๔๓. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๑) : โรงหนัง โรงไฟฟ้า ถ่ายรูป วงเวียน ไอติม


           แต่เดิมอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  ในยุคที่ยังไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอกมากนัก ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นไม่มาก ตัวเมืองของอำเภอเหมือนชนบททั่วไป 

          แต่หลังจากมีการตัดถนนที่เป็นการคมนาคมเชื่อมต่อทั้งในระดับท้องถิ่นกับชุมชนรอบข้าง และในระดับภูมิภาคต่างๆของประเทศ เช่น ทางหลวงสายเหนือจากกรุงเทพ แยกตากฟ้า ผ่านหนองบัวขึ้นสู่ภาคเหนือ

           ทางหลวงจากนครสวรรค์ ชุมแสง ผ่านหนองบัวไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตรงแยกหนองบัว-จังหวัดชัยภูมิ

          การคมนาคมที่ดีขึ้นมากเหล่านี้ ทำให้หนองบัว  เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          หลายอย่างนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของชุมชนแล้ว  เมื่อนำมาเล่าขาน  ท้าวความเป็นมา ก็จะเป็นเรื่องราวที่ให้ความผูกพันแก่ผู้คน สานสำนึกและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกันของคนรุ่นต่อรุ่น เลยขอบันทึกไว้เพื่อจุดประกายนำไปสู่การถักทอเรื่องราวช่วยกันของคนในท้องถิ่น   ในบางเรื่องที่พอจะดึงออกมาจากความทรงจำได้

         โรงไฟฟ้าเกาะลอย โรงไฟฟ้าเมื่อแรกมีไฟฟ้าของหนองบัว  คนรุ่นหลังและคนทั่วไปอาจจะนึกภาพชุมชนหนองบัวเมื่อก่อนทศวรรษ 2510-2520 ไม่ออก ณ เวลานั้น ชุมชนส่วนใหญ่ของหนองบัวใช้ไต้และตะเกียงน้ำมันก๊าด ศูนย์กลางความเป็นชุมชนคือวัดหลวงพ่ออ๋อยและตลาดสดหนองบัว 

          สองข้างทาง นับแต่โรงสีข้าว จนถึงบริเวณศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์และท่ารถเมล์  ซึ่งเป็นบริเวณมีความเป็นเมืองมากที่สุดในเวลานี้นั้น  ตอนนั้น เป็นบ้านชาวบ้านและเรียงรายไปด้วยคอกวัวควาย  มีคลองขนาบสองข้าง ซึ่งหน้าน้ำหลาก จะมีเรือยาววิ่งไปได้ถึงอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งไกลออกไปอีก 30 กิโลเมตร

          เมื่อค่ำมืด  หนองบัวก็จะกลายเป็นเมืองที่วังเวง โดดเดี่ยวอยู่ในความมืด  มียามคอยถีบจักรยานและตีแผ่นเหล็กคอยบอกเวลา

          ณ เวลานั้น หนองบัว ก็เริ่มมีมีโรงปั่นไฟฟ้าอยู่ที่ข้างเกาะลอย  มีนายช่างคอยดูแลซึ่งก็เป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพนับถือของผู้คนในหนองบัวมาก

          ในยุคนั้น โรงไฟฟ้า จะปั่นไฟเป็นเวลา  พอตกดึกสามสี่ทุ่มก็ปิด ละแวกที่ได้ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าเมื่อแรกมีของหนองบัว กินอาณาบริเวณไปไม่กว้างเท่าใดนัก เช่น  เลยไปแถวบ้านช่องอีกฟากหนึ่งของเกาะลอย ชาวบ้านก็ใช้ตะเกียงแทนไฟฟ้าแล้ว 

         การใช้ไฟฟ้าจึงเป็นความทันสมัยและบ่งบอกความแตกต่างของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่กับชุมชนที่อยู่ในตัวอำเภอ  ชาวบ้านจึงมีการเปรียบเปรยว่า 'คนรวยและเจ๊ก อยู่ตึกและใช้ไฟนีออน ไทยกับลาวใช้ตะเกียงและบ้านมุงแฝก'

          โรงหนังเมื่อแรกมีของหนองบัว  ยุคหนึ่ง หนองบัวเคยมีโรงหนังถึงสองโรง และกำลังจะมีโรงที่สามที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์  แต่ก็เพียงผุดขึ้นมาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้พัฒนาต่อ

           โรงหนังโรงแรกดั้งเดิมที่สุด ตั้งอยู่ตรงบริเวณโรงสีข้าวตรงหัวตลาด ซึ่งติดกับบริเวณที่ในปัจจุบันกำลังจะเป็น 7 ELEVEN * แห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของหนองบัวในปัจจุบัน เป็นโรงหนังขึ้นโครงด้วยเสาไม้ไม่กี่ต้นแล้วก็ปะโดยรอบด้วยสังกะสี 

          ใช้ท่อนไม้พาดบนตอม่อเป็นที่นั่งดูหนังเป็นแถวๆ  พื้นเป็นดิน มักฉายแต่หนังแขก ระหว่างฉาย จะมีคนเดินขายถั่ว อ้อยควั่น ตะโกนกันขโมงโฉงเฉง  คนดูหนังสูบยาฉุนควันคลุ้ง ความจุสัก 100-200 คน

            ต่อมา ก็มีโรงหนังแห่งใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โรงหนังแห่งที่สองนี้สร้างขึ้นที่เยื้องๆ หน้าอำเภอหนองบัว อยู่คนละฟากถนน ของศาลาประชาคมและที่ว่าการอำเภอหนองบัว สภาพดีกว่าและทันสมัยกว่าโรงหนังแห่งแรกทุกอย่าง แต่ว่าในยุคนั้นต้องถือว่าหลุดออกไปเกือบนอกตัวเมืองของอำเภอ โรงหนังโรงใหม่นี้มักฉายหนังไทย หนังจีน และหนังฝรั่ง หลายครั้งมีหนังโป๊แทรก โดยทำให้ดูเหมือนกับใส่ฟิล์มผิด ซึ่งก็จะมีอยู่เป็นประจำ เป็นการแข่งขันเรียกลูกค้าอย่างหนึ่งเหมือนกัน

            อำเภอเล็กๆแค่นั้น เวลาจะฉายหนังก็ต้องช่วงชิงคนดูโดยใช้รถตระเวนโฆษณา รอบแล้วรอบเล่า  และเวลาจะฉายก็สร้างบรรยากาศเร้าให้คนตื่นตัวที่จะไปดูอยู่นั่นแล้ว  แต่ก็ไม่ฉายสักที 

           บางทีก็เปิดเพลงมาร์ชหมดเกลี้ยงทั้ง 4 เหล่าทัพ  เพราะโดยปรกติ  เวลาได้ยินเพลงมาร์ช  ก็จะเป็นที่รู้กันของผู้คนว่าหนังกำลังจะฉาย เร้าให้รีบออกไปดูหนังและจ้ำเท้าก้าวเดิน แต่คนก็ยังน้อยอยู่ดี  เลยก็ต้องเปิดมาร์ชทั้งสี่เหล่า วนแล้ววนอีก  พอฉายจบและปิดโรงหนัง  จึงจะเปิดเพลงสรรเสริญบารมี ไม่เหมือนกับปัจจุบันของทั่วไปที่จะเปิดก่อนเริ่มต้นฉาย

             หนองบัวเกือบมีย่านศูนย์การค้าและโรงมหรสพเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์  ตอนก่อสร้างมีโรงมหรสพขนาดใหญ่  โครงไม้หลังคาสังกะสี  ใช้จัดฉายหนังล้อมผ้า  เวทีมวย และจัดแสดงดนตรี

            คุณครูทิม บุญประสม คุณครูโรงเรียนหนองบัว เคยนำวงดนตรี Yellow Brown หรือ วงน้ำตาลเหลือง ของโรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัวไปเล่นปิดวิกที่นั่น ประกบกับวงดนตรีของคณะล้อต๊อก วงดนตรีลูกทุ่งและคณะตลกที่โด่งดังที่สุดของเมืองไทยในยุคนั้นเลยทีเดียว นึกถึงแล้วก็ทั้งขำและประทับใจ เพราะหะแรกเขาก็ให้เล่นก่อนวงของคณะล้อต๊อก แต่ไปๆมาๆก็บอกว่า คณะล้อต๊อกยังมาไม่ถึงและยังไม่พร้อมเล่น  ให้พวกเราเล่นคั่นไปก่อน 

            ด้วยความเป็นแม่เหล็กของล้อต๊อกในยุคนั้นคนก็ยังรอสิครับ เข้ามาแน่นโรงไปหมด แต่ดึกๆ ไปอีกก็ยังไม่มา มีแต่หางเครื่องและคนในวงของล้อต๊อกมา คราวนี้เลยบอกให้วง Yellow Brown เล่นรอล้อต๊อก สลับกับมีคนที่บอกว่ามาจากวงดนตรีลูกทุ่งของล้อต๊อก ออกมาพูดกับคนดูเป็นระยะๆ แรกๆก็พอเอาอยู่ครับ  แต่พอหลายๆเพลงเข้าก็ชักเริ่มเกิดการมีส่วนร่วมจากคนดูขึ้นไปยังเวทีที่พวกผมเล่นดนตรีอยู่ครับ

            ช่วงหนึ่ง ขณะที่เล่นและร้องเพลงกันอยู่  ผู้ชมซึ่งเกิดอาการไม่พอใจที่ล้อต๊อกไม่มาสักทีก็เริ่มอาละวาดล่ะซีครับ มีอิฐลอยมาหล่นบนเวทีสอง-สามก้อน จากนั้น  ก็เกิดการป่วนโกลาหล กระทั่งโรงแตกและต้องเลิกเล่น กลายเป็นรับเคราะห์ทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยที่คนดูก็คงไม่รู้พอที่จะแยกแยะได้ว่าพวกเราไม่ใช่วงลูกทุ่งของล้อต๊อก แต่เป็นวงดนตรีน้ำตาลเหลือง วงดนตรีนักเรียนของโรงเรียนประจำอำเภอหนองบัว ซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขาเอง

            โรงหนังแห่งใหม่หน้าอำเภอ ต่อมาก็ถูกไฟไหม้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วก็ไม่สร้างขึ้นใหม่อีกเลย และทั้งหมดก็ล่มสลายไป  คนเดี๋ยวนี้อาจจะไม่รู้ว่า อำเภอหนองบัวเคยมีโรงหนังถึงสามโรงด้วยกัน

            ร้านถ่ายรูปสุริยา  ก่อนหน้านั้น  หนองบัวมีแต่ช่างถ่ายรูป  ตระเวนไปถ่ายตามงานต่างๆ และเป็นยุคที่ยังใช้แฟลชหลอด หรือที่ช่างถ่ายรูปเราเรียกว่า Flash-Bulb เวลาถ่ายจะมีแสงจ้าเหมือนฟ้าแลบ  ชาวบ้านเวลาเข้าแถวถ่ายรูป พอเจอแสงแฟลชก็จะตกใจเพราะคุ้นเคยแต่แสงฟ้าแลบ-ฟ้าผ่า  ไม่เคยเห็นอะไรที่จะแปลบปลาบและวาบอย่างฉับพลันขนาดนั้น จึงหากไม่วงแตก  วิ่งกระเจิง  ก็จะกรีดร้องและหลบวูบวาบ 

           ต่อมา ก็มีร้านถ่ายรูปเกิดขึ้น คือร้านถ่ายรูปสุริยา ที่ศูนย์การค้าและท่ารถเมล์ธารบัวสวรรค์ นับว่าเป็นร้านถ่ายภาพเมื่อแรกมีของหนองบัว ผู้ที่เรียนจบและทำใบสุทธิระดับต่างๆ รวมทั้งนาค ผู้บวชพระ คนกำลังแตกหนุ่มแตกสาว ส่วนใหญ่ก็จะไปถ่ายรูปกันที่ร้านถ่ายรูปสุริยานี้  การมีรูปถ่ายทั้งสำหรับติดบ้าน ติดกระเป๋า และใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนกัน นับว่าเป็นความโก้และมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีโอกาสได้ถ่ายรูป

            นายช่างสุริยาเป็นคนมีอัธยาศัยเหมือนกับคนในชนบททั่วไปที่กลมกลืนและทำอยู่ทำกินเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน  แกรับถ่ายรูปทั้งที่ร้านตนเองและตามไปถ่ายตามงานบ้าน งานหนาแน่นจนเล็บมือแกเป็นสีน้ำตาลเข้มเพราะงานเยอะและต้องสัมผัสกับน้ำยาถ่ายรูปอย่างไม่มีเวลาวางมือ

            วงเวียนหอนาฬิกาสี่แยกหนองบัว หนองบัวเมื่อยุคทศวรรษ 2510  มีหอนาฬิกาเป็นเหมือนวงเวียนจราจรไปในตัวอยู่ที่หัวตลาด ซึ่งเป็นศูนย์พบปะ และเป็นท่ารถแห่งแรกๆ ของหนองบัว ในยุคก่อนที่จะมีรถเมล์เขียวและรถเมล์แดง  หอนาฬิกาดังกล่าว  บนยอดสุดติดลำไพงเครื่องกระจายเสียง 4 ตัว หันไปรอบทิศ  นับว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารและบริหารจัดการความเป็นส่วนรวมในยุคแรกมี 

           ด้านข้างในระยะแรกๆของวงเวียนหอนาฬิกา ก็มีต้นมะขามและแคร่ไม้สำหรับเป็นแหล่งพบปะของผู้คนท้องถิ่น รวมทั้งมีปั๊มน้ำมันสามทหาร กลางวันคนก็จะนั่งคุยและเล่นหมากรุก-หมากฮอร์ส กินโอยั๊วะรอรถ พอตกเย็นก็ผสมด้วยวงเหล้าขาว เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับสร้างวงสังคม ถักทอผู้คนในหนองบัวและชุมชนโดยรอบ ให้ได้รู้จักคุ้นเคยกันทั้งอำเภอ รู้จักและนับญาติกันไปจนถึงพ่อแม่และโคตรเหง้าเหล่ากอเลยทีเดียว

           มีข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งมีงานหรือจะไหว้วานสิ่งใดกันก็เพียงบอกกล่าวถึงกัน ไม่ต้องมีการ์ด ก็รู้กันทั่วทั้งอำเภอ

                        

                        ภาพแยกตลาดหนองบัวเดิม  วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

ภาพแยกตลาดหนองบัวเดิม ตรงทางแยก มีวงเวียนหอนาฬิกาและหอนาฬิกานั้นก็ติดตั้งลำโพงเพื่อกระจายเสียงตามสาย ข้างหอนาฬิกามีป้อมตำรวจ ด้านซ้ายถัดจากป้อมตำรวจเป็นปั๊มน้ำมันสามทหาร มีต้นมะขาม ต้นมะขามเทศ และท่ารถไปเหมืองแร่ เขามะเกลือ ปากดง รถบรรทุกแร่และรถบรรทุกไม้ จากเหมืองแร่และปากดงไปยังชุมแสงและปากน้ำโพ จะผ่านที่แยกนี้ ถนนเป็นถนนลูกรังและดินเหนียว ฝุ่นหนาเป็นปึก

ระหว่างป้อมตำรวจกับปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นแยกที่เข้าไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาส เป็นทั้งทางรถ ทางเกวียน ทางวัวและควาย เวลาแห่นาคจากด้านชุมชนวัดเทพสุทธาวาสมาวนตลาดหนองบัว หรืออาจจะมาวัดหนองกลับ ก็มักจะออกมาทางถนนแคบๆนี้

ด้านขวาของป้อมตำรวจ มีกลุ่มอาคารพาณิชย์ เป็นอาคารไม้สองชั้น ๒ ฟากถนน ห้องแรกตรงคูหาริมขวานั้น เดิมเคยเป็นโรงพยาบาลคริสเตียน ซึ่งต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งอีกที่หนึ่งนอกตัวเมืองกระทั่งพัฒนาเป็นโรงพยาบาลหนองบัวดังปัจจุบัน

ห้องติดกับที่เป็นโรงพยาบาลคริสเตียนเดิม มักเห็นเป็นที่นั่งซ้อมวงดนตรีของชาวไทยจีนสำหรับแห่ล่อโก๊ะและเล่นงานงิ้ว ทางแยกที่เข้าไปแยกนี้ จะทะลุไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาสเช่นกัน เวลาแห่ขบวนเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว จะเข้าไปที่แยกนี้

ข้างอาคารหัวตลาดด้านขวามือของภาพ มักเป็นที่จัดกิจกรรมขายของของพ่อค้าเร่ เช่น เล่นกล และรถขายยา ร้านหัวตลาดที่เห็นในภาพเป็นร้านอาหารตามสั่ง ในปี ๒๕๑๑ นั้น ร้านตรงหัวตลาดนี้มีโทรทัศน์ขาวดำแล้ว

ครั้งที่มีการถ่ายทอดยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดบนดวงจันทร์นั้น คนทั้งอำเภอแห่กันมานั่งดูโทรทัศน์กันที่่ร้านนี้ แม้แต่โรงเรียนก็หยุดการเรียนการสอนชั่วครู่เพื่อให้เด็กๆและคุณครูมาดูการถ่ายทอดโทรทัศน์ยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดดวงจันทร์

            โรงน้ำแข็งและโรงทำไอติมเมื่อแรกมี  หนองบัวมีโรงทำน้ำแข็งและทำไอติม อยู่ติดกับสระน้ำวัดหลวงพ่ออ๋อยด้านถนนที่ออกไปยังเกาะลอย  เป็นโรงทำน้ำแข็งและทำไอติม  ทั้งไอติมหลอด ไอติมไข่ และไอติมกะทิ 

                      

                    ภาพคนหาบถังไอติมขายเข้าไปในหมู่บ้านไกลออกไปจากหนองบัวนับสิบกิโลเมตร ไอติมในถังเป็นไอติมหวานเย็น มีการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆซื้อโดยหากกัดกินแล้วไม้ไอติมมีสีแดงก็จะได้ไอติมฟรีอีกหนึ่งแท่ง 
                    ภาพประกอบ
วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

             เด็กๆ จะชอบไอติมหลอด  เวลากินแล้วก็จะรีบกัดเพื่อดูว่าไม้ไอติมมีสีแดงหรือไม่  หากมีก็จะไปแลกได้เพิ่มอีก  ชาวบ้านรอบนอก  โดยเฉพาะชาวนา  จะชอบไอติมไข่และไอติมกะทิ  โดยจะนึ่งข้าวเหนียวและทำข้าวเหนียวมูล และซื้อไอติมไปกินกับข้าวเหนียวมูลเป็นกาละมัง  กินกันเป็นกลุ่มๆ เวลาเกี่ยวข้าวและทำนาทำไร่.

 

.............................................

 

*  บันทึกเมื่อธันวาคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 232492เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2008 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (49)
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • โรงหนังแห่งแรกในตลาดสดหนองบัวจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว จำแต่ชื่อแต่ก็ยังไม่มั่นจ่าจะใช่หรือไม่ โรงหนังศรีประทุม นึกจำสภาพได้เลือนรางมากเลย
  • แต่ถ้าโรงหนังไทยประเสริฐแล้วละก็ยังพอจำได้อยู่
  • ชาวบ้านจะเรียกว่าวิกไทยประเสริฐมากกว่าโรงหนังไทยประเสริฐ
  • ไม่น่าเชื่อเลยว่าเพลงมาร์มที่โยมอาจารย์พูดถึงมันจะผุดขึ้นมาในความทรงจำได้ทันทีแปลกมากเลย
  • โฆษกโรงหนังผู้ประกาศก็ประกาศได้เร้าใจดีเหลือเกินเปิดเพลงมาร์ทไปพร้อมกับสลับการพูดเชิญชวนคนทางบ้านให้มาดู บ้านอยู่ไม่ไกลแค่เนินตาโพจึงได้ยินเพลงมาร์ทสบาย ๆ และเมื่อเปิดเพลงมาร์ทแล้วอยู่ที่บ้านยังสามารถเดินจากบ้านมาทันได้ดูพร้อมกับคนที่มาก่อนได้
  • จนเมื่อบวชแล้วอยู่วัดใหญ่(วัดหนองกลับ) ก็ยังได้ยินเพลงมาร์ททุกวัน
  • นับเป็นความทรงจำที่ยังแจ่มชัดแจ๋วเกี่ยวกับเพลงมาร์ท แต่ก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเพลงมาร์ทว่ามีกี่เหล่า และที่จำได้ถึงตอนนี้ก็ยังไมรู้ว่าเป็นเพลงมาร์ทของเหล่าไหนอีกเหมือนกัน
  •  จนกระทั่งต่อมาได้ประสบอัคคีภัยไฟไหม้ทั้งหลัง จึงได้ยุติกิจการไปนับว่าวิกหนังไทยประเสริฐเป็นโรงหนังโรงสุดท้ายในหนองบัว.

                                 ขอเจริญพร

                          พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข (อาสโย)

  • ดูเหมือนชื่อโรงหนังที่พระคุณเจ้าให้มานั้นจะใช่ครับ ผมก็พอจะนึกออก แล้วที่โรงที่สองใช้ชื่อว่า วิกไทยประเสริฐนี่ ก็เป็นจุดขายเลยเหมือนกัน ทำนองว่าทันสมัยและก้าวหน้ากว่า
  • เรื่องเพลงมาร์ชฉายหนังนี่ แทบจะเป็นความทรงจำร่วมเกี่ยวกับบรรยากาศยามมืดค่ำของชาวหนองบัวได้เลย เพราะตกกลางคืนก็แทบจะไม่เสียงอะไรเลย เงียบแบบบ้านนอกจริงๆ 
  • เวลาเขาติดใบปิดฉายหนัง ก็จะบอกเป็นรอบๆ  เดือนหนึ่งก็จะมีหนังฉายไม่กี่ครั้ง ถึงวันที่หนังฉาย ตอนกลางวันก็จะมีรถติดเครื่องเสียงโฆษณา ตกค่ำก็จะเปิดเพลง แล้วก็ตามด้วยเพลงมาร์ช ๔ เหล่า ใครได้ยินก็คงนอนใจเต้นตึ่กตึ่ก อยากไปดูหนัง

ขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าเข้ามาเสริมข้อมูลให้มีรายละเอียดมากขึ้นครับ

พอพูดถึงโรงหนังหน้าอำเภอหนองบัว ผมเองก็ทันเพราะแต่ก่อนมันปิดร้างไว้เมื่อประมาณปีพศ.2529 ผมเองเรียนอยู่ชั้นเตรียม หรือชั้นเด็กเล็ก ในโรงพิธีเก่าของวัดใหญ่ ทางโรงเรียนหนองบัวเทพได้จัดงานขายบัตรฉายหนังเป็นครั้งสุดท้ายให้นักเรียนรู่นนั้นได้เข้าชมในราคา10บาท ฉายหนัง 1 เรื่อง คือ สมเด็จพระนเรศวร มันเก่าจนเป็นลายเส้น

นักเรียนเดินเข้าแถวตั้งแต่โรงเรียนมาที่โรงหนัง แม้ว่าแดดร้อนตอนบ่ายก็ยังตื่นเต้นกันทุกคน ในขณะที่ฉาย ฝนเกิดตกลงมา มีน้ำไหลเข้าโรงหนัง เพราะเป็นพื้นดินลูกรัง เก้าอี้ไม้ เป็นม้านั่งยาว ผิดกับสมัยนี้ที่ติดแอร์ ชาวบ้านมักเรียกชุมชนนั้นว่า คนหน้าวิก และที่เป็นที่รู้จักกันในนามมือกลองยาวคือ ลุงลานหน้าวิกแกเป็นคนที่ตีกลองยาวที่ชาวบ้านชอบมาก แต่ปัจจุบันโรงหนังหน้าอำเภอได้สร้างเป็นโกดังของแจ๊กแล้ว และชาวบ้านก็งเรียกหน้าวิกอยู่ครับ

วัดใหญ่นี่เขาหมายถึงวัดหลวงพ่ออ๋อยหรือครับ ที่วัดหลวงพ่ออ๋อยหรือวัดหลวงพ่อเดิม-วัดหนองกลับ ก็มีศาลาเก่าอยู่หลังหนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าจนถึงปี ๒๕๒๙ นี่จะยังมีอยู่หรือไม่ ศาลาเก่าหลังดังกล่าว อยู่ใกล้รั้วทางเข้าด้านตลาดของโรงเรียนหนองบัวเทพ ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระเณร

ต่อมา  ที่นั่นก็เป็นที่จัดการเรียนการสอน การศึกษาผู้ใหญ่ ให้กับประชาชนชาวหนองบัว

ในรุ่นที่พวกผมอยู่หนองคอกนั้น มีคุณครูรุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มหนึ่ง คือคุณครูสมนึก (ตอนนี้ยังนึกนามสกุลไม่ออก ทั้งๆที่ผมได้ซักผ้าและรีดผ้าให้คุณครูอยู่หลายเดือน รวมทั้งทำไฟไหม้มุ้งนอนลามไปไหม้เสื้อผ้าคุณครูเสียหายไปหลายตัวพร้อมๆกับเสื้อผ้าของคุณครูศุภฤกษ์ ฟูเผ่า และคุณครูสมัคร รอดเขียน) คุณครูณรงค์ ฤทธิ์เต็ม และคุณครูสมัคร รอดเขียน สละเวลาส่วนตัวในเวลากลางคืน เปิดห้องเรียนเสริมให้กับนักเรียนโรงเรียนหนองคอก ในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ทำเหมือนกับเป็นโรงเรียนกวดวิชาอย่างนั้นเลย

ในยุคนั้น อำเภอหนองบัวยังบ้านนอกคอกนามาก มืดค่ำลงมาก็ดูเงียบเชียบ แต่คุณครูกลุ่มหนึ่งกลับพากันขี่มอเตอร์ไซคล์และถีบจักรยานตะรอนๆ ไปสอนเพิ่มเติมให้กับเด็กๆ พอประมาณเกือบสามทุ่ม ซึ่งใกล้เวลาที่เครื่องปั่นไฟฟ้าของอำเภอหนองบัว ตั้งอยู่ที่เกาะลอย จะปิด ก็เลิกแล้วก็ถีบรถกลับบ้านกัน บางคนถีบรถมาจากธารทหาร ซึ่งออกทางด้านใต้หนองบัวไกลออกไป ๖-๗ กิโลเมตรพอๆกับบ้านผมเลยเช่นกัน

แต่ไม่รู้ว่าเป็นที่เดียวกันหรือเปล่า ผมไม่เคยรู้เลยว่าวัดใหญ่อยู่ตรงไหน และเขาเรียกวัดหนองกลับว่าวัดใหญ่กันหรือไม่ เพราะอันที่จริงแล้วผมเป็นเด็กบ้านนอกของบ้านนอกคือหนองบัว อีกทีหนึ่งน่ะครับ 

แต่โรงเรียนที่เป็นเรือนไม้หลังเก่าของโรงเรียนหนองบัวเทพนี่ ทันได้เห็นอยู่ครับ  ข้างๆนั้นมีต้นฉำฉาหรือจามจุรีต้นใหญ่ที่ร่มรื่นและมีลานกว้าง พวกผมชอบไปเล่นที่ลานใต้ฉำฉานั่นครับ

วัดใหญ่ก็คือวัดหนองบัว-หนองกลับถอกต้องแล้วครับเพราะเป็นวัดที่ใหญ่โตในระแวกนั้น ควาวมปลียนแปลงจากเดิมเท่าที่ผมจำความได้คือ แต่ก่อน กุฎิพระจะมีอาคารไม้เรียงยาวติดด้านสระน้ำจะมีคะณะไล่ตามลำดับ ปัจุบันสร้างเป็นโรงเรียนพระปริยะติรรม จะมีหอกลอง หอระฆัง โรงพิธี โรงลิเก ศาลาปก มีต้นฉำฉาตลอดแนวโรงเรียนและวัด ศาลาจะใหญ่แต่ไม่สูงเช่นปัจจุบันส่วนโรงเรียนหนองบัวเทพเป็นอาคารยาวด้านหน้าอาคารไม้ ได้เคยเรียนตอนอยู่ชั้น ป.2 เมื่อเทอมสุดท้ายได้ทำการลือถอน อาคารยาวนั้นเด็กชอบแอบไปเล่นยิงลูกแก้วลงหลุมเพาะไม่มีแดด มีเพือน 1คน ชื่อ มานะ แป้นไพร บ้านอยู่ทางสี่แยกต้นอีซึกจะเอาม้ามาผูกเลี้ยงที่หน้าอาคาร ทั้งที่แค่เด็กป.2จะขี่ม้ามาโรงเรียนทุกวันเมื่อตอน ป.6 ผมและเพื่อนอีก4คนนำทีมโดยคุณครู รุ่งโรจน์ได้ทุบกำแพงหน้าโรงเรียนตลอดแนว เพราะทรุดโทรมมาก ส่วนคุณครูสม นึก อ่อนสด  ศุภฤกษ์ ฟูเผ่า คุณครูณรงค์ ฤทธิ์เต็ม คุณครูขุน โอภาษี  คุณครู วีรชน พูลพันธ์ ได้เรียนกับท่านที่โรงเรียนหนองคอกเป็นผู้ที่ถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ได้ดีมาก แต่ครูตีเจ็บทุกท่านครับ

  • พี่ขุนนี่รุ่นพี่ผมหนึ่งปีครับ ดูเหมือนว่าตอนนี้ก็เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของโรงเรียนหนองคอก
  • ต้นอีซึกนี่ ผมคิดว่าจะเรียกแต่จำเพาะชาวบ้านลาวแถวบ้านผมเสียอีก แถวบ้านผมเรียกผักอีซึก ลวกจิ้มพริกปลาย่างและจิ้มลาบอร่อยอย่าบอกใคร
  • ในอำเภอหนองบัวมีวัดที่มีบทบาทต่อชุมชนและชาวบ้านรู้จักกันดีอยู่หลายวัดเหมือนกันนะครับ เช่น วัดกระดานหน้าแกร เป็นวัดที่มีงานประจำปีที่เมื่อก่อนนี้ใครก็อยากไปเที่ยวและชาวบ้านของชุมชนรอบนอกของหนองบัวนั้น หากไม่ไปบวชที่หลวงพ่ออ๋อย ก็จะไปบวชที่วัดกระดานหน้าแกร 
  • วัดเกาะแก้ว เป็นวัดที่มีงานประจำปีและงานบุญ เช่น งานทอดกฐิน ผ้าป่า ที่ชาวบ้านมักไปร่วมกันอย่างกว้างขวาง  ผมได้ไปเที่ยวงานประจำปีของวัดเกาะแก้วตั้งแต่เด็ก ต้องเดินข้ามทุ่งไปสัก ๔-๕ กิโลเมตรเห็นจะได้ ตอนเดินไปก็คึกคัก เดินไปเป็นกลุ่ม อาบน้ำประแป้งตัวหอมกันทุกคน ได้ยินเสียงกลองลิเกเร้าอยู่ข้างหน้าก็ดินกันอย่างลืมเหนื่อย ต้องเร่งไปให้ถึงก่อนเขาออกแขกและเริ่มเรื่อง
  • แต่พอลิเกเลิก ซึ่งก็ค่อนแจ้งแล้ว อากาศกำลังเย็นและน้ำค้างลง เดินเหยียบหญ้าตรงไหนก็หนาวเย็น แถมง่วงกันจนง่อแแง่ก ก็จะเป็นบรรยากาศการเดินกลับที่น่าเหนื่อยหน่ายที่สุด เลยมักได้คติจากการเที่ยวงานวัดและเดินกลับแบบซังกะตายว่า ตอนเดินไปราวจะเหาะจะเหิน ตอนเดินกลับเหมือนห่าจะกิน บางครั้งถึงกับแวะนอนตามกองฟางที่มักมีอยู่ตามลานข้าวสองข้างทางกันเลย พอแสงทองจับขอบฟ้าก็ค่อยลุกเดินกลับต่อ เพราะต้องไปปล่อยวัวควายออกจากคอก
  • กิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน และวัด รวมทั้งศูนย์รวมการทำกิจกรรมด้วยกันของคนในท้องถิ่นอย่างนี้ มีบทบาทต่อการสร้างความเป็นชุมชนมาก รวมทั้งให้ประสบการณ์ร่วมทางสังคม จึงนับว่าเป็นทุนทาวงสังคมที่สำคัญมาก
  • ในยุคสมัยนี้แล้ว หลายแห่งก็ยังมีบทบาท แต่หากมีโอกาสก็ต้องรีบกลับไปเชื่อมต่อและช่วยกันส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆกับชุมชน  การช่วยกันสานความรู้-ความทรงจำอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดีครับ
  • อนุกูล วิมูลศักดิ์

    ผม อนุกูล วิมูลศักดิ์ เป็นผู้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์เก่าในอำเภอหนองบัว ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ศรีประทุม และโรงภาพยนตร์ไทยประเสริฐ ซึ่งผมติดตามมาตั้งแต่แรก ๆ ที่เห็นรายชื่อโรงภาพยนตร์เก่าในเว็บไซต์ของมูลนิธิหนังไทย จนกระทั่งได้ไปบันทึกภาพ อดีตที่ตั้งโรงภาพยนตร์ศรีประทุม และโรงภาพยนตร์ไทยประเสริฐ รวมทั้งสอบถามข้อมูลดังกล่าว และวันนี้คุณเสวก ใยอินทร์ก็เข้ามาโพสต์ในเว็บบอร์ดดังกล่าวด้วย วันนี้ผมเลยเข้ามาแนะนำตัวครับ เพราะผมเพิ่งจะทราบเมื่อตอนเย็นและฉุกละหุกพอสมควร ขอเวลาอีกสักเล็กน้อยครับ อีกอย่างหนึ่งผมเป็นคนรุ่นหลัง แต่มีความสนใจในภาพยนตร์เป็นงานอดิเรกอยู่ก่อนแล้ว ก็เลยให้ความสนใจเกี่ยวกับความเป็นมาของโรงภาพยนตร์ประจำอำเภอ แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นคนหนองบัวโดยกำเนิดก็ตาม เพราะครอบครัวย้ายมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผมเองก็เคยเข้าไปสำรวจโรงภาพยนตร์ดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2536 หรือ พ.ศ. 2537 ประมาณนี้ครับ

    • สวัสดีครับคุณอนุกูล ยินดีต้อนรับครับ อยู่หนองบัวมาตั้ง ๒๐ ปีแล้วต้องนับว่าเป็นคนหนองบัวไปแล้วละครับ
    • อยากเห็นรูปถ่ายเลยนะครับ ผมนึกภาพไม่ค่อยออกแล้ว และหลายคนพอเห็นแล้วก็คงตื่นเต้นและระลึกชาติได้เลยเชียวนะครับ
    • คุณอนุกูลคงมีความชอบทางสื่อและงานศิลปะเกี่ยวกับสื่อด้วย เลยนำบล๊อกนี้มาฝากนะครับ เป็นทั้งเวทีสร้างทรรศนะทางศิลปะวรรณกรรมและสื่อกับสังคม กับแหล่งข้อมูลเพื่อท่องเข้าไปในโลกทางศิลปะ วรณกรรม และสื่อทั้งในประเทศและนานาชาติ คลิ๊กลงไปไปตามลิ๊งค์นี้เลยครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และคุณอนุกูล

    • พอดีเมื่อวานคุณเสวกส่งเมลมีภาพถ่ายสภาพโรงหนังไทยประเสริฐและบริเวณที่ตั้งวิกศรีประทุมในตลาดสดหนองบัว ก็ตื่นเต้นเมื่อเห็นภาพเก่า ๆ ชุดนี้
    • นึกในใจว่า ผู้เขียนที่ไปถ่ายภาพบันทึกภาพโรงหนังไทยประเสริฐคงเป็นคนร่วมยุคกับอาตมาเสียอีกและคงเป็นคนหนองบัว อยู่หนองบัวมานานและทำเรื่่่องราวประวัติศาสตร์ด้วยก็ขอขอบคุณหลาย ๆ
    • และได้บอกคุณเสวกไปว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ผู้เขียนเกี่ยวกับวิกหนังหนองบัว นำภาพถ่ายและข้อเขียนที่ทำไว้มาลงบล๊อกของอาจารย์วิรัตน์ก็จะยิ่งดี
    • ขออนุโมทนาขอบคุณอย่างมากที่คุณอนุกูลได้ช่วยฟื้นความหลังประวัติความเป็นมาของวิกหนังในหนองบัวทำให้คนหนองบัวหลายคนระลึกชาติ(ปัจจุบัน)ไ้ด้แจ่มชัดขึ้นอีกมากโข เหมือนกับที่โยมอาจารย์วิัรัตน์กล่าวไว้อย่างไรอย่างนั้น

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และคุณเสวก ใยอินทร์

    ผมไม่แน่ใจว่าภาพที่ อ. เสวก ส่งมาถึงพระคุณเจ้า จะเป็นภาพที่ผมถ่าย และได้โพสต์ลงในเว็บไซต์ "เพื่อนคนรักหนัง" หรือ www.thaicine.com หรือเปล่า เพราะเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 13 - 14 ก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง หรืออาจจะเป็นภาพในมุมที่แตกต่างไปจากที่ผมมีอยู่ก็ได้ เพราะผมเองเคยเข้าไปสำรวจโรงหนังไทยประเสริฐเมื่อปี พ.ศ. 2536 แต่ไม่ได้บันทึกภาพไว้เลย ที่มีอยู่ตอนนี้คือภาพถ่ายเก่า ก่อนที่จะมีคนซื้ออาคารดังกล่าวเพื่อปรับปรุงเป็นบ้านส่วนตัว และเป็นโกดังเก็บอุปกรณ์สำหรับเดินสายไฟ ซึ่งผมเองก็ถ่ายภาพเมื่ออาคารได้ปรับปรุงแล้วครับ

    เมื่อคืนวานนี้ผมได้ส่งเมล์ถึง คุณเสวก ไม่ทราบว่าได้รับหรือยัง ส่วนการโพสต์ภาพเพิ่มเติมนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของบล็อกนี้หรือเปล่า จึงจะสามารถโพสต์ภาพเพิ่มได้ หรืออาจจะต้องส่ง CD ไฟล์รูปถ่ายไปแทน

    ส่วนข้อมูลที่ได้มาและผมโพสต์ไว้นั้น ผมยอมรับว่าไม่ปะติดปะต่อ เหมือนเป็นจิ๊กซอว์มากกว่า เพราะผมได้ข้อมูลมาจากคำบอกเล่าของผู้ที่ซื้ออาคารของโรงหนังไทยประเสริฐ และคุณสมควร ปานขลิบ เจ้าของร้านปานขลิบโอสถเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ศรีประทุม ซึ่งยังเก็บเครื่องฉายภาพยนตร์ ระบบฟิล์ม 16 มม. ยี่ห้อ "วิคเตอร์" (Victor) ซึ่งผมก็ไปถ่ายภาพมาแล้ว ล่าสุดนี้ยังหาฟิล์มภาพยนตร์ที่ยังคงเก็บไว้เหลือเพียงเรื่องเดียว แต่ตอนนี้ยังไม่พบครับ ถ้าพบแล้วทางร้านจะให้ผมไปถ่ายภาพอีกที

    ตอนนี้ผมเป็นครูจ้างสอน อยู่ที่ รร. วัดเทพสุทธาวาสครับ ถ้าคุณเสวก ได้เข้ามาอ่านตรงนี้ และต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อได้ที่หมายเลข 084-819-7374 หรืออีเมล์ [email protected] ครับ

    ขอขอบคุณสำหรับลิงค์ประกอบ ผมเข้าไปอ่านแล้วครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) สวัสดีคุณครูอนุกูลและทุกท่านครับ

     

    การพึ่งตนเอง ก้าวข้ามข้อจำกัดที่มี : บูรณาการการเรียนรู้และสะสมความรู้ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการทำงาน และการได้สร้างคน-การได้พัฒนาถิ่นที่อาศัย

    • ผมเคยร่วมกับคุณครู ที่ชุมชนวัดมะเกลือ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทำกิจกรรมวิจัยและสร้างความรู้ท้องถิ่นร่วมกันของชาวบ้านและกลุ่มคนที่ไปในแนวเดียวกันได้ โดยใช้วิธีนำเอาสิ่งของเก่าๆและภาพถ่ายเก่าๆมาจัดกิจกรรมเวทีชุมชน ให้ชื่อเวทีว่า ของเก่าและภาพเก่าเล่าเรื่อง ก็เป็นวิธีที่ทำให้ชาวบ้านและผู้คนมาช่วยกันทำเรื่องเรียนรู้ชุมชนให้มีความหมาย ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น  ได้เครือข่ายชุมชน  ชาวบ้านและชุมชนที่มีส่วนร่วม ก็เกิดการเรียนรู้และมีความเข้มแข็งที่จะพึ่งตนเองในการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ
    • อีกรูปแบบหนึ่ง ก็ทำผ่านการสร้างเครือข่ายเด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีวัฒนธรมกลุ่มในการเรียนรู้และทำวิจัยชุมชน  ออกแบบให้เด็กได้ประสบการณ์เพื่อเกิดจิตวิญญาณความเป็นนักวิจัย ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่รักในวิถีแห่งปัญญา เดินออกไปสัมผัสโลกความเป็นจริงและสามารถสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตนเองได้  
    • วิธีนี้ก็สามารถได้ทั้งการสร้างคน สร้างความเป็นชุมชน และได้คนช่วยกันเก็บรวบรวมสิ่งของเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการศึกษาเรียนรู้ชุมชน ที่กระจัดกระจายอยู่ตามครัวเรือนและแหล่งต่างๆในชุมชบนนะครับ

    ยกะดับเป็นชุมชนเรียนรู้และร่วมสร้างความรู้จากการดำเนินชีวิต

    • สมัครเป็นสมาชิกเขาแล้วก็จะเขียนและใส่รูป-ตบแต่งบล๊อกตนเองได้ดีกว่าเดิมครับ คุณอนุกูลและทุกท่านสามารถสมัครและมีเวทีที่ตรงกับความสนใจของตนเองในบล๊อกนี้ได้ครับ ลองศึกษาดูและลองถามไถ่หาข้อมูลดูนะครับ ผมก็คลำๆเข้ามาเองครับ ลืมเสียแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ไม่ยากหรอกครับ แต่บล๊อกและเครือข่ายคนเขียนบล๊อกในนี้ กลุ่มหลักๆออกจะเป็นคนในวงการการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในสาขาต่างๆ ทั้งในและนอกภาคที่เป็นทางการ  แวดวงอื่นๆก็มี แล้วก็มีอย่างไม่จำกัดครับ เวทีแบบคนทั่วไปตามบล๊อกต่างๆก็มีเยอะมากครับ
    • แต่เขียนและคุยผ่านในเวทีนี้ไปพลางๆก่อนผมก็ยินดีไปด้วยทุกประการครับ จะได้มีเวลาศึกษาและหาข้อมูลลองทำเอง รวมทั้งผู้คนโดยมากก็จะไม่ค่อยไว้ใจ ทั้งไม่ไว้ใจเจ้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตนี้  ตลอดจนไม่ไว้ใจเรื่องราวในนี้และชุมชนเสมือนในนี้

    การบ่มจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้และสร้างวิถีวัฒนธรรม ก่อนเข้าสู่ความทันสมัยทางรูปแบบ

    • ผมสังเกตว่าผู้คนไม่กล้าแสดงตัวตนและไม่เปิดเผยรายละเอียดความเป็นส่วนตัว หากจะมีก็มีไม่มากนัก ซึ่งบ่งบอกถึงความไม่ไว้ใจต่อสิ่งที่ตนเองไม่รู้ว่าอยู่ท่ามกลางโลกรอบข้างอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ
    • สังคมโดยทั่วไปมักอยากมีความทันสมัยและอยากอยู่กับเทคโนโลยีที่ให้ความสะดวก ก้าวหน้า แต่เรากลับสร้างสังคมในชุมชนเสมือนนี้ขึ้น ด้วยการซ่อนขีนาวุธของตัวเองและด้วยความไม่ไว้วางใจ สำนึกความหวาดระแวง ป้องกันตน และทำสงครามก่อนโดยพุ่งเป้าออกไปหาผู้อื่นอย่างนี้ เป็นกระแสหลักของสังคมทั่วโลกเลย เราจึงคิดตั้งคำถามและลองหาหนทางเข้าใจเพื่อลองเดินด้วยตนเองในแนวทางใหม่ๆได้อีกเยอะครับ
    • อย่างของผมนี้ อันที่จริงก็มีรายละเอียดของตนเองมากไปจนดูเว่อร์ แต่ก็เป็นการจงใจเขียนไปเรื่อยเปื่อยเหมือนการร่ายรำให้คนดูและคิดเอาเองบนเวทีการแสดง  
    • ผมก็กลัวเหมือนกันครับ กลัวและไม่ไว้ใจหลายอย่างต่อโลกรอบข้าง แต่หากพิจารณาดูแล้ว หากคนคิดไม่ดีต่อเราและใช้ข้อมูลเราเองกลับมาทำร้ายเรา เขาก็จะสามารถทำได้ไม่ใช่เพียงแค่จากบล๊อกและอินเตอร์เน็ตนี้ช่องทางเดียวหรอกครับ มีอีกหลายวิธี ที่น่ากลัวและแยบยลกว่าในนี้หลายเท่า เลยก็ไม่ต้องระแวงและไม่กลัวละครับ สร้างสังคมที่ดีด้วยมือเราทีละเล็กละน้อยอย่างนี้ก็ได้นะครับ
    • ที่กำลังกลัวและหวาดระแวงเพิ่มขึ้นมาอีกคือ กลัวข้อมูลหายครับ ในบล๊อกนี้หลายเรื่องตั้งใจทำ แล้วก็คิดว่าข้อมูลตนเองดี อยากเผยแพร่และทำทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์แบบทั่วไปมากกว่าทำเป็นผลงาน เลยหาโอกาสทำไปทีละนิด-ละนิด แต่บางทีเจอเว็บล่ม ทั้งข้อมูลภาพและข้อมูลจากการคิด-เขียนหาย อันนี้ก็กลัวและหวาดระแวงเพราะเสียดาย เกิดขึ้นในเว๊บอื่นไม่ใช่ในนี้ แต่ก็มีผลทำให้ลังเลว่าจะใช้วิธีนี้ทำงานแนวนี้ดีหรือเปล่าต่อเว็บและบล๊อกทั่วๆไป 
    • ลองหาความคุ้นเคย และสร้างความคุ้นมือไปก่อนในนี้ตามสะดวกเลยครับ ผมเห็นหลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเป็นอย่างยิ่งครับ หากให้ผมร่วมคิดผมก็จะเสนอแนะให้เปิดเวทีของตนเองโดยสมัครเป็นสมาชิก แต่แวะมาคุยและแลกเปลี่ยนกับผมด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นก็เหงาและขาดอรรถรสทางปัญญาแย่

    การเรียนรู้ของสังคมเพื่อเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง และทางเลือกการพัฒนาตามความพร้อม

    • เรื่องความกลัวและหวาดระแวง เลยไม่กล้าสมัครสมาชิกและเปิดบล๊อกของตนเองนี้น่าเห็นใจแต่ไม่ใช่เป็นคนแปลกประหลาดจากคนอื่นหรอกครับ อาจารย์ผมท่านหนึ่งเป็นผู้อาวุโสและมีบทบาททั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ หากอยากคิดและทำอะไร ก็เพียงออกปากและคิดดังๆก็จะมีผู้คนอยากได้ความคิดและข้อชี้แนะของท่านแปรไปสู่การปฏิบัติต่างๆมากมาย แต่ตอนนี้ท่านบอกกับผมว่ากำลังมีความสุขกับการอ่านหนังสือและทำงานเองในคอมพิวเตอร์ ท่านไม่เคยทำเรื่องพวกนี้เลย
    • แต่ตอนนี้ท่านเกษียณอายุราชการนานแล้วและมีความจำเป็นมากที่จะต้องดูแลสุขภาพตนเอง ตอนเริ่มต้นทำ ท่านบอกว่าทำอะไรไม่ถูก กลัว และหัดทำแบบตะกุกตะกัก
    • เพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นเจ้าของกิจการและมีลูกเติบโต ไปเรียนทั้งต่างประเทศและขั้นสูงในประเทศ เรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิตหมดแล้ว เหลือเพียงนั่งดูความงอกงามและใช้โอกาสในการนำเอาสิ่งที่มีในชีวิตไปทำเรื่องอื่นๆ  ลูกกลัวเหงาและเขาเองก็เป็นคนเรียนรู้อยู่เสมอ ลูกเลยซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คมาให้หัดใช้งานและทำงานความคิด
    • เขาบอกว่า ตอนแรกๆ กลัวและหวาดระแวงเหมือนมีคนไม่รู้จักเข้ามาอยู่ในบ้าน บางทีต้องแอบมองโน็ตบุ๊คและเอาผ้าคลุมไว้เพราะกลัวมัน ถอดปลั๊กออกหมดก็ยังกลัว ตอนนี้ เกือบปีแล้วก็ยังกลัวไม่หาย ทำอะไรผิดพลาดหน่อยและเกิดปัญหาที่ไม่เข้าใจ ก็ตกใจและถอดปลั๊กออกลูกเดียว ฟังดูน่าขัน แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วไปก็เป็นครับ
    • พนักงานผู้หญิงที่ทำงานผมคนหนึ่งจบการศึกษามาใหม่ๆ ให้เดินไปเสียบปลั๊กไฟก็หน้าซีดจะเป็นลม 
    • เรื่องพวกนี้ไม่แปลกหรอกครับ ที่ประเทศญี่ปุ่นตอนที่ผมไปเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน เขามีวิชาการใช้ชีวิตให้ทั้งเด็กและพลเมืองผู้ใหญ่ได้เรียนเรื่อง การใช้เทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อการศึกษาและดำเนินชีวิต ขนาดเขาเป็นสังคมการผลิตก้าวหน้ามาก ก็ยังมีความแปลกหน้าและต้องมีการจัดการศึกษาเรียนรู้ขึ้นมาพัฒนาพลเมืองของเขาเองโดยตรงเลยครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    ผมตัดสินใจทำลิงค์ครับ

    โรงภาพยนตร์ศรีประทุม http://www.thaicine.com/wboard/maintopic.php?GroupID=63&Begin=0&ID=2787

    โรงภาพยนตร์ไทยประเสริฐ (หนองบัวรามา) http://www.thaicine.com/wboard/maintopic.php?GroupID=63&Begin=0&ID=2788

    ส่วนภาพถ่ายต้นฉบับยังอยู่นะครับ

  • แวะเข้าไปดูแล้วครับ น่าสนใจมากๆเลยนะครับ ผมมีพี่ชายของเพื่อนรักคนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดเลยเป็นอดีตนักพากย์หนังและเดี๋ยวนี้เป็นทนายความ รุ่นพี่หลายคนเป็นคนทำหนัง วาดรูปโปสเตอร์และแผ่นปิด
  • โดยส่วนตัวแล้วจึงสนใจบทบาทของโรงหนังต่อการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมท้องถิ่น กับการปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
  • อยากให้กำลังใจและเชียร์ให้คุณอนุกูลตามเรื่องนี้ของหนองบัวแล้วนำมาแบ่งปันกันตามแต่จะสะดวก เหมือนกับเป็นนักวิชาการชาวบ้านและนักวิจัยเรื่องนี้ของหนองบัว ที่ทำไปตามความสนใจสบายๆ
  • ผมก็เลยลิ๊งค์ไปให้ด้วยเลยนะครับ คลิ๊กลงไปบนนี้ เพื่อตามไปดูเรื่องโรงหนังหนองบัวรามา หรือโรงหนังไทยประเสริฐ ของอำเภอหนองบัว พร้อมรูปถ่าย ที่คุณอนุกูล วิมูลศักดิ์เขียนเผยแพร่ในเว็บของชมรมคนรักหนังเลยครับ
  • คลิ๊กลงไปบนนี้ เพื่อตามไปดูเรื่องโรงหนังศรีปทุม พร้อมกับรูปถ่ายและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหนองบัวที่น่าสนใจมากเลยครับ
  • จะยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีก หากเริ่มต้นอีกด้านที่เป็นการเรียนรู้ชุมชนอำเภอหนองบัวผ่านภาพยนต์กับสื่อบันเทิง และสื่อทางวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงให้ถึงความเป็นศูนย์กลางของกิจการภาพยนต์และการจัดการทางวัฒนธรรม รวมไปจนถึงสื่อต่างๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ด้วย ก็จะเห็นโลกกว้างและความเป็นหนองบัว-ความเป็นคนนครสวรรค์ ได้ดีมากเข้าไปอีก 
  • ที่สถานีขนส่ง บขส หรือในปัจจุบัน เป็นสถานีขนส่งนครสวรรค์และที่ตั้งโรงแรมพิมานนั้น ในอดีตจัดว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจด้านความบันเทิง ภาพยนต์ และงานทางวัฒนธรรมแทบจะทุกชนิดของภาคกลางและภาคเหนือ ใครจะไปหาหนัง ลิเก เพลงฉ่อย ลำตัด รวมไปจนถึงเครื่องไฟชั้นดี เหล่านี้ ก็ต้องไปที่นั่นเลยครับ
  • แทบจะทุกคูหาของอาคารรอบๆสถานีขนส่งเป็นสำนักงานธุรกิจและการจัดการเรื่องทางวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงเหล่านี้ หากจะติดต่อดนตรี ก็ไปซอยบุปผาสวรรค์ กรุงเทพฯ
  • การที่โรงหนังของหนองบัว วิ่งรอกฉายหนังและมีหนังใหม่ๆให้ดูได้เร็วมากกว่าอีกหลายแห่ง ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากความเป็นศูนย์กลางสื่อบันเทิงของนครสวรรค์นั่นเอง
  • ที่หน้าค่ายจิระประวัติ ก็จะมีเวทีมวยและการประกวดร้องเพลง หนุ่มๆและทหารเกณฑ์เมื่อก่อนที่เริ่มติดสาว ก็มักจะทาน้ำมันโจต้นหวีผมแปร้ แล้วก็พกและใช้ครีมกวนอิมทำให้หน้าขาวว่อกกันไปหมด ก็มาจากการมีอิทธิพลมากของเวทีประกวดเพลงลูกทุ่ง ซึ่งนายห้างประจวบ จำปาทอง เจ้าของครีมกวนอิม เป็นบุคคลต้นแบบในทางนี้คนหนึ่ง
  • รายการวิทยุ ก็มีนิทานลุงพร รายการของเด็ดดวง ดอกรัก
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    • นิทานลุงพรอาตมาภาพฟังประจำ รายการเล่าข่าวประกอบธรมะหรืออะไรประมาณนี้แหละ ผู้จัดใช้นามแฝง ว่า ป.สุนทรกล้า เป็นนักบวชเก่า เด็ดดวง ดอกรักเป็นนักจัดรายการเพลงลูกทุ่ง
    • และอีกรายการหนึ่งช่วงหลัง ๒๕๒๐ ที่พิษณุโลกคือรายการ มหาวิทยาลัยชาวบ้านไม่แน่ใจว่าหน่วยงานที่จัดรายการนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหรือวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม(มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม)พิษณุโลกกันแน่
    • ประมาณสองทุ่มกว่า  ๆ รายการน่ากลัวและตื่นเต้นประจำวันก่อนนอนคือ รายการผี คณะนกฮูก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการท่านหลวงอา กราบสวัสดีท่านอ.วิรัตน์และท่านอ.อนุกลูทราบ

    ข้อความเนื้อหารูปภาพ โรงหนัง ที่ผมส่งไปให้หลวงอานั้นคัดมาจากต้นฉบับไม่มีการตัดต่อหรือดัดแปลงข้อมูลใดๆทั้งสิ้นโดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่าผู้เขียนครือใคร เมื่อท่านหลวงอาได้อ่านแล้วเกิดความสนใจเพราะเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีอยากทราบว่าผู้เขียนคือใครเลยให้ผมติดตามเรียนเชิญมาร่วมเวทีแลกความคิดเห็นท่านอาจารย์อนุกูลทำได้ดีเยี่ยมแล้วไม่ต้องกังวลหลอกครับผมก็ยินดีช่วยส่งเสริมผลงานทุกท่านอยู่แล้วสะบายใจได้ครับ

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และคุณเสวก ใยอินทร์

    คุณเสวกครับ ผมคงต้องรบกวนส่งข้อมูลที่เป็นรูปภาพโรงหนังชุดนั้นให้ผมทางอีเมล์ [email protected] ด้วยครับ

    ผมสงสัยอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับโรงหนังไทยประเสริฐ กับหนองบัวรามา เพราะตอนที่ผมเข้าไปสำรวจในตอนนั้นใช้ชื่อหลัง แต่ในยุคนั้น ยังมีป้ายชื่อโรงภาพยนตร์ว่า "ไทยประเสริฐ" หรือเปล่า หรือว่าใช้ชื่อหลังตั้งแต่แรก แต่เรียกตามชื่อเจ้าของโรงหรือเปล่า คงต้องรบกวนเพื่อความกระจ่างด้วยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าและสวัสดีทุกท่านครับ

    • รายการวิทยุ ชมรมเรื่องผี ของ คณะนกฮูก นี่ มันเหมาะกับบรรยากาศบ้านนอกยุคนั้นมากอย่างยิ่งนะครับ ทั้งกลัวแต่ก็ชอบฟัง ยิ่งหน้าน้ำทรงที่จะต้องลงเบ็ดและไปยามเบ็ดกลางคืน กับปลายหน้าแล้งย่างเข้าหน้าฝนซึ่งหน้ามะม่วงหล่น พอฟังเรื่องผีเสร็จ ก็เดินไปยามเบ็ดและออกไปเก็บมะม่วงหล่นกลางคืนแบบขนลุกขนพองไปตลอดทาง บางทีเดินๆไป จู่ๆก็เจอตาหมาเขียวปั๊ดอยู่ข้างหน้า หรือบางที เวลาเดินลอดต้นไม้ใหญ่ ก็ไม่อยากเหลือบตาขึ้นไปข้างบนแม้แต่น้อย วิธีแก้กลัวก็ต้องตะโกนทักทายเข้าไปตามบ้านข้างๆที่ผ่านทาง แล้วก็อาศัยคุยกันโหวกเหวกให้หายกลัว
    • เด็ดดวง ดอกรักนี่ต่อมาหลังจากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายของประชาชน ก็ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็น สส
    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และคุณเสวก ใยอินทร์

    เมื่อวันพุธที่ 29 ที่ผ่านมา คุณเสวกได้โทรหาผมช่วงสาย ๆ ผมก็เลยสอบถามเกี่ยวกับภาพแนบอีเมล์ที่ส่งถึงพระคุณเจ้าเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ใน อ. หนองบัว นั้น สรุปแล้วเป็นภาพจากเว็บ "เพื่อนคนรักหนัง" http://www.thaicine.com จริง ๆ ครับ

    เนื่องจากเว็บดังกล่าว ได้กำหนดระดับ (Class) สำหรับสมาชิก เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้าป่วนบอร์ด โดยระดับคลาส จะปรับขึ้นโดยผู้ดูแลระบบ เมื่อสมัครและเป็นสมาชิกระยะหนึ่ง (อาจจะดูยุ่งยากหน่อยครับ) สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ใน อ. หนองบัว นั้น ผมเป็นคนจัดทำ ตามที่แจ้งไว้ตั้งแต่ต้น อีกอย่างหนึ่งผู้ที่เข้าไปอ่านก็จะไม่พบรายละเอียดว่าใครเป็นคนนำเสนอ (คือไม่มีชื่อคนโพสต์ครับ)ก็เพราะเหตุผลเกี่ยวกับการกำหนดระดับคลาสนั่นเอง หลังจากที่ผมเข้ามาอ่านในบล็อกนี้ ผมก็แก้ไขข้อมูลดังกล่าวลงในบอร์ด "เพื่อนคนรักหนัง" ไปแล้วครับ

    กิจการของภาพยนตร์กลางแปลงในนครสวรรค์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นช่วงที่หนังไทยได้สร้างในระบบ 35 มม. เต็มระบบ (ก่อนหน้านั้นหนังไทยสร้างด้วยฟิล์ม 16 มม. อย่างที่คุณอนุกูลกล่าวไว้ แต่ไม่ทุกเรื่องนะครับ) ซึ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับหนังกลางแปลงจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสอดคล้องกับผู้ที่จัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมทั้งอุปกรณ์การฉายที่บริเวณข้างโรงหนังเฉลิมกรุงก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนกัน

    การที่บริการหนังกลางแปลง หรือมหรสพอย่างอื่น เข้ามาตั้งที่บริเวณท่ารถโดยสารก็เพราะว่า สถานที่ดังกล่าวสะดวกในการติดต่อ เพราะถ้าไปตั้งอยู่ในย่านชุมชน จะสังเกตได้ยาก ดังนั้นจึงต้องแสดงสัญลักษณ์บางอย่างให้เห็น เช่น ใบปิดภาพยนตร์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

    ในนครสวรรค์จะมีบริการภาพยนตร์กลางแปลงหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น จุ๊ยเจริญภาพยนตร์, สหมิตรฟิล์ม, เสริมศิลป์ภาพยนตร์, พรสมัยฟิล์ม, สุพัฒน์ฟิล์ม, นครสวรรค์ฟิล์ม, โอบอ้อมภาพยนตร์ (ก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับลำโพงจนมีชื่อเสียงในปัจจุบัน) และยังมีเวียงฟ้าฟิล์ม อยู่ที่ถนนมาตุลีอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งบริการหนังกลางแปลงดังกล่าวนี้ยังถือเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้เช่าฟิล์มภาพยนตร์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้นโรงภาพยนตร์และหนังกลางแปลงรายย่อยที่อยู่ต่างอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์, กำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เมื่อจะนำภาพยนตร์ไปฉายในโรงหรือหนังกลางแปลงก็จะต้องติดต่อที่นครสวรรค์ทั้งสิ้น

    การซื้อขายภาพยนตร์ในยุคนั้น จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ

    1. ซื้อสิทธิ์ของตัวภาพยนตร์จากผู้สร้างภาพยนตร์ในกรุงเทพ ฯ โดยจะมีตัวแทนจำหน่ายเข้ามาพูดคุยเจรจากับบริการหนังกลางแปลงโดยตรง บางเจ้าก็ซื้อเป็นเรื่อง ๆ ไป บางครั้งก็เป็นการทำสัญญา (เชิงผูกมัด) จากตัวแทนจำหน่าย ให้ซื้อภาพยนตร์จากบริษัทนี้ทุกเรื่อง ตลอดระยะเวลาในสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีหนังเกรดบีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังต่างประเทศ (ฝรั่ง, จีน) บางเรื่องเป็นหนังโป๊ หรือมีฉากโป๊ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินเรื่องแอบแฝง

    2. มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้อำนวยการสร้างหนังไทยเข้ามาพูดคุยเจรจากับสายหนังในภาคเหนือตอนล่าง เพื่อให้สายหนังออกทุนสร้างหนังไทย พร้อมทั้งรับสิทธิ์ในการฉายทั้งในโรง, หนังเร่ และกลางแปลง

    กรณีที่สองนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2542 เนื่องจากมีผู้สร้างหนังไทยที่ไม่มีเงินบริหารจัดการ จึงต้องใช้วิธีดังกล่าวนี้ ผลที่ได้ก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนั้นขาดคุณภาพ ขายแต่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แม้แต่ฟิล์มที่ใช้ก็เป็นฟิล์มคุณภาพต่ำเพื่อลดต้นทุน ซึ่งมีทั้งหนังบู๊ (จำพวกหนังที่พันนา ฤทธิไกรแสดง), หนังผี (บ้านผีปอบ หรือชื่ออื่นที่คล้ายกัน) หรือหนังโป๊ (ประมาณปี พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2535 เช่น เพ็ญพักตร์, ลำยอง ฯลฯ)

    ราคาขายฟิล์มภาพยนตร์ต่อหนึ่งเรื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 - 50,000 บาท ถ้าซื้อเพียง 1 - 2 ก็อบปี้ แต่ถ้าซื้อสิทธิ์ขาดจากบริษัท ราคาก็จะสูงขึ้นถึงหลักแสน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะอย่างน้อยก็มีรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ในตัวจังหวัดเป็นรายได้หลักอยู่แล้ว พอนำออกเร่ ก็จะมีรายได้จากการขายตั๋วหน้าวิกเพิ่มขึ้นอีก แต่ต้องเป็นหนังที่ได้รับความนิยมจริง ๆ

    เมื่อฟิล์มภาพยนตร์มาถึงบริการหนังกลางแปลงที่กล่าวมานี้แล้ว [1 - 5 ชุด (ก็อบปี้)] ก็จะนำเข้าฉายในโรง บางครั้งก็พร้อมกับทางกรุงเทพ ฯ บางครั้งก็ทีหลัง ถ้าเป็นโรงหนังที่ฉายควบ ตอนนี้จะมีหนังเกรดบีเข้ามาแทรก หลังจากนั้นก็เข้าสู่การฉายผ่านหนังกลางแปลง ในรูปแบบ “หนังเร่” ซึ่งก็คือบรรดาหนังกลางแปลงจากนครสวรรค์ที่กล่าวมานั่นแหละ เพราะถือว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ของภาพยนตร์เรื่องนั้น ดังนั้นทางบริการจะสามารถดำเนินการอย่างไรก็ได้

    การฉายหนังกลางแปลง ที่เรียกว่า “หนังเร่” จะเป็นการตระเวนฉายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น วัด, โรงเรียน หรือลานกว้าง ซึ่งขั้นแรกก็คือจะต้องติดต่อกับเจ้าของสถานที่นั้น ๆ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้าง บางที่ก็ให้ใช้ฟรี ๆ ก็เคยมี ที่สำคัญต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในชุมชนนั้น ๆ ด้วย กรณีที่มีหนังโป๊ บางที่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ บางที่ก็ไม่รับแถมยังพาพรรคพวกไปดูก็เคยมี

    เสร็จจากการขออนุญาตแล้ว ก็เข้าสู่การจัดสถานที่ ตั้งจอ, ล้อมรั้วผ้า, ประชาสัมพันธ์ด้วยรถหน่วย (ถ้ามี), เปิดเพลง จากนั้นก็เริ่มฉายภาพยนตร์

    สมัยนั้น หนังเร่เป็นที่นิยมมากในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2537 เพราะเป็นมหรสพราคาถูก เสียเงินเพียงไม่กี่บาท แต่ได้ดูหนังหลายเรื่อง ในขณะนั้นจะฉายแค่ 3 เรื่อง เริ่มตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่ง ไปจบประมาณ ตี 3 หรือ ตี 4 ของวันรุ่งขึ้น บางครั้งก็เคยฉาย 5 เรื่อง กว่าจะจบก็สว่างพอดี

    หลังจากที่นำออกฉายเร่จนกระแสความนิยมลดลงแล้ว ก็จะเก็บฟิล์มไว้เพื่อรับฉายกลางแปลงตามงานทั่วไป โดยราคาให้เช่าฟิล์มจะถูกลง ตั้งแต่ 500 - 5,000 บาท ถึงตรงนี้ฟิล์มหนังก็จะทำหน้าที่ของมันจนถึงช่วงสุดท้าย จนกลายเป็น “กากหนัง” ที่เต็มไปด้วยร่องรอยความเสียหายจากการใช้งาน ซึ่งปลายทางของ “กากหนัง” ก็จะไปอยู่ที่บรรดาหนังกลางแปลงที่เรียกว่า “หนังขายยา” ซึ่งได้ซื้อฟิล์มภาพยนตร์ต่อจากบรรดาหนังกลางแปลงเหล่านี้ในราคาถูก และถือเป็นตอนอวสานของฟิล์มภาพยนตร์แล้ว

    ปี พ.ศ. 2528 เป็นช่วงที่วิดีโอเข้ามาตีตลาด ทำให้โรงภาพยนตร์และหนังกลางแปลงต่างได้รับผลกระทบในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่คิดว่าจะทำให้ผู้ชมให้ความสนใจกับภาพยนตร์ที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอบนจอทีวีมากกว่าจอภาพยนตร์ ทำให้โรงภาพยนตร์ในนครสวรรค์ต้องปิดตัวลง

    แต่หลังจากที่วิดีโอได้เป็นที่นิยมแล้ว สิ่งที่คิดไว้ในตอนนั้นก็เป็นอันยุติ เพราะคนที่มีเครื่องเล่นวิดีโอไว้ในครอบครอง ต้องมีฐานะสักหน่อยจึงจะซื้อได้ ส่วนราคาม้วนวิดีโอเทปก็แพงเหมือนกัน ส่วนใหญ่จึงเป็นการเช่ามาดูมากกว่า อย่างไรก็ตามระบบวิดีโอในยุคนั้นก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถเทียบกับภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหรือหนังกลางแปลงได้ ทำให้บรรดาหนังกลางแปลงต่างยิ้มออกและดำเนินกิจการไปตามปกติ แต่ก็มีบางเจ้าที่ยุติและไปประกอบกิจการอื่นแทน

    ในช่วงปี พ.ศ. 2535 ได้มีตัวแทนผู้ได้รับสิทธิ์ภาพยนตร์จากทุกบริษัทในกรุงเทพ ฯ โดยเข้ามาดำเนินกิจการให้เช่าฟิล์มภาพยนตร์ที่นครสวรรค์เป็นแห่งแรก ในนาม “ธนารุ่งโรจน์” พร้อมทั้งได้เช่าซื้อโรงภาพยนตร์ประชาบดีเพื่อปรับปรุงใหม่ในชื่อ “ธนารุ่งโรจน์รามา” ทำให้บรรดาหนังกลางแปลงในนครสวรรค์ที่เคยซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ต้องยุติลง เนื่องจากไม่ต้องแบกรับหนี้สินอีกต่อไป และเวลาจะไปติดต่อเช่าฟิล์มก็ไปที่ ธนา ฯ ได้เลย

    กิจการของ “ธนารุ่งโรจน์” ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้ขยายสาขาตั้งแต่ภาคกลางจนถึงภาคเหนือ พร้อมทั้งได้ขอเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า หรือโรงภาพยนตร์เก่า เพื่อสร้างหรือปรับปรุงให้เป็นโรงภาพยนตร์ธนารุ่งโรจน์ จนกระทั่งเมื่อมีการนำเอาระบบเสียงรอบทิศเข้ามาเป็นจุดขาย ธนารุ่งโรจน์ก็อาศัยช่วงนี้ทำการปรับปรุงไปด้วย

    ก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 บริการหนังกลางแปลงในนครสวรรค์เหลือเพียง 4 เจ้า ได้แก่ จุ๊ยเจริญภาพยนตร์, เสริมศิลป์ภาพยนตร์, พรสมัยฟิล์ม และสุพัฒน์ฟิล์ม ก็เล็งเห็นถึงความไม่แน่นอนของกิจการภาพยนตร์กลางแปลง จึงตัดสินใจทำธุรกิจอย่างอื่น เช่น ร้านถ่ายรูป, ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น โดยลดความสำคัญของหนังกลางแปลงลงไป เพราะเห็นว่าคงไม่สามารถทำเป็นรายได้หลักเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

    กระทั่งช่วงปลายปี พ.ศ. 2544 ซึ่ง “ธนารุ่งโรจน์” ได้ถือสิทธิ์สายหนังในภาคกลางและภาคเหนือทั้งหมดแล้ว จึงกำหนดเงื่อนไขให้บรรดาหนังกลางแปลงในนครสวรรค์ ต้องเป็นสมาชิกซึ่งจะได้สิทธิพิเศษในการเช่าฟิล์มในราคาที่ถูกกว่าที่ระบุราคาในรายการ และที่สำคัญเมื่อเป็นสมาชิกแล้ว จะนำหนังที่บรรดาหนังกลางแปลงที่เคยซื้อไว้ (เมื่อตอนเป็นสายหนัง) ไปฉายร่วมกับหนังที่เช่าจากธนาก็ไม่ได้ หรือนำฟิล์มหนังจากที่อื่นข้ามเขตมาก็ไม่ได้ (แต่ถ้าเป็นหนังที่ธนา ฯ ซื้อไว้ แม้ว่าจะอยู่ต่างเขตต้องแจ้งให้สาขานครสวรรค์ทราบก่อน มิฉะนั้นจะถูกปรับ) และห้ามนำฟิล์มที่เช่าจากธนา ฯ ไปฉายเร่เก็บเงินเหมือนแต่ก่อนก็ไม่ได้อีก ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ส่วนข้อดีของ ธนา ฯ ก็มีแค่ หนังไทย ธนา ฯ ซื้อหมดทุกเรื่อง, ส่วนหนังต่างประเทศ ทั้งหนังจีนและหนังฝรั่งก็จะเลือกซื้อเป็นบางเรื่อง เฉพาะที่ระบุไว้ในรายการเท่านั้น

    เท่าที่ทราบสำหรับหนังกลางแปลงแถวนั้น จะเป็นสมาชิกธนา ฯ อยู่ 3 และไม่ได้เป็นสมาชิกอีกหนึ่ง เพราะซื้อหนังเอง (ขออนุญาตไม่เปิดเผยนะครับ)

    สำหรับราคาให้บริการของหนังกลางแปลงก็มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับงบของเจ้าของงาน แต่เจ้าของหน่วยก็มีสิทธิ์ที่จะระบุราคาขั้นต่ำในการรับงาน เท่าที่รู้ก็มีอยู่เจ้าหนึ่งกำหนดไว้ที่ 7,000 บาท ส่วนเจ้าอื่น ๆ ก็คงไม่หนีห่างกันสักเท่าไหร่ (อันนี้จะเป็นหนังกลางเก่ากลางใหม่นะครับ)ถ้าเป็นหนังใหม่ชนโรง หรือพึ่งออกจากโรงมาหมาด ๆ ราคาตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป ถ้าเป็นงานประจำปี หรือจัดกันหลายวัน ราคาก็อาจจะเพิ่มขึ้นครับ

    ผมเรียนตามตรงว่า หาคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับหนังในเชิงลึกนี้ ไม่มีแล้วครับ โดยมากก็รู้กันแค่ผิวเผิน ยิ่งถ้าเป็นหนังกลางแปลงด้วยแล้ว เสี่ยงต่อการสูญเงินนะครับ ถ้าหนังดี แต่...อุปกรณ์การฉายขาดการเอาใจใส่ดูแล รับประกันได้เลยว่า ทั้งเจ้าของงานและผู้ชมพากันผิดหวังครับ

    อีกอย่างหนึ่ง ถ้างานประจำปี หรืองานเทศกาลใดขาดหนังกลางแปลงไปแล้ว งานนั้นกร่อยลงไปเลยครับ แม้จะมีวงดนตรีลูกทุ่ง หรือรำวงย้อนยุค มาเป็นตัวหลักก็ไม่ได้ช่วยให้งานนั้นมีสีสันอะไรมากนักครับ ลองไปดูงานงิ้วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาละกัน

    จะว่าไปแล้ว สาเหตุที่ไม่มีหนังกลางแปลงนั้น วีซีดี / ดีวีดีก็มีส่วนบ้าง เพราะดูกันจนเบื่อ แต่ข้อจำกัดของแผ่นหนังก็มี ให้เก็บรักษาดีแค่ไหน มันก็อยู่ได้ไม่นานหรอกครับ เดี๋ยวก็ทิ้ง ไม่เหมือนฟิล์มหนังที่ยังคงอยู่ครบถ้วน ผมว่าน่าจะเป็นเพราะกรณีที่กล่าวมาเมื่อสักครู่ จะว่าไปฟิล์มหนังก็เสี่ยงต่อความเสียหายเหมือนกัน แต่มันมีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยเหตุนี้ผมถึงให้ความสนใจในฟิล์มภาพยนตร์ รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่เด็กจนทุกวันนี้ ที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกเว็บ “เพื่อนคนรักหนัง” ได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกหนังกลางแปลงเค้าหวงความรู้ เพราะไม่มีเปิดสอนในมหาวิทยาลัยอื่นใด นอกจากประสบการณ์ล้วน ๆ

    สิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้ อาจจะดูแปลกในสายตาของคนอื่น เช่น สะสมสิ่งของที่เกี่ยวกับหนัง ไม่ว่าจะเป็นใบปิดหนัง ภาพนิ่ง ฟิล์มภาพยนตร์ (ตอนนี้มีแต่ฟิล์มตัวอย่างหนังเสียเป็นส่วนใหญ่) เร็ว ๆ นี้ก็จะได้เครื่องฉาย 16 มม. มาอีก 1 เครื่องครับ ยังไม่รู้ว่าจะเกิดเป็น“ภาพยนตร์ชุมชน” ขึ้นมาใน อ. หนองบัว จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

  • อ่านสนุกครับอนุกูล มีเกร็ดความรู้และเกร็ดประวัติศาสตร์ ทั้งของท้องถิ่น ภูมิภาค และของประเทศ มากด้วย หากสะสมข้อมูลและวัตถุดิบ ซึ่งนครสวรรค์มีความความเป็นศูนย์กลางและแหล่งต้นเรื่องของเรื่องนี้ในหลายแง่มุม ก็เลยจะทำให้หลายเรื่องเป็นข้อมูลชั้นตน หาอ่านจากที่ไหนไม่ได้ หากคุณอนุกูลเขียนและถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือและตีพิมพ์เผยแพร่ ก็จะมีคุณูปการมากมายต่อสังคมนะครับ 
  • ว่างๆเขียนแบบสบายทิ้งๆข้อมูลและเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในนี้อีกก็ได้ครับ เผื่อคนอื่นๆที่เขามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จะช่วยมาโยนข้อมูลเพิ่มรายละเอียดหรือมีเรื่องช่วยเขียนที่แตกต่างออกไปให้อีก ก็จะทำให้ทำงานอื่นๆไปได้โดยไม่เกิดแรงกดดันให้เสียความคิดสร้างสรรค์ ของตนเองและสามารถทำไปตามใจรักในระยะยาวได้นะครับ
  • อยากเสนอให้พยายามเขียนเป็นงานวิจัย(งานวิจัยที่สร้างความรู้อย่างเป็นระบบแบบชาวบ้าน)และสร้างความรู้ท้องถิ่นในเรื่องนี้นะครับ
  • หรือเขียนในแนวที่ทำอยู่ซึ่งสามารถทำเป็นหนังสือสารคดี(อยากบอกว่าน่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลย)
  • ขอให้กำลังใจไว้ล่วงหน้านะครับ ผมว่าหลายแห่งคงสนใจสนับสนุนการพิมพ์เผยแพร่หรือจะให้ผมประสานงาน-เชื่อมต่อคนที่สนใจแบบนี้ด้วยอีกทางหนึ่งก็ยินดีมากเลยนะครับ
  • ความสนใจเรื่อง 'ภาพยนตร์ชุมชน' นี่อยากฟังแนวคิดคร่าวๆจังเลยนะครับ คุณอนุกูลมีแนวคิดอย่างไรบ้างแล้วครับ หากพอจะหนุนกันได้ก็จะร่วมคิดร่วมทำด้วยนะครับ ต้องมีข้อจำกัดต่อวิถีคิดและอุดมคติของการทำงานจำเพาะอย่าง อย่างไรหรือเปล่าครับ ต้องคิดและไปในแนวทางเหมือนๆกัน หรือว่าเป็นกลุ่มสนใจที่เปิดกว้างทั้งต่อคนหนองบัวและทั่วๆไป (ถามเหมือนสัมภาษณ์ทางอินเตอร์เน็ตเลยนะครับ เป็นหัวข้อคุยเฉยๆน่ะ)
  • ปรกติเวลากลับบ้านผมก็มักบอกเพื่อนๆอยู่เสมอว่า อย่างน้อยก็ขอให้ได้เจอเพื่อน ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง แล้วนั่งคุยกัน หรือมีกิจกรรมที่ทำด้วยกันไปตามกำลัง ทั้งกับกลุ่มเพื่อน พี่ๆน้องๆ โรงเรียน วัด ชุมชน และหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคม 
  • นำเรื่องราวต่างๆมาคุยให้ฟังอีกนะครับ ทั้งข้อมูล วิธีคิด และวิธีเขียนนำเสนอเรื่องราวของคุณอนุกูล ดีจริงๆนะครับ การวิเคราะห์ตัวปรากฏการณ์แล้วเชื่อมโยงไปให้เห็นเหตุผลทางสังคมนั้น เป็นวิธีที่ทำให้งานบันทึกและถ่ายทอดเรื่องต่างๆของคุณอนุกูล ไม่ใช่การบันทึกที่ไม่มีควาหมาย แต่ให้การเรียนรู้ทางสังคม มีมิติการทำให้สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งสะท้อนสังคมและโลกกว้าง
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์คุณครูอนุกูลและผู้อ่านทุกท่าน

    • ตนอนนี้อยากเห็นที่สุดเลยคือการตีพิมพ์เรื่องราวชุมชนหนองบัวเป็นหนังสือ
    • และถ้าไปเป็นไปด้จะขอเสนอโยมอาจารย์วิรัตน์กับคุณครูอนุกูลนี่แหละให้ทำหนังสือเรื่องท้องถิ่นหนองบัวสักเล่ม
    • หรือถ้าขอได้อย่างใจนึกเป็นกรณีพิเศษจากโยมอาจารย์วิรัตน์นะ จะขอภาพวาดและเนื้อเรื่องคำบรรยายภาพชุมชนหนองบัวพิเศษหนึ่งเล่ม ไม่รู้โยมอาจารย์จะฉลองศรัทธาไ้ด้เมื่อไหร่.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และผู้อ่านทุกท่านครับ

    • น้อมรับไว้เพื่อพิจารณาและจะหาทางทำครับ เห็นด้วยมากเป็นอย่างยิ่งครับ หากผมไม่สามารถเขียนขึ้นมาและนำไปทำเป็นหนังสือได้ ก็จะพยายามหาคนในหนองบัว หรือหาวิธีอย่างอื่นทำครับ
    • กราบขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าจุดประกายความคิดครับ ข้อมูลทั้งหมด ทั้งที่ทุกท่านเขียนเองและรวบรวมมาจากที่อื่นๆในนี้ แทบจะนำมาเรียบเรียงและทำเป็นหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ได้เลย แล้วก็จะเป็นหนังสือที่ช่วยกันเขียนหลายคนเสียอีก น่าประทับใจดีด้วยครับ มีรูปวาด และมีแนวการเขียนที่สะท้อนการร่วมแรงร่วมใจกันน่ะครับ
    • มีน้องๆผมอาสาดึงออกมาเป็นไฟล์ข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อลองดูเป็นข้อมูลดิบๆแล้วครับ ผมจะลองชั่งน้ำหนักดูว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปในแนวไหน แต่เท่าที่ดู จะขออาราธนาพระคุณเจ้า รวมทั้งเรียนเชิญทุกท่านเป็นกลุ่มผู้เขียนทุกท่านนะครับ จะลองตบแต่งให้อยู่ในรูปแบบที่รักษาการเดินเรื่องแบบเสวนากันอย่างในนี้ไว้ให้มากที่สุดครับ
    • ในส่วนของพระคุณเจ้าและท่านที่ได้เขียนไว้บ้างแล้ว ทั้งคนหนองบัวและท่านอื่นๆ ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ที่เข้ามาคุยไว้แล้ว หากจะคุยเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ และมีรูปวาด-รูปถ่าย ผมก็จะนำมาเป็นภาพประกอบให้นะครับ
    • ส่วนท่านที่เริ่มเข้ามาใหม่อีก ก็เชิญเลยนะครับ หากเกรงว่าจะเขียนไม่ได้อย่างใจ ก็เขียนแบบนำข้อมูลทั้งความทรงจำ รูปถ่าย รูปวาด หรือบอกวิธีให้คนอื่นไปดูของจริงๆเอามาเขียน ผมจะดึงออกมาเรียบเรียงให้แล้วจะใส่ชื่อเป็นเจ้าของเรื่องให้ครับ
    • ตอนนี้อาจเขียนโดยใช้ชื่อจริงหรือนามแฝงอย่างไรไปก็ได้นะครับ เอาไว้ทำเป็นต้นฉบับออกมาได้จริงๆแล้วค่อยขอข้อมูลเพิ่มเติมกันนะครับ  ดีเหมือนกันครับ เพราะกำลังดึงเอาเรื่องอื่นๆมาทำเป็นหนังสืออยู่เหมือนกันครับ ได้ทำไปด้วยกันเลย
    • ส่วนการ วาดรูปและทำหนังสือภาพหนองบัว : Nong Bua Pictorial and Nong Bua Illustration นี้ โดนใจและได้โจทย์ที่จะทำงานให้ชุมชนบ้านเกิดของตนเองมากจริงๆ อีกเรื่องหนึ่งเลยครับ
    • งานเขียนของหลวงพ่อวัดเทพสุทธาวาส พระครูไกร ที่ได้ดึงเอามาเป็นส่วนหนึ่งในนี้ หากพระคุณเจ้าและท่านอื่นๆมีโอกาสไปพบท่าน ก็ขอความกรุณากราบเรียนขออนุญาตหรือบอกกล่าวท่านได้ทราบนะครับ แต่กราบเรียนท่านว่าเป็นแนวคิดอยู่นะครับ เป็นความพยายามที่จะช่วยกันทำ กระนั้นก็ตาม การรวบรวมและช่วยกันเขียนในนี้ก็เหมือนเป็นหนังสืออีเลคทรอนิคเผยแพร่แก่สาธารณะและก็คงจะอยู่ในนี้ให้คนหนองบัวและคนทั่วไปได้เข้ามาอ่านตลอดไป ไปแล้ว (ถ้าเว๊บไม่ล่มและข้อมูลทั้งหลายหายไปหมดไปเสียก่อน)
    • ในส่วนของอาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ที่เขียนเรื่องการตีเหล็กและแง่มุมที่เป็นชาติพันธุ์-ประวัติศาสตร์เก่าแก่ของคนหนองบัวนั้น ที่พระคุณเจ้าได้นำมาถ่ายทอดและรวบรวมไว้ในนี้อีกนั้น เมื่อทำออกมาได้เป็นต้นฉบับจริงๆ ผมจะหาโอกาสขออนุญาตท่านด้วยครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

  • ลืมถามขอความรู้จากคุณอนุกูลเพิ่มอีกครับ
  • ในยุคที่หนังแอ๊ดเทวดาจอผ่าโลกเกิดขึ้นนี่ เป็นมาอย่างไรครับ และทำให้เกิดการตื่นตัว-เคลื่อนไหวในหมู่คนฉายหนังเร่หรือหนังกลางแปลงในภูมิภาคต่างๆของประเทศอย่างไรบ้างไหม
  • คุณอนุกูลพูดถึงการทำเครื่องไฟ ระบบเสียง และกิจการทำลำโพง กรณีการทำหนังเร่และหนังกลางแปลงนั้น ในวงการเขามีการพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะไหม หรือจุดที่เป็นเคล็ดวิชาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร พวกเครื่องเสียงเวทีแสดงและเครื่องเสียงกลางแจ้ง ผมมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่มันอึกทึก ไม่ไพเราะและไม่ได้อรรถรส  ดังและหนวกหูอย่างเดียว คนอยู่ไกลจะต้องตะแคงหูฟัง ส่วนคนอยู่ใกล้เวทีและลำโพง ก็จะเจอกับเสียงดัง เขามีหลักและมีแนวพัฒนาจำเพาะเพื่อทำขึ้นใช้ในกิจการหนังเร่และหนังกลางแปลงไหมครับ ศาสตร์และตัวความรู้นอกตำราคงมีอยู่เยอะครับ หรือว่าเป็นระบบเสียงแบบทั่วๆไป
  • หนังจีน ทั้งหนังและรสนิยม-พฤติกรรมการดูของผู้คนในแต่ละยุคนั้น แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างไหมครับ สะท้อนบริบททางสังคมของประเทศ และบอกเล่าพัฒนาการอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะและสื่อบันเทิง ของประเทศไทยและต่างประเทศอย่างไรบ้างไหมครับ 
  • อาจารย์ครับ

    ตามอ่านเสมอๆครับ

    ผมได้แรงบันดาลใจอีกอย่างแล้วครับ เรื่องราวที่ "ปาย" บ้านเกิดของผมนั้น จริงๆมีมากกว่าปายที่นักท่องเที่ยวรู้จัก ปายในมุมของเด็กคนหนึ่งที่คลุกคลีกับท้องนา ป่าเขา สายน้ำ มาโดยตลอด ..

    ชักอยากจะเขียนเรื่องบ้านของตัวเองแล้วสิครับ

  • ธรรมจัดสรรค์แท้ๆเลย งั้นขอแนะนำแขกเหรื่อให้ได้รู้จักกันและเป็นเครือข่ายทางวิชาการหรือเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เองเลยนะครับ เหมาะเหมงที่สุดเลย ขอบคุณแทนคนหนองบัวที่คุณจตุพรเข้ามาเยือน
  • ขอแนะนำสั้นๆว่า คุณจตุพร เป็นนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ที่ภาษาการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องเรียกและให้ความหมายว่า เป็นคนชนิดมีพื้นการศึกษาอบรมและการพัฒนาตนเองบูรณาการและรอบด้าน หรือ Well-Rounded Training
  • มีประสบการณ์จากการทำงานหลากหลายและลงทำงานระดับชุมชนได้อย่างเยี่ยมยอด ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • อีกด้านหนึ่งก็เป็นนักวิจัยและมือวิชาการของหลายแห่ง ทั้งทางด้านสุขภาพของท้องถิ่นและระดับชาติ สถาบันพระปกเกล้า มูลนิธิสดศรี-สฤษวงศ์ ที่สำคัญเป็นคนเหนือและมาจากชนบทเหมือนคนหนองบัว 
  • เป็นนักอ่าน นักถ่ายภาพ และเขียนสารคดีชุมชน เป็นบล๊อกเกอร์ระดับแถวหน้าหลายเวที
  • หากเป็นเพื่อนเรียนรู้กับคนหนองบัวบ้าง ขณะเดียวกันก็อาจพัฒนาความเป็น academic-network  ในแนวนี้ไปด้วยกันกับหลายท่านที่เสวนากันผ่านเรื่องชุมชนหนองบัว ก็คงจะทำให้ชุมชนระดับพื้นฐานของสังคม มีโอกาสเป็นทุนทางปัญญาได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ
  • คุณอนุกูล พระอาจารย์มหาแล คุณเสวก และคนหนองบัวท่านอื่นๆ เข้าไปคุยแลกเปลี่ยนในเวทีของคุณจตุพรเองได้เลยนะครับ
  • นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีครับ อ.ดร.วิรัตน์ที่เคารพ สวัสดีครับคุณเสวก,คุณอนุกุล

    ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณ อ.วิรัตน์ด้วยครับ ที่เปิดเวที และ มีเครือข่ายการเรียนรู้ที่ดูเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ การสนทนาออนไลน์ผ่านสื่อแบบนี้ก็สะดวกและดึงความรู้ประสบการณ์ที่หลากหลายมาจัดระบบดีๆ เราจะได้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกชุดที่สำคัญมากสำหรับคนรุ่นต่อไป

    การรื้อฟื้นเรื่องราวอดีต ทำให้เห็นภาพชีวิตช่วงนั้นแจ่มชัดดีนะครับเป็นทั้งความสุขและรื้อฟื้นความรู้เดิมๆอย่างสนุกสนาน

    สำหรับผมเอง เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์วิรัตน์ พร้อมกับอ่านข้อคิดเห็นที่เติมกันลงมาเรื่อยเพลิดเพลินมากเลยครับ เหมือนได้อ่านหนังสืือดีๆเล่มหนึ่ง แต่พิเศษกว่าตรงที่ว่า มีชีวิตชีวามากกว่า

    ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ...และแยกขอร่วมเเลกเปลี่ยนด้วยครับ 

    หากนับตามเวลาที่เขียนในบันทึกนี้ ผมเองเป็นรุ่นที่เข้ามาช่วงหลัง ช่วงนั้นที่ปายมีโรงหนังกลางแปลงอยู่ ๒ เจ้าใหญ่ๆ และสองเจ้านี้ก็ออกตระเวนไปฉายหนังตามหมู่บ้าน ซึ่งในหมู่บ้านของผม ทั้งสองเจ้าก็มายึดทำเล หัวบ้าน ท้ายบ้าน

    ประกาศโฆษณาหนังรถเร่ไปตามหมู่บ้าน ตอนกลางวัน ๑ รอบ ตอนเย็น ๑ รอบ ตอนนั้น เมื่อผมได้ยินเสียงประกาศชื่อหนัง หัวใจของผมก็สั่นอยากจะโดดออกห้องเรียนเสียเดี๋ยวนั้นเลย (ทั้งๆที่หนังจะฉายตอนกลางคืน)  แต่ก็จะไปเตรียมตัวดูหนัง...

    กว่าหนังจะฉายปาเข้าไป ๒ ทุ่ม...ดึกพอสมควรกับบ้านนอกที่ผมอยู่ เสียงเพลงมาร์ช ๔ เหล่า ก่อนฉาย ก็เป็นเสียงอีกเสียงที่ทรงพลังอย่างมากสำหรับเด็กอย่างพวกเรา ...นั่นคือสัญญาณเริ่มฉายหนังแล้ว เสียงเพลงเหล่านี้ยังดังก้องในหัวผมอยู่เลย

    เขียนไป ผมก็นึกภาพบรรยากาศของ "โรงหนัง" ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๓๐   เเจ่มเเจ๋วเลย

    เรื่องราวของหนังกลางแปลง มีเสน่ห์มากๆเลยครับ จำได้อีกว่า หลังจากที่มีทีวีเครื่องแรกในหมู่บ้าน มีวีดีโอที่มีม้วนเป็นตลับใหญ่ๆเข้ามา โรงหนังกลางแปลงก็เสื่อมมนต์เสน่ห์ลงไปทีละน้อย

    ผมจำได้อีกว่า พอหนังทีวีเรื่อง "แหวนทองเหลือง" แสดงโดย คุณนาถยา และคุณเยาวเรส ช่อง ๗  ราวปี ๒๕๓๐   นั่นหละครับ มาพร้อมวีดีโอที่เก็บเงินผู้ชมที่เป็นแฟนหนังอย่างเหนียวแน่นแบบผม สามเรื่อง ๒ บาท มีหนังใหม่ๆมาเรื่อยๆ

    ตั้งแต่นั้นมาโรงหนังกลางแปลง ก็ค่อยๆลดบทบาทลง...

    "โรงหนังที่บ้านผม"

     

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์คุณจตุพรและผู้อ่านทุกท่าน

    •  ก็ยินดีมาก ๆ เลยที่คุณจตุพรเข้ามามอบความสุขด้วยภาพสวย ๆ แม่ฮ่องสอนนี้มีเสน่ห์จริง ๆ แค่เห็นภาพวิวทิวทัศนบางด้านของเมืองปายจากมุมไกล ๆ ก็รู้สึกได้ถึงความเป็นเมืองน่าอยู่ผู้คนจิตใจงดงาม ดูมีความสงบร่มเย็นเป็นธรรมชาติดีจัง
    • เคยอยู่เมืองท่องเที่ยวมาหลายปีเหมือนกันส่วนมากก็จะพลุกพล่านคับคั่งไปด้วยผู้คนต่างถิ่นมากมาย จนบางครั้งมองหาจุดแข็งตัวเองไม่เจอ
    •  เจอแต่จุดขาย
    • เมืองปาย  เพียงแค่เห็นภาพถ่ายก็ดูมีเรื่องราวให้น่าศึกษาเรียนรู้มากมาย ถ้าเขียนบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นได้รู้คงดี
    • แม่ฮ่องสอนได้ยินแต่ชื่อเห็นแต่ภาพยังไม่เคยไปทั้ง ๆ ที่อยากไป
    • คุณจตุพรบอกว่าอยากเขียนเรื่องเมืองปายก็หวังว่าในไม่ช้านี้คงจะได้อ่านนะ
    • ตอนเย็นอาตมาได้เข้าไปเยี่ยมบล๊อคคุณจตุพรเรียบร้อยแล้ว.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ , คุณเสวก และคุณจตุพร

    ผมขอแนะนำเว็บไซต์ที่รับจัดพิมพ์งานหนังสือแบบอิสระ ไม่ต้องกังวลว่าผลงานนั้นจะผ่านหรือไม่ เข้าไปดูรายละเอียดที่ http://www.author.co.th ครับ เพราะผมเห็นว่าหนังสือที่เกี่ยวกับความเป็นมาของ อ.หนองบัว ในอดีต เว็บนี้น่าจะเหมาะสมครับ

    [ขออภัยที่ไม่ได้เสนอแนะเพิ่มเติม แต่ได้อ่านความเห็นของคุณจตุพรแล้วครับ วันเสาร์ (1 ก.ค.) ติดสอบประเมินคุณภาพด้านภาษาอังกฤษ วันที่ 2 จะเข้า กทม. ครับ]

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พอเขียนเสร็จก็บันทึกปรากฏว่ามีบทความคุณโยมจตุพรโผล่ขึ้นพลวดพลาดแซงหน้าบทความอาตมาโดยที่ไม่ทันได้่อ่านของคุณโยมจตุพร คือบันทึกพร้อม ๆ กันพอดีเลย ได้อ่านแล้วมองเห็นบรรยากาศคล้ายกับที่หนองบัวอีกเหมือนกัน ขอขอบคุณที่จะได้อ่านชุมชนปาย อีกแห่งหนึ่งควบคู่ไปกับหนองบัว

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) คุณเสวก คุณอนุกูล คุณจตุพร และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    • คุณจตุพรพูดถึงการค่อยๆเลือนหายไปของหนังกลางแปลง รวมทั้งคุณอนุกูลก็พูดถึงการหายไปของหนังกลางแปลง วิดีโอ เลยก็นึกถึงอีกมากมายหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลงและเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว เลยก็เห็นด้วยอย่างที่คุณจตุพรว่านะครับที่เรื่องราวของชุมชนในนี้ ทำให้ท่านที่มาเขียนไว้และคนได้อ่านมีความสุข คนรุ่นหลังก็จะได้ประโยชน์ หากไม่ลุกขึ้นมาทำกันอย่างนี้เรื่องราวที่ดีๆมากมายก็คงเลือนหายไปกับผู้คน
    • เมื่อหลายปีก่อน พอเริ่มมีเงินเหลือและอยากจะภูมิใจกันตนเองบ้าง เลยซื้อของที่มีความหมายต่อตนเองแบบคนบ้านนอกและสำนึกแบบไทยๆ คือ ซื้อโทรทัศน์ธานินทร์ เครื่องเล่นวิดีโอธานินทร์ แต่แล้ว ไม่นานโทรทัศน์ธานินทร์ก็เลิกผลิต ตกรุ่นหลุดออกจากสารบบ เครื่องเล่นวิดีโอก็หมดยุคเพราะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล

     

                              

    • ตอนนี้เลยเกือบไม่เหลืออะไรแล้วครับ  ไปหาซื้อวิทยุธานินทร์มาฟัง ซื้อสบู่ตรานกแก้วมาอาบน้ำรำลึกถึงน้ำคลองและสรงน้ำคนเฒ่าคนแก่ ซื้อแป้งหอมมองเล่ยะมาประตัวเวลาอยู่บ้าน ซื้อผ้าขาวม้ามาคาดเอวและใช้ออกต่างจังหวัด ซื้อขลุ่ยไทยมาทบทวนเพลงที่เคยเล่นแตรวงเมื่อตอนเป็นเด็กรุ่น ซื้อเสื้อผ้าและย่ามใส่ของมาใช้และแจกน้องๆ ซื้อดอกไม้และพวงมาลัย ที่ยังพอเห็นร่องรอยแรงคนและงานหัตถศิลป์ที่สืบทอดอยู่ในสังคม

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    ผมลิ๊งค์แหล่งรับพิมพ์งานอิสระที่คุณอนุกูลนำมาฝากให้ทุกท่านไว้ให้ด้วยเลยนะครับ คลิ๊กลงไปบนตัวหนังสือนี้เลย

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เห็นภาำพนี้(วิทยุ,แป้งขวด,ขลุย,ผ้าขาวม้า,พวงมาลัยไม่่เห็นสบู่นกแก้ว)แล้วนึกถึงตอนนอนกับแม่เฒ่าหน้าเกี่ยวข้าวพ่อแม่ไปนอนนา กลางคืนฟังเรื่องผีกลัวจนไม่กล้าเปิดมุ้งกางออกมาเยี่ยวตอนดึก ๆ ทั้ง ๆ ที่ในห้อง(ในเรือน)มีร่องสำหรับไว้ยิงกระต่ายก็ตาม

    • "หากไม่ลุกขึ้นมาทำกันอย่างนี้เรื่องราวที่ดี ๆ มากมายก็คงเลือนหายไปกับผู้คน" ข้อความของโยมอาจารย์เมื่อคืนนี้สะดุดใจดีเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยขอนำมาคุยด้วย

    • ประสบการณ์ยุคก่อนคนจะมีเวลาอยู่กับสิ่งนั้น ๆ เป็นเวลาหลายปีทำให้จำไ้ด้ค่อนข้างดี การถ่ายทอดจึงมีโอกาสทำได้แม่นยำแจ่มชัด คนรุ่นเราจึงน่าจะรีบ ๆ ทำหน่อยก่อนที่จะลืมเลือนไปกับกาลเวลา
    • เรื่องราวดี ๆ มีอีกเยอะแยะขอเชิญชวนมาเล่าเรื่องราวอันมีคุณค่าต่อสังคมอันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคต ซึ่งผิดกับยุคต่อมาที่อะไรก็มีแต่ความเปลี่ยแปลงอย่างรวดเร็วคนอาจจะจำได้ไม่มั่นคงซาบซึ้งเหมือนยุคก่อนก็ได้มีแต่ความฟู่ฟ่าวูบวบฉาบฉวยซึ่งเป็นยุคที่คิดเร็วทำเร็วลืมเร็ว เร็วทุกสิ่งเลยผ่านมาผ่านไปอย่างด่วนจี๋ผู้คนจะขาดความทรงจำซาบซึ้งอย่างเห็นคุณค่าต่อประสบการณ์ชีวิตแบบนี้หรือเปล่าไม่ทราบได้
    • ทำให้นึกบทกลนสอนธรรมของหลวงพ่อพระเทพกวี วัดป่าดาราภิรมย์ แม่ริม เชิียงใหม่ ที่ท่านประพันธ์ไว้แต่ปี ๒๕๑๔ แต่ยังทันสมัยอยู่ทุกยุคที่ว่า

               ถ้าอยากเป็นคนมั่งมี         อย่าเป็นคนดีแต่จ่าย

               ถ้าอยากเป็นคนนำสมัย     อย่าทำลายวัฒนธรรม

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • รูปวาดแยกตลาดเก่าของอำเภอหนองบัว และวงเวียน หอนาฬิกา หอกระจายเสียงตามสาย และบรรยากาศเก่าๆของชุมชนหนองบัว ผมนำมาแสดงไว้ในนี้แล้วนะครับ
    • พระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ท่านขอไว้ที่ไหนสักแห่งแต่ผมตระเวนหาไม่เจอว่าท่านขอไว้ตรงไหน เลยโพสต์ไว้ตอนนี้ ๓ แห่งนะครับคือ ที่นี่ และในหัวข้อของท่านแห่งหนึ่ง กับในหัวข้อทุนทางสังคมของหนองบัว อีกแห่งหนึ่งครับ
    • แต่ทั้งหมดได้รวบรวมไว้ในไฟล์ภาพไปด้วยครับ สามารถนำมาเป็นข้อมูลใช้ทำอย่างอื่นต่อไปได้อีกครับ
    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่าน

    เมื่อวันจันทร์ (3 ส.ค.) ที่ผ่านมา ผมได้ไปถ่ายภาพกระเป๋าฟิล์มภาพยนตร์ไทย เรื่อง "ดรรชนีนาง" เป็นฟิล์ม 16 มม. ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งรายละเอียดอยู่ที่ "เว็บเพื่อนคนรักหนัง" หรือ http://www.thaicine.com ถ้าต้องการทางลัด ย้อนกลับไปที่หน้าแรกของหัวข้อในบล็อกนี้ แล้วไปที่ความเห็นที่ 13 จะมีช่องทางลัดที่ อ. วิรัตน์ ได้ทำไว้ให้แล้วครับ

    เมื่อวันอาทิตย์ (2 ส.ค.) ผมเข้าไป กทม. เพื่อไปรับเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. ซึ่งมีคนประกาศขายทางเว็บนั้นแหละครับ เจ้าของเดิมนั้นปัจจุบันเป็นทหารเรือ อีกอย่างหนึ่งทางหน่วยงานคงจะโละทิ้ง ก็เลยรับมาประกาศขาย จำนวน 6 เครื่อง เผื่อไว้นำไปซ่อม (หากยังใช้งานได้) หรือไว้โชว์ (ถ้าซ่อมไม่ได้จริง ๆ)ก่อนหน้านั้นก็มีคนเหมาไปแล้ว 5 เครื่อง เหลืออยู่เครื่องหนึ่ง

    พอกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็เช็คอย่างละเอียด (ตอนแรกก็เช็คอย่างคร่าว ๆ ที่บ้านคนขายมาแล้ว แต่มีเวลาน้อย กลัวกลับมาถึงบ้านดึกเกิน เพราะต้องไปสอนหนังสือ)ปรากฏว่าเครื่องมีปัญหาหลายจุดครับ ทั้งไฟรั่ว (อันนี้แก้ได้โดยไปซื้อปลั๊กเสียบแบบ 3 ขา เพราะที่บ้านมีปลั๊กแบบสามรูที่มีระบบสายดิน ซึ่งผมต้องใช้เวลาเปิดคอมพิวเตอร์), ขารีลท้ายเครื่องไม่หมุน และที่หนักว่าก็คือ เกลียวปรับโฟกัสหวาน (ปกติจะฝืด ซึ่งสามารถปรับความคมชัดของเลนส์ฉายได้)และภาพที่ฉายออกมาดูไม่ได้เลย ตอนนี้ยังสองจิตสองใจว่าจะส่งช่างซ่อมแถวเฉลิมกรุง หรือจะไว้โชว์ คงต้องแก้ปัญหากันต่อไป จริง ๆ ผมทำใจไว้ก่อนแล้วครับ เพราะเครื่องมือสองคงต้องสมบุกสมบันหน่อย อีกอย่างหนึ่งผมถามคนที่เหมาไปทั้ง 5 เครื่องก่อนหน้า ปรากฏว่าใช้ไม่ได้เหมือนกันครับ

    สำหรับ "ภาพยนตร์ชุมชน" นั้น ผมได้ต้นแบบมาจากพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ของ อ. งาว จ. ลำปาง ครับ โดยเป็นการจัดแสดงอุปกรณ์ในการฉาย (เช่น ฟิล์มภาพยนตร์, ใบปิด ฯลฯ) รวมทั้งสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง และจะมีการจัดฉายภาพยนตร์ทั่วไป (ไม่เหมือน หภช. ที่เน้นแต่ภาพยนตร์เก่า ทำให้มีคนสนใจน้อย) ตอนนี้ก็ยังเป็นแนวคิด (Concept) คร่าว ๆ อยู่ครับ ตอนนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป

    สำหรับรายละเอียดที่ อ. วิรัตน์ ถามไว้ ใน คห. ที่ผ่าน ๆ มา ขอไว้ตอบรวมในภายหลังครับ

    • หภช.เพิ่งเริ่มต้นสะสมภาพยนต์เก่าแล้วนำมาจัดเก็บไว้เพื่อการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่ตอนนี้คงยังอยู่ในระยะเริ่มแรก เลยเน้นไปในทางรวบรวมและอนุรักษ์ในเชิงประวัติศาสตร์ให้ได้ก่อนกระมัง ทำงานแนวนี้น่าเห็นใจอย่างทีสุดนะครับ ผู้คนและสังคมมักชื่นชม แต่ไม่ค่อยยื่นมือเข้ามาช่วย   
    • ออกแบบและจัดเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ แล้วก็มี Recration ให้คนเข้ามาหย่อนใจและหาแรงบันดาลใจ เพื่อกลับออกไปทำงานและใช้ชีวิตให้มีความสุข อย่างนี้ก็ดีนะผมว่า
    • ผมเคยแปลหนังสือต่างประเทศและเรียบเรียงเป็นเอกสารแจกกันอ่านในหมู่มิตรในเรื่องทำนองนี้ แต่เป็นการนำมาใช้ระดับชุมชน เดี๋ยวจะรื้อมาแลกเปลี่ยนเมื่อมีโอกาสนะครับ
    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่าน

    ผมเคยมีโอกาสเข้าไปชมการดำเนินการของ หภช. ศาลายา เมื่อสัก 1 หรือ 2 ปีก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบมาเป็น "องค์การมหาชน" ในตอนนี้ ผมเห็นด้วยกับ อ. วิรัตน์ ในประเด็นที่บอกว่า "เน้นไปในทางรวบรวมและอนุรักษ์ในเชิงประวัติศาสตร์" เพราะจากการที่เข้าไปเยี่ยมชมพบว่า ภาพยนตร์ที่อนุรักษ์นั้นจะเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ เช่น ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน, ภาพยนตร์สารคดีที่ผลิตโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน, ภาพยนตร์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 9 อสมท. (ส่วนช่อง 7 ก็มีภาพยนตร์ข่าวเช่นกัน แต่เค้าดำเนินการกันเองโดยแปลงเป็นวิดีทัศน์เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ที่รู้ตรงนี้ เพราะมีเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่นั่นครับ) และภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในครอบครัวซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของบ้านเมือง ส่วนภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงก็มีอยู่เพียงน้อยนิด เพราะดำเนินการล่าช้าเมื่อตอนที่โครงการ "หนังไทยกลับบ้าน" ได้ดำเนินการเมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. 2531 ที่ติดตามฟิล์มภาพยนตร์ต้นฉบับหนังไทยที่เคยส่งไปล้างและพิมพ์ที่ฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา มีอยู่ 200 กว่าเรื่อง ที่เหลือเป็นกากหนังที่ได้รับบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ ฟิล์มที่เป็น "กากหนัง" เหล่านี้ก็เสียหายด้วยอาการที่เกิดขึ้นกับฟิล์มโดยเฉพาะครับ

    เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีบริการหนังกลางแปลงเจ้าหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้ประกาศขายฟิล์มภาพยนตร์ที่เคยซื้อฉายมาในอดีต ในราคา 3 หมื่นบาท ซึ่งมีหนังกว่า 2 ร้อยเรื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนมาขอซื้อเหมาไปทั้งหมด วันนั้นผมก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ผลปรากฏว่า หนังทั้ง 2 ร้อยกว่าเรื่องใช้ไม่ได้เลยแม้สักเรื่องเดียว บางเรื่องก็เป็นหนังดัง หนังทำเงินมาแล้วในอดีต แต่เนื่องจากฟิล์มถูกเก็บปิดตายมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น พอฟิล์มเกิดอาการ "กรดน้ำส้ม" ขึ้นมา เลยทำให้ฟิล์มที่เหลือพาเสียหายไปด้วย คนที่ซื้อไปแล้วรู้สึกเสียดายเงินมากกว่า

    สำหรับข้อเสนอแนะด้าน Recreation นั้น ผมตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้วครับ ประกอบกับเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์แถวภาคตะวันออกก็เห็นดีด้วยเช่นกันครับ

    • ขอร่วมคิดด้วยนะครับ ผมคิดว่า ๓ ส่วนนี้ควรจะทำให้เชื่อมโยงกันในระดับกว้าง ไม่อย่างนั้นจะทำไม่ไหวครับ แพงประการหนึ่ง ใช้เทคโนโลยีและวิทยาการที่ต้องพัฒนาคนให้เชี่ยวชาญที่ทำได้ไม่มากเพราะหลายเรื่องมันหมดยุคก็อีกประการหนึ่ง และการบำรุงรักษา-การดูแล ไม่มีระบบตลาดและการสำรองวัตถุดิบรองรับ เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่จะยังทำให้เครื่องฉายและเครื่องมือต่างๆทำงานได้นั้น ในระบบตลาดทั่วไปหลายเรื่องจะไม่มีการสั่งเข้าอีกแล้ว แต่ถ้าหากมีแหล่งดำเนินการเป็นศูนย์รวมให้ระดับประเทศ จึงจะสามารถทำได้ครับ
    • ในส่วนที่จัดเก็บฟิล์มหนัง การรับซ่อมและดูแลประสิทธิภาพของเครื่องฉายยุคก่อนดิจิตอล ผมว่าควรจะพัฒนาเป็นเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือกันและไปร่วมมือกับ ศภช ให้ ศภช เป็นศูนย์กลาง และขอเปิดแผนกสักแผนก จริงๆแล้วอยู่ที่ตัวบุคคลครับไม่อยู่ที่หน่วยงานหรอก อยู่ที่คุณโดม สุขวงศ์  ผู้อำนวยการ ศภช ผมว่าแกทำจริง 
    • (๑) การอนุรักษ์ฟิล์มหนัง (๒) การมีศูนย์ซ่อม-ดูแลของโบราณ เป็นงานที่ใหญ่ หนัก ต้องทุ่มเทงบประมาณเยอะจึงไม่ควรแยกให้เป็นเบี้ยหัวแตก และต้องพัฒนาวิทยาการสูงครับ แต่ควรทำและน่าทำ ให้ไปอยู่ที่ ศภช นั้นจะเหมาะสำหรับเป็นแหล่งผลักดันการสนับสนุนจากแหล่งทุนครับ หรือไม่อย่างนั้นก็ที่มหาวิทยาลัย(มหิดล) ไปเองก็คิดว่ามีเพื่อนและมีเครือข่ายเดินไปคุยได้กระมังครับ หรือจะให้ผมนัดหมายให้ไปคุยหารือก่อนก็ได้นะครับ ยินดีครับ  ผมเคยไปดูห้องสมุดเทปและฟิล์มของสถานีวิทยุโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น และศูนย์สื่อสารสุขภาพของเมืองคานากาวา ประเทศญี่ปุ่น งานใหญ่ หนัก สิ้นเปลือง แต่มีคุณค่าต่อสังคม สร้างความเป็นผู้นำทางปัญญาในหลายเรื่องของสังคมได้มากครับ
    • (๓) ในส่วนที่ออกแบบและจัดการเชิงธุรกิจให้อยู่ได้  ที่ไม่ใช่ทำเพื่อธุรกิจสร้าวงผลกำไร แต่เป็น CSR ของคนที่อยู่นอกภาคที่เป็นทางการ ตรงนี้ในระดับประเทศเชื่อว่ามีคนอิ่มตัวทางด้านอื่นและทำเรื่องพวกนี้ถึงเยอะ แต่กระจัดกระจายกันมากครับ อันนี้ค่อยหนุนให้เดินไปด้วยรูปลักษณ์และสรางโอกาสการพัฒนาตนเองในหนทางใหม่ๆ ผ่านการเป็นสมาชิกสมาคมผู้รักหนังที่คุณอนุกูลเริ่มเข้าไปนั่นแหละครับ ผมว่าอาจจะมีรูปแบบใหม่ๆที่ดีซึ่งอาจจะไม่ใช่โรงหนังโดดๆเหมือนอย่างในอดีตก็ได้
    • คุยสร้างความคึกในความคิด และส่งเสริมกำลังความคิดให้กันเฉยๆครับ ผมไม่รู้เรื่องอะไรหรอก

    โรงปั่นไฟฟ้าและเครื่องปั่นไฟฟ้ายุคแรกเริ่มของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 

    ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

                            

    โรงปั่นไฟฟ้าแห่งแรกของอำเภอหนองบัว ตั้งอยู่ที่เกาะลอย ด้านข้างมีตีนกุด ตีนกุฏ : กุฎีเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีนารายณ์ สัญลักษณ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชนอำเภอหนองบัว ทั้งวัฒนธรรมชาวไทยจีน พุทธศาสนา คริสตศาสนา การนับถือผี เจ้า ร่างทรง

    เมื่อถึงเดินกุมภาพันธุ์-มีนาคม ของทุกปี บริเวณที่เป็นที่ตั้งโรงปั่นไฟฟ้า จะเป็นแหล่งจัดเทศกาลทางวัฒนธรรมของชาวหนองบัว คือ งานงิ้วและงานเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีนารายณ์ หากไปเยือนชุมชนอำเภอหนองบัวในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะเต็มไปด้วยบรรยากาศความมีชีวิตชีวา คึกคัก ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นพิเศษ

    คนหนองบัวที่จากไกลบ้านก็มักถือเป็นโอกาสกลับบ้านไปด้วย ทำให้ทั้งอำเภอเต็มไปด้วยความครึกครื้น รื่นรมย์ มีบรรยากาศเฉลิมฉลองและการเยี่ยมเยือนคารวะกัน อวลด้วยมิตรภาพและความยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าช่วงเวลาปรกติ

    ด้านข้างทางทิศตะวันออก เป็นอาคารกึ่งอยู่อาศัยและค้าขายสองคูหาขนาบข้างถนนเอนกประสงค์ ทั้งสำหรับเกวียน ควายเดิน จักรยาน และรถเข็นฟืน-ถ่าน เข็นน้ำ ด้านหนึ่งไปออกที่ขอบสระน้ำวัดหนองกลับ และอีกด้านหนึ่งเปิดเข้าสู่ละแวกบ้านของชาวบ้านซึ่งทะลุออกไปบ้านธารทหารได้

    เกาะลอยเป็นผืนดินขนาดสัก ๑ งาน อยู่กลางแอ่งน้ำ มีโรงไม้เล็กๆที่สามารถดัดแปลงเป็นเวทีการแสดงหรือศูนย์ประชาสัมพันธ์งานงิ้ว หรือเป็นที่ไหว้เทพเจ้าที่จัดขึ้นในระหว่างมีงานงิ้ว ปัจจุบันได้ไถดินทิ้งไปหมดและไม่มีเกาะลอยแล้ว

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    ขอตอบแต่ละประเด็นเกี่ยวกับคำถามในความเห็นที่ผ่านมาครับ

    * ยุคของแอ๊ด เทวดานั้น ผมพยายามค้นหาความเป็นมาก็ไม่พบครับ พบแต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของเขาในช่วงทศวรรษของ พ.ศ. 2520 มีทั้งตลาดสด, วงดนตรีลูกทุ่ง, ลิเก, สถานีวิทยุ และภาพยนตร์กลางแปลง ตั้งอยู่ที่บริเวณตลาดโคกมะตูม อ. เมือง จ. พิษณุโลก

    กระทั่งกลางทศวรรษของ พ.ศ. 2520 แอ๊ด เทวดา ได้ยกระดับการฉายภาพยนตร์กลางแปลงครั้งใหม่ โดยลงทุนซื้ออุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ชุดใหม่ทั้งหมด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งแรกของวงการหนังกลางแปลง ในนาม “จอผ่าโลก” ซึ่งเจ้าตัวได้ประมาณการว่า ขนาดของจอภาพยนตร์มีความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น ความกว้างขนาด 11 ห้องแถว

    การตั้งจอภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้โครงนั่งร้านซึ่งตั้งในลักษณะคล้าย ๆ กับ หนัง 2 จอ โดยหันโค้งออกจากกัน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้ จึงได้รับสมญานามอีกชื่อหนึ่งว่า “จอโค้งเรดาร์” ต่อมาก็ได้รับการบันทึกลงในหนังสือกินเนสบุ๊ค ให้เป็นจอภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    สำหรับชุดฉายภาพยนตร์มาตรฐานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ แอ๊ด เทวดา ประกอบไปด้วย

    1. จอภาพยนตร์ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 30 เมตร

    2. เครื่องฉายโตกิวา (Tokiwa) รุ่น T-54 และเตากำเนิดแสง ยี่ห้อ สตรอง โมกุล (ใช้แท่งถ่าน) จำนวน 2 เครื่อง

    3. ระบบเสียง ประดิษฐ์เจริญซาวด์

    4. ตู้ลำโพงยืน ยี่ห้อ เนชั่นแนล

    นอกจากนี้ บรรดาทีมงานของ แอ๊ด เทวดา ที่เป็นผู้ชาย จะโกนหัวทุกคนเพื่อเป็นเอกลักษณ์

    การจัดฉายภาพยนตร์กลางแปลงของ แอ๊ด เทวดา จะเป็นการฉายไปทั่วประเทศ โดยมีสปอนเซอร์เป็นผู้สนับสนุน ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัท ลีเวอร์ บราเดอร์ และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ส่วนตัวฟิล์มภาพยนตร์ก็ไปขอเช่าจากสายหนังที่อยู่ในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ไหนที่จะมีการฉายภาพยนตร์ของ แอ๊ด เทวดา ก็จะนำแผ่นป้ายโฆษณาไปติดไว้ตามบ้านเรือน (ใน อ. หนองบัว มีใบโฆษณาของจริงซึ่งใส่กรอบไว้อยู่ที่ร้าน ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเคมีเกษตรของ แอ๊ด เทวดา ด้วย) และก่อนที่แอ๊ด เทวดาจะมาฉายประมาณ 2 วัน ก็จะมีรถโฆษณาซึ่งเป็นรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงทำการโฆษณาไปทั่วชุมชน พร้อมกับเชิญชวนให้นำชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ไปแลกบัตรที่รถ หรือจะไปแลกที่หน้างานก็ได้

    สถานที่ในการตั้งจอภาพยนตร์จะเป็นพื้นที่ที่กว้าง เนื่องจากต้องลงชุดมาตรฐานทั้งหมด จะขาดส่วนในส่วนหนึ่งไม่ได้เลย ที่สำคัญพื้นที่ที่แคบเกินไปจะมีผลต่อการตั้งระยะฉายจากเครื่องลงสู่จออีกด้วย

    ทางทีมงานจะเดินทางไปถึงสถานที่ฉายล่วงหน้า 1 วัน ในส่วนของการติดตั้งจอภาพยนตร์จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเรื่อยไป กว่าจะเสร็จเป็นโครงจอภาพยนตร์ก็ราว ๆ เที่ยง ก่อนที่จะจัดเตรียมในส่วนอื่น ๆ เช่น เครื่องเสียง, ลำโพง, ล้อมรั้ว ฯลฯ ซึ่งจะต้องให้เสร็จก่อนตะวันตกดิน ในช่วงที่การติดตั้งจะแล้วเสร็จ ก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์เชิญชวนเรื่อยไปจนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่งจึงทำการฉาย

    ภาพยนตร์ที่นำมาฉายนั้น จะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกจะเป็นหนังที่ได้รับความนิยม ส่วนเรื่องที่สองจะเป็นหนังประกอบ หรืออาจจะเป็นหนังที่ได้รับความนิยมทั้งคู่ แต่บางครั้งก็โชคไม่ค่อยดี คือไปเจอหนังฟอร์มไม่ดีทั้งคู่ จะไปโทษ แอ๊ด เทวดา ก็ไม่ได้ เนื่องจากไปเจอสายหนังที่บีบบังคับ ทำให้เขาต้องจำใจเลือก อีกอย่างหนึ่งในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์ด้วยรถโฆษณา หรือป้ายโฆษณาที่ติดตามบ้านเรือนนั้น จะไม่ได้บอกว่า คืนนี้จะฉายเรื่องอะไร ต้องไปลุ้นกันเองตอนเข้าไปดู เพราะจะมีโฆษกประกาศที่หน้างาน และที่รถฉาย บางทีก็ต้องไปถามคนฉายนั่นแหละ

    นอกเหนือจากการฉายภาพยนตร์ไปทั่วประเทศแล้ว ตามงานใหญ่ ๆ ของจังหวัดพิษณุโลก แอ๊ด เทวดา ก็เคยนำภาพยนตร์จอผ่าโลกไปฉายให้ชมกันฟรี ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีการฉายภาพยนตร์ในงานประจำปีวัดใหญ่ พิษณุโลก โดยที่ตั้งเครื่องฉายอยู่ที่ศาลาริมแม่น้ำน่าน ส่วนจอภาพยนตร์ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เรียกว่า “ฉายภาพยนตร์ข้ามแม่น้ำ”

    ในช่วงที่ แอ๊ด เทวดา ได้รับความนิยมอยู่นั้น ทำให้ภาพยนตร์กลางแปลงบางแห่งพยายามที่จะเลียนแบบ แต่ก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้ เพราะต้องลงทุนสูง ประกอบกับเป็นช่วงที่วิดีโอเข้ามา ทำให้หนังกลางแปลงได้รับผลกระทบพอสมควร

    ผมมีโอกาสได้เข้าไปชมภาพยนตร์กลางแปลงของ แอ๊ด เทวดา 2 ครั้ง โดยใช้สนามโรงเรียนหนองบัว (เทพวิทยาคม) [ชื่อในตอนนั้น] เป็นสถานที่ฉาย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ครั้งนั้นเป็นช่วงที่ผมย้ายเข้ามาอยู่หนองบัวได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนครั้งสุดท้ายผมจำวันที่ไม่ได้ แต่จำปีที่เข้ามาฉาย นั่นคือ พ.ศ. 2534 และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเห็นหนังกลางแปลงของ แอ๊ด เทวดา ก่อนที่จะมาทราบข่าวในภายหลังจากนั้นในปีต่อมา ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก นั่นคือ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่า ซึ่งหลังจากนั้นอีกหลายปี ก็เป็นอิสรภาพ และเป็นการปิดตำนานอย่างถาวร เมื่อ แอ๊ด เทวดา ได้ยุติกิจการให้ความบันเทิงอย่าง ดนตรี, ลิเก และภาพยนตร์จอผ่าโลก ทั้งหมด เหลือเพียงสถานีวิทยุ และหันมาทำกิจการเกี่ยวกับเคมีเกษตรจนถึงปัจจุบัน

    ครั้งแรกของการดูหนังจอผ่าโลก เกิดขึ้นหลังจากที่ครอบครัวผมย้ายมาอยู่ได้ 2 - 3 วัน ก็รู้สึกตื่นเต้นทันทีที่ได้เห็นแผ่นโฆษณาการฉายภาพยนตร์กลางแปลงของ แอ๊ด เทวดา เพราะเคยได้ยินชื่อนี้มานาน แต่ไม่เคยเห็นสักที ครั้งนี้บริษัท ลีเวอร์ เป็นสปอนเซอร์ โดยในตอนนั้นได้มีกล่องยาสีฟันใกล้ชิดขนาดใหญ่ 1 กล่องเหลืออยู่พอดี ก็เลยนำไปแลกบัตรเข้าชมที่รถโฆษณา

    เมื่อวันนั้นมาถึง ผมเดินออกจากบ้าน เวลาทุ่มครึ่ง [ตอนนั้นยังบ้านอยู่ที่บริเวณถนนที่จะมีรถเมล์สายท่าตะโก (ตอนนั้นยังเป็นรถเมล์ ไม่ใช่รถสองแถวเหมือนทุกวันนี้) ซึ่งเมื่อถึงบริเวณทางแยกของถนน 1119 ก็จะตรงเข้ามาผ่านเกาะลอย (เฉี่ยว ๆ) แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสระวัดหนองกลับ ซึ่งจะตรงเข้ามาผ่านบ้านผม แล้วเลี้ยวขวาเข้าศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์] เพื่อไปที่โรงเรียนหนองบัว (เทพวิทยาคม) จากนั้นก็ยื่นบัตรที่ทางเข้า จากนั้นก็เข้าไปเลือกหาที่ชมได้เลย (แน่นอนต้องมีเสื่อหรือไม่ก็กระดาษหนังสือพิมพ์รองนั่ง) แต่สำหรับผมใช้รองเท้าที่สวมนี่แหละเป็นที่รองนั่งแทน แม้จะเมื่อยเพราะต้องนั่งชันเข่าเป็นเวลานานก็ตาม ช่วงที่ไปถึงก็ได้แต่ฟังเพลงสตริงที่ฮิตกันในตอนนั้น

    2 ทุ่มครึ่งก็เริ่มทำการฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง และภาพยนตร์โฆษณาของบริษัท ลีเวอร์ บราเดอร์ส เช่น บรีส, ใกล้ชิด และอื่น ๆ อีก 2 - 3 ชิ้น ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนที่จะเริ่มด้วยภาพยนตร์เรื่องยาว 2 เรื่องฉายต่อเนื่องกันไป กว่าจะจบก็ประมาณ ตีหนึ่งของวันใหม่ คืนนั้นฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “กลกามแห่งความรัก” ควบกับหนังจีน เกรดบี แต่ผมดูได้แค่เรื่องแรกเรื่องเดียว ส่วนเรื่องที่สองดูไปได้ประมาณ 2 ม้วนผมก็กลับบ้าน พร้อม ๆ กับทางทีมงานก็รื้อรั้วออกพอดี

    ส่วนครั้งที่สองนั้น บริษัท ไทยน้ำทิพย์ เป็นสปอนเซอร์ ผมก็เอาฝาเครื่องดื่มซึ่งเป็นขวดใหญ่ขนาด 1.25 ลิตร 3 ฝา ไปแลกบัตรที่รถโฆษณาเหมือนเช่นเคย พอถึงวันฉายจริงก็เดินไปเหมือนเช่นเคย 2 ทุ่มครึ่งเริ่มฉายหนังตัวอย่าง และภาพยนตร์โฆษณาของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ซึ่งมีประมาณ 7 - 8 ชิ้น บางตัวเป็นเวอร์ชั่นจากต่างประเทศ และปิดท้ายด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมีชุดเดิม แต่หนังที่ฉายนั้นปรากฏว่าเป็นหนังจีนเกรดบีทั้งคู่ เลยทนดูไปได้ประมาณ 3 ม้วนเลยเดินกลับบ้านซะงั้น และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นการฉายภาพยนตร์ของ แอ๊ด เทวดา ใน อ. หนองบัว

    สำหรับชุดเพลงสรรเสริญ ฯ ที่ แอ๊ด เทวดา ฉายในตอนนั้น ผมได้พบเจอโดยบังเอิญ ที่ร้านขายอุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ที่กรุงเทพ ฯ แถวหลังเฉลิมกรุง เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยซื้อมาในราคาไม่แพง เพื่อเก็บอนุรักษ์ไว้ ฟิล์มชุดนี้ไม่ใช้ฟิล์มที่เคยฉายมาแล้ว เป็นฟิล์มที่พิมพ์ขึ้นใหม่ จากการสอบถามคนขายฟิล์ม จึงทราบว่ายังมีหลายแบบที่ผลิตออกมา แต่ต้องสั่งพิมพ์เป็นการเฉพาะตามที่ต้องการ เนื่องจากแล็บล้างและพิมพ์ฟิล์ม (สำหรับหนังเกรดบีในอดีต) ในขณะนั้นได้เลิกไป โดยเจ้าของแล็บได้เก็บต้นฉบับฟิล์มเพลงสรรเสริญ ฯ ไว้ แล้วมาขายต่อให้ร้านที่ขายฟิล์มดังกล่าวนี้ เพื่อสั่งพิมพ์ออกมาได้อีกเป็นจำนวนหลาย ๆ ชุดครับ

    * เกี่ยวกับเครื่องเสียงกลางแจ้งนี้ ผมไม่ค่อยสันทัดเรื่องนี้สักเท่าไหร่ พอจะรู้ก็งู ๆ ปลา ๆ

    โดยปกติแล้วเครื่องเสียงสำหรับงานกลางแจ้งที่มีคุณภาพ จะเป็นของที่ผลิตจากเมืองนอก ราคาแพงเกินกว่าที่จะเป็นเจ้าของได้ และด้วยความที่คนไทยนั้นชอบที่จะเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของเขา เพื่อให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ราคาถูกลงมาเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องใช้ระบบขยายเสียงกลางแจ้ง เช่น เวทีคอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์กลางแปลง สามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

    ตามที่ อ. วิรัตน์ได้กล่าวไว้ว่า ระบบเครื่องเสียงเน้นแต่ความดัง แต่ไม่ไพเราะนั้น ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง ทั้งนี้จุดประสงค์ของผู้ออกแบบเพื่อต้องการให้เสียงนั้นได้ยินไปไกล โดยไม่เน้นความไพเราะของเสียง ไม่เหมือนเครื่องเสียงบ้านที่ต้องการความไพเราะ และจำกัดอยู่แค่การฟังเพลงภายในบ้านเท่านั้น อย่างไรก็ตามความไพเราะ หรือไม่ไพเราะ ไม่ได้อยู่ที่ยี่ห้อเครื่องหรือลำโพงเท่านั้น แต่อยู่ที่คนปรับแต่งเสียงด้วย (แถมแต่ละคน ก็ชอบไม่เหมือนกันอีก) ว่ากันว่าหนังกลางแปลงบางหน่วยต้องเปลี่ยนลำโพงบ้าง หรือเครื่องขยายชุดใหม่บ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็ให้ความไพเราะที่ไม่เหมือนกันอีก พูดกันให้ง่าย ๆ คือ มันไม่แมทช์กันเท่านั้นเอง

    เครื่องเสียงกลางแจ้งตามหนังกลางแปลงในบ้านเราจะมีอยู่ 2 กลุ่มครับ

    กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มที่ไม่ได้ประชันแข่งขันเครื่องเสียงกลางแจ้งกัน กลุ่มนี้ก็ประเภทไม่อยากลงทุนอะไรมากมาย มีเท่าที่มีครับ

    กลุ่มสองก็คือ ประเภทแข่งขันกัน บางครั้งก็แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย ครั้งนี้แพ้ ครั้งหน้าเอาคืน สุดท้ายกลายเป็นการหมดเงินหมดทองโดยไม่รู้ตัว แถมสุขภาพหูจะเสียตามมา ผมเคยมีโอกาสไปดู ลำโพงเรียงเป็นตับเลย จอหนังดูเล็กไปถนัดตา ผมไปเห็นและยืนฟังเพียงไม่เท่าไหร่ ผมกลับบ้านเลยครับ ใครจะไปยืนทนฟังอยู่ได้ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางตั้งแต่ชัยนาทลงมาครับ

    • อ่านสนุกครับ หลายเรื่องเป็นความรู้ที่น่าสนใจ ตื่นเต้น และไม่เคยรู้มาก่อนเลย
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรันต์คุณอนุกูลและผู้อ่านทุกท่าน

    • จากโรงหนังในชุมชนเล็ก ๆ อย่างหนองบัวสู่การเป็นหนังกลางแปลงจอผ่าโลกใหญ่ที่สุดในโลกและได้บันทึกลงในหนังสือกินเนสบุ๊คเลยทีเดียว
    • เป็นข้อมูลที่ให้ความรู้ดีมาก จากที่เคยลืมเลือนไปแล้วก็กลับมาใหม่ด้วยข้อมูลเรื่องราวประวัติศาสตร์อ่านแล้วนึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ มันแสนจะคึกคักคึกครื้นอบอวนด้วยความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
    • แต่แล้วสิ่งใหม่สุดก็ดำรงอยู่ได้ไม่นานก็กลายเป็นสิ่งเก่าที่สุดในเวลาต่อมามันแสนจะรวดเร็วจอะไรเช่นนั้น

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • เห็นการเปลี่ยนแปลงและเห็นพัฒนาการของสังคมที่ไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ก็ทำให้เห็นความเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสังคมที่จะต้องเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงครับ
    • บางแนวคิดของการพัฒนา จึงมีการมองได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความสามารถเรียนรู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองของหน่วยทางสังคมระดับต่างๆไปได้อยู่ตลอดเวลา เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างหนึ่งครับ
    • มองอีกด้านหนึ่ง พัฒนาการอย่างนี้ หมายถึงการก่อเกิดและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของบางเรื่องในสังคมไทยนั้น หากดูร่วมกับด้านอื่นด้วย ก็จะเห็นกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการสื่อสาร รวมไปจนถึงการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยี ชุดหนึ่ง ดำเนินไปอย่างเป็นผลสืบเนื่องของภาวะความทันสมัย เมื่อหมดยุคสมัยความแพร่หลายของเทคโนโลยีอย่างนั้นแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมต่างๆก็เลือนหายไปด้วย
    • ในบางเรื่องที่สังคมและชุมชนพอจะมีอยู่ภายในตนเองและสามารถสร้างควาเป็นตัวของตัวเองให้ต่อเนื่อง-ยาวนานได้ จึงเป็นปัจจัยสั่งสมของการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นทุนสังคมที่จะต้องสั่งสมไว้กับตนเอง มองอย่างนี้ก็จะทำให้เรื่องอย่างที่คนหนองบัวคุยสร้างความรู้อย่างนี้ เป็นเรื่องที่มีคุณค่ามากครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ครูอนุกูลและผู้อ่านทุกท่าน

    • ข่าวคราวเงียบหายไปสักเกือบเดือนเลยนะเนี่ยสำหรับครูอนุกูล
    • เป็นอย่างไรบ้างไม่เห็นส่งข่าวความเคลื่อนไหวจากหนองบัวบ้างเลยเนาะ
    • หนองบัวเรามีเวทีใหม่แล้วหนา หากมีเวลาว่างก็ไปร่วมเสวนาพูดคุยกันบ้างในฐานะชาวหนองบัว
    • หรือมีข่าวสารอะไรทางหนองบัว ก็แจ้งประชาสัมพันธ์ให้คนหนองบัวที่อยู่ต่างถิ่นได้ทราบความเคลือนไหวบ้างก็ดีเหมือนกัน
    • อยากจะขอถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนของอำเภอหนองบัวว่า พอจะทราบบ้างไหมว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนไหนบ้าง
    • ที่นำวิถีชีวิตของชุมชนในหมู่บ้านของตนเองหรือเรื่องราวในท้องถิ่นต่าง ๆ ของอำหนองบัว มาจัดการเรียนการสอนเสริมความรู้ท้องถิ่น ความรู้ชุมชน ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในหนองบัว การอนุรักษ์ส่งแวดล้อมในชุมชน
    • ถ้ามีก็อยากจะให้นำมาเผยแพร่ที่เวทีคนหนองบัวนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นบ้านเรา และชุมชนอื่น ๆ บ้าง
    • โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาสที่คุณครูอนุกูลสอนอยู่ทำอยู่ก็สามารถนำมาบอกกล่าวเผยแพร่ได้เลยนะ ด้วยความยินดีอย่างมาก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเอาบทเรียนของโรงเรียนมาสื่อสารขยายผลสิ่งดี

    • ผมก็กำลังนึกถึงอยู่เช่นกันครับ แต่กลับจำชื่อไม่ถูก เลยใส่ชื่อคุณครูอนุกูลเป็นชื่อเอนก พอพระคุณเจ้าเข้ามาคุยในนี้เลยทำให้ได้เข้ามาอ่านและเห็นชื่อครูอนุกูลอีก ขอบพระคุณครับ
    • พระคุณเจ้าเปิดหัวข้อเพื่อชวนสนทนาเรื่องค้นหาบทเรียนและการริเริ่มเท่าที่มีในหนองบัว ที่โรงเรียนได้มีการนำวิถีชีวิตของชุมชนในหมู่บ้านของตนเองหรือเรื่องราวในท้องถิ่นต่าง ๆ ของอำหนองบัว มาจัดการเรียนการสอนเสริมความรู้ท้องถิ่น ความรู้ชุมชน ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในหนองบัว การอนุรักษ์ส่งแวดล้อมในชุมชน นี่เป็นแนวคิดที่ดีจังเลยครับ
    • ขอร่วมเรียนรู้และเป็นกองหนุนช่วยกันอย่างเต็มที่ครับ
    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ,เรียน อ.วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่าน

    ต้องขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนบอร์ดนี้หลายวัน เพราะติดเรื่องการสอบเก็บคะแนนปลายภาค และจะต้องเคลียร์คะแนนด้วยก่อนปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม หลังจากนี้ต้องรอดูเหตุการณ์อีกทีครับ

    ส่วนข่าวประชาสัมพันธ์จากโรงเรียนวัดเทพ ฯ ก็คงจะมีเรื่องงานเกษียณอายุราชการของท่านรอง ผอ. โรงเรียน และนักการภารโรง ซึ่งจะมีงานจัดเลี้ยงที่โรงเรียนหนองบัว วันที่ 29 กันยายน นี้ครับ

    อีกข่าวหนึ่งที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ นั่นคือ เรื่องของ "ไข้หวัดใหญ่ 2009" ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะเงียบ ๆ ไป แต่ตอนนี้ได้ระบาดเข้ามายัง อ. หนองบัว แล้วนะครับ ตอนนี้มีผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป. 5 ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัวเทพ ฯ 1 คน ซึ่งได้รับการยืนยันแน่นอนแล้ว และยังมีครูสอนเด็กชั้นอนุบาลอีกหนึ่งคน กำลังติดตามผลอยู่ วันนี้คณะครูที่โรงเรียนผมประชุมกันเมื่อตอนบ่าย 2 และได้แจ้งให้นักเรียนทราบเพื่อระมัดระวัง ก็ขอประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บนี้เพื่อเป็นสื่อกลางละกัน ที่สำคัญต้องปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ด้วยการปฏิบัติที่ว่า "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"

    วันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ

    ได้อ่านเรื่องราวต่างๆที่อาจารย์วิรัตน์ได้เขียนบันทึกนี้ไว้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทำให้เห็นบรรยากาศเก่าๆชัดเจนมาก เด็กรุ่นใหม่ควรได้ศึกษาทราบประวัติดั้งเดิมอำเภอหนองบัวไว้ ผมได้มีโอกาศไปที่อำเภอหนองบัวหลายครั้ง ผมมีความคิดเห็นว่าชาวหนองบัวน่ารื้อฟื้น

    ตลาดเก่าหนองบัวเป็นตลาดเก่าที่น่าท่องเที่ยวแบบตลาดโบราณ สิ่งที่ผมเห็นที่จะจุดท่องเที่ยวได้คือ กราบหลวงพ่อเดิมเกจิอาจารย์

    ,บ้านเรือนไม้ที่ยังคงสภาพดั้งเดิมไว้ โดยเฉพาะบ้านประตูไม้ที่เป็นบานพับ กับหน้าต่างแบบโบราณ ,ของเก่าโบราณที่วัดหนองบัว

    พระเทพเคยเสด็จไปเปิดเป็นพิพิธภัณธ์ แต่ตอนนี้ขาดการดูแล ไม่มีการประชาสัมพันธ์เหมือนเมื่อก่อน น่าจะมีคนที่ดูแลและส่งเสริมอย่างจริงจรัง (,ขนมประจำท้องถิ่นของอำเภอหนองบัวคือ ขนมข้าวโปง ),มะขามแช่อิ่ม, พุทราเชื่อม ,ข้าวเหนียวมูลมีหลายหน้าอร่อยมาก ,กระยาสารทไส่ถั่วเยอะมาก ,ก๋วยจับของโปรด ,พืชผัก ปลา ไก่ พื้นบ้าน ของกินในตลาดอีกมากมาย และผัดไทยยายเต้ อร่อยมากจริงๆ ผมต้องไปแวะชิมทุกครั้งเวลาไปหนองบัว ขายอยู่หน้ากุฎิเจ้าอาวาทวัดหนองบัว ก๋วยเตี๋ยวไก่ร้านน้าต๋อยทางเข้าวัดหนองบัว และผมได้ซื้อของที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอำเภอหนองบัว คือ กังหันลม ที่ใบพัดทำด้วยไม้ มีลำตัวทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ส่วนหางทำด้วยหญ้าคา เวลาลมพัดแรงจะมีเสียง ผมช่วยชาวบ้านซื้อมา ทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็กรวม 14 ตัว เอามา แจกเพื่อนที่ ปทุมธานี กับกรุงเทพ เพื่อนบอกว่าไม่เคยเห็น เขาเรียกว่ากังหันอะไร ผมเลยตั้งชื่อเรียกว่า กังหันโชคดี สิ่งที่ผมได้เห็นได้บอกเล่า

    นี้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย อยู่ที่คนในท้องถิ่นจะร่วมมือกัน ให้เหมือนกับตลาดสามชุกหรือตลาดอื่น เพื่อสร้างวิถีการท่องเที่ยวชนบทและ

    ให้ชาวบ้านมีรายได้จากนักเที่ยวจากต่างถิ่น แม้มีหนึ่งคน ก็ถือว่าได้เริ่มต้นแล้ว ลองดูไอเดียที่ www.tourismthailand.org นะครับ

  • การคิดและชวนกันส่งเสียงปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างสุขภาวะต่างๆให้เกิดขึ้นในชุมชนหนองบัวอย่างนี้แหละครับ ที่เป็นจุดหมายของเวทีคนหนองบัวนี้
  • แต่ผมว่าหากชุมชนหนองบัวริเริ่มและทำขึ้นมาแล้ว ควรจะทำได้ดีกว่าหลายที่ เพราะเรามีทุนทางสังคมดีกว่าในหลายด้านอยู่เหมือนกัน 
  • อีกทัั้งบทเรียนทั้งจากของตลาดสามชุกและจากชุมชนหลายแห่งของประเทศ ก็นำร่องให้เห็นหลายด้านที่คนหนองบัวอาจนำมาปรับปรุงให้ดีกว่าได้ครับ
  • โดยเฉพาะการไม่ทำให้ความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แออัดและการส่งเสริมทำธุรกิจค้าขายมากไป อย่างหลายๆแห่งที่อาจจะเกินความพอดี ทำให้ความเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่พอจะมีความสุขสงบอยู่บ้าง ต้องกระจุยกระจายไปหมด
  • รวมทั้งบางแห่งอาจมุ่งขายการท่องเที่ยวให้ได้เงินอย่างเดียวเลยรีบทำเกินไป เลยก็ไม่ทันได้ค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆเจียรนัย ให้เห็นคุณค่าอย่างอื่นของชุมชน ที่นอกเหนือจากการดึงดูดคนมาเที่ยวเพื่อขายของได้มากๆ ทำให้ไม่ได้มองไปไกลกว่านั้นอีก เช่น นอกจากชุมชนจะเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆให้มีสุขภาวะมากยิ่งๆขึ้นแล้ว การเรียนรู้ที่ตนเองจะอิ่มเต็มทางคุณค่าที่ลึกซึ้ง แล้วก็เป็นผู้นำการเปลี่ยนให้สังคมวงกว้างด้วยการได้เรียนรู้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวและจับจ่ายทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่อง อย่างนี้ก็ได้ อย่างที่คุณนิติแตะๆขึ้นมานิดหน่อยบางแง่มุมแล้วน่ะครับ
  • อย่างหนองบัวนั้น หากมองในแง่โอกาสการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่น่าไปเยือนแล้วละก็ ทั้งตัวตลาด ไปจนถึงวัดหนองกลับ ชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมรอบๆ ร้านรวงเก่าๆที่เป็นตัวบุกเบิกความเป็นชุมชน และละแวกเกาะลอย(แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วล่ะซีครับ) ทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชีวิตชุมชนตลาดชนบท ได้ทั้งตัวเมืองเลย แล้วภายในนั้นก็มีแง่มุมในแหล่งต่างๆที่ทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตชุมชนได้เป็นระยะๆ ทั้งหลากหลาย ทั้งมีเรื่องราวน่าเรียนรู้ให้ได้ประสบการณ์และความทรงจำทั้งน่าประทับใจและมีคุณค่า อย่างที่ผมและหลายท่านวาดรูปและเขียนขึ้นมาไว้บ้างแล้วนี่แหละครับ
  • อย่างที่คุณครูอนุกูลเคยพูดถึง ที่เรียนรู้และดูหนังแนวอนุรักษ์ของหนองบัว นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกันที่ควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชนหนองบัว รวมทั้งข้อมูลและแง่มุมต่างๆที่ในเวทีนี้ผุดให้เห็นและประมวลรายละเอียดหลายอย่างขึ้นมา ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อให้กับพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ และสามารถทำศูนย์ข้อมูล ศูนย์เรียนรู้ พื้นที่ทางศิลปกรรมและศิลปวัฒนธรรมเพื่อท่องเที่ยวและเยือนชุมชนให้ได้ความงดงาม มีความสุข ได้ความบันดาลใจในชีวิต ในรูปแบบที่กระจายไปตามจุดต่างๆของตลาดหนองบัวและชุมชนหนองบัว
  • แต่คนที่มองเห็น ค่อยๆคุยแลกความคิด เกาะเกี่ยว หารือ ทำข้อมูล เรียนรู้และรวบรวมเรื่องราวดีๆของชุมชน และทำสิ่งต่างๆทีละเล็กละน้อยในนี้ไปก่อนก็ดีเหมือนกันครับ เมื่อมีโอกาสก็ทำไปตามกำลัง หรือใครที่เขามีศักยภาพ ก็อาจได้ข้อคิดเห็น ได้ข้อมูลแนวคิด แล้วก็นำไปขยายผลหรือผลักดันให้เกิดการทำสิ่งต่างๆต่อไปก็ได้ครับ เวทีคนหนองบัวในนี้ก็สมทบเป็นกลไกประสานความร่วมมือ และช่วยสื่อสาร ส่งเสริมการคิดและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรึกษาหารือกัน ให้ผู้คนได้ความคิด ได้ข้อมูลคนและวาระเพื่อเดินเข้าหากันและทำสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆด้วยกันต่อไป
  • นำแนวคิดริเริ่มดีๆอย่างนี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกันอยู่เสมอๆนะครับคุณนิติ
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • "....อาจารย์วิรัตน์ได้เขียนบันทึกนี้ไว้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทำให้เห็นบรรยากาศเก่าๆชัดเจนมาก เด็กรุ่นใหม่ควรได้ศึกษาทราบประวัติดั้งเดิมอำเภอหนองบัวไว้...."(คห.ที่ ๔๖) จากคุณนิติ
    • ขออนุโมทนาขอบคุณคุณนิติอย่างมากเลยที่ได้เชิญชวนลูกหลานคนหนองบัวให้มาศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาของชุมชนหนองบัว
    • ขอร่วมคิดด้วยคนก็แล้วกัน การได้ชวนคิดชวนคุยชวนมองเรื่องราวต่าง ๆ ที่ยังซ่อนตัวอยู่ในหนองบัวและอาจจะมองเห็นไม่เด่นชัดแต่เมื่อช่วยกันดูช่วยกันสังเกตหลาย ๆ คนแล้วอาจมองเห็นได้รอบด้านครอบคลุมทั้งเมืองหนองบัวได้แจ่มแจ้งอีกเยอะ
    • น่าช่วยกันคิดทำสร้างสรรค์พัฒนาให้มีความยั่งยืนแบบยังรักษาจุดยืนของตัวได้บ้าง
    • จุดแข็งเมืองหนองบัวคือความเป็นตลาดบ้านนอกความเป็นชนบทของหนองบัวนั่นเอง
    • แต่หลายแห่งที่ความมีเสน่ห์ในท้องถิ่นนั้นได้ถูกนำมาเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนมาท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตในชุมชนั้น ๆ
    • แต่ก็มีหลายที่อีกเหมือนกันที่มุ่งเน้นด้านการตลาดอย่างเดียว มุ่งเศรษฐกิจเงินทองมุ่งการค้าเกินไปทำให้คนไปท่องเที่ยวไม่ได้สัมผัสวิถีชีวิตที่แท้จริงเห็นแต่ภายนอก
    • แบบนี้หลายที่ก็ไม่ยั่งยืนมั่นคงอะไร เรียกว่านำจุดแข็งมาเป็นจุดขาย ทำให้ความงดงามที่มีอยู่คนเข้าไม่ถึงมันผิวเผินเกินไป
    • ยังเคยได้ยินคนท้องถิ่นแห่งเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างมาก พูดว่าบ้านผมมีอะไรมากกว่าที่นักท่องเที่ยวได้เห็น
    • ก็หมายความว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้พบเห็นนั้นเกือบจะทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาใหม่แล้วนำมาจัดไว้ให้สำหรับนักท่องเที่ยวชมและซื้อขายได้ด้วยเงิน
    • ถ้าซื้อได้ด้วยเงินตราเสียวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาถึงสถานที่ดังกล่าวนั้นก็ได้เพราะหาซื้อได้ตามท้องตลาดอยู่แล้ว
    • หลายแห่งที่เราไปมาแล้วแล้วก็กลับมาพูดกันว่าไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจตรงไหนเลย มีแต่ของซื้อขายเต็มไปหมด มันก็คือตลาดดี ๆ นี่เองแห้งแล้งจืดชืดไม่มีบรรยากาศแบบที่โฆษณาเชิญชวน
    • มันไม่เป็นธรรมชาติอาจไม่เห็นร่องรอยเดิมเลยแม้แต่น้อยก็มี บทเรียนเหล่านี้มีให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ทุกแห่งหน
    • หนองบัวมีจุดแข็ง แต่ถ้าคิดทำแบบการตลาดก็อาจจะนำจุดแข็งดังกล่าวมาเป็นจุดขายเหมือนแห่งอื่น ๆ ซึ่งที่อื่นขายกันจนหมดไปทีละแห่งทีละแห่งจนไม่เหลืออะไร
    • ที่เหลืออยู่ก็ไร้ร่องรอยแห่งจิตวิญญาณลมหายใจแห่งวันวาน.

    เรื่องที่คุณนิติเปิดประเด็นชวนคุยและพระคุณเจ้าได้นำมาพูดคุยขยายผลต่อนี้ ผมก็ได้ความคิดและสนใจมากด้วยเช่นกันครับ เพื่อนๆและคนหนองบัวเท่าที่ผมรู้จักและได้เคยคุยกันในเรื่องอย่างนี้บ้างเป็นบางครั้ง เชื่อว่าก็ยังมีความสนใจอยู่และหากมีใครชักชวนทำงานแนวนี้ด้วยกัน ก็เชื่อว่าจะมีเครือข่ายคนที่จะค่อยๆเดินเข้าหากันด้วยมากพอที่จะริเริ่มและทำสิ่งดีๆด้วยกันได้อย่างแน่นอนครับ

    ต่างคนต่างค่อยทำงานในมือแล้วค่อยๆให้สะท้อนความคิด พยายามผุดประเด็นพัฒนาความร่วมมือระดับเครือข่ายระดับประเทศ ทว่า ทำกันในพื้นที่ท้องถิ่น และเมื่อพร้อมในแง่งานความคิด ข้อมูล และการเตรียมเวทีให้คนท้องถิ่นหนองบัวได้คุยปรึกษาหารือกันอย่าวงสบายๆ จึงค่อยหาทางทำกิจกรรมด้วยกัน อย่างนี้ก็ดีไหมครับ

    ผม ท่านพระมหาและ และท่านอื่นๆ ค่อยๆคุยและช่วยกันหลายๆทางนะครับ ไม่ใช่เริ่มต้นแต่จำเพาะที่นี่ได้อย่างเดียวหรอกครับ มีหลายอย่างที่ก็มีการทำดีๆอยู่แล้วในพื้นที่ ที่ยังขาดการประสานเชื่อมโยงให้ได้มาคุยและสานความสนใจสู่กัน เพื่อให้มาคุยอย่างมีประเด็นร่วมระดับนี้ด้วยกันได้ คุยๆกันเองตามโอกาสที่ทุกท่านมีไปด้วยนะครับ ผมก็จะทำอย่างนั้นไปด้วยเหมือนกัน ยิ่งปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ ๕๐ ปี หรือกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองคอก และอีกปีถัดไปก็จะเป็น ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อความเป็นอุดมคติของสถาบันครูในสังคมไทยด้วย เพราะโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)นั้น มีเพียง ๕ แห่งในประเทศไทยครับ และหนึ่งใน ๕ แห่งนั้นอยู่ในชุมชนอำเภอหนองบัวของทุกท่านนี่เองครับ ท้องถิ่นหนองบัวจึงมีทุนทางสังคมที่สามารถสะท้อนมรดกทางการศึกษาเพื่อพัฒนาของสังคมไทยและเมื่อบวกความเป็นหลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย และประเพณีการบวชนาคหมู่เหล่านี้ ก็จะเห็นว่ามีหลายอย่างที่มีแต่จำเพาะอำเภอหนองบัว ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะเรียนรู้จากที่อื่นๆพร้อมกับคิดและทำอย่างบริบทของคนหนองบัวเองได้อย่างดีแน่นอนนะครับ

    ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วย สคส จากฝีมือการทำกันเองของคนหนองบัวในเวทีคนหนองบัวนะครับ 

                            

    รูปวาดทั้งชุดนี้ เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

    ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล พร้อมทั้งขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังทุกท่านครับ ด้วยจิตคาระวะจากทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์ | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท