบารมีที่ชาวพุทธนิยมกันทำกันอย่างมากก็ขอให้ได้สักหนึ่งในสี่ก็น่าจะเป็นเรื่องดีงามไม่น้อย

             ด้วยเวลากะชั้นชิดไม่กี่วันท่านสามารถเชิญชวนโยมสร้างปัญญาบารมีได้ตั้ง ๑๐ ทุน ให้คุณครูพิจาณาคัดนักเรียนมาได้ตามทุน จริง ๆ น่าจะมีมากกว่า ๑๐ คนแต่ด้วยเวลาจำกัดครั้งแรกก็ได้จำนวน ๑๐ ทุน อาตมาคุยกับท่านว่าเด็กเขาทำความดีถ้าเพื่อนไม่เห็นไม่สรรเสริญคุณครูไม่เห็นความสำคัญไม่ให้กำลังใจในการทำความดีเด็กอาจตีความหมายความดีที่ทำไปว่าดีจริงไหม ต่อไปอาจจะไม่ทำเพราะทำไปก็เท่านั้น นี่อาจส่งผลระยะยาวไกลต่อพฤติกรรมคุณค่าด้านนามธรรมต่อเยาวชนและสังคม เราควรให้กำลังใจเด็กในการทำความดีให้เยาวชนเรามีความมั่นใจในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ว่าทำดีนั้นมีคนเห็นมีคนให้กำลังใจสนับสนุนส่งเสริมที่จริงเด็กก็คงมีได้เรียกร้องเงินทองอะไรจากการทำดี เราผู้ใหญ่ควรส่งเสริมให้ลูกหลานทำสิ่งดีงามถ้ามัวแต่เมินเฉยไม่รู้จักอนุโมทนาความดีคนอื่น มันจะเหมือนกับว่าทำบุญมากแต่ไร้น้ำใจขาดน้ำใจและอาจขาดเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยากกว่าก็เป็นได้ อาตมาเองก็ร่วมอนุโมทนาบุญกับท่านด้วยการถวายทุนแก่พระนิสิต มจร. ภายในวัดศรีโสภณครั้งนี้ด้วย(ในสายตาของนักสร้างทานบารมีนับว่าน้อยมาก) ก็ขออนุญาตโยมอาจารย์เล่าสู่กันฟังเพียงเท่านี้.

                                ขอเจริญพร

                            พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า  พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

ชุมชนเรียนรู้การพัฒนาพอเพียง

         ผมพยายามนึกภาพตามที่พระคุณเจ้าสาธยายถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่วังทอง พิษณุโลก ก็พอจะนึกภาพออกครับ อันที่จริง แถววังทองนั้น นอกจากผมจะเคยไปเป่าแตรวงตั้งแต่เด็กเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนแล้ว แม้ในปัจจุบัน ผมก็มีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่นอยู่พอสมควรครับ

      อีกทั้งเมื่อปีก่อน หลวงลุงจากวัดที่บ้านผม ซึ่งญาติโยมพี่น้องท่านอยู่ที่วังทอง ก็ขอมาประจำวัดที่วังทองเสียอีก แถวบ้านผมพยายามอ้อนวอนให้ท่านเมตตาอยู่เป็นกำลังใจ และให้ชาวบ้านได้มีพระไว้ทำบุญ แต่ท่านชราและมีความจำเป็นทางสุขภาพที่ต้องมีคนช่วยดูแลมาก ท่านเกรงใจญาติโยม จึงย้ายไปอยู่วังทอง

         หมู่บ้านดังที่พระคุณเจ้าเล่า ดูแล้วยังคงมีสภาพชนบทมากเลยครับ แต่การที่ชุมชนนี้มีพระสองสามรูปที่มีแนวคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้เกิดขึ้นมากกว่าปล่อยไปตามยถากรรม ก็เชื่อว่าจะเป็นโอกาสริเริ่มการพัฒนาในแนวทางที่เหมาะสมและดีสำหรับชาวบ้าน ได้หลายอย่างนะครับ จึงขอร่วมอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ

ปัญญาบารมีเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก

        เห็นพระคุณเจ้ากล่าวถึงวิธีคิดการทำบุญกุศล จากการทำทานเพื่อมุ่งได้บุญกุศลแก่ตัวเอง มาสู่การทำทานการศึกษาเพื่อสร้างปัญญาบารมี ก็รู้สึกตื้นตันใจไปกับชาวบ้านไปด้วย ที่ปรากฏแนวคิดอย่างนี้จากกลุ่มพระสงฆ์เพิ่มพูนห้มากๆยิ่งขึ้นอีก

        ครอบครัวและชุมชนชนบท ที่มีลูกมีหลานนั้น การที่มีการระดมเงินทุนหรือมีหนังสือและเสื้อผ้าไปช่วย แม้นเพียงเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่มีโอกาสดีแล้วในเมือง แต่ก็เป็นการให้โอกาสยิ่งใหญ่แก่เด็กๆและครอบครัวของคนในชนบท

       การสร้างโอกาสพัฒนาของครอบครัวและชุมชนชนบท ผ่านการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กนี้มีความหมายมากครับ  ไม่ใช่เพียงเรื่องการที่เด็กๆคนหนึ่งจะได้มีโอกาสงอกงามเติบโตเท่านั้น

       ทว่า จะสร้างให้เด็กมีอนาคตเป็นเครือข่ายการดูแลตนเองของสังคมหน่วยย่อยๆในชนบท อันได้แก่ครอบครัวและกลุ่มสังคมเครือญาติ ให้สามารถอยู่ได้ในสังคมด้วยคุณภาพแห่งชีวิตที่ดีขึ้น

       อีกทั้งมีโอกาสได้พึ่งตนเอง กระทั่งมีกำลังที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาส่วนรวมได้ดีมากขึ้น ทำให้ปัเจก ครอบครัว และชุมชน เกิดความเข้มแข็ง ถูกปัญหาและตรงกับกลุ่มที่ต้องการได้รับโอกาสการพัฒนาจากสังคม มากอย่างยิ่งครับ

       แต่การที่จะร่วมมือกันของบ้านและชุมชน วัด และโรงเรียน ก็จะต้องมีผู้นำ ที่สามารถปรับหลักธรรมและวิธีคิดให้เข้ากับบริบทใหม่ๆของปัจจุบัน และเป็นกำลังแห่งสติ กำลังปัญญา อย่างที่กำลังได้จากพระคุณเจ้าและหมู่พระสงฆ์ อย่างนี้แหละครับ 

       การนำให้ชาวบ้านและชุมชน รวมทั้งเหล่าผู้ศรัทธาปสาทะต่อการทำบุญและทำสิ่งดีผ่านงานบุญกุศล ได้เกิดวิธีคิดและซาบซึ้งกับการสร้างปัญญาปารมี และการให้ทานเพื่อการศึกษาเรียนรู้ อย่างที่พระคุณเจ้าและคณะได้ทำให้ชาวบ้านนี้ ชอบแล้วอย่างที่สุด สร้างสรรค์ และขอกราบอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งครับ

ความเป็นชุมชนและการเรียนรู้ทางสังคมเพื่อการพัฒนาแก่เด็ก

       ในเรื่องกุศโลบายการทำดีและให้ผู้อื่นได้เป็นตัวเสริมกำลังการปฏิบัติเพื่อทำดีของเด็กๆนั้น  แทนการเน้นด้านที่ต้องมุ่งทำดีให้ได้ชื่อเสียง ทำดีต้องได้หน้าตา ทำดีต้องได้ความลำพองใจนั้น ผมอยากแลกเปลี่ยนแนวคิดด้วยครับ 

       การทำความดี ก็จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างแยบคายเป็นอย่างยิ่งเหมือนกันครับ 

       หากชุมชน ครอบครัว และคนรอบข้าง รวมไปจนถึงเด็กๆ ไม่มีใครช่วยชี้นำการคิดและนำการปฏิบัติที่ดี  คนก็อาจจะพัฒนาไปได้แค่ติดดี ติดบุญ  อีกทั้งเมื่อเสริมกำลังให้มุ่งเลือกเอาแต่ด้านดี แต่ข้ามไปที่ตัวปัญญาไม่ได้  ก็จะกลายเป็นหลงไปสู่การเกิดอัตตาและตัวตนที่จะต้องดี กร่าง อหังการ์

      เมื่อเป็นดังนี้ วิธีการและกระบวนการดังเช่นในบทความที่ผมเขียนถึงกิจกรรมที่บ้านเกิดของผม จึงมีความสำคัญที่จะต้องออกแบบและทำขึ้นมาครับ 

      แต่ทั้งนี้ คงต้องมีคนเป็นผู้พาคิดพาทำ ซึ่งกระผมเห็นว่าพระคุณเจ้าและพระสงฆ์ที่มีความเข้าใจอย่างนี้นั่นเอง เป็นผู้ที่เหมาะสมเพื่อการนี้ครับ

      การทำความดีต้องเรียนรู้ให้เกิดคุณค่าในตนเอง ทำดีเพื่อให้เกิดการยอมรับ หรือทำดีเพื่อเอาหน้าตา ทำดีเพื่อได้ชื่อเสียง เหล่านี้ มักเป็นกระแสนิยมของสังคม ทว่า ไม่จีรังยั่งยืนพอครับ

      และจะดีมากที่สุด ควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการส่งเสริมให้เด็กมุ่งอยากดีอยากเด่นมากกว่าคนอื่นครับ ต้องเน้นให้เกิดสติปัญญาภาวนาว่าความดีนั้นมีธรรมชาติที่ต้องปรุงแต่ง ต้องสมมติ ไม่คงที่ ติดยึดก็ทำให้ตัวตนกร่าง เกิดความเป็นตัวกู-ของกู เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเองให้ขึ้นสูง เหมือนดีแต่ไม่เป็นการดี 

      ความดีนั้น ต้องสร้างร่วมกันจากการปฏิบัติของเราและการยอมรับจากผู้อื่น ดังนั้น สิ่งที่พึงมุ่งฉวยเอาและยึดไว้ จึงมิใช่ความดีเพื่อตนเองแต่โดยลำพัง ซึ่งอาจจะทำให้ความเป็นชุมชนหลุดออกไปจากความเด่นดีของเรา ทว่า ได้แก่การมุ่งสร้างความดีร่วมกับผู้อื่นและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั่นเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความดี ความงาม และสร้างความจริงด้วยกันให้เกิดขึ้นได้อีกหลายอย่าง

       แต่ถ้าหากเด็กมุ่งติดดีให้ต่างจากคนอื่นแล้ว  ทุกครั้งที่ได้คนดีหนึ่งคน  ในทางมุมกลับ ก็จะมีคนไม่ดีกว่าคนหนึ่งคนนั้น เกิดขึ้นอีกมากมายหลายคน  ดังนั้น เราก็ไม่ควรให้เด็กปรารถนาความดีชนิดนั้น การส่งเสริมความดี การให้เด็กทำดี และการเรียนรู้ให้ได้ปัญญาจากความดี จึงเป็นสิ่งที่คิดและทำสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้อีกเยอะครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่งครับ

ในเรื่องให้การเรียนรู้แก่ชาวบ้านและเด็กๆได้รู้จักการอนุโมทนาความดีของผู้อื่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และถ้าหากทำให้เป็นการเรียนรู้ เชื่อมโยงออกไปสู่การพัฒนาปัจเจกและชุมชน ในทรรศนะผมแล้ว ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แยบคาย ได้หลักคิดและเป็นหลัธรรมในขั้นสูง ที่นำมาเป็นแนวพัฒาตนเองได้อยู่เสมอครับ 

เมื่อตอนที่ผมทำกิจกรรมที่บ้านเกิดก็จะพูดเรือ่องนี้ให้ชาวบ้านและเด็กๆฟัง รวมทั้งเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงาน หรือไม่ว่าจะที่ไหน ก็จะหาโอกาสพูด ก่อนที่จะชวนเชิญให้ผู้คนร่วมกล่าวอนุโมทนาต่อสิ่งต่างๆที่เป็นการทำดีและการสร้างสรรค์ของผู้อื่น

ใครจะได้อะไรแก่ตนเองหรือไม่ก็ไม่มีปัญหาครับ การทำให้ทุกกิจกรรมมีนัยต่อการเรียนรู้และเข้าถึงธรรมด้วยการหยั่งไปตามแต่ใครจะเข้าถึงแบบไหนตามเหตุปัจจัยจำเพาะตน เป็นสิ่งที่มีโอกาสก็ต้องทำ 

การอนุโมทนาความดีงามผู้อื่น การกล่าวสรรเสริญการปฏิบัติ และเป็นสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมกำลังใจผู้อื่นให้เพิ่มพูนการสร้างสรรค์สิ่งดีทั้งต่อตนเองและส่วนรวมนั้น ด้านหนึ่ง ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อน้อมตนเองลง หรือถ่อมตนเองลง หากดูแลตนเองได้ดี ก็จะพัฒนาตนเองให้คลายตัวตน คลายความเป็นตัวกู-ของกู มีสติอยู่เสมอ

ในทางสังคม การอนุโมทนาความดีงามผู้อื่น เป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างการยอมรับความเป็นหมู่คณะ เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้อื่น การถ่อมตนเองและน้อมตนเองลงแล้วเชิดชูยอมรับผู้อื่นนั้น หลังการทำกิจกรรมต่างๆ และก่อนจะชื่นชมยินดีเด็กๆ รวมไปจนถึงชาวบ้าน เราก็สามารถให้การเรียนรู้การปฏิบัติ ให้ได้วิธีคิดดีๆอย่างนี้ได้ครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ 

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

            โยมอาจารย์เขียนได้ลึกซึ้งมากบรรยายขยายความได้อย่างไพเราะจับใจด้วยภาษาที่งดงามกินใจถ้าเป็นนักกรรมฐานก็เรียกว่า เป็นนักปฏิบัติโดยแท้พร้อมทั้งเป็นเลิศในการขายความได้ดีและบรรยายเป็นภาษาธรรมที่ชัดเจนลุ่มลึกมีแง่คิดได้คติสอนใจสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยอ่านแล้วเกิดความสงบทางจิตใจได้ปัญญา เรียกตามภาษาสมัยใหม่ก็คือผู้เชี่ยวชาญแตกฉานเป็นพหูสูตร ภาษาเก่าหน่อยก็จะเรียกว่า เป็นเอตทัคคะ เรื่องทาน ก็เป็นเรื่องใหญ่และเด่นมากในสังคมไทย เป็นคติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณถ้าจะถามว่าสังคมเราโดดเด่นในเรื่องอะไรบ้าง ทานก็น่าจะเป็นหนึ่งในหลายด้านที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมไทย ยาขอ หมอวาน ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ ก็ตั้งใจประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ศิษย์โดยถือเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่งเหมือนลูกตัวเอง สิ่งเหล่านี้คนยุคก่อนถือว่า เป็นเรื่องทานเรื่องบุญกุศลทั้งน้น

ถือว่าสงเคราะห์ช่วยเหลือกันเป็นเมตตาธรรมของคนในสังคมพึ่งพาอาศัยกันและกัน มีพุทธพจน์บทหนึ่งว่า ทะเทยยะ ปุริโส ทานัง แปลว่า คนควรให้ทาน ขอยกบทกลอนหลวงพ่อพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล วัดชากมะกรูด แห่งเมืองระยองที่ท่านประพันธ์ขยายความเอาไว้ว่า

              ในโลกนี้มีคนที่จนยาก    แสนลำบากดิ้นรนกังวลหา

              ผู้มีทรัพย์อย่าละกรุณา    ควรเมตตาตั้งจิตอุทิศทาน

              บริจาคโภคะสละให้        ทั้งของใช้เสื้อผ้ากระยาหาร

    สงเคราะห์คนจนเหลือช่วยเจือจาน  นับเป็นทานการุณย์บุญอันันต์.

ถ้าสามารถบริหารจัดการต่อยอดจากทานที่มีอยู่มากมายไปสู่ปัญญาความรู้ได้ก็จะเกิดเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตของคนในชุมชนตลอดทั่วทั้งสังคมและจะเป็นสิ่งดีงามแก่พหูชนหมู่มากด้วย.

                            ขอเจริญพร

                  พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมต้องขอกราบเรียนว่าสนทนาแลกเปลี่ยนกับพระคุณเจ้าไปก็สนใจวิธีการเขียนและวิธีนำเสนอประเด็นที่มีความลึกซึ้งและรอบด้านทีละนิดของพระคุณเจ้าไป
  • ขณะเดียวกัน มองในอีกแง่หนึ่ง ผมลองอ่านย้อนหลังดู  ก็พบว่าผมเห็นอะไรบางอย่างครับ คือ พระคุณเจ้ามักมองออกจากหลักธรรมและแจกแจงให้ได้ความลึกซึ้งลงไปอีก ส่วนผม ก็มองออกจากกรณีตัวอย่างและเรื่องราวทางสังคม แล้วก็เชื่อมโยงเข้าหาหลักธรรมที่พระคุณเจ้าตั้งหัวข้อ  ซึ่งผมมักเรียกเนื้อหาความรู้ที่อิงอยู่กับสภาวการณ์ปัจจุบันของสังคม ขณะเดียวกัน ก็เชื่อมโยงลงไปได้กับระบบคิดที่ชาวบ้านทั่วไปพอได้รับการกล่อมเกลามาจากศาสนธรรม อย่างนี้ว่า เป็นความรู้และวิธีสร้างความรู้ที่จะช่วยทำให้เรากลับบ้านถูก
  • รู้สึกได้ทั้งอรรถรสและได้ปัญญาไปด้วยมากมายครับ  เลยจะขอทดไว้ก่อน คืนนี้จะเขียนต่อครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

         กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากอย่างยิ่งครับ ถือว่าเป็นการสะท้อนให้ผมเห็นด้านที่จะพัฒนาตนเอง เห็นข้อที่มีอยู่ แล้วก็บางด้านก็เป็นองค์ประกอบที่มาจากวิธีคิดและกระบวนการข้างใน ที่การตั้งข้อสังเกตของพระคุณเจ้าทำให้ทราบได้อยู่ในทีว่าเป็นสิ่งที่สื่อออกมาให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ผมจึงควรใช้เป็นแนวสังเกตตนเองเพื่อจับเอาเป็นอารมณ์ภาวนา อบรมตนเองและบ่มเพาะให้เป็นกำลังจิตตปัญญาของตนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ในข้อนี้ต้องถือว่าพระคุณเจ้าเป็นครูให้นะครับ

        การที่พระคุณเจ้าบอกว่า เรื่องการให้ทาน เป็นเรื่องที่โดดเด่นของวัฒนธรรมไทยนั้น ดูเหมือนกับว่าพระคุณเจ้ากำลังจะบอกว่าเห็นอะไรสักอย่างจากสิ่งที่ผู้คนเห็นเป็นเรื่องพื้นๆ

        อันที่จริง ในเรื่องการให้ทานนั้น นอกจากต้องมีองค์ประกอบของสิ่งที่จะเป็นทานแล้ว ยังกอปรไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญมากอีก ๒ มิติ คือ ความมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อผู้รับ และกระบวนการเรียนรู้ภายในตนเองของผู้ให้ ที่จะทอนอัตตา และความเป็นตัวกู-ของกูลงไป ผ่านการให้ทาน แต่ตรงนี้ต้องกอปรด้วยปัญญา การเรียนรู้ และการทำในใจให้แยบคายไปด้วยครับ  

        ในข้อหลังนี้กระมังครับ พระคุณเจ้าจึงได้กล่าวว่าเรื่องทานเป็นเรื่องที่เด่นมากในเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย เพราะการเรียนรู้เพื่อกำราบตัวกู-ของกู อีกทั้งได้ความอิ่มปีติจากการได้ให้นั้น  จะว่าไปแล้วก็คือหลักคิดเกี่ยวกับการนำไปสู่ชีวิตอันเกษม  ซึ่งเป็นหนทางสู่มงคลสูงสุดในอุดมคติของพุทธศาสนา รวมไปจนถึงศาสนาอื่นๆที่ก็เรียกและนิยามต่างกันไปนั่นเองหรือเปล่าครับ

        ในแง่การให้ผู้อื่น นอกจากไม่ควรให้เพราะสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์สำหรับตนต่อไปอีกแล้วเท่านั้น ทว่า ยังต้องคำนึงถึงความเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีความหมายต่อผู้รับอีกด้วย

        จะเห็นว่า เพียงกระบวนการและวิธีการให้ เราก็สามารถให้การเรียนรู้ทางสังคมและสร้างการเรียนรู้จากสิ่งที่ปฏิบัติ ทั้งการได้เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง การใส่ใจและเรียนรู้ผู้อื่น และการได้ร่วมสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยการกระทำ

        ถือได้ว่า การเรียนรู้อย่างนี้ เป็นการจัดความสัมพันธ์ของปัจเจกกับผู้คนรอบข้างด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น และสร้างปัจจัยแห่งการเป็นอยู่ร่วมกันให้มีความสุข

       ทุกครั้งเมื่อมีกิจกรรมการทำบุญและให้ทาน(ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในสังคมไทย อย่างที่พระคุณเจ้าว่าจริงๆ)เราจึงสามารถทำให้เป็นเวทีเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและเป็นแหล่งพัฒนาชีวิตที่รอบด้านให้ชาวบ้าน ส่งเสริมให้เกิดปัญญาบารมีผ่านกิจกรรมที่ทำกันอย่างดาดๆ

       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้การให้ทานและการทำบุญ ให้เป็นโอกาสเรียนรู้เพื่อหมั่นกำราบความเป็นตัวกู-ของกูอยู่เสมอๆ และการลดการนึกถึงแต่เพียงตนเอง พร้อมกับเผื่อแผ่สิ่งดีออกไปสู่ผู้อื่นอย่างนี้ หากมองให้ดี ก็จะเห็นว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตน ให้ออกจากความเป็นตัวกู-สู่การสร้างความเป็นเรา ตามกำลังแห่งปัญญาของแต่ละคน

       ยิ่งมีความเป็นเราที่ต้องสร้างตัวตนอย่างใหม่ร่วมกับผู้อื่นให้ออกจากตัวกู-ของกูกว้างขวางมากขึ้นๆเท่าใด ก็จะเห็นการแผ่ขยายของความผูกพันกันด้วยความเป็นผู้คุ้นเคยกันเสมือนญาติและเป็นพี่น้องกัน ร่วมทุกข์สุขกันทั้งหมดทั้งสิ้นของผู้คน ร่องรอยอย่างนี้ ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันของวิธีคิดของชาวบ้านที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสำคัญๆในพระศาสนา 

       ตัวอย่างเช่น คนบ้านนอกนั้น เวลามีนักวิจัยจากภานนอกถามคำถามแบบความรู้สมัยใหม่ง่ายๆว่า 'ในหนึ่งสัปดาห์ มีโอกาสพบปะสังสันทน์และทำกิจกรรมกับคนอื่นมากน้อยเพียงใด' แทนที่จะตอบได้ ก็อาจจะมีพูดอย่างนี้ครับ ....'จะไปไหน  ไม่เคยไปไหน ไม่ได้ทำหรอก' ทำนองนี้ 

       นักวิจัยและคนภายนอกที่เดินด้วยความรู้สมัยใหม่อย่างเดียว ก็อาจจะเข้าใจว่า ชาวบ้านที่ตอบไม่เป็นคนมีส่วนร่วม ไม่เปิดตัวเองต่อการสร้างความเป็นชุมชน ทว่า ในความเป็นจริงก็คือ วิธีคิดของชาวบ้านนั้น คนทั้งหมู่บ้านนั่นแหละ เป็นตัวเราและตนเอง ดังนั้น แม้จะไปทำบุญและทำกิจกรรมมากมายกับผู้คนในหมู่บ้าน ก็ยังตอบว่าไม่ได้ไปไหนและไม่ได้ทำอะไรกับคนอื่น เพราะทั้งหมู่บ้านไม่มีคนอื่นเลยมีแต่เรา อย่างนี้เป็นต้น 

       สำนึกสาธารณะที่เรียนรู้และแผ่ขยายออกไปสู่ผู้คนมากมายได้อย่างนี้ เรียนรู้ผ่านเรื่องให้ทานได้นะครับ ในทุกศาสนาจะมีเรื่องนี้เหมือนกันหมดอีกด้วย 

       โดยวิธีผสมผสานเข้าไปกับกิจกรรมชาวบ้าน ก็จะเป็นการสร้างตัวตนแห่งความเป็นสาธารณะและความเป็นส่วนรวม ที่แผ่ขยายออกไปให้ใหญ่กว่าขอบเขตความเป็นตัวกูของปัจเจกมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ ความเป็นหน่วยชีวิตแบบแบ่งขั้วก็จะไม่มี

       การละวางสิ่งหนึ่งพร้อมกับเป็นการสร้างให้เกิดสิ่งหนึ่งที่ยกระดับให้ละเอียดประณีต ตัวปัญญาและวิธีสอนที่อธิบายกระบวนการอย่างนี้ได้นั้นมีมาในพระศาสนาอยู่แล้วครับ  มีความลึกซึ่งยิ่งกว่าสังคมยุคเหตุผลสมัยใหม่อย่างยุคของเรามากมาย โดยอาจมีข้อจำกัดที่ต้องเลือกถูก-ผิด ดี-เลว เอา-ไม่เอา ก่อให้เกิดวิธีคิดเป็นขั้ว ไม่ได้เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องและเป็นสายธารเดียวกัน ซึ่งผลต่อความรุนแรงของวิธีคิดแบบนี้เป็นอย่างไรก็เห็นได้มากมายในปัจจุบันนะครับ

       เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็พอจะกล่าวได้กระมังครับว่า หากมีคนนำชาวบ้านเจริญสติและทำให้ได้ปัญญาจากกิจกรรมธรรมดาๆไปด้วยแล้ว ก็จะซาบซึ้งและเกิดความแยบคายขึ้นมาได้ยิ่งๆขึ้นว่า การให้ทานในด้านที่เป็นการเรียนรู้สร้างสังคมนั้น ก็เป็นการบำรุงสาธารณะและสร้างสำนึกแห่งสาธารณะ ก่อเกิดจิตสำนึกสาธารณะ เชื่อมโยงวิธีอธิบายในความรู้สมัยใหม่กับความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชุมชน ให้ชาวบ้านสามารถใช้ความรู้จากรากเหง้าชุมชนมาใช้ในโลกสมัยใหม่และทำให้ความรู้สมัยใหม่กลับบ้านถูก ไม่เป็นรากเหง้าของความแปลกแยกซึ่งกันและกัน

       แต่โดยทั่วไป เรามีแต่สอนให้รู้จักแต่การทำบุญอย่างไม่มีความหมาย ทั้งในเชิงคุณค่าและในแง่การได้ปัญญา เกิดความรอบรู้ และนำกลับไปสะท้อนสู่การปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้  คิดแต่ว่าทำบุญก็คือทำบุญ ไม่เห็นเป็นโอกาสขัดเกลาตนเองและไม่เห็นว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อจัดการส่วนรวมที่ใหญ่กว่าตัวเอง อย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มชาวบ้านอย่างไร

        ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกลไกพัฒนาการเรียนรู้แก่สังคมและพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นสื่อและหน่วยให้การศึกษาเรียนรู้ระดับต่างๆ สื่อสารและให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนขึ้นมาแล้ว ก็ไม่สามารถกลับบ้านถูก โดยผสมผสานไม่ได้ว่า สิ่งที่อยู่ในวิถีวัฒนธรรม กับความจำเป็นในสภาวการณ์ของสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เชื่อมโยงและบูรณาการกันขึ้นในบริบทและความจำเป็นใหม่ๆได้อย่างไรบ้าง

         อย่างเรื่องการให้ทาน กับความหมายต่อการพัฒนาจิตใจ พัฒนาตน พัฒนาส่วนรวม กับการเรียนรู้สังคมเพื่อทำให้ชาวบ้านรอบรู้และทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกได้พอสมควรอยู่เสมอ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ

         ผมเคยได้เห็นครูอาจารย์หลายท่านทำ และหลายแห่งก็เห็นว่าทำในลักษณะนี้ เลยเมื่อมีโอกาส ก็มักนำเอามาเป็นหลักคิด แล้วก็ได้ทำอย่างที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพระคุณเจ้านี้อยู่เสมอเช่นกันครับ ผมว่าเป็นหน้าที่ของนักวิชาการและชาวบ้านทั่วไปเช่นกันที่จะต้องช่วยกันทำ  เช่น............

  • ใช้เป็นโอกาสแจกจ่าย เผยแพร่หนังสือและสื่อสารทางปัญญาที่สอดคล้องกัน
  • หาโอกาสบรรยาย ปาฐกถาธรรมนำกิจกรรม ไม่ทำกิจกรรมเฉยๆ ไม่มุ่งให้ทำบุญแบบเอาบุญแต่ไม่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและเข้าถึงคุณค่าอันลึกซึ้งด้วยการทำในใจให้แยบคาย 
  • สอนและอบรม ให้หลักคิด การร่วมกิจกรรมและการร่วมอนุโมทนาการทำบุญกุศลอย่างมีปัญญา
  • จัดสภาพแวดล้อม ให้คนหลากหลาย มีโอกาสสัมผัสกับแหล่งประสบการณ์แล้วได้ปัญญา หยิบฉวยไปตามอัธยาศัย ได้การภาวนาในอริยาบทง่ายๆ สะสมไปกับการทำกิจกรรมสังคมอยู่เสมอๆในชีวิต     

         อย่างที่พระคุณเจ้าได้เห็นและนำมาแลกเปลี่ยนนี้ ผมก็คิดว่าเป็นการมีส่วนร่วมเล็กๆ ที่มีอยู่จริงอย่างมากมายในสังคมของเราครับ เลยดีใจมากครับที่ได้มีโอกาสได้ทราบและได้เสวนากับพระคุณเจ้าครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

วิถีการให้

ขอเจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

        ต้องขอนุโมทนาขอบคุณโยมอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ได้ช่วยอธิบายขยายความเรื่องทานการให้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งได้แง่คิดทางปัญญาที่ดีมาก ๆ หาอ่านแง่คิดงานสร้างสรรค์สังคมชุมชนแบบนี้ได้ยากที่น่าอนุโมทนาเป็นที่ยิ่งก็คือโยมอาจารย์เชื่อมศาสตร์สมัยใหม่กับภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมได้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอย่างราบเรียบลุ่มลึกงดงามอ่านแล้วได้ทัศนะการมองสิ่งต่าง ๆ ในทางบวกด้านดี ๆ

         ภาษาพระเรียกว่า มองแบบเนกขัมมะ คือมองหาทางออก มีทางออก ได้ยินพูดกันมากว่าทุกปัญหามีทางออกแต่คนก็มิได้แสวงหาทางออกที่ว่านั้น ถ้าหาทางออกแล้โอกาสที่จะออกจากปัญหาได้ย่อมมีอยู่ ไม่หานี่ก็ยังพอทำเนาแต่นี่กลับปิดหนทางที่มีอยู่แคบ ๆ ให้มืดมิดยิ่งขึ้นไปอีกก็เลยทำให้มองอะไรแล้วมันพร่ามัวก็ยากที่จะพบทางออก โยมอาจารย์หาความดีจากวิกฤตต่าง ๆ ได้ดีเมื่อหาวิกฤติเจอก็เกิดปัญญาทันที มีทางออก เคยมีผู้รู้กล่าวว่าซากศพ เป็นดอกไม้ของพระอรหันต์เนื้อความอาจไม่ตรงเสียทีเดียวแต่ความหมายคงประมาณนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มองถูกตามความเป็นจริงและสามารถแปรจากก้อนอิฐเป็นดอกไม้ได้ อย่างนี้ก็กลับบ้านถูกแน่นอน กลับบ้านถูกคำนี้ให้ความรู้สึกดีคนที่จากบ้านไปนาน ๆ ได้อ่านน่าจะมีความรู้สึกคิดถึงบ้านอยากกลับบ้านคำนี้สื่อได้ถึงใจตรงใจคนหลายคนโดนใจวัยรุ่นว่างั้นเถอะ

          ขอสนับสนุนความเห็นโยมอาจารย์ที่เสนอว่าเป็นหน้าที่ของนักวิชาการและชาวบ้านแล้วละที่จะคิดแบบเนกขัมมะหาทางออกช่วยกันทำเพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้านก็ยังพอมีผู้รู้ในท้องถิ่นก็ยังมีอีกมากในชุมชนปราชญ์ชาวบ้านก็ยังหาได้ แต่ที่ยังไม่มีคือการให้โอกาส ๆ แห่งความร่วมแรงร่วมใจร่วมคิดร่วมทำร่วมด้วยช่วยกันให้โอกาสแก่ตัวเองเพื่อส่วนรวมเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตัวร่วมกันกันพัฒนาท้องถิ่นบ้านเรา(นี่ไม่ใช่สโลแกนหาเสียงเลือกตั้งนะ) ภาษาพระท่านเรียกว่าไม่มีนิวาโต ไม่พองลมยอมวางสถานะบทบาทอันยิ่งใหญ่ของตนเองลงบ้าง ยอมลดความมีตัวตนลงบ้าง ยอมรับทัศนะของผู้อื่นบ้างเปิดใจตนเองแล้วก็จะเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติในความมนุษย์ความมีศักศรีของคนอื่นเคารพสิทธิซึ่งกันและกันมองกันแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ขอให้ตนเองเปิดใจยอมรับก่อนต่อจากนั้นก็จะเข้าใจกันและร่วมกันมือกันโดยไม่ยากเย็น.

                  ขอเจริญพร

              พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

สัพเพวะ นิกขิปิสสันติ ภูตา โลเก สมุสสะยัง

สัตว์ทั้งปวง จักทอดทิ้งร่างไว้ในโลกา

สัตว์ทั้งมวลถ้วนหมดสลดจิต      สละสิทธิ์ร่างรักลงตักษัย

ว่าของเราของเขาไม่เอาไป       ทิ้งเอาไว้ดาดาษกลาดแผ่นดิน

เกิดกับตายวายวอดไม่รอดพ้น     กลับเวียนวนเกิดผุดไม่สุดสิ้น

อายุสั้นพลันตายวายชีวิน            ร่างทิ้งดินทอดไว้ไม่ไยดี.

         คืนนี้ขออนุญาตโยมอาจารย์ยกพระบาลีและบทกลอนของหลวงพ่อวัดชากมะกรูดแห่งเมืองระยองขึ้นปรารภเป็นหัวข้อสนทนาเนื่องเพราะวันนี้มีศพนักโทษจากเรือนจำพิษณุโลกมาเผาที่วัดศรีโสภณ พอดีกุฏีอาตมาอยู่ใกล้เมรุก็เลยได้พิจารณามรณานุสติไปด้วยในตัว ผู้ตายอายุไม่มากเป็นนักโทษจากต่างจังหวัดเมื่อตายญาติไม่มีทรัพย์เพียงพอที่จะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเดิมได้นิมนต์พระหนึ่งรูปสวดมาติกาบังสุกุลมีญาติคนสองคนเจ้าหน้าที่เรือนจำขับรถนำศพมารวมคนทั้งงานวันนี้ไม่ถึงห้าคน ก็น่าเห็นใจพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ตายไม่น้อยเลย

         การสูญเสียเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์การพลัดพรากเป็นความวิปโยคโศรกเศร้าใจแก่คนข้างหลังตอนมีชีวิตก็อยู่ห่างไกลกันและไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเกิดเมื่อตายลงญาติก็ขัดสนด้านเงินทองอีกจึงไม่สามารถนำร่างไร้วิญญาณกลับบ้านได้จะกลับบ้านได้แต่เพียงกระดูกเท่านั้น ในทางธรรมถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับให้ได้ทำใจให้รู้เท่าทันสังขารทำใจได้มากก็ทุกข์น้อยทำใจได้น้อยก็จะทุกข์ใจมากพิจารณาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงความเสื่อมไปของชีวิตอันที่จริงถ้าใครรู้จักสังขารรู้เท่าทันสังขารรู้ความจริงของสังขารรู้ความจริงของธรรมชาติช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่ดีเหมาะสมเป็นประโยชน์มีคุณค่าอย่างมหาศาล เรื่องนี้ต้องพิจารณาพอสมควรมองให้เห็นความเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ไม่จีรังยั่งยืนทางพระท่านก็สอนว่าให้พิจารณาบ่อย ๆ เรื่องความไม่เทียงแท้ของสังขารเพื่อจะได้มีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการเรื่องความตายได้อย่างเหมาะควร พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายท่านมีความพร้อมทุกเมื่อเป็นบุคลที่ไม่ประมาทตามคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านจึงสามารถบริหารจัดการเรื่องความตายได้เป็นอย่างดีคืออยู่ก็ได้ตายก็พร้อมถ้ามรณะกาลมาถึง

         มีเหตุการณ์ใกล้ตัวในวันนี้ทำให้ได้ขบคิดทบทวนตนเองเป็นคติข้อคิดสอนใจในการดำเนินชีวิตคิดว่าโยมอาจารย์คงไม่ถือสาที่พูดเรื่องมรณะภัยถ้าคิดพิจารณาให้ได้ปัญญาก็จะเป็นประโยชน์และเกิดความสุข.

                        ขอเจริญพร

              พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

ผมก็ต้องขออนุโมทนาและกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าด้วยเช่นกันครับ ผมพอจะเห็นเจตนารมณ์ของพระคุณเจ้าบ้างแล้ว อีกทั้งเห็นความแยบคาย ทั้งเรื่องและวิธีการที่พระคุณเจ้าดำเนินการสนทนา วิธีการอย่างนี้ มิใช่สนทนากันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เฉยๆครับ แต่เป็นวิธีสนทนาเพื่อสร้างทรรศนะและค้นหาความเข้าใจให้รอบด้านแก่ตนเอง แล้วจึงเกิดความรู้ตามมาเป็นผลพลอยได้ 

การได้รู้ว่าผู้อื่นในสังคมเขาคิดและมีทรรศนะในเรื่องต่างๆว่าอย่างไรนั้น ในทางวิทยาศาสตร์สังคมและมนุษยศาสตร์ถือว่าเป็นความรู้และความเข้าใจอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ยิ่งหลากหลายและทำให้มีพัฒนาการไปด้วยมากเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เราสามารถเห็นการดำเนินไปของสภาพแวดล้อม เห็นกาละเทศะของตน อยู่ร่วมกับผู้อื่นและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆแก่สังคมได้อย่างเหมาะสม

การให้และการเรียนรู้เพื่อยกระดับการพัฒนาตนเองจากการให้นั้น เป็นโอกาสให้การเรียนรู้ทางสังคมและการให้การศึกษาอบรมแก่พลเมืองของสังคมไทยมากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยทั่วไปนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ ถูกพลังสังคมแบบราชการหล่อหลอมให้เกิดความสำนึกว่าตนเองเป็นไพร่และราษฏรที่ต้องเป็นผู้รอรับสิ่งต่างๆจากจ้าวนาย อีกทั้งไม่ตระหนักถึงหน้าที่ต่อส่วนรวม ทำให้พลเมืองอ่อนแอ เป็นผู้ที่รอคอยเอาเข้าตัวอย่างเดียวและปล่อยให้สังคมส่วนรวมเป็นไปตามยถากรรม 

ต่อมาก็ถูกสังคมตลาดกล่อมเกลาให้เป็นผู้บริโภค อยากได้สิ่งดีและสังคมดี ก็รู้จักแต่เพียงการดิ้นรนหาเงินไปซื้อเอา กลายเป็นสังคมเอาแต่บริโภค บ้าแข่งขันช่วงชิง ทุนนิยม และวัตถุนิยม ขาดความพอดีระหว่างความเป็นวัตถุกับจิตใจ และการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ อยู่ร่วมกันอย่างเอื้อาทรและแบ่งปันกัน

การให้ทานและการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนต่างๆได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่มีสำนึกของการเป็นผู้ให้ จากกิจกรรมการให้ทานและการทำบุญ จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูป แม้จะเป็นการทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็สามารถกระทบต่อการปรับวิธีคิดอย่างลึกซึ้งถอนรากถอนโคนเลยทีเดียวครับ แต่ต้องใช้โอกาสอย่างนี้เป็นและต้องพัฒนาคนที่เห็นความสำคัญให้เป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ทำเรื่องย่างนี้ได้อย่างแยบคาย กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมของสังคม

  การให้ที่กลับบ่อนทำลายและการได้รับที่กลับสูญเสีย...  

การให้และวิธีการให้นั้น นอกจากมีความสำคัญในแง่ที่เป็นโอกาสทำให้เป็นเวทีเรียนรู้พัฒนาพลเมืองและสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีอยู่ตลอดเวลาให้กับชาวบ้านแล้ว ในอีกแง่หนึ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกันก็คือการไม่ทำให้สิ่งที่เป็นทานและการให้ ต้องกลายเป็นการบั่นทอนชาวบ้านและชุมชนเสียเองอย่างไม่รู้ตัว แต่เรื่องอย่างนี้เราต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญา กอปรด้วยการมีความสำนึกและการตระหนักรู้ครับ  หากขาดการเจริญสติและขาดการใช้ตัวปัญญามาเข้าใจก็จะไม่เห็น อีกทั้งกลับคิดว่าเป็นการทำดีเพียงพอแล้ว

การให้และการทำทานโดยมากนั้น ผู้ให้มักเกิดตัวตนของการเป็นผู้เหนือกว่า เกิดความเป็นตัวกูของกูว่าเมื่อตนเองจะต้องให้สิ่งต่างๆแก่ผู้อื่นแล้ว ตนเองอยู่ในฐานะให้สิ่งดีสงเคราะห์แก่ผู้อื่น ลักษณะการให้อย่างนี้ ผู้ให้จะยิ่งเกิดตัวตน อหังการ์ ลำพองตน เป็นจ้าวใหญ่นายโต 

ในส่วนของผู้รับก็รู้สึกอยากได้เปล่าในสิ่งที่มีผู้อื่นนำมาให้ จึงต้องทำตนเพื่อจูงใจและโน้มน้าวให้ผู้อื่นอยากให้สิ่งที่ตนเองต้องการได้มากๆ กลายเป็นผู้ละโมภทางวัตถุ ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์และคุณค่าของอุปโภคและบริโภคปัจจัยให้ลึกซึ้งดังที่ควรจะเป็น กลายเป็นชาวบ้านและชุมชนที่สูญเสียภาวะผู้นำ อ่อนแอต่อการพึ่งตนเอง เป็นผู้รับที่ขาดการใช้สติและปัญญา

จึงกลายเป็นการให้ที่ทำลายและการได้ที่สูญเสีย ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ

  การให้และการสูญเสียที่กลับเป็นการได้  .

เมื่อสองสามเดือนก่อน พ่อของเพื่อนร่วมงานผมป่วยเป็นมะเร็ง เป็นการป่วยหนักครั้งเดียวในชีวิตแล้วก็ถึงแก่กรรมโดยเข้าโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ได้กลับไปบ้านอีกเลย ครอบครัวของเพื่อนร่วมงานนี้เป็นคนต่างจังหวัด เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ทำงานรับจ้าง แต่เป็นผู้มีสัมมาปฏิบัติ ดูแลลูกๆให้ได้ศึกษาอย่างสูงและทำการทำงานดีทุกคน ผมรักใคร่นับถือและทั้งสองท่านก็นับความคุ้นเคยกับผมเสมือนเป็นญาติ ตอนที่ท่านป่วยเลยมีโอกาสเยี่ยมเยือนและเอาใจใส่ดูแลกัน

ทว่า ความรุนแรงของโรคมะเร็งนั้นดำเนินไปเร็วมาก หลังจากแกเข้าโรงพยาบาลไม่กี่วันก็ถึงขั้นโคม่า แต่ก็คิดว่าจะอยู่ดูแลกันได้สักระยะหนึ่ง ทว่า วันหนึ่งแกก็อยากออกจากโรงพยาบาลและกลับบ้าน ผมได้ทราบก็นึกสังหรณ์ใจอย่างไรชอบกล จู่ๆเลยตัดสินใจไปเยี่ยมทั้งที่ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมในอีกสองสามวันถัดไป

ปรากฏว่าพอผมไปถึงโรงพยาบาล หมอและญาติๆก็ตัดสินใจระงับการเดินทางกลับบ้านเสียแล้ว และพยาบาลที่เฝ้าใข้ก็บอกผมว่าท่านอาจจะทนไม่ไหวแล้ว ตอนนั้น ชีพจรและสัญญาณชีพทั้งหลายตกหมดแล้ว ภรรยาและลูกหลานทุกคนก็ทำใจ

ผมไปถึง เมื่อเห็นอาการแล้วก็บอกให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบ หากสัมผัสก็ขอให้สัมผัสเบาๆและให้สัมผัสที่เท้าเพื่อไม่ให้จิตดวงสุดท้ายต้องกวัดแกว่งและเสียกำลังในการนำตนเองให้ผ่านพ้นสิ่งที่แกกำลังต้องเผชิญอยู่แต่โดยลำพัง

จากนั้น ก็ให้ลูกๆเอาเครื่องเล่น MP3 มาเปิดเสียงพระสวดทำวัตรโดยวางลำโพงขนาดเล็กไว้ข้างหูทั้งสองข้างเพราะบ้านที่บ้านนอกนั้น บ้านแกอยู่ข้างวัด สติและสำนึกสุดท้ายยังอยากได้กลับบ้านอยู่  อีกทั้งแกก็มีประสบการณ์ที่ดีในชีวิตที่ได้บวชลูกชายหลายคน ประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำฝังแน่นอย่างนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเป็นเพื่อนทุกข์ให้แก่แกได้

ผู้คนและทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่เป็นเรื่องภายนอก ไม่มีความหมายอย่างใดทั้งสิ้น นอกจากก็ต้องสามารถแปรวิกฤติและการสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ ให้เป็นการสร้างสติปัญญาและได้ความถ่องแท้ในชีวิตมากขึ้นแก่ตน

ไม่น่าเชื่อว่า สักพักหนึ่ง สัญญาณชีพของแกก็กระเตื้องขึ้นสูง อีกทั้งไม่กระชากกวัดแกว่ง ผมใช้สองมือสัมผัสสองเท้าแกเบาๆ ทุกอย่างก็เริ่มแผ่วและลดลง กระทั่งสิ้นลมหายใจและคลื่นต่างๆก็ราบเรียบ ทางโรงพยาบาลขอให้รอในสภาพนั้นอีกสองชั่วโมงก่อนที่จะปลดเครื่องช่วยพยุงชีวิตทุกอย่างออก

ภรรยาแกร้องไห้และบอกว่า “….ไม่ใช่เพราะเสียใจ แต่สงสารเหลือเกิน....  แล้วแกก็บอกว่า “…..ชีวิตยามทรุดโทรมร่วงโรยกระทั่งต้องพรากจากกันไปนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียใจ เพราะมันก็เหมือนกับต้นไม้ที่กิ่งไหนหมดอายุของมัน มันก็จะค่อยๆแห้งและร่วงโรยไป  แต่ที่ร้องไห้นั้นเพราะสงสาร…..”  นี่เป็นคำพูดของหญิงชราบ้านนอก อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้แล้ว นะครับ ทว่าแกเคยทำบุญทำทาน แล้วก็คงได้อบรมกล่อมเกลาตนเองผ่านประสบการณ์ชีวิต

คนที่หยั่งความเป็นจริงของชีวิต จัดวางท่าทีต่อความพลัดพรากและความสูญเสียคู่ชีวิตที่ทุกข์ยากมาด้วยกันด้วยสติ  อีกทั้งในสถานการณ์ที่กำลังพลัดพรากสูญเสีย  ก็กลับเรียนรู้การละวางความเป็นของกูกับตัวกูให้ออกจากทุกข์  ทำความสูญเสียให้กลายเป็นการได้ความลึกซึ้งแก่ตน  ซึ่งการสะท้อนบทสรุปและอุปมาอุปมัยออกมาอย่างนี้ได้นั้น ปัญญาญาณและภาวะการเข้าถึงธรรมจะขนาดไหนครับเนี่ย 

ภาษาธรรมและการแจกแจงในระดับที่เห็นความเป็นสิ่งเดียวกันและความเป็นธรรมดาของชีวิตอย่างนี้มีอยู่ในหลักพุทธธรรมและเป็นธรรมะในขั้นสูงมาก คนสมัยใหม่และความรู้แบบสมัยใหม่ก็ยังเข้าถึงได้ไม่ลึกซึ้งขนาดนี้เลย ดังนั้น การให้ทานและกิจกรรมการให้ หากมีองค์ประกอบทางปัญญา วิธิการที่เป็นกุศโลบาย และการเรียนรู้ที่แยบคาย ก็จะกลายเป็นโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้ทั้งต่อเนื่องและลึกซึ้ง

จากตัวอย่างเล็กๆน้อยๆนี้ จะเห็นว่า ปัญญาญาณที่ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้มาจากการดำเนินชีวิต เพื่อเข้าถึงการคลายอัตตาและความเป็นตัวกู-ของกูอย่างลึกซึ้งได้นั้น สร้างพลเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นสิ่งที่เรียนรู้ทางสังคมได้จริงๆ  อีกทั้งมีเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่มากมายในสังคมไทยครับ

ดังนั้น การทำให้ทานและวิธีการให้ เป็นโอกาสการเรียนรู้ของชาวบ้านไปด้วย จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านและชุมชนต่างๆมีพื้นฐานอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว อีกทั้งมิใช่จำเพาะผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาเท่านั้น ในทุกศาสนา ซึ่งต่างก็มีเรื่องการให้ทานและการพัฒนาตนให้ขึ้นสูงทั้งนั้น  เชื่อว่าเป็นโอกาสสร้างความเป็นส่วนรวมแห่งการแบ่งปันและพัฒนาการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ได้อย่างมากมายครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท